HR Management and Self Leadership
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
29 มีนาคม 2555

ถ้าลูกน้องจะประเมินหัวหน้าจะต้องประเมินอะไรบ้าง

หลังจากที่ผมได้เขียนเรื่องราวความคิดเกี่ยวกับการให้ลูกน้องมีโอกาสได้ประเมินผลงานของหัวหน้าไปแล้วเมื่อวานนี้ ก็ได้มี Feedback จากท่านผู้อ่านกลับมาอย่างมากมายเลยทีเดียวว่า มันเป็นไปได้หรือ จริงๆ แล้วมีองค์กรที่ทำแบบนี้ได้จริงๆ หรือ รวมทั้ง แนวคิดแบบนี้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริงๆ หรือ ฯลฯ

จริงๆ เรื่องของการที่ให้ลูกน้องมีโอกาสประเมินผลงานของหัวหน้านั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้นะครับ และในหลายๆ องค์กรเองก็มีการประเมินแบบนี้จริงๆ เพียงแต่ประเด็นที่ประเมินนั้น จะเป็นคนละประเด็นกับการประเมินผลงานของหัวหน้าต่อลูกน้องครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวชี้วัดผลงาน หรือ เรื่องของพฤติกรรม ก็จะต้องใช้กันคนละชุดครับ

ในประเด็นเรื่องของตัวชี้วัดผลงาน ถ้าให้ลูกน้องประเมินหัวหน้าจริงๆ ตัวชี้วัดผลงานที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นตัวอะไรก็ตาม จริงๆ แล้วถ้ากำหนดชัดเจนได้ ผมว่าใครๆ ก็ประเมินพนักงานคนนั้นได้ครับ เพียงแต่ขอให้มีข้อมูลผลงานว่าตอนนี้ผลงานไปถึงไหนแล้ว ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นลูกน้องในระดับล่างๆ อาจจะไม่ค่อยทราบถึงข้อมูลผลงานของหัวหน้ามากนัก เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ได้ถ่ายทอดลงสู่ระดับพนักงาน ซึ่งก็จะทำให้พนักงานไม่สามารถที่จะประเมินผลงานของหัวหน้าตนเองในด้าน KPI ได้ชัดเจนมากนัก ผลก็คือ ไม่ค่อยจะมีการให้ลูกน้องประเมินผลงานลูกพี่ในด้านผลงานเชิงธุรกิจมากนัก

ประเด็นที่มักจะให้ลูกน้องประเมินลูกพี่ก็คือ ประเด็นทางด้านพฤติกรรมมากกว่า โดยจะต้องพิจารณาว่า คนที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าในแต่ละระดับนั้น จะต้องประกอบไปด้วยพฤติกรรมอะไรบ้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะมีดังต่อไปนี้ครับ

  • ภาวะผู้นำ เพื่อให้ลูกน้องพิจารณาว่า หัวหน้าของตนเองนั้นมีภาวะผู้นำสักแค่ไหน สามารถนำทีมงาน ให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้สักเพียงใด
  • การสร้างทีมงาน เพื่อให้ลูกน้องพิจารณาว่า หัวหน้าของตนเองนั้นมีพฤติกรรมในการสร้างทีมงานที่ดีในหน่วยงานหรือไม่ หรือเป็นคนทำลายทีมงานกันแน่
  • การจูงใจพนักงาน เพื่อให้ลูกน้องพิจารณาว่า หัวหน้าของตนเองนั้น มีทักษะ และวิธีการในการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในหน่วยงานของตน ให้มีพลังในการทำงาน และต่อสู้กับอุปสรรคในการทำงานได้มากสักเพียงใด หัวหน้างานบางคนก็เก่งที่จะทำลายแรงจูงใจของพนักงานมากกว่าก็มีครับ
  • การสอนงาน เพื่อให้ลูกน้องพิจารณาว่า หัวหน้าของตนเองนั้นมีทักษะในการสอนงาน และมีการพัฒนาพนักงานในทีมงานมากน้อยสักเพียงใด หรือปล่อยให้พนักงานทำงานแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ผิดก็ยังผิดอยู่วันยันค่ำ ไม่เคยคิดที่จะพัฒนาพนักงานเลย
  • ยังมีอีกหลายปัจจัยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ แล้วแต่ว่าแต่ละองค์กรจะมุ่งเน้นให้หัวหน้าของตนเองมี Managerial Competency อะไรบ้าง

