พินิจงานรถไฟสายอีสานด้วยค่าโดยสารเพียง 50 บาท (2)
ต่อจากตอนที่ 1 ครับ...

ด้วยตั๋วฟรีตอนใกล้เที่ยงวันนั้น ขบวนรถท้องถิ่นสายชุมทางแก่งคอย - ชุมทางบัวใหญ่ แล่นเข้าเส้นทางสายลำนารายณ์ โดยมีผู้โดยสารเกือบเต็มคัน
อาจเป็นเพราะชาวคณะเป็นผู้โดยสารชุดหลังสุดที่ขึ้นรถก็ได้ 

ก่อนที่จะออกจากย่านสถานีชุมทางแก่งคอย ขอเก็บภาพหัวรถจักรติดแอร์รุ่นล่าสุดของการรถไฟฯ เพื่อใช้ทำขบวนรถสินค้าโดยเฉพาะ จากโรงงานผู้ผลิตคือ บริษัท CHR Qishuyan จำกัด จากสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย
มีแรงม้าถึง 3,800 แรงม้า และน้ำหนักรถกดลงบนรางถึง 20 ตันต่อเพลาทีเดียว

สภาพภายในรถ ถึงจะเก่า แต่ยังแจ๋วล่ะ
แต่ทะยอยลงระหว่างทางไปเรื่อยๆ จนอาจารย์ในคณะโทรฯ เรียกไปรวมพลที่โบกี้หน้า ก่อนที่ผมจะลงมือจัดการกับข้าวหน้าเป็ด ปล่อยให้ทีมงานเก็บภาพตามจุดต่างๆ แล้วแต่ความต้องการ

บ้านช่องใต้ เป็นสถานีแรกบนเส้นทางสายนี้ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงงานปูนซิเมนต์แก่งคอยของผู้ผลิตรายใหญ่ เครือบริษัท SCG
แต่ทว่า กลุ่มบริษัทนี้ไม่สนใจที่จะใช้บริการทางรถไฟเลย

ย่านสถานี มีขบวนรถตัดบัญชีใช้งานซึ่งเคยจอดทิ้งอยู่ตามย่านสถานีชุมทางบ้านภาชีกับสถานีมาบกะเบา นำมาแอบจอดที่นี่

หินซ้อน สถานีถัดมา
ตามที่ผมสังเกต ช่วงต้นๆ ของเส้นทาง สถานีต่างๆ มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "เขา" กับ "หิน" แทบทั้งสิ้น สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า เมืองสระบุรี ร่ำรวยด้วยหิน จนสามารถสร้างรายได้แก่เจ้าของสัมปทานเหมืองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมถึงโรงงานปูนซิเมนต์บริษัทต่างๆ
ทำให้ภาพลักษณ์เก่าก่อนของดงพญาเย็นที่รกชัฎ อุดมด้วยสัตว์ร้ายและไข้ป่า แทบเลือนลางไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่แล้ว

สถานีแก่งเสือเต้น ใกล้โรงงานน้ำตาลท่าหลวงครับ

ที่หยุดรถเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กับผู้โดยสารกลุ่มใหญ่ซึ่งมาจากขบวนรถขาล่องยามเช้าจาก จ.ชัยภูมิ กำลังขึ้นรถไฟขบวนนี้กลับบ้าน

ที่หยุดรถบ้านหนองบัว ใกล้สถานีโคกสลุง

ระหว่างขบวนรถกำลังวิ่งบนสะพานเลาะอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์นั้น ก็เจอฝนชุดใหญ่พอดี ต้องวางกล้อง ช่วยกันยกหน้าต่างกระจกขึ้นปิดแทน 

ชาวประมงริมฝั่งกับฝูงวัวน้ำที่เห็นอยู่ลิบๆ โน้นครับ (ผมขอตีขลุมเรียกเอาเอง)

ฝูงวัวน้ำอีกฝูงหนึ่ง ก่อนที่เส้นทางจะบรรจบกับแนวทางเดิมมุ่งหน้าสู่สถานีลำนารายณ์ต่อไป

