happy memories
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
27 ตุลาคม 2557
 
All Blogs
 

A Passage to Burma


71-A Passage to Burma



A Passage to Burma



ออกจากร้านอาหารอินเดีย เขายืนลังเลอยู่นาน ตัดใจไม่ได้ว่าจะไปเยือน 'วัดโบ่ตะต่าวน์' ดี หรือเดินซอกแซกดูอาคารในย่านการค้าเก่าแก่นี้ก่อน


“วัดอยู่ไม่ไกลไม่ใกล้ เดินไปสักห้าช่วงตึกก็ถึงครับ” พนักงานในร้านอาหารบอกกับเขา


“ช่วงตึกหนึ่งของย่านการค้านี้ยาวหยอกอยู่เมื่อไหร่ล่ะ...” เขารำพึงพลางชะเง้อมองไปทางตะวันออกของถนนเลียบแม่น้ำ ที่ทะมึนด้วยหมู่อาคารที่ทำการใหญ่โตมโหฬารหลากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เจ้าอาณานิคมก่อนเก่ามาสร้างไว้


“ขอบคุณครับ” เขาค้อมศีรษะตอบ


ชาวอินเดียในย่านตลาด เต่งจีเซ นี้แทบทั้งนั้นมีอัธยาศัยดี


“นั่นเป็นสิ่งที่ติดตัวมา หรือผลพวงจากการถูกปกครองโดยพวกอารยันเจ้ายศเจ้าอย่าง..” เขาคิด


และภาพชาวพื้นเมืองอินเดียที่ลนลานหลบรถพวกเจ้านายชาวอังกฤษจนล้มลุกคลุกคลานในหนัง A Passage to India ก็แวบเข้ามาในหัว


คนพวกนี้อพยพเข้ามาพร้อมเจ้านายชาวอังกฤษ หรือล่วงหน้ามาลงหลักปักฐานก่อนชาวบะหม่าจะเสียเมือง... เขาไม่แน่ใจ ยิ่งเห็นฝีมือประติมากรรมบนยอดเทวาลัยศาสนาฮินดูบนถนนอโนรธา เขาก็ยิ่งลังเลว่ามันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น


ประติมากรรมจำหลักที่เกือบจะลอยตัวของเหล่าเทพที่สถิตย์บนยอดปรางค์นั้นวิจิตรตระการตา เครื่องทรง, ลีลาหน้าตา ได้รับอิทธิพลชาวบะหม่าเข้าไปเต็มๆ


ว่ากันว่าหลังสงครามเอเชียบูรพา พลเมืองส่วนใหญ่ในเมืองย่างกุ้งเป็นชาวอินเดียและชาวจีน ธุรกิจการค้าอยู่ในมือชาวจีนมากกว่า ชาวอินเดียมาตั้งตัวทำธุรกิจในตอนหลัง หลังจากอังกฤษจากไปแล้ว


“คนอินเดียที่ย่างกุ้งแต่ก่อนเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงของคนอังกฤษ” มิสเตอร์ พู โช โชเฟอร์แท็กซี่ที่พ่วงหน้าที่ไกค์จำเป็น บอกกับเขาก่อนหน้านี้


“ท่าจะจริง” เขาคิด “ตลาดเต่งซีเจเล็กกว่าตลาดจีนตรงหัวถนนลานมะต่อเยอะเลย ย่านนั้นเรียกว่าไชนาทาวน์ มีศาลเจ้าใหญ่โต ผู้คนพลุกพล่าน เต็มไปด้วนร้านค้าและแผงขายสินค้าที่จะแปลงร่างเป็นแผงขายอาหาร ย่านดื่มกินโต้รุ่ง ในตอนเย็นย่ำ


เขาชอบอาหารจีนตรงความฉับไวลงตัวเหมือนบทกวีในลัทธิเซน เจียวๆ ผัดๆ ไฟแดงพรึ่บ โยนไปลงจานรับพรับ ไม่ต้องรอนาน คุณค่าอาหารยังอยู่ครบ แต่บ่อยเข้าก็เลี่ยนเหมือนกัน


แล้วเขาก็พลัดเข้าไปในดงอินเดียอีกครั้ง กลิ่นนอบเชยและเครื่องเทศผงกะหรี่ หอมฟุ้งมาแตะจมูก นี่แหละคือมนต์ขลังของแขกอินเดีย เขานึกไปถึงช่วงที่เขาคลั่งไคล้ 'สาธนา' ของท่านรพินทรนาถ ตะกอร์ เขาไปร้านอาหารแบบฮินดูย่านวังบูรพา-พาหุรัดบ่อยมาก


เขายังเยาว์ต่อชีวิตนัก ยังแยกแยะพราหมณ์-พุทธ-มหายาน-หินยาน ฮินดู-อิสลามไม่ออกเลยด้วยซ้ำ เขาปลีกวิเวกไปอยู่กับฤาษีชาญที่เกาะเสม็ด สาธนา ปรัชญาชีวิต สูตรของเหว่ยหลาง กระทั่งท่านพุทธทาส ตีกันนัวไปหมด...


