happy memories
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
13 กุมภาพันธ์ 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๘๗





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










ร่วมร้องเพลง นารีรัตนา จากหัวใจ



กลุ่มศิลปินและเยาวชนจิตอาสากลุ่มบัวลอย วัดปทุมวนาราม ร่วมใจประพันธ์เพลง "นารีรัตนา" เทิดพระเกียรติสมเด็จฟ้าหญิงไทย ครบ ๖o พรรษา ด้านนักร้องสาว ปาน ธนพร ชวนทุกคนร้องให้คล่องก่อนวันที่ ๒ เม.ย.


เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ นี้ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร โดยกลุ่มศิลปิน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านจิตอาสาในชื่อจิตอาสากลุ่มบัวลอย จากโครงการปทุมมามหาสิกขาลัย ร่วมกันจัดทำบทเพลงเฉลิมพระเกียรติสะท้อนถึงพระจริยวัตรและพระราชกรณียกิจขึ้น เพราะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า ทรงเป็นต้นแบบของผู้ใฝ่การเรียนรู้


นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงนารีรัตนา กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการแต่งเพลง "นารีรัตนา" มาจากบทพระราชนิพนธ์ "ตามรอยพ่อ" ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งบทเพลงสรรเสริญสมเด็จพระเทพฯ นี้ จะสะท้อนถึงการเป็นขัตติยราชนารีแห่งพระราชวงศ์ ที่ทรงแบกรับพระราชภาระ และพระราชกรณียกิจอันใหญ่หลวงต่อพระราชสกุล และพสกนิกรในแผ่นดินของพระองค์เอง โดยมีพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นแบบให้ทรงดำเนินตามรอยพระยุคลบาทด้วยความเพียร


"คำว่า นารีรัตนา นั้น เป็นการถวายพระสมัญญานามจากกลุ่มศิลปินจิตอาสา ในโครงการปทุมมามหาสิกขาลัย ซึ่งมีความหมายและสอดคล้องกับพระนามเดิม ที่เปรียบพระองค์ดุจดังนางแก้วแห่งแผ่นดิน" นายสุทธิพงษ์กล่าว


ด้าน นายเดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฎ์ หรือ โน๊ต อลาร์มไนน์ ผู้ประพันธ์ทำนอง อธิบายถึงลักษณะดนตรีที่ใ้ช้ประพันธ์ว่า ตนเน้นทำนองเพลงที่ให้กลิ่นอายความเป็นไทย เพื่อสะท้อนถึงพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจ ในการเป็นองค์อุปถัมภ์วัฒนธรรมไทยทุกแขนง โดยการเรียบเรียงจะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่มีพลัง ร่วมกับการใช้วงเครื่องสาย และระนาด ทำให้เพลงดูมีชีวิตชีวาเข้าถึงใจคน และยังย้อนรำลึกภาพการทรงระนาดเอกของ สมเด็จพระเทพฯ ได้เป็นอย่างดี


ส่วนผู้ขับร้องอย่าง ปาน ธนพร แวกประยูร กล่าวว่า อยากให้เพลงนี้เข้าถึงทุกคน เพราะภาษาที่ใช้ในเพลงก็เข้าใจง่าย อยากให้ทุกคนร้องเพลงนี้ได้ก่อนถึงวันที่ ๒ เม.ย. นี้ เพื่อเป็นกำลังใจให้คนๆ หนึ่งที่เหน็ดเหนื่อย ทุ่มเททำงานเพื่อประชาชน และมุมานะเดินตามรอยเท้าและคำสอนของพ่อ ซึ่งบทเพลงนารีรัตนาก็หมายถึง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเป็นนางแก้วของแผ่นดิน เปรียบเสมือนพี่สาวของแผ่นดินที่ทำเพื่อประชาชนทุกคน


ผู้ที่สนใจ สามารถรับฟังเพลงนารีรัตนาได้จากช่องทางยูทูบ พิมพ์คำว่า นารีรัตนา และสถานีวิทยุต่าง ๆ ที่ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเผยแพร่ นอกจากนี้ ทางโครงการปทุมมามหาสิกขาลัย จะผลิตเพลงออกมาในรูปแบบซีดี แจกให้รับฟังอย่างทั่วถึง โดยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และประชาชน สามารถขอรับซีดีเพลงเพื่อใช้จัดงานเฉลิมฉลองพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ มีพระชนมายุครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๒ เม.ย. นี้ ได้ทุกวันที่ ๒ ของทุกเดือน ได้ที่วัดปทุมวนาราม หรือร่วมบูชาอัลบั้มชุดละ ๑๔๙ บาท ได้ที่สำนักงานโครงการเฉลิมพระเกียรติ ๖o พรรษา สมเด็จพระเทพฯ​ รายได้สมทบทุนสร้างอุโบสถ วัดปทุมรังษีวัฒนารามเฉลิมพระเกียรติ เมืองเฮสติงส์ ประเทศนิวซีแลนด์ โทร. o๘-o๕๓๖-๖๙๙๖


เพลง นารีรัตนา

พ่อเคยบอกไว้ จะทำเรื่องใดให้เสร็จดังฝัน
เส้นทางเหล่านั้น ไม่เคยลาดโรยด้วยกลีบดอกไม้
แต่แก้วดวงหนึ่งช่างงาม ยังมุ่งเดินตามรอยเท้าพ่อไป
ด้วยพลังที่ล้นดวงใจอันเปี่ยมศรัทธา


มือจับปากกา สมุดทุกหน้า พากเพียรสร้างสรรค์
อุดมการณ์นั้น ยังคงยึดมั่น ไม่หวั่นปัญหา
ป่าเขาลำเนาห่างไกล ความรักรินไปด้วยใจเมตตา
เพื่อแผ่นดินที่กำเนิดมาร่มเย็นสืบไป


นารีรัตนา แก้วใจประชาคุณค่าส่องใส
แก้วงามสะท้อนแสงทองส่องใจ
สว่างไสวด้วยหัวใจเพื่อแผ่นดินนี้
นารีรัตนา ผู้ยอมเหนื่อยล้าด้วยแรงที่มี
แก้วที่ควรค่าการสดุดี คือหนึ่งนารีผู้เป็นที่รัก
ปวงไทยน้อมใจถวายศรัทธา ราชสุดา ผู้เป็นที่รัก







ภาพและข้อมูลจาก
thairath.co.th














ชวนเที่ยวงานวัดจีนครั้งแรกในไทย



นับเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีสีสันอย่างมากในทุก ๆ ปี สำหรับเทศกาลตรุษจีน วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนทั่วโลก รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการร่วมฉลองพร้อมมอบความสุขให้แก่ทุกคนในเทศกาลมงคลนี้ อีกทั้งเฉลิมพระเกียรติวาระมหามงคล เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๖o พรรษา รวมถึงฉลองการครบรอบ ๔o ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย จึงเป็นที่มาของการจัดงานมหกรรม “เวิลด์ ทัวร์ ออฟ ตี้ถาน เคาน์เจอร์ เท็มเพิล แฟร์ (World Tour of Ditan Cultural Temple Fair)” ขึ้น โดยตั้งแถลงข่าวที่ เซ็นทรัลคอร์ท ชั้น ๑ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันก่อน