คงไม่ต้องบอกว่าเป็นสถานที่ใด แต่เราได้ผ่านฝนกลุ่มใหญ่ไปแล้ว

เขายายกะตา เสน่ห์ของชื่อสถานีรถไฟกับที่หยุดรถครับ ฟังแล้วเป็นกันเองดีแท้ๆ 

กับผู้โดยสารกลุ่มใหญ่ชุดแรกลงตรงที่หยุดรถตลาดลำนารายณ์ แต่ทางการเรียกว่าชุมชน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

จากที่หยุดรถตลาดลำนารายณ์ รถแล่นมาอีกราว 3 กม. ก่อนที่จะเข้าหลีกรอสวนกับรถด่วนจากหนองคาย เข้ากรุงเทพฯ ที่สถานีลำนารายณ์
เมื่อก่อนอาคารสถานีทาด้วยสีน้ำตาลอมแดง หน้าต่างทาสีขาว ดูคลาสสิกกว่านี้ครับ

นี่แหละครับ โฉมหน้าขบวนรถดีเซลรางด่วนจากหนองคาย หากเป็นรถไฟสายเหนือ จะเป็นแค่รถเร็วที่ผมโดยสารมายังกรุงเทพฯ เท่านั้นครับ
ขอโม้ข่มทับชาวบ้านเขาสักหน่อย แฮ่ม....

ออกจากสถานีลำนารายณ์ ขบวนรถได้วิ่งเร็วรี่จนกระทั่งถึงสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักที่ ต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
จากพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในข่าวภาคเช้าจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งสภาพอากาศในภาคกลาง มักจะมีรายงานจากสถานีตรวจอากาศตำบลบัวชุมแห่งนี้รวมอยู่ด้วยแทบทุกครั้ง
สถานีตรวจอากาศตำบลบัวชุม ตั้งอยู่ใกล้สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำป่าสักแห่งนี้แหละครับ

สถานีแผ่นดินทอง ที่หลายปีก่อนเคยมีข่าวใหญ่ขบวนรถขนน้ำตาลจาก จ.ขอนแก่น วิ่งลงจากเขาพังเหยมาประสานงากับขบวนรถเร็วเที่ยวกลางคืนจากกรุงเทพฯ ไปหนองคาย สร้างความเสียหายแก่ชีวิตผู้โดยสารและทรัพย์สินของการรถไฟฯ เป็นจำนวนมาก

ที่นี่ มีไร่ข้าวโพดสุดลูกตา และเคยมีฝูงตั๊กแตนปาทังก้าบุกเข้าทำลายผลผลิต จนทางการต้องใช้วิธีการนำเครื่องบินพ่นยาปราบ และเป็นจุดเริ่มต้นของฝูงบินเกษตร และขยายผลเป็นการทำฝนหลวงในเวลาต่อมา
ตั้งแต่มีคนหัวใสจับมาทำเป็นตั๊กแตนทอด จนเป็นที่นิยมของนักบริโภค ทำให้การระบาดของตั๊กแตนเหล่านี้ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ
ต้องหันไปซื้อวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านแทน 

ในที่สุด เราได้ถึงสถานีโคกคลี สถานีสุดท้ายในเขต จ.ลพบุรี ซึ่งมีป้ายข้อความแบบนี้
แต่เขตจังหวัดที่แท้จริงนั้นจะอยู่เหนือปากอุโมงค์เขาพังเหยไปเล็กน้อย เข้าสู่เขต จ.ชัยภูมิ เป็นลำดับต่อไป
ขอพักก่อนที่จะขึ้นเขาพังเหยที่เห็นอยู่เบื้องหน้า เข้าสู่แผ่นดินอีสานที่คนโบราณกล่าวกันว่า สูงกว่าแผ่นดินภาคกลางถึง 7 ลำตาลทีเดียว
Create Date : 25 กันยายน 2560 |
|
2 comments |
Last Update : 25 กันยายน 2560 22:20:25 น. |
Counter : 1724 Pageviews. |
|
 |
|