กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มิถุนายน 2565
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
13 มิถุนายน 2565
space
space
space

ตัวเรา คืออะไร


170ตัวเรา คืออะไร ? 393

   การศึกษาธรรมอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา   มีจุดหมายสำคัญอยู่ที่ต้องการให้รู้จักว่า ตัวเราคืออะไร ?   สิ่งที่เกิดขึ้นๆ ในตัวเรานั้นคืออะไร ?   มันมีเหตุมาจากอะไร, แล้วเราจะจัดการแก้ไขกับสิ่งนั้นอย่างไร ?   อันนี้  เป็นจุดหมายสำคัญในการศึกษาธรรมะ เรื่องของตัวเราเองต้องรู้ คนเราที่เสียผู้เสียคนเพราะไม่รู้จักตัวเอง   ไม่รู้จักตัวเองแล้วจะไปรู้จักสิ่งอื่นได้อย่างไร ตนนี้มีหน้าที่อะไร และควรจะทำอะไรเป็นประจำในชีวิต
เรื่องอย่างนี้  ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ปล่อยตนไปตามเรื่องตามราว กินไปเล่นไป ตายเข้าโลงเน่า ชีวิตไม่มีสาระไม่มีแก่นสาร เพราะไม่เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้   แต่ถ้าบุคคลใดรู้จักตน ก็สามารถจะทำตนให้ดีให้งามขึ้นไปได้ เพราะเมื่อรู้จักตัวเองแล้วก็รู้จักว่า เราควรจะทำอะไรเพื่อให้ตัวเรามีค่ามีราคา นี่เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจ.

   และการศึกษาธรรมะในทางพระพุทธศาสนานั้น เราต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาที่ตัวเราก่อน และศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา ศึกษาวิธีการที่แก้ไขนั้นต่อไป อันนี้เป็นการเรียนที่ถูกต้อง ได้ประโยชน์เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้   ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็เรียนไปตามเรื่อง ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อย่างไร จะเกิดประโยชน์แก่ตนอย่างไรก็ไม่รู้  จึงควรจะได้เรียน เรียง เรื่อง กันไปโดยลำดับ.


     ไอ้ที่เขาเรียงไว้ในหนังสือ   เช่นว่าใน นวโกวาท เรียงธรรมะไว้เป็นหมวดๆ ทุกะหมวด ๒ เริ่มด้วย ธรรมะมีอุปการะมาก ๒ อย่าง และเรื่อยไปจนกระทั่งหมวด ๑๐ หมวด ๑๑ อะไรโดยลำดับ อันนี้ เป็นวิธีการโดยตำรา ซึ่งเรียบเรียงในรูปอย่างนั้น การเรียบเรียงนี้โดยพระสารีบุตรมหาเถระ ซึ่งเป็นสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า พระโมคคัลลานะเป็นเหมือนพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธเจ้า สองรูปนี้เขาเรียกว่า สาวกขวาซ้าย ถือเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ธรรมะแก่ประชาชน  ท่านพระสารีบุตรนั้นท่านเป็นเลิศในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นเลิศในทางฤทธิ์ ถ้าจะฝึกคนพระสารีบุตรท่านฝึกคนมาก่อน ท่านเอาคนเข้ามา   พระมหาโมคคัลลานะท่านก็ฝึกต่อให้เป็นผู้บรรลุมรรคผลต่อไป สององค์นี้จึงเป็นผู้ทำงานหนักเป็นกำลังใหญ่ของพระพุทธเจ้า

   เมื่อคราวหนึ่ง นิครนถ์ได้ตาย คือ มหาวีระน่ะที่เป็นศาสดาของชินะ ได้มรณะไป เขาเรียกว่าถึงนิรวาณ ไปถึงนิพพานเหมือนกัน เขาเรียกว่า โมกษะ เขาไม่เรียกว่านิพพาน เรียกว่า โมกษะ หมายความว่า หลุดพ้น และสาวกเกิดแตกกันเป็น ๒ ฝัก ๒ ฝ่ายทะเลาะเบาะแว้งกัน  พระสารีบุตรท่านเห็นว่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับพุทธศาสนา คือถ้าเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน เกรงว่าพระภิกษุทั้งหลายจะแตกแยกกัน จะไม่อยู่ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท่านจึงคิดว่า สมควรจะได้กระทำการสังคายนา

   สังคายนา  แปลว่า ร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระเบียบแบบแผน ที่เรียกว่า ทำสังคายนา สังคายนาน่ะ พระสงฆ์จำนวนมากมาประชุมกัน สะสางรวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระเบียบแบบแผน  เรียกว่า ประชุมกันสังคายนา

   ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ปรินิพพาน พระสารีบุตรก็ได้สังคายนาด้วยตัวท่านเองก่อน ด้วยการรวบรวมธรรมเป็นหมวดเป็นหมู่ เรียกว่ารวมกันเข้าเป็นสูตรใหญ่ในพระคัมภีร์ เริ่มธรรมตั้งแต่หมวด ๑,๒,๓,๔,๕, ไปโดยลำดับ

