bloggang.com mainmenu search








“นักปราชญ์ไม่ดีใจกับ “วันเกิด””

นักปราชญ์เขาไม่ได้ดีใจกับ “วันเกิด” นะ

เขาดีใจกับวันตาย

คือเขาให้ความสำคัญ

กับวันตายมากกว่าวันเกิด

เพราะวันเกิดมันผ่านมาแล้ว

 มันเป็นอดีตไปแล้ว

มันไม่มีความหมายอะไร

 ตัวที่จะมีความหมายก็คือ “วันตาย”

เป็นวันทดสอบจิตใจว่า

จะสอบตกหรือจะสอบผ่าน

 อันนี้ต่างหากที่เราต้องให้ความสำคัญ

 เราต้องเตรียมตัวทำข้อสอบกัน

ถามว่าเราพร้อมที่จะตายหรือยัง

ถ้าวันนี้เราจะต้องตาย เราตายได้ไหม

 เรายินดีที่จะตายหรือไม่

พร้อมที่จะตายหรือไม่

เพราะถ้าพร้อมมันก็จะไม่ทุกข์

 ถ้าไม่พร้อมมันก็จะทุกข์

ศาสนาพุทธเขามีไว้สอน

เพื่อให้เราไม่ทุกข์กัน

 ท่านก็เลยสอนให้เรา

ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ

 ไม่เคยสอนให้ระลึกถึงวันเกิดเลย

พวกเรานี้เป็นพวกลูกศิษย์ไม่มีครู

ครูบาอาจารย์สอนอย่างแต่ไปทำอีกอย่าง

 สอนให้คิดถึงวันตาย

กลับไปคิดถึงวันเกิดกัน

 เลี้ยงฉลองวันเกิดเฮฮาปาร์ตี้กัน

 อันนั้นแหละเป็นกิเลส เชื่อกิเลส เชื่ออาจารย์

กิเลสมันชอบให้เราสนุกสนานเฮฮาร่าเริง

 แต่มันเป็นความสนุกสนานร่าเริงเพียงชั่วคราว

 เพราะว่าอย่างที่เขาพูดกันว่า

งานเลี้ยงย่อมมีวันสิ้นสุดลง

 เวลางานเลี้ยงผ่านไปแล้ว

เดี๋ยวเย็นนี้ผ่านไปแล้ว เดี๋ยววันนี้หมดแล้ว

พรุ่งนี้ก็ไม่มีเสียแล้ว ไม่มีงานเลี้ยงแล้ว

ก็จะมีแต่ความเหงาว้าเหว่

วันนี้คนมากันเต็มไปหมด

 เดี๋ยวพอพรุ่งนี้ไม่มีใครมาเลย

ถ้าไม่มีความสุขในตัวก็จะเดือดร้อน

 แต่ถ้ามีความสุขในตัวอยู่แล้ว

 ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ใครจะมาใครจะไป

 ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

 เพราะว่าไม่ได้อาศัยจากสุข

จากการไปการมา ของผู้คนต่างๆ

 มีความสุขหล่อเลี้ยงตัวเองอยู่ตลอดเวลา

อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าสอน

ให้พวกเราหากัน

ถ้าเรามีความสุขอยู่ในตัวเราแล้ว

เราก็ไม่ต้องไปหาความสุข ภายนอกตัวเรา

 ไม่ต้องไปจัดงานเลี้ยงวันเกิด

 วันแต่งงาน วันครบรอบ วันอะไรต่างๆ

ที่ต้องจัดกันก็เพราะว่า ไม่มีความสุขในตัวเอง

ก็เลยต้องไปหาความสุข หาเท่าไรมันก็หมด

หามาได้ปั๊บแล้วมันก็หมดไป

 เดี๋ยวพรุ่งนี้มันก็หมดแล้ว

วันนี้เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ไม่มีแล้ว

