HR Management and Self Leadership
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
17 มีนาคม 2554

โครงสร้างเงินเดือนแบบบรอดแบนด์เหมาะกับองค์กรแบบใด


เรื่องของโครงสร้างเงินเดือนนั้นหลายๆ บริษัทในปัจจุบันก็เริ่มที่จะจัดให้มีขึ้นในการบริหารค่าจ้างเงินเดือน เพื่อให้องค์กรสามารถที่จะควบคุมดูแลค่าใช้จ่ายทางด้านเงินเดือนของพนักงานให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ไม่จ่ายมาก หรือไม่น้อยจนเกินไป ประเด็นสำคัญของการมีโครงสร้างเงินเดือนก็คือ เพื่อที่จะใช้ในการดึงดูด และรักษาพนักงานที่ดีและมีฝีมือให้อยู่ทำงานกับบริษัทมากกว่าที่จะใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการตีกรอบในการจ่ายเงินเดือนไม่ให้เกินกว่าที่นายจ้างต้องการ


ลักษณะของโครงสร้างเงินเดือนก็มีอยู่หลายแบบ (ลองหาดูจากบทความเก่าๆ ของผม) แต่แบบที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ก็คือโครงสร้างเงินเดือนแบบช่วงเงินเดือน ที่มีการกำหนดอัตราต่ำสุด (Minimum) ค่ากลาง (Mid-point) และอัตราสูงสุด (Maximum) ของแต่ละระดับงาน หรือที่เรามักจะเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งก็คือ กระบอกเงินเดือน ซึ่งโครงสร้างแบบช่วงนี้เอง ก็ยังมีหลายลักษณะเช่นกัน บางบริษัทกำหนดช่วงของเงินเดือนในแต่ละกระบอกแคบๆ บางบริษัทกำหนดแบบกว้างๆ แล้วแต่นโยบายในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทที่กำหนดไว้


ในปัจจุบันมีแนวคิดในเรื่องของการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนแบบช่วง ในลักษณะที่เรียกว่า Broadband ก็คือ การถ่างความกว้างของช่วงเงินเดือนในกลุ่มงานหนึ่งๆ ให้มีความกว้างอย่างมากมาย เพื่อรองรับการเติบโตทางด้านเงินเดือนของพนักงานไปได้เรื่อยๆ และตันยากหน่อย แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลอีกด้านหนึ่งก็คือ ยิ่งถ้าเราถ่างกระบอกเงินเดือนให้กว้างมากขึ้นเท่าไร เราก็จะยิ่งลดความสำคัญของค่างานลงมากเท่านั้น เพราะคนที่ทำงานแบบเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน สามารถกินเงินเดือนที่แตกต่างกันมากๆ ได้ นั่นก็คือ เรากำลังลดความสำคัญของค่างานลง


แต่สิ่งที่คำนึงถึงมากขึ้นในโครงสร้างแบบ Broadband นั้นก็คือ เราจะจ่ายเงินเดือนตาม Competency ของคนมากกว่า กล่าวคือ พนักงานคนหนึ่งแม้ว่าจะทำงานในค่างานของบริษัท แต่ความสามารถของพนักงานคนนั้น มีมากมาย และเป็นคนที่มีศักยภาพในการสร้างให้บริษัทเติบโตไปได้อีกไกล แม้ว่าจะทำงานแบบเดิมก็ตาม องค์กรก็ยินดีที่จะจ่ายค่าจ้างเพื่อตอบแทนความเก่งของพนักงานคนนั้น


