bloggang.com mainmenu search












“พรหมวิหาร ๔”

การที่เราจะคิดดี พูดดี ทำดีได้

 เราต้องมีคุณสมบัติ คุณธรรม ๔ ประการด้วยกัน

คือ ๑. ความเมตตา ๒. ความกรุณา ๓. มุทิตา

 และ๔. ความอุเบกขา

ถ้าเรามีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้

เราจะอยู่ด้วยกัน อย่างร่มเย็นเป็นสุข

 อยู่ด้วยความรักด้วยความสามัคคี

อยู่อย่างมีความแน่นหนามั่นคง

 ทุกคนจะมีความสุข ดังนั้นขอให้เรามาศึกษา

วิธีเจริญคุณธรรมทั้ง ๔ ประการ

คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ให้มีอยู่ภายในใจของพวกเรา

ถ้าเราขาดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

 เราจะคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

 แต่ถ้าเรามีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

 เราจะคิดดี พูดดี ทำดี แล้วเราจะมีความสุข

และเราจะให้ความสุข แก่ผู้ที่อยู่ร่วมกันกับเรา

 นี่คือวิธีการอยู่อย่างสันติสุข

ต้องมีคุณธรรม ๔ ประการ

ความเมตตานี้

ก็มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน

 ดังที่เราสวดกันอยู่บ่อยๆ

 สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ

 อันนี้ท่านบอกว่า

การไม่จองเวรจองกรรมกัน

 สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ

 แปลว่าไม่เบียดเบียนกัน

สัพเพ สัตตา อะนีฆา โหนตุ

ไม่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น

สัพเพ สัตตา สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ

 มีความปรารถนาให้ทุกคน มีแต่ความสุข

 นี่คือความเมตตา วิธีที่เราจะแผ่เมตตา

 ไม่ใช่แผ่ตอนที่เรานั่งไหว้พระ

สวดมนต์อยู่ตามลำพัง

 ตอนนั้นเป็นการเตือนใจสอนใจ

ให้เรามีอะเวรา

ให้เรามีอัพยาปัชฌา ให้เรามีอะนีฆา

 ให้เรามีสุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ

 คือให้เรามีความให้อภัยต่อกันและกัน

ไม่จองเวรจองกรรมกัน

 เพราะการจองเวรจองกรรม

 จะนำมาแต่เวรแต่กรรม ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า

 “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร”

