HR Management and Self Leadership
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
18 ธันวาคม 2552

องค์กรของคุณให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลจริงหรือ

ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะเคยได้ยินประโยคนี้นะครับ “คน คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กรเรา เราให้ความสำคัญกับการบริหารคนในองค์กรมากว่าเรื่องใดๆ ทั้งหมด” ผมเองก็เคยได้ยินผู้บริหารระดับสูงของหลายองค์กรพูดประโยคนี้ และท่านเองเคยสงสัยมั้ยครับว่า จริงๆ แล้วองค์กรของท่านให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลมากเท่ากับที่ผู้บริหารได้ เอ่ยปากไว้หรือไม่

เคยพบเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้บ้างหรือไม่ครับ

* เวลาขอรับสมัครพนักงานใหม่ ปกติเราก็อยากได้คนที่เก่ง และมีฝีมือ และพร้อมที่จะพัฒนาไปกับองค์กรของเรา แต่พอถึงเวลาสรรหาและคัดเลือกคนได้แล้ว นำไปให้ผู้บริหารพิจารณาว่าจะเอาใครดี สิ่งที่ผู้บริหารพิจารณาเป็นสิ่งแรกก็คือ คนไหนที่เรียกเงินเดือนต่ำกว่า ก็น่าจะเข้าข่ายได้รับการพิจารณาไว้ก่อน โดยไม่มองเลยว่า ใครที่เก่งกว่า เหมาะสมกว่า หรือใครที่จะเข้ามาพัฒนาองค์กรของเราได้ดีกว่า มองเพียงแต่ว่าเอาใครก็ได้ให้เข้ามาทำงานโดยจ่ายเงินเดือนน้อยที่สุดเท่าที่ จะทำได้


* ผู้บริหารบอกไว้ว่า อยากได้คนเก่งๆ เข้ามาทำงาน โดยวางเป้าหมายว่าจะสรรหาและคัดเลือกเอาเด็กจบใหม่ที่มีฝีมือ และตั้งใจทำงานเข้ามาฝึกฝนเพื่อให้พัฒนาไปพร้อมกับบริษัท แต่พอถึงเวลาที่สรรหาเด็กกลุ่มนี้เข้ามาได้แล้ว ผู้บริหารกลับไม่เลือกเลยสักคน เพราะแต่ละคนขอเงินเดือนเกินกว่าที่ผู้บริหารตั้งใจจะให้ ก็เลยเปลี่ยนความคิดว่า “งั้นก็กลับไปรับเด็กที่ยอมรับเงินเดือนที่เราเสนอดีกว่า”


* ฝ่ายบุคคลนำเสนอแนวทางในการพัฒนาพนักงาน และกำหนดหลักสูตรฝึกอบรมขึ้นมา เพื่อพัฒนาทักษะและฝืมือของพนักงานให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น แต่ผู้บริหารกลับมองว่า “ฝึกอบรมไปทำไม ตอนนี้งานเยอะมาก เอาไว้ก่อนดีกว่า ให้พนักงานทำงานหาเงินเข้าบริษัทไว้ก่อน น้ำขึ้นให้รีบตัก”


* พอถึงเวลาที่งานซาลง เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีนัก รายได้ที่เคยเข้ามา ก็ลดน้อยลงกว่าเดิม ฝ่ายบุคคลและหัวหน้างานต่างๆ ก็มองเห็นว่าช่วงนี้งานน้อย ก็น่าจะจัดให้มีการเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้กับพนักงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีที่งานเข้ามาในอนาคต ผู้บริหารก็บอกว่า “ตอนนี้อย่าเพิ่งเลย เพราะเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เรื่องฝึกอบรมเอาไว้ตอนที่มีเงิน และเศรษฐกิจดีๆ ก่อนดีกว่า เราค่อยลุยกันดีมั้ยครับ”


* ผู้บริหารให้นโยบายเรื่องค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทต้องอยู่ในระดับที่ แข่งขันได้ พอฝ่ายบุคคลทำการสำรวจค่าจ้างเงินเดือน และทำการเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทกับตลาดอย่างละเอียดแล้ว พบกว่า เงินเดือนของบริษัทอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาด ก็เลยเสนอให้มีการปรับปรุงการจ่ายเงินเดือนให้ทัดเทียมกับตลาด พอผู้บริหารได้ยินเข้าก็บอกว่า “ผมว่าเราจ่ายดีกว่าตลาดอยู่แล้วนะ ไม่งั้นเราก็คงอยู่มาไม่ได้ถึงป่านนี้หรอก คุณไปเอาข้อมูลมาจากไหน ใช้ได้จริงหรอ ผมว่า เขาให้ข้อมูลคุณมาผิด ๆ นะ คราวหน้าไม่ต้องไปทำมันแล้วไอ้ Survey น่ะ สิ้นเปลืองงบประมาณของบริษัท เอาเงินไปทำอย่างอื่นน่าจะคุ้มกว่านะ”


