bloggang.com mainmenu search











“กิเลสทำให้ใจทุกข์

ธรรมทำให้ใจไม่ทุกข์”

การปฏิบัติมันจะกำจัดกิเลสไปเรื่อยๆ

 มันจะเห็นโทษของกิเลส

ว่ากิเลสนี่แหละที่ทำให้ใจทุกข์

และธรรมนี่แหละเป็นตัวที่จะทำให้ใจไม่ทุกข์

ที่บอกว่าใจนี้สำคัญก็คือให้เรามาดูแลรักษาใจ

 อย่าไปดูแลรักษาอย่างอื่น

อย่างลูกไม่ต้องไปรักษามันหรอก

เลี้ยงมันให้มันโต ก็จบแล้ว

 ทรัพย์สมบัติข้าว ของเงินทองก็รักษาได้ ก็รักษาไป

แต่รักษาอย่างไรมันก็รักษาไม่ได้

มันก็ต้องจากกันไป ลาภยศ สรรเสริญ

 ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ที่พวกเราที่มนุษย์ทั้งโลกนี้ รักกันหวงกันแย่งกัน

 ฆ่ากัน ก็เพื่อสิ่งนี้ แต่แทนที่จะทำให้ใจเราสุข

กลับทำให้ใจเราทุกข์ใหญ่ นี่ไม่ใช่เป็นวิธีรักษาใจ

วิธีรักษาใจต้องทิ้งทุกอย่าง

เพราะของทุกอย่างนี้มันทำให้ใจเราวุ่ยวาย

 ถ้าไม่ยุ่งกับมันแล้วสบาย ให้รู้ว่าใจเป็นสิ่งที่สำคัญ

และต้องรู้จักวิธีรักษาใจว่ารักษาอย่างไร

 วิธีที่จะรักษาใจก็คือต้องทิ้งทุกอย่าง ไม่เอาอะไรเลย

 พระพุทธเจ้าเป็นลูกของกษัตริย์

ทิ้งหมดไปอยู่ในป่าคนเดียว

ไปรักษาใจเพียงอย่างเดียว

ใจยังถูกข้าศึกศัตรูรุมทำร้ายอยู่

ข้าศึกศัตรูของใจก็คือกิเลสตัณหา

ความโลภ ความอยากต่างๆ

ก็ต้องสร้างธรรมขึ้นมา

 สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา

 พอมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ก็มีอาวุธ

ท่านเรียกว่า “ธรรมาวุธ”

อาวุธที่จะมาทำลายข้าศึกศัตรูของใจ

ที่จะมาคอยสร้างความทุกข์ทรมานให้กับใจ

 ก็คือกิเลสตัณหานี่เอง พอมีธรรมาวุธ

 มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ก็จะทำลายกิเลสตัณหา

ให้หมดไปจากใจได้ พอหมดกิเลสตัณหาสงครามก็สงบ

 สันติภาพก็กลับคืน สันติสุขก็เกิดขึ้น

สันติสุขก็นิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุขัง

 ตราบใดที่ยังมีสงครามมีการต่อสู้อยู่

 ความสงบก็ยังมีไม่ได้

ตราบใดที่การต่อสู้ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ข้าศึกศัตรูได้ถูกทำลายล้างหมดแล้ว

