จงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าสิ่งที่ถูกใจ
Group Blog
 
 
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
15 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 

เงื่อนไขการปฏิวัติ - บทที่ 1 ก้าวแรกของการปฏิวัติ (ตอนที่ 2)

โดย พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ

บทความนี้เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2527 - 28


เงื่อนไขการปฏิวัติ
ตอนที่ 2

พอเข้าปี พ.ศ. ๒๕๗๖ ได้ไม่เท่าไร คงจะเป็นต้น ๆ ปี เพราะผมยังไม่เปลี่ยนชั้นเรียน ก็เกิดปฏิวัติ

ทีนี้ นักเรียนปฏิวัติโรงเรียนทีเดียวแหละ

หัวหน้าปฏิวัติชื่อ คุณสกุล สามเสน เป็นลูกคนโตของนาย มังกร สามเสน หนึ่งในคณะราษฏร์ ฯ ฝ่ายพลเรือน เลือดปฏิวัติคงจะติดมาจากคุณพ่อ

วันหนึ่ง พวกผมกำลังเรียนกันอยู่ดี ๆ ตอนเช้า ก็ได้ยินเสียงระฆังโรงเรียนดังหง่างหง่างขึ้นมาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย (ความจริงระฆังมันก็ไม่มีเสียงปี่เสียงขลุ่ยผสมอยู่แล้ว ผมเขียนไปให้มันคล้องจองยังงั้นเอง ตามคนเก่า ๆ ที่เขาพูดกัน)

เสียงระฆังดังขึ้นกลางเวลาเรียน ทำให้นักเรียนก็งงกัน ก็เพิ่งจะเข้าเรียนกันไม่กี่นาที ไหงจะถึงเวลาพักเสียแล้ว ไม่ใช่แต่นักเรียนจะงงฝ่ายเดียว ครูซึ่งกำลังสอนมัน ๆ อยู่ ก็งงเหมือนกัน ครูก็หยุดชะงักการสอน นักเรียนก็หยุดชะงักการเรียน เพราะครูไม่สอน นักเรียนก็เรียนไม่ได้ ต่างก็ออกมาจากห้องเรียน ชะโงกลงมาดูข้างล่าง

ห้องเรียนของผมอยู่ชั้นสองของตึกเรียน ริมทางเข้า มองเห็นโรงเล่นข้างล่างชัดเจน ผมเห็นนักเรียนตัวโต ๆ หลายคน กำลังกวักมือเรียกให้พวกที่ชะโงกหน้าออกมาดูเต็มระเบียงนั้น ให้ลงไปข้างล่าง ให้ไปรวมกันที่โรงเล่น

ทั้งนักเรียนและครูก็พากันลงไปที่โรงเล่น เต็มไปหมด พอนักเรียนมากันเต็มโรงเล่น ก็มีนักเรียนคนหนึ่ง โดดขึ้นไปยืนบนม้ายาวที่ทอดอยู่รอบโรงเล่น ผมจำได้ว่านักเรียนคนนั้นชื่อ สกุล สามเสน แกเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ทำไมแกถึงมาดึงระฆังที่เซ็นต์คาเบรียลเล่นก็ไม่ทราบ พอแกโดดขึ้นไปบนม้ายาวได้ แกก็ตะเบ็งเสียงลั่นโรงเล่นว่า

บัดนี้ โรงเรียนอัสสัมชัญ และ เซ็นต์คาเบรียล ได้ถูกยึดอำนาจไว้ได้แล้ว ให้นักเรียนกลับบ้านได้ ไม่มีการเรียนในวันนั้น และพรุ่งนี้ ให้นักเรียนทุกคนที่สนใจในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไปชุมนุมพร้อมกันที่สวนลุมพินี บริเวณประตูทางด้านถนนศาลาแดง

