กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มิถุนายน 2565
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
17 มิถุนายน 2565
space
space
space

แทรกเสริม วิญญาณ



    วิญญาณ    แปลตามแบบว่า   ความรู้แจ้ง คือ รู้แจ้งอารมณ์   หมายถึง ความรู้ประเภทยืนพื้น หรือความรู้ที่เป็นตัวยืน เป็นฐานและเป็นทางเดินให้แก่นามขันธ์อื่นๆ เกี่ยวข้องกับนามขันธ์อื่นทั้งหมด เป็นทั้งความรู้ต้น และความรู้ตาม

   ที่ว่าเป็นความรู้ต้น คือ เป็นความรู้เริ่มแรก  เมื่อเห็น  ได้ยิน เป็นต้น  (เกิดวิญญาณขึ้น)  จึงจะรู้สึกชื่นใจ หรือบีบคั้นใจ  (เวทนา)  จึงจะกำหนดได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่  (สัญญา)  จึงจะจำนงตอบและคิดปรุงแต่งไปต่างๆ  (สังขาร)  เช่น  เห็นท้องฟ้า (วิญญาณ)  รู้สึกสบายตาชื่นใจ  (เวทนา) หมายรู้ว่า  ท้องฟ้า สีคราม สดใส ฟ้าสวย ฟ้าบ่าย ฟ้าสวย  (สัญญา)  ชอบใจฟ้านั้น อยากเห็นฟ้านั้นนานๆ ไม่อยากให้เวลาผ่านไป โกรธชายคาที่บังไม่ให้เห็นฟ้านั้นเต็มที่  คิดหาวิธีจะทำให้ได้นั่งดูฟ้านั้นได้สบายๆ ชัดเจนและนานๆ ฯลฯ (สังขาร)

   ที่รู้ตาม คือรู้ตามไปตามกิจกรรมของขันธ์อื่นๆ  เช่น  รู้สึกสุขสบาย  (เวทนา)  ก็รู้ว่าเป็นสุข (วิญญาณ)  รู้สึกบีบคั้นใจไม่สบาย  (เวทนา)  ก็รู้ว่าเป็นทุกข์  (วิญญาณ)  หมายรู้ ว่าอย่างนี้เป็นสุข  อย่างนั้นเป็นทุกข์  (สัญญา)  ก็รู้ไปตามนั้น   เมื่อคิดนึกปรุงแต่งตั้งเจตจำนงไปอย่างใดๆ (สังขาร) ก็ย่อม มีความรู้ควบอยู่พร้อมกันด้วยโดยตลอด กระแสความรู้ยืนพื้นซึ่งเกิดดับต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาควบไปกับนามขันธ์อื่นๆหรือกิจกรรมทุกอย่างในจิตใจ นี้เรียกว่า วิญญาณ

   ลักษณะอีกอย่างหนึ่ง   ที่ช่วยความเข้าใจเกี่ยวกับวิญญาณ คือ วิญญาณ เป็นการรู้ความต่างจำเพาะ รู้ความหมายจำเพาะ หรือรู้แยกต่าง  ความหมายนี้พึงเข้าใจด้วยตัวอย่าง เช่น เมื่อเห็นผืนผ้าลาย ที่ว่าเห็นนั้น แม้จะไม่ได้กำหนดหมายว่าอะไรเป็นอะไร ก็ย่อมเห็นลักษณะอาการ เช่น สีสัน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันเป็นพื้นอยู่พร้อมด้วยเสร็จ นี้เป็นความรู้ขั้นวิญญาณ เพราะวิญญาณรู้เห็นความแตกต่างนั้นอยู่

