bloggang.com mainmenu search











“ธรรมที่พอดีกับการทำลาย

กิเลสตัณหา”

การศึกษาพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า

 เพื่อให้เราได้รู้ว่าเราจะต้องปฏิบัติอะไรกันบ้าง

 เมื่อเรารู้แล้วเราก็จะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

เมื่อมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องคือปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

 ผลต่างๆ ก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับอย่างแน่นอน

เพราะผลเกิดจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนี่เอง

 และการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

ก็เกิดจากการศึกษาร่ำเรียน

พระธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง

 ศึกษาทุกคำสอนแล้วปฏิบัติตาม ทุกคำสอน

ไม่มาตัดมาต่อมาแต่งมาเติม

 ถ้ามีการตัดมีการแต่งมีการเติมผลจะไม่เกิด

เพราะว่าธรรมของพระพุทธเจ้า

ที่ได้ทรงแสดงไว้แล้วนี้

 เป็นธรรมที่พอดี มัฌชิมาปฏิปทา

 พอดีกับการทำลายกิเลสตัณหาต่างๆ

 ที่มีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไป

ว่าเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว

 ได้กำจัดกิเลสตัณหาต่างๆให้หมดไปจากใจแล้ว

ด้วยพระธรรมที่ทรงนำมาเผยแผ่สั่งสอนนี้

จึงไม่มีความจำเป็น

ที่จะต้องไปตัดไปแต่งไปเติมแต่อย่างใด

 ควรจะปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 อย่าอุตริคิดว่าตนเองฉลาดกว่าพระพุทธเจ้า

รู้ดีกว่าพระพุทธเจ้า

สามารถที่จะมาเลือกปฏิบัติคำสอนต่างๆ

 ของพระพุทธเจ้าได้ ถ้าเก่งจริงก็อย่ามาศึกษา

พระธรรมคำสอนให้เสียเวลา

คนที่เขาเก่งจริงที่เขาบรรลุ

เป็นพระอรหันตสาวกกัน

ไม่เห็นมีรูปใดองค์ใดที่จะมาตัดมาแต่งมาเติม

คำสอนของพระพุทะเจ้าเลย

เพราะท่านเห็นจากการปฏิบัติแล้วว่า

เป็นสวากขาโต ภควตา ธัมโมจริงๆ

 คือเป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว

 ดีแล้วครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ไม่มีขาดไม่มีเกิน

 นำเอาไปปฏิบัติเพียงอย่างเดียว เท่านั้น

 แล้วรับรองได้ว่า มรรคผล นิพพาน

จะเป็นธรรมที่ปรากฏขึ้นมาภายในใจ

ของผู้ปฏิบัติอย่างแน่นอน

นี่คือความสำคัญของการศึกษาพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ศึกษาแล้ว

