Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
29 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
▶ กำเนิดของธงสยาม ▷ ธงชาติไทย ▷การเคารพธงชาติ



ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และน้ำเงิน ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)




พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย(ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 เพื่อแก้ไขปัญหาการชักธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4) กลับด้าน เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร และสีม่วงเพื่อเป็นตัวแทนของสีวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลักษณะของธงชาติไทยนั้น มีความคล้ายคลึงกับธงชาติคอสตาริกา ซึ่งเป็นประเทศในทวีปอเมริกากลางมาก ต่างกันที่เรียงแถบสีธงชาติสลับกันเท่านั้น


กำเนิดของธงสยาม

ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้แต่เพียงความว่า ราชอาณาจักรไทย ใช้ธงแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังไม่ได้มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน

จาก จดหมายเหตุต่างประเทศแห่งหนึ่งได้กล่าวว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) เรือค้าขายของฝรั่งเศสลำหนึ่งได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ของไทย เรือฝรั่งเศสก็ชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายไทยยิงสลุตคำนับตามธรรมเนียม แต่เมื่อฝ่ายไทยชักธงขึ้นตอบบ้าง ฝ่ายฝรั่งเศสกลับไม่ยิงสลุตคำนับตอบ เพราะได้ชักเอาธงชาติฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) ขึ้นเหนือป้อมด้วยเหตุว่าไทยไม่มีธงชาติของตนใช้ (ขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน) ฝ่ายไทยได้แก้ไขปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่างๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง" ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง ถือเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า "พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก"แต่ในพระอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิได้กล่าวถึงเรื่องธงรูปจักรไว้ แต่กล่าวว่าเปลี่ยนแปลงจากธงแดงมาเป็นธงช้างเผือกในวงจักรในคราวเดียว


  


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2398 พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยาม เนื่องจากมีเหตุผลว่า ธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปซำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า "ธงเกตุ" (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน





 ▶ธงฉานของกองทัพเรือไทย เป็นธงที่ใช้ชักที่หัวเรือรบและเรือหลวง และสำหรับใช้เป็นธงประจำกองทหารสำหรับหน่วยทหารที่ยังไม่ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล ในเวลายกพลขึ้นบก มีลักษณะตามที่ระบุในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ว่า "ธงฉาน มีลักษณะเช่นเดียวกับ ธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธง มีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักร เวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักร ภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง"


▶▶ธงไตรรงค์

ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2459 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัย และทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎรซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จไว้ถูกติดกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า "ธงแดงขาว 5 ริ้ว" (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย)ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่ใช้รูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453






 ล่วงมาถึง พ.ศ. 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็น "สีขาบ" หรือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วงดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสีนี้เพราะสีน้ำเงินแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งใช้สีแดง ขาว น้ำเงินเป็นสีในธงชาติเป็นส่วนใหญ่ด้วยอีกประการหนึ่ง ธงชาติแบบใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์" และอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วย

 ธงไตรรงค์ที่สร้างขึ้นสำหรับกองทหารอาสาในคราวนั้นไม่ใช่ลักษณะอย่างธงไตรรงค์ตามที่กำหนดให้ใช้โดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมพื้นสีแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย (ทั้งนี้กำหนดแบบใหม่ให้ใช้พร้อมกันในคราวประกาศเปลี่ยนธงชาติด้วย) ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. ๖ สีขาบ ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีสีเหลืองในวงกลมพื้นสีแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้านจารึกพุทธชัยมงคลคาถาบทแรก (ภาษาบาลี) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก "ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น "ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)





พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบรรทึก พระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร[16] ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลต่างๆ ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิม โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พ.ศ. 2479เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ และหลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลต่างๆ ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน โดยมีการออกพระราชบัญญัติธงฉบับ พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์





ทหารอาสาของไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมการสวนสนามฉลองชัยชนะ ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 โดยเชิญธงไตรรงค์เป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร

พัฒนาการของธงชาติไทยโดยสรุป
สมัยอยุธยา - พ.ศ. 2325(ธงเรือเอกชน)(ธงเรือหลวง) สมัยอยุธยา - พ.ศ. 2398 ช้เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแดงเกลี้ยง