 พรุ่งนี้ก็กินอาหารบิณฑบาตตามปกติ

 วันนี้มีอาหารพิเศษมาเยอะแยะไปหมด

 กินเสร็จแล้วมันก็เหมือนกัน

 อาหารก็กินเพื่อให้ร่างกายมันอยู่ได้ ไม่หิว

 กำจัดความหิว มันก็ผ่านไปเหมือนกัน

ดังนั้นอย่าไปหลงหาความสุข

ที่เป็นความสุขที่ไม่จีรังถาวร

 เป็นความสุขที่ต้องคอยแสวงหาอยู่เรื่อยๆ

 เพราะต่อไปมันจะหาไม่ได้

มันจะไม่มีกำลังหา ต่อไปร่างกายแก่ลงไป

ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย หรือร่างกายตายไป

 มันก็ไม่สามารถหาความสุขผ่านทางร่างกาย

 เมื่อไม่สามารถหาความสุข

มันก็มีแต่ความทุกข์อยู่ในใจ

ให้หาความสุขในใจดีกว่า

 เพราะความสุขในใจมัน

พอเราหาได้แล้วมันจะอยู่กับเราไปตลอด

 ความสุขข้างนอกมีก็ได้ ไม่มีก็ได้

 ถือว่าเป็นของแถม

เช่นวันนี้ถือว่าเป็นของแถม

 มีขนมนมเนย ข้าวของอะไรต่างๆ

 มากมายก่ายกองก็เท่านั้น ไม่มีมันก็เท่าเดิม

 มันก็ไม่ได้ทำให้ความสุขที่มีอยู่ในใจนี้

มันมากขึ้นหรือน้อยลง

ความสุขในใจนี้มันสม่ำเสมอ

 ถ้ารู้จักวิธีสร้าง รู้จักวิธีรักษาแล้ว

มันจะสม่ำเสมอ มันจะอยู่ของมันไปเรื่อยๆ

 ความสุขภายนอกจะมีมากมีน้อย

ก็ไม่ได้มาทำให้ความสุขภายใน

มีความมากน้อย เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

 เช่นเดียวกับความทุกข์ภายนอกก็เช่นเดียวกัน

 ก็ไม่มาทำให้ความสุขภายในลดน้อยลงไป

ต่อให้ทุกข์อย่างไร

ต่อให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร

 มันก็จะอยู่ข้างนอก

มันจะไม่ได้เข้ามาข้างในใจ

มันจะอยู่ที่ร่างกาย

สำหรับคนที่รู้จักแยกร่างกายออกจากใจ

 เรื่องของร่างกายก็จะไม่เข้ามาสู่ใจ

 แต่คนที่แยกไม่เป็นนี้ก็จะเอาร่างกาย

มามัดติดไว้กับใจเหมือนข้าวต้มมัด

เห็นไหม ข้าวมัดเขามัดกันเป็นคู่ๆนั่นแหละ

 เวลาอันหนึ่งเป็นอะไร อีกอันก็เป็นด้วย

โยนเข้าไปในตู้เย็น มันก็เย็นด้วยกันทั้งคู่

โยนเข้าไปในเตา มันก็ร้อนด้วยกันทั้งคู่

 เพราะมันอยู่ติดกันมันผูกติดกัน

 ร่างกายเป็นอะไรใจก็เป็นไปกับร่างกายด้วย

ทั้งๆที่ใจไม่ได้เป็นเลย

 เพราะไม่รู้จักแยกร่างกายออกจากใจ

 เวลาร่างกายทุกข์นี่ใจก็ทุกข์ตามไปด้วย

ทั้งๆที่ใจไม่ต้องทุกข์ก็ได้

การปฏิบัติธรรมก็เพื่อที่จะแยกใจ

ให้ออกจากร่างกาย ให้ต่างฝ่ายต่างอยู่กัน

 อยู่ตามธรรมชาติของตน

 ธรรมชาติของร่างกายก็คือ

 “เกิด แก่ เจ็บ ตาย”

ธรรมชาติของใจก็คือ “สักแต่ว่ารู้” “อุเบกขา”

