bloggang.com mainmenu search















“เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก”

พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้ถามตัวเราเองอยู่เสมอๆว่า

วันคืนผ่านไปๆ เรากำลังทำอะไรอยู่

กำลังทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำหรือไม่

ในพระปัจฉิมโอวาททรงตรัสไว้ว่า

 สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง

จงยังประโยชน์ตนและท่าน

ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

 นี่คือสิ่งที่เราควรเตือนตัวเราอยู่เสมอๆ

เพราะเวลาเหมือนกับน้ำ

 ที่ไหลไปแล้วไม่ไหลกลับ

 เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก

 จะทำอะไรก็ต้องมีเวลาถึงจะทำได้

 จะมีเวลาหรือไม่ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวเรา

 เพราะเราทุกคนมีเวลาเท่ากันหมด

 คือวันละ ๒๔ ชั่วโมง จะใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมงนี้

ให้เกิดประโยชน์ก็ได้ ให้เกิดโทษก็ได้ อยู่ที่ตัวเรา

 ถ้าระลึกถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอยู่เรื่อยๆ

 เราก็จะใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์

แต่ถ้าห่างไกลจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 ความมืดบอดคือโมหะอวิชชา

ก็จะคืบคลานเข้ามาครอบงำจิตใจ

ทำให้เราคิดไปในทางโลก ทางสมุทัย

 ทางที่สะสมความทุกข์ โดยไม่รู้สึกตัว

ทั้งๆที่คิดว่ากำลังคิดในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ดี

แต่สิ่งที่เราคิดว่าดีนั้น ไม่ได้ดีจริง

ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ส่วนใหญ่เรามักจะคิดแต่เรื่องเงิน เรื่องทอง

เรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ ที่ไม่จีรังถาวร

 ไม่ใช่อาหารของใจ แต่เป็นยาพิษเสียมากกว่า

 เพราะถ้าเสพพวกลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

มากน้อยเพียงไร

 ก็จะมีความทุกข์มากน้อยเพียงนั้น

 จิตใจจะมีแต่ความรุ่มร้อน มีความกระวนกระวาย

 มีความวุ่นวายใจ

แต่ถ้าคิดถึงธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ซึ่งเป็นอาหารของใจ ก็จะคิดถึงการปฏิบัติธรรม

