bloggang.com mainmenu search










“นักบวช”

นักบวชก็คือผู้ที่สละความสุขทางลาภยศ สรรเสริญ

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็เอาร่างกายนี้มาเป็นเครื่องมือ

 ในการหาความสุขภายในใจ

 ด้วยการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา

 รักษาศีลเพื่อที่จะได้กันไม่ให้ใจ

ออกไปสร้างความทุกข์ให้กับใจนั่นเอง

ถ้าใจไปฆ่า ไปลักทรัพย์ ไปประพฤติผิดประเวณี

ไปพูดปด ไปเสพสุรายาเมา ใจก็จะสร้างความทุกข์

สร้างความวุ่นวายใจให้กับใจ

ดังนั้นจึงต้องมีศีลไว้เป็นกำแพงคอยกั้น

ไม่ให้ใจ ออกไปสร้างความทุกข์ให้กับใจ

 มีทานมีจาคะมีการเสียสละ

ใช้ทานใช้จาคะใช้การเสียสละในการยุติ

การไปหาความทุกข์จากการไปหาสิ่งต่างๆ

ภายนอกใจ ภายนอกร่างกายก็คือลาภยศ สรรเสริญ

 รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ชนิดต่างๆ นี่เอง

 นี่คือสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำในเบื้องต้น

คือ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางลาภยศ สรรเสริญ

แล้วก็รักษาศีล สร้างกำแพงกันไม่ให้ใจออกไปสร้างปัญหา

 สร้างความทุกข์สร้างความวุ่นวายใจให้กับใจ

 แล้วก็ต้องใช้สติที่เป็นเหมือนเชือก

ดึงใจให้เข้าข้างในใจให้ได้

 ปกติใจจะไม่เข้าข้างในโดยอัตโนมัติ

โดยคำสั่งของเรา เราสั่งบอกว่าให้สงบ

ให้นิ่งให้อยู่เฉยๆนี้เราสั่งเขาไม่ได้

เพราะเขามีเจ้านายเก่า เจ้านายเก่าก็คือกิเลสตัณหานี่เอง

 ที่จะคอยสั่งให้ใจออกไปหาสิ่งต่างๆภายนอก

สั่งให้ออกไปหารูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ

ออกไปหาลาภยศ สรรเสริญ

 เราต้องใช้สติ ดึงใจให้เข้ามาข้างใน

 ด้วยการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

ตลอดเวลาตั้งแต่ที่เราตื่นขึ้นมาจนถึงเวลาหลับไป

 เพราะว่าเวลาใดที่เราไม่เจริญสติ

ก็เป็นเหมือนเวลาที่ เชือกมันขาด

พอเชือกขาดใจที่เราคอยดึงให้เข้าข้างใน

มันก็จะออกไปข้างนอก เพราะยังมีกำลังของกิเลสตัณหา

 คอยดันให้ออกไปข้างนอกอยู่

การเจริญสติจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะยาก

เพราะเป็นเหมือนกับการชักเย่อ

 การชักเย่อจะต้องใช้กำลังมากถึงจะชนะ

 ฝ่ายตรงกันข้ามได้ ถ้าเราไม่มีกำลังมากพอ

เราก็จะไม่สามารถดึงให้เขามาตามทางของเราได้

เราก็มักจะถูกเขาดึงไปตามทางของเขาเสียมากกว่า

เวลาเจริญสติจึงรู้สึกว่ามีความตึงเครียด มีความอึดอัด

 ไม่เหมือนกับการทำตามใจชอบทำตามความอยาก

ทำตามความโลภอันนี้จะไหลไปอย่างสบาย

 ถ้าเราปล่อยให้ใจเราทำตามความโลภ

ทำตามความอยากก็เหมือนกับเราไม่ดึงฝ่ายตรงข้าม

 เราไม่สู้เขาเราปล่อยให้เขาลากเราไปนั่นเอง

 แต่เวลาที่เราเจริญสตินี้ก็เหมือนกับเวลาที่เราต่อสู้กับเขา

 เขาดึงเขาไว้ เราไม่ให้เขาดึงเราไป