นั่นคือสิ่งที่เราต้องแยก มันออกจากกัน

 ปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างเป็นไป

ตามธรรมชาติของเขา

ที่ใจไม่เป็นสักแต่ว่า ไม่เป็นอุเบกขา

ก็เพราะว่า มันถูกตัณหาถูกโมหะความหลง

มันหลอกให้มาจับมามัดให้ติดกับร่างกาย

แล้วให้ไปหลงคิดว่าเป็นร่างกาย

แล้วก็เกิดความอยากไม่ให้ร่างกายแก่

 ไม่ให้ร่างกายเจ็บ ไม่ให้ร่างกายตาย

แต่ไปห้ามมันไม่ได้

เรื่องธรรมชาติของร่างกาย

มันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

พอไปมีความยึดมั่นถือมั่น กับร่างกาย

คิดว่าเป็นตัวเราของเรา

มันก็เกิดตัณหาความอยาก

 อยากให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 ทั้งๆที่ร่างกายมันก็แก่ เจ็บ ตาย

ไปตามธรรมชาติของมัน

 พอเกิดความอยากไม่ให้มันแก่

ความทุกข์ก็เกิดขึ้นภายในใจ

ความทุกข์นี่แหละที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้

ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ภายในใจ

ความทุกข์ของใจ เกิดจากความอยาก

 ไม่ให้ร่างกายแก่ ไม่ให้ร่างกายเจ็บ

 ไม่ให้ร่างกายตาย พอมันเจอร่างกาย

 เห็นร่างกายแก่ มันก็ทุกข์ขึ้นมา

 ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็ทุกข์ขึ้นมา

ร่างกายตายก็ทุกข์ขึ้นมา

ทุกข์เพราะความอยาก ไม่ใช่ทุกข์เพราะว่า

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ความทุกข์ของใจไม่ได้ทุกข์เพราะว่า

