HR Management and Self Leadership
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
18 พฤศจิกายน 2553

เรื่องแค่นี้ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกินแล้ว

อ่านประโยคที่เป็นหัวเรื่องวันนี้แล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ ผมเชื่อว่าบางท่านอาจจะเคยได้ยินผ่านหูตัวเองโดยเจ้านายของตนเองก็อาจจะมีบ้างใช่มั้ยครับ หรืออาจจะได้ยินนายคนอื่นพูดกับลูกน้องของเขาก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ไม่ว่าจะได้ยินจากไหน ประโยคนี้เป็นประโยคที่ไม่ส่งเสริมกำลังใจให้กับพนักงานเลย โดยเฉพาะถ้าหัวหน้างานกำลังสอนงานลูกน้องตนเอง แล้วลูกน้องทำหน้างงๆ ว่าไม่เข้าใจ อาจเป็นด้วยความไม่รู้จริงๆ หรืออาจจะเรียนรู้ช้า ไม่ทันใจหัวหน้า หัวหน้าก็เลยพูดประโยคนี้ออกไป ผลก็คือ ลูกน้องจะรู้สึกหมดกำลังใจ และหมดแรงในการเรียนรู้อีกต่อไปครับ

อัตราความเร็วในการเรียนรู้ของคนเราแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันครับ หัวหน้างานบางคนเป็นคนเก่งมาก หัวไว รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว แม่นยำมาก จับประเด็นได้อย่างชัดเจน พอมาเจอกับลูกน้องที่ช้ากว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคิดที่ช้ากว่า หรือการจับประเด็นที่ช้ากว่า ฯลฯ ก็มักจะไม่ค่อยพอใจ เพราะรู้สึกว่าเสียเวลาที่จะต้องมานั่งจี้ นั่งสอนที่ละจุด

แต่ถ้าเราต้องการจะสอนงานพนักงานหรือ Coach พนักงานแล้วล่ะก็ ตัวหัวหน้างานเองจะต้องสวมวิญญาณนักสอนงานที่ดีอย่างเต็มตัวให้ได้ครับ หลักง่ายของการสอนงานก็มีดังนี้ครับ

- เข้าใจผู้ที่เราจะสอนงานอย่างแท้จริง เข้าใจในที่นี้จะต้องเข้าใจจริงๆ นะครับ เข้าใจว่า เขามีปัญหาเรื่องอะไร เข้าใจว่าอัตราความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นลักษณะของการสอนงาน ก็จะต้องแตกต่างกันออกไปสำหรับผู้เรียนแต่ละคน แม้ว่าจะสอนงานในเรื่องเดียวกันก็ตาม ถ้าผู้เรียนมีความแตกต่างกัน ก็จะต้องออกแบบวิธีการสอนงานที่แตกต่างกันออกไปด้วย บางคนอาจจะต้องใช้วิธีสอนทีละขั้นตอน และค่อยๆ อธิบายประกอบกับตัวอย่าง บางคนเราอาจจะพูดเร็วๆ ได้ เพราะเขาสามารถเข้าในเรื่องราวได้ดี


- ฟังเยอะๆครับ การเป็น Coach ที่ดีนั้นจะต้องฟังผู้เรียนให้เยอะๆ ฟังแล้วต้องเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดมาด้วย เพราะผู้เรียนบางคนไม่กล้าที่จะบอกถึงข้อบกพร่องของตนเองให้กับ Coach มากนัก อาจจะเป็นเพราะอาย หรือกลัวเสียหน้า ดังนั้น Coach ที่ดีจะต้องพยายามฟัง และจับประเด็นของผู้เรียนให้ได้ ที่สำคัญมากๆ ก็คือ ฟังแล้วอย่าคิดไปเองเด็ดขาด Coach หลายคนตกม้าตายก็เพราะฟังแล้วด่วนสรุป และคิดไปเองว่า คนนี้จะต้องมีจุดบกพร่องเรื่องนี้แน่นอน แต่พอเริ่มสอนกันก็มารู้ภายหลังว่าไม่ใช่เรื่องนี้เลยก็มี ทำให้เสียเวลาในการสอนงานไปโดยไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ดังนั้นฟังให้เข้าใจเสียก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มต้นสอนงานจะดีกว่าครับ


- ให้กำลังใจผู้เรียน ลองนึกถึง Coach นักกีฬาก็ได้ครับ ลองดูว่ามีคนไหนบ้างที่พยายามจะให้นักกีฬาของตนแพ้ แม้ว่านักกีฬาของตนจะเป็นผู้ตามอยู่ หรือรู้ดีว่าแพ้แน่ๆ Coach จะพูดมั้ยครับว่า “ยอมแพ้เถอะ สู้ต่อไปก็ไม่มีประโยชน์แล้ว วันนี้เล่นได้ห่วยมาก” ผมว่าถ้ามี Coach คนไหนพูดแบบนี้ รับรองว่าโดนไล่ออกแน่นอนครับ ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่ให้กำลังใจนักกีฬาของตนเองให้สู้ๆ และสอนให้มองโลกในแง่ดี ให้มองโอกาสที่ยังมีอยู่มากกว่า Coach ในการทำงานก็เช่นกันครับ การที่เราสอนพนักงานในเรื่องใดๆ ก็ตามสิ่งที่ผู้สอนจะต้องมีอยู่ตลอดก็คือ กำลังใจให้กับผู้เรียนครับ ไม่ว่าเขาจะเรียนรู้เร็ว หรือช้า หรือจะเข้าใจอะไรยากๆ ก็ตาม ผู้สอนจะต้องเน้นไปที่การเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่า ความเร็วของความเข้าใจ ผมมักจะได้ยินประโยคว่า “ไม่เป็นไร เรามาเริ่มต้นกันใหม่อีกที…..”


สามข้อข้างต้นนั้น ไม่ใช่ทฤษฎีอะไรเลยครับ เป็นหลักพื้นฐานของความเข้าใจคนอื่น เวลาเราต้องการให้คนอื่นเกิดการเรียนรู้ที่ดี เราจะต้องเข้าใจคนอื่นก่อน ดังนั้นถ้าเราสามารถทำได้ตามสามข้อข้างต้น ผมเชื่อว่า เราจะเป็นนัก Coach ที่ดีมาก ผู้เรียนเองก็ไม่หมดแรง หรือหมดกำลังใจในการเรียนรู้ไปซะก่อน

เมื่อเราเป็น Coach ที่ดีแล้ว เราจะเปลี่ยนประโยคในหัวเรื่องที่ว่า “เรื่องแค่นี้ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกินแล้ว” เป็นอะไรดีครับ ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ และให้กำลังใจผู้เรียนด้วย ผมลองเปลี่ยนเป็นประโยคนี้จะดีกว่ามั้ยครับ

“ไม่เป็นไร ถ้ายังไม่เข้าใจเรามาเริ่มกันใหม่ ผมจะอธิบายช้าๆ และจะยกตัวอย่างจริงให้เห็นภาพนะครับ เราจะได้เข้าไปในทางเดียวกัน ดีมั้ยครับ”

ใครมีประโยคเด็ดกว่านี้ก็ส่งมาแลกเปลี่ยนกันได้เลยนะครับ


Create Date : 18 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2553 5:55:51 น. 0 comments
Counter : 1175 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]