 แต่ “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

การไม่จองเวรก็คือให้การอภัยยกโทษ

ไม่ถือโทษโกรธเคืองต่อผู้ที่พูด

หรือ กระทำอะไร

ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับเรา

 ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เราจะให้อภัย

 เราจะต้องการรักษา

ความดีงามในใจของเราไว้

 เพราะถ้าเราเกิดความอาฆาตพยาบาท

 คิดจองเวรจองกรรม เราก็จะเลวเท่ากับเขา

 หรือเลวยิ่งกว่าเขา

เช่นถ้าเขาตีเราแล้วเราก็ไปฆ่าเขาอย่างนี้

เพราะเราโกรธเขา เขาเพียงแต่ตีเรา

 แต่เราไปฆ่าเขา อันนี้เราเลวกว่าเขา

การที่เราจะทำตัวของเราให้ดีกว่าเขา

 เราต้องไม่โต้ตอบ เราต้องให้อภัยเขา

แล้วเราจะดีกว่าเขา

 เพราะเราไม่ไปทำร้ายเขา

 เรามีความเมตตา มีคุณธรรมที่สูงส่ง

นี่คือลักษณะของไม่ของเวรกัน

เป็นความเมตตาอย่างหนึ่ง

ความเมตตาอีกอย่างหนึ่ง

ก็คือการไม่เบียดเบียนกัน

ก็คือการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์

 ไม่ประพฤติ ผิดประเวณี

ไม่โกหกหลอกลวง

 ไม่ดื่มสุรายาเมา

 เพราะการกระทำบาปทั้ง ๕ ข้อนี้

จะเบียดเบียนผู้อื่น

จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

แล้วอีกข้อหนึ่งก็คือ

ให้เราให้ความสุขแก่ผู้อื่น

 การให้ความสุขแก่ผู้อื่นนี้

ก็มีหลากหลายวิธีด้วยกัน

 เช่นเวลาเราพบปะเพียงแต่ยิ้มให้กัน

นี้ก็ทำให้ผู้อื่นเขามีความสุขแล้ว เ

ห็นรอยยิ้มของเรา เขาก็มีความสุข

 เราเห็นรอยยิ้มของผู้อื่นเราก็จะมีความสุข

ถ้าเขาหน้าบึ้งตึงเราก็จะไม่มีความสุข

 ถ้าเราหน้าบึ้งตึง เขาก็จะไม่มีความสุข

ดังนั้นการแผ่เมตตา

ต้องแผ่ตอนที่เราพบปะกัน

ไม่ใช่แผ่เมตตาตอนที่เราอยู่คนเดียว

ตอนนั้นยังไม่ได้แผ่

ตอนนั้นเป็นเพียงสอนใจ

เตือนใจว่า เราต้องมีความเมตตาต่อกัน

พอเจอกันก็ให้ยิ้มให้กัน อย่าหน้าบึ้งตึง

ถ้าเขาพูดไม่ดีก็อย่าไปโกรธเขา

ให้อภัยเขา

 ถือว่าเขายังเป็นเหมือนเด็กอยู่

เวลาเด็กเขาทำอะไรผิดนี้

 เรามักจะไม่โกรธเด็ก

 เพราะเรารู้ว่าเป็นเด็กไร้เดียงสา

ยังไม่รู้จักผิดถูกดีชั่ว ทำไปตามอารมณ์

 ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ถ้าไปพูดไม่ดี ทำไม่ดี

ก็เป็นเหมือนเด็กไร้เดียงสา

 เพียงแต่ว่าร่างกายนี้อาจจะเป็นผู้ใหญ่

แต่ใจนี้ ก็ยังเป็นเหมือนเด็กอยู่

ดังนั้นถ้าเราไม่โกรธเด็ก

เราก็อย่าไปโกรธคนที่ไร้เดียงสา

คนที่ไม่รู้ผิดถูกดีชั่ว คนที่พูดหรือทำอะไร

ให้เกิดความเสียหาย เราควรจะให้อภัยเขา

แล้วเราก็จะสบาย เราก็จะมีความสุข

 เขาก็ไม่ทุกข์จากการที่เรา

ไปทำร้ายเขาตอบโต้เขา

 นี่คือ “ความเมตตา”

