กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มิถุนายน 2565
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
30 มิถุนายน 2565
space
space
space

สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อทุกข์โทษแก่ตัวเอง (นิวรณ์)


170สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อทุกข์โทษแก่ตัวเรา: นิวรณ์ ๕

   
   วันก่อนได้พูดถึงเรื่อง กิเลส ๓ ประการ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นรากเหง้าของสิ่งชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ทำใจเราให้เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไป เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ  วันนี้ จะได้พูดเรื่องนิวรณ์ ๕ ประการ

   "นิวรณ์"   แปลว่า   กั้น, กัก, คำว่า วิวรณ์ แปลว่า เปิด เป็นคำตรงข้าม นิวรณ์ แปลว่า กั้น วิวรณ์ แปลว่า เปิด  นิวรณ์ ในที่นี้ หมายถึงเครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุคุณงามความดี เรียกธรรมเป็นเครื่องกั้นจิต เพราะคำว่า “ธรรมะ” นั้น เป็นสิ่งดี  ก็ได้   เป็นสิ่งชั่ว ก็ได้  ในที่นี้หมายถึง เครื่องกั้นใจไม่ให้บรรลุคุณงามความดี

คนเราเวลาจะทำอะไร   เช่น   เรียนหนังสือ   ทำการงาน  หรือว่าเราบวชเข้ามาเพื่อมาศึกษาเล่าเรียน เจริญสมาธิภาวนา มันมีอุปสรรคเกิดขึ้น ทำให้สิ่งเหล่านั้นไม่ลุล่วงสำเร็จด้วยดี สิ่งที่มาเป็นอุปสรรคนี้มันมีหลายเรื่องมากมายหลายประการ  แต่รวมแล้วก็อยู่ใน นิวรณ์ ๕ ประการ เข้ามากั้นจิตไม่ให้เราบรรลุจุดหมายที่เราต้องการ จึงควรจะได้ศึกษาได้รู้ไว้ เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันมีลักษณะเช่นใด มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจของเรามีสภาพเช่นไร เป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร จะได้รู้ชัดให้ถูกต้อง จะได้ระวังจิตใจไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกต่อไป

เหมือนกับว่า เราเรียนรู้เรื่องข้าศึกที่มันจะมาโจมตีบ้านเมืองของเรา เรารู้ว่าข้าศึกที่มันมีจำนวนเท่าไร และก็ยกมาหยุดที่ไหน จะโจมตีบ้านเมืองเราโดยทางใดบ้าง เราจะได้ป้องกันไม่ให้ข้าศึกรุกรานเข้ามาทำร้ายพลเมืองในประเทศได้ ฉันใด ในชีวิตของเราก็ฉันนั้น ต้องมีการปิดกั้นสิ่งไม่ดีไม่งามไม่ให้เกิดขึ้นรบกวนจิตใจ


   มีหนังสือเล่มหนึ่งเขากล่าวว่า  ตัวเรานี่เป็นเมืองเมืองหนึ่ง  เขาเรียกว่า  “กายนคร”  กายนคร  ผู้ครองกายนั้นก็คือจิตนั่นเอง  ตั้งให้เป็นพระยาเลย  เรียกว่า  “พระยาจิตราช”  พระยาจิตราชเป็นผู้ครองร่างกายทั้งหมด

ทีนี้  พระยาจิตราช  มีอำมาตย์ทั้งฝ่ายชั่ว  ฝ่ายดี  เรียกว่า  ฝ่ายกังฉิน ก็มี ตงฉิน ก็มี

ฝ่ายกังฉิน ก็มีขุนโลภ ขุนโกรธ ขุนหลง รวม ๓ ขุนนี้เป็นตัวหาเรื่อง ทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนบ่อยๆ ให้บ้านเมืองวุ่นวายด้วยประการต่างๆ คือ ขุนโลภ ขุนโกรธ ขุนหลง นี่เอง  และ ฝ่ายตงฉิน ก็มี ฝ่ายอโลภะ ฝ่ายอโทสะ ฝ่ายอโมหะ คือ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง นี่คือฝ่ายดี

ฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว นี่มันผลัดกันขึ้นมายุแหย่พระยาจิตราช

บางที ฝ่ายชั่วเข้ามายุอย่างนั้น  ยุอย่างนี้ พระยาจิตราชก็โน้มเอียงไปทางฝ่ายชั่ว

บางที ฝ่ายดีเข้ามา  บอกว่าไม่ได้   ทำอย่างนั้นแล้วจะทำให้เกิดปัญหาสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้เสียหาย   พระยาจิตราชก็มองเห็นโน้มไปทางฝ่ายดี

   นี่มันเป็นคำเปรียบเทียบชีวิตของเราว่าเป็นเมืองเมืองหนึ่ง แล้วมีผู้ครองระวังปิดกั้นมิให้ข้าศึกเข้ามาโจมตี  ข้าศึกเข้ามาโจมตีนั้น คือ อารมณ์ภายนอกที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์นั่นเอง ที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงไปในรูปต่างๆ