ร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตาย

ความทุกข์ของใจเกิดจากความอยาก

ไม่ให้ร่างกายแก่ ไม่ให้ร่างกายเจ็บ

ไม่ให้ร่างกายตาย

ถ้าผู้ปฏิบัติแยกใจออกจากร่างกายได้

 เบื้องต้นก็แยกด้วยสมาธิด้วยสติ

 แยกมันออกไป จิตรวมเข้าสู่ความสงบ

 ก็แยกออกจากร่างกายชั่วคราว

ก็จะรู้ว่าใจนี้มีความสุขเวลาที่ไม่มีร่างกาย

 ไม่ต้องมีร่างกายกลับมีความสุขมากกว่า

พอออกจากสมาธิมาเมื่อมันรวมกัน

ก็คอยเตือนใจคอยสอนใจว่า

 อย่าไปยึดอย่าไปติดกับร่างกาย

ถ้าไปยึดไปติดแล้วมันจะอยากให้ร่างกาย

ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

แล้วมันก็จะสร้างความทุกข์ให้กับใจขึ้นมา

เมื่อสอนอยู่อย่างนี้เรื่อยๆแล้วก็ต้องไปพิสูจน์ดูว่า

 ปล่อยวางร่างกายได้หรือเปล่า

 นั่งให้มันเจ็บดู หรืออดข้าวก็ได้

อดข้าวให้มันหิวดู หิวแล้วดูซิว่ามันทุกข์ไหม

 ความหิวก็เป็นความเจ็บของร่างกายอย่างหนึ่ง

 ดูซิว่าอยู่กับความหิวได้หรือเปล่า

รับรู้ความหิวได้หรือเปล่า

 ใจเป็นเพียงผู้รู้ ผู้รับรู้

รู้ไปซิว่าร่างกายมันหิว ร่างกายมันเจ็บ

ถ้าไม่มีความอยากให้ร่างกายอิ่ม

มันก็จะไม่ทุกข์

แต่ถ้ามันมีความอยากมันก็ทุกข์

 อยากให้ร่างกายไม่หิว

อยากให้ร่างกายอิ่ม

 มันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

อยากให้ไม่ให้ร่างกายเจ็บ

 เวลาร่างกายเจ็บเราไปห้ามมันได้ที่ไหน

 เวลาเราไปอยู่ที่ในที่อดยากขาดแคลน

ไม่ได้กินข้าว มันก็หิวจะทำอย่างไร

 ก็มีอยู่ ๒ ทาง ทุกข์หรือไม่ทุกข์

 ถ้าอยากให้มันอิ่ม

อยากให้ความหิวหายไปมันก็จะทุกข์

 แต่ถ้ายอมรับว่า ร่างกายมันหิวแล้ว

ทำอะไรไม่ได้ก็ปล่อยมันหิวไป

เราก็เพียงแต่รับรู้ ใจก็เพียงแต่รับรู้

 รู้ว่ามันหิว หิวก็หิวไป ใจก็จะไม่ทุกข์

ถ้าใจไม่มีความอยาก ใจจะละความอยาก

หรือไม่มีความอยากได้ก็ต้องมีสมาธิเป็นฐาน

 เพราะเวลาใจสงบนี้ใจจะเป็นกลาง

ไม่มีความอยาก พอออกจากสมาธิมา

ก็ใช้ปัญญาสอนใจ ให้อยู่เป็นกลาง ไปเรื่อยๆ

 อย่าไปทางความอยาก

อย่าออกมาทางความอยาก

เพราะออกมาทางความอยากแล้ว

ใจมันจะทุกข์ ขึ้นมาทันที

 ถ้าใจอยู่เฉยๆ ให้รู้เฉยๆ

รู้กับเรื่องของร่างกาย ร่างกายหิวก็รู้ว่าหิว

 ร่างกายเจ็บก็รู้ว่าเจ็บ

ร่างกายจะตายก็รู้ว่าร่างกายจะตาย

ถ้ารู้เฉยๆ ได้ไม่มีความอยากใจก็จะไม่ทุกข์

ใจก็จะผ่านความทุกข์ของความเจ็บ

ความตายของร่างกายได้

ต้องไปพิสูจน์ความเจ็บก็นั่งให้มันเจ็บ

หรือเดินให้มันเมื่อยจนกระทั่งมันเดินไม่ไหว

เดินไปเรื่อยๆ ให้มันเจ็บจากการเดิน

ฝ่าเท้าแตก เห็นไหมท่านบอก

แต่ใจอย่าไปเจ็บกับร่างกาย

 ความตายก็ไปหาที่มันเสี่ยง เป็นเสี่ยงตายดู

หาที่ที่มันท้าทายต่อความเป็นความตายดู

ในป่าในเขา ในที่เราคิดว่ามีภัยอันตราย

จากสิงสาราสัตว์ เวลาเกิดความกลัวตายขึ้นมา

ก็ดูซิว่าจะใช้ปัญญาปล่อยวางร่างกายได้หรือไม่

 ร่างกายอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องแก่

 ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา

 ร่างกายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 เป็นดินน้ำลมไฟ เดี๋ยวก็ต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ

 เราเอาดินน้ำลมไฟเข้ามาสู่ร่างกายตลอดเวลา

 ธาตุลมนี้เราเอาเข้ามาอยู่เรื่อยๆ

ทุกลมหายใจเข้า-ออกนี้

เป็นเรื่องของธาตุลมทั้งนั้น

เวลาหิวน้ำก็เอาน้ำเข้ามา

 เวลาหิวข้าวก็เอาข้าวเข้ามา

ก็เป็นการต้องการธาตุต่างๆ นั่นเอง

 เวลาร่างกายหิวก็แสดงว่าธาตุดินมันหมดแล้ว

ต้องเติม ข้าวก็มาจากดิน

ปลูกข้าวปลูกที่ไหนไม่ได้ปลูกในน้ำ

ไม่ได้ปลูกในทะเล ปลูกบนดิน

 มันก็เอาดินนี่แหละมาทำเป็นข้าว

พอกินเข้าไปในร่างกาย

มันก็ไปต่อเติมอวัยวะต่างๆ อาการต่างๆ

อาการ ๓๒ ของร่างกาย

ทำให้ผมมันงอกยาว ขึ้นมาได้

ทำให้อวัยวะต่างๆ อยู่ต่อไปได้

ก็เพราะว่ามีการเสริมธาตุอยู่เรื่อยๆ

เวลาเริ่มต้นของร่างกาย ก็เริ่มจากธาตุนี้แหละ

 ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกัน

 เวลาที่ธาตุของแม่ของพ่อมารวมกัน

 พ่อก็ธาตุ ๔ ของพ่อ ธาตุ ๔ ของแม่มารวมกัน

ก็มาสร้างร่างกายอันใหม่ขึ้นมา

 แล้วก็อาศัยธาตุ ๔

ที่เข้ามาทางสายเลือดของมารดา

เป็นตัวที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา

 สร้างอวัยวะ ๓๒ ขึ้นมาในร่างกาย

พอร่างกายมีอวัยวะครบ ๓๒ ก็คลอดออกมา

 คลอดออกมาแล้วก็เติมธาตุต่อไป

 เติมน้ำ เติมลม เติมดิน เติมไฟต่อไป

อวัยวะอาการต่างๆ ๓๒ อาการ

ก็เริ่มเจริญเติบโต ก็เติบโตมาจากธาตุทั้ง ๔ นี้

 ถ้าไม่กินข้าวดูซิ ไม่กินน้ำดูซิ ไม่หายใจดูซิ

 แล้วร่างกายมันจะโตขึ้นมาได้ไหม

 มันก็หยุดชะงักไป ดูทารกที่ตายไป

 ตัวมันก็แข็งทื่อ เขียวแล้วมันก็ไม่เติบโต

มันมีแต่จะเน่าไปเท่าเอง

เน่ามันก็กลับคืนไปสู่ดินน้ำลมไฟไป

 นี่คือเรื่องธรรมชาติของร่างกาย

มันไม่มีตัวไม่มีตน

 มันเป็นเรื่องของดินน้ำลมไฟแท้ๆ

 แต่เรากลับไปหลง

ไปเรียกว่ามันเป็นตัวเราของเรา

 เพราะเราได้มาครอบครองเป็นสมบัติ เป็นผู้รับใช้

ท่านเรียกว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

ร่างกายก็เป็นบ่าวมารับใช้ใจ ใจก็คือเรานี่แหละ

 เราเป็นคนคิดไม่ใช่หรือ

 คิดให้ร่างกายทำโน่นทำนี่

คิดแต่งเนื้อแต่งตัวให้ร่างกาย ใครเป็นคนคิด

 ร่างกายคิดเองได้ที่ไหน ถ้าไม่มีใจคนสั่งให้คิด

 มันก็นอนแข็งทื่ออยู่ หรือเวลาใจไม่สั่ง

 เวลานอนหลับนี้ใจไม่สั่งการ

ร่างกายมันนอนอยู่เฉยๆ ไม่มีใครสั่งการ

 พอใจสั่งการปั๊บมันก็ลุกขึ้นมา

ลุกขึ้นๆ ถึงเวลาตื่นแล้ว ถึงเวลาไปทำงานแล้ว

ใครเป็นคนบอกให้ลุกก็ใจนี่แหละ

 แล้วใจนี้เป็นคนบอกให้แต่งเนื้อแต่งตัว

 อาบน้ำอาบท่า กินข้งกินข้าว

 เตรียมออกไปนอกบ้านไปทำธุระต่างๆ

 ก็เป็นใจนั่นแหละเป็นผู้สั่ง

 ถ้าใจไม่สั่งวันไหนใจขี้เกียจ ไม่อยากทำงาน

 วันนี้ไม่ต้องทำงานอยู่บ้านเฉยๆ ก็ใจเป็นผู้สั่ง

แต่ใจไม่ได้เป็นร่างกาย ใจมาได้ร่างกาย

ตอนที่พ่อแม่ สร้างร่างกายนี้ขึ้นมา

ที่เรียกว่า “ปฏิสนธิ”