ตอนนั้น จะมีหอนาฬิกาแล้วหรือยัง ผมก็จำไม่ได้

บริเวณที่ไปชุมนุมกันนั้น อยู่ที่บริเวณเดียวกับที่หอนาฬิกาตั้งอยู่ทุกวันนี้ เขาบอกให้ไปชุมนุมกันตั้งแต่เช้า เก้าโมง เป็นต้นไป และให้ไปพร้อมเพรียงกันทุกคน แต่จะให้พร้อมเพรียงกันทั้งโรงเรียนนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะมีนักเรียนที่เรียกว่า เด็กกำพร้า อยู่ด้วย นักเรียนพวกนี้เรียนอยู่กินนอนไม่เสียสตางค์ พวกบราเดอร์เก็บมาเลี้ยงเอาไว้ พวกนี้ก็ต้องไปไม่ได้ แต่พวกนี้จะทัดทานต่อสู้เพื่อครูและบราเดอร์ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน เพราะถ้าขืนทำก็คงจะหมดสภาพเป็นนักเรียน คือป่วยขนาดหนักด้วยอาวุธประจำกายของพวกปฏิวัติ

ผมกลับบ้านวันนั้นอย่างวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีก พ่อก็ถามอีกว่า “ เอ็งกลับมาทำไมอีกล่ะ โรงเรียนเขาปิดแต่เช้างั้นเหรอ ”

ผมก็บอกว่า โรงเรียนเขาไม่ได้ปิด แต่นักเรียนปิดกันเอง มีพวกนักเรียนรุ่นใหญ่เขาคิดปฏิวัติโรงเรียนกัน เขาพากันมาปิดโรงเรียน พวกครูก็เลยไม่ยอมสอน

“ ระยำ ” พ่อพูดคำเดิมออกมาคำเดียว ไม่ถามอะไรผมต่อ

วันรุ่งขึ้น ผมก็ไปสวนลุม ฯ ตามคำชวนของพวกนั้น มีนักเรียนไปร่วมชุมนุมกันแยะเหมือนกัน หลายร้อยคน ต่างก็ทักทายกันสนุกสนาน ยังไม่รู้ว่า คุณสกุล เขาชวนมาทำไม แต่ไม่ต้องเรียนอีกวันก็ดีเหมือนกัน

สายหน่อย คุณสกุล ก็มาถึงที่ชุมนุม เอาลังไม่ฉำฉาลังหนึ่งมาด้วย วางเข้า แล้วก็ขึ้นไปยืนบนลังนั้น กล่าวคำปราศรัยถึงเหตุผลในการปฏิวัติครั้งนั้นว่า เป็นเพราะโรงเรียนหน้าเลือด ไม่ยอดลดค่าเล่าเรียนให้อย่างที่โรงเรียนรัฐบาลลดลงมาแล้ว

ค่าเรียนสมัยนั้นคิดเป็นเทอม ๆ มีสามเทอม แต่ก่อนทางโรงเรียนรัฐบาลเคยเก็บเทอมละเจ็ดบาท ส่วนทางโรงเรียนฝรั่งคือ ทั้งอัสสัม ฯ และ เซ็นต์ ฯ นั้น เก็บเทอมละแปดบาท ทำไมถึงแพงกว่ากันตั้งหนึ่งบาทก็ไม่ทราบ หนึ่งบาทสมัยนั้น ใช้ได้กว่าสิบวันเชียวนะครับ ค่าขนมวันละสิบสตางค์ ก็ลูกเศรษฐีแล้ว

คุณสกุลบอกว่า ได้เจรจากับทางโรงเรียนทั้งสองแล้ว ขอให้ลดค่าเทอมลงมาเหลือเจ็ดบาท ให้แพงกว่าโรงเรียนรัฐบาลหนึ่งบาทอย่างเดิม ทางโรงเรียนทั้งสองแห่งก็ไม่ยอม เมื่อพูดกันไม่ได้ ก็ต้องปฏิวัติเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

