Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
29 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
หอไตร"วัดระฆัง" หลอมรวมศิลปะเอก"2ยุค"

(ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2555)




กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมามีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ร้องเรียนว่า มีการสร้างอาคารชั่วคราวประชิดกับหอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม (ที่มา

แม้ว่าตำแหน่งของอาคารหลังนี้จะสร้างอยู่ด้านหลัง และทาสีที่กลมกลืนกับสีของหอไตร แต่ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบถึงโครงสร้างของเรือนโบราณอายุกว่า 200 ปี และภาพจิตรกรรมภายใน เนื่องจากตัวอาคารหอพระไตรปิฎกเป็นพระตำหนักที่เคยเป็นที่ประทับแต่เดิมของรัชกาลที่ 1 ก่อนที่พระองค์จะทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ และต่อมาได้ถวายตัวอาคารรวมทั้งพระตำหนักให้วัดระฆังฯ และมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือเยี่ยมที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 1 อยู่ภายในอาคารแห่งนี้ด้วย

วัดระฆังโฆสิตารามราชวรวิหาร (วัดระฆัง) เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 250 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ มหานคร

สำหรับหอพระไตรปิฎก วัดระฆังฯ ถือเป็นอาคารที่ทรงคุณค่า เป็นการผสมผสานความงามของศิลปะในสองยุคสมัยเข้าด้วยกัน คือ สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ความงดงามของหอไตรหลังนี้ ดังที่ ′สมเด็จครู′ หรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ถึงกับชื่นชมว่า

"ผู้ใดที่รักการช่างได้ไปชมที่นั่นแล้วจะไม่อยากกลับบ้าน..."

หอไตรหลังนี้ถูกปล่อยทิ้งให้อยู่ในสภาพที่เสื่อมไปตามกาลเวลา กระทั่ง เฟื้อ หริพิทักษ์ เข้ามาทำการอนุรักษ์ในปี พ.ศ.2513

อาจารย์เฟื้อเคยเล่าถึงที่มาของการอนุรักษ์หอไตร วัดระฆังฯ ในบทสัมภาษณ์เรื่อง "เฟื้อ หริพิทักษ์ กับการซ่อมหอพระไตร ปิฎกวัดระฆังฯ" โดย อนันต์ วิริยะพินิจ ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ว่า

"ผมกลับมาจากอินเดียประมาณ พ.ศ. 2489 ตอนนั้นหลังสงครามแล้ว มาถึงก็สนใจเรื่องไทยๆ อยากจะค้นคว้าเรื่องศิลปะแบบอย่างของชาติ ค้นหาความคิดใหม่ๆ ว่าสิ่งที่เป็นของเราเองนั้นมีวิวัฒนาการมาอย่างไร

เมื่อมาได้อ่านพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องหอพระไตรปิฎกวัดระฆังฯ พูดถึงฝีมือ พระอาจารย์นาค และก่อนหน้านี้ผมเคยอ่านเอกสาร อันเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่หอพระสมุด สมัยนั้นเอกสารที่ว่านี้ยังไม่ตีพิมพ์เป็นเล่ม เป็นแผ่นๆ เก็บไว้ในตู้ ผมต้องขออนุญาต เจ้าหน้าที่อ่านเป็นตอนๆ ไป ได้รับความรู้หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะมาอ่านพบว่า สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ท่านรับสั่งว่าหอพระไตรนี้มีงานชั้นเยี่ยมฝีมือของพระอาจารย์นาคอยู่ ก็เกิดความสนใจอยากจะมาดู"

ทว่า สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า "ทรุดโทรมมาก เสาผุกร่อนไปหมด ใช้เป็นที่อยู่ของสงฆ์และเก็บเครื่องใช้ไม้สอยของวัด จนดูไม่รู้ว่าเป็นหอพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีผู้บอก

...ตอนนั้นดูคล้ำมืดไปหมดเพราะเขม่าต่างๆ ที่เกิดจากควันธูปเทียน ความสกปรกประกอบกันหลายอย่างก็เคลือบอยู่ มองเข้าไปมีหยากไย่ ข้าวของระเกะระกะไปหมด...ยังมองไม่ออกว่าตรงไหนที่มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือชั้นครูของพระอาจารย์นาค มืดมัวไปหมด"

และนั่นเป็นที่มาของการตกลงใจที่จะทำความสะอาดภาพเขียน เพื่อคืนชีวิตให้กับงานจิตรกรรม ผลงานชิ้นสุดท้ายอันทรงคุณค่าของพระอาจารย์นาค