ความเมตตาอีกอันก็คือ

ให้ความสุขแก่ผู้อื่น

 วิธีให้ความสุขนอกจากให้รอยยิ้ม

แล้วก็ให้มีการแบ่งปันสิ่งต่างๆ

 ที่เรามีอยู่มากกว่าที่เราจะใช้ได้

 ตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่ก็ไม่ได้

ใช้ก็เอามาแบ่งปันกัน

 อย่างที่ญาติโยมมากันในวันนี้

 ญาติโยมก็เอานำความสุขมาแบ่งปัน

ให้กับพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาอยู่ในวัดนี้

นำกับข้าวกับปลาอาหาร ของคาวของหวาน

เครื่องใช้ไม้สอยอะไรต่างๆ มาแบ่งปันกัน

 มาให้พระที่ไม่มีอาชีพ

หาเงินหาทองหาข้าวหาของ

 ก็ต้องรอความเมตตาของญาติโยม

 ญาติโยมก็มีโอกาสได้แผ่เมตตา

 ได้สร้างบารมี ได้สร้างเมตตาบารมี

ผู้ที่มีเมตตาบารมีนี้

จะมีอานิสงส์หลายประการด้วยกัน

 เช่น ๑. จะเป็นที่รักของมนุษย์

และเทวดาทั้งหลาย

 จะไม่มีใครเกลียดคนที่มีความเมตตา

อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ ๕ หรือรัชกาลที่ ๙

ทั้งๆที่ท่านจากเราไป

รัชกาลที่ ๕ ก็จากเราไปเป็นเวลายาวนาน

รัชกาลที่ ๙ ก็เพิ่งจากไป

แต่พระเมตตาของท่าน

 ทำให้เรายังรักยังเคารพท่านอยู่

 ยังคิดถึงท่านอยู่

ยังอาลัยอาวรณ์ท่านอยู่

นี่คืออานิสงส์ของการมีความเมตตา

ถ้าเรามีความเมตตา เวลาเราจากไป

พวกเขาจะอาลัยอาวรณ์จะคิดถึง

จะไม่สาปแช่งส่งให้ไป

 คนที่ไม่มีความเมตตา

คนที่มีความโหดร้ายทารุณ

 เวลาตายไปนี้มีแต่คนเขาสาปส่งต่อไป

ไปได้ก็ดี อยู่ไปก็หนักโลก

คนที่ไม่มีความเมตตา

 ส่วนคนที่มีความเมตตานี้

ไม่มีใครอยากจะให้จากไป

 คนที่มีความเมตตาจึงไม่ตาย

 ด้วยการทำร้ายของผู้อื่น

เพราะจะไม่มีใครคิดทำร้าย

ไม่มีใครคิดจะฆ่าด้วยอาวุธต่างๆ

 ไม่มีใครคิดจะฆ่าด้วยยาพิษ

เพราะว่าไม่มีศัตรูนั่นเอง

 ผู้ที่มีความเมตตา มีแต่มิตร

เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

 เวลาตายไปก็ไปสู่สุคติไปสู่สวรรค์ชั้นต่างๆ

 หรือไปถึงพระนิพพาน

ถ้าบุญบารมีมีถึงแล้ว

ก็เวลาอยู่ตื่นก็มีความสุข

เวลาหลับก็มีความสุข

 นอนหลับก็จะไม่ฝันร้าย

นี่คืออานิสงส์ของการมีความเมตตา

ขอให้พวกเราพยายามสร้างความเมตตา

ให้มีอยู่ในใจแล้วเวลาเราพูด เวลาเราคิด

 เวลาเราทำอะไรเราจะคิดดี พูดดี ทำดี

แล้วจะทำให้ผู้อื่นนั้นเขามีความสุข

และเขาก็จะให้ความสุขกลับมา

เวลาเราให้ความสุขแก่ผู้อื่น

 เราก็จะเกิดความสุขขึ้นมาภายในใจของเรา

 อย่างวันนี้เอาความสุขมาให้กับพระภิกษุ

พอให้แล้วญาติโยม ก็เกิดความสุขใจ

 เกิดความอิ่มใจขึ้นมา

 นี่คือวิธีสร้างความสุขให้กับตัวเรา

และสร้างความสุข ให้แก่ผู้อื่น

 จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข

 จะอยู่ร่วมกันด้วยความรัก

ด้วยความสามัคคีกัน

ข้อที่ ๒.คุณธรรมที่เราควรจะมี

ก็คือ “กรุณา”

