bloggang.com mainmenu search









“ความว่างเป็นความสุขที่แท้จริง”

ความว่างเป็นความสุขที่แท้จริง

นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง

 นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่ถาวร ความสุขที่ไม่มีวันสิ้นสุด

 เพราะตั้งอยู่บนความว่างนี่เอง

ความว่างนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา

แต่สิ่งที่ไม่ใช่ความว่างนั้น เป็นสิ่งที่ชั่วคราว

ถ้าเราตั้งความสุขของเราไว้กับสิ่งต่างๆ

เราก็จะต้องประสบกับความเสียใจ

 ประสบกับความทุกข์

เวลาที่สิ่งที่เราตั้งไว้ให้เป็นความสุขกับเรานั้น

 เสื่อมไปหมดไป เราจึงต้องเข้าหาความว่างกัน

เพราะความว่างเป็นความสุขที่แท้จริง

 นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง

ปรมัง สุญญังนี้แปลว่าอะไร

 ก็คือว่างจากสิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้

ว่างจากลาภยศสรรเสริญ

ว่างจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ว่างจากความโลภความโกรธความหลง

ว่างจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 ถ้าว่างจากสิ่งเหล่านี้แล้ว

ใจก็จะเป็นปรมัง สุขังขึ้นมา

เป็นความสุขที่เหนือกว่า

ความสุขทั้งหลายในโลกนี้

 เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุข

ที่ได้จากลาภยศสรรเสริญ

ได้จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ผู้ที่ปรารถนาความสุขที่แท้จริงจึงต้องปลีกวิเวก

 ไปอยู่ตามสถานที่ว่างจากลาภยศสรรเสริญ

 ว่างจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ

เรียกว่ากายวิเวก กายว่างจากสิ่งต่างๆ

 ที่ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง

ที่เป็นความทุกข์ในคราบของความสุข

วันนี้มันคงจะไม่ยอมว่างเสียแล้ว

 ตอนนี้มันไม่ว่างจากเสียง

 เสียงมันคอยรบกวนอยู่ตลอดเวลา

 เมื่อมีเสียงรบกวน

 มันก็ไม่ว่างมันก็ไม่สงบ มันก็ไม่สุข

นี่เป็นตัวอย่างที่เราสามารถเปรียบเทียบได้

ระหว่างเวลาที่มีเสียงอึกทึกครึกโครม

กับเวลาที่ไม่มีเสียงนั้น

มีความแตกต่างกันอย่างไรต่อสภาพจิตใจ

ถ้ามีเสียงอึกทึกครึกโครม มันก็จะมาก่อกวน

สร้างความไม่สงบให้กับใจ

 พอใจไม่สงบ ใจมันก็ไม่สุข

นี่แหละตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน

ว่าการที่จะทำใจให้ว่าง ทำใจให้สงบนั้น

ทางร่างกายต้องว่างก่อน

กายต้องวิเวกก่อน จิตถึงวิเวกได้

ถ้ากายไม่วิเวก กายมีเรื่องราวต่างๆ

 มารบกวนใจอยู่เรื่อยๆ

 เช่นมีเรื่องลาภยศสรรเสริญ

เรื่องของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

มาคอยยั่วยวนกวนใจอยู่

 ใจจะไม่มีวันที่จะสงบได้

 เมื่อใจไม่สงบใจก็จะไม่ว่าง

ใจก็จะไม่ได้พบกับความสุขที่ยิ่งใหญ่

นักบวชหรือผู้ที่แสวงหาความสุขที่แท้จริง

จึงต้องปลีกวิเวกกัน ต้องไปอยู่ตามสถานที่

ที่ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ

จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

เช่นไปอยู่ตามป่าตามเขา

ในสมัยพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงชี้บอก

 สถานที่สำหรับผู้ที่ต้องการบำเพ็ญ

เพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ คือปรมัง สุขัง

 ว่าให้อยู่ตามโคนไม้บ้าง อยู่ตามเงื้อมผาบ้าง

อยู่ตามถ้ำบ้าง อยู่ตามเรือนร้างบ้าง

อยู่ในป่าช้าบ้าง

 เพราะสถานที่เหล่านั้นแล เป็นสถานที่ที่จะว่าง

จากลาภยศสรรเสริญ

 จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 พอใจได้อยู่ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ

จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ใจก็จะเข้าสู่ความว่างของใจได้

เข้าสู่ความสงบได้

แต่ใจจะไม่เข้าสู่ความสงบได้โดยลำพัง

ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวก

ปราศจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ปราศจากลาภยศสรรเสริญแล้ว

แต่ภายในใจ ใจยังไม่ว่าง จากกิเลสตัณหา

จากความโลภความโกรธความหลง

จากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ใจต้องใช้ธรรมคือสติ เป็นผู้ดึงใจ

