bloggang.com mainmenu search











“การบวช”

การบวช ก็คือการรักษาศีลของนักบวชนั้นเอง

 ศีลมี ๒ ระดับด้วยกัน คือศีลของนักบุญกับศีลของนักบวช

 ศีลของนักบุญคืออะไร ก็คือศีล ๕ นี้ นี่คือนักบุญ

พวกที่ยังทำบุญแต่ยังไม่อยากที่จะบวชกัน ก็รักษาศีล ๕ ไป

 ถ้ารักษาศีล ๕ ก็ยังไปท่องเที่ยวได้ กินข้าวเย็นได้

 ยังร่วมหลับนอนกับแฟนได้ นี่คือศีลของนักบุญ

ทำทานรักษาศีล ตายไปก็ได้เป็นเทวดา

แต่ถ้าอยากจะไปสูงกว่านั้น อยากจะไปเป็นพรหม

 อยากจะไปเป็นพระอริยบุคคล

อยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 ก็ต้องถือศีลของนักบวช ก็เริ่มที่ศีล ๘ ก็ได้

 ศีล ๘ ที่แม่ชีอุบาสกอุบาสิการักษากันอยู่นี้

ก็เป็นศีลของนักบวชแล้ว พอที่จะสนับสนุน

การ เจริญสมถวิปัสสนาและวิปัสสนาภาวนา

สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วยศีล ๘

แต่ถ้าอยากจะเคร่งกว่านั้น ถ้าเป็นชายก็บวช

 ถ้าเป็นเด็กก็บวชเป็นสามเณร ก็รักษาศีล ๑๐

 เป็นชายก็บวชเป็นพระ รักษาศีล ๒๒๗

 เป็นผู้หญิงก็บวชเป็นภิกษุณีรักษาศีล ๓๑๑ ข้อไป

 ศีล ๓๑๑ ข้อนี้ก็ยังมีจารึกอยู่ในพระธรรมวินัย

ของพระพุทธเจ้า ลองไปเปิดดูในวินัยปิฎกดู จะมีศีล

 จะมีเล่าเหตุผลของการเกิดขึ้นของศีลข้อต่างๆ

ให้เราเข้าอกเข้าใจกัน

 เราก็ศึกษาดูแล้วเราก็รักษาของเราไป

 เราไม่ต้องให้คนอื่นเขามารับรองเรา

 สมัยที่เราเริ่มปฏิบัติ เราก็ไม่ได้ไปขอศีลจากพระ

ไม่เคยไปวัด อ่านจากหนังสือ เมื่อรู้ว่าต้องรักษาศีลอะไร

 เราก็รักษาของเราไป ไม่เห็นจะต้องไปเข้าวัด

ไม่เห็นจะต้องให้พระมาให้ศีลให้พรอะไร

เพราะการให้ศีลให้พรของพระก็เป็นการสอนนั่นเอง

 เป็นการบอกให้เรารู้ว่าศีลที่เราควรจะรักษามีอะไรบ้าง

แต่ในสมัยนี้เราสามารถอ่านหนังสือกันได้

ไม่เหมือนสมัยโบราณที่ไม่มีการไปโรงเรียน

คนส่วนใหญ่จะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้กัน

จำเป็นจะต้องไปฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระ

จำเป็นจะต้องไปฟังคำสอนจากพระ

เพื่อที่จะได้รู้ว่าต้องปฏิบัติอะไรกันบ้าง

เวลาพระให้ศีล ศีล ๕ ศีล ๘ นี้เป็นต้น

คนที่ไม่มีการศึกษาอ่านหนังสือไม่ได้

ก็จะไม่รู้ว่าเป็นอะไรบ้าง ก็ต้องไปฟังจากพระ

 แต่ถ้าเราอ่านได้  เราอ่านหนังสือ

อ่านคำสอนของพระพุทธเจ้าได้โดยตรง

 เราทำไมต้องไปให้พระมาสอนเรา

เราอ่านแล้วเราก็ปฏิบัติตาม

 ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเลยไม่ดีกว่าหรือ

 ได้คำสอนที่ถูกต้องแม่นยำ

 เพราะบางทีผู้ที่ไปอ่านมาไปศึกษามา

อาจจะจำคลาดเคลื่อนก็ได้

เวลามาสั่งสอนเราอีกทอดหนึ่ง

 ก็อาจจะสอนไม่ถูกต้องก็ได้

แต่ถ้าเราได้ศึกษาจากพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าเลย

 เราก็จะได้คำสอนที่ถูกต้องแม่นยำ

 เราก็จะสามารถปฏิบัติได้อย่างได้ผล

 ถ้าคำสอนไม่ถูกต้อง ผลก็จะไม่ถูกต้อง

เหตุไม่ถูกผลก็จะไม่ถูก

 คำสอนต้องเป็นคำสอนที่ถูกต้อง

 และก็จะทำให้เรามีหลักมีเกณฑ์

 เวลาที่เราไปศึกษากับพระรูปอื่น

เพราะเราอาจจะได้ยินได้ฟัง

คำล่ำลือว่าเป็นพระวิเศษวิโส

 เราก็จะได้ไปฟังเทศน์ฟังธรรมของท่าน

เราจะได้รู้ว่าท่านสอนเหมือนกับที่

พระพุทธเจ้าสอนหรือไม่

 ถ้าท่านสอนไม่เหมือนเราก็จะได้มีข้อเปรียบเทียบ

 แล้วเราลองปฏิบัติดูตามที่ท่านสอนว่าจะได้ผลหรือไม่

ถ้าไม่ได้ผลเราก็รู้ว่าเพราะท่านไม่ได้สอน

ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนกัน

อย่างวันนี้ก็มีโอกาสได้คุย เรื่องชาวต่างประเทศผู้หนึ่ง

