|
| 1 | 2 | 3 |
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |
|
|
|
|
|
|
|
Pink Trumpet Tree...ดนตรีสีกุหลาบ
 | |  | |

ชื่อภาพ : ดนตรีสีกุหลาบ สถานที่ : วิทยาลัยเกษตรกำแพงแสน เทคนิค : สีน้ำบนกระดาษ ขนาด : ๒๘ x ๓๘ เซนติเมตร
Pink Trumpet Tree ดนตรีสีกุหลาบ
คุณที่รัก
ยามบ่ายที่แดดดุ ลมร้อนกรรโชกกลีบบอบบางของตาเบบูญ่าร่วงคว้างลงบนผืนดินผืนหญ้าริมทางเท้า ดอกแล้วดอกเล่า
ผมเดินเดียวดาย บนถนนที่ไร้ทางเท้า ถนนสายเปลี่ยวเหงาด้วยกลีบดอกไม้ร่วง ความเศร้าทั้งปวงดูเหมือนถูกห่มคลุมไว้ด้วยสีชมพู
นานมาแล้ว เพียงแต่ผมยะโสและโง่เขลา จนไม่เปิดดวงใจมองเห็น และมีสติระลึกรู้ถึงสัจธรรม-ธรรมดาของการพบและพรากจากกลีบดอกไม้
ตาเบบูญ่า (Pink Trumpet Tree หรือ Rosy Trumpet Tree) ผมชอบชื่อในวงเล็บนี้ เพราะชอบได้ยินเสียงและเห็นภาพเห็นสี ยินที่ไรวลี "ดนตรีสีกุหลาบ" ก็เริงร่าในสายลมกวี ขัดแย้งกับคำแปลตรงเทิ่ง-ซึ่งก็คือ กุหลาบปากแตร เป็นยิ่งนัก
ทำไมผมถึงประหวัดไปได้อ่อนไหวปานนั้น
เพราะเสียงแตร-Trumpet นั่นปะไร...แม้จะแผดโผย แต่บทจะโหยไห้ ก็ทำเอาใจไหวสะทกน้ำตาตกในเลยเชียวแหละ ( อารมณ์นี้รึเปล่า-เขาถึงใช้เครื่องดนตรีชนิดนี้เป่าเป็นสัญญาณแตรนอนก่อนนิทรา)
Rosy Trumpet Tree หรือ Pink Trumpet Tree ก็คือ ตาเบบูญ่าสีชมพู ที่คนไทยเราคุ้นหูคุ้นปากในนาม "ชมพูพันธุ์ทิพย์" นั่นเอง
ชื่อชมพูพันธุ์ทิพย์นี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริฉัตร ผู้เป็นคนแรกที่นำพันธุ์ไม้จากทวีปอเมริกาใต้นี้มาปลูกที่เมืองไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ของชมพูพันธุ์ทิพย์หรือที่ผมชอบเรียกว่า "ตาเบบูญ่า" หรือ Tabebuia heterophylla (DC) Briton. (อยู่ในวงศ์ Bignoniaceae เช่นเดียวกับทองอุไรและศรีตรัง)
คิดถึงตาเบบูญ่าริมฝั่งเจ้าพระยาหน้าวัดเฉลิม และที่สองฝั่งถนนสายเก่าบางกรวย-ไทรน้อย (ที่ถูกคนใจดำโค่นไปแล้ว) ใกล้บ้านคุณ ตาเบบูญ่าที่ผมรักและผูกพัน เพราะเธอเป็นเสมือนคำมั่นสัญญาระหว่างเรา...
เธอจะทิ้งใบในฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม หลังจากนั้นจะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
จำได้ไหม ใครเคยเก็บกลีบดอกตาเบบูญ่ามาให้พิจารณา ว่าคล้ายดอกผักบุ้งหรือปากแตร กลีบดอกนั้นช่างบอบบางนัก แถมย่นเป็นจีบ ๆ และร่วงหล่นง่าย แค่สายลมแล้งกระพือมาเพียงครั้ง เธอก็ร่วงลงสู่ลานดินลานหญ้า
ว่ากันว่าสีของกลีบดอกตาเบบูญ่านั้น ปกติจะเป็นสีชมพูสดใส แต่มีความเข้มและจางแตกต่างกันไป (โดยเฉพาะต้นที่เกิดจากเมล็ดจะมีความผันแปรมากมาย ตั้งแต่สีชมพูจางเกือบขาวไปจนถึงสีเข้มเกือบเป็นสีม่วงแดง) เมื่อดอกสีชมพูร่วมหล่นแล้ว ตาเบบูญ่าก็จะติดฝักรูปร่างคล้ายม้วนบุหรี่ ยาวราว ๑๕ เซ็นติเมตร เมื่อฝักแก่ ฝักจะแตกออกด้านเดียวตามยาว
แล้วเมล็ดที่มีปีกก็โบยบินไปตามสายลมแห่งอิสระ-เสรี
เป็นดอกไม้เดียว ร่วงแล้วยังหวาน หวานกว่ายามบาน บนต้นหนก่อน รักเอ๋ยรักไหวปลิวใจรอน-รอน ขอหวามอารมณ์ หวานค้างอย่างนั้น...
เรื่องและภาพ โดย พิบูลศักดิ์ ละครพล จากคอลัมน์ "ผ่านตามาตรึงใจ" นสพ.กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ ๑๘ พ.ค. ๒๕๕๗ เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์

| |  | |  |
บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ
บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณsomjaidean100
Free TextEditor
Create Date : 20 พฤษภาคม 2557 |
Last Update : 26 พฤษภาคม 2557 19:13:04 น. |
|
0 comments
|
Counter : 2262 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|