HR Management and Self Leadership
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
18 มกราคม 2554

แรงจูงใจพนักงานกับการสร้างผลงานที่ดี – Survival

อ้างถึงบทความในตอนที่แล้วที่ผมได้เขียนเกริ่นนำไว้ว่า ในการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานเพื่อให้พนักงานสร้างผลงานที่ดีนั้นมีปัจจัยอยู่ 5 ด้านที่จะต้องพิจารณาให้ดี (ท่านที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่แล้วให้ไปตามลิงค์นี้เลยครับ //wp.me/pBmlU-ri ) วันนี้ผมจะเริ่มต้นที่ปัจจัยตัวแรกที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ซึ่งก็คือ ปัจจัยที่เขาเรียกว่า “Survival” หรือ ความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่รอด

ปัจจัยตัวนี้น่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์เราทุกคน ถ้าเทียบกับทฤษฎีความต้องการ 5 ขั้นของ Maslow แล้วก็คือขั้นแรกนั่นเองครับ ความต้องการทางกายภาพ ซึ่งก็คือปัจจัย 4 ที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

การที่พนักงานเข้ามาทำงานในองค์กรนั้น พื้นฐานที่สำคัญอันแรกสุดก็คือ องค์กรนั้นๆ สามารถที่จะช่วยให้พนักงานตอบสนองความต้องการในขั้นแรกนี้หรือไม่ เครื่องมือที่สำคัญมากที่สุดที่องค์กรจะจัดให้กับพนักงานเพื่อให้พนักงานสามารถตอบสนองความต้องการในการที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้ก็คือ ค่าจ้างเงินเดือน และสวัสดิการนั่นเอง

ในเรื่องของความต้องการที่จะอยู่รอดนี้ ส่วนมากจะมีความแตกต่างกันในสภาพและสถานภาพของพนักงานแต่ละคน เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าพนักงานแต่ละคนจะมองความต้องการในขั้นแรกนี้แตกต่างกันออกไป บางคนเน้นเรื่องเงินเดือนมาก บางคนไม่ค่อยสนใจเรื่องเงินเดือนสักเท่าไร แต่สนใจเรื่องอื่นมากกว่า

แต่อย่างไรก็ดีในการที่จะทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีโอกาสอยู่รอดในการทำงานให้บริษัท ก็คือ ทำให้เขามั่นใจได้ว่าอัตราค่าจ้างเงินเดือนที่จ่ายให้นั้นสามารถที่จะทำให้เขาอยู่ในสังคมที่เหมาะสมได้อย่างสบายๆ และเป็นอัตราที่แข่งขันได้กับตลาดทั่วๆ ไป รวมทั้งบริษัทก็ยังจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับพนักงานอีกด้วย จุดนี้เองที่หลายบริษัทถามว่า ให้แค่ไหนจึงจะเรียกได้ว่าเพียงพอต่อความต้องการของคน เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วคนเราต้องการเรื่องเงินเดือนและค่าจ้างไม่จำกัดกันเลย ขอให้ได้มากที่สุดเป็นพอ ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องเอาหลักในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนเข้ามาใช้ในการจัดการด้วย ก็คือ ให้ในอัตราที่แข่งขันได้ แปลว่า สามารถที่จะดึงดูดให้มีพนักงานเข้ามาสมัครงานกับเรา และสามารถที่จะรักษาพนักงานที่ทำงานอยู่แล้ว ให้ทำงานกับบริษัทต่อไปนั่นเองครับ พูดง่ายๆ อีกอย่างก็คือ เอาการจ่ายของเราไปเปรียบเทียบกับตลาดเลยครับ ว่าเราจ่ายเป็นอย่างไร ต่ำกว่า เท่ากับ หรือสูงกว่า แล้วจึงมาปรับปรุงการจ่ายของบริษัทครับ