ประเด็นหรือปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ถ้าจะปล่อยให้หัวหน้าของหัวหน้าเป็นคนประเมิน ในบางครั้ง หัวหน้าของหัวหน้าเองอาจจะเห็นแค่เพียงบางมุมเท่านั้น ซึ่งทำให้การพัฒนาหัวหน้างานอาจจะเป็นไปด้วยความล่าช้า และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ก็เลยเกิดแนวคิดที่ว่า ลูกน้องที่ทำงานกับหัวหน้าคนนั้นจะต้องมีหน้าที่ในการประเมิน หรือ ในบางแห่งก็เป็นการให้ Feedback ไปที่หัวหน้าของหัวหน้าว่า หัวหน้าของตนนั้นมีพฤติกรรมในแต่ละด้านที่กำหนดไว้อย่างไร ดีไม่ดีเรื่องใด ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะนำเอาสิ่งที่เป็นจุดอ่อนนั้นไปใช้ในการพัฒนามากกว่า ที่จะเป็นการจับผิด

แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังมีอีกหลายองค์กรที่คนในระดับหัวหน้างานยังไม่สามารถรับได้กับเรื่องแบบนี้ เพราะคิดว่าตนเองเป็นหัวหน้าแล้ว ย่อมจะมีพฤติกรรมที่ดีกว่าลูกน้อง ดังนั้นถ้าจะให้ลูกน้องที่รู้น้อยกว่า ทำงานได้น้อยกว่า มาประเมินหรือ Feedback เราก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้เลย

แต่จริงๆ แล้วหัวหน้ากลุ่มนี้ไม่รู้เลยว่า สาเหตุที่ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ลาออกจากบริษัท รวมทั้งสาเหตุที่ทำให้พนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่อยากมาทำงาน ล้วนแล้วแต่มาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของหัวหน้าทั้งสิ้น และที่หัวหน้าในหลายองค์กรที่ยังไม่สามารถพัฒนาให้เป็นหัวหน้าที่ดีได้ ก็เพราะว่า หัวหน้ากลุ่มนี้ประพฤติตนกับหัวหน้าของตนแบบหนึ่ง และประพฤติกับลูกน้องของตนอีกแบบหนึ่ง

ในบางครั้งลูกน้องเองยังงงเลยว่า หัวหน้าของตนนั้นถูกประเมินว่ามีพฤติกรรมที่ดีได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ลูกน้องไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย

ดังนั้นถ้าเราสามารถรับทราบมุมมองที่ถูกต้อง และเหมาะสมของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้าตนเองแล้ว ก็จะทำให้หัวหน้ามีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นหัวหน้างานที่ดีได้ด้วย อยู่ที่ว่าหัวหน้าแต่ละคนนั้นจะเปิดใจรับเรื่องเหล่านี้ได้มากเพียงใด

ในทางปฏิบัติองค๋กรที่เปิดให้พนักงานมีโอกาสประเมินหัวหน้าของตนนั้น มักจะเป็นการให้ Feedback ไปที่หัวหน้าของหัวหน้ามากกว่า เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับหัวหน้าของหัวหน้าในการประเมินผลงานลูกน้องของตนเองอีกทีหนึ่งครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีมุมมองที่แตกต่างและมากกว่าแค่เพียงมุมของของคนประเมินเพียงด้านเดียว

ผมเคยเห็นมากับตานะครับว่า มีหัวหน้าในบางองค์กร เวลาที่มีการประเมินผลงานลูกน้อง หัวหน้าก็จะใช้โอกาสนี้สอบถามว่า ตนเองมีจุดอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง โดยย้ำกับพนักงานว่า ไม่ต้องกังวล ให้พูดออกมาตรงๆ ได้เลย แล้วหัวหน้าคนนี้ก็จะนำเอาความเห็นของพนักงานนั้นมาปรับปรุงตนเอง เพื่อให้ตนเองเป็นหัวหน้าที่ดีที่สุด เห็นมั้ยครับว่า ไม่ต้องมีระบบให้ลูกน้องประเมินหัวหน้าอย่างเป็นทางการก็ได้ ถ้าหัวหน้าคนนั้นยินดี และเต็มใจที่จะยอมรับ Feedback จากลูกน้องบ้าง เราก็จะเป็นหัวหน้างานที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วครับ




 

Create Date : 29 มีนาคม 2555
1 comments
Last Update : 29 มีนาคม 2555 7:17:56 น.
Counter : 1912 Pageviews.

 

แวะมาเยี่ยมยามค่ำคืน...สวัสดีครับ

 

โดย: **mp5** 29 มีนาคม 2555 21:36:59 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]