เวลานั้นสันติภาพก็เกิดขึ้น สันติสุขก็เกิดตามมา

 แล้วสันติภาพที่ไหนก็สู้สันติภาพที่ใจไม่ได้

 สันติภาพที่อื่น ภายนอกเช่น

 สันติภาพที่ประเทศโน้นประเทศนี้

 เวลาเขาทำสงครามกันแล้วเขาเลิก

แต่ใจก็ยุงทุกข์อยู่เหมือนเดิม

 เพราะใจก็ยังมีกิเลสมีตัณหาอยู่

ดังนั้นอย่าไปหาหรือไปต้องการอะไรในโลกนี้

มันไม่มีคุณค่าราคาเหมือนกับการหาธรรม

เพื่อมารักษาใจของเรา เพราะใจเราเป็นใหญ่

 ความสุขความทุกข์ของใจเรานี้มันยิ่งใหญ่กว่า

ความสุขความทุกข์ทางร่างกาย

 ถ้าใจมีความสุขแล้ว ความทุกข์ของร่างกาย

จะไม่มีความหมายอะไร ถ้าใจมีความทุกข์แล้ว

 ความสุขของร่างกาย ก็ไม่มีความหมายอะไร

 ต่อให้เป็นพระราชามหากษัตริย์ มหาเศรษฐี

มีความสุขของพระราชาของมหาเศรษฐี

 แต่ถ้าใจทุกข์แล้วความสุขเหล่านั้น

เหมือนถูกกลบไปหมดเลย หายไปหมดเลย

 อยู่ในวังก็ร้อน อยู่ในคฤหาสน์ร้อยล้านพันล้าน

ก็ร้อน ใจทุกข์ ใจร้อน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าใจสงบใจเย็นสบายแล้ว

 อยู่ในป่าอยู่โคนไม้อยู่คนเดียวก็ไม่เดือดร้อน

 พระพุทธเจ้าอยู่โคนไม้ได้ อยู่ในป่าคนเดียวได้

เพราะท่านสามารถทำใจให้สงบได้ ทำใจให้สุขได้

ดังนั้นมาให้ความสำคัญต่อการสร้างความสุข

ดับความทุกข์ของใจ

 อย่าไปให้ความสำคัญกับร่างกาย มากจนเกินไป

ร่างกายก็ทำได้ไม่ยากหรอก ไม่ต้องการมาก

ความสุขของร่างกายนี้ข้าวมื้อหนึ่งก็สุขแล้ว

 กินอาหารวันละมื้อนี้ก็พอแล้ว

มีผ้ามีเครื่องนุ่งห่มอยู่ชุดเดียวก็อยู่ได้แล้ว

มีเสื้อผ้าอยู่ชุดหนึ่งนี้ก็ได้แล้ว อยู่ได้

 ผ้า ๓ ผืน ผ้าไตรจีวร ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงไหนก็ได้