 เวลาธาตุของพ่อกับธาตุของแม่

มารวมกันมาผสมกัน

 ถ้าไม่มีจิตเข้ามาครบอครองปฏิสนธิก็ไม่เกิด

 ต้องมีทั้ง ๓ ส่วน ส่วนของธาตุของพ่อธาตุ ๑ ส่วน

ธาตุของแม่ ๑ ส่วน แล้วก็ธาตุรู้คือใจ

 ผู้ที่กำลังหาร่างกาย เหมือนกำลังไปซื้อรถ

 ไปตามโชว์รูมต่างๆ ไปเห็นรถรุ่นนั้นรุ่นนี้

 ชอบรุ่นนี้ก็สั่งจองไว้ เพราะว่าเขายังไม่ได้ผลิต

หรือกำลังผลิตอยู่ในโรงงานก็สั่งจองไว้

 แล้วพอเขาผลิตรถยนต์เสร็จ เขาก็มาส่งให้เรา

พอแม่คลอดเราออกมาก็เป็นเราขึ้นมาทันที

 เป็นของเราขึ้นมาทันที

ตอนต้นก็ต้องหัดขับรถก่อน

หัดขับร่างกายนี้ก่อน หัดขับถ่าย

หัดดื่ม หัดกิน หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน

 เป็นการฝึกหัดขับรถยนต์ไปก่อน

 รถยนต์คันนี้หัดตั้งหลายปี เรียนรู้ตั้งหลายปี

 กว่าที่จะสามารถที่จะขับไปไหนมาไหนได้

๒-๓ ปี แล้วก็ไปโรงเรียนอนุบาลได้

 ไปแบบตอนนั้นก็ยังต้องมีพี่เลี้ยงคอยควบคุมอยู่

 แต่พอร่างกายโตขึ้นๆ แข็งแรงมากขึ้น

สามารถดูแลตนเองได้ก็ไม่ต้องมีพี่เลี้ยง

 ก็มีใจเป็นพี่เลี้ยง

ใจก็คอยดูแลร่างกายของตนไป

ดูแลไปอย่างไรก็หยุดธรรมชาติของร่างกายไม่ได้

 ธรรมชาติของใจที่จะเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ

 โตจนกระทั่งโตเต็มที่แล้ว

พอโตเต็มที่แล้วก็เริ่มเข้าสู่วัยชรา

 ก็เริ่มแก่ลงไปๆ แล้วก็ต้องพบโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