ดังนั้นองค์กรที่เหมาะที่จะใช้โครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadband ก็คือองค์กรที่มีลักษณะเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง โดยที่ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ในองค์กรก็เป็นตำแหน่งทางด้านวิชาชีพเฉพาะทาง และเป็นวิชาชีพที่สามารถเห็นความลึกในการทำงานตามความสามารถของคนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ที่มากขึ้น ที่ชัดเจนมากๆ ก็คือ บริษัทที่ปรึกษาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านบัญชี การเงิน หรือวิศวกรรม สำนักงานกฎหมาย ธนาคาร วิชาชีพทางการแพทย์ พยาบาล เป็นต้น จะสังเกตได้ชัดเลยว่า วิชาชีพเฉพาะทางเหล่านี้ สามารถสร้างความลึกลงไปได้เรื่อยๆ และมักจะผูกติดกับความสามารถของคนทำงาน แม้ว่างานในแต่ละวันจะทำงานแบบเดิมๆ และอาจจะไม่ค่อยเจอกรณีที่ยากมากมายนัก แต่ถ้าเมื่อไรเจอกรณียากๆ และพนักงานคนนั้นสามารถทำงานยากๆ ได้ นั่นก็แปลว่า เขามีความสามารถมากกว่าคนอื่น และโครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadband ก็จะช่วยตอบแทนในเรื่องของความสามารถของพนักงานด้วย


แต่ถ้าองค์กรของเราเป็นลักษณะที่ใช้แรงงาน และงานไม่มีความลึกมากมายนัก และไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยวิชาชีพเฉพาะทางมากนัก โครงสร้างแบบ Broadband จะไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้พนักงานในตำแหน่งเดียวกันทำงานเหมือนกัน มีเงินเดือนที่แตกต่างกันมากจนเกินไป จนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้ในองค์กร


นอกจากนั้นตอนที่เราออกแบบโครงสร้างเงินเดือนนั้น ก็ต้องพิจารณารายละเอียดอื่นๆ เพิ่มอีกด้วย เช่น สายอาชีพพนักงาน ความเชื่อเรื่องระบบอาวุโสที่มีอยู่ในบริษัท และที่สำคัญก็คือ ควรจะใช้ง่าย และทำให้พนักงานเข้าใจได้ง่ายๆ ไม่สับสน เพราะเป้าหมายก็คือเพื่อที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่อยู่ในองค์กร ดังนั้นถ้าระบบเราสับสน พนักงานไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ก็จะเกิดปัญหาในแง่ของการรักษาพนักงานเช่นกัน อย่างเช่นที่ระบบราชการปัจจุบันเป็นอยู่ เท่าที่ผมสอบถามจากลูกค้า และเพื่อนๆ ที่ทำงานราชการ เขาก็ยืนยันว่า ข้าราชการส่วนใหญ่ยังสับสนกับระบบ Broadband ที่นำเอามาใช้ และเมื่อไรที่ทำให้พนักงานเกิดความสับสน พนักงานก็จะไม่เป็นอันทำงาน เพราะมัวแต่งงกับระบบการจ่ายค่าตอบแทนที่เปลี่ยนไป


ดังนั้นในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนนั้น ผมอยากแนะนำว่า จะเป็นโครงสร้างเงินเดือนแบบใดก็ได้ แต่ขอให้ตอบโจทย์ได้ว่า ทำแล้วสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานในแง่ของค่าตอบแทนได้ แข่งขันได้ และพนักงานเข้าใจง่าย และพร้อมที่จะทำงานให้มากขึ้น หรือสร้างผลงานให้ดีขึ้น


ไม่ควรจะทำตามแฟชั่น ว่าใครๆ ก็ทำแบบ Broadband ดังนั้นเราก็น่าจะมีโครงสร้างเงินเดือนแบบ Broadband ด้วย ถ้าไม่ใช่แบบนี้ จะทำให้การบริหารค่าจ้างของเราไม่ดี ผมว่าความคิดนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเท่าไร อย่างที่ผมเคยได้เขียนไว้ในบทความเก่าๆ ว่า ระบบค่าจ้างเงินเดือนนั้นลอกเลียนแบบไม่ได้เลยนะครับ เราต้องพิจารณาจากความเหมาะสมในหลายๆ ปัจจัยครับ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะธุรกิจ ลักษณะงาน แนวคิดในการบริหารค่าจ้างว่าเน้นค่างาน หรือเน้นความสามารถ หรือเน้นอาวุโส วัฒนธรรมขององค์กร รวมทั้งเป็นระบบที่ใช้ง่าย เข้าใจง่าย ไม่ทำให้พนักงานเกิดความสับสน และงงจนไม่เป็นอันทำงานครับ






Free TextEditor


Create Date : 17 มีนาคม 2554
Last Update : 17 มีนาคม 2554 6:18:54 น. 0 comments
Counter : 1435 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]