HR Management and Self Leadership
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
9 กุมภาพันธ์ 2554

ปัญหาเงินเดือนพนักงานใหม่สูงกว่าพนักงานเก่า

ผมสังเกตเห็นปัญหาเรื่องการบริหารเงินเดือนของบริษัทต่างๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้อ่านหลายท่านได้สอบถามเข้ามาถึงวิธีการบริหารจัดการด้วยเช่นกัน เรื่องนั้นก็คือ ทำอย่างไรดี ถ้าเงินเดือนของพนักงานใหม่ที่รับเข้ามา สูงกว่าพนักงานเก่าที่ทำงานอยู่กับบริษัท ในตำแหน่งเดียวกัน

ตัวอย่างที่เห็นจริงๆ ที่ผมเจอมากในบริษัทต่างๆ ที่ผมเข้าไปให้คำปรึกษาเรื่องของการบริหารเงินเดือนมักจะเป็นตำแหน่งงานไม่สูงนัก ส่วนใหญ่ก็เป็นประเภทเพิ่งจบใหม่ หรือไม่ระดับพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ไม่เกิน 10 ปี โดยมาจะเป็นตำแหน่งช่างเทคนิค วิศวกร และอาจจะมีตำแหน่งอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ (ระดับหัวหน้า และระดับบริหารไม่ค่อยเจอปัญหานี้มากนัก) ประเด็นที่จะต้องสอบถามก็คือ แล้วบริษัททำให้เงินเดือนของพนักงานใหม่ที่เพิ่งรับเข้ามา สูงกว่าพนักงานเก่าที่ทำงานมาสักพัก (ในตำแหน่งเดียวกัน) ได้อย่างไร อันนี้ต้องสืบลึกไปถึงประวัติศาสตร์ในการบริหารเงินเดือนของบริษัทด้วยว่า ที่เกิดขึ้นนี้เกิดเพราะเหตุใด

เท่าที่ผมได้ลองสืบมา ก็คือมาจากการที่บริษัทเห็นว่าว่าอัตราที่เราใช้จ้างพนักงานใหม่นั้นไม่สามารถจ้างได้แล้ว เช่น เดิมเคยจ้างช่างเทคนิคจบใหม่ที่ 7,500 บาท แต่พอวันดีคืนดี ตลาดขยับอัตราแรกจ้าง และอัตราเดิมที่ใช้อยู่นั้นไม่มีใครมาสมัครงานกับเราเลย สิ่งที่ฝ่ายบุคคลจะต้องนำเสนอก็คือ อัตราแรกจ้างใหม่ สมมติว่า ไปดูผลการสำรวจค่าจ้างมาแล้วพบว่า อัตราใหม่ที่แข่งขันได้นั้นคือ 8,500 บาท ก็เสนอผู้บริหารอนุมัติ พอได้รับการอนุมัติแล้ว ก็เริ่มใช้ ก็ดีใจที่มีอัตราใหม่ที่สามารถดึงดูดช่างใหม่ๆ เข้ามาทำงานกับบริษัทได้ แต่สิ่งที่ลืมมองก็คือ ช่างเก่าๆ ที่ทำงานกับเรามา โดยเริ่มจ้างเขาที่ 7,500 บาทนั้น ก็นั่งทำตาปริบๆ และยอมรับโดยดุษฎีว่าที่คือผลกรรมที่ตนทำไว้ บางคนก็ใจบุญมาก ให้เหตุผลกับตัวเองว่า ให้ทานแก่น้องๆ ใหม่ๆ ที่เข้ามาจะได้มีกินมีใช้ ฯลฯ

หนักไปกว่านั้น บางคนเขียนใบลาออก และเขียนใบสมัครเพื่อเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิม เพราะเห็นว่า ช่างใหม่ที่เข้ามานั้นได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าตนเอง ก็คาดหวังว่าตนก็จะได้รับในอัตราใหม่ ถ้าลาออกและสมัครงานใหม่ (ฮา)

เหตุการณ์ที่เล่ามานั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วในหลายบริษัท ประเด็นที่ควรจะดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นก็คือ เมื่อมีการปรับเงินเดือนแรกจ้าง หรือ ฐานเงินเดือนใหม่แล้ว สิ่งที่ฝ่ายบุคคลจะต้องดำเนินการก็คือ พิจารณาถึงผลกระทบในการปรับครั้งนี้ว่า มีผลกับพนักงานเดิมที่ทำงานอยู่อย่างไรบ้าง หลักสำคัญก็คือ พนักงานเดิมจะต้องถูกปรับขึ้นมาก่อนที่จะใช้อัตราใหม่ หรือก่อนที่จะรับพนักงานใหม่เข้ามา

ดังนั้นคำถามที่หลายคนถามว่า ทำไมพนักงานเข้าใหม่ในตำแหน่งเดียวกันกับพนักงานเก่าที่มีอยู่จึงได้รับเงินเดือนสูงกว่านั้นก็จะหมดไปครับ แต่ถ้ามีอดีตมายาวนานมากแล้ว สิ่งที่จะต้องทำก็คือ ดำเนินการปรับฐานเงินเดือนกันใหม่อีกครั้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในตำแหน่งงานที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งวิธีในการปรับฐานนี้สามารถทำได้ครับ เพียงแต่มันจะเป็นกรณี Case by Case ครับ แต่ละบริษัทจะมีวิธีการที่ไม่เหมือนกันเลย เพียงแต่หลักการในการดำเนินการนั้นก็คือหลักเดียวกันที่ว่า พนักงานในตำแหน่งเดียวกัน ค่างานเท่ากัน และผลงานใกล้เคียงกัน ทำงานกับบริษัทมาก่อนแล้ว ต้องได้รับการปรับฐานขึ้นไปก่อนที่จะใช้ฐานเงินเดือนใหม่ในการรับคนใหม่เข้ามาทำงานครับ

ในบางบริษัทที่ยังไม่เคยเกิดกรณีแบบนี้ ก็อย่าให้เกิดขึ้นเลยนะครับ คนที่ทำหน้าที่ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนพนักงานจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบรอบด้านให้ชัดเจนด้วยนะครับ เพราะบางครั้งมัวแต่ดีใจว่าเงินเดือนเริ่มจ้างของเราปรับสูงขึ้นแล้ว ก็เลยคิดว่าจะได้พนักงานใหม่สมใจแล้ว ก็เลยลืมเหลียวหลังไปมองพนักงานเก่าในตำแหน่งเดียวกัน ปัญหาของความเหลื่อมล้ำในการจ่ายเงินเดือนก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนครับ


Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2554 6:16:13 น. 0 comments
Counter : 1196 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]