สัญญา จึงหมายรู้อาการที่แตกต่างกันนั้นได้ว่า เป็นนั่น เป็นนี่ เช่น เป็นเขียว ขาว แดง เป็นต้น หรืออย่างเมื่อรับประทานผลไม้  ถึงจะไม่ได้กำหนดหมายว่าเป็นรสหวาน รสเปรี้ยว ก็รู้รสที่หวาน ที่เปรี้ยวนั้น ซึ่งแตกต่างกัน และแม้ในรสที่เปรี้ยวหรือหวานด้วยกัน แม้จะไม่กำหนดหมายว่า รสเปรี้ยวมะม่วง เปรี้ยวมะปราง เปรี้ยวมะขาม เปรี้ยวมะนาว เปรี้ยวสับปะรด หรือหวานกล้วยหอม หวานกล้วยน้ำว้า  หวานกล้วยไข่  หวานแอปเปิ้ล  เมื่อลิ้มก็ย่อมรู้รสที่ต่างจำเพาะนั้น ความรู้อย่างนี้ คือ วิญญาณ เป็นความรู้ยืนพื้น   เมื่อรู้แล้ว    นามขันธ์อื่นจึงจะทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น รู้สึกอร่อยไม่อร่อย (เวทนา) จำได้หมายรู้  ว่ารสหวานอะไร  รสเปรี้ยวอะไร (สัญญา) เป็นต้น

   ส่วนในแง่ที่ว่า รู้ความหมายจำเพาะนั้น  อธิบายสั้นๆว่า เมื่อเกิดวิญญาณขึ้น คือ เห็น ได้ยิน เป็นต้น ว่าที่จริงแล้วจะเป็นการเห็น การได้ยินจำเพาะบางแง่ บางความหมาย ของสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน เท่านั้น  พูดอีกอย่างหนึ่งว่า จะเป็นการเห็น การได้ยิน ตามความหมายจำเพาะแง่ จำเพาะอย่าง ที่เราใส่ให้แก่สิ่งนั้น ทั้งนี้ สุดแต่สังขารที่เป็นปัจจัยให้วิญญาณนั้นเกิดขึ้น

   ตัวอย่าง เช่น ในท้องทุ่งแห่งหนึ่ง เป็นที่โล่งกว้าง มีต้นมะม่วงขึ้นอยู่ต้นเดียว เป็นต้นใหญ่มาก แต่มีผลอยู่เพียงไม่กี่ลูก และใบห่าง  แทบจะอาศัยร่มเงาไม่ได้

มีชาย ๕ คน เดินทางมาถึงต้นมะม่วงนั้นในโอกาสต่างๆกัน

คนหนึ่ง วิ่งหนีสัตว์ร้าย

คนหนึ่ง กำลังหิวมาก

คนหนึ่ง ร้อนแดด กำลังต้องการร่มไม้

คนหนึ่ง กำลังหาผักผลไม้ไปขาย

คนหนึ่ง กำลังหาที่ผูกสัตว์เลี้ยงของตนเพราะจะแวะไปธุระในย่านใกล้เคียง

คนทั้ง ๕ นั้น มองเห็นต้นมะม่วงใหญ่ทุกคน แต่จะเป็นการเห็นในแง่ และขอบเขตความหมายต่างๆ กัน วิญญาณเกิดขึ้นแก่ทุกคน แต่วิญญาณของแต่ละคนหาเหมือนกันไม่ เพราะแตกต่างกันไปตามเจตนาของตนๆ ต่อต้นมะม่วง

ในเวลาเดียวกัน สัญญา คือ การกำหนดหมายของแต่ละคนก็จะต่างๆกันไป ภายในขอบเขตแห่งความหมายที่ตนเห็นในขณะนั้นด้วย แม้เวทนาที่เกิดขึ้นก็ไม่เหมือนกัน เช่น

คนที่วิ่งหนีสัตว์ร้าย เห็นต้นมะม่วงใหญ่แล้วดีใจ เพราะเห็นเครื่องช่วยให้หนีรอดปลอดภัย

คนที่หิวมากก็ดีใจ เพราะผลมะม่วงเพียง ๓-๔ ลูก ก็จะช่วยให้ตนอิ่มพ้นอดตายได้

คนที่ร้อนแดด อาจเสียใจ เพราะผิดหวังที่ไม้ใหญ่ไม่มีร่มให้อย่างที่ควรจะเป็น

คนหาผลไม้ไปขาย ก็อาจเสียใจ เพราะผิดหวังต่อจำนวนผลไม้ที่น้อย

ส่วนคนหาที่ผูกสัตว์เลี้ยง อาจจะรู้สึกสบายใจแต่เพียงเล็กน้อย แค่โล่งใจว่า ไม่ต้องจูงสัตว์ไปหรือไปหาที่ผูกที่อื่น




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2565
0 comments
Last Update : 20 มกราคม 2567 16:49:32 น.
Counter : 356 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space