bloggang.com mainmenu search









“เจริญสติเพื่อหยุดความคิด

 เพื่อทำใจให้สงบ”

เวลาที่เราเจริญสติ อย่าไปคิด

ถ้าคิดแล้วก็อย่าไปเจริญสติให้มันเสียเวลา

เจริญไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 เราเจริญสติเพื่อหยุดความคิด

เพื่อทำใจให้สงบ

 เพื่อทำใจให้มีความสุข

 เพราะถ้าเราไม่มีความสุข

เราจะไม่มีความพอใจ

 เราจะไม่มีความพอใจกับการปลีกวิเวก

 กับการอยู่ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ

 เวลาเผลอไปคิดถึงทางของกิเลสตัณหา

ก็จะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา

เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมา

จนทนไม่ได้ที่จะอยู่ในสภาพที่ไม่มี

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไม่มีลาภยศสรรเสริญ

 แล้วก็จะต้องกลับไป

แสวงหาลาภยศสรรเสริญ

 แสวงหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

 การปฏิบัติก็ถือว่าล้มเหลว

ปฏิบัติแล้วไม่ได้อะไร

 เพราะว่าไม่มีความแน่วแน่

ต่อการเจริญสตินั่นเอง

ผู้ที่สามารถเจริญก้าวหน้าไปได้

ก็คือผู้ที่มีความแน่วแน่ต่อการเจริญสติ

จนสามารถดึงใจให้ออกจาก อิทธิพล

ของกิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

 รวมเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่ความสุข

ที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขทั้งหลาย

 ความสุขที่ได้จากความว่างของใจ

พอได้ความสุขของสมาธิแล้ว

 เวลาออกจากสมาธิมา ก็จะมีกำลัง

ที่จะพิจารณาทางปัญญาได้

 จะมีกำลังที่จะต่อต้าน

โมหะอวิชชากิเลสตัณหา

 ที่จะดึงจิตให้คิดไปในทางของกิเลสตัณหา

ของโมหะอวิชชา จะสามารถดึงจิต

ให้คิดไปในทางที่พระพุทธเจ้า

ทรงสอนให้คิดได้

 ท่านให้พิจารณาร่างกายว่าไม่เที่ยง

ก็จะพิจารณาอยู่อย่างต่อเนื่อง

ว่าร่างกายนี้เกิดมาแล้ว

ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

 ล่วงพ้นความแก่ความเจ็บความตายไปไม่ได้

 เกิดมาแล้วต้องพลัดพรากจากของรัก

ของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวงไป

 จะพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จนมันไม่หลงไม่ลืม

ถึงจะเรียกว่าปัญญา

ถ้าพิจารณาเพียงครั้งสองครั้งแล้ว

บอกว่ารู้แล้ว

อย่างนี้ยังไม่ใช่เป็นปัญญา

 เพราะเดี๋ยวเวลาเกิดความแก่

ความเจ็บ ความตายขึ้นมา

 จิตจะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา

 ถ้าเกิดความวุ่นวายใจ

 ก็แสดงว่าไม่มีปัญญาเสียแล้ว

 ปัญญาที่คิดว่าตนเองมีอยู่นั้น มันเป็นสัญญา

มันเป็นความจำ จำได้แล้วเดี๋ยวก็ลืมได้

ตอนที่พิจารณาตอนนั้นก็จำได้

จำได้ว่าเราเกิดมาแล้ว

ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

แต่พอหยุดพิจารณา

ความจริงที่ได้พิจารณาคือ

ความแก่ความเจ็บความตาย ก็จะจางหายไป

 พอไปพบกับความแก่ความเจ็บความตาย

ก็จะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมาทันที

ถ้าเป็นปัญญาแล้ว

 เวลาพบกับความแก่ความเจ็บความตาย

 ใจจะเฉยเป็นอุเบกขา ใจจะว่างใจจะสงบ

 เหมือนกับเวลาที่อยู่ในสมาธิ

เพราะว่าปัญญานี่แหละ จะคอยควบคุมใจ

ให้อยู่ในความสงบ ให้อยู่ในความว่าง

 ไม่ให้เกิดวิภวตัณหาขึ้นมา

 คือความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย

 ถ้าไม่มีปัญญาก็จะเกิดความกลัวทันที

 เวลาคิดถึงความแก่

เวลาคิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย

 เวลาคิดถึงความตาย จึงจำเป็น

จะต้องเจริญปัญญาอย่างสม่ำเสมอ

 เหมือนกับตอนที่เจริญสติ

 เวลาเจริญสติก็เจริญสติตลอดเวลา

 ยกเว้นเวลาที่ต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ก็หยุดเจริญสติชั่วคราว