พอหลบแดดหลบฝนได้ ยารักษาโรคก็ตามมีตามเกิด

 มีอะไรก็กินไปรักษาไป หายก็หาย

ไม่หายก็อยู่กับมันไป อยู่ไปจนกว่ามันจะตายจากกันไป

 เรื่องการดูแลร่างกายนี้มันง่ายมาก

เหมือนเลี้ยงหมาตัวหนึ่ง เลี้ยงหมามันง่ายไหม

 ให้ข้าวมันกินวันละมื้อ มันก็อยู่ได้แล้ว

เสื้อผ้ามันก็ไม่ต้องมี หมามันดีกว่าคน

 เสื้อผ้าก็ไม่ต้องมี บ้านมันก็ไม่ต้องมี

นอนใต้ถุน นอนที่ไหนมันก็นอนได้

เวลาไม่สบาย มันก็ไม่เห็นต้องไปโรงพยาบาล

 ไม่เห็นต้องกินยา มันก็อยู่ของมันได้

 มันก็ตายเหมือนกัน อยู่ไม่ได้มันก็ตายเหมือนกัน

 คนมีบ้านมีเสื้อผ้ามีอาหาร มียารักษาโรค

มีโรงพยาบาล มันก็ตายเหมือนกัน

 ดังนั้นอยู่แบบหมาดีกว่า หัดอยู่แบบหมา

แล้วจะสบาย อยู่แบบหมากินแบบหมา

พระกินแบบหมา เอาอาหารคลุกในบาตร

เวลาจะคลุกให้ข้าวหมากัน พระท่านก็กินอย่างนั้น

ท่านไม่ต้องกินแบบคนเพราะมันวุ่นวาย มันยุ่งยาก

 กินแบบหมานี้มันง่าย อะไรก็ได้ใส่แล้วคลุก

เดี๋ยวมันก็เข้าไปรวมกันในท้องอยู่ดี

จะแยกกันเป็นจานๆ หวาน คาว

ขนมเครื่องดื่มเดี๋ยวมันก็ไปรวมกัน ในท้องอยู่ดี

ไปรวมในท้องแล้วควักออกมาอยากจะกินเข้าไปไหม

 อยู่แบบหมา กินแบบหมา

 อยู่แบบขอทาน กินแบบขอทาน

แล้วมันไม่วุ่นวาย มันสบาย

เหมือนโยมก็อยากจะให้เรากินแบบพระ

 ดื่มน้ำต้องมีถ้วยน้ำ ถ้ากินจากขวดไม่เหมาะสม

 เป็นพระต้องมีถ้วย ต้องเป็นถ้วยที่มีลายคราม

ถึงจะเหมาะสมกับความเป็นพระ

แต่เขาไม่รู้ว่าพระจริงเป็นอย่างไร

พระจริงเขาอยู่แบบขอทาน เขาอยู่แบบหมากัน

 เขากินแบบหมา นอนกับดินกินกับทราย

พระธุดงค์อยู่ที่ไหน

พระธุดงค์ขนเตียงขนหมอนไปได้ที่ไหนล่ะ

ท่านก็เอากลดเอาบาตรไปเท่านั้นเอง

นั่นแหละชีวิตคนที่ให้สำคัญต่อใจ

ท่านจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อร่างกาย

พระธุดงค์ท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจ

 เพื่อสร้างความสุขทางใจ

ท่านก็เลยไม่มาเสียเวลา

กับการสร้างความสุขทางร่างกาย

เพราะความสุขทางร่างกายมันก็นิดเดียว

 ทำให้ดีขนาดไหนอยู่บ้านร้อยล้านพันล้านมันก็นิดเดีย

 มันก็เหมือนตุ่มน้ำเล็กๆ ตุ่มหนึ่ง

คนจะกินร้อยบาทพันบาทมันก็เต็มตุ่มเหมือนกัน

 พอท้องมันอิ่ม มันก็อิ่มเหมือนกัน

 ดังนั้นเรื่องความสุขทางร่างกายนี้

สำหรับผู้ที่รู้ความจริงว่าใจสำคัญกว่าก็จะไม่เสียเวลา

พยายามให้เวลากับมันน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริงๆ

ให้มันเท่าที่จำเป็นจริงๆ กินก็กินมื้อเดียว

 นอนก็นอนตามมีตามเกิด

ที่ไหนที่หลบแดดหลบฝนได้ก็ตามถ้ำ ตามเงื้อมผา

 ตามเรือนร้าง ตามโคนไม้

พระสมัยพุทธกาลท่านอยู่กันอย่างนี้

 อาหารก็บิณฑบาตมื้อหนึ่ง

ผ้าก็เอาผ้าขี้ริ้วไปเอาผ้าที่เขาทิ้งในป่าช้า

 ทิ้งในกองขยะมารวบรวมไว้ ชิ้นเล็กชิ้นน้อยมารวบรวม

แล้วก็มาปะมาเย็บให้มันเป็นผืนใหญ่ขึ้นมา

แล้วก็ซักย้อมเอาแก่นไม้มาต้มน้ำ

 แล้วเอาน้ำแก่นไม้นี้มาซักย้อม

ก็ได้ผ้ากาสาวพัสตร์ขึ้นมา

นี่แหละผู้ที่เขาแสวงหาความสุขทางใจ

 ผู้ที่เห็นความสำคัญของใจ เขาไม่ค่อยจะมาเสียเวลา

กับเรื่องของร่างกาย ไม่เหมือนพวกที่ไม่รู้

แล้วก็เลยเห็นความสำคัญของทางร่างกาย

ดูเขากินอาหารกัน อาหารมื้อหนึ่งนี้จานกี่ใบ

 ช้อนกี่อัน ซ่อมกี่อัน แก้วกี่แก้ว แก้วน้ำแก้วเหล้า