 ทำบุญให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา

 ที่มีคุณมีประโยชน์กับจิตใจอย่างแท้จริง

 เพราะธรรมกับใจเป็นของคู่ควรต่อกัน

ใจต้องพึ่งพาอาศัยธรรม ถ้าใจมีธรรมแล้ว

ใจจะเย็น ใจจะสุข ใจจะอิ่ม

 ถ้าขาดธรรม มีแต่กิเลสรุมเร้า

 มีแต่ความโลภโมโทสัน

 ใจก็จะมีแต่ความรุ่มร้อนวุ่นวายใจ

 เพราะอยากได้เงินได้ทอง ได้ตำแหน่งสูงๆ

ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์กับจิตใจเลย

 เวลาใจรุ่มร้อน จะมีเงินทองมากมายเพียงไร

ก็ไม่สามารถดับมันได้

จะมีตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ตาม

เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นประธานาธิบดี

เป็นนายกรัฐมนตรี

 ก็ไม่สามารถหนีพ้นจากความทุกข์

ความวุ่นวายใจไปได้

แต่ถ้ามีธรรมแล้วความวุ่นวายใจ

จะไม่ค่อยปรากฏ

 หรือไม่มีเลย ถ้าจิตเป็นธรรมทั้งร้อย

 เป็นธรรมทั้งแท่ง

 ก็จะไม่มีช่องให้ความรุ่มร้อน

เข้าไปสิงอยู่ในจิตใจได้เลย

 ผู้ใดได้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม

จนเห็นผลบ้างแล้ว จะเข้าใจถึงความสำคัญ

และความจำเป็นของธรรมกับใจ

 แต่ถ้ายังไม่ได้สัมผัสกับผลของการปฏิบัติเลย

 จะไม่เข้าใจ ถ้าทำก็สักแต่ว่าทำ

 คือมีจิตศรัทธา แต่ทำเหมือนกับ

คนที่ยังไม่ได้เห็นของจริง

 ถ้าเป็นคนทำงาน

ก็ยังไม่เคยได้รับเงินเดือนเลย

แต่ก็ทำไป ไม่รู้ว่าสิ้นเดือน

เจ้านายจะให้เงินเดือนเท่าไร

 แต่ถ้าได้รับเงินเดือนสักครั้งหนึ่งแล้ว

ก็จะเริ่มเห็นคุณค่าของการทำงานของตน

ก็จะเกิดฉันทะวิริยะตามมา

 ในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยศรัทธา

เป็นตัวผลักดันไปก่อน

 ถึงแม้ยังไม่ได้สัมผัสกับผล

 ก็เชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น

 ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน การรักษาศีล

 การภาวนา จะต้องมีผลที่ดี

ที่เลิศตามมาอย่างแน่นอน

ไม่มากก็น้อย ถ้ายังไม่ได้สัมผัสกับผล

 ก็จะไม่ค่อยมีกำลังจิตกำลังใจเท่าไร

จึงต้องอาศัยการบังคับจิตใจ

ด้วยศรัทธาความเชื่อ

 เชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในพระธรรมคำสอน

 เชื่อในพระอริยสงฆสาวกว่าการประพฤติปฏิบัติ

ตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น

เป็นสิ่งที่ดีที่วิเศษที่สุด เหนือกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้