ธรรมหมวดใดมีเรื่องเดียว ก็เอามารวมไว้หมวด ๑ หมวดใดมี ๒, ๓, ๔ ฯลฯ เรื่อง ก็เอามารวมไว้ในพวก หรือหมวด ๒, ๓, ๔ ฯลฯ อันนี้เป็นงานที่ท่านได้เริ่มต้นไว้ แต่ว่าก็ยังไม่บริบูรณ์ ท่านก็ได้นิพพานไปเหมือนกัน

พระสาวกทั้งหลายก็ได้เอามารวบรวมกันอีกที เป็นหมวดเป็นหมู่เป็นพรรคเป็นพวกๆ เรียกว่าเป็นนิกาย เช่น ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย เป็นต้น รวมไว้เป็นพวกๆ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาเล่าเรียน สะดวกแก่การค้นคว้า  คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเรานั้น มีระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่ครั้งพระองค์นิพพานแล้วใหม่ๆ (สังคายนาครั้งที่ ๑)

   เพราะฉะนั้น   เมื่อเราเห็นธรรมะในหนังสือ นวโกวาท เริ่มต้นด้วยทุกะหมวด ๒ และก็ว่าไปโดยลำดับเป็นหมวดๆ  การเรียงไว้ในรูปเช่นนั้น  เป็นการเรียงแบบปริยัติ หรือทฤษฎี เพื่อสะดวกแก่การเอาไว้ท่องจำ   เราเรียนเพื่อการปฏิบัติแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง   ถ้าเราเรียนเพื่อการปฏิบัตินั้นต้องเรียนรู้อีกวิธีหนึ่ง  คือต้องเรียนรู้จากตัวเราออกไปโดยลำดับ คือตั้งแต่จากตัวเรา   คืออะไรๆมันควรจะตั้งต้นที่ตัวเราทั้งนั้น แล้วก็มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกายยาววาหนาคืบกว้างศอกหนึ่งนี้ เราบัญญัติว่ามีทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ มีการดับทุกข์ มีข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เธอจงพิจารณาเอาในร่างกายนี้

พระพุทธดำรัสนี้เป็นเครื่องชี้บ่งให้เราศึกษาจากตัวเรา เรียนจากในตัวของเรา แม้เรารู้อะไรมาจากที่อื่น แต่ถ้าในรูปของการปฏิบัติแล้วต้องมุ่งเอาที่ตัว ต้องมาศึกษาที่ตัว จะไปศึกษาเอาที่อื่นนั้นไม่สะดวก

สู้เรียนเอาจากตัวเองไม่ได้ เพราะในตัวเองนั้นมีพร้อมทุกอย่าง เราจะเรียนเรื่องอะไรก็ได้ และประสบการณ์ชีวิตของเราแต่ละวันมันก็เป็นบทเรียนอยู่ทั้งนั้น แต่ว่าเราไม่ค่อยจะได้ศึกษา ไม่สนใจ อะไรเกิดขึ้นแล้วก็ปล่อยผ่านพ้นไป   ความทุกข์เกิดขึ้น  หายทุกข์แล้วก็หมดเรื่องไป  ความสุขเกิดขึ้นผ่านพ้นไป  แล้วมันก็หมดเรื่องกัน

อันนี้  มันไม่เกิดปัญญา ไม่เป็นการศึกษาเรื่องตัวเองให้เข้าใจ ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น เพราะไม่ได้บทเรียน ไม่ได้ครูจากตัวเราเอง  ในทางที่ถูกเราควรจะทำอย่างไร ? เราควรจะได้เอามาคิด วิเคราะห์ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ


    ปัญหาอะไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา  เราอย่าให้มันผ่านไปเฉยๆ แต่เราต้องเอามาวิเคราะห์วิจัยอีกทีหนึ่งว่า สิ่งนี้คืออะไร มันเกิดขึ้นจากอะไร ให้คุณให้โทษอย่างไร เราควรจะเข้าไปจัดการกับมันในรูปใด ต้องเอามาคิดมาวิเคราะห์วิจัย  การมาวิเคราะห์วิจัยนั่นแหละ คือ การศึกษา หรืออีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เจริญวิปัสสนาก็ได้ เพราะวิปัสสนานั้น เป็นเรื่องของการคิดค้น เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ตามสภาพที่เป็นอยู่จริงๆ เราจึงต้องหมั่นคิดหมั่นค้นในเรื่องอย่างนั้น เอามาวิเคราะห์วิจัย   ความทุกข์เกิดขึ้น   ก็ต้องเอามาคิดค้น   ความสุขเกิดขึ้นก็ต้องเอามาคิดมาค้น เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และจะได้จำไว้เพื่อจะไม่ทำอีก  หรือว่าจะได้กระทำสิ่งนั้นอีก ในเมื่อสิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์  อันนี้แหละที่ถูกต้อง คือการศึกษาจากเรื่องภายในออกไปสู่โลกภายนอก ไม่ใช่เรียนจากภายนอกมาสู่ภายใน  การเรียนพระพุทธศาสนานั้น เรียนจากภายในออกมาภายนอก เพื่อจะได้รู้เรื่องของตัวเองได้ถูกต้อง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรจะได้รู้ไว้

