เที่ยวไปกับทัวร์ Circular Train (ตอนที่ 3)
สวัสดีครับ...
ในตอนที่ 2 ผมพานั่งรถไฟช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา มาแวะชมหน่วย Compound "D" ของศูนย์อุตสาหกรรมกลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทย ที่ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี คราวนี้ เรามาเที่ยวกันต่อนะครับ

จาก compound "D" คณะทัวร์ได้กลับขึ้นรถอีกครั้งหนึ่ง และหลังจากนั้นได้เคลื่อนขบวนเข้าสู่สถานีวิหารแดง
ในภาพจะมีขบวนรถข้างต่ำเทข้าง (ขข.) เพื่อใช้ในงานปรับปรุงทางสายแก่งคอย - ลำนารายณ์ - บัวใหญ่ ซึ่งทางบริษัทฯ เช่าจากการรถไฟฯ โดยขุดมาจากย่านโรงงานปูนซิเมนต์ไทยที่ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งรถ ข.ข.เหล่านี้ถูกจอดทิ้งไว้ที่นั่นโดยไม่มีรางต่อเชื่อมสู่ภายนอกนานร่วม 20 ปีเศษทีเดียว

และก็เช่นเคย ทางทีมงานลงมอบของที่ระลึกแก่นายสถานีวิหารแดง ส่วนลูกทัวร์นั้น ไม่พลาดที่จะลงบันทึกรูปตามใจชอบ
เพราะโอกาสที่จะมาเที่ยวตามปกติบนเส้นทางรถไฟสายนี้ ค่อนข้างยากเต็มที เนื่องจากไม่มีขบวนรถโดยสารวิ่งบริการครับ

จากสถานีวิหารแดง ขบวนรถเริ่มไต่ระดับขึ้นสู่เขาพระพุทธฉายซึ่งกั้นเขตระหว่าง อ.วิหารแดง อ.เมืองสระบุรี กับ อ.แก่งคอย
อีกสักครู่ เราจะลอดอุโมงค์เพียงแห่งเดียวบนเส้นทางสายนี้ แต่มีความยาวเป็นลำดับสองของประเทศไทย ด้วยความยาวถึง 1,197.00 เมตร รองจากอุโมงค์ขุนตาน บนเส้นทางสายเหนือ ซึ่งยาวถึง 1,361.30 เมตร

สำหรับตัวอุโมงค์พระพุทธฉายนี้ ก่อสร้างโดยบริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด เมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ.2536 แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2537 มูลค่าก่อสร้าง 127,504,520.68 บาท ผมมีข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับอุโมงค์นี้มาฝากด้วยครับ
ที่ตั้ง บนเส้นทางสายชุมทางคลองสิบเก้า - ชุมทางแก่งคอย ช่วง กม.147+083 - 148+080
- ความยาวรวม 1,197 เมตร
- ความยาวอุโมงค์ตื้น (Shallow Tunnel) ด้านเหนือ 350 เมตร เพื่อกันดิน - หินร่วงหล่นมาทับบริเวณปากอุโมงค์ โครงสร้างผนังอุโมงค์ใช้วิธีเทคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วกลบดินทับ
- ความยาวอุโมงค์ตื้น (Shallow Tunnel) ด้านใต้ 167 เมตร กันดิน - หินร่วงหล่นมาทับบริเวณปากอุโมงค์ มีโครงสร้างเช่นเดียวกัน
- ความยาวอุโมงค์ลึก (Deep Tunel) 680 เมตร ผนังฉีดปูนซิเมนต์ฉาบตะแกรงเหล็กกล้าเพื่อรอยร้าวหินรอบอุโมงค์ (จะสังเกตได้จากผนังอุโมงค์แห่งนี้ จะไม่ราบเรียบเหมือนการหล่อคอนกรีตดาดผนังอุโมงค์เช่นอุโมงค์ขุนตาน)
- มีความสูง 7 เมตร กว้าง 7 เมตร

ภาพขณะเปิดไฟด้านท้ายขบวนส่องดู ขณะขบวนรถกำลังแล่นภายในอุโมงค์ครับ

แล้วค่อยชลอความเร็วจนหยุดที่ปากอุโมงค์ด้านเหนือ เสียงั้นแหละ 
เหตุที่หยุดตรงนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดาคณะทัวร์ได้ลงไปถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกนั่นเอง

ในขณะที่เขาถ่ายรูปกันนั้น อีกกลุ่มเล็กๆ ถือโอกาสบันทึกภาพภายในอุโมงค์จากด้านท้ายรถ ขณะเปิดไฟส่องดูครับ
อุโมงค์แห่งนี้ ผมและชาวคณะได้ลงเดินเท้าลอดตลอดอุโมงค์เมื่อช่วงปี 2550 มาแล้วครับ จึงไม่มีสิ่งใดที่พอเรียกได้ว่าเป็นความตื่นเต้นอีก แฮ่ะ แฮ่ะ

หลังจากถ่ายภาพหมู่แล้วเสร็จ ขบวนรถได้เคลื่อนออกจากปากอุโมงค์ แล้วจอดรอให้ลูกทัวร์เดินทะยอยมาขึ้นรถ ก่อนเข้าสู่สถานีบุใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ อุโมงค์พระพุทธฉายต่อไป

ที่สถานีบุใหญ่ ซึ่งเคยรับบทฉากของภาพยนต์ไทยหลายเรื่อง รวมถึงเรื่อง"โอ.เค.เบตง" ด้วยครับ ซึ่งทีมงานได้ลงไปมอบของที่ระลึกแก่นายสถานีเช่นกัน

บรรยากาศภายในสถานีที่เคยเงียบเหงา กลับคึกคักชุลมุนด้วยบรรดาตากล้องและลูกทัวร์เดินไปเลือกสรรมุมถ่ายรูปตามแต่ใจชอบ ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนลงเขาสู่ชุมทางแก่งคอยอันเป็นปลายทางของเส้นทางสายนี้ครับ

ถนนมิตรภาพ จากมุมมองบนสะพานรถไฟเข้าสู่ชุมทางแก่งคอย ซึ่งหาดูไม่ได้ง่ายๆ นัก

แล้วในที่สุด เส้นทางสายชุมทางคลองสิบเก้า - ชุมทางแก่งคอย ได้มาบรรจบกับเส้นทางรถไฟสายอีสานอีกครั้งหนึ่งที่เห็นทางด้านขวาภาพ พร้อมกับลดระดับลงเข้าสู่ย่านสถานีชุมทางแก่งคอยครับ
และมีป้ายบอกจุดสิ้นสุดเขตรับผิดชอบของสารวัตรบำรุงทางปราจีนบุรีอีกด้วย

หากจะถามว่าชุมทางแก่งคอยนี้ มีขนาดใหญ่โตไหม ? ดูจากป้ายบอกสถานีถัดไป มีถึงสี่ทางแยกทีเดียว คล้ายชุมทางหาดใหญ่ในสมัยก่อน
แต่เส้นทางสายแยกไปสงขลาได้ร้างไปนานแล้ว ทำให้น้อยหน้ากว่าชุมทางแก่งคอยก็ตรงนี้เอง

ขอจอดรอรับเสบียงมื้อกลางวัน ที่ลูกทัวร์สั่งเอาไว้ตั้งแต่ออกจากชุมทางฉะเชิงเทรากันก่อน
(รอติดตามชมเที่ยวไปกับทัวร์ Circular Train ตอนที่ 4 ด้วยนะครับ)

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2555 |
|
3 comments |
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2555 20:56:02 น. |
Counter : 3294 Pageviews. |
|
 |
|