ให้ออกจากกิเลสตัณหา

 ออกจากโมหะอวิชชา

ถ้ามีสติเป็นผู้คอยดึงใจไว้

ใจก็จะสามารถเข้าสู่ความว่าง

 เข้าสู่ความสงบได้ เข้าสู่ความสุขที่ยิ่งใหญ่ได้

ดังนั้นเมื่อได้ไปอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวก

 ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ

 ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะแล้ว

ก็จำเป็นจะต้องเจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เพราะถ้าไม่ได้เจริญ

เดี๋ยวก็จะถูกกิเลสตัณหาฉุดลากใจ

 ให้กลับไปหาลาภยศสรรเสริญ

กลับไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอีก

ถึงแม้ร่างกายจะออกมาแล้ว

แต่ใจก็ยังอดที่จะคิดถึงลาภยศสรรเสริญ

 คิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้

ถ้าคิดบ่อยๆเข้าก็จะเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ

จนทนที่จะอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวกไม่ได้

จำเป็นจะต้องกลับไปหา

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 หาลาภยศสรรเสริญต่อไป

ดังนั้นเมื่อได้ไปปลีกวิเวกแล้ว
จำเป็นอย่างยิ่ง

ที่จะต้องคอยควบคุมกิเลสตัณหา

 ไม่ให้มีโอกาสมาฉุดลากจิตใจ

ให้กลับไปสู่ความวุ่นวาย

 ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ของลาภยศสรรเสริญ

 ถ้าไม่เจริญสติแล้ว จะไม่สามารถอยู่ได้

จะไม่สามารถปลีกวิเวกได้

เพราะจะทนอำนาจของกิเลสตัณหา

 ที่จะมาคอยผลักดัน คอยทิ่มแทงหัวใจ

ให้มีความหงุดหงิดรำคาญใจ จนทนไม่ไหว

 จนต้องกลับไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 กลับไปหาลาภยศสรรเสริญ

นี่แหละคือประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรกก็คือ ต้องให้กายวิเวก

เมื่อกายวิเวกแล้ว ก็ต้องทำใจให้วิเวก

 ใจจะวิเวกได้ก็ต้องมีสติ

สตินี้แลที่จะเป็นผู้ที่คอยดึงใจไว้

ไม่ให้กิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

 ฉุดลากให้ใจกลับไปหาความวุ่นวายใหม่อีก

 ดังนั้นผู้ที่ไปปลีกวิเวกแล้ว

จึงควรที่จะเจริญสติตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

 พอตื่นมาปั๊บนี่ต้องตั้งสติแล้ว

ต้องรู้แล้วว่าตอนนี้ใจกำลังอยู่กับอะไร

 กำลังอยู่กับอารมณ์ของสติหรือไม่

 หรือว่ากำลังอยู่กับความคิดปรุงแต่ง

 ถ้าอยู่กับความคิดปรุงแต่ง

เดี๋ยวไม่นานใจก็จะคิดปรุงแต่ง

ไปทางของกิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

 พอคิดปรุงแต่งไปทางนั้นแล้ว

 ใจก็จะเกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา

 เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ

 เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา

จนไม่สามารถอยู่เฉยๆได้

 แต่ถ้ามีสติคอยควบคุม

 ความคิดปรุงแต่งอยู่อย่างต่อเนื่อง

 ไม่ให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นมาได้

หรือเกิดขึ้นมาได้ก็ไม่ยาว ไม่นาน

พอรู้ว่าเผลอก็รีบกลับมาเจริญสติต่อทันที

เช่นถ้าใช้คำบริกรรมพุทโธ

ก็ควรจะบริกรรมพุทโธไปในทั้ง ๔ อิริยาบถ

 เดินยืนนั่งนอน ให้มีการบริกรรมพุทโธ

อยู่อย่างต่อเนื่อง

 ไม่ปล่อยให้ใจคิดไปในทาง

กิเลสตัณหาโมหะอวิชชา

 ถ้ามีความจำเป็นจะต้องคิด

ก็คิดกับภารกิจการงาน

ที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

 พอทำเสร็จแล้ว

ไม่มีภารกิจต้องทำแล้ว ก็หยุดคิด

กลับมาบริกรรมพุทโธๆต่อ

ถ้าไม่ใช้การบริกรรมพุทโธ

จะใช้การเฝ้าดูร่างกาย

 อยู่ในทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหวก็ได้

ให้รู้ว่าร่างกายตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่

 กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังนอน

 กำลังรับประทานอาหาร กำลังอาบน้ำ กำลังแต่งตัว

 กำลังกวาดบ้านถูบ้าน กำลังซักเสื้อผ้า

 ไม่ว่ากำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่

ให้ใจเฝ้าอยู่กับการกระทำกิจกรรมนั้น

เพียงอย่างเดียว

 ไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

 คนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้

 ไม่ให้ไปคิดถึงลาภยศสรรเสริญ

 ไม่ให้ไปคิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ดึงใจเอาไว้ให้หยุดคิดปรุงแต่งให้ได้ก่อน

