HR Management and Self Leadership
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
11 มีนาคม 2554

วิธีสร้างองค์กรของเราให้เป็นสถานที่ที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด ตอนที่ 2

เมื่อวานจบตอนที่ 1 ไป ในเรื่องของปัจจัยแรกที่ทำให้องค์กรของเราเป็นที่ที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด ก็คือ การสร้างCredibility หรือความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับพนักงานในองค์กร วันนี้มาต่อตัวที่ 2 ว่าปัจจัยอะไรที่จะทำให้องค์กรของเราเป็น The Great Workplace กัน


ปัจจัยที่สองที่ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Great Workplace ได้วิจัยไว้ก็คือเรื่องของการสร้าง “Respect” ครับ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า การยอมรับนับถือซึ่งกันและกันในองค์กร เป็นการทำให้พนักงานรู้สึกว่า “ตนเองเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าขององค์กร” ไม่ใช่แบบว่า พนักงานคนนั้นเป็นใคร ทำงานอะไร อยู่ฝ่ายไหน ไม่เห็นเคยเห็นหน้าเลย ทั้งๆ ที่พนักงานคนนั้นทำงานกับเรามาแล้วมากกว่า 5 ปี!!! ซึ่งถ้าองค์กรของเราเป็นแบบนี้ พนักงานก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากหัวหน้า หรือจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งก็จะทำให้เรารู้สึกได้เลยว่า ที่นี่เป็นที่ที่ไม่น่าทำงานด้วยเลย และจะออกจากองค์กรไปในที่สุด


พนักงานของบริษัท SAS ซึ่งเป็นบริษัทที่พนักงานโหวตว่าเป็นที่ที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในอเมริกานั้น ได้พูดถึงความรู้สึกของตนเองในเรื่องของ Respect ไว้ว่า


“แม้ว่าความคิดเห็นของผมจะไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติในทุกความเห็นที่ผมเสนอ แต่ผมก็รู้สึกได้ว่า ผมมีส่วนร่วมในการคิด และการทำงานให้กับบริษัท และได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากหัวหน้า และผู้บริหารของบริษัท จนผมรู้สึกว่าผมเองมีส่วนในการสร้างผลงานให้กับบริษัทในทุกด้าน”


นี่เป็นความรู้สึกของพนักงานส่วนใหญ่ในบริษัทนั้น นั่นก็คือ เขารู้สึกได้ว่า ได้รับการยอมรับนับถือ ได้รับการให้เกียรติจากหัวหน้าและผู้บริหารของเขา มีหลายบริษัทที่นำเอาคำว่า Respect ใส่เข้าไปในค่านิยมขององค์กร เพื่อที่จะให้พนักงานรู้สึกว่า เราทำงานในองค์กรที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้นำ และผู้จัดการก็ยังคงปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความไม่เท่าเทียมกัน พูดจากับพนักงานระดับล่างๆ ด้วยน้ำเสียงและคำพูดที่กระด้าง เพราะมองว่าเขาอยู่คนละระดับกับเรา เป็นต้น


หรือในบางกรณีที่เราให้พนักงานแสดงความคิดเห็น พนักงานก็แสดงความเห็นของเขาออกมา แต่ผู้บริหารก็ตัดบทและบอกกลับไปว่า ถ้าคิดได้แค่นี้ก็ไม่ต้องแสดงความเห็น!!! แบบนี้แสดงถึงพฤติกรรมของหัวหน้างานที่ไม่ทำให้พนักงานรู้สึกถึง respect เลยครับ มีแต่จะทำให้เขารู้สึกต่ำต้อย และตัวค่อยๆ หดเล็กลงไปเรื่อยๆ จนหายไปจากห้องประชุม และหายไปจากบริษัทในที่สุดครับ


วิธีการที่จะสร้างความรู้สึก Respect ให้เกิดขึ้นกับพนักงาน ผู้เขียนหนังสือเขาบอกว่ามี 3 ขั้นตอน ดังนี้ครับ