กรุณาก็คือความสงสาร

 เวลาที่เราเห็นผู้อื่น

เขาตกทุกข์ได้ยาก เดือดร้อน

 ถ้าเราพอที่จะช่วยเขาได้

ก็ควรที่จะช่วยไป อย่าดูดาย

 แต่การช่วยก็อาจจะต้องมีปัญญาบ้าง

คือช่วยแล้วให้เขาช่วยตัวเองได้

อย่าไปช่วยให้เขาต้องมาให้เราช่วยอยู่ตลอด

ถ้าช่วยแบบนี้ไม่ดี

เช่นเวลาเขาไม่มีเงิน มาขอเงิน

 เราก็ให้เงินเขาไป พอเขาใช้เงินหมด

 เขาก็กลับมาขอใหม่ ถ้าช่วยแบบนี้

ก็จะต้องช่วยไปจนวันตาย

 มีคำโบราณที่เขาบอกว่า อย่าให้ปลาเขา

 สอนให้เขาหาปลาดีกว่า

เพราะถ้าเขาหาปลา เป็นแล้ว

เขาก็ไม่ต้องมาขอปลาจากเรา

เขาก็จะไปหาปลาของเขาเองได้

 ฉันใดคนที่มาขอเงิน ก็อย่าให้เงินเขา

 แต่สอนวิธีให้เขารู้จักหาเงิน

พอเขาหาเงินได้เองแล้ว

เขาก็จะไม่ต้องมาขอเรา

 เช่นถ้าเขาไม่มีเงิน ก็หางานให้เขาทำ

ไปฝากถ้าฝากใครได้ก็เอาไปฝาก

ให้เขามีงานทำแล้วพอเขามีงานทำ

 เขาก็จะได้พึ่งตนเองได้

อย่าไปช่วยแบบอุ้มเขาแบกเขา

 เพราะว่าจะต้องอุ้มไปจนวันตาย

 เพราะเขาจะไม่มีความสามารถ

ที่จะช่วยตัวเองได้

 ถ้าเราช่วยเขาแบบนี้เหมือนกับลูกๆของเรา

ถ้าเราเลี้ยงดูแบบให้เขาไม่ทำอะไรเลย

 ให้เขาทุกอย่างทำอะไร ทุกอย่างให้เขา

เขาก็จะไม่รู้จักทำอะไรเอง

เขาก็จะต้องมาขอให้เรา

ทำนั่นทำนี่ให้อยู่เรื่อยๆ

 ขอให้เราขอเงินจากเรา อยู่เรื่อยๆ

การเลี้ยงลูกเราควรจะเลี้ยงให้เขารู้จัก

ช่วยตัวเองพึ่งตนเองได้

 สอนให้เขาหัดทำอะไรต่างๆ

 งานในบ้าน อย่าไปถือว่าเป็นสิ่งต่ำต้อย

 อย่าไปคิดว่าเป็นงานของคนรับใช้

งานทุกชนิดนี้มีคุณมีประโยชน์กับเรา

เพราะถ้าเราทำแล้วเราก็จะได้รู้จักวิธีทำ

แล้วเราก็จะมีความสามารถพิเศษ

แม้แต่การล้างส้วม การกวาดบ้านถูบ้าน

การล้างชาม การซักเสื้อผ้า

การกระทำต่างๆ เหล่านี้

เป็นคุณเป็นประโยชน์กับผู้กระทำ

เพราะจะทำให้สามารถพึ่งตนเองได้

 ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น

 แล้วถ้าเกิดไม่มีอาชีพไม่มีงานทำ

ก็ยังสามารถใช้ ความสามารถนี้

ไปทำงานได้

นี่คือสิ่งที่เราควรที่จะช่วยเหลือกัน

ช่วยเหลือให้พึ่งตนเองได้

 อย่าช่วยเหลือแบบให้เขา

ต้องมาพึ่งเราตลอดเวลา

 ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน

เช่นเวลาเกิดไฟไหม้เกิดน้ำท่วม

 เราก็ต้องหาข้าวหาอาหาร

หาเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ

 ไปบริจาคไปช่วยเหลือกัน

แต่นั่นเป็นการทำเฉพาะกิจเท่านั้น

 พอเหตุการณ์ที่เสียหายผ่านไปแล้ว

ก็มาหาวิธีช่วยให้เขา

ได้ก่อร่างสร้างตัวของเขาต่อไป

 ไม่ใช่จะเอาอาหารเอาเครื่องใช้ไม้สอย

มาให้ตลอดเวลา ก็ต้องหาบ้านให้เขาอยู่

ให้เขาหางานให้เขาทำ

เพื่อเขาจะได้พึ่งตนเองได้ต่อไป

 นี่คือความกรุณา ความสงสาร

ถ้าผู้อื่นเขาตกทุกข์ได้ยากเดือดร้อน

 เขาต้องการความช่วยเหลือ

เราพอจะช่วยเหลือกันได้

ก็ควรจะช่วยเหลือ