ฉิน ยู่เซิน ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กล่าวถึงการจัดงานวัดตี้ถานที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกว่า นอกจากเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนผ่านงานวัดในรูปแบบดั้งเดิมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเทศกาลตรุษจีนที่กรุงปักกิ่งแล้ว ยังถือเป็นการร่วมเฉลิมฉลองปีมหามงคล เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๖o พรรษา และครบรอบ ๔o ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย ดังนั้นการจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นการกระชับมิตรภาพ การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนจีน-ไทย และสร้างเวทีสำหรับการก้าวสู่สากลของบริษัทวัฒนธรรมในเขต ตงเฉิง กรุงปักกิ่ง เป็นผลดีต่อการสร้างชื่อเสียงให้แก่งานวัดตี้ถาน ซึ่งเป็นแบรนด์ทางวัฒนธรรมของกรุงปักกิ่งด้วย”


“ตรุษจีนเป็นเทศกาลดั้งเดิมที่สำคัญที่สุดของจีน จึงเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน รวมทั้งคนจีนนิยมไปเที่ยวงานวัดในช่วงตรุษจีน ดังนั้นงานวัดจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในเทศกาลดังกล่าว ไปโดยปริยาย โดยเฉพาะงานวัดตี้ถาน ซึ่งเริ่มจัดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๘ นับเป็นงานที่จัดขึ้นมาดั้งเดิมที่สุดและได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุดในปักกิ่ง โดยในงานได้จำลองการบูชาดินสมัยราชวงศ์ชิง การแสดงงิ้ว ละครและระบำ นอกจากนั้นยังมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน ประเพณีพื้นบ้าน รวมทั้งอาหารจานเด็ดชนิดต่าง ๆ มีการจัดงานนี้มาแล้ว ๓o ครั้งด้วยผลสำเร็จ ทุกปีมีนักท่องเที่ยวทั้งจีนและต่างประเทศมาเที่ยวงานกว่า ๑ ล้านคน” ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กล่าว


นอกจากนี้ ฉิน ยู่เซิน กล่าวถึงรูปแบบการจัดงานว่าแบ่งเป็น ๔ โซน ได้แก่ โซนมรดกวิถีชน จัดแสดงสิ่งของ ๑๕ ชนิด ที่ถือเป็นตัวแทนวัฒนธรรมปักกิ่ง อาทิ “จิ่งไท่หลัน” และเครื่องเขิน โซนสินค้าดั้งเดิม ได้แก่ ร้านขายยา “ถงเหรินถัง” เริ่มเสนอตำรา ยาหายากหรือยาสมุนไพรที่ปรุงตามตำรายาพิเศษตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง โซนประเพณีพื้นบ้าน เช่น การเป่าน้ำตาล การใช้น้ำตาลวาดภาพ การเล่นประกอกหึ่ง และการทำตุ๊กตาดิน โซนบันเทิง ชมกายกรรม งิ้วปักกิ่ง การร้องเต้นแบบจีนที่มีเอกลักษณ์พิเศษ และแสดงถึงเสน่ห์ทางวัฒนธรรมจีนที่สืบทอดกันมายาวนาน


สัมผัสวัฒนธรรมในบรรยากาศงานวัดดั้งเดิมของชาวจีนอย่างใกล้ชิด และการแสดงกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีนได้ ระหว่างวันที่ ๑o-๑๖ กุมภาพันธ์นี้ ณ ลานกิจกรรมด้านหน้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














'แต่บแตบตะแล้บแตบแตบ' เฉลิมพระเกียรติพระเทพฯ​ ๖o พรรษา


เมื่อเรากำลังเดินไป
เห็นงูกำลังถูขี้ไคล
ตัวริ้นกำลังบินมา
อีกากำลังเต้นแท้ป
แต่บ แตบ ตะแล้บ แตบ แตบ
แต่บ แตบ ตะแล้บ แตบ แตบ



เนื้อหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของละครเรื่อง "แต่บแตบตะแล้บแตบแตบ" ซึ่งภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดัดแปลงจากหนังสือนิทานพระราชนิพนธ์ 14 เล่ม ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และจัดแสดงละครเรื่องนี้ขึ้นเนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖o พรรษา


บทละครเรื่อง “แต่บแตบตะแล้บแตบแตบ” ดัดแปลงบทและกำกับการแสดงโดย รศ.พรรัตน์ ดำรุง เป็นละครผสมผสานศิลปะการเชิดหุ่น การเล่านิทานและการแสดงด้วยลีลาการเชิดหุ่นหลายรูปแบบ กำกับโดย Benjamin Ho จากคณะ Paper Monkey ประเทศสิงคโปร์ ถ่ายทอดเนื้อเรื่องอันประกอบด้วยบทเพลง เรื่องเล่าจากประเทศจีนและเอเชียกลาง และจากนิทานพระราชนิพนธ์ ซึ่งแฝงข้อคิดและความสนุกสนานเพลิดเพลินเสริมสร้างกำลังใจ


อาจารย์พรรัตน์กล่าวถึงที่มาของบทละครเรื่องนี้ว่า ได้ไปที่ร้านภูฟ้า เห็นหนังสือน่ารักเล่มแรก คือ "เพลงดูควาย" รวมอยู่ในชุดหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มเล็กๆ ๑๔ เล่ม มีภาพฝีพระหัตถ์ประกอบบทพระราชนิพนธ์เป็นลายเส้นสนุก น่ารัก ง่ายๆ รวมอยู่ด้วย ซึ่งหนังสือชุดนี้เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕o


"พอได้เห็นหนังสือเพลงดูควายเล่มนี้ ดิฉันจึงคิดกันว่าน่าจะทำละครเล็ก ๆ สักเรื่องตามหนังสือเล่มนี้ ความจริงหนังสือทั้ง ๑๔ เล่ม แม้จะสั้น ๆ แต่ก็มีเรื่องราว ข้อคิด อุดมคติ ข้อคิดเห็นของพระองค์ท่าน ที่ดี งดงาม และสนุกสนาน แทรกอยู่ทุกเล่ม น่าทำเป็นละครทุกเรื่อง จึงสร้างบทละครตามหนังสือเล่มแรกเป็นการชักชวนสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เยาวชน เมื่อได้ฟังเรื่องราวจะได้ติดตามอ่านหนังสือเล่มเล็กทั้ง ๑๔ เล่ม" อาจารย์พรรัตน์เล่า