พ.ศ. 2325 - 2360 พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปวงจักรสีขาว

พ.ศ. 2360 - 2398 พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกในวงจักรสีขาว

พ.ศ. 2398 - 2459 พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รศ. 110
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 116
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 118
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129
ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกเปล่าหันหน้าเข้าหาเสาธง

●พ.ศ. 2459 - 2460 พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 (ธงราชการ)
พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459
ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสาธง

พ.ศ. 2459 - 2460 พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459 (ในชื่อ "ธงค้าขาย") ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 9 ส่วน กว้าง 6 ส่วน แบ่งออกเป็นแถบสีแดงกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีขาวกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีแดงตรงกลางกว้าง 2 ส่วน

พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 [15]
พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479
พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522

ธงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งออกเป็นแถบสีแดงกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีขาวกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีน้ำเงินขาบตรงกลางกว้าง 2 ส่วน


▶▶การชัก ใช้ และแสดงธงชาติไทย

 ▶ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงปกครองนั้น การประดับ ชัก ใช้ และแสดงธงชาติด้วยวิธีการต่างๆ มักเป็นไปตามธรรมเนียมที่ใช้สืบต่อกันมา ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แม้จะเริ่มมีการจัดระเบียบธงด้วยกฎหมายต่างๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชัก ใช้ และแสดงธงอย่างชัดเจนนัก

 ▶จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลไทยจึงเริ่มจัดระเบียบการใช้ธงชาติขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยออกระเบียบการชักธงชาติสยามประกอบอยู่ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 ปรากฏในในมาตรา 17-20 บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติ และข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษ ท้ายพระราชบัญญัติ ในมาตรา 21-23 ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบังคับ มีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบา แล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ ซึ่งต่อมา ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับต่างๆ อีกหลายฉบับ

  ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติที่บังคับทั่วไปในปัจจุบันนี้ บังคับใช้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 (แก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2546 และ 2547) ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญบางข้อ ดังนี้

การเคารพธงชาติ

หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ใช้ธงชาติและเพลงชาติเป็นเครื่องมือสำคัญในการนิยามตนเองและ “ชาติไทย” ที่เป็น “ประชารัฐ” ธงชาติไทยคือเครื่องหมายของชาตินิยม และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ราษฎรพึงให้ความเคารพเทิดทูนสูงสุด

รายการสนทนาทางวิทยุระหว่างโฆษกคู่ขวัญแห่งยุคทศวรรษ 2480 ผู้ใช้นามแฝงว่า “นายมั่น-นายคง” อันเป็นสื่อมวลชนสำคัญของรัฐบาล เคยแจกแจงวิธีการเคารพธงชาติในระหว่างดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันนานาชนิดไว้ได้อย่างละเอียดลออยิ่ง ว่า

1.สำหรับคนทั่วไป ยืนตรงนิ่ง ถ้าสวมหมวกในเครื่องแบบทำวันทยหัตถ์ นอกนั้นชายถอดหมวก ถือหมวกด้วยมือขวาแนบกับตัว หญิงไม่ต้องถอดหมวก

2.ผู้ที่อยู่ในรถราง รถโดยสาร รถไฟ เรือ ถ้ายืนเคารพได้ให้ยืน ถ้ายืนไม่ได้ให้นั่งเคารพ ผู้สวมหมวกในเครื่องแบบทำวันทยหัตถ์ นอกนั้นชายถอดหมวก หญิงไม่ต้องถอด

3.รถยนต์ส่วนตัว ถ้าหยุดได้ควรหยุด ทำความเคารพบนรถ ถ้าหยุดไม่ทัน ทำความเคารพบนรถ ถ้ายิ่งหยุดรถได้ และออกมาทำการเคารพนอกรถด้วยยิ่งดี