 ถึงแม้จะหมดเงิน หมดทอง หมดเนื้อหมดตัว

จากการทำบุญ จากการทำความดี

 จากการปฏิบัติธรรม ก็อย่าไปเสียดายเลย

 เพราะในที่สุดแล้วชีวิตของเราก็ต้องหมดไป

 ทรัพย์สินสมบัติข้าวของ

เงินทองที่มีอยู่มากน้อยเพียงไร

 สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป เราต้องจากมันไป

ไม่ได้เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา

 แต่สมบัติที่เราสามารถนำติดตัว

ติดใจไปได้ก็คือธรรม

 ที่เรียกว่าทรัพย์ภายใน หรืออริยทรัพย์

นี่คือสิ่งที่จะติดไปกับจิตกับใจ

ถ้ามีนิสัยทำบุญทำทาน นิสัยนี้ก็จะติดตัวเราไป

 มีนิสัยรักษาศีล ก็จะติดตัวเราไป

มีนิสัยภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะติดตัวเราไป

เวลาไปเกิดชาติหน้าจะทำสิ่งเหล่านี้ก็จะง่าย

ไม่ต้องฝืน เพราะได้เคยทำมาแล้วจนติดเป็นนิสัย

 เหมือนกับคนที่ถนัดมือขวา

ไปเกิดชาติหน้า ก็จะถนัดมือขวาอีก

 คนที่ถนัดมือซ้ายไปเกิดชาติหน้าก็จะถนัดมือซ้าย

 คนที่เป็นอัจฉริยะไปเกิดชาติหน้า ก็จะเป็นอัจฉริยะ

 เพราะสิ่งเหล่านี้ติดไปกับจิตกับใจ

เป็นคุณสมบัติเฉพาะตน

ที่เรียกว่านิสัยหรือสันดาน

 ถ้าเป็นนิสัยดีก็เป็นคุณเป็นประโยชน์

ถ้าเป็นนิสัยไม่ดีก็จะเป็นโทษ

เช่นถ้ามีนิสัยเกียจคร้าน นิสัยโลภโมโทสัน

นิสัยเสพสุรายาเมา เล่นการพนัน

ก็จะเป็นตัวฉุดลากให้ไปทางที่ไม่ดี

ในภพหน้าชาติหน้าต่อไป

ถึงแม้ในชาตินี้จะไม่สามารถปฏิบัติ

จนบรรลุถึงพระอริยผลก็ตาม

 ถ้าพยายามทำไปเรื่อยๆ

อย่างน้อยก็จะได้ฝึกนิสัยที่ดีไว้

 เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัย

ให้ได้ก้าวขึ้นสู่ธรรมขั้นสูง

ในลำดับต่อไป ในแต่ละภพแต่ละชาติ

 เพราะถ้าปฏิบัติตาม

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว

 ภพชาติของเราก็จะเป็นภพชาติที่ดี เป็นสุคติ

 ผู้ที่ไปสู่สุคติคือผู้มีศีลมีธรรม

ผู้ที่จะไปเกิดในสุคติต้องเป็นผู้มีศีลมีธรรม

ดังนั้นเวลาปฏิบัติไปแล้วเกิดมีความรู้สึกว่ามันยาก

 ก็ขอให้ฝืนทำไป เพราะกำลังปลูกฝังนิสัยใหม่

 นิสัยของพระโพธิสัตว์ นิสัยของพระอริยเจ้า

 ไม่ใช่นิสัยของปุถุชน ที่มีแต่ความโลภโมโทสัน

เราเป็นปุถุชนเพราะเรามีความโลภ

 ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นเหมือนบิดา

 ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

 อวิชชา ปัจจยา สังขารา

 จิตของพวกเรามีอวิชชาเป็นผู้ทำให้คิดปรุงแต่ง

 ถ้าคิดด้วยอวิชชาก็คิดด้วยความหลง

ด้วยความเห็นผิดเป็นชอบ

 คิดด้วยมิจฉาทิฐิ เห็นเงินทอง

เห็นลาภยศ เห็นสรรเสริญ เห็นกามสุข

ว่าเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนา

 เหมือนกับปลาที่เห็นเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด

ว่าเป็นอาหารอันโอชะ แต่หารู้ไม่ว่า

เมื่อได้ตะครุบเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ดนั้นแล้ว

 ก็จะต้องถูกเบ็ดเกี่ยวคอ

ทำให้ทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง

ฉันใด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็เป็นเช่นนั้น

 ถ้ายังต้องเสพก็ต้องระมัดระวัง

ต้องรู้ว่ามีเบ็ดซ่อนอยู่ภายใต้เหยื่อ

 ต้องกัดแบบฉลาด ไม่ใช่กัดทีทั้งคำ

ต้องค่อยๆแทะค่อยๆเล็มไป

ต้องรู้ว่าเมื่อยังต้องอยู่ในโลกนี้

 ยังต้องพึ่งพาอาศัยเงินทอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น

 เพราะต้องมีปัจจัย ๔ เป็นเครื่องดำรงชีพ

จึงต้องมีเงินทองไว้ ซื้อหามา

จึงต้องระมัดระวัง อย่าไปหลงกับการมีเงินมีทอง