ทีมงานทำละครเรื่องนี้ยังมีสินนภา สารสาส รับหน้าที่ทำบทเพลงและกำกับดนตรี, กำกับศิลป์ ออกแบบฉาก ฤทธิรงค์ จิวากานนท์, ออกแบบหุ่น และกำกับการแสดงหุ่น Benjamin Ho คณะ Paper Monkey ประเทศสิงคโปร์, ทีมสร้างหุ่น สุฑารัตน์ สินนอง-แจ๋ และนิสิตวิชาหุ่น และหน้ากาก, ทีมดนตรี ครูโฟร และนักดนตรีโรงเรียนวัดสุทธิสะอาด, กำกับหุ่น Benjamin Ho. ควบคุมการสร้างหุ่น แจ๋ ต้อม, แต่งเพลง-กำกับเพลง พี่มิ ควบคุมวง พี่โฟ, กำกับลีลาท่าเต้น นภัส รอดบุญ, นักแสดงหลัก ๙ คน เชิดหุ่นเพลงและเล่านิทาน, นักเชิดหุ่นเงาและหุ่นจีน นิสิตในวิชาหุ่น และหน้ากาก ภาคปลาย


ละครเรื่อง “แต่บแตบตะแล้บแตบแตบ” นี้จะจัดแสดงขึ้นในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ และวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์-๑ มีนาคม วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ รอบ ๑๘.๓o น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ รอบ ๑o.๓o น. และ ๑๔.oo น. (งดการแสดงวันจันทร์ถึงวันพุธ) ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรฯ จุฬาฯ


บรรยากาศการจัดงานโดยรวมอยู่ภายใต้แนวคิด “อ่านกัน-ปันเรื่อง” เต็มไปด้วยกลิ่นอายห้องสมุด มีกิจกรรมหน้าโรงละครโดยกลุ่ม “คิดแจ่ม-Kid Jams” ให้ผู้ชมได้ร่วมสนุก เหมาะแก่การส่งเสริมให้ผู้ชมที่เป็นเยาวชนเกิดการรักการอ่าน


ผู้สนใจสามารถจองบัตรได้ บุคคลทั่วไปบัตรราคา ๖oo บาท และสำหรับนักเรียนนักศึกษาบัตรราคา ๓oo บาท จองบัตรได้ที่ //www.showbooking.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ o๘-๑๕๕๙-๗๒๕๒ และทาง E-mail:ticketdramacu@gmail.com และ Facebook:Drama Arts Chula











ภาพและข้อมูลจาก
thaipost.net
เฟซบุค Drama Arts Chula














อนุรักษ์ 'หัตถกรรมล้อไม้รถม้า' ก่อน 'สล่า' หนึ่งเดียวจะสิ้นลม



"งานหัตถกรรมล้อไม้เกวียนโบราณ" กำลังจะสูญหายไร้คนสืบทอด แต่ถือเป็นความโชคดีที่ "ฟาร์มสันลมจอย" อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง แหล่งเพาะพันธุ์ม้าขนาดใหญ่ของภาคเหนือและแหล่งผลิตรถม้าคาวบอยแห่งเดียวของไทย เกิดแนวคิดอนุรักษ์งานหัตถกรรมล้อไม้ให้คงอยู่โดยการจ้างช่างสล่าล้อเกวียนยอดฝีมือคนสุดท้ายในภาคเหนือ ทำวงล้อไม้ประกอบรถม้าและส่งเสริมให้มีการสืบทอดอาชีพสล่าวงล้อไม้รุ่นต่อไป


ปัจจุบันฟาร์มสันลมจอยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ม้าขนาดใหญ่ทางภาคเหนือของไทยตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า ๓oo ไร่ ใน อ.ห้างฉัตร รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตรถม้าสไตล์คาวบอยแห่งเดียวของไทย เพื่อส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังช่วยส่งเสริมอนุรักษ์งานหัตถกรรมการทำวงล้อไม้ของช่างสล่าล้อเกวียนพื้นเมือง จ.ลำปาง ให้คงอยู่สืบไป ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันใกล้จะสูญหายและไร้ผู้สืบทอด


นายสุรกิจ เสาร์ใจ ผู้จัดการฟาร์มสันลมจอย บอกว่า จุดเริ่มต้นทางฟาร์มสันลมจอย มีแนวคิดอยากจะอนุรักษ์การผลิตรถม้าที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเมืองลำปางให้คงอยู่คู่กับเมืองลำปางต่อไป จึงมีแนวคิดที่จะทำแหล่งผลิตรถม้าให้แก่ จ.ลำปาง ในช่วงแรกก็ทำรถม้าเพื่อใช้ในฟาร์มก่อน ต่อมามีลูกค้ามาเห็นและสั่งผลิตจึงมีแนวคิดต่อยอดเป็นธุรกิจและหาช่องทางการตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบในรถม้าสไตล์คาวบอย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และมียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยลูกค้าหลักจะนิยมนำไปตกแต่งบ้าน รีสอร์ท และร้านอาหาร เพราะราคาถูกกว่าต้นแบบจากยุโรปกว่าเท่าตัวและเป็นงานฝีมือมีคุณภาพ


ในส่วนของล้อรถม้าได้จ้างนายจันทร์ ขัตตินนท์ ช่างสล่าล้อเกวียนที่มีประสบการณ์กว่า ๖o ปี และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เหลืออยู่คนเดียวในการทำวงล้อไม้ในลำปาง มาประกอบวงล้อรถม้าให้ฟาร์ม นับเป็นงานหัตถกรรม ๑oo เปอร์เซ็นต์ ทำให้งานมีคุณค่ามากกว่างานที่ใช้เครื่องจักร ขณะที่พบว่าสล่าที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการทำวงล้อไม้ใกล้จะไร้ผู้สืบทอด จึงอยากจะสนับสนุนส่งเสริมให้ช่างสล่าล้อไม้ที่มีทักษะถ่ายทอดความรู้ให้ช่างสล่าล้อไม้รุ่นใหม่ ๆ ให้มีการฟื้นฟูทักษะงานฝีมือของช่างสล่าไม้พื้นเมืองให้กลับคืนมา






"เท่าที่ทราบลุงจันทร์น่าจะเป็นช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการทำวงล้อไม้ด้วยมือคนสุดท้ายในภาคเหนือและอาจจะเป็นคนสุดท้ายในประเทศไทย ยอดฝีมือท่านอื่นล้วนล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ส่วนงานทำล้อไม้ที่เหลือในประเทศเป็นการใช้เครื่องจักรทั้งนั้น ทั้งนี้ จากที่เคยสอบถามมา งานวงล้อไม้ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นงานประดับหรือรถม้า และเกวียนประดับตามรีสอร์ท หรือโรงแรมต่าง ๆ ล้วนมาจากจ.ลำปางทั้งนั้น ซึ่งก็แปลว่าเป็นฝีมือของลุงจันทร์นั่นเอง” นายสุรกิจ กล่าว