  • Supporting คือ ให้การสนับสนุนพนักงานในการทำงาน และสร้างผลงานของเขาอย่างเต็มที่ พนักงานที่ได้รับการสนับสนุนในการทำงานจะรู้สึกว่า องค์กร และหัวหน้าให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ความรู้ ทรัพยากรด้านต่างๆ กำลังใจ ฯลฯ เพื่อให้พนักงานสามารถสร้างผลงานได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ดังนั้นถ้าองค์กรของเราต้องการจะให้พนักงานรู้สึกได้รับการยอมรับนับถือ หรือ Respect แล้ว ก็จะต้องส่งเสริมให้ผู้บริหารและผู้จัดการทุกระดับให้การสนับสนุนพนักงานของตนเองอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาพนักงาน การส่งพนักงานไปฝึกอบรมทักษะในการทำงาน การให้ความรู้ในการทำงาน การส่งเสริมและให้กำลังใจเพื่อให้พนักงานรู้สึกไม่เคว้งคว้างในการทำงาน



  • Collaborating คือ ให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการคิด แสดงความเห็น และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งสร้างผลงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดยหัวหน้างานจะต้องสนับสนุนให้พนักงานได้คิด และจากนั้นก็ต้องนำเอาความคิดเห็นของพนักงานมาต่อยอด หรือถ้าเราไม่ได้นำเอาความเห็นของใครมาใช้ ก็จะต้องมีวิธีการในการบอกพนักงานอย่างให้เกียรติ หรือไม่ก็นำเอาความคิดของเขามาต่อยอด และผสมผสานกับของคนอื่น เพื่อสุดท้ายแล้วให้พนักงานได้รู้สึกว่าตนเองมีส่วนในการสร้างความสำเร็จให้กับทีมงาน และองค์กร



  • Caring for employee คือ การให้ความเอาใจใส่ในสารทุกข์สุขดิบของพนักงาน คือไม่ใช่แค่เรื่องงานเท่านั้น แต่ต้องให้ความเอาใจใส่ใสเรื่องส่วนตัวของพนักงานด้วย ว่าเขามีปัญหาอะไรหรือเปล่า ไม่สบายใจเรื่องอะไร หรืออึดอัดเรื่องอะไรบ้าง และหัวหน้าก็ให้ความช่วยเหลือเท่าที่เราจะช่วยได้ โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายมากจนเกินไป แค่เพียงให้พนักงานรู้สึกว่าหัวหน้าจริงใจ และต้องการช่วยจริงๆ และก็ลงมือช่วยจริงๆ เพื่อให้พนักงานหลุดพ้นจากปัญหาของเขา สิ่งที่เราสามารถช่วยพนักงานได้ก็คือ สภาพแวดล้อมในการทำงานในด้านต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ มีอะไรที่ทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัดหรือไม่ เรื่องที่สองที่เราช่วยได้ก็คือ เรื่องของการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวของพนักงานให้ได้ ไม่ใช่ทำแต่งาน ก็ต้องสนับสนุนให้พนักงานได้มีโอกาสพักผ่อน ไปเที่ยว หรือผ่อนคลายในรูปแบบต่างๆ ด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ ให้ความช่วยเหลือด้วยความจริงใจครับ


ผู้เขียนสรุปว่า ถ้าผู้นำองค์กร และผู้บริหารทุกระดับขององค์กรสามารถสร้าง 3 ปัจจัยดังกล่าวได้ พนักงานก็จะรู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับนับถือจากองค์กร และจะรู้สึกว่าผู้นำ และผู้บริหารของตนนั้นน่านับถือ และเกิด Trust ขึ้น ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรนี้น่าทำงานด้วย และเป็น The Great workplace จริงๆ


นอกจากนี้ผู้เขียนได้สร้าง Checklist ขึ้นมาชุดหนึ่ง ไว้สำหรับสอบถามตัวท่านเองว่า ท่านสร้าง Respect ได้ดีเพียงใด โดยการตรวจสอบกับตัวท่านเองว่าท่านเป็นแบบที่เขียนไว้ในแต่ละข้อหรือไม่ (ที่สำคัญก็คือตอนทำต้องซื่อสัตย์กับตัวเองนะครับ)


