bloggang.com mainmenu search










“ความสงบ”

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

มีประเด็นสำคัญอยู่ประเด็นเดียวก็คือ “ความสงบ”

เพราะความสงบนี้ คือความสุขที่แท้จริง

พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้พวกเราร่ำรวย

ไม่ได้สอนให้พวกเราเป็นใหญ่เป็นโต

 ไม่ได้สอนให้พวกเรามีคนนับหน้าถือตา

 แต่สอนให้พวกเรามีความสุขใจ

การที่เราจะมีความสุขใจได้ เราต้องควบคุมใจ

 เพราะใจเป็นเหมือนรถยนต์ที่วิ่งลงภูเขา

ถ้าไม่มีเบรคคอยหยุดรถ รถก็จะวิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ

แล้วเวลามาถึงที่จะต้องชะลอหรือหยุด

 ถ้าไม่มีเบรคก็จะชะลอไม่ได้ จะหยุดไม่ได้

 เช่นมาถึงทางโค้ง ถ้าไม่มีเบรคก็จะแหกโค้ง

ถ้ามาถึงสี่แยกที่จะต้องจอดต้องหยุด

ก็จะต้องฝ่าไฟแดงไป ก็จะเกิดอุบัติเหตุต่างๆได้

ชีวิตของพวกเราที่มีปัญหากัน มีเรื่องวุ่นวายต่างๆ นาๆ

 ก็เพราะว่าเราไม่สามารถควบคุมจิตใจของเรา

ให้อยู่ในความสงบได้ คือเราไม่สามารถหยุดใจของเราได้

 เวลาที่ควรจะหยุด พอเราหยุดไม่ได้

 ก็เลยเกิดปัญหาต่างๆตามมา เวลาเกิดความโลภ

 เราหยุดความโลภไม่ได้ เราก็ไปทำสิ่งต่างๆ

ที่เกิดความเสียหาย เวลาเกิดความโกรธก็เช่นเดียวกัน

ดังนั้นเราต้องพยายามที่จะควบคุมใจของเรา

หยุดใจของเราให้ได้ เพราะเวลาที่ใจของเรานิ่ง

 เวลาใจสงบนี้ จะมีความสุขอย่างยิ่ง

 จะมีความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า

 รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

 รสแห่งธรรมนี้ก็หมายถึงความสงบนี่เอง

 ถ้าได้ความสงบแล้วจะไม่อยากจะได้อะไร

 แต่ถ้าไม่ได้ความสงบ

 ก็อยากจะได้สิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้

อยากร่ำอยากรวย อยากเป็นใหญ่อยากเป็นโต

 อยากให้คนยกย่องสรรเสริญเยินยอ

 อยากไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

แต่ความสุขที่ได้จากสิ่งเหล่านี้

 ไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง

 เพราะเป็นความสุขที่ทำให้เกิดความหิว

ความต้องการ ความอยากเพิ่มขึ้นอีก

ไม่ได้ทำให้เกิดความอิ่มเกิดความพอ

เวลาได้สัมผัสก็จะมีความสุข

 พอผ่านไปความสุขนั้นก็จางหายไป

 ต้องหาใหม่มาอยู่เรื่อยๆ และต้องหาเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ดังนั้นเราจึงต้องมาหาความสงบกัน

 เพราะความสงบนี้เป็นความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่จะให้ความอิ่มความพอ