ผู้จัดการฟาร์มสันลมจอย บอกอีกว่า หากหมดรุ่นลุงจันทร์ไปคงหาคนทำวงล้อไม้ด้วยมือไม่ได้อีกแล้ว หรือถึงแม้ว่าจะมีคนทำได้ก็คงไม่เชี่ยวชาญเท่า ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายหากงานฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่นชนิดนี้จะหายไป ขณะที่งานที่ใช้เครื่องจักรจะมาแทนที่ ถึงแม้ว่าเครื่องจักรจะสามารถผลิตได้ครั้งละจำนวนมากและรวดเร็วกว่า แต่เรื่องของสเน่ห์และความมีคุณค่าเทียบกันไม่ติดแน่นอน


ขณะที่นายจันทร์ ขัตตินนท์ ช่างสล่าวงล้อไม้วัย ๗๘ ปี กล่าวว่า สมัยก่อนมีช่างทำเกวียนจำนวนมาก ก่อนที่รถใช้เครื่องยนต์จะพลุกพล่านเต็มเมืองอย่างปัจจุบัน การต่อเกวียนเป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นและเป็นอาชีพที่ตนใช้เลี้ยงชีพมายาวนานพอ ๆ กับอายุ กระทั่งปัจจุบันความต้องการต่อเกวียนแทบไม่มีแล้วจึงต้องปรับตัวมาทำรถม้า และเน้นไปที่วงล้อไม้ที่ใช้กับรถม้าตามที่ยังมีแรงทำได้ ส่วนเพื่อนร่วมอาชีพ บรรดาช่างสล่าไม้ด้านการทำล้อเกวียนหรือล้อรถม้าต่างล้มหายตายจากไปหมดแล้ว


ที่ผ่านมาพยายามที่จะหาผู้สืบทอดงานสล่าวงล้อไม้ไม่ให้สาบสูญ แต่กลับหาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจอย่างจริงจังแทบไม่ได้ แม้ว่ามีเอกชนหลายภาคส่วนโดยเฉพาะฟาร์มสันลมจอย และชมรมรถม้าจังหวัดลำปางที่สนับสนุนให้มีการสอนถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งตนก็มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้อย่างไม่มีเงื่อนไข ขาดแต่เพียงคนที่จะมาเรียนเท่านั้น






"สมัยนี้คนมักหันไปทำอาชีพที่มีความมั่นคงหรือมีเงินเดือนประจำ โดยเฉพาะข้าราชการและพนักงานบริษัท คงไม่มีใครอยากสืบทอดอาชีพโบราณที่ไม่มีความมั่นคง ล้าหลังหมดยุค เช่นการต่อเกวียนต่อรถม้าอีกต่อไป แม้แต่ลูกหลานแท้ๆ ของตนเองก็ตาม" นายจันทร์ กล่าว


นายจันทร์ กล่าวอีกว่า การทำวงล้อรถม้าในปัจจุบันตนได้มีการสั่งงานแจกจ่ายไปยังชาวบ้านในพื้นที่ เช่น งานซี่ล้อไม้ งานเลื่อยไม้ เพื่อผ่อนแรงของตน แต่ทั้งนี้เมื่อถึงขั้นตอนการประกอบเข้ารูปก็ยังต้องเป็นตนเองเท่านั้นถึงจะทำได้ ยังไม่มีใครที่วางใจให้ทำเพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้ประสบการณ์ยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามโดยลึก ๆ แล้วก็ยังหวังว่าจะมีผู้มาสืบทอดในเร็ววัน


ทั้งนี้ วงล้อไม้ของรถม้าที่ผลิตในฟาร์มสันลมจอยจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗o เซนติเมตรถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร แล้วแต่รูปแบบ ขณะที่ล้อเกวียนจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ เมตร โดยได้มีการประยุกต์ใช้ประกอบชุดลูกปืนในวงล้อทำให้คล่องตัวในการวิ่ง ผ่อนแรงช่วยให้ม้าไม่ต้องใช้กำลังเยอะ โดยวงล้อไม้ดังกล่าวสามารถผลิตได้ไม่ต่ำกว่า ๔ ชุดหรือ ๑๖ ล้อต่อ ๑ เดือน (๑ ชุดมี ๔ ล้อ) ราคาชุดละไม่ต่ำกว่า ๑๕,ooo บาท หรือสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า ๖ หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูงกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจ



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














รักไม่รู้โรย ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า



พิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ ขอเชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ "รักไม่รู้โรย" ในวันเสาร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐น.-๑๖.๐๐น. โดยได้รับเกียรติจาก คุณสกุล อินทกุล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดดอกไม้ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย มาเป็นวิทยากรผู้สาธิตการทำกิจกรรมครั้งนี้ด้วย


ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้การปักประดับดอกบานไม่รู้โรยแห้งบนผืนผ้าไหมไทย และสร้างสรรค์ผลงานผ่านมุมมองและจินตนาการของตนเองเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกแก่คนสำคัญเนื่องในวันแห่งความรัก และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผ้าไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ






กิจกรรมมีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน: ๒๐๐ บาท/ คน
ระยะเวลา: วันเสาร์ ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
สถานที่: ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม: ๓๐ คน


ติดต่อสำรองที่นั่ง:
๑. โทร ๐-๒๒๒๕-๙๔๒๐, ๐-๒๒๒๕-๙๔๓๐ ต่อ ๐ หรือ ๒๔๕ ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.
๒. ข้อความทางเฟซบุ๊ก เฟซบุคพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ


ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุครักไม่รู้โรยฯ







ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุครักไม่รู้โรยฯ
เฟซบุคพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ














TIPP 2015 แสดงผลงานจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องจากศิลปินชื่อดังระดับโลก



พอร์ซเลน เพนท์ติ้ง (Porcelain Painting) หรือจิตรกรรมเครื่องกระเบื้อง เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดคนไทย และเป็นที่รู้จักกันดีใน งานเบญจรงค์ ศิลปะของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในขณะที่ระดับโลกนั้นศิลปะการเขียนสีและวาดลวดลายซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างพู่กัน เส้นสายและลายสีอย่างลงตัวบนกระเบื้องพอร์ชเลนนั้นถือเป็นจินตนาการอันงดงามและเต็มเปี่ยมไปด้วยรสนิยมและสุนทรียะ









หลี่เสวียอู่ (จีน)



และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งเพื่อสานต่อความสำเร็จในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมของไทยด้านงานจิตรกรรมเครื่องกระเบื้อง (Porcelain Painting) และเครื่องเบญจรงค์ ต่อจากปี ๒o๑๒ รวมไปถึงเผยแพร่ ขยายองค์ความรู้ บูรณาการงานจิตรกรรมเครื่องกระเบื้อง (Porcelain Painting) และเครื่องเบญจรงค์









Paula Collins (USA)



ซึ่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่งให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. โดย นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ จึงได้จัด งาน Thailand International Porcelain Painting Convention 2015 หรือ TIPP 2015 (งานแสดงจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องนานาชาติ ครั้งที่ ๒) ภายใต้แนวคิด “ประณีตศิลป์แห่งจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องระดับโลก” (Exquisite Masterworks of Porcelain Painting Art) ขึ้นในระหว่างวันที่ ๖ – ๙ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา













อากิระ ยามาดะ (ญี่ปุ่น)



นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ กล่าวว่า งาน Thailand International Porcelain Painting Convention 2015 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้งานจิตรกรรมบนเครื่องกระเบื้องของไทย เป็นที่รู้จักในเวทีโลก อีกทั้งเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้ศิลปินไทยที่สร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว รวมถึงคนทั่วไปได้เห็นถึงคุณค่าของจิตรกรรมบนเครื่องกระเบื้อง และสืบสานงานให้สืบต่อและพัฒนาต่อไปในอนาคต






ภายในงาน ประกอบด้วยนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแสดงผลงานจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องจาก ๘ จิตรกรระดับโลก นิทรรศการการแสดงผลงานจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องจาก ๘ จิตรกรระดับโลก อาทิ เอ็ดนา คานนาน (EDNA KANNAN) ศิลปินหญิงชาวเม็กซิโกเจ้าของผลงานพอร์ซเลนเพ้นท์ติ้งที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะสุดยอดศิลปินพอร์ซเลนเพ้นท์ติ้งแห่งศตวรรษที่ ๒๑ และเป็น ๑ ใน ๑oo บุคคลสำคัญของเม็กซิโก ในปี ๒o๑๑






อิงกริด ลี (INGRID LEE) ศิลปินหญิงชาวออสเตรเลีย ผู้มีชื่อเสียงในงานโมเดิร์น พอร์ซเลนเพ้นท์ติ้ง และการใช้สีในการสื่อสิ่งที่เป็นนามธรรม (Abstract) โดยเธอเป็นทั้งศิลปิน และอาจารย์ ซึ่งมีผลงานที่ได้รับการยอมรับ และได้รับการจัดแสดงในสถานที่ต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก รวมถึง เฮลก้า ยาร์มาน์น หัวหน้าแผนกและอาจารย์จิตรกรรมประยุกต์ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ


ผู้รังสรรค์ให้งานพอร์ซเลนเพ้นท์ติ้งของไทยเป็นที่รู้จักในเวทีระดับโลก เป็นต้น รวมไปถึงนิทรรศการแสดงผลงานจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องของศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ นิทรรศการแสดงผลงานจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องของศิลปินอื่น ๆ ทั้งไทยและต่างชาติ และนิทรรศการเบญจรงค์ไทย พร้อมชมการสาธิตเทคนิคการวาดภาพลงบนเครื่องกระเบื้องโดยศิลปินทุกวันตลอดการจัดงาน






นอกจากการแสดงผลงานจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องนานาชาติ ครั้งที่ ๒ จากศิลปินระดับโลก ให้ชาวไทยและต่างประเทศได้ชื่นชมความงดงามที่ศิลปินรังสรรค์ขึ้นแล้ว เพื่อเป็นการสืบสานการรังสรรค์จิตรกรรมเครื่องกระเบื้อง และเบญจรงค์ไทย ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จึงเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเพื่อเฟ้นหาผลงานชั้นเยี่ยมชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี






ซึ่งผลงานทุกชิ้นที่เข้ารอบสุดท้ายจะได้รับการจัดแสดงภายในงานครั้งนี้ เพื่อให้ได้ชมกันอย่างอิ่มเอมใจ อีกทั้งภายในงานยังมีกิจกรรม D.I.Y. สำหรับผู้เข้าร่วมงานที่สนใจสร้างสรรค์พอร์ซเลนเพ้นท์ติ้งที่เรียกได้ว่ามีชิ้นเดียวในโลกด้วยฝีมือตนเอง รวมถึงบูธจำหน่ายหนังสือ อุปกรณ์วาดภาพ และเครื่องกระเบื้องคุณภาพดีให้เลือกซื้อกันอีกด้วย Thailand International Porcelain Painting Convention 2015 (TIPP 2015) จึงนับได้ว่าเป็นงานศิลปะจิตรกรรมเครื่องกระเบื้อง และเบญจรงค์ไทย ที่พร้อมให้ทุกท่านได้สัมผัสอย่างยิ่งใหญ่ในระดับภูมิภาคอาเซียน







ภาพและข้อมูลจาก
mthai.com
เฟซบุค TIPP Convention














ศิลป์สายน้ำอาเซียน เพิ่มโอกาสเยาวชน



ศิลปิน สายน้ำ เยาวชน มีเกี่ยวโยงกันได้อย่างไร??


ฉันชอบคำพูดหนึ่งของ รุ่งพันธุ์ บุรุษชาติ ศิลปินแนวอิมเพรสชั่นนิส ที่บอกว่า "ศิลปะคือธรรมชาติ สายน้ำก็คือธรรมชาติ ศิลปินคือผู้ที่เรียนรู้จากธรรมชาติ และนำมาถ่ายทอดธรรมชาติจะสวยงามหรือสะท้อนบางอย่างออกไป ก็จะบอกให้สังคมเห็นและเกิดการอนุรักษ์"


การถ่ายทอดเรื่องราวของสายน้ำ ออกมาเป็นภาพวาด ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสวยงาม แต่ขณะเดียวกันก็กระตุกต่อมคิด ถึงวิกฤติที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะแม่น้ำโขง ที่เริ่มจะไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เรื่องราวของสายน้ำนี้ยังยึดโยงไปถึงประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ที่ร่วมกันถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของงานศิลปะ โดยมีเป้าหมาย เพื่อสะท้อนภาพของสายน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป และท้ายที่สุดก็ไปอยู่ที่กลุ่มเยาวชนที่หมดหนทางเลือก ให้พวกเขาเหล่านั้นกลับมามีโอกาสอีกครั้ง






สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (ม่อนแสงดาว) ได้นำทั้ง ๓ สิ่ง คือ ศิลปิน สายน้ำ และเยาวชน มาอยู่ด้วยกัน ภายใต้โครงการนิทรรศการศิลปะอาเซียนเพื่อเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยจัดงานมาแล้ว ๒ ครั้ง และกำลังจะจัดขึ้นครั้งที่ ๔ วันที่ ๑๑-๒o กุมภาพันธ์นี้ ภายใต้ชื่องาน “อลังการศิลป์สายน้ำอาเซียน” ภาพเขียน-ภาพถ่าย-กวีนิพนธ์-งานปั้น : ชีวิต ความงามและความฝันที่กำลังเปลี่ยนแปลง" ที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) กรุงเทพฯ เพื่อการระดมทุนสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่โรงเรียนม่อนแสงธรรมชาติวิทยา รวมทั้งเผยแพร่สังคมวัฒนธรรมของอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับแม่น้ำและธรรมชาติผ่านมุมมองของศิลปินในโอกาสที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตลอดจนถึงเพื่อให้เด็กและเยาวชนใน ๑๔ สายน้ำ ๗ ประเทศอาเซียน (ไทย ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย) ได้มีโอกาสนำผลงานกิจกรรมการอนุรักษ์และการเรียนรู้แม่น้ำและธรรมชาติของเด็ก ๆ มาเผยแพร่สู่สาธารณะ






นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (ม่อนแสงดาว) บอกว่า การจัดงานครั้ง นอกจากระดมทุนสนับสนุนการศึกษาทางเลือกของเด็กชาติพันธุ์ และเด็กยากไร้ด้อยโอกาสภาคเหนือในโรงเรียนม่อนแสงดาวฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือก ให้มีอาคารเรียน บ้านพักเด็ก ห้องสมุด รวมทั้งช่วยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโดยให้เด็กมีทักษะชีวิตที่สามารถพึ่งตนเองได้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาคมอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือ ทางสังคม วัฒนธรรม โดยเฉพาะสายน้ำที่เป็นบ่อเกิดของชุมชนและอารยะ แต่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโดยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์






ก่อนจะถึงนิทรรศการนี้ มีการนำศิลปินล่องเรือไปสัมผัสแม่น้ำและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำ เพื่อให้ศิลปินเกิดแรงบันดาลใจและความรู้สึก จนกระทั่งถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานทางศิลปะตามความถนัดของศิลปินแต่ละคน โดยมีศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมในโครงการครั้งนี้ ราว ๕o คน รวมผลงานศิลปะทุกแขนงร่วม ๒oo ชิ้น นอกจากนี้ยังมีกวีนิพนธ์จากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี), กวีนิพนธ์ของ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ศิลปะภาพถ่ายจาก จิระนันท์ พิตรปรีชา, ธีรภาพ โลหิตกุล, Soc Hidditch (ออสเตรเลีย) เป็นต้น และศิลปินอีกท่านที่ทั้งผลักทั้งดัน อยู่เบื้องหลัง คือ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งแม้งานนี้จะไม่ได้ร่วมบริจาคงานศิลปะมา แต่ก็ร่วมสมทบทุนมาก้อนใหญ่


งานนิทรรศการนี้ เปิดเวลา ๑o.oo-๑๙.oo น. เข้าชมฟรี ส่วนการประมูลกวีนิพนธ์ของท่าน ว.วชิรเมธี จะมีขึ้นหลังพิธีเปิด ๑๑ กุมภาพันธ์ ๑๘.oo น.เป็นต้นไป


เด็ก ๆ ที่ม่อนแสงดาววันนี้ มีมาอยู่ประจำ ๑๑ คน แต่ที่ผ่านมามีเด็กหมุนเวียนมาเรียนรู้ และจบการศึกษาที่นี่ออกไปไม่น้อย ที่น่าสนใจคือ ไม่มีใครต้องตกเป็นเหยื่อในวังวนของการค้ามนุษย์อีก บางคนไปประกอบอาชีพ บางคนก็เลือกเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป เด็กหญิงชาวลาหู่คนหนึ่งบอกว่า มาเรียนรู้ที่นี่ ทำให้เธอเรียนรู้เกี่ยวกับการทำมาหากิน ปลูกผัก ปลูกข้าวได้ ไม่อดตาย...



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ตลาดน้ำวิถีไทย @ คลองผดุงกรุงเกษม



สุดสัปดาห์นี้ (๑๒-๑๕ กุมภาพันธ์) ลำคลองประวัติศาสตร์สายหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ คลองผดุงกรุงเกษม จะฟื้นคืนอดีตอันงดงามอีกครั้งในฐานะ “ตลาดน้ำ” ทรงเสน่ห์แห่งราชธานี ภายหลังผ่านร้อนผ่านหนาวมาแสนสาหัส ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง จนผู้คนแบ่งเป็นฝักฝ่ายในมหกรรมกีฬาสี เพราะเป็นลำคลองที่ไหลผ่านทำเนียบรัฐบาล และพื้นที่ชุมนุมเข้มข้น ทว่า ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตลาดน้ำวิถีไทย คลองผดุงกรุงเกษม จะคึกคักขึ้นบริเวณเชิงสะพานอรทัย ถนนลูกหลวง ถึงเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่ ๑o.oo-๑๗.oo น. ต่อเนื่องกัน ๔ สัปดาห์ คือ ๑๒-๑๕ กุมภาพันธ์, ๒๑-๒๒ กุมภาพันธ์, ๒๘ กุมภาพันธ์-๑ มีนาคม และ ๗-๘ มีนาคม ความร่วมมือกันระหว่าง กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม


ในฐานะที่เกิดและเติบโตตรงย่านการค้า ณ จุดตัดคลองผดุงกรุงเกษม กับคลองมหานาค ผมตื่นเต้น ที่อดีตอันเรืองโรจน์ของคลองผดุงฯ จะฟื้นคืนมาอีกครั้ง เพราะปีที่ผมเริ่มเรียนชั้นอนุบาล เป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยกำลังเห่อถนนหนทางหลายสายที่ตัดขึ้นใหม่ จนแม่น้ำลำคลองซึ่งเคยเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักขาดการดูแล จำได้ว่าตอนไปโรงเรียน ต้องเดินข้ามสะพานที่ทอดผ่านคลองสีขุ่นคล้ำและมีขยะลอยเป็นแพทุกวัน พ่อกับแม่จึงน่าจะเป็นคนรุ่นสุดท้าย ที่เคยลงว่ายน้ำเล่นน้ำในคลองผดุงฯ หรือไม่ก็ตักน้ำในคลองมาใส่โอ่งเพื่อใช้อาบและซักเสื้อผ้า


จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เล่าขานกันว่าน้ำในคลองเริ่มดำ (แต่ยังไม่สกปรก) ด้วยในปี 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต ความโศกาอาดูรและอาลัยรักของพสกนิกรมีมากเพียงใด ท่านให้ดูได้จากน้ำในคลองผดุงกรุงเกษมที่ดำคล้ำ เพราะชาวบ้านย้อมผ้าดำไว้ทุกข์ให้ “ในหลวงอานันท์” กันทั้งบ้านทั้งเมือง ย่านดำรงรักษ์ ริมคลองผดุงเกษมในอดีต มีโรงงานย้อมผ้า และยังเป็นแหล่งชุมชนของ “เจ๊กย้อมผ้า” ที่หาบน้ำย้อมสีดำไปบริการถึงบ้าน โดยส่งเสียงป๋องแป๋งเป็นสัญลักษณ์ จึงเรียกกันอีกอย่างว่า “เจ๊กป๋องแป๋ง” ครั้นถึงยุคถมคลองทำถนน คลองที่เหลือกลายเป็นถังขยะรองรับความแออัดของเมือง จนเสื่อมโทรมลงชนิดไม่มีใครอยากข้องแวะ แม้เพียงถูกน้ำในคลองกระเซ็นใส่ ทั้งที่ในอดีตมันเคยช่วยขัดถูขี้ไคล เลี้ยงชีวิตคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรามาแท้ ๆ