 หยุดการบริกรรมชั่วคราว

 แล้วก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไป

 พอทำงานนั้นเสร็จแล้ว

ก็กลับมาบริกรรมใหม่

 เช่นเดียวกับการเจริญปัญญา

 พอออกจากสมาธิแล้วก็ให้เจริญปัญญา

 พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายอยู่เรื่อยๆ

 อยู่ตลอดเวลา จนมันติดอยู่กับใจตลอดเวลา

พอมองเห็นร่างกายทีไร

 ก็จะเห็นความแก่ความเจ็บความตายทันที

 อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นปัญญา

 พอเห็นแล้วว่าร่างกายนี้

จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายตลอดเวลา

 เวลาใดที่คิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย

 หรือเวลาที่เห็นความแก่ความเจ็บความตาย

 มันจะไม่สะทกสะท้านมันจะไม่หวั่นไหว

เพราะมันสามารถทำใจ

ให้เป็นอุเบกขาให้วางเฉยได้

 เพราะใจไม่ได้เป็นผู้แก่ผู้เจ็บผู้ตาย

ใจทำไมจะต้องไปหวั่นไหว

 ไปวุ่นวายกับความแก่ความเจ็บ

ความตายของร่างกาย

 ที่ไม่ใช่เป็นของใจไม่ใช่เป็นตัวใจ

ตัวใจคือตัวรู้ ร่างกายก็คือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 เป็นอนัตตา เป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ แล้ว