ก็จะมีความเห็น ที่แตกต่างออกไป

 แล้วก็จะมีการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป

 ผลจึงมักจะไม่ปรากฏขึ้นมา

 เพราะว่าไม่ได้ศึกษา พระธรรมคำสอน

อาจจะศึกษาจากพระรูปนั้นรูปนี้

 อาจจะหลงคิดว่าท่านได้ศึกษามาดีแล้ว

แต่ท่านเองก็ไม่ได้ศึกษามา

ก็เป็นลักษณะของคนตาบอดสอนคนตาบอดไป

 เมื่อคนตาบอดสอนคนตาบอด

ให้เดินไปตรงนั้นตรงนี้จะเดินไปถึงได้อย่างไร

 เมื่อคนสอนก็มองไม่เห็นทาง คนเดินก็มองไม่เห็นทาง

 จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ศึกษาควรจะศึกษาพระสูตร

ของพระพุทธเจ้า

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง

 คือไม่ต้องศึกษาทั้งพระไตรปิฎก

เพราะพระไตรปิฎกนี้

ก็เป็นธรรมที่คล้ายๆ กันเหมือนกัน

 ทรงแสดงไว้ ตามวาระต่างๆ กัน

เนื้อหาสาระที่สำคัญก็มีอยู่ใน ๓-๔ พระสูตร

ถ้าได้ศึกษา ๓-๔ พระสูตรนี้

ก็จะรู้แนวทางของการปฏิบัติที่ถูกต้อง

ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร

เมื่อเราได้ศึกษาแนวทางที่ถูกต้องแล้ว

เราจะได้มีมาตรมีเครื่องวัดคำสอน

ของครูบาอาจารย์รูปอื่น เพราะเวลาเราปฏิบัติ

เราจำเป็นที่จะต้องไปศึกษา

 อยู่กับครูบาอาจารย์อย่างใกล้ชิด

ถึงจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง และได้ผลดี

ถ้าเราปฏิบัติตามลำพัง

ศึกษาจากพระสูตรตามลำพัง

มันจะไม่เป็นสิ่งที่ง่ายและจะเนิ่นช้า

และอาจจะ หลงทางได้ เพราะการอ่านของเรา

 การแปลความหมายของเรา

อาจจะไม่ตรงไปกับความหมายที่ได้

ทรงแสดงไว้ก็ได้

แต่ถ้าเราได้ศึกษาพระไตรปิฎก

ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ไว้เป็นมาตรฐานให้เราวัดคำสอน ของครูบาอาจารย์

ที่เราจะไปอยู่ไปศึกษาด้วย เราก็จะได้รู้ว่า

ท่านสอนออกนอกลู่นอกทางหรือไม่

ถ้าเราไม่ศึกษาจากพระไตรปิฎกบ้างเลย

เราจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ครูบาอาจารย์

ที่เราไปอยู่ไปศึกษาด้วยนั้นท่านสอน

อย่างถูกต้องหรือไม่

ถ้าท่านสอนไม่ถูก เราปฏิบัติตาม เราก็จะไม่ได้ผล

 แต่ถ้าเรารู้ว่าท่านสอนไม่ถูก เราจะได้ไม่ต้องปฏิบัติตาม

จะได้ไม่เสียเวลา ไปหาครูบาอาจารย์รูปอื่นต่อไป

หาครูบาอาจารย์ที่สอนตรง ตามหลักพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

นี่คือสิ่งที่การศึกษาของพวกเรา ควรจะเป็นอย่างนั้น

 ควรจะศึกษาจากพระพุทธเจ้าโดยตรงก่อน

 เพื่อให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไรบ้าง

 เช่นพระสูตรที่ควรจะศึกษาก็คือ

ธัมจักกัปปวัตตนสูตร

เป็นคำสอนครั้งแรกของพระพุทธเจ้า

 ได้ทรงแสดงทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา

 ทางที่มีมรรคเป็นองค์ ๘

 และก็ได้ทรงแสดงพระอริยสัจ ๔

 ต้นเหตุของความทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

 เกิดจากตัณหาความอยาก

 กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 และการที่จะยุติการเวียนว่ายตายเกิด

ดับความทุกข์ต่างๆก็ต้องเกิดจาก

การปฏิบัติมรรค ๘ นี่เอง ด้วยการเจริญมรรค ๘

เจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป

 ความเห็นชอบความดำริชอบ

 ซึ่งเป็นองค์ประกอบของปัญญา

 แล้วก็ปฏิบัติสัมมากัมมันโต

สัมมาวาจา สัมมาอาชีโว

 การกระทำชอบ การพูดชอบ การมีอาชีพชอบ

 เป็นการปฏิบัติของศีล แล้วก็ให้ปฏิบัติ

สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ซึ่งเป็นองค์ประกอบ ของการเจริญสมาธิ รวมกัน

