bloggang.com mainmenu search








“เวลาปฏิบัติควรมุ่งไปที่จิตใจเป็นหลัก”

เวลาปฏิบัติควรมุ่งไปที่จิตใจเป็นหลัก

เสียกายไม่เป็นไร ถ้าเป็นการแลกเปลี่ยน

กับการได้ความเป็นอิสระของใจ

ได้หลุดพ้นจากกิเลสความโลภความโกรธ

ความหลงความอยากต่างๆ

 เสียอย่างนี้เสียไปเถิด

 เพราะร่างกายสักวันหนึ่งก็ต้องตายไป

แต่ใจไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย

 ถ้ายังไม่ได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสรภาพ

ก็ยังต้องเป็นทาสอยู่

 ไปเกิดชาติหน้าก็ยังต้องเป็นทาสอีก

 แต่ถ้ายอมสละร่างกายเป็นเดิมพัน

 จะเป็นจะตายอย่างไร

จะลำบากอย่างไร ก็ไม่ถอย

เพื่อทำลายความโลภความโกรธความหลง

ที่มีอยู่ในจิตใจ ทำอย่างนี้จะได้กำไร

เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะชีวิตนี้

มีไว้เพื่อทำประโยชน์นี้นั้นเอง

 เหมือนกับซื้อรถยนต์ขับเคลื่อน ๔ ล้อ

สำหรับใช้ในป่าในเขา มาใช้ในบ้านในเมือง

 ไม่รู้จะซื้อมาทำไม ถนนก็ไม่ขรุขระ

ต้องเอาไปลุยในป่าในเขาสิ

รถชนิดนี้มีไว้ใช้อย่างนั้น

ร่างกายของเราก็อย่างนั้น

 เป็นเหมือนรถขับเคลื่อน ๔ ล้อ

 ไว้สำหรับลุยกับกิเลส

กับความโลภความโกรธความหลง

 แต่เรากลับเอาไปรับใช้กิเลส

 รับใช้ความโลภความโกรธความหลง

 แล้วเราจะได้อะไรจากการเกิดในแต่ละชาติ

 ก็ไม่ได้อะไร ยังตกเป็นทาสของกิเลส

 รับใช้กิเลสอยู่

 เป็นวาสนาของพวกเรา

ที่ได้พบพระพุทธศาสนา

 ที่ทำให้เรารู้ถึงหน้าที่ที่แท้จริงของร่างกายเรา

 ว่ามีไว้ทำอะไร ก็มีไว้เพื่อปลดเปลื้องจิตใจ

ที่เป็นทาสของกิเลส ที่อยู่ภายใต้อำนาจ

ของความโลภความโกรธความหลงอยู่นี้

ให้ได้รับอิสรภาพ ทุกขณะที่เราหายใจอยู่นี้

เราอยู่ภายใต้อำนาจของความหลงทั้งนั้น

 คืออวิชชาปัจจยาสังขารา

อวิชชาเป็นตัวสั่งให้สังขารคิด

 ให้คิดแต่เรื่องลาภยศสรรเสริญสุข

 วันนี้จะไปเที่ยวไหนดี

วันนี้จะไปกินอะไรที่ไหนดี

 แต่เรื่องไปปฏิบัติธรรมแทบจะไม่คิดกันเลย

 ส่วนพวกเราอาจจะมีคิดกันบ้าง

เพราะได้สัมผัสได้

พบคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ที่สอนให้คิดไปทางวิชชาปัจจยาสังขารา