เมื่อสิ่งเหล่านั้นเข้ามากระทบ มันก็เกิด “ผัสสะ” ขึ้นมา แปลว่า  เกิดปัญหายืดยาวขึ้นมา สร้างอะไรต่างๆ ให้เกิดขึ้นในชีวิต คือข้าศึก

แต่ว่าในเมืองคือชีวิตเรานั้น ผู้มาดีก็มีเหมือนกัน คล้ายกับบ้านเมืองเรา คนเข้าเมืองมามีทั้งดีทั้งเสีย พวกดีก็มี พวกเสียก็มี พวกดีเข้ามาเราก็ควรจะรับไว้พิจารณา พวกเสียเข้ามาเราก็ควรพิจารณาแล้วขับไล่ใสส่งออกไป ถ้าเรามีความระมัดระวังอย่างนี้ เราก็จะอยู่ได้อยู่ผู้ปกติ ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ ไม่สร้างปัญหาอะไรให้เกิดขึ้น ที่จะเป็นปัญหายุ่งยากลำบาก ทำความเดือดร้อนให้แก่คนเองและผู้อื่น



   กิเลสประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นทางใจ   แล้วทำใจของเราให้เสียหายมากมายหลายเรื่องหลายประการ เรียกว่า “นิวรณ์” หมายความว่าเป็นเครื่องกั้นใจ คล้ายกับว่า เหมือนกับเมฆกั้นแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องแสงลงมายังพื้นดิน หรือเมฆามาบดบังแสงจันทร์ทำให้โลกมืดมัว ทำให้ไม่เห็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนกับไฟดับทำให้มืดมองไม่เห็นอะไร  นิวรณ์เข้ามาในจิตใจแล้วทำให้มืดบอด ไม่รู้จักอะไรที่ถูกต้องตามสภาพที่เป็นอยู่จริงๆ จึงทำให้เกิดทุกข์เกิดความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ


   นิวรณ์ข้อแรก ได้แก่   กามฉันทะ    กามฉันทะ   แปลว่า ความพอใจในกามต่างๆ อันนี้เป็นข้อแรกที่เป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี   เรียกว่า   มีกามฉันทะครอบงำจิตใจ ในเรื่องกามฉันทะนี้ เรียกว่า มีความพอใจในกาม เพลิดเพลินยินดีใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอันเป็นที่น่าปรารถนาน่าพอใจ ถ้าเราไปเพลิดเพลินมีความยินดีกับสิ่งเหล่านี้ เรียกว่า มีกามฉันทะครอบงำจิตใจ

ตัวอย่าง เช่น คนเราจะทำหน้าที่การงานนี่ ถ้ามีกามฉันทะครอบงำจิตใจ การทำหน้าที่การงานนั้นก็จะไม่สำเร็จเรียบร้อยไปด้วยดี หรือว่าคนเราจะเรียนหนังสือนี่  ถ้ามีกามฉันทะครอบงำจิตใจ การเรียนก็จะไม่ก้าวหน้า  ไม่ก้าวหน้า  จิตใจมันหมกมุ่น การเรียนก็จะไม่ก้าวหน้า เพราะอะไร? เพราะใจเราไปติดอยู่ในเรื่องเหล่านั้น นึกคิดอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในใจด้วยประการต่างๆ จึงเป็นเรื่องวุ่นวายในทางจิตใจ

   ตัวอย่าง เช่นว่า คนหนุ่มๆที่เป็นนักศึกษาเล่าเรียน แล้วใจก็ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องกามคุณ เช่น รักผู้หญิงไปติดผู้หญิงอะไรอย่างนี้ การเรียนไม่มีทางก้าวหน้า มันจะสอบไล่ตก เพราะใจไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ทำให้เกิดความปั่นป่วนรวนเร ทำให้ไม่สามารถจะศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไปได้ ผลที่สุดต้องออกจากโรงเรียนไปได้ ที่ต้องออกจากโรงเรียน เพราะใจมันไปยุ่งกับผู้หญิงเสีย อันนี้ มันก็เป็นกามเหมือนกัน  ไม่ใช่ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงเท่านั้น เช่นว่า
ไปชอบเรื่องสนุกต่างๆ เช่น ติดหนัง ติดละคร ติดเกม ติดสนุกในเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านเมืองมากมาย เด็กหนุ่มๆ เหล่านั้นไปติดความเพลิดเพลินสนุกสนาน หนีโรงเรียน ไม่อยากจะเรียนหนังสือ อันนี้ ก็เรียกว่าเป็นกามเหมือนกัน  กามคุณมันเข้ามาล่อจนเกิดกามฉันทะแล้วก็ไม่อยากจะเรียน

