HR Management and Self Leadership
<<
สิงหาคม 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
20 สิงหาคม 2555

ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของ Work-Life Balance

เมื่อพูดถึงเรื่องของการบริหารสวัสดิการที่ดี ในยุคปัจจุบันนี้มักจะเน้นไปที่การสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว ซึ่งการที่จะสร้างความสมดุลตรงนี้ได้ ก็คือ จะต้องสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานให้มากขึ้นนั่นเอง และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้บริหารหลายๆ องค์กรมักจะคิดมากในการที่จะนำเอาระบบบริหารงานแบบยืดหยุ่นมาใช้ในองค์กร ก็เลยกลายเป็นความเชื่อที่ไม่ค่อยจะถูกต้องนักเกี่ยวกับการบริหารชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานให้สมดุล ก็เลยทำให้บางบริษัทไม่สนใจที่จะนำเอาระบบนี้มาใช้อีกเลย ลองมาดูกันว่า ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนั้นมีอะไรบ้าง

  • จะทำให้ผู้บริหารสูญเสียอำนาจในการควบคุมพนักงาน เนื่องจากเดิมที่ผู้บริหารจะใช้อำนาจในการควบคุมพนักงานโดยใช้เรื่องของเวลาการทำงานมาใช้ในการให้คุณให้โทษพนักงาน และควบคุมการทำงานของพนักงานจากเวลาการทำงาน แต่ถ้าบริษัทใช้การทำงานแบบยืดหยุ่น ก็จะทำให้ผู้บริหารไม่สามารถควบคุมการทำงานได้แบบเดิม และจะยิ่งควบคุมการทำงานของพนักงานได้ยากขึ้น แต่ในความเป็นจริง ผู้บริหารยังสามารถควบคุมพนักงานได้ โดยควบคุมผ่านผลการทำงานที่ออกมา ซึ่งน่าจะดีกว่าการคุมผ่านเวลาการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ผลงานไม่ออก ดังนั้นการที่ใช้เวลาการทำงานแบบยืดหยุ่นจึงไม่ได้ทำให้ผู้บริหารสูญเสียการควบคุมพนักงานไปแต่อย่างใด
  • ความยืดหยุ่นในการให้สวัสดิการนั้น ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันขึ้น ความเชื่อนี้ผู้บริหารมองว่า ถ้าเราให้สวัสดิการแก่พนักงานที่ทำงานในบริษัทเดียวกันแบบไม่เหมือนกันนั้น เป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงาน ผู้บริหารบางคนยังมองว่า การที่เราจัดสวัสดิการให้พนักงานทุกคนเหมือนกันหมดนี่แหละเป็นสิ่งที่เป็นธรรมที่สุด แต่ในความเป็นจริงนั้น ความต้องการของพนักงานแต่ละคนไม่มีทางที่จะเหมือนกันหมดทุกคน บางคนยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ก็ไม่ต้องการสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเกษียณอายุ หรือเรื่องค่ารักษาพยาบาลมากนัก หรือพนักงานที่อยู่ในวัยที่มีครอบครัวแล้ว ก็ต้องการสวัสดิการเรื่องของค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น ดังนั้นการจัดสวัสดิการให้เหมาะสมกับความต้องการของพนักงานแต่ละกลุ่ม ก็น่าจะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นธรรมได้มากขึ้นกว่าแบบที่ให้เหมือนกันไปหมดทุกคน แล้วมีบางคนไม่ได้ใช้สวัสดิการนั้นเลย พนักงานจะมองว่าไม่เป็นธรรมมากกว่า
  • เชื่อว่าชั่วโมงการทำงานคือผลงาน ความเชื่อนี้มักจะเป็นกับผู้บริหารรุ่นเก่าๆ ที่ยังอาศัยเรื่องของเวลาการทำงานมาวัดผลงานของพนักงาน ถ้าพนักงานคนไหนใช้เวลาในการทำงานให้กับบริษัทมาก ก็แปลว่ามีผลงานมากกว่าคนที่ให้เวลากับบริษัทน้อย ดังนั้นการใช้สวัสดิการแบบยืดหยุ่นซึ่งจะทำให้เวลาในการทำงานลดลงนั้น ก็แปลว่าผลงานของพนักงานก็ลดลงไปด้วย แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปไกลมากครับ ทำให้ไม่ว่าพนักงานจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ตลอดเวลา และบางครั้งการที่พนักงานได้ทำงานในสถานที่ที่ตนเองสบายใจ ก็จะทำให้ผลงานออกมาดีกว่าการนั่งทำงานในบริษัทได้
  • ผู้บริหารใช้เวลาการทำงานเป็นเครื่องมือพิจารณาผลงานพนักงาน เมื่อผู้บริหารเชื่อแบบนี้ เขาก็จะมองว่า พนักงานที่ทำงานแบบยืดหยุ่น และใช้สวัสดิการของบริษัททุกตัวแบบยืดหยุ่นหมดนั้น แสดงว่าพนักงานคนนั้นทำงานให้กับบริษัทไม่เต็มที่ ก็เลยมักจะไม่พิจารณาพนักงานกลุ่มนี้ในการเลื่อนตำแหน่ง หรือการบริหารสายอาชีพพนักงานในอนาคต แต่ในความเป็นจริงแล้ว พนักงานที่ได้มีโอกาสสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวนั้น ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่มีผลงาน และไม่สามารถเติบโตในองค์กรได้เสมอไป ตรงกันข้าม จะผลการวิจัยเรื่องของ Engagement นั้น ยิ่งพนักงานรู้สึกถึงความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวแล้ว จะยิ่งทำให้พนักงานสร้างผลงานได้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
  • เชื่อว่าไม่เหมาะกับการทำงานที่ต้องพบปะลูกค้า เพราะจะทำให้ลูกค้าไม่พอใจ เนื่องจากพอมาใช้บริการก็ไม่เจอพนักงาน หรือไม่สามารถติดต่อพนักงานได้ ดังนั้นจะต้องให้พนักงานบริการมาทำงานตลอดเวลาห้ามขาดงานเด็ดขาด แต่ในความเป็นจริงถ้าพนักงานสามารถสร้างความสมดุลให้กับชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้จริงๆ ก็จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดี และจะสามารถส่งมอบความรู้สึกที่ดีนี้ให้กับลูกค้าได้ด้วย ส่วนเรื่องของเวลาการทำงาน เราก็สามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มอัตรากำลัง หรือเพิ่มช่องทางในการติดต่อให้กับลูกค้าได้

