Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
27 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 

"พระเมรุ"อันเนื่องมาจากความตาย

เรื่องของ “พระเมรุ” นี้มีท่านผู้อ่านหลายท่านสงสัยว่ามีความแตกต่างไปจาก “พระเมรุมาศ” และ “เมรุ” ที่เห็นกันอยู่ทั่วไปหรือไม่ ถ้าหากมีความแตกต่างกัน ก็ต้องการที่จะรู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่จะน่าจะนำมาขยายให้เข้าใจกันอยู่ไม่น้อย


“พระเมรุ”

ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง

 วัฒนรักษ์ watanarax@yahoo.com


ท่านผู้อ่านคงจะทราบกันดีแล้วว่าในวันจันทร์ที่ 9 เมษายนที่จะถึงนี้ จะมีพระราชพิธีสำคัญอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คืองานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาภัณณวดี ซึ่งระหว่างนี้การเตรียมการณ์ทุกด้านก็เข้ารูปเข้ารอยเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งอาคารสำคัญ คือ “พระเมรุ” ที่ท้องสนามหลวงด้วย

     เรื่องของ “พระเมรุ” นี้มีท่านผู้อ่านหลายท่านสงสัยว่ามีความแตกต่างไปจาก “พระเมรุมาศ” และ “เมรุ” ที่เห็นกันอยู่ทั่วไปหรือไม่ ถ้าหากมีความแตกต่างกัน ก็ต้องการที่จะรู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่จะน่าจะนำมาขยายให้เข้าใจกันอยู่ไม่น้อย

     คงต้องเริ่มด้วยคำว่า “เมรุ” กันก่อน เพราะคำนี้เป็นคำที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยว่าหมายถึง สถานที่สำหรับปลงศพ เผาศพ แต่คำนี้ยังมีความหมายในนัยอื่นอีก ที่สำคัญคือเชื่อว่า “เมรุ” เป็นคำที่เรียกกร่อนมาคำว่า “สุเมรุ” ซึ่งเป็นชื่อของภูเขาที่ผู้นับถือพราหมณ์ฮินดูเชื่อว่าเป็นแกนกลางของจักรวาล โดยที่ยอดเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีพระอินทร์เป็นใหญ่อยู่

      การอ่านออกเสียงคำว่า “เมรุ” นี้ หากเป็นคำที่ปรากฏเป็นคำโดดๆ คำประสม หรืออยู่ท้ายคำจะออกเสียงว่า “เมน” เช่น “สุเมรุ” จะอ่านออกเสียงว่า “สุ-เมน” หรือ “เมรุทิศ-เมรุราย” ก็จะอ่านว่า “เมน-ทิด-เมน-ราย” แต่หากเป็นการสมาสคำโดยนำคำว่า “เมรุ” ไว้ข้างหน้า ก็จะออกเสียงเป็น “เม-รุ” แล้วตามด้วยคำที่มาเข้าสมาส เช่น “เมรุมาศ” ก็ต้องอ่านว่า “เม-รุ-มาด” ไม่ใช่ “เมน-มาด”

      เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อครั้งอดีตนั้น การสร้างเมรุของชาวบ้านเขาจะนิยมผูกหุ่นทำเป็นรูปภูเขาแล้วตั้งที่เผาไว้บนภูเขาจำลองนั้น แต่ถ้าเป็นเมรุหลวงจะทำเป็นเรือนโถง หลังคาทำเป็นเครื่องยอดหรือมณฑปครอบที่เผา และที่เผาของหลวงศพของหลวงลักษณะเช่นนี้เองที่เรียกกันว่า “พระเมรุ” แต่ถ้าเป็นพระเมรุของกษัตริย์ที่ต้องมีการสร้างเมรุทองไว้ข้างในอีกชั้นหนึ่ง ก็จะเรียกว่า “พระเมรุมาศ” แต่มาในชั้นหลังก็มีชาวบ้านทำที่เผาศพโดยปลูกเป็นเรือนโถงอยู่บ้าง ส่วนเครื่องยอดแบบกุฎาคารของหลวงบ้างก็ทำ บ้างก็ไม่ทำ โดยไม่ได้คำนึงถึงฐานานุศักดิ์สูงต่ำตามพระราชอิสริยยศเหมือนแต่ก่อน จึงส่งผลให้คำว่า “เมรุ” ในปัจจุบันเป็นได้ทั้งที่เผาศพที่มียอดและไม่มียอด