วิชชาก็คือธรรมะคำสอนของครูบาอาจารย์

 ที่คอยกระตุ้นให้คิดไปในทางบุญทางกุศล

อย่างวันนี้เราก็คิดมาทำบุญกัน

 ถ้าไม่เคยสัมผัสกับศาสนาเลย

วันนี้วันหยุดก็ต้องพาลูกไปเที่ยวกัน

 เพราะเป็นวันเด็ก ไปเที่ยวไหนดี ไปกินที่ไหนดี

ก็เป็นเรื่องของอวิชชาปัจจยาสังขาราทั้งนั้น

 พอไปแล้วก็จะเป็นตัณหาความอยาก

เป็นอุปาทานความยึดติด

 เป็นภพเป็นชาติขึ้นมา

 พอตายไปจิตก็ยังไม่หยุด

อวิชชาปัจจยาสังขารา

 ก็ส่งให้จิตไปเกิดใหม่

แต่ถ้าใช้ธรรมะปัจจยาสังขาราแล้ว

 ก็จะดับตัณหา ดับอุปาทาน

ดับภาวะคือภพชาติ

 ก็จะไม่มีการไปไหนมาไหน

จิตใจมีความสุขแล้ว ก็ไม่ต้องออกไปเที่ยว

 อยู่บ้านเฉยๆก็มีความสุข อยู่วัดก็มีความสุข

ไม่ต้องออกไปแสวงหา ความสุขภายนอก

 นอกจากมีธุระจำเป็น ไปเผยแผ่ธรรมะ

 แต่จะไม่ออกไปเหมือนอย่างพวกเรา

 ที่อยู่บ้านเฉยๆไม่ได้

 พอวันเสาร์วันอาทิตย์ก็คิดหาเรื่องทำแล้ว

จะไปไหนดี อยู่บ้านแล้วอึดอัดใจ หงุดหงิดใจ

 ทั้งๆที่ไม่มีอะไรจะสบายเท่าการอยู่บ้าน

ไม่ต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้เหนื่อย

ห้องน้ำห้องท่าก็สะดวก

 ไม่ต้องไปเข้าแถวไปแย่งกัน

 อาหารก็มีเก็บไว้ในตู้เย็น

ทำกินในบ้านแสนสบาย

แต่ต้องออกไปดิ้นรน

 หาความสุขภายนอกบ้านกัน

 เพราะอยู่บ้านไม่ติด

อยากจะเห็นรูปแปลกๆใหม่ๆ

 อยากจะได้ยินเสียงแปลกๆ ใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ

 เพราะใจอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภ

ความโกรธความหลง

 จึงเป็นอวิชชาปัจจยาสังขารา

 สังขารก็ปรุงให้ออกไปทางอายตนะ

ไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ไปสู่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไปสู่การสัมผัส แล้วก็เกิดเวทนา

