HR Management and Self Leadership
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
16 มีนาคม 2554

วิธีสร้างองค์กรของเราให้เป็นสถานที่ที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด ตอนจบ


วันนี้ก็มาถึงตอนสุดท้ายของวิธีการที่จะทำให้องค์กรของเราเป็น The Great Workplace หรือเป็นองค์กรที่พนักงานโหวตว่าเป็นที่ที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจในปัจจัยต่างๆ ที่มาจากการวิจัยของผู้เขียนหนังสือ The Great Workplace ได้ทำไว้ วันนี้ก็มาถึงเรื่องสุดท้ายกันแล้ว ก็คือเรื่องของ Camaraderie ซึ่งแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานภายในองค์กรครับ


องค์กรที่พนักงานโหวตว่าเป็นที่ที่น่าทำงานด้วยนั้น เหตุผลส่วนหนึ่งมากจาก บรรยากาศในการทำงานที่มีความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นครอบครัว มีความเป็นเพื่อน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่เสมอ รวมทั้งมีความสนุกสนานในการทำงานด้วยกัน แม้ว่างานนั้นจะมีความเครียดก็ตาม แต่ก็ทำงานร่วมกันอย่างรู้สึกสนุกกับงานอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือคำว่า Camaraderie ของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ครับ


ถ้าเราลองไปค้นหาในเว็บไซต์ของ Fortune magazine ที่เขาทำการจัดอันดับเรื่องของ 100 บริษัทที่พนักงานอยากทำงานด้วยมากที่สุด และลองเข้าไปดูของอันดับที่ 1-5 ของทุกปีก็ได้ครับ สิ่งแรกที่เราเห็นก็คือ ความสนุกสนานในการทำงาน บรรยากาศในการทำงานที่เป็นเหมือนบ้านอีกหลังหนึ่งของพนักงานที่มีความอบอุ่น ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกอยากมาทำงาน เพราะมาแล้วไม่เครียด มาแล้วเหมือนอยู่บ้าน คำถามคือ จะต้องทำอย่างไรบ้างที่จะทำให้พนักงานรู้สึกแบบนี้กับองค์กรของเรา คำตอบก็คือ มีอยู่ 3 อย่างที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นดังนี้ครับ



  • Intimacy คือ ความรู้สึกใส่ใจในพนักงานทุกคนในทีมงาน หรือในองค์กร ความใส่ใจนี้ไม่ใช่แค่เพียงว่าองค์กรจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการให้พนักงานนะครับ แต่มันกินความหมายที่ลึกกว่านั้นมากมายครับ ความหมายก็คือ ความเอาใจใส่ ใส่ใจในความรู้สึก และความเป็นคนของพนักงานแต่ละคนด้วย จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญนะครับ ผมเชื่อว่าหลายองค์กรมีการจัดสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใส่ใจพนักงาน เช่น พนักงานไม่สบาย เข้าโรงพยาบาล บริษัทอาจจะจัดให้มีกระเช้าผลไม้ หรือ บัตรอวยพรเยี่ยมไข้ ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้ บริษัทเราให้ เพราะเป็นเพียงหน้าที่และระเบียบที่ต้องให้ หรือให้ด้วยความใส่ใจพนักงานอย่างจริงจัง จุดนี้มีความแตกต่างกันมากนะครับ และผมคิดว่าพนักงานเองก็สามารถรับรู้ได้เช่นกันว่า สิ่งที่เขาได้มานั้นมาจากความใส่ใจจริงๆ หรือมาจากหน้าที่ของการเป็นหัวหน้าเท่านั้น ดังนั้นหัวหน้างานและผู้บริหารในทุกระดับที่จะต้องให้ความใส่ใจพนักงานอย่างจริงจัง และจริงใจ ไม่ใช่เพียงแค่พูดแต่ปาก แต่ไม่เคยกระทำการใดๆ ที่ทำให้พนักงานรับรู้ว่าได้รับความใส่ใจเลย



  • Hospitality คือ การสร้างความเป็นมิตร ความสนุกสนาน และความเป็นกันเอง ระหว่างพนักงานกับหัวหน้างานในทุกระดับ องค์กรที่ได้รับการโหวตว่าเป็น The Great Workplace นั้น พนักงานจะมีความรู้สึกว่าผู้บริหารระดับสูง (และผู้บริหารทุกระดับ) นั้น เข้าถึงได้ง่าย และวางตัวเป็นกันเองกับพนักงานในทุกระดับ ติดดิน ไม่ถือตัว และเข้าหาได้ไม่ยากเหมือนกับบางองค์กรที่กว่าจะเข้าไปถึงผู้บริหารระดับสูง(หรืออาจจะแค่เพียงระดับกลางด้วยซ้ำไป) เพื่อที่จะหารือเรื่องงาน จะต้องผ่านด่านทั้งนอกห้อง หน้าห้อง แล้วอาจจะยังมีหน้าโต๊ะอีก แถมด่านเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะผ่านง่ายๆ นะครับ เรียกได้ว่ายากกว่าการฝ่าด่าน 18 อรหันต์ของเส้าหลินซะอีกครับ ถ้าองค์กรเราเป็นแบบนี้จริงๆ ก็เรียกได้ว่า ผู้บริหารกับพนักงานแยกกันอยู่ และไม่มีความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกันเลย ผลก็คือ ต่างคนต่างทำงาน พนักงานก็จะทำงานตามสั่ง ไม่มีเยื่อใยและความรู้สึกในความเป็นมนุษย์ให้สักเท่าไรนัก ผิดกับผู้บริหารที่วางตัวดี เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง และสร้างเสียงหัวเราะให้กับทีมงานได้อย่างสม่ำเสมอ แบบนี้จะได้ใจพนักงานไปเต็มๆ ครับ