     หากจะพินิจพิเคราะห์ให้ลึกลงไปว่าระหว่าง เมรุ พระเมรุ และพระเมรุมาศ นั้น อะไรมีผลต่ออะไรในลักษณะของอะไรมีอิทธิพลต่ออะไร ก็จะเห็นเค้าได้ว่า “พระเมรุมาศ” น่าจะเป็นต้นทาง เพราะเดิมทีชาวบ้านมักจะเตรียมที่เผาศพด้วยการนำฟืนมาสุมเป็นกองแล้วนำศพไปวางไว้ข้างบน หรืออย่างมากก็ยกฐานทำเป็นเชิงตะกอนชั่วคราวเพื่อเผาศพกลางแจ้งเท่านั้น

     งานพระเมรุนั้นเป็นราชประเพณีที่มีแบบแผน และถือปฏิบัติอย่างมีระเบียบสืบมา แต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ความสำคัญของการสร้างพระเมรุมาศ และจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น เป็นการถวายพระเกียรติยศ และแสดงถึงกตเวทิตาที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ถวายแด่พระมหากษัตริย์องค์ ก่อนที่สวรรคตล่วงแล้ว  ในขณะเดียวกันการจัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น ก็เหมือนกับเป็นการประกาศความมั่นคงของบ้านเมืองต่อแว่นแคว้น และประเทศราชต่างๆ ไปโดยอ้อม ด้วยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแผ่นดิน

     ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จึงต้องการจัดงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศให้ยิ่งใหญ่ เพราะนัยที่แสดงออกคงไม่ใช่เพียงให้สมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เพราะแท้ที่จริงแล้วการจัดงานพระบรมศพให้ยิ่งใหญ่นั้นยังซ่อนนัยที่จะแสดงพระบรมเดชานุภาพให้เป็นที่ ประจักษ์ชัด ว่าสามารถที่จะทรงปกครองแผ่นดินให้มีความผาสุกร่มเย็น เป็นที่เกรงขามแก่ประเทศราชและอริราชศัตรูได้ นับเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของคนสมัยโบราณในการปกครองบ้านเมืองที่แยบยลมาก

      ย้อนกลับมาที่คำว่า พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทั้งสามคำนี้แตกต่างกันอย่างไร และใช้อย่างไร ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายๆ คำว่า “เมรุ” เป็นคำที่ใช้เรียกทั่วไปสำหรับสถานที่เผาศพคนทั่วไป ถ้าเป็นพระเมรุมาศ จะใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ ของเจ้านายที่ใช้ราชาศัพท์สำหรับ “การตาย” ว่า “สวรรคต” เช่น พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช เป็นต้น ส่วน “พระเมรุ” ลักษณะทั่วไปจะอิงพระเมรุมาศ  เพียงแต่มีขนาดเล็กลง ภายในไม่มีพระเมรุทอง ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์  ที่เมื่อ “ตาย” แล้วใช้ราชาศัพท์ว่า “ทิวงคต” หรือ “สิ้นพระชนม์”

      ลักษณะพระเมรุมาศที่ปรากฏสร้างมาแล้ว มี 2 รูปแบบ คือ พระเมรุมาศทรงปราสาท  และ พระเมรุมาศทรงบุษบก โดยที่ พระเมรุมาศทรงปราสาทยอดมณฑป หมายถึง อาคารปราสาทสร้างยอดเป็นมณฑป  ลักษณะเช่นเดียวกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทและพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท

     สำหรับพระเมรุมาศทรงบุษบก ถือเป็นแบบพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์เท่านั้น อาคารจะสร้างบนพื้นราบ รูปลักษณ์เกิดจากการขยายเรือนบุษบกบัลลังก์ของพระเมรุทองแต่เดิมให้ใหญ่ขึ้น เหมาะสมกับการถวายพระเพลิง และตั้งเบญจาจิตกาธานรับพระโกศพระบรมศพ โดยที่พระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์

      เรื่องของพระเมรุยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกมาก คงต้องขอยกยอดไปกล่าวถึงในคราวต่อไป


Credit : //www.siamrath.co.th/




 

Create Date : 27 มีนาคม 2555
0 comments
Last Update : 27 มีนาคม 2555 11:04:27 น.
Counter : 3811 Pageviews.


Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.