|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
เลียบแม่น้ำโขงสู่เวียงเชียงของ
 | |  | |

ชื่อภาพ : ทิวทัศน์ริมฝั่งของ สถานที่ : เส้นทางเชียงแสน-เชียงของ เทคนิค : สีน้ำบนกระดาษ ขนาด : ๑๙ x ๒๘ นิ้ว
เลียบแม่น้ำโขงสู่เวียงเชียงของ
มีถนนสายหนึ่ง เลียบแม่น้ำ เสน่ห์ลึกล้ำ กู่เพรียกเรียกหวนคืนหา
ผละจาก เชียงแสน ไม่กี่เพลา ก็ได้ยินข่าวดีว่า มีชาวบ้านในละแวกเวียงเก่าได้นำเอาวัตถุโบราณล้ำค่า ที่ได้พบโดยบังเอิญในป่าไปมอบให้กับ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับของสตรีสูงศักดิ์ เช่น ปิ่นปักผม ต่างหู กำไล ฯลฯ แล้วล้วนแต่ชวนตะลึงในความสวยงามประณีตของช่างโบราณ
ทำให้อยากหวนกลับไปเชียงแสนอีกครั้ง ไปชมของวิเศษล้ำค่าที่ว่า และวาดภาพวัดเจดีย์หลวงเชียงแสน, วัดร้อยข้อ และวัดพระเจ้าล้านทองที่ยังติดค้างใจ วาดไม่ได้น่าพอใจสักครั้ง
หากทิวทัศน์ที่มองเห็นเบื้องหน้าก็ทำให้ต้องบอกกับตัวเองว่า ไว้วันหลัง ๆ เชียงแสนไม่หนีไปไหน ประการสำคัญ ได้นัดกับญาติไว้เป็นมั่นเหมาะว่าจะล่องเรือไปเที่ยว 'คอนผีหลง' และ 'แก่งผาได' กัน และเขาก็ตระเตรียมเรือรออยู่
จึงหักพวงมาลัยเข้าที่พักตรงจุดชมวิว หยิบสมุดภาพร่างภาพ วิ่งไปสเก็ตช์รูปอย่างคร่าวไว้ก่อน ถนนเชียงแสน-เชียงของ เลียบแม่น้ำโขงนี้สวยทุกช่วงก็ว่าได้ เสียดายแต่เป็นถนนชนบทผิวจราจรแคบ รถแล่นสวนทางกัน หาที่จอดยากสักหน่อย
ประกอบกับหน้าหนาว น้ำในแม่โขงลงพอเหมาะพอดี เผยให้เห็นเนินทรายสีขาวละเอียดตัดกับหินรูปทรงแปลก ๆ ตามเกาะแก่งแอ่งหิน รวมทั้งวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำของชาวบ้านฝั่งลาว ชิดใกล้ชนิดตะโกนข้ามน้ำถึงกันได้
คนไทยยวน-และลาวเรียกแม่น้ำโขงว่า 'น้ำของ' มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ชื่อเมือง 'เชียงของ' ก็มาจากเวียงที่ตั้งอยู่ริมน้ำของ
คนไทยกลางที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่นั่นแหละ มาเปลี่ยนชื่อแม่น้ำของชาวบ้านชาวช่อง จากแม่น้ำของเป็นแม่น้ำโขง
เรื่องนี้คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าว่า มีข้าราชการจากเมืองหลวงมาตรวจราชการ นายอำเภอก็กางแผนที่ให้ดู เห็นความคดเคี้ยวของแม่น้ำช่วงที่ผ่านเชียงแสน-เชียงของ ข้าราชการ(ไทยสยาม)ก็อุทานว่า "แม่น้ำโค้ง" เลยโมเมติดปากเรียก 'แม่น้ำของ' ว่าแม่น้ำโค้ง เรียกไปเรียกมา ภาษาปากก็กร่อนกลายจากโค้ง เป็นโขง ผู้รู้พื้นถิ่นเหนือก็ได้แต่หัวร่อส่ายหน้า เพราะถ้าเอาทฤษฎีนี้เข้าจับชื่อแม่น้ำในโลกนี้น่าจะชื่อเดียวกันหมด เพราะธรรมชาติของแม่น้ำย่อมไหลคดเคี้ยว
*คนที่อยู่กินกับน้ำของมาเป็นพันปี ไม่ว่าคนไตโยน ลื้อ ยอง คนลาวเวียง หลวงพระบาง หลวงน้ำทา ห้วยทราย สะหวันเขต เวียงจันทร์ คนไทยเชื้อสายลาวที่เมืองเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร เขมราฐ อุบลฯ เขาเรียก "น้ำของ" กันทั้งนั้น มีแต่ไทยสยามหรือไทยกรุงเทพฯ ไม่กี่คนมาตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "แม่น้ำโขง" บางคนไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ
ทำอย่างไรได้ แม้ชื่อแม่น้ำจะแปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปอย่างไร ความยิ่งใหญ่และเมตตาการุณย์ของสายน้ำของก็ไม่เคยเปลี่ยนแปร มีแต่มนุษย์ที่อาศัยอยู่บนสองฝั่งน้ำเท่านั้นที่ผันแปรคุณประโยชน์ของแม่น้ำอย่างเห็นแก่ตัว ระเบิดเกาะแก่ง สร้างเขื่อนกันเขื่อนแล้วเขื่อนเล่า...
แนะนำว่า ถ้าจะขับรถเลียบชมของมองโขงบนเส้นทางนี้ ให้ไปหน้าหนาว ดอกเลาที่มีมากมายสองฟากฝั่งถนน สวยแปลกตาไม่เหมือนถนนสายไหน เพราะดอกไม้จะโน้มก้านบานลงมา เสมือนว่าน้อมคารวะนักเดินทางผู้ด้นดั้นสัญจรมาบนถนนบ้านนอกสายนี้
* ตระกูลดำรงเจริญ แม่หม่อมเถียงอายุร้อยปี ต้นธรรมสำนักพิมพ์ กรุงเทพฯ ๒๕๓๗
เรื่องและภาพ โดย พิบูลศักดิ์ ละครพล จากคอลัมน์ "ผ่านตามาตรึงใจ" นสพ.กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๖ เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์
| |  | |  |
บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ
บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณsomjaidean100
Free TextEditor
Create Date : 31 กรกฎาคม 2556 |
Last Update : 31 กรกฎาคม 2556 9:13:25 น. |
|
0 comments
|
Counter : 1806 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|