หรือเป็นคนประเภทอ่อนแอ จิตใจไม่เข้มแข็ง เพราะว่าไปติดในความสบาย อาหารไม่เป็นที่น่าพอใจ ที่อยู่หลับนอนไม่เป็นที่น่าพอใจ อะไรไม่เป็นที่น่าพอใจ เรียนหนังสือไม่ได้ต้องกลับบ้าน เลยไม่สำเร็จเรื่องการศึกษา  เรื่องนี้  เป็นเรื่องเกี่ยวกับกามทั้งนั้น  ที่มันเข้ามาพัวพันอยู่ในใจของเด็กหนุ่มคนนั้น  เด็กหนุ่มคนนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าจิตใจมันไปหมกมุ่นอยู่สิ่งเหล่านั้นเสียแล้ว

   คนที่มาบวชเป็นภิกษุ สามเณร  ถ้าจิตใจตกอยู่ในอำนาจของกาม ก็เรียกว่า มีกามฉันทะครอบงำจิตใจ คิดถึงบ้าน คิดถึงความสนุกสนาน คิดถึงรสอาหารที่เคยลิ้มเคยชิม ไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ได้ ก็ต้องลาสิกขาออกไปเพราะเรื่องอย่างนี้ อันนี้เรียกว่า กามฉันทะมันเข้าครอบงำจิตใจเหมือนกัน ไปเรียนมา ไปบวชมา แต่ไม่สำเร็จ หรือไปเจริญภาวนา ต้องอดทน เข้มแข็ง แต่ทำไม่ได้ เพราะจิตมันไปชอบความสบายตามแบบที่เคยสบาย ไม่ได้เปลี่ยนจิตใจให้เข้าสู่สภาพที่ถูกต้อง ก็เลยจิตใจไม่ก้าวหน้า นี่เรื่องของกามทั้งนั้น พูดถึงเรื่องกามแล้วมันเป็นพิษสงอยู่พอใช้ ถ้าเราไม่รู้จักส้องเสพ เป็นผู้มัวเมาในสิ่งนั้นมากเกินไป ก็เลยเสียหาย


   คนที่อยู่บ้าน มีครอบครัว  เช่น  มีบุตร  มีภรรยา  มีสามี  แม้จะเป็นผู้เสพกาม  แต่เสพพอประมาณ มีความพอดี ไม่ใช่เสพด้วยความมัวเมาหลงใหลหมกมุ่น  มันก็ไม่เกิดทุกข์เกิดภัยอะไร กลับเป็นเรื่องอำนวยกำลังให้อยู่ดีก็ได้  ถ้ารู้จักพอดี  นั่นสำหรับชาวบ้าน  แต่สำหรับนักบวชนั้นต้องหลีกหนีจากสิ่งเหล่านั้น  เพศตรงข้ามเป็นเรื่องที่ต้องห่าง  แต่เราอย่าเข้าใจว่า กามนั้น หมายแต่เพียงเพศตรงข้าม หรือหมายถึงการอยู่ร่วมระหว่างหญิงกับชายเท่านั้น

วัตถุทั้งหลายที่ทำให้เกิดความกำหนัดเพลิดเพลิน   ก็เรียกว่ากามทั้งนั้น   เช่น   พูดว่าพระเราเป็นผู้เสพกามก็ได้  แต่ไม่ใช่เสพกามในเพศตรงกันข้าม  แต่เราหมายความว่า อยู่กับวัตถุ เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็เรียกว่า อยู่กับกามเหมือนกัน

แต่ว่าเราเสพด้วยปัญญาความรู้เท่ารู้ทัน  ไม่มัวเมาหลงใหลอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ใช้ปัญหาเป็นเครื่องพิจารณา  เช่น  นุ่งห่มจีวร  เราก็ใช้การพิจารณาแบบปัจจเวกขณ์ ว่า เราไม่ได้นุ่งห่มเพื่อความสวยงาม  เพื่อการตบแต่ง  เพื่ออะไรอย่างนั้น  นุ่งห่มเพื่อกันหนาว  กันร้อน  กันเหลือบ  กันยุง  กันสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ให้มาขบกัดร่างกาย พออยู่ได้สบาย ไม่ใช่เพื่อความหรูหราฟู่ฟ่ากันมากจนเกินไป

   การพิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้  กามคุณก็ไม่มีพิษสง  เกิดอยู่เหนือเรา แต่ถ้าเราหลงใหลมัวเมาติดอยู่กับความสุข ก็เรียกว่ามันมีอำนาจเหนือเราจนไปไหนไม่ได้ มันมีอำนาจเหนือเรา ไปไหนไม่ได้ อย่างนี้ เรียกว่าเสียหาย มันเข้าเขตของกามฉันทะเข้ามาครอบงำจิตใจ

 




 

Create Date : 30 มิถุนายน 2565
0 comments
Last Update : 22 มกราคม 2567 18:14:42 น.
Counter : 511 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space