ความจริงพ่อกับแม่เป็นชาวลุ่มน้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา แต่มาพบรักกันที่ริมคลองผดุงฯ เพราะต่างเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ โดยพักอาศัยที่บ้านญาติผู้ใหญ่บ้านเดียวกัน คือ บ้านคุณยายวาส จุลชาติ แถวตลาดมหานาค-ตลาดกลางผลไม้ของกรุงเทพฯ โดยจุดตัดระหว่างคลองมหานาคกับคลองผดุงกรุงเกษม คือตลาดน้ำที่คุณยายพายเรือไปขายผลไม้ทุกวัน น้ำในคลองใสสะอาดพอที่คนเรือจะตักขึ้นมาดื่มกิน ยามที่น้ำฝนในตุ่มขาดแคลน


แม่เล่าว่าคุณยายวาสเป็นแบบอย่างของผู้หญิงสู้ชีวิต ทั้ง ๆ ที่ท่านเคยเป็น “คนในรั้วในวัง” มาก่อน ในฐานะภริยามหาดเล็กหัวหน้ากองช่าง ณ วังสวนกุหลาบ ในทูลกระหม่อมอัษฎางค์เดชาวุธ พระเจ้าลูกยาเธอในพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ พระน้องยาเธอร่วมพระมารดา ใน สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ และพระเชษฐาใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ คุณตาเป็นข้าราชบริพารที่มีฝีมือทางช่าง โดยเฉพาะงานช่างไม้ ท่านเป็นช่างคนโปรดของทูลกระหม่อมอัษฎางค์ฯ เคยได้รับพระราชทานเหรียญ “ช่างคิด” เป็นเกียรติประวัติในชีวิตการเป็นข้าราชบริพาร และยังเป็นหัวหน้ากองช่างผู้ประดิษฐ์รถไฟเล็ก ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ ๙ ทรงเล่นเมื่อยังทรงพระเยาว์


อนาคตของคุณตาน่าจะไปไกล ในฐานะมหาดเล็กในองค์มกุฎราชกุมารพระองค์ต่อมา ถ้าทูลกระหม่อมอัษฎางค์ไม่ทรงด่วนสิ้นบุญไปก่อนด้วยเหตุทางพระพลานามัย ในปี 2467 วังสวนกุหลาบเสมือนแพแตก คุณตาคุณยายต้องออกจากวัง โดยมีเพียงนามสกุลพระราชทาน “จุลชาต” เป็นเกียรติและศรีของวงศ์ตระกูล จากนั้นไม่นาน คุณยายก็คว้าไม้พายกับหมวกงอบใบหนึ่ง ลงเรือสำปั้นร้องขายกล้วยส้มผลไม้ในคลองผดุงกรุงเกษมอย่างองอาจมาดมั่น ไม่ได้ฟูมฟายอาลัยอาวรณ์กับความเป็น “คุณนายมหาดเล็ก” แต่หนหลังเลยแม้แต่น้อย ผมเองเกิดไม่ทันเห็นคุณยายพายเรือขายผลไม้ แต่ได้ยินแม่เล่าถึง “ไอดอล” ของท่านให้ฟังเป็นประจำ


ที่จำได้แม่นอีกเรื่องหนึ่ง คือ ความที่แม่เป็นครู จึงชอบสอนให้ลูกท่องจำคำที่คล้องจองกัน อาทิ สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระราชทานนามคล้องจองกันทั้งหมด คือ เทเวศรนฤมิต, วิศสุกรรมนฤมาน, มัฆวานรังสรรค์, เทวกรรมรังรักษ์ และ จตุรภักตร์รังสฤษดิ์ หรือ "สะพานขาว" ใกล้ตลาดมหานาค ที่ผมเติบโตมานั่นเอง อย่างไรก็ตาม คลองผดุงกรุงเกษมเป็นคลองรอบพระนครชั้นนอก ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วยทรงดำริว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนก็มากขึ้น ควรขยับขยายพระนครออกไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง เจ้าหมื่นไวยวรนาถ เป็นกงสี จ้างชาวจีนขุดคลองพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ และพระราชทานนามว่า "คลองผดุงกรุงเกษม"


๑๖๓ ปีผ่านไป ลำคลองประวัติศาสตร์สายนี้จะกลับมาสดใสอีกครั้ง ในงาน “ตลาดน้ำวิถีไทย คลองผดุงกรุงเกษม” ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ในงานจะมีสีสันของทั้งตลาดน้ำในคลองผดุงฯ และตลาดบกบริเวณฝั่งทางเท้าถนนกรุงเกษม (ด้านริมคลอง) การแข่งขันพายเรือประเภทสนุกสนาน การละเล่นพื้นบ้าน การสาธิตและแสดงผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น การล่องเรือชมคลองผดุงฯ จากย่านเทเวศร์-หัวลำโพง รอบละ ๔o คน วันละ ๒ รอบ (๑๖.oo น. และ ๑๗.oo น.) โดยระหว่างการจัดงานนี้ จะเปิดการจราจรโดยรอบตามปกติ ไม่มีการปิดถนนแต่อย่างใด


ไม่ว่าคุณจะชอบแหวกแนวแบบ ฮิปสเตอร์ วินเธจ หรือ เรโทร ฯลฯ งานนี้ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง







ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














หนังประโมทัยกับความสนใจที่จางลง



หากพูดถึงดินแดนทางพื้นภาคอีสานหลายคนอาจมองเห็นภาพเป็นอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนลืมไปว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวอีสานก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน ในเรื่องของจังหวะดนตรีและการละเล่นที่บรรเลงขึ้นเมื่อใดก็พร้อมที่จะลุกออกมาเต้นได้ทุกเวลา คนรุ่นใหม่ ๆ มักลืมเลือนมองข้ามสิ่งที่เป็นรากเง้าประเพณีที่บรรพบุรุษเราได้สร้างไว้ ทางสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร.ร่วมกับเครือข่ายมิวเซียม แฟมิลี จึงได้ขยายพื้นที่การเรียนรู้สู่ภาคอีสานกับงาน "มูนมังอีสาน สู่ประชาคมอาเซียน" ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร


เพียงย่างก้าวแรงที่ได้สัมผัสก็เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นอีสานที่แท้จริง บนเวทีโหมโรงด้วยวงดนตรีพื้นเมือง "ไทอีสาน" ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นวงดนตรีพื้นเมืองที่ชนะเลิศถ้วยพระราชทานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัดในภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีการจัดบูทแสดงภูมิปัญญาไทย เช่นการย้อมสีผ้าจากธรรมชาติ การทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย การสาวใยไหม การทำลูกประคบด้วยสมุนไพรไทยแท้ การวาดภาพศิลปะ การแกะสลักผักผลไม้ แล้วก็สะดุดที่หนังประโมทัย ที่ไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อก็เลยได้