แล้วก็คือศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง

 นี่คือทางสู่การหลุดพ้น

 ถ้าไม่ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา

 จะไม่มีวันหลุดพ้นได้

 สมัยนี้มักจะมีการตัดออก

มีการเห็นว่าไม่จำเป็น

เช่นสมาธินี้ตัดไปเลย

ศีลก็ไม่รู้ว่ารักษากัน หรือเปล่า

 เอาปัญญาตัวเดียว

 ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นได้

ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นได้ ถ้าเอาปัญญาตัวเดียว

 พระพุทธเจ้ามาสอนศีล สอนสมาธิให้เสียเวลาทำไม

 ก็ทำไมไม่สอนปัญญาไปเลย อันนี้ผู้ที่ศึกษา

ควรที่จะ ใคร่ครวญ ควรที่จะพิจารณา

 เราจะไปอวดเก่งกว่าพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

ตอนที่เราเป็นเด็ก พ่อแม่สอนให้เรา

ดื่มนมดื่มน้ำก่อนที่จะรับประทานของแข็ง

 เราก็ทำตามที่พ่อแม่สั่งสอน

 ไม่ใช่ว่าพอเกิดมาแล้วก็บอกว่า หนูไม่ดื่มนม

 หนูไม่กินของเหลว จะขอกินผักกินเนื้อเลย

ก็ลองไปกินดูถ้าไม่มีฟัน มันจะกินเข้าไปได้อย่างไร

 อันนี้ก็เหมือนกันพอเริ่มศึกษาก็บอกว่าไม่เอาศีล

ไม่เอาสมาธิ ผมเอาปัญญาอย่างเดียว

ผมต้องการบรรลุอย่างรวดเร็ว

เพราะปัญญานี้เป็นธรรมขั้นสูงสุด

ผมก็มีความสามารถ ผมเรียนหนังสือทางโลกมา

 จบปริญญาตรี โท เอกแล้ว

 ทำไมกับปัญญาของพระพุทธศาสนาแค่ไม่กี่ตัวนี้

ทำไมผมจะศึกษาไม่ได้ แค่รู้อริยสัจ ๔

 รู้ไตรลักษณ์แค่นี้ก็บรรลุได้แล้ว

อันนี้คือความคิดของพวกปัญญาทั้งหลาย

 เอาปัญญาเลย ไปนั่งสมาธิทำไม

นั่งหลับตาแล้วมันได้อะไร รักษาศีลไปทำไม

ไม่สำคัญ ศีลไม่สำคัญ

สมาธิไม่สำคัญ สำคัญที่ปัญญา

เพราะถ้าไม่มีปัญญาก็หลุดพ้นไม่ได้

อันนี้ก็ยอมรับ ใช่ .. ถ้าไม่มีปัญญาหลุดพ้นไม่ได้

แต่ถ้าไม่มีศีล ปัญญาก็เกิดไม่ได้

ไม่มีสมาธิ ปัญญาก็เกิดไม่ได้

ไม่คิดให้มันรอบคอบ

คิดแต่จะเอาเข้าข้างกิเลสของตนเองเท่านั้นเอง

 ทานก็ไม่ยอมทำเสียดายเงินทอง

ศีลก็ไม่รักษายังอยากเที่ยว

ยังอยากหาความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ สมาธิก็ไม่อยากจะนั่ง