   ทีนี้ เมื่อเราตั้งต้นจากตัวเรา เราก็ต้องรู้ว่าตัวเรานี้คืออะไร ?  ในเบื้องต้นขอทำความเข้าใจเอาไว้ก่อนว่า ที่เรียกว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา อะไรนั้น พูดกันโดยธรรมะแล้วมันเป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น แต่ว่าสมมติกันว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  สมมติว่าในโลกเรานี้  เราพูดกันอยู่ ๒ อย่าง พูดกันด้วย สำนวนสมมติ อย่างหนึ่ง สำนวนที่เป็นจริง อย่างหนึ่ง   เขาเรียกว่า สมมติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ  เช่น  พูดว่า “คน” เป็นความจริงโดยสมมติ พูดว่า  นายแก้ว  นายขัน  นายจันทร์ นายดี  เป็นความจริงโดยสมมติ  แล้วก็รับรองกัน  ถ้าเราเรียกว่า แก้ว ก็ขานทันทีแหละ  นั่นเป็นเรื่องสมมติว่าตัวผมสมมติเป็นชื่อ แก้ว ชื่อ ขัน ชื่อ ดี

เป็นเรื่องสมมติว่านี่เป็นโต๊ะ  เป็นเก้าอี้  เป็นเสื้อ  เป็นผ้า นี่เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น มันไม่ใช่เรื่องของจริงของแท้ เพราะเรื่องเอามารวมกันเข้า  ไหลไปตามอำนาจแห่งการปรุงแต่ง  สิ้นฤทธิ์ของการปรุงแต่งก็สลายตัวไป หมดเรื่องไปทีหนึ่ง แล้วมันจะไปผสมปรุงแต่งเรื่องอะไรอีกก็ได้ สุดแล้วแต่เหตุปัจจัยของเรื่องนั้น เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ สิ่งทั้งหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้  เหตุดับผลดับ เหตุอยู่ผลก็อยู่  อะไรมีเหตุมันก็ต้องมีผลควบคู่กันไป  เพราะฉะนั้น  สิ่งที่เรียกว่าเป็นคน เป็นสัตว์อยู่ที่การสมมติ

   บางทีเขาด่าเราว่า “ไอ้สัตว์” เราชักจะเคืองขึ้นมาทันที ต่อยกันเถอะว่าอย่างนั้น ถ้าเป็นนักธรรมะจะไม่โกรธไม่เคืองอะไร เพราะเขาพูดความจริง เรามันเป็นสัตว์จริงด้วย  คำว่า “สัตว์” นั้น มันหมายความว่าอย่างไร ?   หมายความว่าผู้ข้องผู้ติดอยู่ในอารมณ์ มีรูปารมณ์เป็นต้น เรามันข้องหรือเปล่า เรามันติดอยู่ในอารมณ์หรือเปล่า เราเป็นคนข้องติดอยู่ในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เขาเรียกเราว่า “สัตว์” มันก็ถูกต้องแล้ว ไม่เห็นเป็นเรื่องเสียหาย ไม่น่าจะโกรธจะเคืองอะไร นั่นถ้าเป็นนักธรรมะก็นั่งเฉยๆ ยิ้มซะ นั่นมันพูดถูกของมัน เพราะเขาเรียกเราว่า “สัตว์”

   เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นมนุษย์นี่ เขาสมมติได้ คล้ายกับหัวโขนมาสวมให้ สวมเข้าเป็นหัวอนุมาน ก็เต้นเป็นอนุมานได้ สวมหัวทศกัณฐ์ก็เต้นเป็นทศกัณฐ์  สวมหัวเป็นพระรามก็เต้นเป็นพระราม เต้นผิดหน้าที่ไม่ได้ ถึงเวลาเขาสวมหัวอนุมานไปเต้นเป็นพระลักษณ์พระรามก็ไม่ได้ คนไม่ดู เดี๋ยวก็ถูกขว้างเท่านั้นเอง นั้นเป็นเรื่องสมมติ เราต้องรู้จักว่าไอ้นี่เป็นเรื่องสมมติ สมมติเป็นขุนหลวง คุณพระ นั่นสมมติว่าเจ้าคุณ พระครู อย่าไปเที่ยวเห่อให้วุ่นวายไป เขาสมมติเอามาสวมให้นิดหน่อย เดี๋ยวเขาก็ถอดออก เอาหัวอื่นมาสวมให้อีกแหละ ให้เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญ ทำงานดีๆ ก็เป็นชั้นราช เดี๋ยวก็ให้เลื่อนเป็นชั้นเทพ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เรื่องสมมติๆทั้งนั้น นี่คือความสมมติ



235 มนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลกแห่งความสมมติแล้วก็หลงสมมติจึงถูกสมมติบังตาปัญญาเลยมองไม่เห็นสัจธรรม   ถ้าพอแยกสมมติ กับ ปรมัตถ์ออกเขาก็พอเห็นสัจธรรม ดังคนติดถ้ำเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำปลายอุโมงค์รำไรๆ

 




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2565
0 comments
Last Update : 19 มกราคม 2567 18:33:21 น.
Counter : 420 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space