bloggang.com mainmenu search











“ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง”

ร่างกายของพวกเราเป็นของไม่เที่ยง

 มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายเป็นธรรมดา

จงยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่น

 ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด

 นี่เป็นพระปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า

 ที่ทรงตรัสไว้ ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไป

 ทรงมีความห่วงใยพวกเราเป็นอย่างมาก

ที่อาจจะไม่ค่อยได้คิดถึง ความจริงข้อนี้

ความจริงที่ว่าชีวิตของพวกเรานี้

 ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

จะหมดไปได้ในวันใดวันหนึ่ง

 และจะต้องหมดไปอย่างแน่นอน

 เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น

จึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท

 ไม่ควรคิดว่าจะอยู่ไปนานๆ

เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ไปได้นานสักเท่าไหร่

 จึงควรคิดตรงกันข้าม

 ควรคิดว่าอาจจะอยู่ไปไม่นาน

 จะได้ถือว่าไม่ประมาท

 ถ้าคิดว่าจะอยู่นานก็ถือว่าประมาท

ถ้าคิดว่าอาจจะไปวันนี้หรือพรุ่งนี้

จะได้รีบจัดการกับสิ่งที่ควรจะจัดการ

รีบจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ

ว่าสิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนไม่สำคัญ

 ไม่มีอะไรที่จะสำคัญกว่าการปฏิบัติธรรม

 เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนก่อน

ให้ตนได้หลุดพ้นจากความทุกข์

หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดก่อน

 แล้วค่อยทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป

 ถ้ามัวแต่ไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

 ไม่ทำประโยชน์ให้กับตน

 ตนจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร

 ประโยชน์ของตนจึงต้องมาก่อน

ประโยชน์ของตนก็คือประโยชน์ของใจนี่เอง

ต้องมาก่อนประโยชน์ของร่างกาย

และของกิเลสตัณหา

ร่างกายเป็นเครื่องมือ

ที่จะทำประโยชน์ให้กับใจก็ได้

ให้กับกิเลสตัณหาก็ได้

ถ้าเอาร่างกายมาทำประโยชน์

ให้กับกิเลสตัณหา ก็จะสร้างความทุกข์

ให้มีเพิ่มมากขึ้นไป

ไม่ได้ทำให้ความทุกข์ภายในใจลดน้อยลงไป

 หรือหมดไป

แต่ถ้าเอาร่างกายมาทำประโยชน์ให้กับใจ

ด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล

 ด้วยการภาวนา ก็จะทำประโยชน์ให้กับใจ

ได้อย่างเต็มที่

 ในเวลาไม่กี่ปีถ้าตั้งใจทำจริงๆ

พระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองไว้แล้วว่า

ผู้ใดปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้

ไม่เกิน ๗ ปีก็จะสำเร็จ ได้บรรลุธรรม

มีผู้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า มาเป็นจำนวนมาก

ที่ได้สำเร็จประโยชน์

ภายในเวลาที่ได้ทรงกล่าวไว้

 ถ้าไม่บรรลุธรรมภายใน ๗ ปี

