HR Management and Self Leadership
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
11 สิงหาคม 2554

มีความรู้แต่ปฏิบัติไม่ได้ ก็เหมือนกับไม่มี


ทุกวันนี้เรื่องราวของเทคนิคการบริหารจัดการล้วนมีมากมายให้เราเรียนรู้ บางคนเมื่อสอบถามถึงความรู้ต่างๆ ด้านการบริหาร หรือเทคนิคสมัยใหม่ต่างๆ ก็ตอบได้แทบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไปของทฤษฎีเหล่านั้น หรือหลักการต่างๆ เรียกได้ว่ารู้แทบทุกเรื่องตามที่เจ้าของทฤษฎีเขาว่ามา


เช่น ถามถึง BSC หรือ Balanced Scorecard ก็รู้เรื่อง ถามถึงเรื่องของ KPI ก็รู้อีก ถามถึงเรื่อง HR Transformation ก็รู้เรื่องเช่นกัน หรือ ถามถึงเรื่องราวของ Reward Management ก็ตอบได้ ฯลฯ


แต่ปัญหาก็คือ รู้แล้วเราสามารถนำเอาความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการจริงๆ ได้หรือไม่


ผมเคยได้ยินหลายคนพูดถึงเรื่องราวใหม่ๆ ทางด้านการบริหารงานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ HR Transformation หรือ การพัฒนาระบบประเมินผลงานให้เป็นระบบบริหารผลงาน หรือ การเปลี่ยนจากระบบบริหารบุคคล สู่ การพัฒนาทุนมนุษย์ หรือ เปลี่ยนจากระบบการสรรหา รักษา พัฒนา ให้เป็น การบริหารพัฒนาคนเพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับองค์การ หรือ เปลี่ยนจากการสรรหาคนเก่ง และดี มาสู่ การสรรหาคนเก่ง ดี เรียนรู้ไว ฯลฯ


เรื่องราวตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า ในแวดวง HR มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา มีการอภิปราย มีการโต้แย้งกันในมุมมองต่างๆ แต่อยู่แค่เพียงในลักษณะขององค์ความรู้ในเชิงหลักการ ทฤษฎี มากกว่า ที่จะลงไปสู่แนวปฏิบัติจริง


เวลาถามคำถามกับเหล่า HR ตามบริษัทต่างๆ ที่ได้ผ่านความรู้เหล่านี้มาว่า “แนวโน้มในการบริหารงานบุคคลในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละเรื่องของการบริหารบุคคล” ผมก็มักจะได้รับคำตอบที่ไม่ค่อยแตกต่างกันนัก เพราะศึกษามาจากแหล่งความรู้เดียวกัน


แต่พอถามต่อว่า “แล้วจะทำสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได่อย่างไรในองค์กรของเรา” กลับไม่ค่อยมีคำตอบสักเท่าไร เพราะไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติแล้วจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง


บางบริษัทก็พยายามนำเอาหลักการไปประยุกต์ใช้จริง ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นชม เพราะรู้แล้วก็พยายามที่จะนำสิ่งที่รู้มาทำให้เกิดขึ้นจริงในองค์กร แบบนี้น่าสรรเสริญครับ เพียงแต่ปัญหาก็คือ หลายคนยึดติดอยู่กับหลักการที่เป็นทฤษฎีมากจนเกินไป จนไม่สามารถหาทางออกได้ก็มี


ในความเห็นของผมนั้นทฤษฎีเป็นเพียงแนวทางกว้างๆ ให้เราเกิดความเข้าใจ แต่เวลานำเอาทฤษฎีเหล่านั้นไปใช้งาน เราจะต้องประยุกต์ให้เข้ากับองค์กรของเราให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องยึดตามทฤษฎีนั้นเป๊ะๆ


อย่างเวลาที่ผมออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้กับองค์กรต่างๆ ทฤษฎีเป็นส่วนหนึ่งของหลักการที่นำมาใช้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องประยุกต์ให้เข้ากับองค์กรต่างๆ ให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง บางองค์กรก็หลุดกรอบทฤษฎีไปเหมือนกัน แต่ว่าเขาสามารถใช้บริหารค่าจ้างได้อย่างดี และพนักงานรู้สึกถึงความเป็นธรรม แบบนี้ผมว่าดีกว่าทำตามทฤษฎีล้วนๆ แต่พนักงานร้องยี้นะครับ


อีกเรื่องก็คือ Balanced Scorecard ซึ่งหลายๆ องค์กรพยายามนำไปใช้แต่ก็มีสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ส่วนใหญ่บริษัทที่สามารถนำไปใช้ได้สำเร็จนั้น มักจะเป็นบริษัทที่นำเอา BSC มาเป็นแนวทางในการคิด พิจารณา จากนั้นก็ดัดแปลงหลักการนั้นให้เข้ากับวิถีการบริหารงานของบริษัทตนเองมากกว่าการที่จะใช้ตรงๆ ตามทฤษฎี เนื่องจากมันเป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น บางบริษัท ผู้บริหารเถียงกันจะเป็นจะตายให้ได้ เพราะต่างก็เรียนรู้มาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เถียงกันนั้นกลับไม่มีประโยชน์อะไรในการบริหารงานขององค์กรเลย เถียงกันบนพื้นฐานของทฤษฎีเท่านั้น


