bloggang.com mainmenu search









หลักสูตรของพระพุทธศาสนา"

โทษของการที่เราไปเสพความสุข

ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย

มันไม่ได้นำไปสู่ความสุขที่ถาวร

มันนำไปสู่ความสุขชั่วคราว

แล้วความทุกข์ที่ตามมา

 เวลาที่ความสุขชั่วคราวนั้นมันจางหายไป

 เราเลยต้องมาเปลี่ยนวิธีหาความสุขกันใหม่

 มาหาความสุขที่มันจะถาวร

มันจะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ

 คือความสุขที่เกิดจากการทำใจให้สงบ

 หยุดความคิดด้วยการเจริญสติ

ควบคุมความคิดไม่ให้คิด

ด้วยการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 จดจ่ออยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ ไป

ใจก็คิดอะไรไม่ได้ ถ้าใจคิดอยู่กับพุทโธ พุทโธ

 ก็จะไปคิดถึงการไปเที่ยวไปดูหนังฟังเพลงไม่ได้

 หรือถ้าเราจดจ่ออยู่กับการกระทำของร่างกาย

 การเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย

ใจก็จะไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้

ถ้าเราเฝ้าคอยดูร่างกาย

 ใจมันจะอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ถ้าเราไม่มีสติ มันก็จะบินไปบินมา

 อยู่ที่นี่แป๊บไปที่โน่นแป๊บ

คิดถึงเรื่องนั้นคิดถึงเรื่องนี้

แล้วก็กลับมาที่ร่างกาย

 เราจะทำอะไรหลายๆ อย่างสลับกันไป

ถ้าเราไม่มีสติเราเดินไป

เราก็คิดถึงคนนั้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้ไป

เราไม่ต้องการให้คิดแบบนั้น

 เราต้องการให้อยู่กับร่างกายไปตลอด

 เดินก็ให้อยู่กับการเดินไปอย่างเดียว

 อยู่กับพุทโธไปอย่างเดียว

 เพราะถ้าเราไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

คนนั้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้

เดี๋ยวก็เกิดความอยากขึ้นมา

 คิดถึงขนมนมเนยก็อยากจะรับประทาน

คิดถึงภาพยนตร์ก็อยากจะดู

 คิดถึงเครื่องดื่มก็อยากจะดื่ม

หยุดความคิดด้วยการเจริญสติ

ควบคุมจิตใจให้รู้อยู่กับเรื่องเดียว

 อยู่กับพุทโธก็ได้

อยู่กับการกระทำต่างๆ ของร่างกายก็ได้

ใจก็จะไม่สามารถไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ได้

และถ้าต้องการให้มันสงบเต็มที่ ก็ต้องนั่งเฉยๆ

 นั่งหลับตาไม่รับรู้อะไรผ่านมาทางตาจมูกลิ้นกาย

ให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้

 หรือให้จดจ่ออยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ ไปก็ได้

อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรือจะมาปนกันก็ได้

แล้วแต่อัธยาศัย บางคนก็ผสมกัน

พุทเข้าโธออก หายใจเข้าก็ว่าพุทหายใจออกก็ว่าโธ

 บางคนก็เอาเอาพุทโธพุทโธไปเลย

 ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องลม

บางคนไม่อยากจะยุ่งกับพุทโธก็ดูลมอย่างเดียว

 หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า

 หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ให้รู้เพียงแค่นี้

 เดี๋ยวมันก็จะสงบรวมเป็นสมาธิขึ้นมา

 พอรวมแล้ว มันก็จะนิ่งจะสบาย มีความสุข

 มีความเป็นกลางปราศจากอารมณ์รัก

 ชัง กลัว หลง ใจจะสักแต่ว่ารู้เฉยๆ

จะไม่วุ่นวายกับสิ่งต่างๆ ที่มาสัมผัสรับรู้

เวลาออกจากสมาธิใหม่ๆ ใจจะเย็นจะสบาย

 เห็นอะไรก็จะเฉยๆได้ยินอะไรก็เฉยๆ

ต่างกับเวลาก่อนที่จะเข้าไปในสมาธิ

ได้ยินอะไรก็หงุดหงิดรำคาญใจโมโหโทโส

 แต่พอออกจากสมาธินี้มันเป็นกลาง

มันไม่มีอารมณ์กับอะไร แต่มันจะอยู่ได้ไม่นาน

เดี๋ยวมันก็จะจางหายไป

เหมือนกับน้ำเย็นที่เราแช่ในตู้เย็น

 พอแช่เย็นเอาออกมาใหม่ๆ มันก็เย็น

 พอทิ้งไว้สักพักเดี๋ยวความเย็นมันก็หายไป

สิ่งที่ทำให้ความเย็นของใจหายไป

ก็คือ ความ รุ่มร้อนของรูป เสียง กลิ่น รสนี้

พอเรามาสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส

ใจเราก็จะร้อนขึ้นมา.

สนทนาธรรมมะบนเขา
วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

"หลักสูตรของพระพุทธศาสนา"

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :13 กุมภาพันธ์ 2560 Last Update :13 กุมภาพันธ์ 2560 10:52:55 น. Counter : 688 Pageviews. Comments :1