 จนในที่สุดก็หยุดไปไม่ไหว หายใจไม่ไหว

พอไม่หายใจแล้ว

ก็ไม่มีธาตุลมเข้ามาล่อเลี้ยงร่างกาย

เมื่อร่างกายขาดธาตุลมก็หยุดการทำงาน

 ถ้าเป็นโรงงานก็เหมือนกับปิด

ไม่มีเชื้อเพลิงมาขับเคลื่อน เครื่องจักรต่างๆ

 ก็ต้องปิดโรงงานไป

 เมื่อปิดโรงงานทิ้งโรงงานไว้สักพัก

เดี๋ยวเครื่องจักรต่างๆ

 มันก็ชำรุดทรุดโทรมเก่าพังไปเอง

 ร่างกายพอหยุดทำงานถ้าทิ้งไว้

มันก็จะชำรุดทรุดโทรมไป มันก็จะย่อยสลายไป

 สมัยก่อนเขาเอาศพไปทิ้งไว้ในป่าช้า

ก็จะมีประเพณีไปเยี่ยมป่าช้า

เพื่อจะได้เห็นสภาพของร่างกาย

ที่ค่อยๆ บุบสลายหายไป

ธาตุน้ำก็จะแยกออกมา ธาตุไฟก็ไปแล้ว

 ร่างกายก็เย็นเฉียบ ธาตุน้ำก็ออกมา

 ธาตุลมก็ออกมา จนในที่สุดก็เหลือแต่ธาตุดิน

เป็นกระดูกเป็นหนังที่เหี่ยวแห้งกรอบ

ทิ้งต่อไปก็ผุเปื่อยกลายเป็นฝุ่น กลายเป็นดินไป

นี่คือเรื่องของร่างกาย ที่เราไปหลงคิดว่า

เป็นตัวเราของเรา พอมันเป็นอะไร

ก็เลยทุกข์ไปกับมัน แต่ถ้าได้มาศึกษา

 ดูธรรมชาติดูความจริงของร่างกาย

 นับตั้งแต่จุดที่มันเริ่มต้นมันมาจากที่ไหน

 มันมีที่มาที่ไปเห็นชัดๆ

 มันต้องมีธาตุดินน้ำลมไฟของพ่อ

 มาผสมกับธาตุดินน้ำลมไฟของแม่

แล้วก็เจริญเติบโตด้วยธาตุดินน้ำลมไฟ

ที่แม่ส่งมาให้ผ่านทางสายเลือด

เมื่อมีการส่งธาตุดินน้ำลมไฟ

มาสู่ร่างกายของทารก

 ร่างกายของทารก ก็เจริญเติบโตขึ้นมา

 มีอวัยวะต่างๆ ปรากฏขึ้นมาตามลำดับ

 มาจากอะไรมาจากธาตุทั้งนั้นดินน้ำลมไฟทั้งนั้น

มีตัวเราที่ไหน ตัวเราอยู่ตรงไหน

 อยู่ในธาตุของพ่อหรืออยู่ในธาตุของแม่ มันไม่มี

 แล้วยิ่งถ้ามาภาวนา ทำจิตให้รวม

ให้แยกออกจากร่างกายได้ยิ่งเห็นชัดเลยว่า

 อ๋อ จิตเพียงแต่ว่าครอบครองร่างกายนี้เท่านั้นเอง

 เวลาจิตออกจากสมาธินี้

มันก็กลับไปติดอยู่กับร่างกาย ผ่านทางวิญญาณ

วิญญาณสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรส

ผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกาย จากใจ

 วิญญาญก็เข้าไปสู่ตาหูจมูกลิ้นกาย

 ใจก็รับรู้ว่า อ๋อ ตอนนี้มีตามีหู

ลืมตาขึ้นก็เห็นภาพ หูก็ได้ยินเสียง

เวลาเข้าไปในสมาธินี้

วิญญาณมันถอยออกมา

เหมือนกับมันตัด การรับรู้ทางทวารทั้ง ๕

 ทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ก็เลยเหมือนกับว่าร่างกายมันไม่มี

ร่างกายหายไป เพราะใจหยุดการทำงาน

ของเวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณไว้ชั่วคราว

 วิญญาณไม่รับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ก็เลยไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย

 แต่พอออกจากสมาธิมาก็เริ่มมารับรู้ต่อ

เป็นการรับรู้เท่านั้นเอง

 แล้วก็ไปมีอวิชชาความหลงที่ไปคิดว่า

เป็นตัวเราของเรา เพราะใจไม่มีรูป

ไม่มีร่างกายเป็นของตนเอง

 พอได้ร่างกายมาก็เลยหลงไปคิดว่า

เป็นรูปร่างของตนเอง

ก็เลยยึดติดอยากจะให้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 เพราะใจมันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