บางองค์กรนั้นพยายามกดค่าแรงพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานในระดับล่างๆ ที่ภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการดำรงชีวิตที่ไม่เพียงพอกับรายได้ที่ได้มา พนักงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะได้อัตราค่าแรงตามค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้ และไม่มีการขึ้นเงินเดือนตามผลงาน สวัสดิการก็ให้ตามที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำไว้เท่านั้น บางอย่างถ้าไม่มีใครมาตรวจ ก็เลี่ยงซะ นี่คือมุมของนายจ้าง ซึ่งทำให้ลูกจ้างรู้สึกถูกเอาเปรียบ เนื่องจากทุ่มเททำงานแต่กลับไม่ได้ผลตอบแทนกลับมา ทำให้เขาอยู่ในสภาพที่เลี้ยงชีพลำบากมากขึ้นไปอีก พอไม่ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ ก็ไม่เริ่มขี้เกียจ พอขี้เกียจ นายจ้างก็ด่าว่าจ้างเข้ามาไม่คุ้มค่าจ้างที่ให้ เรื่องราวก็เริ่มพันกันเป็นลูกโซ่ไม่รู้ว่าจะแก้ตรงไหนจึงจะถูกจุด

ลองพิจารณาถึงพื้นฐานของแรงจูงใจตัวแรกครับว่า สิ่งที่เราให้กับพนักงานนั้นสามารถที่จะทำให้เขาอยู่ได้ในสังคมปกติใช่หรือไม่ นั่นคือปัจจัยพื้นฐานที่บริษัทจะต้องจัดให้กับพนักงาน เพื่อตอบสนองความต้องการในขั้นแรกนี้ จากประสบการณ์ของผมนั้น องค์กรส่วนใหญ่ในบ้านเราค่อนข้างจะมีนโยบายเรื่องของค่าจ้างที่แตกต่างกันมาก บางแห่งก็ยินดีจ่ายให้เท่าเทียมกับที่ควรจะเป็น บางแห่งก็พยายามกดค่าแรงจนลูกจ้างไม่สามารถอยู่ได้ จนต้องไปหาทำงานที่บริษัทอื่น

ถ้าเหตุผลในการลาออกของพนักงานในบริษัทส่วนใหญ่ที่ออกไปจากบริษัทนั้นมาจาก ค่าจ้างเงินเดือนน้อย และไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย แสดงว่าบริษัทยังไม่สามารถตอบความต้องการพื้นฐานของคนเราได้ดีเท่าที่ควร ถ้าจุดนี้ยังไม่ผ่าน การที่เราจะสร้างแรงจูงใจในเรื่องของผลงาน และการพัฒนาผลงานต่อๆ ไปในอนาคตของพนักงาน ก็เลิกหวังได้เลยครับ กินยังไม่พอจะกินเลย แล้วจะให้ไปนั่งพัฒนาตนเองได้อย่างไร

ประเด็นสำคัญอีกอย่างก็คือ ความต้องการมีชีวิตอยู่นี้ ไม่ใช่แรงจูงใจที่สูงสุดของการสร้างผลงานของพนักงาน กล่าวคือ การที่บริษัทให้เงินเดือนค่าจ้างเยอะๆ สวัสดิการมากมาย แล้วจะหวังให้พนักงานสร้างผลงานที่ได้ด้วยนั้น คำตอบก็คือ เป็นไปไม่ได้ เราต้องไปกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานต่อด้วยปัจจัยจูงใจอื่นๆ ที่จะเขียนต่อให้อ่านในวันถัดไปครับ

คำถามชวนคิดก่อนจบ ถ้ามนุษย์มีความต้องการพื้นฐานที่อยากจะมีชีวิตอยู่ แต่ทำไมจึงมีกรณีที่มีคนที่ตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองด้วยการฆ่าตัวตาย (ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่) นี่แปลว่ามีแรงจูงใจอื่นๆ ที่สามารถกระตุ้นและทำให้คนเรายอมที่จะทิ้งชีวิตตนเอง เพื่อแลกกับอะไรบางอย่างใช่หรือไม่ครับ




 

Create Date : 18 มกราคม 2554
0 comments
Last Update : 18 มกราคม 2554 5:59:24 น.
Counter : 1329 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]