 ความสุขที่จะทำให้เราไม่ต้องการอยากได้อะไร

เราสามารถอยู่เฉยๆ ได้อย่างมีความสุข

 เราสามารถอยู่แบบคนยากจนได้ อย่างไม่เดือดร้อน

 อย่างพระพุทธเจ้าเคยอยู่อย่างพระราชกษัตริย์

มีทรัพย์ต่างๆ มากมาย มีบริษัทมีบริวาร มีฐานะที่สูงส่ง

 แต่พระองค์ทรงสละความสุขแบบนั้นไป

เพราะทรงเห็นว่า มันไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง

 แล้วก็ทรงออกบวชไปอยู่ในป่าในเขา

 ไปควบคุมจิตใจให้สงบ พอจิตใจสงบแล้ว

ก็ไม่เคยคิดที่จะกลับไปอยู่ในพระราชวังอีกต่อไป

 เพราะว่าได้พบกับความสุขที่แท้จริง

 ได้พบกับความสุขที่ทำให้เกิดความอิ่มความพอขึ้นมา

 อันนี้แหละที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาก็คือความสงบ 

ความสุขที่เกิดจากความสงบ

 เพราะไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้ที่จะดี

เท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบนั่นเอง

“นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง” ไม่มีสุขใดในโลกนี้

ที่จะดีเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบ

ดังนั้นหน้าที่ของชาวพุทธเราก็คือ

การมาสร้างความสงบกันนี่เอง

 ความสงบนี้ก็เป็นเหมือนกับการปลูกต้นไม้

 ที่มีปัจจัยที่จะส่งเสริมหรือถ่วงไม่ให้ต้นไม้เจริญเติบโต

ออกดอกออกผล เช่นปลูกต้นไม้ก็ต้องมีดินดี

มีปุ๋ยมีน้ำดี มีการจำกัดวัชพืชต่างๆ

 แมลงสัตว์ต่างๆ ที่จะมาคอยกัดกินต้นไม้

 ถ้ามีการบำรุงรักษาดูแลต้นไม้อย่างต่อเนื่อง

 ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตและออกดอกออกผลได้อย่างรวดเร็ว

 ปัจจัยที่จะเอื้อต่อการทำใจให้สงบนี้

 ก็มีเหมือนกับปัจจัยที่ใช้ในการส่งเสริม

การเจริญเติบโตของต้นไม้

ปัจจัยสำคัญข้อที่ ๑ ก็คือ

ต้องมีสถานที่ที่สงบสงัดวิเวก

 เรียกว่ากายวิเวก อยู่ห่างไกลจาก

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

 ที่จะมาคอยดึงใจให้ไปวุ่นวาย ไปเสพไปหาความสุข

ที่เป็นความสุขปลอม ที่เป็นความสุขที่ทำให้เกิดความไม่สงบ

 ถ้าเรามีสถานที่สงบสงัดวิเวก การทำจิตให้วิเวก

ก็จะเป็นไปได้อย่างง่ายดาย

ดังที่มีพระพุทธสุภาษิตที่ทรงตรัสไว้ว่า กายวิเวก จิตวิเวก

กายต้องสงบสงัดวิเวก แล้วจิตก็จะสงบสงัดวิเวก

 ถ้าไปอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวกแล้ว

ใจยังไม่สงบสงัดวิเวก ก็จำเป็นจะต้องมีปัจจัยอื่น

มาเอื้อมาสนับสนุนอีก ก็คือต้องมีสติ

สติมาคอยควบคุมความคิด

 เพราะว่าถึงแม้จะอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวก

ไม่มีแสดงสีเสียงมาคอยรบกวนใจแล้ว

แต่ใจถ้ายังไม่สติ ก็เหมือนกับรถที่ไม่มีเบรค

 รถที่วิ่งลงเขา รถจะไม่ยอมจอดเอง ถ้าไม่ใช้เบรค

ใจที่ยังมีความคิดปรุงเเต่งอยู่ ยังอยากกับเรื่องนั้นเรื่องนี้

 ยังอยากกับสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่

ถ้าไม่มีเบรคคือสติมาคอยหยุดใจ ใจก็จะไม่หยุด

 ใจก็จะคิดไปเรื่อยๆ

คิดไปแล้วก็จะเกิดความอยากต่างๆ ขึ้นมา

 ถ้าไม่ยับยั้งความอยาก ก็จะทนอยู่ในสถานที่วิเวกนั้นไม่ได้

 ก็จะต้องกลับไปหาสิ่งที่ต้องการอยาก

ถ้าอยากรูปเสียงกลิ่นรส ก็ต้องกลับไปหารูปเสียงกลิ่นรส

ถ้าอยากจะไปทำธุระไปพบคนนั้นพบคนนี้

ก็จะต้องกลับไปทำธุระนั้น ไปพบคนนั้นคนนี้ต่อ

ดังนั้นถ้าเราได้ไปอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวกแล้ว

 ขั้นต่อไปก็คือเราต้องเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 คอยควบคุมความคิดไม่ให้คิดไปถึงเรื่องราวต่างๆ