“แสวงหา-แสวงหาย...” เขารำพึงและยิ้มน้อย-น้อยในความหลังอันเดียงสาของตน


ฝนทำท่าจะตก ลมแรงไกวกิ่งประดู่สองฟากถนนส่งเสียงหวีดหวิว ต้นไม้อันดกดื่นร่มรื่นและสิ่งปลูกสร้างอันสวยงามอลังการ รวมทั้งถนนหนทางกว้างขวาง ตัดตรง เชื่อมโยงถึงกัน อย่างมีระเบียบแบบแผนนี้ แล้วล้วนเป็นผลพวงที่อังกฤษมาวางรากฐานไว้


เขาแหงนหน้าขึ้นไปมองบนยอดโดมของตึกบนหัวมุมถนน ในแสงมัวมนของสนธยาที่เดินทางมาเยือน สีแดงของโดมเก่าคร่ำคร่า บนหลังคามีต้นโพธิ์ขึ้นแซมผนังอิฐที่เริ่มผุกร่อน สีฟ้าของตัวอาคารมอมแมมกระดำกระด่าง อดีตอาคารแห่งนี้คงเป็นที่ทำการอะไรสักอย่าง ถูกทิ้งร้าง หรือมีผู้อยู่อาศัย เขาไม่แน่ใจ แน่ใจแต่ว่าเขาชอบรูปลักษณะสถาปัตยกรรมแบบกอทิกนี้ล้นเหลือ


กอทิก ที่บัดนี้แสนเศร้าหมองอยู่ตรงหัวถนน เรอเนซองส์ที่น่าสงสารสองช่วงตึกนั้น กระทั่ง โรมาเนสก์ แดนอารยธรรมที่ถนนทุกสายทอดยาวไปถึง ซ้ำยังแผ่อิทธิพลครอบคลุมยุโรป เอเชียกลาง ติดตามรอยเท้าคริสต์ศาสนิกชนไปทั่วโลก


“อู่อารยธรรมแล้วล้วนล่มสลาย.......” เขาคิด


และแล้วจู่-จู่เขาก็นึกถึงท่านมหาตมะคานธี รวมทั้งกระบองของเหล่ามหาอำนาจที่รุมกระหน่ำตีลงบนกะโหลกของประเทศอินเดีย


เขาไม่แน่ใจว่า อี.เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ ผู้เขียน A Passage to India จะเคยเดินทางมาพม่าหรือเปล่า แต่โจเซฟ รัดยาร์ด คิปลิง คนเขียน The Jungle Book เคยมา การเดินทางน่าจะเป็นสายตาของนักเขียนทุกยุคทุกสมัย คลิปลิงเขียน 'จดหมายจากตะวันออก' ด้วยอาการตื่นตะลึง


”นั่นไง เจดีย์ชเวดากองอันเก่าแก่”


“นี่คือพม่า ที่ไม่เหมือนดินแดนใดที่เราเคยรู้จักมาก่อน !”



ชายหนุ่มจากสยามรู้สึกขนลุก ไม่ว่าคุณจะเดินไปทางทิศใด มุมไหนของกรุงย่างกุ้ง ชเวดากองจะเรืองรองอยู่ในสายตาคุณเสมอ


เป็นเช่นนี้มาแต่ศตวรรษที่ ๑๙ ครั้งที่คิปลิงนั่งเรือย้อนทวนแม่น้ำหยั่นโก่งเข้ามายังราชธานีอันเก่าแก่แห่งนี้ กระทั่งปัจจุบัน


เขาหันกลับ เหมือนมีแสงระยิบระยับของอะไรสักอย่างบนฟากฟ้าเหนือกรุงย่างกุ้ง


เรื่องและภาพ โดย พิบูลศักดิ์ ละครพล
จากคอลัมน์ "ผ่านตามาตรึงใจ" นสพ.กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ ๑๘ ต.ค. ๒๕๕๗
เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์