 นั่งแล้วมันอึดอัด ก็เลยเอาปัญญาดีกว่า

 ปัญญาสนุกกว่ามันส์กว่า

 เพียงแต่คิดเพียงอย่างเดียว

 คิดว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็ปล่อยวาง

 คิดแล้วปล่อยวางได้หรือเปล่า

ได้ศึกษาปัญญามากี่ปีแล้ว ได้หลุดพ้นหรือยัง

 ผู้ที่ใช้ปัญญาเพียงอย่างเดียว

เคยคิดบ้างหรือเปล่า

หรือคิดแล้วมีแต่ความฟุ้งซ่านขึ้นมา

ไม่ใช่มีความสงบ

นี่คือสิ่งที่คนสมัยนี้บางพวกไม่ใช่ทุกคน

นักศึกษาธรรม นักปฏิบัติธรรมบางพวก

จะคิดกันแบบนี้

จะเอาแต่ความสะดวกรวดเร็วเป็นหลัก

เอาความสบาย เอาความง่ายเป็นหลัก

เพราะเห็นว่ามันเป็นวิธี ที่ถูกต้องนั่นเอง

 เพราะปัญญาเป็นธรรมที่จะฆ่ากิเลสตัณหาได้

ศีลฆ่าไม่ได้ สมาธิฆ่าไม่ได้

ต้องเป็นปัญญาเท่านั้น

 ทำไมต้องไปใช้ศีล ใช้สมาธิให้เสียเวลาไป

 ก็ใช้ปัญญาเลยไม่ดีกว่าหรือ

 แต่ปัญญาที่แท้จริงมันจะเกิดได้

มันต้องเกิดจากการมีศีล

การมีสมาธิ มันถึงจะได้ปัญญา

ที่ฆ่ากิเลสตัณหาได้

 ปัญญาที่ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิสนับสนุนนี้

ฆ่ากิเลสตัณหาไม่ได้ และศีล สมาธิ ที่ไม่มีทาน

เป็นผู้สนับสนุนก็เป็นศีล เป็นสมาธิขึ้นมาไม่ได้

ผู้ที่ต้องการที่จะเจริญศีลอย่างแท้จริง

 เจริญสมาธิอย่างแท้จริง ต้องทำทานก่อน

ต้องสละทรัพย์สมบัติข้าวของ

เงินทองที่มีอยู่ให้หมดไปก่อน

เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลา

กับการหาเงินหาทอง

 ใช้เงินใช้ทอง เลิกเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทอง

 เพื่อที่จะได้มีเวลาไปรักษาศีลได้

อย่างเต็มที่ตลอดเวลา

 มีเวลาที่จะนั่งสมาธิทำใจ ให้สงบได้

 ไปปลีกวิเวกได้ไปอยู่คนเดียวได้

 ต้องมีทานเป็นผู้สนับสนุน

ถึงจะเป็นศีลที่แท้จริงเป็นสมาธิที่แท้จริง

ไม่ใช่สมาธิชั่วครั้งชั่วคราว

 อยู่บ้านวันหนึ่งนั่งสมาธิ

 ครึ่งชั่วโมงก็ว่าได้สมาธิแล้ว

 รักษาศีลแบบขาดๆเกินๆ

วันพระก็อาจจะรักษาได้บ้างไม่ได้บ้าง

ก็ถือว่ามีศีลแล้ว

ถ้าอย่างนี้แล้วก็อย่าไปหวัง เรื่องของการ

ที่จะได้ปัญญา ที่แท้จริงเลย

 เพราะการกระทำเหล่านี้

มันเป็นการกระทำของกิเลสตัณหาทั้งนั้น

ถ้าเอาไปใช้กับปัญญากิเลส มันก็หลอกปัญญา

ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญไม่จำเป็น ไม่ต้องไปรักษา

ไม่ต้องไปนั่งสมาธิให้เหนื่อยยาก

 กิเลสมันจะได้สบาย

 กิเลสมันจะได้มาหลอกให้ปัญญา

กลายเป็นปัญญาที่ฟุ้งซ่านขึ้นมา

ไม่ใช่เป็นปัญญาที่สงบ

 ปัญญาที่แท้จริงต้องเป็นปัญญาที่สงบ

พอพิจารณาไตรลักษณ์ปั๊บนี้

จิตต้องนิ่งต้องสงบทันที

ไม่ใช่ฟุ้งอยู่ตลอดเวลา

นี่คือเรื่องของการศึกษาแนวทางที่ถูกต้อง

 อย่าไปอวดเก่งกว่าพระพุทธเจ้า

 อย่าไปเลือกปฏิบัติว่าฉันจะเอาธรรมแบบนี้

ธรรมข้อนี้ไม่เอา จะเอาธรรมข้อนี้

เพราะฉันไม่ชอบแบบนี้ไม่ชอบนั่ง

ฉันชอบปัญญาจะพิจารณาปัญญาไปเรื่อยๆ

ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมาสอนศีล สมาธิ ปัญญา

มรรค ๘ ก็เหลือแค่มรรค ๒

คือสัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปโปเท่านั้น

 คือความเห็นชอบกับความดำริชอบ

 อันนี้เป็นองค์ประกอบของปัญญา

ไม่ต้องมีสัมมากัมมันโต

สัมมาวาจา สัมมาอาชีโว

สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ตัดมันออกไปเสีย ๖ เหลือแค่ ๒ ก็คือ มรรค ๘