 ไม่ให้คิดถึงบุคคลต่างๆ ไม่ให้คิดถึงเเสงสีเสียง

 ไม่ให้คิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

วิธีที่จะทำให้จิตไม่คิดก็ต้องหางานให้จิตทำ

 เช่นให้จิตบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ

 ถ้าบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ

 จิตก็จะไม่สามารถคิดเรื่องต่างๆ ได้

 หรือถ้าบริกรรมพุทโธไม่ได้ ก็สวดมนต์ไปก่อนก็ได้

สวดมนต์ไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในอิริยาบถใด

 ทำอะไร ถ้าไม่ต้องใช้ความคิดกับการทำงาน

ก็ให้สวดมนต์ไปผ่านในใจ จะสวดบทสั้นก็ได้

บทยาวก็ได้ บางท่านก็ใช้พุทธัง สะระณังคัจฉามิ

 ธัมมังสะระณังคัจฉามิ สังฆังสะระณังคัจฉามิ

ก็สวดไปซ้ำไปซ้ำมา กลับไปกลับมา เพื่อที่จะให้จิตมีงานทำ

 เพื่อไม่ให้จิตไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

ถ้าจิตไม่สามารถไปคิดถึง เรื่องราวต่างๆได้

จิตก็จะค่อยเย็นลงค่อยสงบลง

แล้วเวลามานั่งสมาธินั่งหลับตาจะสวดมนต์ต่อไปก็ได้

หรือถ้าไม่อยากจะสวดคือสวดมาแล้วเมื่อย

 อยากจะหยุดสวดก็ดูลมหายใจเข้าออกก็ได้

 ดูที่ปลายจมูก ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้

ไม่ต้องตามลมเข้าไป ไม่ต้องตามลมออกมา

 ให้อยู่จุดเดียว เพราะจิตถ้าตามลมเข้าออก

จิตก็จะไม่นิ่งจะสงบได้ จะต้องอยู่ที่จุดเดียว

 เฝ้าดูตรงจุดที่ลมสัมผัสเข้าออก

 ลมจะละเอียดหรือหยาบก็ให้รู้ ตามความเป็นจริง

 ลมจะหายไปก็ให้รู้ว่าหายไป

อย่าไปเกิดความวิตกวิจารณ์ขึ้นมาว่าลมไม่มีแล้ว

เราจะตายหรือเปล่า ถ้าตราบใดมีสติรู้อยู่ไม่มีวันตาย

 การที่เราไม่สามารถรู้ลมได้

ไม่ได้หมายความว่าลมหยุดหายไป

 การหายใจอาจจะช้าลง นานๆอาจจะหายใจสักครั้งหนึ่ง

 อันนี้ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะถ้าเรากลัว

คิดว่าไม่มีลมแล้วเราจะตาย เราก็จะเลิกภาวนา

 พอเราเลิกภาวนาเราก็จะไม่สามารถไปถึงจุดหมาย

ที่เราต้องการไปได้ ก็คือความสงบของใจการรวมของใจ

เป็นหนึ่ง เรียกว่า “เอกัคคตารมณ์” สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา

นี่คือเรื่องของการทำใจให้สงบ เราจำเป็นจะต้องปลีกวิเวก

 จำเป็นจะต้องอยู่คนเดียวไม่คลุกคลีกัน

 ไม่อยู่กันหลายคน เพราะเวลาอยู่กันหลายคนแล้ว

ก็จะอดที่จะคุยกันไม่ได้ เวลาคุยกันก็ต้องใช้ความคิด

พอยิ่งคุยก็ยิ่งคิด ก็ยิ่งฟุ้งซ่านขึ้นมาใหญ่

และบางครั้งคุยกันไปคุยกันมา

ก็อาจจะทะเลาะวิวาทกันก็ได้

เพราะคุยกันแล้วไม่สบอารมณ์

 ดังนั้นเมื่อไปอยู่ในสถานที่วิเวกแล้วก็ต้องไม่คลุกคลีกัน

 ต่างคนต่างอยู่ เวลามีความจำเป็นที่จะต้องมาทำกิจร่วมกัน

ก็ต่างคนต่างทำ ต่างคนมีสติเฝ้าดูจุดที่ตัวเองกำลังทำอยู่

 ไม่ไปสนใจกับเรื่องของคนอื่น ไม่คุยกัน

 นี่เป็นการรักษาสติ ควบคุมความคิดไว้ตลอดเวลา


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................


ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖

“ความสงบ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :16 กันยายน 2559 Last Update :16 กันยายน 2559 13:09:40 น. Counter : 594 Pageviews. Comments :0