bloggang.com mainmenu search









"สติเป็นเหตุ สมาธิเป็นผล"

พยายามดึงใจให้อยู่กับงาน

ที่เรากำลังทำอยู่อย่าให้ไปที่อื่น

ใจมันชอบไปที่อื่น ไม่ชอบอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้

ชอบไปอดีตบ้างชอบไปอนาคตบ้าง

 ไปที่ใกล้ ไปที่ไกล

แต่ตรงนี้มันไม่ค่อยอยู่หรอกปัจจุบัน

 ปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของความสงบ

ถ้าเราดึงใจให้อยู่ในปัจจุบันได้มันจะสงบ

ถ้ามันไปอดีตไปอนาคต

ไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันจะวุ่นวาย

 ถ้าอยู่ในปัจจุบันแล้วก็ให้มันรู้เฉยๆ

 ไม่คิดอะไรให้รู้ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่

 เรากำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังยืน

กำลังทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง

ให้อยู่กับปัจจุบันไปเรื่อยๆ อย่าให้ปรุงแต่ง

อย่าให้คิดปรุงแต่ง ให้เป็นผู้ดูอย่าเป็นผู้คิด

 ใจมีสองส่วนผู้ดูผู้รู้ส่วนหนึ่ง

ผู้คิดอีกส่วนหนึ่ง ตอนนี้ผู้คิดมันเป็นตัวปัญหา

 เพราะมันคิดไม่เป็น คิดแล้วทำให้วุ่นวาย

ไม่ได้คิดแล้วทำให้สงบ เพราะมันหลง

หลงไปคิดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเรา

เพราะอะไรเป็นของเราก็เกิดความอยาก

 ให้มันดีให้มันอยู่กับเรา

 แต่ธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง

มันต้องเปลี่ยนไป ต้องมีวันเสื่อม

 ต้องมีการเปลี่ยน พอมันเปลี่ยนไป

 เราก็ไม่พอใจ วุ่นวายใจ

อยากให้มันกลับมาเหมือนเดิม

กลับมาดีเหมือนเดิม อยากตลอดเวลา

 นอกจากนั้น อยากจะได้สิ่งต่างๆ

อยากได้รูปเสียงกลิ่นรส

 เวลาได้มาแล้วมันมีความสุข

แต่มันเป็นความสุขเดี๋ยวเดียว

แล้วก็ทำให้เราต้องอยากอยู่เรื่อยๆ

 เพราะเวลาไม่ได้ไม่มีอะไรให้เราได้เสพ

 ได้สัมผัส เราก็รู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว

ไม่มีความสุข ต้องมีรูปดู ต้องมีเสียงฟัง

ต้องมีกลิ่นให้ดม ต้องมีรสให้ลิ้ม

แล้วก็ต้องให้มีอะไร

มาสัมผัสทางร่างกายที่ถูกใจ

อันนี้มันเป็นความอยากที่อยู่ในใจตลอดเวลา

 มันเกิดตามความคิด

พอคิดถึงรูปก็อยากได้รูป

คิดถึงเสียงก็อยากได้เสียง

 คิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็อยากจะได้ขึ้นมา

ฉะนั้น เราหยุดความคิดเหล่านี้ให้ได้จะดีกว่า

 เพราะหยุดแล้วมันก็จะทำให้

ความอยากเกิดขึ้นมาไม่ได้

พอไม่มีความอยาก ใจก็จะว่าง

จะเย็น จะสบาย จะเบา

ใจก็เหลือแต่ผู้รู้ผู้คิด

หยุดคิดก็เหลือแต่ผู้รู้

 ผู้รู้ก็รู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง

 ว่ามันสุขก็อยากได้

ถ้าไปว่ามันทุกข์ก็อยากจะหนี

 นี่แหละมันเป็นอย่างนี้

 แต่ถ้ามันไม่ไปคิดว่ามันดีหรือไม่ดี

 มันก็อยู่กับสิ่งที่สัมผัสรับรู้ได้

 แล้วเวลานั่งสมาธิใจก็จะสงบง่าย

 ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่ง

