|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
เชียงรายยังรัก
 | |  | |

ชื่อภาพ : โบสถ์สวยที่ประตูสลี สถานที่ : แยกประตูสลี อ.เมือง เชียงราย เทคนิค : สีน้ำบนกระดาษ ขนาด : ๑๑ x ๑๕ นิ้ว
เชียงรายยังรัก
ตั้งใจจะเขียนรำลึกถึงเชียงรายที่รักติดต่อกันไป แต่เกรงผู้อ่านจะเบื่อ ก็สลับสถานที่อื่น ๆ ตามจังหวะเหมาะสม
ผมเขียนถึงโรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊ค ทางผ่านริมฝั่งแม่น้ำกกแห่งวัยฝันวันเยาว์ของผมไปแล้ว และสัญญากับตัวเองว่าจะต้องกลับไปสเก็ตช์ภาพโบสถ์ประตูสลี (คริสตจักร ๑ เวียงเชียงราย) ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า เรือนจำเก่า ตึกบนดอยงำเมืองและอีกหลายแห่งที่ผมผูกพันตรึงใจ
ไปเที่ยวหลังนี้ ได้คุยกับคนเก่าคนแก่ที่นั่น ผมได้รับความรู้เพิ่มเติมว่า 'ระฆัง' ของ คริสตจักร ๑ แห่งนี้ และระฆังของโรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊คที่ชาวเชียงรายก่อนเก่าเรียกกันว่า 'โฮงยาฝรั่ง' นั่น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
เพราะเขาใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศแทนหวอครับ พอมีเครื่องบินทหารญี่ปุ่นบินมาทิ้งระเบิดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ บาทหลวงก็จะสั่นระฆังเตือนภัยให้ชาวบ้านวิ่งลงหลุมหลบระเบิด
สะพานข้ามน้ำกกโดนระเบิดเสียหาย แต่สถานที่สามแห่งที่ผมเอ่ยชื่อมานี้กลับไม่เป็นไร ทั้งที่เห็นเด่นสะดุดตา ทหารเก่าผู้เล่าเรื่องนี้บอกว่า ถ้าอยู่ที่สูงมองลงมาจะเห็นศาลากลางจังหวัดเป็นรูปตัว l และโรงพยาบาลจะเห็นเป็นรูปตัว L ส่วนคริสตจักร ๑ รูปแบบสถาปัตยกรรมเห็นเป็นรูปไม้กางเขน
ตามประวัติ 'โบสถ์คริสตจักรที่ ๑ เวียงเชียงราย' หลังนี้ สร้างด้วยเงินบริจาคของคณะเพรสไบทีเรียนมิชชัน แห่งสหรัฐอเมริกาบนที่ดินบริเวณประตูสลี (อ่านว่า สะ-หลี) ใช้เวลาในการปรับพื้นที่เตรียมการและก่อสร้างราว ๔ ปี จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. ๑๙๑๔
ผู้อำนวยการสร้างโบสถ์หลังนี้คือ นายแพทย์วิลเลียม เอ. บริกส์ (William A. Briggs) มิชชันนารีคนสำคัญที่ทำประโยชน์ให้แก่เมืองเชียงรายมากมาย เช่น การก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊ค โรงเรียนและบ้านพักมิชชันนารี ตลอดจนศาลากลาง และเรือนจำประจำจังหวัดเชียงราย
โบสถ์นี้มีแผนผังอาคารเป็นรูปกางเขน (Latin Cross) รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและเทคนิคการก่อสร้างใกล้เคียงกับอาคารหลังแรกของโรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊ค (ปัจจุบันใช้เป็นอาคารอำนวยการ) ที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial Style) โดยต่างมีจุดเด่นที่หอระฆังด้านหน้าอาคาร (Bell Tower)
คนเก่าแก่ผู้เล่าเรื่องเชื่อว่า "เพราะทหารญี่ปุ่นมองเห็นไม้กางเขนจากฟ้า นี่แหละคือมหัศจรรย์ให้โบสถ์ โรงพยาบาล ศาลากลาง และเรือนจำ รอดพ้นจากการถูกระเบิดพังพินาศ"
"แต่กระนั้นเชียงรายก็ไม่พ้นภัยลูกพระอาทิตย์อยู่ดี พอทหารญี่ปุ่นยาตราทัพมา คริสตจักรที่ ๑ เวียงเชียงรายได้ถูกปิด ใช้เป็นค่ายพักของทหารญี่ปุ่น
"ช่วงนั้นชาวคริสเตียนในเชียงรายต้องนมัสการตามบ้านสมาชิกอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ"
"ยังเหลือร่องรอยบูชิโดไว้ให้รำลึกความหลัง คือที่ผนังด้านทิศใต้ของโบสถ์ซึ่งจะมีคราบผลึกเกลือเกาะติดอยู่ ทหารญี่ปุ่นยึดโบสถ์เป็นที่เก็บเกลือ คิดดูเถอะ สมัยสงครามเกลือเป็นสิ่งมีค่ากว่าทองคำนะ"
"ทำไมหรือครับ" ผมสงสัย
"เพราะทองคำกินได้ที่ไหนเล่า หนักก็หนัก แต่ลองไม่มีเกลือสิ เสบียงอาหารเน่าหมด กองทัพต้องเดินด้วยท้องนะคุณ..."
ได้ฟังแล้ว ผมก็บรรลุสัจธรรม
เรื่องและภาพ โดย พิบูลศักดิ์ ละครพล จากคอลัมน์ "ผ่านตามาตรึงใจ" นสพ.กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ ๖ ต.ค. ๒๕๕๖ เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์
| |  | |  |
บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ
บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณsomjaidean100
Free TextEditor
Create Date : 08 ตุลาคม 2556 |
Last Update : 8 ตุลาคม 2556 19:33:13 น. |
|
0 comments
|
Counter : 2466 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|