พอได้ออกจากบ้านแล้วเป็นอย่างไร มีความสุข

ไปดูหนังฟังเพลง ไปกิน ไปเที่ยว

ไปซื้อของฟุ่มเฟือย

 แล้วก็เกิดอุปาทานความยึดมั่น

 เกิดตัณหาความอยาก ต้องออกไปเรื่อยๆ

 ออกไปวันนี้แล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องออกไปอีก

 ก็เป็นภาวะจะต้องออกไปทำใหม่

 เสาร์อาทิตย์นี้ไปเที่ยวที่นั่น

เสาร์อาทิตย์หน้าก็ไปเที่ยวที่อื่นต่อ

 ก็จะไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนแก่ตาย

 พอตายไปใจก็ไปเกิดใหม่

 ไปเริ่มต้นทำอย่างนี้ใหม่

 เป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ

 แต่ถ้าใช้ธรรมะมาเป็นตัวขับเคลื่อนสังขาร

ธรรมะปัจจยาสังขารา

ก็จะไปที่สงบที่สงัดที่วิเวก

ที่ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่จะทำให้เกิดตัณหาขึ้นมา

 เกิดความอยากขึ้นมา

ไปอยู่ตามวัดป่าวัดเขา

ไปไหว้พระสวดมนต์ ไปฟังเทศน์

 ฟังธรรมะของครูบาอาจารย์

 ไปนั่งทำจิตให้สงบ

เพื่อตัดตัณหาความอยาก

 ตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น

 ตัดภาวะภพชาติที่จะตามมาต่อไป

นี่คือธรรมะปัจจยาสังขารา

 ถ้าเจริญมรรคอยู่เรื่อยๆ

 เจริญธรรมอยู่เรื่อยๆ

ต่อไปธรรมะจะมีแรงมากกว่าอวิชชา

ก็จะทำลายอวิชชาให้หมดไปจากจิตจากใจได้

พออวิชชาถูกทำลายหมดไป

จิตก็กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ เป็นธรรมทั้งแท่ง

 ใจเป็นธรรมล้วนๆ ไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่เลย

 จะคิดแต่เรื่องธรรมะ เรื่องของเหตุเรื่องของผล

 ไม่คิดอยากไปมีสมบัติข้าวของเงินทอง

 เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณ เป็นสังฆราช

 หรือเป็นอะไรทั้งสิ้น

 จะไม่มีอยู่ในจิตในใจ

ไม่คิดอยากไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง ไปโน้นมานี่

ไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก ใจจะไม่คิด

เพราะในใจมีแต่ความสงบ มีแต่ความสุข

ถ้าไม่มีความโลภความโกรธความหลงแล้ว

ก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความอยาก

ก็จะไม่ไปไหน อยู่บ้านสบายที่สุด

 อยู่วัดสบายที่สุด

นี่คือการใช้ธรรมะมาปลดเปลื้องจิต

ให้หลุดพ้นจากความทุกข์

ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์

อย่าปล่อยให้ร่างกายเป็นทาสของกิเลส

 ด้วยการขับรถไปหาร้านเชลล์ชวนชิม

 ไปกินที่โน้นที่นี่ อาหารชนิดนั้นดี ชนิดนี้ดี

 บางคนอุตสาห์นั่งเครื่องบินไปกินอาหารที่ฮ่องกง

 ไปเช้าเย็นกลับ

 เพราะอวิชชาปัจจยาสังขาราพาไป

 ถ้าเป็นธรรมะปัจจยาสังขารา

ก็อยู่ที่บ้านทอดไข่เจียวกิน

กินเสร็จจะได้นั่งสมาธิต่อ

 ไหว้พระสวดมนต์ปฏิบัติธรรม

 เราทำอยู่ปีหนึ่ง อยู่ในบ้านไม่ได้ไปไหน

 แต่ไม่ได้ทำอาหารกินเอง

ไปกินที่ร้านเพราะมันสะดวก

 กินก๋วยเตี๋ยวชาม ข้าวผัดชาม ก็อิ่มแล้ว

ก็อยู่ได้วันหนึ่ง เช้าตื่นขึ้นมาก็นั่งสมาธิ

 พอออกจากสมาธิก็เดินจงกรม

ให้มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา

ไม่ว่าจะทำอะไร ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน

อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

 จะเข้าห้องน้ำ จะแปรงฟันก็อยู่ตรงนั้น

จะทำอะไรก็อยู่ตรงนั้น แล้วก็เดินจงกรม

พิจารณาว่าเกิดมาแล้ว

ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นเรื่องธรรมดา

 พิจารณาไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะไม่วิตก

กับความแก่ความเจ็บความตาย

เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

เหมือนกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์

เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา

 ไม่ได้ดีอกดีใจเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นมาตอนเช้า

 ไม่ได้เสียอกเสียใจเวลาที่ตกลงไปตอนเย็น

 เป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ใจรับรู้

ร่างกายก็เป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่ง

ที่ใจรับรู้เช่นเดียวกัน

ต่างกันตรงที่ใจไปยึดติดร่างกาย

ว่าเป็นตัวเราของเรา

เพราะความหลงหลอกให้ไปยึด

 ถ้าแก้ตรงนี้ได้แล้ว

 ร่างกายก็จะเป็นเหมือนดวงอาทิตย์

 จะขึ้นจะตก ใจก็เฉยๆ

ร่างกายจะเป็นจะตาย ใจก็เฉยๆเหมือนกัน

เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดว่า

เป็นตัวเราของเรานั่นเอง

 นี่คือสิ่งที่เราต้องพยายามฝึกสอนตัวเรา

 ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นดินน้ำลมไฟ

 เป็นการเปลี่ยนแปลงของดินน้ำลมไฟ

เป็นการรวมตัวกันเข้ามาแล้วก็แยกออกไป

 ไม่มีอะไรที่รวมตัวกันแล้วจะอยู่ไปได้ตลอด

 แม้กระทั่งศาลาหลังนี้ก็เช่นเดียวกัน

 สักวันหนึ่งก็จะเสื่อมลงไป ผุพังลงไป

แยกจากกันไป ศาลาหลังนี้ก็จะหายไป

ถ้าไม่ยึดไม่ติด ก็ไม่เสียอกเสียใจ

 แต่ถ้ายึดติดก็จะเสียใจ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๒๗๖ วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๐

(จุลธรรมนำใจ ๗)

“กินเพื่ออยู่”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :06 ตุลาคม 2559 Last Update :6 ตุลาคม 2559 9:36:07 น. Counter : 625 Pageviews. Comments :0