แล้วสงบนิ่งจะมีความสุข

จะรู้ว่าไม่มีอะไรดีกว่าความสุข

ที่ได้จากความสงบ แล้วรู้ว่าความสงบนี้

เราสามารถสร้างมันได้

ถ้ารู้จักวิธีสร้างมันขึ้นมา

 แล้วก็ไม่ต้องใช้อะไรเป็นเครื่องมือ

 ไม่ต้องใช้เงิน เราใช้เงินทองเป็นเครื่องมือ

ซื้อความสุขต่างๆ แต่ถ้าเกิดเงินทองหมด

ก็ซื้อไม่ได้ ก็ทำให้เราต้องไปหาเงินหาทอง

 ไปทุกข์ไปยากลำบากกับการหาเงินหาทอง

 หามาได้ก็เอาไปใช้หมด

หมดแล้วก็ต้องไปหาใหม่

 ใจก็เลยไม่มีวันสงบเสียที

 แต่ถ้าเราหยุดใช้เงิน

หยุดหาเงินมาหาสติแทน

 มาฝึกสร้างสติกันทั้งวัน อย่าให้ใจคิด

 ให้ใจรู้เฉยๆ แล้วก็มีเวลาว่างก็นั่งกัน

 แทนที่จะไปดูหนังสือพิมพ์ ดูไลน์ (LINE )

 ดูอะไร ก็ดูลมหายใจดีกว่า

 นั่งหลับตาดูลมหายใจเข้าออก

 ความคิดปรุงแต่งให้หมดไป

พอมันหมดปั๊บ มันก็สงบ

มันก็จะนิ่งสบาย สุขกว่าดู ไลน์ (LINE)

ดูอะไรในเครื่องมือถือ ดูทีวีดูข่าวดูอะไร

สู้ดูลมหายใจเข้าออกไม่ได้

หายใจเข้าก็รู้หายใจออกก็รู้ รู้ที่ปลายจมูก

 หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า

หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก

หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว

หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น

ไม่ต้องไปบังคับมัน

ยาวก็อย่าไปทำให้มันสั้น

 มันสั้นก็อย่าไปทำให้มันยาว

 ปล่อยมันไปตามธรรมชาติ

 ถ้าเราไปจัดการกับลมใจมันก็จะไม่นิ่ง

 ใจมันจะต้องทำงาน เราต้องการให้ใจนิ่งเฉยๆ

 ให้รู้อย่างเดียว ไม่ให้ไปจัดการ

ให้ไปทำอะไรกับสิ่งต่างๆ กับลมหายใจ

ไม่ไปทำอะไรเดี๋ยวมันก็นิ่งสงบ

พอสงบแล้ว ก็สบาย เย็น มีความสุข

 มีความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง

 ถ้าได้พบความสุขที่เกิดจากความสงบแล้ว

 ก็จะทิ้งความสุขในรูปแบบอื่นได้

 ทิ้งความสุขในรูปเสียงกลิ่นรสได้

 ทิ้งความสุขจากลาภ ยศ สรรเสริญได้

ไม่ต้องมีเงินทองไม่ต้องมียศ ไม่ต้องมีตำแหน่ง

 ไม่ต้องให้มีใครมายกย่องสรรเสริญ

ไม่ต้องมีรูปเสียงกลิ่นรสมาเสพ

 เสพความสงบดีกว่า เป็นสุขอย่างยิ่ง

อันนี้แหละคือเป้าหมายของการเจริญสติ

 สติเป็นเหตุ สมาธิเป็นผล

 สมาธิคือความนิ่งสงบของใจ

สติคือการระลึกรู้ไม่คิดปรุงแต่ง

 ถ้าเรามีแต่การระลึกรู้ ไม่มีการคิดปรุงแต่ง

 เดี๋ยวความคิดปรุงแต่งมันก็จะหยุด

หยุดแล้วก็จะเหลือแต่ผู้รู้ เหลือแต่ความนิ่ง

 เหลือแต่ความสงบ

 เหลือแต่ความเป็นกลางของใจ

 เวลาใจนิ่งใจสงบนี้ จะปราศจากอารมณ์ต่างๆ

 อารมณ์รัก อารมณ์ชัง อารมณ์กลัว

 อารมณ์หลงนี้จะหายไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

สนทนาธรรมะบนเขา
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐




ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :10 กุมภาพันธ์ 2560 Last Update :10 กุมภาพันธ์ 2560 10:51:28 น. Counter : 663 Pageviews. Comments :0