ก็เหลือแค่มรรค ๒ เพราะปัญญาเป็นองค์ประกอบ

 ที่สำคัญที่สุด คนบางคนฟังเทศน์ฟังธรรมปั๊บ

ก็บรรลุได้เลย ก็เลยเอาตัวอย่างนี้มาเป็นข้ออ้าง

 เวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้แก่ปัญจวัคคีย์

 หนึ่งในปัญจวัคคีย์ก็มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา

 เห็นด้วยปัญญา เห็นด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม

ของพระพุทธเจ้า

 แล้วพวกเราตอนนี้ฟังเทศน์ฟังธรรม

ของพระพุทธเจ้าแล้ว บรรลุเหมือนกับ

พระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุหรือเปล่า

มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาทันทีหรือเปล่า

 ธรรมก็อันเดียวกัน ก็ไปอ่านดูซิ

 อ่านในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรดู

อ่านจบแล้วมีดวงตาเห็นธรรมหรือเปล่

สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา

คือฐานะจิตของเรากับพระปัญจวัคคีย์

 มันไม่เหมือนกัน

เรายังเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน ผู้เสพกามอยู่

เรายังเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่

จิตเรายังฟุ้งซ่านอยู่ ส่วนพระปัญจวัคคีย์นี้

ท่านเป็นผู้สละการครองเรือนแล้ว

ละการเสพกามแล้ว

 ตั้งมั่นอยู่ในศีลบริสุทธิ์ของนักบวชแล้ว

เจริญสติจนจิตนิ่งสงบเป็นสมาธิเป็นฌานแล้ว

พอได้ยินได้ฟังธรรมที่เป็นปัญญาก็บรรลุได้

นี่คือความแตกต่างกัน อย่าเอามาเปรียบเทียบ

 ถ้าจะเปรียบเทียบก็ต้องเปรียบให้มันครบ

ไม่ใช่ เลือกเปรียบเทียบเอาแต่เฉพาะ

เขาฟังเทศน์ฟังธรรม เขาบรรลุธรรมได้

ไม่เห็นว่าเขาจะต้องมานั่งสมาธิ ให้เหนื่อยยาก

 ไม่เห็นเขาจะต้องมารักษาศีล

ไม่เห็นว่าจะต้องออกบวชเลย

 เป็นฆราวาสนี้ก็บรรลุได้

 อันนี้เป็นการเปรียบเทียบ

แบบไม่ครบถ้วนทุกสัดทุกส่วน

 เปรียบเอาแต่ส่วนที่อยากจะเปรียบ

ส่วนที่ไม่อยากจะเปรียบก็ไม่ยอมมอง

ไม่ยอมมองว่าตนเองกำลังเป็นอะไรอยู่ตอนนี้

เป็นผู้ครองเรือน ผู้เสพกาม

หรือเป็นผู้ออกบวชแล้ว

เป็นผู้ที่รักษาศีลของนักบวช

ได้บริสุทธิ์แล้วหรือยัง

 เป็นผู้ที่มีสติต่อเนื่อง ตลอดเวลา

เป็นผู้ที่สามารถเข้าสมาธิ

ได้ทุกเวลาที่ต้องการหรือยัง

 อันนี้ต้องเปรียบเทียบส่วนนี้ด้วย

 เพราะผู้ที่ฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมกันทั้งหมดนี้

เขาเป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น เขามีศีลที่บริสุทธิ์

 เขามีจิตที่ตั้งมั่นใจความสงบ

 มีสติต่อเนื่องตลอดเวลา

ตั้งอยู่ในปัจจุบันไม่ลอยไปกับอดีต

 ไม่ลอยไปกับอนาคต อยู่ในปัจจุบัน

 พอธรรมที่แสดงของพระพุทธเจ้าที่เข้ามาสัมผัส

เขาก็รับรู้ทุกบททุกบาททุกคำพูด

แล้วถ้าเขาพิจารณาตามได้

เกิดความเข้าอกเข้าใจได้ เขาก็บรรลุได้

ดังนั้นขอให้เราศึกษาพระธรรมคำสอนให้รู้ว่า

เราต้องปฏิบัติอะไร แล้วเรามาตรวจตราดูว่า

สิ่งที่สอนให้เราปฏิบัติ เรามีหรือยัง

 เราทำทานได้หรือยัง เราสละทรัพย์สมบัติ

ข้าวของเงินทองต่างๆ ที่เรามีอยู่ไปหมดได้หรือยัง

 เราไม่ต้องใช้เงินใช้ทองซื้อความสุขต่างๆ

 ได้หรือยัง ถ้าซื้อสิ่งที่จำเป็นไม่เป็นไร

 เช่นซื้อปัจจัย ๔ ถ้าไม่ได้เป็นนักบวช

ก็ต้องมีปัจจัย ๔ ก็ต้องมีเงินซื้อปัจจัย ๔ มา

ถ้ามีเงินไว้ซื้อปัจจัย ๔ นี้ไม่เป็นไร

 แต่ถ้ามีเงินไว้สำหรับซื้อความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ซื้อตามความอยากต่างๆ