 จนคิดว่าเป็นสิ่งที่บันดาลความสุขให้กับเรา

 มันบันดาลได้ก็แค่ความสุขของกาย

 คือให้เรามีอาหารรับประทานเวลาที่หิว

มีเสื้อผ้าใส่ มีบ้านอยู่ มียารักษาโรค

 เงินทองสามารถบันดาลให้กับเราได้เพียงเท่านี้

 มันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง

 แต่เป็นความสุขแบบปลา

 ที่ตะครุบเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ดนั่นแหละ

 เวลาได้ใช้เงินใช้ทองอย่างสนุกสนานเฮฮา

 ก็มีความสุขชั่วขณะที่ใช้ไป

 แต่เมื่อผ่านไปแล้วเงินทองก็หมดไปด้วย

 ครั้งต่อไปถ้าอยากจะมีความสุขแบบนี้อีก

 แต่ไม่มีเงินทองที่จะซื้อความสุข

แบบที่เคยได้สัมผัสอีก ความสุขก็จะไม่มา

มีแต่ความทุกข์มาแทนที่

จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า

 ความสุขในโลกนี้มีทั้งสุขแท้และสุขปลอม

สุขปลอมก็อย่างที่พูดไว้

 เป็นสุขที่เกิดจากการใช้เงินใช้ทอง

ในการเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย

 ทำให้เกิดสุขเวทนา แล้วก็หมดไป

แล้วก็เกิดความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว

 อยากจะเสพอีก เป็นเหมือนกับยาเสพติด

 คนที่ไม่เสพสบายกว่าคนที่เสพ

เพราะคนที่เสพจะต้องหามาเสพอยู่ตลอดเวลา

 ถ้าไม่ได้เสพแล้วก็จะทุรนทุราย ทรมานจิตใจ

 คนที่ไม่ได้เสพก็อยู่อย่างสบาย

ไม่มียาเสพก็ไม่เดือดร้อนอะไร

เพราะไม่ได้หิวไม่ได้อยาก

กามสุขก็เช่นเดียวกัน

 คนที่ไม่เสพก็อย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย

 ท่านมีความสุขมากกว่าคนที่เสพ

 ท่านไม่ต้องดิ้นรนกับการหาเงินหาทอง

ดิ้นรนกับการใช้จ่ายเงินทอง

 เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข

 อยู่เฉยๆท่านก็มีความสุขแล้ว

เพราะจิตของท่านไม่ได้หิว ไม่ได้อยาก

ไม่ได้ติดอยู่กับการเสพ

ความสุขจอมปลอมทั้งหลาย

 เพราะท่านได้พบกับความสุขที่แท้จริงแล้ว

 ด้วยการชนะความอยากจะเสพกามสุขนั้นเอง

เวลาที่จิตสลัดความอยากจะเสพกามสุขได้

จิตก็จะสงบสงัดขึ้นมา จิตสงบเมื่อไร

ก็จะมีความสุขเมื่อนั้น

 มีความเย็น มีความสบาย

มีความเบาเหมือนกับได้ปลดเปลื้อง

ภาระต่างๆที่แบกไว้บนบ่าออกไป

 สิ่งที่กดดันพวกเรา

ซึ่งเป็นเหมือนกับภาระอันหนักอึ้งนี้

 ก็คือกามตัณหานี้เอง ความอยากในกาม

และตัณหาอีก ๒ ชนิด คือภวตัณหา

 ความอยากมี อยากเป็น

 และวิภวตัณหา ความอยากไม่มี อยากไม่เป็น

หรือความกลัวในสิ่งต่างๆที่เราไม่ปรารถนากัน

 เหล่านี้เป็นเหมือนภาระกดดันจิตใจ

 แต่ถ้าเราต่อสู้ด้วยการภาวนา

ด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิและปัญญา

เราจะสามารถทำลายความอยากเหล่านี้

ให้ออกไปจากจิตจากใจได้

 เมื่อไม่มีอยู่ในใจแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากดดัน

มาสร้างความทุกข์ สร้างความกังวลใจ

สร้างความหิว สร้างความกระหายให้กับใจ

จะมีแต่ความอิ่ม มีแต่ความพออยู่ตลอดเวลา

เพราะไม่ต้องแสวงหาอะไร

 ไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆในโลกนี้

 ที่ล้วนมีแต่ความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่

จิตก็ไม่ต้องทุกข์กับสิ่งต่างๆอีกต่อไป

เพราะเวลามีอะไรมาครอบครอง

 เรามักจะมีความกังวลกับสิ่งนั้นๆ

เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่

 จะจากเราไปเมื่อไรก็ไม่รู้

เวลาจากไปก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ

 เพราะอาศัยสิ่งต่างๆเหล่านั้น

เป็นเครื่องให้ความสุขกับเรา

จึงไม่เป็นความสุขที่แท้จริง

 เพราะมีความทุกข์ซ่อนอยู่