คุณพิบูลศักดิ์ลงภาพสีน้ำงาม ๆ และถ้อยคำเพราะ ๆ ใน เฟซบุค
เห็นแล้วชอบมาก ๆ ขออนุญาตเอามารวมกับบล็อกนี้ด้วยกันค่ะ











ในหุบเขาไกลออกไป,เสียงหวูดรถไฟ
กู่เรียกชื่อฉันผ่านสีฟ้า
เหลืองเริงทุ่งกว้างกระจ่างตา, บทเพลงพฤศจิกา
แผ่วไหวในสายลมหนาว

มาชา
๑๘/๑o/๕๗














ดั่งเช่น


ดั่งเช่น การนึกถึงแสงแดดอ่อนโยนของยามเช้า
ดั่งเช่น การนึกถึงคืนแรมที่ดวงดาวพราวแสงเต็มท้องฟ้า
ดั่งเช่น รอยยิ้มในดวงตาคราพบกัน
การมาถึงของความฝันสดใหม่ เมื่อได้สัมผัสและแรกจุมพิต
ดูเหมือนว่า...
ความคิดถึงเธอ
จะเริงรำอยู่รายรอบตัวฉัน
ทุก-ทุกวันที่ตื่นขึ้นมา..............


ดั่งเช่น....


๑๙/๑o/๕๗
ภาพ ทุ่งหน้าบ้าน
สมุดบันทึกเล่มเก่า สีน้ำบนกระดาษสา















ปรารถนา


สนธยาที่ความเหงาเปิดบานหน้าต่างแง้ม
ดาวที่รอเวลาแต้มฟ้า เพิ่งได้ตระหนักว่า
ความโดดเดี่ยวที่ใฝ่หา
เป็นเพียงมายาของความรู้สึกนึกฝัน
ซึ่งกันพื้นที่เงียบงันไว้ให้ความปรารถนาโชนแสง


คำ บางตอนของเรื่องสั้น ขอให้หัวใจได้เอ่ยถ้อยคำ ๒๕๓o
ภาพ ภูเขาของฉัน ตุลาคม ๒๕๕๗
สีน้ำบนกระดาษ Arches 24x32 cm.















นาฑีที่คุณเดินจากมา
อดีตก็ลาลับไป
พร้อมกับอนาคตที่ยังไม่ยอมโผล่หน้า
จะฉุดดึง-คว้าไขว่ให้เหมือนดั่งใจ คงไม่ได้-ทั้งสองสิ่ง


ปัจจุบันขณะนั้นคือความจริง
เหมือนน้ำสะอาดในแก้ว ที่วางนิ่งอยู่ตรงหน้า
เลิกโหยหา หากจงยกดื่มดับกระหาย


คำ ๕/๗/๕๗
ภาพ แม่ทูนหัว ๒o๑๒
สีน้ำบนกระดาษฟราบิโน 300 gm
21x29 cm.














ฤาชีวิตคือการจาก
พบเพื่อพลัดพราก จากเพื่อคืนพบ
ร่ำลาหน้าหลุมศพ
แหละยิ้มกว้างที่ข้างเปล...



เมื่อวานไปงานฌาปนกิจสมพล ยารังษีที่บ้านสันมะเค็ด เวียงป่าเป้า
เศร้าครับ วาดภาพอยู่ดี ๆ ก็มีอันหัวใจวาย ล้มหายตายจากไปง่ายดายอะไรอย่างนั้น ต่อหน้าต่อตาลูกเมีย ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ เพราะตกตะลึงงัน !
พบกับสมพลครั้งสุดท้ายเมื่อเหมารถตู้ไปงานศพอ้ายถวัลย์ด้วยกัน ยังร่าเริงแจ่มใสปกติดีทุกอย่าง ภรรยาเสียใจร้องห่มร้องไห้ปิ่มใจสลาย ไม่มีเรี่ยวแรงจะไปเผาสามี เห็นแต่ลูกชายบวชให้พ่อ


ขณะขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์บนเมรุ ฟ้าก็ร้องไห้หยาดสายลงมา อนิจจังอนิจจาไม่ว่าสิ่งใด ก่อนหน้านี้แดดใสยังสวัสดีต้นไม้ใบหญ้าในป่าลาดเชิงเขาพริ้มเพราดีอยู่แท้ ๆ...







บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณsomjaidean100

Free TextEditor

`




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2557
0 comments
Last Update : 29 ตุลาคม 2557 16:04:58 น.
Counter : 1560 Pageviews.


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.