 ตามกามตัณหา ภวตัณหา วิวภตัณหา

 ถ้ายังใช้เงินกับสิ่งเหล่านี้อยู่

ก็ยังไม่ได้ทำทานได้อย่างเต็มที่

ผู้ที่ทำทานได้อย่างเต็มที่

เขาเริ่มใช้เงินซื้อสิ่งต่างๆ

 ที่กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหาต้องการ

เขาจึงสามารถรักษาศีลได้

อย่างบริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐

ศีล ๒๒๗ หรือศีล ๓๐๐ กว่าข้อ

เขาสามารถรักษาได้ เรารักษาได้หรือยัง

 เราทำทานได้หรือยัง รักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้หรือยัง

 เราเจริญสติตั้งแต่ตื่นจนหลับได้หรือยัง

เรานั่งสมาธิได้ทุกเวล่ำเวลาที่เราต้องการได้หรือยัง

 เวลานั่งจิตก็สงบได้อย่างรวดเร็ว

รวมเป็นหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว

อันนี้คือสิ่งที่เราต้องตรวจตราดูในตัวของเรา

ว่ามีหรือไม่มี ถ้ายังไม่มีอย่าเพิ่งริไปที่ปัญญา

ปัญญานี้ยังไกลมาก เอาสิ่งใกล้ตัวนี้ให้ได้ก่อน

 หยุดการใช้เงินใช้ทองซื้อความสุขต่างๆ

หยุดเงินใช้ทองทำตาม

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ให้ได้ก่อนแล้วก็มารักษาศีล ๕ ก่อน รักษาศีล ๕ ได้

ก็รักษาศีล ๘ ไป รักษาศีล ๘ ได้ก็รักษาศีล ๑๐ ไป

รักษาศีล ๑๐ ก็รักษาศีล ๒๒๗ หรือศีล ๓๐๐ กว่าไป

 ต้องรักษาศีลเหล่านี้ให้ได้ก่อน

แล้วถึงจะสามารถ ที่จะไปปลีกวิเวก

 ไปเจริญสติอย่างต่อเนื่อง สติเราต่อเนื่องหรือไม่

 จิตของเราตั้งอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา

หรือลอยไปลอยมาตามกระแสของความคิดปรุงเเต่ง

 เดี๋ยวก็ไปอดีตเดี๋ยวก็ไปอนาคต

 เดี๋ยวก็ไปตามกิเลสไปตามตัณหา

ตามกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 ถ้ามันยังไหลไปไหลมาอยู่นี่

 เวลานั่งสมาธิมันจะสงบได้อย่างไร

มันต้องนิ่งต้องรู้อยู่ในปัจจุบัน สักแต่ว่ารู้

 แล้วเวลานั่งสมาธิให้พุทโธ

ก็จะอยู่กับพุทโธเพียงอย่างเดียว ให้ดูลมหายใจ

ก็จะอยู่กับลมหายใจ เพียงอย่างเดียว

 แล้วถ้ามันอยู่ได้อย่างต่อเนื่องแล้วไม่นาน

มันก็รวมเข้าสู่ความสงบ รวมเป็นหนึ่งเรียกว่า

 เป็นเอกคัตตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ มีอุเบกขามีความสุข

ที่เกิดจากความสงบ เป็นผลที่เกิดขึ้นมา

ถ้ามีสิ่งเหล่านี้แล้วถึงจะเป็นเวลาที่ไป

เจริญปัญญาต่อไปได้ ไปพิจารณาอริยสัจ ๔

ไปพิจารณาไตรลักษณ์ เพื่อกำจัด

กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙

“วิธีทดแทนบุญคุณ”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :05 กันยายน 2559 Last Update :5 กันยายน 2559 10:00:36 น. Counter : 864 Pageviews. Comments :0