ราจึงต้องใช้ปัญญาพิจารณา

 ในเบื้องต้นก็ต้องหาครูบาอาจารย์

ที่ได้ผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาแล้ว

 ให้เป็นผู้สอนเรา

เพราะถ้าเราอยู่คนเดียว คิดคนเดียว

 เราจะคิดไม่ออก

 เพราะเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน

 จะคิดไปในทางที่เคยคิดเสมอ

 ถึงแม้จะเคยได้ยินได้ฟังธรรมะอยู่เรื่อยๆ

แต่พอออกจากวัดไปไม่กี่นาทีก็ลืมแล้ว

 โดนความคิดแบบเดิมๆที่มีอำนาจมากมากลบ

เราจึงต้องภาวนาอยู่เรื่อยๆ

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า

 อานนท์เธอต้องพิจารณาความตาย

อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จะได้ไม่หลงยึดติด

อยู่กับสิ่งต่างๆในโลกนี้ เพราะไม่จีรังถาวร

 ไม่ใช่สรณะของจิตใจ

 ถ้าเธอคิดถึงความตายแล้ว

 ก็จะทำให้เธอไม่ประมาท

จะได้รีบเร่งขวนขวายสร้างสรณะ

ให้เกิดขึ้นภายในใจ ด้วยการปฏิบัติธรรม

 ด้วยการภาวนา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว

 เราก็จะต้องหลงอยู่กับการทำงานทำการ

เมื่อได้เงินมาแล้วก็คิดว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี

 ไปซื้ออะไรดี เรื่องที่จะเอาไปทำบุญ

 เอาไปเสียสละนี้ มักจะเป็นเรื่องสุดท้าย

 เพราะส่วนมากเรื่องความอยากหาความสุข

จากการเสพรูป เสียง

 กลิ่น รส โผฏฐัพพะจะมาก่อน

เราจึงต้องเตือนตนเองอยู่เสมอว่า

มันไม่ใช่เป็นความสุข

 มันเป็นเหมือนยาเสพติด

 ถ้าตัดได้ ลดได้ ละได้

 ก็พยายามตัดไป ลดไป ละไป

 แล้วเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

คือความสุขทางด้านจิตใจ

จะได้ไม่ต้องไปอาศัยสิ่งต่างๆ

มาให้ความสุขกับเรา

 เราสามารถสร้างความสุขได้ด้วยตัวของเราเอง

 ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

 ตนเป็นที่พึ่งของตน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ

 ไม่มีใครจะให้ความสุขกับเราได้อย่างแท้จริง

 มีตัวเราเท่านั้นที่จะให้ความสุขกับตัวเราเอง

คนอื่นให้ความสุขเราแล้ว

 ยังแถมความทุกข์ให้กับเราอีกด้วย

 เพราะเราต้องมีความผูกพัน มีความห่วงใย

มีความยึดติดในตัวเขา

 เขาเคยให้ความสุขกับเราอย่างไร

 เราก็หวังว่าเขาจะให้ความสุขกับเรา

อย่างนั้นเสมอไป

 ถ้าเขาไม่ให้ความสุข

กับเราๆก็จะต้องเสียอกเสียใจ

 แต่เราก็บังคับเขาไม่ได้

เพราะคนเราทุกคนอยู่ใต้กฎ

ของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

บางทีเขาก็บังคับตัวเขาเองไม่ได้

เขาอยากจะดีกับเราแต่อารมณ์ไม่ดีด้วย

  เขาก็ไม่สามารถแสดงความดีออกมา

 เราก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ นี่คือโทษ

 นี่คือความทุกข์ ที่พวกเราทุกคนเจอกัน

 ประสบกันอยู่ตลอดเวลา

 แต่เราไม่ค่อยคิดกันเท่าไร

 เวลาเจอทุกข์แบบนี้ก็อดทนกันไป

เป็นการอดทนที่ไม่ถูกทาง

 เราควรอดทนกับความทุกข์

ที่เกิดจากการทำความดีจะดีกว่า

อดทนกับความทุกข์ที่เกิดจากการนั่งสมาธิ

 เจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ ทนแบบนี้ดีกว่า

 เพราะเป็นทุกข์ตอนต้นแต่สุขตอนปลาย

 ดีกว่าสุขก่อนแล้วมาทุกข์ทีหลัง

ทุกข์จากการปฏิบัติธรรม

 เป็นความทุกข์เพื่อความสุขที่แท้จริง

ที่จะตามมาต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๒๓๒ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำใจ ๓)

“ใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :09 กันยายน 2559 Last Update :9 กันยายน 2559 10:20:14 น. Counter : 895 Pageviews. Comments :0