ก็เลยมีนิทานเซ็นเรื่องหนึ่งมาฝากครับ ซึ่งเป็นเรื่องราวคล้ายๆ กับที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้นครับ เรื่องมีอยู่ว่า


คราหนึ่ง อาจารย์เซนเรียกศิษย์สามคนมาพบ จากนั้นเขียนบทกวีขึ้นบทหนึ่ง ความว่า “พิรุณโปรยปราย สองคนก้าวย่าง ไม่เปียกปอนหนึ่งคน” จากนั้นจึงเอ่ยถามเหล่าศิษย์ว่า “พวกเจ้ามีความคิดเห็นอย่างไรกับกวีบทนี้ เหตุใดจึง “ไม่เปียกปอนหนึ่งคน” จงลองตอบออกมาดู”


ศิษย์คนแรกกล่าวตอบว่า “สองคนเดินอยู่ท่ามกลางฝนแต่คนหนึ่งไม่เปียกฝน เหตุผลง่ายดายยิ่ง นั่นย่อมเป็นเพราะคนผู้นั้นต้องสวมใส่เสื้อกันฝนอย่างแน่นอน”


อาจารย์เซนไม่มีปฏิกริยาตอบสนองต่อคำตอบนั้น หันไปถามศิษย์คนที่สองว่า เจ้าเล่า เห็นว่าอย่างไร?


ศิษย์คนต่อมาตอบว่า “คำตอบแรกย่อมไม่ถูกต้อง เพราะคำตอบที่แท้จริงย่อมไม่ง่ายดายขนาดนั้น สองคนเดินอยู่กลางฝน แต่คนหนึ่งไม่เปียก นี่ช่างผิดปกติอย่างยิ่ง ข้าคิดว่าต้องเป็นเพราะสถานที่ที่ทั้งสองเดินอยู่เป็นเขตที่บรรจบกันระหว่าง พื้นที่ที่ฝนตกและพื้นที่ที่ฝนไม่ตก คนหนึ่งเดินอยู่ด้านที่มีฝน ส่วนอีกคนเดินอยู่ด้านที่ฝนไม่ตก จึงไม่เปียกปอน” อาจารย์เซนได้ฟังคำตอบนี้ เพียงแต่ยิ้มออกมาน้อยๆ พลางเอ่ยถามศิษย์คนสุดท้ายว่าคิดเห็นอย่างไร


ศิษย์คนที่สามตอบว่า “คำตอบที่ศิษย์พี่ทั้งสองตอบมาทั้งการสวมเสื้อกันฝน และเดินอยู่ในเขตที่บรรจบกันระหว่างพื้นที่ที่ฝนตกและพื้นที่ที่ฝนไม่ตกล้วน เกินความเป็นไปได้ จริงๆ แล้วคำตอบนั้นง่ายดายยิ่ง การที่คนหนึ่งไม่เปียกก็เพราะเดินอยู่ใต้ชายคาบ้าน แม้ฝนตก ย่อมไม่เปียก” เขาตอบด้วยความมั่นใจ ทั้งยังยืดอกเฝ้ารอคำชมเชยจากอาจารย์เซน ทว่าอาจารย์เซนกลับเงียบงัน


ชั่วครู่ อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า “วันนี้ข้าเรียกพวกเจ้ามา ทั้งยังตั้งปัญหาให้พวกเจ้าตอบ ทว่าไม่มีแม้สักคนที่ตอบคำถามได้ตรงใจข้า พวกเจ้าติดตามข้ามานาน ทุกวันก้มหน้าก้มตาร่ำเรียนพระธรรมคัมภีร์ ทว่ากลับไม่มีความก้าวหน้า พวกเจ้าทราบหรือไม่ว่าเป็นเพราะเหตุใด?” ศิษย์ทั้งสามคนต่างมองหน้ากันไปมา พลางส่ายหน้าว่าไม่เข้าใจ


อาจารย์เซนจึงตอบว่า “เหตุที่พวกเจ้าไม่ก้าวหน้า เป็นเพราะพวกเจ้าเพียงยึดติดกับตัวอักษรในตำราเท่านั้น ดังเช่นปัญหาที่ข้าถามในวันนี้ “ไม่เปียกปอนหนึ่งคน” พวกเจ้าได้แต่ยึดติดกับความหมายของข้อความในแง่มุมเดียว จึงไม่อาจค้นพบคำตอบ แท้จริงแล้วคำกล่าวที่ว่า “ไม่เปียกปอนหนึ่งคน” นั้นย่อมหมายความว่า “เปียกปอนทั้งสองคน” ได้เช่นกัน


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การคิดวิเคราะห์เรื่องใดก็ตาม หากสนใจเพียงเปลือกที่ห่อหุ้ม หรือยึดติดกับตัวอักษรเพียงผิวเผิน การหยั่งรู้ที่แท้ ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น






Free TextEditor


Create Date : 11 สิงหาคม 2554
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 7:32:33 น. 0 comments
Counter : 1239 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]