การบูรณะหอพระไตรปิฎก วัดระฆังฯ เริ่มขึ้นเมื่อ 1 เมษายน 2513 นับแต่ทำการลอกลายจิตรกรรมฝาผนัง เก็บไว้เป็นหลักฐานมรดกทางประวัติศาสตร์ศิลปะของชาติ บูรณะและฟื้นฟูจนเห็นเป็นลวดลายชัดเจนสวยงามเช่นปัจจุบัน ส่วนบานประตูทางเข้าด้านหน้า ที่แกะสลักจากไม้ ก็แกะสลักขึ้นใหม่โดยยึดลายขมวดตามแบบฉบับเดิมแล้วลงรักปิดทองจนเป็นสมบูรณ์

กระทั่งวันที่ 15 กันยายน 2514 การบูรณะก็แล้วเสร็จลง รวมเป็นเวลา 1 ปี กับ 4 เดือนครึ่ง

รศ.สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ อาจารย์ประจำ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า หอพระไตรปิฎกเป็นอาคารอีกหลังที่มีค่าที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ น่าจะมีอายุเก่ากว่าพระที่นั่ง พุทไธสวรรย์ ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2328 ด้วยรูปแบบการเขียนลายยังเป็นตัวใหญ่ และใช้สีสันจัดจ้านรุนแรง แบบสมัยอยุธยา อีกทั้งยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์คือ เดิมนั้นเป็นเรือนรับรองของรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ครั้งที่ยังดำรงตำแหน่ง "พระราชวรินทร์" (กรมพระ ตำรวจหลวงฝ่ายขวา) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช อีกทั้งยังเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกทอง และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระอินทร์

หอพระไตรปิฎกมีลักษณะเป็นเรือนแฝด 3 หลัง ประกอบด้วยหอกลาง หอนั่ง และหอนอน ฝาไม้ขัดแตะ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกแบบพราหมณ์ และพิธีอินทราภิเษกแบบพุทธ เพื่อขึ้นครองราชย์มีการสังคายนาพระไตรปิฎกตามธรรมเนียมกษัตริย์ ขึ้นที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร พระองค์จึงนึกถึงเรือนแฝด 3 หลังที่ยกให้วัดบางหว้าใหญ่ บูรณะเป็นฝาปะกนไม้สักทอง เพื่อให้แข็งแรง ทนทาน และทรงคุณค่า แล้วใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกทองคำเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

"จิตรกรรมที่หอกลาง เป็นเรื่องรามเกียรติ์ ผลงานของพระอาจารย์นาค ส่วนหอนั่งที่เป็นลายกองทัพพระอินทร์ทั้ง 5 และจตุโลกบาล และหอนอนที่มีภาพประวัติพระอินทร์กับไตรภูมิพระร่วง มีลวดลายคล้ายจิตรกรรมที่วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร (วัดพลับ) คาดว่าเป็นผลงานของจิตรกรเอกกรุงธนบุรี

ฉะนั้น ภาพจิตรกรรมของทั้ง 3 หอ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับพระอินทร์ ทั้งคติไตรภูมิ พิธี บรมราชาภิเษกแบบพราหมณ์ และพิธีอินทราภิเษกแบบพุทธ จึงทำให้หอไตรหลังนี้มีคุณค่าทั้งทางศิลปะและประวัติศาสตร์"

รศ.สุรศักดิ์กล่าว และว่า ก่อนที่ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ จะเข้ามาบูรณะหอพระไตรปิฎก ทางวัดได้ปล่อยทรุดโทรมมานาน ปล่อยให้เป็นกุฏิพระ เป็นที่หุงหาอาหารกระทั่งเขม่าจับภาพเขียน ข้าวของภายในไม่มีใครใส่ใจ กระทั่งอาจารย์เฟื้อทราบ จึงเข้ามาปฏิสังขรณ์ เพราะภาพจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 และข้าวของของพระองค์นั้นหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

รองศาสตราจารย์สุรศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เรือนไทยเก่าแก่ 3 หลังแฝดนั้นเป็นศิลปะ แบบอยุธยาตอนปลายคาบเกี่ยวถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งอาจารย์เฟื้อแกะสลักเป็นลายขมวดตามต้นฉบับแล้วลงรักปิดทอง จึงเป็นอาคารทรงคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและจิตรกรรม ซึ่งเป็นผลงานของจิตรกรเอกในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ซึ่งยังหลงเหลืออยู่

การบูรณะหอพระไตรปิฎก ผลงานของจิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ.2526


หอไตร"วัดระฆัง" หลอมรวมศิลปะเอก"2ยุค"



ที่มา นสพ มติชน



Create Date : 29 เมษายน 2555
Last Update : 29 เมษายน 2555 22:58:50 น. 0 comments
Counter : 3289 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.