Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
26 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
วัฒนธรรมบ้านเรา: โขน..โลดโผนและสวยงาม




โขน...นาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทย มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการเล่นโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทางเข้ากับเสียงซอและเครื่องดนตรีอื่นๆ ผู้เต้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ โขนเป็นที่รวมของศิลปะหลายแขนง นำวิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ มีท่าทางการต่อสู้ที่โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้น และนำศิลปะการพากย์ การเจรจา หน้าพาทย์ และเพลงดนตรีมาประกอบการแสดง การแสดงโขน ผู้แสดงสวมศีรษะคือหัวโขนปิดหน้าหมด ยกเว้นเทวดา มนุษย์ มเหสี ธิดาพระยายักษ์ มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้ และมีคนพากย์และเจรจาให้ด้วย

เรื่องที่นิยมแสดงคือเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุท ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์

โขนแบ่งออกเป็น 5 ประเภท มีโขนกลางแปลง โขนโรงนอกหรือโขนนั่งราว โขนหน้าจอ โขนโรงใน และโขนฉาก

โขนกลางแปลง คือการเล่นโขนบนพื้นดินกลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่น นิยมแสดงตอนยกทัพรบกัน ได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์

โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคา ไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก (ม่าน) มีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวแทนเตียง มีการพากย์และเจรจา แต่ไม่มีการร้อง มีปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ 2 วง เพราะต้องบรรเลงมาก ตั้งที่หัวโรงและท้ายโรง เรียกว่าวงหัวและวงท้าย หรือวงซ้ายและวงขวา วันก่อนแสดงโขนนั่งราวจะมีการโหมโรง และให้พวกโขนออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลง พอจบโหมโรงก็แสดงตอนพิราพออกเที่ยวป่า จับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเข้าสวนพวาทองของพิราพ แล้วก็หยุดแสดง พักนอนค้างคืนที่โรงโขน รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่เตรียมไว้ จึงเรียกว่า “โขนนอนโรง”

โขนหน้าจอ คือโขนที่เล่นตรงหน้าจอ เดิมขึงไว้สำหรับเล่นหนังใหญ่ที่มีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาว การเล่นหนังใหญ่มีศิลปะสำคัญคือ การพากย์และเจรจา มีดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังต้องเต้นตามลีลาและจังหวะดนตรี นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมามีการปล่อยตัวแสดงออกมาแสดงหนังจอแทนการเชิดหนังในบางตอน เรียกว่า “หนังติดตัวโขน” เมื่อมีผู้นิยมมากขึ้นเลยปล่อยตัวโขนออกมาแสดงหน้าจอตลอด กลายเป็นโขนหน้าจอ และต้องแขวะจอเป็นประตูออก 2 ข้าง เรียกว่าจอแขวะ

โขนโรงใน คือโขนที่นำศิลปะละครในเข้ามาผสม มีปี่พาทย์บรรเลง 2 วงผลัดกัน การแสดงมีทั้งออกท่ารำท่าเต้น มีการพากย์และเจรจาตามแบบโขน เพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการของดนตรีแบบละครใน และมีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าไปด้วย เป็นการปรับปรุงให้มีวิวัฒนาการขึ้นอีก มีการผสมผสานระหว่างโขนกับละครในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ทั้งมีกวีในราชสำนักช่วยปรับปรุงขัดเกลา และประพันธ์บทพากย์บทเจรจาให้ไพเราะสละสลวยขึ้นอีก

โขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงในปัจจุบันก็ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงใน ไม่ว่าจะแสดงกลางแจ้งหรือแสดงหน้าจอก็ตาม

โขนฉาก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีผู้คิดสร้างฉากประกอบเรื่องเมื่อแสดงโขนบนเวทีคล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ส่วนวิธีแสดงดำเนินเช่นเดียวกับโขนโรงใน แต่มีการแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉาก และจัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง จึงมีการตัดต่อเรื่องใหม่ไม่ให้ย้อนไปย้อนมาเพื่อสะดวกในการจัดฉาก กรมศิลปากรได้ทำบทเป็นชุดๆไว้หลายชุด เช่น ชุดพระรามเดินดง ชุดหนุมานอาสา ชุดนางลอย ฯลฯ

โอกาสดูโขนไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการแสดงมีต้นทุนสูง ผู้แสดงมีน้อย และส่วนใหญ่มีงานประจำ เว้นแต่ในพระราชพิธีสำคัญจะมาร่วมกันแสดงให้คนดูได้ตื่นตะลึงกับความโลดโผนสวยงาม สมกับเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงจริงๆ

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ปีที่ 13 ฉบับที่ 3255 ประจำวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม  พ.ศ.2555 คอลัมน์  วัฒนธรรมบ้านเรา โดย กรวี


วัฒนธรรมบ้านเรา: โขน..โลดโผนและสวยงาม






Create Date : 26 มีนาคม 2555
Last Update : 26 มีนาคม 2555 23:21:44 น. 0 comments
Counter : 1711 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.