 แก้วกาแฟ ช้อนตักซุป ช้อนตักขนม ช้อนตักอะไร

โอ๊ย..ร้อยแปดพันประการ คนที่จะกินต้องไปเรียน

 ไม่รู้จะใช้ช้อนไหน ใช้ผิดช้อนก็โดนเขาด่าอีก

 หาว่าเชยว่าโง่ ความจริงไม่รู้ใครโง่กันแน่

คนที่เชยก็คือเอามือกิน

 พระกรรมฐานท่านไม่ใช้ช้อน

 เวลาท่านฉันในบาตรนี้ฉันด้วยมือ

 นี่แหละช้อนวิเศษ

 หยิบได้ทุกอย่างทุกชนิดไม่ต้องเปลี่ยนช้อน

 กินแบบฝรั่งมื้อหนึ่งนี้ โอโฮ..อาหาร ๓ - ๔ จาน

ช้อนก็ต้องใช้แต่ละชุด แก้วก็ต้องแต่ละชุด

กินเสร็จต้องมานั่งล้างกันอีก เหนื่อยนะ

 ก่อนจะกินก็ต้องมาเตรียมมาตั้งโต๊ะมาจัด

 เวลากินก็ต้องมาแต่งเนื้อแต่งตัวให้หรูหราอีก

 แล้วมันจะทำไปทำไม

 ความสุขชั่วปลายลิ้นใช่ไหม

 กินเสร็จอิ่มแล้วก็จบแล้ว

 เดี๋ยวมื้อต่อมาก็หิวอีกแล้ว

 อยากจะกินอีกแล้ว ทุกข์อีกแล้ว

 แต่ถ้ามีความสุขทางใจนี้กินมื้อเดียวก็อิ่ม

อดบ้างก็ไม่เดือดร้อน อดมื้อกินมื้อก็อยู่ได้

 ใจมีความสุขแล้ว

ความทุกข์ทางร่างกายนี้มันเบามาก

ความสุขทางใจมันมีกำลังมากกว่า

มันเลยทำให้ไม่รู้สึกเดือดร้อน

กับความทุกข์ทางร่างกาย

พระพุทธเจ้า พระอรหันต์เวลาท่านตาย

ท่านไม่ร้องโอดครวญ

ท่านเฉยๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย

 รู้ว่ามันเจ็บ แต่มันไม่เจ็บ

แบบคนที่ไม่รู้ว่ามันไปเจ็บที่ใจ

 เจ็บด้วยความกลัว พอมีอะไรเจ็บนิดหนึ่ง

กลัวขึ้นมาแล้ว ความกลัวความเจ็บนี้

มันร้ายกาจกว่าความเจ็บอีก

 หมอบอกจะฉีดยาเข็มเดียวนี้ใจกลัวไปแล้ว

 ใจเจ็บไปก่อนแล้ว

ใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธานก็คือว่า

ใจเป็นของที่สำคัญที่สุด ที่เราต้องให้ความสำคัญ

 คำว่าอยากก็เป็นของที่สำคัญเป็นประธาน

เป็นของที่ดีที่สุดสุดยอด ของสิ่งต่างๆ

 ที่มีอยู่ในโลกนี้ แต่ใจของเราตอนนี้

มันเป็นใจที่ถูกกิเลสตัณหาเหยียบย่ำ

 มันก็เลยไม่มีคุณค่าราคาไม่ได้ให้ความสุขกับเรา

 เราก็เลยไปหาความสุขจากสิ่งอื่นแทน

 แทนที่จะหาความสุขจากใจ

เราก็เลยไปหาความสุขจากลาภยศ สรรเสริญ

 หาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รสกัน

แต่ความสุขเหล่านี้เป็นความทุกข์

เพราะว่ามันไม่เที่ยง มันไม่ถาวร

 ได้มาแล้วก็หมดไป หมดไปก็ต้องหาใหม่

แล้วพอหาไม่ได้ก็ทุกข์ อยากกินพอได้กินก็สุข

 ถ้าอยากกินแล้ว ไม่ได้กินก็ทุกข์

แต่ถ้าใจนี้สงบ นี้กินก็ได้ไม่กินก็ได้

ไม่กินอย่างมากก็แค่ตาย แต่ใจไม่ทุกข์

กับการอดยากขาดแคลนอดมื้อกินมื้อ

 พระพุทธเจ้าอดได้ตั้ง ๔๙ วันใจไม่หิว

 ใจมีความสงบ เพียงแต่ตอนนั้น

ความสงบยังไม่ได้

 เป็นความสงบที่ถาวรเท่านั้นเอง

 เป็นความสงบที่จะต้องเข้าไปในสมาธิ

 พอออกจากสมาธิมาก็ทุกข์

 ตอนหลังพบวิธีทำให้ใจไม่ทุกข์

ด้วยการไม่ต้องเข้าไปในสมาธิ

เพราะไปค้นต้นเหตุของความทุกข์เจอว่า

 คือความอยากต่างๆ

พอหยุดความอยากได้ก็จะไม่ทุกข์กับอะไร

ไม่ต้องเข้าไปในสมาธิ

 ร่างกายเจ็บก็ไม่ต้องเข้าไปในสมาธิก็ได้

รู้ว่าความทุกข์เกิดจากความกลัวความเจ็บ

ความอยากให้ความเจ็บหายไป

ก็หยุดมันเท่านั้นเอง ทำใจเฉยๆ

สักแต่ว่ารู้ ความทุกข์ใจก็จะไม่มี

ก็เหลือแต่ความทุกข์ทางร่างกายที่ไม่รุนแรง

ไม่สาหัสอะไร อยู่กับมันได้

อันนี้เป็นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ก่อนหน้านั้นทุกคนเวลาจะหนีความทุกข์