  • Community คือ การเชื่อมโยงถึงกันระหว่างพนักงานภายในองค์กร องค์กรที่พนักงานโหวตว่าเป็น The Great Workplace นั้น การที่พนักงานต้องประสานงานกันนั้น จะมีความรู้สึกถึงความเป็นพวกพ้องเดียวกัน เป็นทีมเดียวกัน ไม่ใช่แค่เพียงประสานไปตามหน้าที่เท่านั้น องค์กรที่ขาดเรื่องของ Community นั้น จะเห็นภาพของการแบ่งก๊ก แบ่งเหล่า การจับกลุ่มนินทาคนโน้นทีคนนี้ที พอถึงเวลาที่จะต้องขอความร่วมมือก็จะมีข้ออ้างต่างๆ นานา แต่องค์กรที่สามารถสร้าง Community ได้นั้น จะตรงข้ามเลยครับ จะพูดถึงกันในแง่ดี เวลามีปัญหาก็คุยกันตรงๆ และช่วยกันหาทางออก เพื่อให้ความเป็นทีมของเรายังคงอยู่ ดังนั้นผู้บริหารและหัวหน้างานทุกระดับจะต้องมีจิตสำนึกในเรื่องของการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวขององค์กรนี้ให้ได้ โดยการทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี ผู้บริหารจะต้องไม่จับกลุ่มนินทาลูกน้องตนเองให้คนอื่นฟัง ไม่กล่าวร้ายพนักงานให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ยิน แต่พออยู่ต่อหน้าพนักงานคนนั้นก็ไม่กล้าพูดอะไรเลย ตรงกันข้าม ผู้บริหารจะต้องส่งเสริมสิ่งที่ดี สนับสนุนสิ่งที่ดีของพนักงาน และประสานสิ่งที่ดีของพนักงานแต่ละคน รวมทั้งมีการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของพนักงาน และยังต้องเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้าง community ที่ดีครับ


กล่าวโดยสรุปในเรื่องของการสร้าง The Great Workplace นั้นจะต้องสร้าง 3 สิ่งก็คือ Trust, Prideและ Camaraderie ดังที่ได้กล่าวไปแล้วทั้ง 5 ตอนครับ และบทบาทในการสร้างองค์กรของเราให้เป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดนั้น ล้วนแต่เป็นบทบาทของผู้บริหารทุกระดับของบริษัท เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นทั้งผู้นำ ผู้บริหาร และเป็นตัวอย่างให้กับพนักงานทุกคนในองค์กร ถ้าองค์กรของเราอยากให้พนักงานรู้สึกว่าที่นี่คือ the Great Workplace และรู้สึกอยากทุ่มเททำงานด้วยจริงๆ ผมคิดว่าสิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้วิจัยมานั้นเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ในองค์กรของเรา งานวิจัยนี้ไม่ใช่มาจากทฤษฎีอะไรเลย แต่มาจากความเห็น และความรู้สึกของพนักงานที่รู้สึกจริงๆ ว่าองค์กรของตนน่าทำงาน หรือไม่น่าทำงานด้วยนั้น เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง


ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านอาจจะมองว่า นี่มันคือความฝันชัดๆ และไม่มีทางเกิดขึ้นได้หรอก แต่ผมอยากจะขอแย้งว่า สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ความฝันเลยครับ มันเป็นสิ่งที่หลายองค์กรสามารถทำได้จริงๆ และถ้าองค์กรของเราอยากจะเป็นแบบนี้บ้าง (อาจจะไม่ต้องเป็นถึงขนาด Google ก็ได้) สิ่งที่จะต้องเริ่มก็คือ CEO ของบริษัทจะต้องนำเรื่องเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการในการบริหารงานประจำวันให้ได้ และจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี จากนั้นอิทธิพลเหล่านี้ของ CEO จะเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริหารในระดับอื่นๆ เริ่มทำตาม เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะว่า ผู้บริหารที่อยู่ใต้ CEO คนนี้ รู้สึกดีและรู้สึกถึงความจริงใจที่ CEO ให้มาไงครับ ก็เลยอยากให้ลูกน้องของตนเกิดความรู้สึกแบบเดียวกันนี้กับเราบ้าง ก็เลยต้องพยายามทำพฤติกรรมที่ดี และสอดคล้องกับที่ CEO ได้ทำกับเรานั่นเองครับ


แล้วสุดท้ายสิ่งที่ดีๆ ก็จะแพร่กระจายลงไปในทุกระดับขององค์กร เมื่อนั้น พนักงานก็จะรู้สึกว่า “ที่นี่แหละ คือบริษัทที่ยอดเยี่ยม และเป็นที่ที่เราอยากทำงานด้วยมากที่สุด”






Free TextEditor




 

Create Date : 16 มีนาคม 2554
0 comments
Last Update : 16 มีนาคม 2554 6:14:50 น.
Counter : 1302 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]