เท่าที่ผมได้เคยกับผู้บริหารรุ่นเก่าๆ ก็ได้เห็นทัศนคติเรื่องของการทำงานกับเวลาการทำงานจะต้องไปด้วยกันตลอด ซึ่งจริงๆ ที่ผู้บริหารรุ่นเดิมคิดแบบนี้ผมว่าก็ไม่ผิด เพราะเขาเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่ยังคงต้องอาศัยเวลาการทำงานเป็นเครื่องมือในการควบคุมการทำงาน

แต่ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมในการทำงานเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้นการที่ผู้บริหารยังคงคิดแบบเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น จะยิ่งทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจมากขึ้นได้ และอาจจะมองว่า ผู้บริหารนั้นจำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำงาน มาทำงานเหมือนกับมาเข้าเรือนจำ จะออกไปไหน จะทำอะไรก็ถูกจ้องมองไปหมด ซึ่งวิธีนี้จะใช้ในการบริหารเด็กรุ่นใหม่ๆ แทบไม่ได้เลย

การใช้สวัสดิการ และเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่นนั้น ไม่ได้ทำให้อำนาจการควบคุมของผู้บริหารลดลงแต่อย่างใด เราจะต้องเปลี่ยนวิธีการควบคุม จากเดิมที่ใช้เวลาการทำงานเป็นหลัก เปลี่ยนมาเป็นการใช้ผลลัพธ์ในการทำงานเป็นหลักน่าจะดีกว่า โดยการตกลงผลสำเร็จของงานที่ต้องการให้ชัดเจนทั้งปริมาณ คุณภาพ และเวลา จากนั้นก็ติดตามผลงานเป็นระยะๆ ตามช่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ต้องไปใส่ใจกับเวลาการทำงานของพนักงานมากนัก เราก็สามารถบริหารและควบคุมการทำงานของพนักงานได้อยู่นั่นเองครับ




Create Date : 20 สิงหาคม 2555
Last Update : 20 สิงหาคม 2555 5:50:27 น. 0 comments
Counter : 2378 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]