Checklist สำหรับพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เกิด Respect


Support



  • ฉันรู้ว่าพนักงานคนไหนต้องถูกพัฒนาเรื่องอะไร เพื่อให้ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

  • ฉันพูดกับพนักงานตรงๆ ถึงเรื่องของผลงานทั้งในแง่ดี และไม่ดี เพื่อสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น

  • ฉันสร้างโอกาสในความก้าวหน้าให้กับพนักงานแต่ละคนตามศักยภาพที่เขามี ไม่ได้ปล่อยให้เขาอยู่ตำแหน่งเดิมไปจนเกษียณ

  • ฉันตรวจสอบเสมอว่า พนักงานได้รับการสนับสนุนที่ดีในการสร้างผลงานของเขา ไม่ได้ปล่อยเขาตามยถากรรม

  • ฉันสนับสนุนให้พนักงานได้มีโอกาสในการทดลองทำในสิ่งที่เขาคิด แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ฉันยังไม่แน่ใจในผลลัพท์ก็ตาม

  • ฉันพูดคุยกับพนักงานทุกคนถึงเรื่องอนาคตของเขาในการทำงาน การพัฒนาจุดแข็ง และจุดอ่อนที่มีอยู่ และมักพูดคุยเรื่องผลงานโดยไม่ต้องรอถึงช่วงการประเมินผลงาน

  • ฉันชื่นชมผลงานที่ดีของพนักงานเสมอ


Collaboration



  • ฉันจะให้พนักงานในทีมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในงานก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการ

  • ฉันเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา และตัดสินใจหาทางเลือกที่ดีที่สุด

  • ฉันต้องแน่ใจก่อนว่าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ ได้มีส่วนในการคิดและตัดสินใจในการดำเนินการ จะไม่ตัดสินใจด้วยตนเองโดยไม่มีการหารือกับพนักงานที่เกี่ยวข้อง

  • ฉันมักจะสอบถามความเห็น ข้อเสนอแนะจากทีมงานของฉันเสมอ


Caring



  • ฉันอนุญาตให้พนักงานได้หยุดพักผ่อน ในเวลาที่เขาควรจะพักผ่อน

  • ฉันส่งเสริมให้พนักงานใช้เวลาในการทำงานอย่างสมดุล ไม่ทำงานมากไป หรือ เล่นมากไป

  • ฉันช่วยอธิบายสวัสดิการต่างๆ ที่พนักงานมีสิทธิได้รับ และช่วยให้พนักงานเข้าใจว่าเขาจะได้รับประโยชน์อย่างไรในสวัสดิการแต่ละตัว เพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น

  • ฉันรู้จักพนักงานในทีมทุกคนว่า เขามีงานอดิเรกอะไรบ้าง และชอบทำอะไรช่วงหลังเลิกงาน

  • ฉันเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของ Work-Life Balance


ลองตรวจสอบตัวท่านเองดูนะครับ ผลเป็นอย่างไรกันบ้าง ถ้าเราขาดตัวไหน ก็เพิ่มตัวนั้นให้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิด Respect ในหมู่พนักงานของเรา และเพื่อสุดท้ายแล้วพนักงานจะได้รู้สึกว่าองค์กรของเราเป็นที่ที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดครับ วันจันทร์จะมาต่อในปัจจัยตัวที่ 3 ที่จะสร้าง The Great Workplace กันนะครับ






Free TextEditor


Create Date : 11 มีนาคม 2554
Last Update : 11 มีนาคม 2554 7:07:05 น. 1 comments
Counter : 1331 Pageviews.  

 
ขอบคุณครับ อ่านแล้วนึกถึงประโยคที่ว่า เอาแค่ตัวเองรอดไม่ยาก แต่เอาทีมงานรอดด้วยไม่ง่ายเลย ทำได้แค่ไม่กี่คน


โดย: ฤดูกาลใต้แสงจันทร์ วันที่: 11 มีนาคม 2554 เวลา:8:50:54 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]