 เพราะถือว่าเป็นการทำบุญ

เป็นการสร้างมิตรภาพ

เป็นการสร้างเมตตาไปด้วย

 แล้วเราจะมีความสุข

ดีกว่า เอาเงินทองไปเที่ยว

ไปกินไปเล่นกัน กินเที่ยวเล่นเสร็จแล้ว

ความสุขนั่นก็หายไป

ไม่เหมือนกับความสุขที่เราได้

จากการไปช่วยเหลือผู้อื่น

ช่วยเหลือเขาแล้ว

ทำให้เรามีความสุขใจอิ่มใจ

 เวลาคิดถึงการช่วยเหลือที่เรา

 ให้กับเขาแม้จะผ่านไปแล้ว

คิดทีไรเราก็จะมีความสุขใจทุกที

ไม่เหมือนกับการไปเที่ยว

ไปเที่ยวแล้วก็จะทำให้เรา

คิดถึงการไปเที่ยวอีก

ก็จะทำให้เราอยากเราหิว

อยากจะไปเที่ยวอีก

 แทนที่จะมีความสุขใจอิ่มใจ

กลับมีความหิวความอยากขึ้นมา

ดังนั้นขอให้เราใช้เงิน

ไปในทางที่ทำให้เราเกิดความสุขใจอิ่มใจ

ดีกว่าการใช้เงินไปแล้วทำให้เกิดความหิว

ความอยากได้เท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ

 นี่คือคุณธรรมข้อที่ ๒ คือความกรุณา

คุณธรรมข้อที่ ๓.

 มุทิตาก็คือให้เรามีความยินดี

กับความสุขกับความเจริญของผู้อื่น

 เวลาเพื่อนเราเขาได้ดิบได้ดี

ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ดิบได้ดีไปกับเขา

เราก็อย่าไปอิจฉาริษยา

 เพราะถ้าเราอิจฉาริษยา

 เราจะคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

แต่ถ้าเรามีมุทิตา มีความชื่นชมยินดี

 ดีใจไปกับความสุขความเจริญของเขา

 เราก็จะมีความสุข

แล้วเราก็จะคิดดี พูดดี ทำดี

อันนี้ขอให้เราคิดว่า

ความสุขความเจริญของคนเรานี้

มันเป็นผลที่เกิดจากการกระทำต่างๆ ของเขา

 เขาได้ดิบได้ดีก็เพราะว่าเขาได้ทำอะไรมา

จึงทำให้เขาได้ดิบได้ดี

 เรายังไม่ได้ดิบได้ดีก็เพราะว่าเรายังไม่ได้ทำ

หรือทำไม่พอ หรือทำแล้วแต่ยังไม่มีเวลา

ให้มันออกดอกออกผล

 เราก็ต้องใจเย็นๆ รอไปก่อน

 ใครได้ดิบได้ดีก็ถือว่า

เป็นอานิสงส์ของการกระทำของเขาในอดีต

 ทำให้เขาได้รับความสุขความเจริญ

ถ้าเรายังไม่ได้รับความสุขความเจริญ

เหมือนกับเขาก็ขอ

ให้เราทำความดีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 แล้วเดี๋ยวไม่ช้าก็เร็ว

 ความสุขความเจริญก็จะเกิดขึ้นกับเรา

 ถ้าคิดแบบนี้เราก็จะไม่รู้สึกอิจฉาริษยา

หรือรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ

 เพราะเราต้องยอมรับกฎแห่งกรรม

ว่าใครทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว

จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

อันนี้คือ มุทิตา

 ขอให้เราชื่นชมยินดีกับความสุข

ความเจริญความก้าวหน้าของผู้อื่น

 อย่าอิจฉาริษยา อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ

 เพราะจะทำให้เราไม่สบายใจ

แล้วจะทำให้เราคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

 แล้วก็จะทำให้เกิดทุกข์เกิดปัญหาต่างๆ

 ตามมาต่อไป

คุณธรรมข้อสุดท้ายคืออุเบกขา

 อุเบกขาก็คือการฝึกใจ

ให้ปล่อยวางให้ “สักแต่ว่ารู้”

