HR Management and Self Leadership
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
19 มีนาคม 2555

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของ Career Management

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านมีความเข้าใจในเรื่องของการบริหารสายอาชีพพนักงานอย่างไรกันบ้าง ที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกกันว่า Career Management เนื่องจากมีหลายองค์กรที่ผมได้ประสบพบเจอมาเอง และมีอีกหลายคนที่มีคำถามในลักษณะที่ว่า เราจะต้องมีการออกแบบและบริหารสายอาชีพของพนักงานทุกตำแหน่งในองค์กร เพื่อให้เขามีเส้นทางการเติบโตตามสายอาชีพของเขาในองค์กร


ผลจากความเข้าใจที่ว่า เราจะต้องมีการสร้างสายอาชีพขึ้นในองค์กร ก็เลยทำให้ทุกฝ่ายพยายามที่จะสร้างเส้นทางความก้าวหน้าทางสายอาชีพให้กับทุกตำแหน่ง โดยไม่มีการพิจารณาให้ถ่องแท้ก่อนว่า นี่คือสายอาชีพจริงๆ สำหรับองค์กรหรือไม่

เช่น สิ่งที่ผมเคยประสบมาก็คือ องค์กรพยายามสร้างเส้นทางความก้าวหน้าทางสายอาชีพ ให้กับพนักงานบางตำแหน่งซึ่งมองแล้วไม่ค่อยจะเห็นความยากของงานที่จะสามารถออกแบบเส้นทางสายอาชีพของงานนั้นได้มากนัก เช่น พนักงานขับรถ พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานธุรการ ฯลฯ แต่ก็ยังคงมีการออกแบบให้เป็น พนักงานขับรถ จากนั้นก็เลื่อนเป็นพนักงานขับรถอาวุโส แล้วก็ต่อด้วยผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการขับรถ ฯลฯ

หรือพนักงานพิมพ์ดีด ก็ขยับมาเป็นพนักงานพิมพ์ดีดอาวุโส แล้วก็มาเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพิมพ์ดีด

เป็นอย่างไรบ้างครับกับสิ่งที่เห็น รู้สึกอย่างไรครับ นี่คือ สิ่งที่หลายองค์กรกำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกแบบเส้นทางสายอาชีพให้กับพนักงาน เรากำลังพยายามทำให้พนักงานโต โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความยากง่ายของงานเลย ผลก็คือ พนักงานทำงานเหมือนเดิม แต่องค์กรต้องจ่ายค่าจ้างสูงขึ้น และพนักงานเองก็ไม่ได้มีความลึกในการทำงานนั้นๆ มากขึ้นด้วย

งานที่กล่าวมาจะไม่เหมือนกับงานของสายอาชีพจริงๆ เช่น วิศวกร สถาปนิค บัญชี นักวิทยาศาสตร์ นักเคมี ฯลฯ ซึ่งเราสามารถที่จะออกแบบเส้นทางความก้าวหน้าในเชิงของสายอาชีพนั้นๆ ได้ เนื่องจากงานนั้นสามารถที่จะเรียนรู้และสร้างความลึกในวิชาชีพได้ และความลึกนี้ก็มีผลต่อผลงานของพนักงานและต่อบริษัทอีกด้วย

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วแบบนี้บรรดาพนักงานที่ทำงานธุรการ หรือขับรถ ก็ไม่มีโอกาสเติบโตในองค์กรสิ

คำตอบก็คือ ไม่ใช่ครับ พนักงานเหล่านี้มีโอกาสเติบโตได้ครับ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนเส้นทางในสายอาชีพที่ตนทำอยู่นั้นมาทำงานในสายอาชีพที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นได้ในองค์กร

ตัวอย่างเรื่องจริงของผู้บริหารท่านหนึ่ง ซึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า เขาเริ่มทำงานที่บริษัทนี้ในตำแหน่งพนักงานขับรถ แต่เนื่องจากตำแหน่งพนักงานขับรถนั้น ไม่มีเส้นทางความก้าวหน้าทางสายอาชีพกำหนดไว้ ทำไปเรื่อยๆ เงินเดือนก็ตันอีก เพราะค่างานไม่ได้ขยับขึ้น แต่เขาไม่อยากตัน และองค์กรเองก็มีการออกแบบสายอาชีพในตำแหน่งของวิชาชีพไว้พอสมควร เขาก็เลยพยายามพัฒนาตนเอง ให้มีความสามารถทางด้านการขาย และขอหัวหน้าย้ายไปอยู่ฝ่ายขาย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสายอาชีพจากพนักงานขับรถ มาเป็นพนักงานขาย พอเป็นพนักงานขายแล้ว ตำแหน่งนี้มีการออกแบบเส้นทางสายอาชีพไว้ชัดเจนมาก ว่าสามารถเติบโตได้จากพนักงานขาย ไปเป็นพนักงานขายอาวุโส และไปเป็นหัวหน้า และผู้จัดการได้ เขาก็พยายามสร้างผลงานการขายที่ดีขึ้น และไต่เต้าด้วยผลงานของตนเอง จนกลายเป็น super salesman ของบริษัท จากนั้นก็เติบโตเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ จนปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายขายภูมิภาค ซึ่งดูแลการขายของประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด

ผมว่านี่คือ การบริหารสายอาชีพพนักงานมากกว่า การที่มาออกแบบให้พนักงานขับรถโตไปไหนต่อไหนได้ โดยที่งานไม่มีมูลค่าเพิ่มมากนัก

ดังนั้นในการออกแบบการเติบโตทางสายอาชีพ จึงมักจะเน้นไปที่ตำแหน่งงานที่เป็นตำแหน่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้เป็นหลัก ไม่ค่อยมีการออกแบบให้กับตำแหน่งงานที่เป็นงานเชิงสนับสนุนมากๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น และไม่จำเป็นที่ทุกตำแหน่งในองค์กรจะต้องมีการเติบโตตามสายอาชีพด้วยซ้ำไป แต่พนักงานทุกคนในองค์กรมีโอกาสเติบโตตามเส้นทางที่องค์กรกำหนดไว้ได้ แต่ต้องอยู่ที่ตัวพนักงานคนนั้นด้วยว่าจะสร้างและพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองได้สักแค่ไหนด้วยนะครับ

ในบริษัทผมเองนั้น ผมเคยสร้างพนักงานพิมพ์ดีด ซึ่งไม่มีเส้นทางเติบโตอะไรเลย จนกลายเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมมาแล้ว นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ว่า การทำงานในตำแหน่งต่ำๆ ในองค์กรไม่ใช่จะไม่มีโอกาสเติบโต อยู่ที่ตัวเรามากกว่า ว่าเราอยากจะทำงานอยู่ในตำแหน่งงานเดิมๆ ไปเรื่อยๆ หรืออยากจะพัฒนาตนเองออกไปสู่การทำงานอื่นที่สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองและองค์กรได้มากขึ้น แล้วเราก็จะมีโอกาสเติบโตตามเส้นทางสายอาชีพที่องค์กรกำหนดไว้นั่นเองครับ




 

Create Date : 19 มีนาคม 2555
0 comments
Last Update : 19 มีนาคม 2555 6:36:36 น.
Counter : 1721 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]