HR Management and Self Leadership
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
15 มีนาคม 2555

สิ่งที่พนักงานกลัว กับงานบริหารทรัพยากรบุคคล

ผมได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อระบบงานบริหารทรัพยากรบุคคลในแง่มุมต่างๆ ขององค์กรว่าพนักงานกลัว หรือกังวลเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่หลายๆ บริษัทพยายามจะสร้างระบบ และวางระบบใหม่ๆ ในการบริหารบุคคลให้เป็นแบบสากล ซึ่งจากเดิมไม่มีระบบอะไรอยู่เลย

จากการที่ผมได้เข้ามาช่วยหลายๆ บริษัทวางระบบทางด้าน HR ก็พบว่าพนักงานส่วนใหญ่มีความกังวลในสิ่งที่ไม่ควรจะกังวลสักเท่าไร ลองมาดูนะครับว่าพนักงานกังวลในเรื่องอะไรบ้าง


  • เงินเดือนจะตันกระบอกหรือไม่ ถ้าตันแล้วจะทำอย่างไรดี ทั้งๆ ที่ตอนวางระบบนั้นเงินเดือนพนักงานยังอีกไกลกว่าจะชนเพดาน แต่พนักงานก็รู้สึกต่อต้านเล็กๆ แล้วว่าการมีโครงสร้างเงินเดือนจะทำให้ตนเองเงินเดือนตัน และไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนอีกต่อไป ผมก็สงสัยนะครับว่า ทำไมไม่มีพนักงานคิดในทางตรงกันข้ามว่า “เราจะไม่ปล่อยให้ตนเองเงินเดือนตัน โดยจะพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองให้ทำงานได้ยากขึ้นดีขึ้น เพื่อจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อยๆ”



  • ใช้ KPI แล้วถ้าทำไม่ได้ตามที่ตั้งไว้ ผลงานก็แย่สิ คำตอบก็คือ ก็ใช่น่ะสิครับ ในเรื่องของ KPI ก็เช่นกันพนักงานมักจะมีความกังวลว่า ตั้งแล้วเราจะทำได้ตามเป้าหมายนั้นหรือไม่ กลัวว่าจะไปไม่ถึงเป้าหมาย กลัวว่ามันยากเกินไป ทำไมไม่มีใครคิดว่า “ดีนะที่มี KPI จะได้รู้ว่าตนเองมีเป้าหมายอะไรบ้าง และจะต้องพัฒนาตนเองในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยากๆ ขึ้นได้ทุกปี”



  • ผลงานแย่มากๆ ก็จะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน พอพนักงานได้ยินประโยคนี้ปุ๊ป ก็เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมกับตนเองแล้ว ว่าทำงานแล้วไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนแล้วจะทำไปทำไม แต่ไม่เคยคิดเลยว่าที่ตนเองไม่ได้ขึ้นเงินเดือนนั้นมาจากสาเหตุผลงานของตนเองไม่ดีพอ สิ่งที่พนักงานคิดตลอดก็คือ ไม่ว่าผลงานจะดีหรือไม่ดี บริษัทก็ควรจะต้องมีการขึ้นเงินเดือนให้ทุกปี แต่ทำไมไม่มีใครคิดในทางตรงกันข้ามเลยว่า “ดีเหมือนกันที่ไม่มีการขึ้นเงินเดือนเวลาผลงานไม่ดี เราจะได้สร้างผลงานให้ดีขึ้นไปอีก พอผลงานเราดี ก็จะได้รับเงินเดือนขึ้นมากกว่าคนอื่น”



  • โบนัสจากเคยได้เท่ากัน เปลี่ยนเป็นจ่ายตามผลงาน พอพนักงานได้ยินประโยคนี้ก็รู้สึกว่าเขาจะต้องได้โบนัสน้อยลงแน่เลย ก็เริ่มรู้สึกไม่ดีกับการเปลี่ยนแปลงระบบโบนัสให้เป็นไปตามผลงาน กลัวว่าตนเองจะได้โบนัสน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ ทำไมไม่คิดในทางตรงข้ามว่า “ดีแล้วที่ได้โบนัสตามผลงาน เพราะปีหน้าเราจะคว้าโบนัสมาให้ได้เยอะกว่าคนอื่น เพราะเราจะทำผลงานให้ดีที่สุดเลย”



  • กลัวไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง หลายบริษัทเอา Competency มาใช้ในการบริหารบุคคลมากขึ้น และผูกผลงาน และการเลื่อนตำแหน่งกับ Competency ที่กำหนดไว้ ก็คือ ใครที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จะต้องมีเกณฑ์ต่างๆ และจะต้องมีพฤติกรรมและความสามารถเข้าตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้วย ซึ่งโดยระบบแล้วก็น่าจะเป็นธรรมดี แต่พนักงานกลับรู้สึกว่า จากนี้ต่อไปอยู่ทำงานไปนานๆ อย่างเดียวก็คงไม่พอที่จะได้เลื่อนตำแหน่งแล้ว ก็เลยรู้สึกไม่ดีกับระบบที่ว่า ทำไมไม่คิดว่า “มีเกณฑ์ยากแค่ไหนเราก็ไม่ยั่น เราจะทำให้ได้ดีกว่าเกณฑ์ที่กำหนดด้วยซ้ำไป และจะเลื่อนตำแหน่งให้ได้เร็วกว่าเดิมอีก คอยดู”


จากที่สิ่งสังเกตได้จากพนักงานส่วนใหญ่ ก็พอจะสรุปได้ว่า พนักงานส่วนมากจะมองโลกในแง่ร้ายก่อนเสมอ กลัวอย่างโน้น กลัวอย่างนี้เต็มไปหมด มีพนักงานส่วนน้อยมากๆ ที่มองเห็นจุดดีของระบบ และพยายามจะนำเอาจุดดีของระบบเหล่านี้มาสร้างให้เกิดผลดีกับตนเองมากกว่า

ผมเชื่อว่าองค์กรต้องการพนักงานอย่างหลังมากกว่า พนักงานที่กลัวไปหมดทุกอย่าง การที่พนักงานกลัวว่าเงินเดือนตัน ก็แปลว่าเขามองตนเองว่าเขาไม่สามารถสร้างคุณค่าในตนเองให้มากขึ้นได้เลย เพราะมัวแค่คิดว่าเงินเดือนตันแน่ๆ ผิดกับพนักงานที่เห็นโอกาส ก็คือ เขาสามารถพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น และทำงานที่ยากขึ้นได้ เพื่อจะได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

พนักงานขององค์กรท่านล่ะครับ เป็นแบบไหนมากกว่ากันครับ




 

Create Date : 15 มีนาคม 2555
0 comments
Last Update : 15 มีนาคม 2555 6:32:57 น.
Counter : 1910 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]