ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง
Group Blog
 
All Blogs
 
ย้อนรอยตำนานบ๊ะจั่ง

ทุกวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฎิทินจีน ชาวจีนจะถือเป็นเทศกาลสำคัญอีกวันหนึ่งที่เรียกกันว่า ตวนหวู่เจี๋ย ซึ่งก็คือเทศกาลขนมบ๊ะจั่งที่ชาวไทยเรารู้จักกัน พอถึงวันนี้ลูกหลานเชื้อสายจีนในไทยก็จะพากันมัดขนมบ๊ะจั่งเพื่อนำมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษและเจ้าที่เจ้าทางในบ้าน แต่เท่าที่ทราบระยะหลังนี้คนที่รู้วิธีมัดบ๊ะจั่งยิ่งมาก็ยิ่งน้อยลงไป กอรปกับอาจเพราะไม่มีเวลา เนื่องจากคนสมัยนี้ต้องออกไปทำงานตามบริษัท วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปมาก การมัดบ๊ะจั่งต้องใช้เวลาและขั้นตอนมาก เริ่มจากหาใบไผ่มาแช่น้ำไว้อย่างน้อยสองวัน จากนั้นนำมาต้มน้ำทิ้งอีกอย่างน้อยสองครั้ง เพื่อให้สะอาดและง่ายต่อการห่อ แช่ข้าวเหนียว หมักหมู เตรียมไข่เค็ม กุ้งแห้ง ถั่วลิสง กวนเผือก ยังมีเม็ดแปะก้วย เม็ดเก่าลัด เห็ดหอมเจียว แล้วแต่ชอบหรือตามกำลังทรัพย์
หลังจากนำข้าวเหนียวลงผัดน้ำมันพร้อมกับกุ้งแห้ง ใส่กระเทียม พริกไท ผักชีและเกลือจนได้รสที่ต้องการแล้ว จึงนำมาห่อด้วยใบไผ่ที่เตรียมไว้ก่อนหน้านั้น วิธีห่อนั้นไม่ง่ายเลย จากนั้นนำไปต้มจนสุกได้ที่ นำขึ้นเสริฟบนโต๊ะอาหาร ขั้นตอนสุดท้ายนี้ง่ายที่สุดคือรับประทาน
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นอกจากการแสดงความเคารพบรรพชนและเจ้าที่เจ้าทางที่เป็นประเพณีอันดีงาม รวมถึงความอร่อยจากบ๊ะจั่งแล้วนั้น ความหมายที่แท้จริงของเทศกาลบ๊ะจั่งหรือตวนหวู่เจี๋ยนั้น ลูกหลานจีนชาวไทยรุ่นหลังน้อยคนนักที่จะรู้ว่ามันมีความหมายทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งเพียงใด เป็นมรดกวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณที่สืบทอดมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าสองพันสองร้อยกว่าปี และควรค่าแก่การเผยแพร่ต่อไป
ตำนานของบ๊ะจั่งนั้น มีความเป็นมาว่า กวีเอกชื่อ ชวีเหวียน เป็นขุนนางระดับสูงรองจากอุปราชของเมืองฉู่ในสมัยจั้นกว๋อตอนปลาย เป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ รักชาติและจงรักภักดีต่อพระเจ้าฉู่ฮ๋วายหวัง เขาเสนอแนวคิดที่จะสามัคคีปรองดองกับเมืองฉีเพื่อผนึกกำลังร่วมกันต่อต้านการรุกรานของเมืองฉิน แต่ขัดกับกลุ่มผลประโยชน์ของขุนนางอีกฝ่ายจึงถูกใส่ร้ายกลั่นแกล้ง ยุยงให้พระเจ้าฉู่ฮ๋วายหวังเนรเทศเขาออกจากเมืองหลวง เขาเสียใจและผิดหวังกับอนาคตของบ้านเมือง ได้ประพันธ์บทกวีชื่อ หลีเซา และฮ๋วายซา (ซึ่งต่อมาถือเป็นผลงานกวีนิพนธ์ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์วรรณกรรมของจีน ) ก่อนเสียชีวิต เขาได้เดินทางมาที่แม่น้ำมี่หลวอเจียง พบกับชาวประมงคนหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำ ชาวประมงรู้ว่าเขาเป็นขุนนางรักชาติที่ถูกกลั่นแกล้งจนอยู่ในสภาพเช่นนั้น ชาวประมงบอกกับเขาว่า ทำไมท่านไม่ลองทำเป็นเลอะเลือน ไม่ต้องไปรับรู้เรื่องราวเสียก็หมดเรื่อง ไม่ต้องจริงจังกับมันจนต้องตกตระกรำลำบากเพียงนี้ เขาตอบว่า หากให้เราทำเช่นนั้นก็สู้ให้เรากระโดดน้ำตายแล้วให้ปลากินเข้าไปในท้องมิดีกว่าหรือ สุดท้าย เมื่อเขาได้ข่าวพระเจ้าฉู่ฮ๋วายหวังถูกเมืองฉินจับไปและเสียเมืองไปในที่สุด เขาจึงตัดสินใจอุ้มก้อนหินมัดกับตัวเดินลงแม่น้ำมี่หลวอเจียงและจบชีวิตที่นั่น
ชาวบ้านเมื่อล่วงรู้ข่าวของเขา ต่างพากันพายเรือเพื่อค้นหาศพ แต่ค้นอยู่สามวันก็ไม่พบ ชาวบ้านจึงพากันนำข้าวหนียวมามัดด้วยใบไผ่ทิ้งลงในแม่น้ำให้ปลากิน เพื่อไม่ให้ปลาไปกินศพของเขา (ที่ต้องใช้ใบไผ่มัดเข้าใจว่าเพื่อไม่ให้ข้าวละลายกระจายหายไปกับน้ำเร็วเกินไป) ต่อมาจึงสืบทอดเป็นประเพณีมัดบ๊ะจั่ง แข่งเรือมังกร ดื่มเหล้าสงหวง เพื่อรำลึกถึงชวีเหวียน เชิดชูกวีผู้รักชาติยิ่งชีพผู้นี้
ในวันที่มีความหมายและคุณค่าเช่นนี้ มิเพียงชาวจีนในประเทศจีนเท่านั้นที่จักเชิดชูระลึกถึง พวกเราชาวไทยลูกหลานจีนก็ควรจะรู้และเข้าใจความหมายที่แท้จริงของวันเทศกาลบ๊ะจั่งด้วย ตระหนักในคุณค่าทางจิตวิญญาณของวันนี้ ศึกษาและส่งเสริมจิตใจรักชาติที่ยิ่งใหญ่เยี่ยงนี้
คนไทยก็ควรภูมิใจที่บ้านเราก็มีบุคคลเฉกเช่นชวีเหวียนเหมือนกัน เขาผู้นั้นก็คือ สืบ นาคะเสถียร เขาก็แลกชีวิตของตนเองเพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยได้ตื่นขึ้นมาตระหนักถึงสถานการณ์ของป่าไม้ สัตว์ป่าที่ถูกพวกนายทุนผู้ละโมภทำลายจนยากแก่การแก้ไข เยียวยา ขอให้ชีวิตของบุคคลเหล่านี้อย่าได้เสียสละอย่างสูญเปล่า
*****




Create Date : 08 มิถุนายน 2554
Last Update : 8 มิถุนายน 2554 7:10:27 น. 1 comments
Counter : 495 Pageviews.

 
สวัสดีค่า แวะมาขอความช่วยเหลือค่ะ
ช่วยเข้าไปตามลิงค์นี้

//www.my3space.com/activity/writestory/read-story.php?id=36

แล้วกดปุ่ม vote ให้หน่อยนะคะ
เห็นแก่นัก(หัด)เขียน ตัวน้อยๆ (ไปหมด) คนนี้ด้วยนะคะ
ขอบคุณมากๆเลยค่า^__^


โดย: dayydream_m วันที่: 8 มิถุนายน 2554 เวลา:19:24:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

syrubbocaboro
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add syrubbocaboro's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.