 ตอนนี้อย่าปล่อยให้คิดทางปัญญา

 เพราะมันจะไม่เป็นปัญญา

 มันจะเป็นกิเลสตัณหาไป

ตอนต้นก็เริ่มที่ปัญญา

 พอเผลอปั๊บมันก็ไปคิดถึงลาภยศสรรเสริญ

 ไปคิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะขึ้นมา

 แล้วก็เกิดกิเลสตัณหา

ความโลภความอยากขึ้นมา

 เกิดความวิตกกังวล เกิดความห่วงใย

เกิดอารมณ์อะไรต่างๆตามมา

เพราะว่าใจยังไม่มีกำลังพอ

ที่จะดึงให้ไปคิดในทางปัญญา

 ถ้าคิดในทางปัญญา ต้องคิดอยู่แต่

ในวงของไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา

 เช่น เห็นอะไรก็ต้องว่าเป็นทุกข์

เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา

 ไม่ใช่เห็นอะไรแล้วก็ว่าดี

ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้

ถ้าเห็นอย่างนั้นแล้ว

 เรียกว่าไปทางโมหะอวิชชา

 ไปทางกิเลสตัณหาแล้ว

ถ้าเห็นว่าอะไรต้องเห็นว่าไม่เที่ยง

เป็นทุกข์ไม่ใช่ของเรา

 ถ้าเห็นว่าเที่ยง เห็นว่าสุข เห็นว่าเป็นของเรา

 นั่นก็คือ คิดไปในทางโมหะอวิชชาแล้ว

 ไม่ใช่ไปในทางปัญญา

ดังนั้นในเบื้องต้นจึงไม่ควรที่จะใช้ความคิด

 ถึงแม้จะคิดว่ากำลังคิดไปในทางปัญญา

 มันก็ไม่ใช่เป็นปัญญา ต้องทำใจให้สงบก่อน

 ทำใจให้ว่างให้ได้ก่อน ถ้าใจว่างใจสงบแล้ว

อำนาจของโมหะอวิชชา ของกิเลสตัณหานี้

จะถูกตัดทอนลงไป จะทำให้อ่อนกำลัง

 จนไม่สามารถที่จะมาหลอกใจ ให้ไปคิด

ในทางโมหะอวิชชา กิเลสตัณหาได้

 เวลาคิดก็จะคิดไปในทางปัญญา

 คิดไปในทางธรรม

คิดว่าเป็นทุกข์ คิดว่าไม่เที่ยง

 คิดว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

ถ้าเราไม่หยุดความคิดก่อน

 เราก็จะไม่มีวันที่จะเจริญก้าวหน้าได้

 พอจะมาเจริญสติเพื่อไม่ให้คิด

ก็ถูกกิเลสมันหลอกว่า

น่าจะเจริญปัญญาจะดีกว่า

 ปัญญานี้มีคุณค่า มีความยิ่งใหญ่กว่าสมาธิ

 แต่ไม่รู้หรอกว่า

การที่จะคิดไปในทางปัญญาได้นั้น

 จำเป็นจะต้องมีสมาธิก่อน

 ผู้ปฏิบัติถึงมักจะหลงทางกัน

พอเจริญสติไปได้สักเพียงเล็กน้อย

 ก็เกิดความคิดว่าอยากจะออกทางปัญญาทันที

พอออกทางปัญญาก็ปล่อยให้ใจคิดปรุงแต่ง

 แล้วในที่สุดก็กลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านขึ้นมา

 กลายเป็นความคิดตามอำนาจ

ของโมหะอวิชชาของกิเลสตัณหาขึ้นมา

แล้วในที่สุดก็ทนอยู่กับสภาพที่ห่างไกล

จากลาภยศสรรเสริญ ห่างไกลจากรูปเสียง

กลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้

 ก็จะถูกโมหะอวิชชา

กิเลสตัณหาหลอกให้กลับไป

หาลาภยศสรรเสริญ

 หารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะใหม่

ดังนั้นพยายามระมัดระวัง

อย่าไปตกหลุมพราง

ของโมหะอวิชชากิเลสตัณหา

ที่จะพยายามหลอกล่อไม่ให้เจริญสติ

 เพื่อหยุดความคิดปรุงแต่ง

 เพื่อให้จิตเข้าสู่ความว่าง

 เข้าสู่ความสงบ ที่เป็นความสุขที่แท้จริง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๔๘๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๗

“ความว่าง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :23 กันยายน 2559 Last Update :23 กันยายน 2559 10:00:56 น. Counter : 867 Pageviews. Comments :0