ก็หลบความทุกข์ ก็ต้องเข้าไปในสมาธิ

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทนไม่ไหวก็นั่งสมาธิทำใจให้สงบ

 พอใจสงบก็หยุดความอยากได้ชั่วคราว

แต่ไม่รู้ว่าที่ทำสมาธินี้ทำเพราะหยุดความอยาก

 ก็คิดว่าทำเพื่อให้ใจสงบ ไม่รู้ว่าความสงบของใจนี้

มันทำให้ความอยากมันสงบตัวลงไปด้วย

ไม่รู้ว่าเวลาออกจากความสงบมา

 ความอยากมันก็โผล่ตามมาด้วย

พระพุทธเจ้าแยกความอยาก

ออกจากความไม่สงบของใจได้

เห็นว่าเวลาสงบ ความอยากก็สงบ

เวลาใจไม่สงบ ความอยากมันก็ออกมา

 พอแยกตัวความอยากนี้ออกไปได้

ไม่ต้องสงบก็ได้ ใจให้เฉยๆ ให้รู้เฉยๆ

คิดเรื่องอะไรก็ได้ อย่าไปคิดถึง

เรื่องที่ทำให้เราอยากเท่านั้นเอง มันก็ไม่ทุกข์แล้ว

เช่นทุกข์กับลูกนี้ พอไปคิดเรื่องอื่นปั๊บนี้มันก็ลืมแล้ว

 ก็ไม่ทุกข์กับมันแล้ว หรือถ้าคิดแบบปัญญาได้

ก็ช่างหัวมัน ตัวใครตัวมัน

เราทำอะไรไม่ได้เราไม่ใช่เขา

นี่ก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้า

ธรรมะที่จะมาดูแลรักษาใจของเรา ให้สงบ

ให้ปราศจากความทุกข์ต่างๆ

ด้วยการไปทำร้ายข้าศึกศัตรูของใจ

 ก็คือกิเลสตัณหาความโลภ ความอยากต่างๆ

 พอความโลภ ความอยากต่างๆ

ความโกรธ ความหลงต่างๆ หายไปหมด

ใจก็จะสงบ ใจก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

นี่คือเรื่องของศาสนาเรื่องของพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าที่พวกเรามาศึกษากัน

 ศึกษาแล้วก็ต้อง นำเอาไปปฏิบัติ

 เพราะว่าการศึกษานี้

ก็เป็นเพียงเหมือนกับการดูแผนที่

 เรายังไม่ได้ออกเดินทาง

ดูแผนที่ไป ๑๐ ปีก็ยังไปไม่ถึง

จุดหมายปลายทางที่เราต้องการไป

ถ้าเราไม่ออกเดินทาง

 แต่ถ้าเราออกเดินทาง

โดยไม่มีแผนที่ก็หลงทางอีก

ไม่รู้ว่าที่เราต้องการไปนั้นไปอย่างไร

 อยู่ทิศทางไหนต้องมาดูแผนที่ก่อนว่า

เราต้องไปตรงนี้ไปอย่างไร

จากบ้านเรา ออกจากบ้านแล้ว

ต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา

 พอรู้แล้วก็ต้องออกเดินทาง

ถ้าไม่ออกเดินทางก็จะไปไม่ถึง

 พระพุทธเจ้าสอนว่า

ถ้าอยากจะพบกับความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่ถาวร

ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

 ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ก็ต้องปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา

ทานก็คือให้สละสมบัติ

ข้าวของเงินทองให้ไปหมดเลย

 ไม่ใช่ทำแค่ร้อยสองร้อย

อันนี้เป็นเพียงการทดลอง

ทำจริงๆ ต้องสละสมบัติหมดเลย

 เพราะสมบัตินี้เป็นเหมือนสมอเรือ

 เรือจะวิ่งได้มันต้องถอนสมอ

ถ้ายังติดอยู่กับสมบัติอยู่มันก็ไปบวชไม่ได้

 คนที่เขาไปบวช เขาต้องทิ้งสมบัติหมด

เขาถึงไปบวชได้

 เพราะเขาต้องการไปปฏิบัติศีลกับภาวนา

ศีลก็ต้องศีลของนักบวช

ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ขึ้นไป

ภาวนาก็สมาธิ ปัญญา

ก็ต้องมีเวลาปฏิบัติตลอดเวลา

 ไม่ใช่เอาแค่วันละชั่วโมง

นั่งสมาธิวันละชั่วโมงนี้มันไม่พอหรอก

เหมือนไปทำงานวันละชั่วโมง

จะได้เงินเดือน สักเท่าไร

เวลาทำงานทำตั้ง ๘ ชั่วโมง

 แต่เวลาปฏิบัติจะไปเอานิพพาน

แต่จะขอนั่งสมาธิแค่ชั่วโมงเดียว

 มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันก็ต้องปฏิบัติเต็มที่

 คือเปลี่ยนงาน พูดง่ายๆ ตอนนี้เราทำงานหาเงินกัน

 แล้วใช้เงินซื้อความสุขกัน

 พระพุทธเจ้าบอกเปลี่ยนงาน

มาทำงานของพระพุทธเจ้าดีกว่า

 งานนี้ไม่ต้องใช้เงิน

 เงินนี้ยกให้คนอื่นไปให้หมดเลย

จะได้ไม่ต้องมากังวล จะได้ไม่ต้องมามีภาระกับมัน

แล้วเราจะได้ไปทำงาน ของพระพุทธเจ้าได้เต็มร้อย

 ไปรักษาศีลได้เต็ม ๑๐๐

ไปนั่งสมาธิไปเจริญปัญญาได้เต็มร้อย

ต้องปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ

พระพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ

 ถ้าทำได้ ๗ วันก็จบ ไม่ ๗ วันก็เดือน

 ไม่ ๗ เดือนก็แค่อย่างมากก็ ๗ ปี

ต้องได้ผลอย่างแน่นอน

นี่คือการปฏิบัติ เมื่อศึกษาแล้วรู้แล้วว่าต้องปฏิบัติ

ก็ต้องปฏิบัติต้องไป

 คนที่เขาไปถึงนิพพาน ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์

เขาเป็นนักบวชกันทั้งนั้น

พวกที่ไม่ได้บวชนี้เขาเป็นพวกที่อัจฉริยะ

 เหมือนเด็กอัจฉริยะบางคน

 อายุ ๑๓ ก็จบปริญญาตรีได้ เขาเรียนที่บ้านก็ได้

 ไม่ต้องเข้าห้องเรียนไม่ต้องไปมหาวิทยาลัย

ไปสอบเทียบได้ นี่เพราะเขาป็นเด็กอัจฉริยะ

 เขามีปัญญามาแต่ดั้งเดิม

พวกที่ไม่ต้องบวชนี้เป็นพวกที่มีศีล สมาธิ ปัญญา

มาแต่ดั้งเดิม มีศีล สมาธิ

พอได้อ่านธรรมะของพระพุทธเจ้าก็บรรลุได้เลย

มีชายคนหนึ่งเขาฟังธรรมสั้นๆ

พระพุทธเจ้าบอกว่ากำลังบิณฑบาตไม่สะดวก

ขอเอาสั้นๆ คำสองคำก็พอ

เอาสุดยอดของธรรมเลย พระพุทธเจ้าก็บอกว่า

เธอเห็นอะไรก็ให้สักแต่ว่าเห็น

 ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน รู้อะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้

 ฟังแค่นี้แกก็บรรลุแล้ว บรรลุหรือยัง

 เข้าใจไหมว่าเขาหมายความว่าอย่างไร

 ให้ทำใจเฉยๆ ไง อย่าไปโลภ อย่าไปอยากกับอะไร

 เห็นอะไรก็เฉยได้ไหม เห็นแล้วมันไม่เฉย

 เห็นแล้วก็รัก ชัง โกรธ เกลียดขึ้นมา ดีใจเสียใจขึ้นมา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

สนทนาธรรมะบนเขา

 วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๙







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :07 กันยายน 2559 Last Update :7 กันยายน 2559 10:46:33 น. Counter : 859 Pageviews. Comments :0