4.รถสามล้อรับจ้างต้องหยุด ผู้ขับขี่และคนโดยสารลงจากรถทำความเคารพ

5.ถ้ากำลังหาบของ หรือกำลังกระเดียดกระจาดอยู่ วางหาบและกระจาดตรงหน้าแล้วยืนตรง

6.กำลังอาบน้ำ ทำครัว หรือทำงานใดๆ อยู่ ยืนตรงนิ่ง

7.ถ้ากำลังแบกหามของหนักมาก เช่น แบกกระสอบข้าว เป็นต้น เมื่อจวนจะถึง 8.00 น. ควรวางกระสอบเสียก่อน เมื่อเคารพธงชาติเสร็จแล้ว จึงแบกหามต่อไป


8.เวลาพายเรือ แจวเรืออยู่ ถ้าเป็นเรือเล็กยืนขึ้นจะล่ม ก็ให้นั่งตรง ชายถอดหมวก หนีบด้ามพายไว้ในรักแร้ ทอดใบพายไปข้างหลัง ถ้าเป็นเรือใหญ่ใช้แจว ทอดแจวไปทางท้ายเรือ แล้วยืนตรง ชายถอดหมวก

9.ผู้กำลังทำหน้าที่ขับยานพาหนะ ถ้าแสดงการเคารพจะเป็นการละทิ้งหน้าที่ หรือทำให้เกิดอันตรายขึ้น เช่น กำลังถือท้ายเรือยนต์ เรือกลไฟ เป็นต้น ก็ไม่ต้องแสดงเคารพ เป็นแต่นั่งตรงก็พอแล้ว ถ้ายืนถือพวงมาลัยได้ก็ยืน จะงามดี

10.คนขับรถราง ถ้ารถรางหยุดอยู่ให้ยืนตรงนิ่ง และทำวันทยหัตถ์ เพราะมีเครื่องแบบ ถ้ารถกำลังแล่น ก็เบาลง แล้วขับต่อไป ไม่ต้องแสดงความเคารพ เพราะจะเป็นอันตราย ถ้าประสงค์จะแสดงความเคารพก็ให้ถอดหมวกพร้อมกับคนอื่นๆ ได้ เป็นการแสดงน้ำใจรักชาติยิ่ง

11.ถ้าอยู่ในยานพาหนะที่ยืนให้ไม่ได้ ให้นั่งตรง คือนั่งนิ่งวางมือไว้ข้างหน้า หรือข้างตัว วางเท้าชิดกัน ถ้าสวมหมวกเครื่องแบบ ทำวันทยหัตถ์ ถ้าสวมหมวกอื่น ให้ถอดหมวกวางไว้บนตัก

12.ถ้านั่งหรือยืนไม่ได้ เช่นคนนอนเจ็บ ให้ยกมือไหว้

13.ถ้ากำลังกินข้าวอยู่ ให้ลุกขึ้นยืนตรง ทำการเคารพ

14.ถ้ากำลังซื้อหรือขายของอยู่ในตลาด ในห้างร้าน ให้ลุกขึ้นยืนตรง ทำการเคารพ

  สำหรับการเคารพธงชาติในปัจจุบันได้ยึดถือหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 กล่าวคือ เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง

▶▶การชักธงชาติในราชอาณาจักร

โอกาสและวันพิธีสำคัญที่ต้องมีการชักและประดับธงชาติ มีวันและระยะเวลาดังต่อไปนี้

วันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม 1 วัน
วันมาฆบูชา 1 วัน
วันจักรี 1 วัน
วันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน 1 วัน
วันฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม 1 วัน
วันพืชมงคล 1 วัน
วันวิสาขบูชา 1 วัน
วันอาสาฬหบูชา 1 วัน
วันเข้าพรรษา 1 วัน
วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม 1 วัน
วันสหประชาชาติ วันที่ 24 ตุลาคม 1 วัน
วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5, 6, 7 ธันวาคม 3 วัน
วันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันาคม 1 วัน

การชักธงและประดับธงชาติในโอกาสและวันพิธีสำคัญอื่นๆ ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราวๆ ไป

ส่วนการลดธงครึ่งเสานั้น นายกรัฐมนตรีจะสั่งการผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นคราวๆ ไปตัวอย่างเช่น เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 15 วัน และให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการถวายความอาลัยในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

credit : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


Create Date : 29 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2555 2:47:47 น. 0 comments
Counter : 12523 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.