ก็ต้องบรรลุภายในชาตินี้อย่างแน่นอน

นี้คือเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

 คือการทำประโยชน์ให้แก่ใจก่อน

ส่วนประโยชน์ของกิเลสตัณหานั้น

 เป็นประโยชน์ปลอม

 ไม่เป็นประโยชน์กับใจเลย

เป็นการเพิ่มความทุกข์ให้มีมากขึ้นภายในใจ

ถ้ายังแสวงหาประโยชน์

 ทางลาภยศสรรเสริญ

 ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่

ก็แสดงว่ากำลังทำประโยชน์ให้กับกิเลสตัณหา

 กำลังทำโทษใจ เพิ่มความทุกข์ภายในใจ

 เพิ่มการเวียนว่ายตายเกิดให้มีมากขึ้นไป

 นี่คือเรื่องของพวกเรา อยู่ตรงนี้

การกระทำของพวกเราก็แบ่งเป็น ๓ ส่วน

ส่วนที่ ๑ ก็ทำให้ร่างกาย ที่จำเป็นจะต้องดูแล

 เพราะร่างกายเป็นเครื่องมือ

ที่เราใช้ทำประโยชน์ ให้กับใจ

หรือให้กับกิเลสตัณหา

 ส่วนที่ ๒ ก็ทำให้กับกิเลสตัณหา

 ส่วนที่ ๓ ก็ทำให้กับใจ

ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนแล้ว

ก็จะรู้ว่าควรทำเพียง ๒ ส่วน

คือทำให้ร่างกายและทำให้ใจ

ไม่ควรทำให้กิเลสตัณหา

 ไม่ควรแสวงหาลาภยศสรรเสริญ

 หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

แต่ควรแสวงหาความดับทุกข์ใจ

ด้วยการทำทาน รักษาศีล

 ด้วยการภาวนา ส่วนการดูแลร่างกาย

 ก็ดูตามอัตภาพ ตามความจำเป็น

 ด้วยความมักน้อยสันโดษ

 ไม่ควรเสียเวลาดูแลร่างกายแบบหรูหรา

เกินเหตุเกินผล ร่างกายต้องการเพียงปัจจัย ๔

 ที่ไม่ต้องวิเศษหรูหราแต่อย่างใด

 ให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาร่างกาย

ให้อยู่อย่างปกติสุขก็พอแล้ว

 วิถีชีวิตของพระพุทธเจ้าที่ทรงดำเนินนี้

 เป็นแบบฉบับ เป็นตัวอย่าง

ของการดูแลร่างกายแบบพอดี

แบบเรียบง่าย แบบมักน้อยสันโดษ

ทรงหาอาหารด้วยการบิณฑบาต

 ได้มากน้อยก็ทรงเสวยเพียงมื้อเดียว

 อาหารที่เหลือก็ทรงสละไป ไม่ทรงเก็บเอาไว้

 ที่อยู่อาศัยก็ทรงประทับในป่าในเขาเป็นหลัก

อยู่ตามโคนไม้ ตามเพิง ตามถ้ำ ตามเงื้อมผา

 ตามเรือนร้าง นี้คือที่อยู่อาศัย

ของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันต์

เครื่องนุ่งห่มก็ทรงใช้ผ้าบังสุกุล

 ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ผ้าที่ใช้ห่อศพ

หรือผ้าที่ทิ้งไว้ตามกองขยะ

ไม่มีใครต้องการแล้ว

 ทรงเก็บผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมารวบรวมเอาไว้

พอได้จำนวนพอกับการเย็บให้เป็นผืน

ก็ทรงเย็บ เสร็จแล้วก็ย้อมด้วยน้ำ

ที่ต้มกับแก่นไม้ เช่นแก่นขนุน

นี่คือเครื่องนุ่งห่ม

ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์

ในยุคบุกเบิก ในยุคที่ไม่ได้ทรงสอน

ให้ญาติโยมถวายผ้ากฐิน

 ต้องใช้ผ้าป่าที่เรียกว่าผ้าบังสุกุล

 ผ้าป่าก็คือผ้าที่ได้จากป่าช้า

ส่วนยารักษาโรค ก็รักษาด้วยสมุนไพร

หรือดื่มยาดองน้ำมูตร

 ก็พอที่จะดูแลรักษาร่างกาย

 ให้อยู่ไปจนถึงเวลาอันควร

นี่คือวิถีชีวิตของผู้ที่ต้องการหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิด

ผู้ที่ต้องการดับทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจ

 ถ้ามัวแต่ไปวุ่นวายกับการแสวงหา

ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหาร

ยารักษาโรคอันประณีตอันหรูหรา

ก็จะเสียเวลาอันมีค่าไป

เพราะจะต้องใช้เวลามาก

เวลาที่จะเอามาใช้กับการปฏิบัติจะมีน้อย

 แทนที่จะเอื้อประโยชน์ส่งเสริมการปฏิบัติ

กลับเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ

ขอให้พวกเราพิจารณาดู

 ว่าการอยู่การรับประทานของพวกเรานี้

 อยู่แบบไหน อยู่แบบพระพุทธเจ้า

 อยู่แบบพระอรหันตสาวก

 หรืออยู่แบบมหาเศรษฐี

อยู่แบบราชามหากษัตริย์

ถ้าอยู่แบบมหาเศรษฐี

อยู่แบบราชามหากษัตริย์

 ก็อยู่เพื่อกิเลสตัณหานี้เอง

 เป็นการทำประโยชน์ ๒ ส่วนไปพร้อมๆกัน

คือ ทำประโยชน์ให้กับร่างกาย

 และทำประโยชน์ให้กับกิเลสตัณหา

ควบคู่กันไป

เช่นบ้าน ก็ต้องใหญ่โตมโหฬาร

ราคาเป็น ๑๐ เป็น ๑๐๐ ล้าน

เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ต้องประดับเพชรประดับพลอย

 ต้องออกแบบจากนักออกแบบมีชื่อเสียง

 ตัดชุดละหมื่นชุดละแสน

 อาหารก็ต้องอาหารที่วิเศษ

 อาหารที่ขายในร้านอาหารที่มีชื่อเสียง

 มีราคาแพงๆ ยารักษาโรค

ก็ต้องรักษาด้วยยาที่มีราคาแพงๆ

 รักษาตามโรงพยาบาล ที่มีราคาแพงๆ

ถ้าอยู่แบบนี้ก็จะต้องเสียเวลา

กับการหาเงินหาทอง เพื่อมาใช้จ่าย

กับการเลี้ยงดูร่างกาย

จะต้องยุ่งกับการหาเงินหาทอง

จนไม่มีเวลาที่จะมาทำประโยชน์ให้กับใจ

 เพราะทานก็ไม่อยากจะทำ

เพราะจะต้องทุ่มรายได้ทั้งหมดที่ได้มา

ไปกับการดูแลรักษาร่างกายแบบหรูหรานั่นเอง

นอกจากดูแลร่างกายแล้ว

 ถ้ามีเงินเหลือก็เอาไปดูแลกิเลสตัณหาต่อไป

ซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ

เสื้อผ้าอาภรณ์มีพอใช้แล้วก็ยังไม่หยุดซื้อ

 ได้รับประทานอาหารอันเลิศหรู

แล้วก็ยังไม่พอ ต้องหาความสุขจากสิ่งอื่นต่อ

 ต้องหาความสุขจากรูปเสียง

ไปดูไปฟังการแสดงต่างๆ

 ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

 อย่างนี้เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์

 กับกิเลสตัณหา แล้วก็จะเกิดความทุกข์

เกิดโทษกับจิตใจ เพราะกิเลสตัณหา

 เป็นเหมือนเชื้อโรคของใจ

ถ้าร่างกายได้รับการส่งเสริม

ให้มีเชื้อโรคมากขึ้น

โรคภัยไข้เจ็บในร่างกาย

ก็ต้องมีมากขึ้นไป ตามกำลังของเชื้อโรค

 ฉันใด ความทุกข์ใจก็เช่นเดียวกัน

จะมีมากมีน้อย ก็อยู่ที่ปริมาณ

หรือกำลังของกิเลสตัณหานั้นเอง

 ถ้ากิเลสตัณหามีกำลังมาก มีปริมาณมาก

 ความทุกข์ภายในใจก็จะมีมาก

ถ้ากิเลสตัณหามีปริมาณน้อย

ความทุกข์ภายในใจก็จะมีน้อย

 นี่คืองานที่พวกเราทำกัน

ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันตาย

ลองทบทวนดูว่าทำงานส่วนไหนมากกว่ากัน

 ทำทานรักษาศีลภาวนา

หรือแสวงหาลาภยศสรรเสริญ

แสวงหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส

 แสวงหาการอยู่แบบหรูหราแบบแพงๆ

 กำลังทำแบบไหนกัน

ถ้าต้องการบรรลุมรรคผลนิพพาน

 อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

ทั้งหลายบรรลุกัน

 ก็ต้องดูเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นมา

 เหตุก็คือวิถีชีวิตที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินมา

 ที่พระอรหันตสาวกทั้งหลาย

 ได้ดำเนินตาม ก็คืออยู่แบบเรียบง่าย

 อยู่แบบสมถะ อยู่แบบมักน้อยสันโดษ

พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย

 อาหารจะราคาเป็นหมื่น หรือราคา ๑๐๐ บาท

 ก็ทำหน้าที่เหมือนกัน

คือทำให้ร่างกายอยู่ต่อไปได้

 ระงับความหิวภายในร่างกายให้หายไป

 ให้อยู่อย่างสุขสบาย

 เช่นเดียวกับเสื้อผ้าอาภรณ์

จะเป็นเสื้อที่ตัดมาจากผ้าขี้ริ้ว

หรือตัดจากผ้าอันประณีต

ประดับเพชรประดับพลอย

ก็เป็นเพียงเสื้อผ้าอาภรณ์

 ไว้ปกปิดร่างกายเท่านั้นเอง

ทำหน้าที่ได้เท่ากัน คนฉลาดจึงไม่เสียเวลา

 กับการดูแลร่างกายมากเกินเหตุเกินผล

 จะดูแลตามความจำเป็น

 ตามความต้องการของร่างกาย

ถึงเรียกว่าเป็นคนฉลาด

คนที่ดูแลร่างกายแบบเกินเหตุเกินผลนี้

 เรียกว่าเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด

ไม่รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๔๕๑ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๖

(จุลธรรมนำใจ ๓๒)

“ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :29 ตุลาคม 2559 Last Update :29 ตุลาคม 2559 5:43:46 น. Counter : 839 Pageviews. Comments :0