มาบวชเป็นพระ แล้วก็ได้ไปศึกษา

พุทธศาสนาหลายสายด้วยกัน สายพม่าก็ไปศึกษามา

แล้วก็รู้สึกว่าเป็นเซน ซึ่งเขาจะเน้นการเจริญวิปัสสนา

 เขาจะไม่เน้นเรื่องการเจริญสมถภาวนา

 ไม่สอนให้นั่งสมาธิ สอนให้ใช้ปัญญา

ซึ่งเขาบอกว่าปฏิบัติไปแล้ว มันไม่ได้ผล

เพราะใจเขาไม่มีสมาธิ พอต่อมาศึกษาทางสายวัดป่า

 ที่เน้นการเจริญสมถะก่อนที่จะเข้าสู่การเจริญวิปัสสนา

 เขาก็เลยเกิดศรัทธา

 เพราะมันตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน

พระพุทธเจ้าทรงสอนเป็นขั้นๆ ขั้นทานแล้วก็ขั้นศีล

 ขั้นศีลแล้วก็ขั้นสมาธิ

จากขั้นสมาธิถึงจะเข้าสู่ขั้นปัญญา

 เข้าสู่ขั้นวิปัสสนา ท่านไม่ให้ข้ามขั้นตอน

 ท่านตรัสสอนไว้เลยว่า สมาธิที่ศีลอบรมแล้วนี้

จะมีอานิสงส์ มีประโยชน์มาก

สมาธิที่ได้รับการอบรมด้วยศีลก็คือ

 ผู้ที่จะนั่งสมาธิให้ได้ผลนี้จะต้องมีศีลก่อน

 แล้วปัญญาที่สมาธิอบรมแล้ว

ก็จะมีอานิสงส์มีประโยชน์มาก

ก็หมายถึงว่าผู้ที่จะเจริญปัญญาให้มีเหตุมีผลได้

 ต้องมีสมาธิก่อนนั่นเอง

 แล้วจิตที่ได้รับการอบรมด้วยปัญญา

ก็จะหลุดพ้นโดยถ่ายเดียว

คือจิตที่ได้รับคำสอนจากปัญญา

ปัญญานี้ก็มี ๓ ระดับด้วยกัน

ส่วนใหญ่เราจะไปหลงติดอยู่กับระดับที่ ๒

 ก็คือจินตามยปัญญา

จินตามยปัญญานี้ก็เป็นความคิดในทางปัญญา

 แต่ยังไม่เป็นปัญญาที่จะดับความทุกข์ได้

ต้องเป็นภาวนามยปัญญา

จะแยกแยะยังไงว่าเป็นจินตาฯกับเป็นภาวนา

 ก็ถ้าเราคิดไปในทางปัญญา คือคิดถึงเรื่องไตรลักษณ์

 แต่ตอนที่ใจเราไม่มีความทุกข์

คิดไปเราก็จะไม่เห็นประโยชน์จากการคิด

 เพราะว่าเราไม่มีความทุกข์

 เราคิดไปมันก็ไม่ได้ทำให้ใจเราหายทุกข์

เพราะมันไม่มีทุกข์ มันอยู่เฉยๆของมันอยู่อย่างนั้น

 อย่างนั้นเรียกว่าเป็นการซ้อมไปก่อน

 เช่นเราพิจารณาว่าเราเกิดมาแล้ว

ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา

ตอนที่เราคิดอย่างนั้นเราก็รู้สึกเฉยๆ

 ไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์ แต่ถ้าเราไปหาหมอ

แล้วหมอบอกว่า คุณเป็นโรคมะเร็งเหลืออีก ๓ เดือน

 ตอนนั้นใจของคุณเป็นยังไง สุขหรือทุกข์หรือเฉยๆ

 ถ้าทุกข์ทีนี้ถ้าคุณมาพิจารณา

ว่าร่างกายนี้มันเกิดแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

 ไปห้ามมันไม่ได้มันเป็นอนัตตา

ถ้าไปอยากให้มันไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายมันก็จะทุกข์

 เช่นเราตอนนี้กำลังทุกข์เพราะอะไร

ทุกข์เพราะว่าเราไม่ยอมตายใช่ไหม

 หมอบอกแล้วว่าจะต้องตายภายใน ๓ เดือน

 ตอนนี้เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว

แต่พอเราพิจารณาด้วยปัญญาว่า

ร่างกายนี้ทำอย่างไรก็ห้ามไม่ให้มันตายไม่ได้

อยากอย่างไรก็ห้ามมันไม่ได้

อยากไปก็มีแต่จะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา

พอยอมรับความจริง หยุดความอยากไม่ตายได้ปั๊บ

ความทุกข์ก็หายไป อย่างนั้นแหละ

ถึงจะเรียกว่าเป็นภาวนามยปัญญา

เป็นปัญญาที่แท้จริง ผู้ที่จะปลงได้ก็ต้องมีสมาธิก่อน

 เพราะถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่รู้จะไปปลงไว้ที่ตรงไหน

ไม่รู้จะวางอย่างไร.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๔๗๘ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๗

“ธรรมโอสถ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :18 สิงหาคม 2559 Last Update :18 สิงหาคม 2559 17:18:25 น. Counter : 745 Pageviews. Comments :0