นักเรียนคนไหนเห็นด้วยก็ให้ลงชื่อในกระดาษที่เตรียมมาให้นี้ เพื่อที่จะดำเนินการต่อไปให้ได้ความเป็นธรรม

และอีกประการหนึ่ง การที่ทางโรงเรียนเริ่มออกกฎข้อบังคับให้นักเรียนต้องนุ่งกางเกงสีน้ำเงิน สวมเสื้อสีขาว และสวมถุงเท้ารองเท้าให้เป็นระเบียบนั้น เป็นการบังคับจิตใจกันเกินไป นักเรียนควรที่จะแต่งตัวได้ตามใจชอบ เพราะขณะนี้บ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว ทุกคนควรที่จะมีอิสระในการแต่งกายตามชอบใจ ไปโรงเรียนก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยบังคับกัน จะมาบังคับกันตอนนี้ยังไง

ตัวคุณสกุลเองนั้น แต่งตัวนุ่งโสร่ง สวมเสื้อผ้าป่าน แล้วก็สวมหมวกแขกบนศีรษะ ไปโรงเรียน ใครจะทำไม วันนั้น แกแต่งตัวอย่างว่า ดูก็สวยดี

ผมเห็นดีเห็นชอบไปกับแกด้วย ร่วมลงชื่อในกระดาษแผ่นนั้นด้วยความเต็มใจ ทำไมถึงเห็นดีไปด้วย ตอนนั้นก็อธิบายไม่ได้ มันกำลังคึกตามประสาเด็กหนุ่มอายุสิบสี่

ทางโรงเรียนเซ็นต์ ฯ ก็มีประกาศออกมาว่า โรงเรียนจะเปิดสอนตามปกติต่อไป นักเรียนคนไหนต้องการจะเรียนต่อ ก็ให้มาลงชื่อที่อาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนได้ทุกวัน จนถึงวันปิดเทอมแรก มีนักเรียนไปลงชื่อกันหลายคนที่จะเรียนต่ออย่างเดิม แต่ผมยังไม่ไป นอนทอดหุ่ยอยู่กับบ้าน แล้วก็ออกไปสนุกกับเพื่อน ๆ แถวบางลำพู รุ่น ๆ เดียวกันบ้าง ชวนกันออกไปเที่ยวเตร่ใกล้ ๆ บ้านกันบ้าง ตอนนั้นยังติดผู้หญิงไม่เป็น จนโรงเรียนปิดเทอมแรก




 

Create Date : 15 มีนาคม 2555
5 comments
Last Update : 26 มีนาคม 2555 2:53:17 น.
Counter : 1522 Pageviews.

 

ขอบคุณมาก..

 

โดย: ก้นกะลา 16 มีนาคม 2555 1:20:49 น.  

 

มาทักทายหลังอัพบล็อกใหม่...ที่เพื่อนมาเยอะเพราะเล่นมานานค่ะ

 

โดย: sawkitty 16 มีนาคม 2555 16:42:20 น.  

 

สนุกครับ คิดถึงนักปฏิวัติที่ไม่ยอมนุ่งกางเกงขาสั้น มองเห็นภาพเขาบนลังไม้ฉำฉาครับ

 

โดย: Insignia_Museum 16 มีนาคม 2555 22:16:43 น.  

 

ค้นหาจนเจอ
เข้ามาอ่านอย่างมีความสุข

ขอบคุณครับ

 

โดย: หลานลุงสกุล IP: 118.174.133.105 30 มกราคม 2557 8:32:58 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะ ทีกรุณาหาจนเจอ

จขบ ก็หายหน้าหายตาไปนาน
ไปตามหาบทประพันธ์มาถ่ายทอดให้ต่อ

น้องสาวเอามาให้
ดีใจมาก

ก็จะได้อ่านกันต่อไปอีกพักใหญ่ ๆ ค่ะ

 

โดย: ธารน้อย 9 สิงหาคม 2557 19:01:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ธารน้อย
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ธารน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.