ให้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ว่าจะดีหรือจะชั่ว

 บางทีมันก็ไม่อยู่ในการควบคุมบังคับของเรา

 เราเห็นคนที่เรารักต้องรับทุกข์

 เช่นเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย

 เราจะไปทุกข์ไปอยากให้เขาหาย

 มันก็ไม่หาย เราก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ

 เราก็ต้องหัดทำใจให้เป็นอุเบกขา

คือยอมรับสภาพของเขา

หรือยอมรับสภาพของเรา

ว่ามันเป็นวิบากของเรา

เราเคยทำบุญทำบาปมา พอถึงเวลา

ก็เลยต้องมารับผลบุญผลบาป

ที่ไม่มีใครที่จะมายับยั้งหักห้ามได้

หรือเวลาที่เราไปพบกับเหตุการณ์ต่างๆ

หรือบุคคลต่างๆ ที่ทำให้เราไม่สบายใจ

ก็ขอให้เรามีอุเบกขาคือทำใจเฉยๆ

 อย่าไปรัก อย่าไปชัง

อย่าไปกลัว อย่าไปหลง

 วิธีที่ไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลง

ก็ขอให้เราคิดแบบที่พระพุทธเจ้า

ทรงสอนให้คิดว่า

 ถ้าเขาไม่ชอบเราก็ให้คิดว่าดีแล้ว

เขายังไม่ด่าเรา ถ้าเขาด่าเราก็ให้คิดว่า

ดีแล้วเขายังไม่ตีเรา

ถ้าเขาตีเราก็ให้คิดว่า

ดีแล้วเขายังไม่ฆ่าเรา

 ถ้าเขาฆ่าเราก็คิดว่าดีแล้ว

ถือว่าเป็นการใช้เวรใช้กรรมกันไป

 หมดเวรหมดกรรมกันไป

และยังไงเราก็ต้องตายอยู่ดี

อยู่ไปแบบมีเวรกันมันอยู่ไม่มีความสุข

สู้ยอมใช้เวรใช้กรรมกัน

ให้มันหมดไปดีกว่า

 แล้วต่อไปจะได้ไม่มีเวรมีกรรมกันอีก

นี่คือวิธีคิดที่จะทำให้เราปล่อยวาง

ทำใจให้เฉยๆได้

 ไม่ตอบโต้ไม่ต่อสู้ ไม่ทำร้ายผู้อื่น

เพื่อปกป้องภัยอันตรายต่างๆ

ที่จะเกิดขึ้นกับเรา

 เพราะถ้าเราไปทำร้ายผู้อื่น

 มันก็จะไปสร้างเวรสร้างกรรมกันต่อไป

ไม่มีวันจบสิ้น

 ดังนั้นขอให้เราหัดฝึกทำใจให้เป็นอุเบกขา

วิธีที่จะทำใจให้เป็นอุเบกขาได้อย่างแท้จริง

ก็คือการนั่งสมาธิ เจริญสติพุทโธๆ

ควบคุมความคิดควบคุมอารมณ์ต่างๆ

 แล้วใจเราจะเฉย

 เวลาเกิดอารมณ์ไม่ดีเราก็ใช้พุทโธๆไป

 เดี๋ยวอารมณ์ไม่ดีหายไป

 ใจเราก็เย็นสงบสบาย

 ก็จะไม่ต้องพูดไม่ต้องทำอะไรที่ไม่ดี

นี่คือคุณธรรม ๔ ประการ

ที่จะทำให้เราเป็นคนดี

 เพราะว่าคนดีก็คือ

คนที่คิดดี พูดดี ทำดีนั่นเอง

 คนที่จะคิดดี พูดดี ทำดีได้

ก็จะต้องมีความเมตตา มีกรุณา

มุทิตาและมีอุเบกขานี่เอง

 จึงขอฝากเรื่องคุณธรรมความดี

ทั้ง ๔ ประการนี้

ให้ท่านได้นำเอาไปพินิจพิจารณา

และนำเอาไปปฏิบัติ

เพื่อสร้างความสุขและความเจริญ

ให้กับตัวเราและกับเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะในศาลา วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

“พรหมวิหาร ๔”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :31 ตุลาคม 2559 Last Update :3 พฤศจิกายน 2559 5:57:44 น. Counter : 774 Pageviews. Comments :0