ใจมันอยู่ไปได้ตลอด

ดังนั้นถ้าร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

มันก็จะอยู่กันไป ได้ตลอด

แต่ร่างกายมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

 แต่ใจไม่รู้หรือไม่ยอมรับความจริงอันนี้

 ใจก็เลยเกิดความอยากขึ้นมา

พออยากแล้วก็ทุกข์ เวลาไม่ได้ดังใจอยาก

 เวลาร่างกายแก่ก็ทุกข์ ร่างกายเจ็บก็ทุกข์

ร่างกายตายก็ทุกข์ แต่ถ้าได้มาศึกษา

จากพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนให้พิจารณา

สอนใจให้รู้ว่าร่างกายนี้เป็นเพียงธาตุ ๔

ดินน้ำลมไฟ เป็นของขวัญจากพ่อจากแม่

พ่อแม่เป็นผู้ผลิตร่างกายนี้ขึ้นมา

 แม่คนเดียวผลิตไม่ได้ ต้องมีพ่อด้วย

 แต่แม่เป็นคนทำงานหนัก

 พ่อเพียงแต่มา ให้ส่วนผสมเท่านั้นเอง

 แต่การเลี้ยงดูให้ร่างกายเจริญเติบโตนี้

เป็นหน้าที่ของแม่ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว

 ออกมาแม่ก็ดูแลต่อ

 พ่อก็เป็นผู้สนับสนุนแม่อีกทีหนึ่ง

 ไปทำงานทำการหาเงินหาทอง

หาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟมาให้แม่

 เอาเข้าไปในร่างกายของแม่

แล้วก็ส่งไปสู่ที่ร่างกายของทารก

ที่อยู่ในร่างกายของแม่ อีกทีหนึ่ง

 พอคลอดออกมาก็เอาธาตุ ๔ ที่มีอยู่ข้างนอก

เข้าไปในร่างกายแทน เอาลมหายใจเข้าไป

 เอาน้ำเข้าไปเอาดินเข้าไป มันก็มีแค่นี้แหละ

มันมีแค่ดินน้ำลมไฟ มีแค่อาการ ๓๒

แต่เราไม่มองความจริงอันนี้

 เราไปมองความจริงอีกด้านหนึ่ง

ความจริงที่เกี่ยวกับความสัมพันกัน

เช่น ร่างกายนี้ออกมาจากท้องคนนี้

ก็ต้องเป็นลูกของคนนี้ คนนี้ก็เป็นพ่อแม่

 คนนี้ก็เป็นลูก แล้วก็มีความผูกพันกัน

เพราะว่ามีบุญมีคุณต่อกัน

 ลูกก็มีความรู้สึกสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่

ก็รักพ่อรักแม่ขึ้นมา รักแล้วก็หวงแล้วละซิ

อยากให้พ่อแม่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 พอพ่อแม่แก่ เจ็บ ตายก็ทุกข์ไปกับพ่อแม่

พอได้ใครมาเป็นของตนก็ยึดติดทันที

ก็อยากให้เขาไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

ได้สามี ได้ภรรยาก็อยากให้เขาไม่แก่

ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะไปคิดว่า

ตัวเขาอยู่ที่ร่างกาย เวลาร่างกายตายแล้ว

เขาจะตายไปกับร่างกาย

 แต่ความจริงเขาก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 เพราะเขาไม่ได้อยู่กับร่างกาย

 ตัวเขาก็อยู่กับใจของเขา

พอร่างกายเขาตายไป

 เขาก็ไปหาร่างกายอันใหม่ต่อ

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว

ต่อไปเวลาใครตาย เราก็จะรู้ว่าเขาไม่ตาย

 ส่วนที่ตายนั้นเป็นเพียงคนรับใช้เขาเท่านั้นเอง

 ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

จำไว้ ใจไม่ตายไปกับบ่าว

 บ่าวตายแต่ใจไม่ตาย

นายต้องไปหาบ่าวใหม่

 ก็ไปเกิดใหม่ได้ร่างกายอันใหม่

ได้มาเลี้ยงวันเกิดกันใหม่

เวลาเกิดออกมาก็จำวันที่ไว้

 พอครบปีก็เลี้ยงกันที

 แทนที่จะมาคิดให้มันเกิดปัญญาขึ้นมา

ก็ไม่คิดกัน ก็ไปคิดว่าเป็นตัวเราของเรา

 แล้วก็อวยพรวันเกิดกันขอให้อยู่กันไปนานๆ

 อย่าเจ็บไข้ได้ป่วย ขอไปอย่างไร

มันเป็นไปได้ทีไหน ก็รู้กันอยู่ทุกวันอยู่ทุกคน

ว่ามันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายใช่ไหม

ต้องอวยพรแบบนี้ว่า

 “ขอให้อย่าทุกข์กับความแก่

 ความเจ็บ ความตายเลยนะคะ”

อย่างนี้มันถึงจะดี

อวยพรแบบนี้มันถึงเป็นธรรมเข้าใจไหม

 ต่อไปเวลาไปอวยพรวันเกิดใคร

 ขอให้พี่อย่าทุกข์กับความแก่

ความเจ็บ ความตายเลยนะ

 ที่มันจะตามมานี้ ถ้าพี่ไม่รู้จักทำใจ

ก็ไปปฏิบัติธรรมเถิด แล้วจะรู้สึกวิธีทำใจ

แล้วจะไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 วันนี้ก็จะให้พรวันเกิดอย่างนี้แหละ

ขอให้ทุกคนนี้ “จงไม่มีความทุกข์

กับความแก่ ความเจ็บ ความตายนะ”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

“พรวันเกิด”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :02 พฤศจิกายน 2559 Last Update :2 พฤศจิกายน 2559 5:41:15 น. Counter : 862 Pageviews. Comments :1