นี่คืองานเบื้องต้นที่เราจะต้องฝึกต้องเจริญให้ได้

 ก็คือการเจริญสติ ดึงใจของเราให้เข้าข้างใน

อย่าปล่อยให้ใจถูกกิเลสตัณหาความโลภความอยากต่างๆ

 ดึงออกไปสู่ภายนอก

วิธีเจริญสติก็จะใช้คำบริกรรมก็ได้

 จะใช้การเฝ้าดูการเคลื่อนไหว

การกระทำต่างๆของร่างกายก็ได้

หรือจะทำทั้ง ๒ อย่างควบคู่กันไปก็ได้

 ข้อสำคัญก็อย่าให้ใจมีโอกาสที่จะไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

โดยเฉพาะเรื่องลาภยศ สรรเสริญ

 เรื่องรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 เพราะถ้าคิดแล้วก็จะถูกกิเลสตัณหาดึงไป

ดึงไปให้ไปหาสิ่งต่างๆ เหล่านั้น

ใจก็จะไม่สามารถเข้าสู่ข้างในได้

แต่ถ้าเราสามารถควบคุมความคิด

ไม่ให้คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ได้

ความอยาก ความโลภกับเรื่องร่างต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้นมา

 ใจก็จะอยู่ข้างในได้ อันนี้คือการปฏิบัติในเบื้องต้น

 คือเราต้องเจริญสติที่เป็นเหมือนเชือก

ที่จะคอยดึงจิตของเราให้เข้าข้างใน

ไม่ให้กิเลสดึงออกไปหาลาภยศ สรรเสริญ

 หารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ถ้าเราเจริญสติได้อย่างต่อเนื่องไม่ช้าก็เร็ว

เราก็จะสามารถดึงจิต ให้เข้าสู่ข้างในได้

ให้เข้าสู่ความสงบได้ ถ้าเราเจริญสติตลอดเวลา ใ

จไม่ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ อยู่กับปัจจุบัน

อยู่กับพุทโธหรืออยู่กับร่างกายตลอดเวลา

เวลานั่งขัดสมาธิหลับตาทำใจให้สงบ

ให้เป็นสมาธิก็จะเป็นได้ อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

พอใจเข้าไปสู่ความสงบแล้วก็จะได้พบกับความสุขอันยิ่งใหญ่

ความสุขที่ให้ความอิ่มให้ความพอ

จะทำให้ ไม่อยากได้อะไร

จะทำให้ไม่อยากออกไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไม่อยากจะไปหาลาภยศสรรเสริญ

อันนี้คือจุดหมายเป้าหมายของการปฏิบัติ

เพื่อดึงใจให้เข้าสู่ข้างใน ให้เข้าสู่ความสงบ

ให้เข้าสู่ความสุขที่ยิ่งใหญ่ ที่แท้จริง

เป็นความสุขที่จะอยู่คู่กับใจไปตลอด

เพียงแต่ในเบื้องต้นนี้ยังไม่สามารถ

ที่จะให้ใจอยู่กับความสงบนี้ ได้อย่างถาวร

เพราะกำลังของสติยังมีไม่มากพอ

จิตเข้าไปอยู่ในความสงบได้สักระยะหนึ่งแล้ว

 ก็จะถอนออกมา ถอนออกมาสู่ภายนอกมาสู่ร่างกาย

 สู่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ถ้าอยากจะรักษาความสุขความสงบ

 ที่ได้จากการอยู่ในสมาธินี้

ก็จำเป็นจะต้องใช้ธรรมะอีกส่วนหนึ่ง

 อีกขั้นหนึ่งคือปัญญา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๗

“แสงสว่างแห่งธรรม”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :07 สิงหาคม 2559 Last Update :7 สิงหาคม 2559 10:13:35 น. Counter : 637 Pageviews. Comments :0