ก็พอเวลาร่างกายตาย

 ก็เป็นเวลาแยกกันออกไป

ธาตุทั้ง ๔ ก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิม

 กลับสู่บ้านเดิมของตน น้ำก็กลับคืนไปสู่น้ำ

 ลมก็กลับคืนไปสู่ลม ไฟก็กลับคืนสู่ไฟ

 ดินก็กลับคืนสู่ดิน นี่คือปัญญา

 ต้องพิจารณาจนช่ำชอง

จนเป็นอาวุธคู่กายคู่ใจ

 คือเวลาเห็นร่างกาย

ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม

 จะเห็นความแก่ความเจ็บ

ความตายขึ้นมาทันที

จะรู้ทันทีว่าร่างกายนี้

ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายทันที

 ไม่มีวันหลงไม่มีวันลืม เมื่อไม่หลงไม่ลืมแล้ว

 จะไปกลัวความแก่ความเจ็บความตายได้อย่างไร

 เพราะความกลัวนี้ก็เป็นความทุกข์

ที่เกิดจากความอยากไม่แก่

อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย

 ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาก็จะไม่ปล่อยให้ใจทุกข์

ไปตามอำนาจของความอยาก

 ก็จะระงับความอยาก พอไม่มีความอยาก

ก็จะไม่มีความกลัว

 ไม่มีความกลัวก็จะไม่มีความทุกข์

นี่แหละเรียกว่าปัญญาอย่างแท้จริง

 ต้องเป็นปัญญาที่

รักษาใจให้สงบได้ตลอดเวลา

 ใจไม่วุ่นวายไปกับสิ่งต่างๆ

ที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

ไม่วุ่นวายไปกับร่างกายที่เกิดแก่เจ็บตาย

 แล้วก็เป็นอสุภะคือไม่สวยไม่งาม

ความสวยความงามนี้เป็นเหมือนกับกระดาษ

ที่เราเอาอุจจาระมาห่อ

เอากระดาษสวยๆมาห่ออุจจาระ

 ถ้ามองจากข้างนอกก็จะเห็นกระดาษสวยๆ

 ก็คิดว่าห่อขนมที่เอร็ดอร่อย

 แต่พอแกะกระดาษออกดู

 ถึงไปเจออุจจาระที่ห่อไว้อยู่ ฉันใด

 ร่างกายนี้ก็เหมือนกับกระดาษ

ที่ห่อหุ้มสิ่งสกปรก

 สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม

อะไรที่หุ้มห่อสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม

 ก็คือหนังบางๆนี่เอง

 ผิวหนังบางๆนี้ที่หุ้มห่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย

 หุ้มห่อเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก

ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่

 ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า

 เยื่อในสมองศีรษะ

และน้ำต่างๆ ที่ถูกหนังหุ้มห่อเอาไว้

 จึงไปหลงคิดว่า หนังที่สวยงามนี้

เป็นสิ่งที่สวยงาม หนังที่หุ้มห่อสิ่งที่สกปรก

สิ่งที่น่าเกลียดนี้ กลับมองไม่เห็น

ก็เหมือนกับกระดาษสวยๆ

ที่เราเอามาห่ออุจจาระนี้

 ห่อแล้วก็ติดริบบิ้นแล้ว

ก็เขียนการ์ดอวยพรวันเกิด

 ลองส่งไปให้เพื่อนที่มีวันเกิดดู

 ดูซิว่าเขาจะยินดีหรือไม่

 พอเปิดกระดาษดูนี้เป็นลมเลย

 อันนี้ก็เหมือนกัน

ร่างกายนี้ลองเปิดกระดาษ คือผิว

ลองฉีกผิวออกมาดู แกะผิวออกมาดู

 แล้วดูซิว่ามันจะน่าดูไหม ใต้ผิวหนังคืออะไร

ก็คือเนื้อเอ็นอะไรต่างๆ ใต้เนื้อเอ็นคืออะไร

 ก็คือกระดูก ใต้กระดูกอวัยวะต่างๆ

มันอยู่ที่ตรงไหน มันก็อยู่ภายใต้ผิวหนังนี่เอง

 แต่กลับมองไม่เห็นกัน

กลับมาหลงใหลคลั่งไคล้

 มาประกวดกันว่าสวยว่างาม

 มีรางวงรางวัลออกอากาศ

ผ่านทั่วโลกไปทุกประเทศ

 ใครๆก็หลงใหลคลั่งไคล้กันว่าสวยว่างาม

 นั่นก็เป็นเพราะว่า

ดูแต่กระดาษที่หุ้มห่ออุจจาระ

 ไม่แกะกระดาษดูกัน ไม่แกะผิวหนังออก

ไม่มองเข้าไปใต้ผิวหนังดูกัน จึงมองไม่เห็น

ความไม่สวยไม่งามของร่างกาย

อันนี้ก็คือปัญญาเหมือนกัน

 ปัญญาที่ต้องพิจารณา

 จนเวลามองเห็นร่างกายของใคร

ไม่ว่าจะของตนเองหรือของผู้อื่น

 ก็จะเห็นเป็นอสุภะไปหมด

เห็นอาการ ๓๒ ถ้าเห็นแล้ว

ใจก็จะไม่กระเพื้อม

 ใจก็จะไม่วุ่นวาย

ใจก็จะไม่มีความคลั่งไคล้หลงใหล

 กับรูปร่างหน้าตาของร่างกาย

 ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม

 นี่แหละเรียกว่าปัญญา

 ต้องเห็นอย่างต่อเนื่องเห็นตลอดเวลา

ไม่ใช่เห็นเฉพาะเวลาที่อยู่ตามลำพังพิจารณา

 พอออกมาข้างนอก

พบปะผู้คนมองไม่เห็นเสียแล้ว

 อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่ปัญญาเรียกว่าสัญญา

 ถ้าปัญญาต้องเห็นตลอดเวลา

 เวลาพิจารณาอยู่ตามลำพัง

อยู่ในทางเดินจงกรม

 อยู่ในขณะเวลานั่งสมาธิ

อย่างนี้ยังไม่เรียกว่าเห็นจริง

จะเห็นจริงต้องเห็นเวลาที่เจอร่างกาย

 ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใครก็ตาม

 พอเห็นปุ๊บนี้ ต้องเห็นความแก่

 เห็นความเจ็บ เห็นความตาย เห็นธาตุ ๔

เห็นดินน้ำลมไฟ แยกออกมาจากร่างกาย

เห็นอสุภะ เห็นอาการ ๓๒

 ที่ถูกผิวหนังปกปิดหุ้มห่อไว้อยู่

 นี่แหละถึงจะเรียกว่าเห็นจริง

ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว ตัณหาความอยากนี้

จะไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้

 เมื่อไม่มีตัณหาความอยาก ใจก็จะไม่วุ่นวาย

ใจก็จะสงบ ใจก็จะอยู่กับความว่างได้

ใจก็จะอยู่กับความสุขที่แท้จริงได้

นี่คือหน้าที่ของปัญญาในการที่จะรักษาใจ

 ที่ได้พบกับความสุขได้พบกับความว่างแล้ว

เวลาออกจากความว่างมา

ก็ให้รักษาความว่างต่อไป

เวลาออกจากความสงบแล้ว

 ก็ให้รักษาความสงบไว้ต่อไป

 ด้วยการเจริญปัญญา

 ใช้ปัญญาคอยสกัดกั้นกิเลสตัณหา

 ตัวที่จะทำให้ใจกระเพื้อมขึ้นมา

ทำให้ใจออกจากความว่าง

ออกจากความสงบ

 เข้าสู่ความวุ่นวายใจต่อไป

นี่คือวิธีการของการที่เราจะเข้าหาความว่าง

เข้าหาความสุขที่แท้จริง

ต้องทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมา

และนำเอาวิธีของการปฏิบัติมาเผยแผ่

 มาสั่งสอนให้แก่ผู้ที่สนใจ

 ที่อยากจะได้สัมผัส

กับความสุขที่เกิดจากความว่าง

 อยากจะสัมผัสกับความสุขที่ยิ่งใหญ่

กว่าความสุขทั้งหลาย ที่เรียกว่า ปรมัง สุขัง

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

กัณฑ์ที่ ๔๘๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗

“ความว่าง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :25 กันยายน 2559 Last Update :25 กันยายน 2559 19:54:21 น. Counter : 662 Pageviews. Comments :1