* บริษัทมีนโยบายจะว่าจ้างวิศวกรจบใหม่มือดีเข้ามาเพื่อลุยงานของบริษัท แต่สัมภาษณ์ทีไรก็ไม่ได้คนทุกที มีแต่คนปฏิเสธไม่ยอมทำงานด้วยเลย พอไปหาสาเหตุก็พบว่า บริษัทจ่ายอัตราแรกจ้างให้กับวิศวกรจบใหม่ในระดับปริญญาตรีเป็นเงิน 10,000 บาท (อัตรานี้ปัจจุบันยังแทบจะจ้างเด็กสังคมศาสตร์ไม่ได้เลย) พอฝ่ายบุคคลนำเสนอว่า อัตราเริ่มจ้างปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์จะต้องปรับเป็น 18,000 บาทตามอัตราของตลาดที่แข่งขันอยู่ ผู้บริหารก็บอกว่า “โห 18,000 บาทมันสูงเกินไป อัตราเดิมที่ให้ไว้ ผมว่ายังจ้างได้นะ คุณไปหาคนถูกแหล่งหรือเปล่า ไม่ใช่หาคนไม่ได้ แล้วก็เอะอะจะขอปรับอัตราเงินเดือนร่ำไป”


* “ให้พวกเราทุกคนตั้งใจทำงานให้ดี ปีนี้ถ้าทำงานได้เป้า ผมจะมีโบนัสให้กับพนักงานอย่างน้อย 1 เดือน!!!” CEO ของบริษัทประกาศกร้าวต่อหน้าที่ประชุมพนักงาน พนักงานเองก็พยายามตั้งใจทำงาน ขยันบ้าง ขี้เกียจบ้างตามประสา สุดท้ายก็น่าจะพอมีความหวังว่าปลายปีนี้ก็น่าจะได้โบนัสกันอย่างน้อยหนึ่ง เดือนก็ยังดี ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้


* “ปีนี้เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ฝ่ายบริหารก็เลยประกาศว่า เราจะขอลดโบนัสลงครึ่งหนึ่ง” (ทั้งๆ ที่ตัวเลขงบการเงินของบริษัทนั้นไม่ได้ประสบกับภาวะขาดทุนเลย แต่ใช้ข้ออ้างเรื่องของเศรษฐกิจไม่ดีเพื่อเป็นเหตุผลในการต่อรองเรื่องโบนัส เพื่อสุดท้ายตัวเลขกำไรซึ่งเป็นผลงานของ CEO นี้จะได้ถึงเป้า)


* “ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีในปีนี้ ทำให้บริษัทของเราประสบกับภาวะขาดทุน ดังที่พวกเราได้เห็นแล้วว่า เราขายแทบไม่ได้เลย ฝ่ายบริหารก็เลยอยากขอความร่วมมือจากพนักงานทุกคนลดเงินเดือนของพวกเราลงอีก 30% เพื่อให้บริษัทสามารถอยู่รอดต่อไปได้ในระยะนี้” พนักงานเองก็ยอมรับ เพราะดีกว่าต้องตกงาน แต่มาพบกับความจริงภายหลังว่า ระดับบริหารของบริษัทประมาณ 15 คน ยังคงได้รับเงินเดือนเท่าเดิม แถมยังมีข่าวแว่วๆ มาว่า จะมีการให้โบนัสสำหรับผู้บริหารด้วยในปีนี้ แล้วพนักงานจะรู้สึกอย่างไร


* “บริษัทของเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานภายในของเรา เราจะมองหาพนักงานภายในของเราก่อนที่จะไปรับสมัครพนักงานจากภายนอกเข้ามาทำ งาน” ผู้บริหารระดับสูงประกาศกร้าว (อีกแล้ว) แต่พอถึงเวลาที่ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเกษียณอายุไป พนักงานมือดีที่เคยได้รับการทาบทามไว้ ก็คิดว่าตนเองคงจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไป แต่ที่ไหนได้ ผู้บริหารระดับสูงไปรับเอาพนักงานเข้ามาจากภายนอกมาดำรงตำแหน่งนี้แทนแถมยัง เป็นญาติกับผู้บริหารซะด้วย (ผมว่าพนักงานทุกคนคงจะรู้สึกถึงความไม่มั่นคงแน่นอน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม)


สิ่งเหล่านี้ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทที่ผู้บริหารประกาศว่า “คนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของเรา” ผมก็หวังว่าองค์กรของท่านเองคงไม่ประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวนะครับ


Create Date : 18 ธันวาคม 2552
Last Update : 18 ธันวาคม 2552 7:58:12 น. 2 comments
Counter : 1071 Pageviews.  

 
หลักการด้านบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งจริงๆแล้วถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการแข่งขันในโลกธุรกิจทุกวันนี้ ทรัพยากรบุคคลเปรียบเสมือน intangible asset ที่ลอกเลือนแบบได้ยากจากบริษัทคู่แข่งรวมถึงสามารถใช้เป็นจุดแข็งในการสร้าง Competitive advantage เลยทีเดียว น่าเสียดายที่หลายบริษัทกลับให้ความสำคัญกับทฤษฏีและนำไปใส่ในนโยบายบริษัทแต่กลับสอบตกในแง่ปฎิบัติ


โดย: may (May@SiamSquare ) วันที่: 19 ธันวาคม 2552 เวลา:1:31:04 น.  

 
ขอบคุณค่ะ
อ่านสนุกและได้ความรู้ดีค่ะ
^^


โดย: I am just fine^^ วันที่: 24 ธันวาคม 2552 เวลา:11:46:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]