จึงต้องสืบสาวราวเรื่องได้ว่า "หนังประโมทัย" แถบอีสานเรียกว่า "หนังบักตื้อ" หรือหนังตะลุงอีสานนั่นเอง คงจะเริ่มมองเห็นภาพออกกันแล้ว ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี นักวิชาการพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าให้ฟังว่า จากการศึกษาวิจัย หนังประโมทัยถูกดัดแปลงมาจากพื้นเพของหนังตะลุงในภาคใต้ที่รับวัฒนธรรมมาจากประเทศอินเดียแล้วเกิดการแพร่กระจายจนถึงคนภาคอีสาน เลยเกิดเป็นความคิดเอามาดัดแปลงปรับเปลี่ยนการเล่าเรื่องในรูปแบบของหมอลำ ซึ่งเป็นดนตรีที่ขึ้นชื่อของชาวอีสานอยู่แล้ว เอาเรื่องของดนตรีละครพื้นบ้านวรรรกรรมที่โดนเด่นอย่าง รามเกียรติ์และเรื่องสังข์ศิลป์ชัย เสนอเนื้อหาเรื่องราวความเป็นมาความกตัญญูกตเวที เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของแถบอีสานเองเข้ามาแสดง สอดแทรกด้วยสถานการณ์ชีวิตประจำวันของคนอีสานเข้ามาเป็นเนื้อเรื่องที่แสดง รวมไปถึงแสดงการหยอกล้อการเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ที่ผู้แสดงว่าจะมีไหวพริบปฏิภาณพลิกแพลงการแสดงได้มากแค่ไหน






"ระยะหลังนี้มีการละเล่นอื่นที่ทันสมัย ๆ เข้ามาแทรกแซง ทำให้อาชีพการเล่นหนังประโมทัยถูกลดความนิยมลงไป ในกรณีของโรงเรียนดงบังพิสัยนวการณุสรณ์ การเล่นหนังประโมทัยของกลุ่มนักเรียนที่ใช้ชื่อวงว่า "เพชรอีสาน" เกิดขึ้นในวันที่คุณครูพานักเรียนเข้าไปทำกิจกรรมฮูปแต้มหรือภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่ในสิมหรือโบสถ์มีอายุอานามกว่า ๑oo ปี โดยมีวิทยากรที่มาให้ความรู้เป็นชาวบ้านพื้นเมืองที่ประกอบอาชีพเล่นหนังประโมทัย พูดคุยกับคุณครูว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการสอนเพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมนี้ไว้เพื่อไม่ให้สูญหายไปจากไทยและได้คุณตาคุณยายมาช่วยสอนทำตัวละครที่ทำมาจากหนังวัว สอนให้ลงสีสันสอนวิธีการเล่นให้เด็กและครู" นักวิชาการพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าถึงที่มาของหนังประโมทัย






ไมตรี ปะวะเสนะ คุณครูผู้สอนการเล่นหนังประโมทัยวง เพชรอีสาน โรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ พูดด้วยสีหน้าแววตาที่เป็นประกายว่า ได้จัดเป็นคาบชุมนุมอาทิตย์ละ ๑ ครั้งเป็นคาบสุดท้ายของการเรียนการสอนในวันพฤหัสบดีและจะสอดแทรกเข้าไปในรายวิชาศิลป์ด้วย เหมือนเป็นหนึ่งหลักสูตรของโรงเรียนไปแล้ว วิธีการเล่นนำเสนอในรูปแบบของภาพและเสียง ส่วนของภาพจะเชิดหุ่นผ่านแสงไฟ ส่วนเรื่องเสียงจะนำเสนอในเรื่องของบทพูด บทพากย์ ร้องรำประกอบกับเครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้เป็นเครื่องดนตรีที่ประยุกต์ระหว่างเครื่องดนตรีอีสานกับดนตรีสากลให้เข้ากัน


"เจอคำถามที่เด็กหลายคนถามว่าทำไมต้องเป็นหนังประโมทัย ในขณะที่โปงลาง หมอลำเป็นอะไรที่น่าสนใจมากกว่า ผมก็จะอธิบายให้ฟังว่าที่เรามาทำแบบนี้เราจะได้สืบสานวัฒนธรรมที่เก่าแก่ให้คงอยู่ต่อไป ที่เราทำนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอาย ที่เรื่องสังคมสมัยนี้วัยรุ่นที่เอาเวลาไปเล่นเกมติดยาอีก ก็มีเด็กที่ให้ความสนใจคิดตามเราได้ เข้ามาร่วมกลุ่มทำกิจกรรมนี้โดยไม่คิดว่าเป็นส่งที่น่าอายไปแล้ว ในส่วนของเด็กเองได้เรื่องของความสนุกสนาน ทำงานด้วยกันเป็นกลุ่ม ได้ร่วมสืบสานต่อยอดลมหายใจและได้ทักษะที่ติดตัวออกไปในเวลาที่เรียนจบ นำความสามารถในด้านงานศิลปะตัดต่อตัวหุ่นเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตัวเองอีกด้วย หนังประโมทัยเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่จริงๆ สำหรับผม ที่ได้ช่วยทั้งเด็กทั้งชุมชนรักษาสิ่งดีงามนี้ไว้ให้มันอยู่ได้อีกนาน" คุณครูพูดปิดท้าย


ทั้งนี้ผู้ที่ให้ความสนใจอยากเรียนรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมของชาวอีสาว โดยงานจะจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้-๑๒ กุมภาพันธ์นี้ ที่บริเวณลานวัฒนธรรม หน้าอาคาร ๒ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ศิลปะภาพเขียนศิลปินตัวน้อยแห่งบ้านครูชลิต นาคพะวัน



โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ขอเชิญชมงานแสดงนิทรรศการ "ศิลปะภาพเขียนศิลปินตัวน้อยแห่งบ้านครูชลิต นาคพะวัน (ชลิตอาร์ตโปรเจ็คแอนด์แกลเลอรี่)"


นิทรรศการครั้งนี้ นำเสนอผลงานภาพเขียนของเด็กๆ แห่งบ้านครูชลิต ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยโลกแห่งจินตนาการไร้ขอบเขตของเด็ก ๆ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ให้กับเด็กๆได้แสดงผลงานน้อยมาก ทางโรงแรมฯ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของศิลปะสำหรับเด็ก โดยริเริ่มนำผลงานของเด็ก ๆ เหล่านี้ออกมาแสดงสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๘ ปีของบ้านครูชลิต


นิทรรศการ "ศิลปะภาพเขียนศิลปินตัวน้อยแห่งบ้านครูชลิต นาคพะวัน (ชลิตอาร์ตโปรเจ็คแอนด์แกลเลอรี่)" จัดแสดงบริเวณสกายล็อบบี้ ชั้น ๒๓ ของโรงแรมฯ ตั้งแต่ ๒๓ กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑o.oo น. ถึง ๒o.oo น. โดยรายได้จากการจำหน่ายภาพส่วนหนึ่งจะร่วมสบทบทุนให้กับ "มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์"
ผู้สนใจสามารถเลือกซื้อผลงานหรือเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร. o๒-๑oo-๑๒๓๔ ต่อ ๖๗๕๓-๕๖











ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุค artbangkok














หอศิลป์อันดามันคึกคัก ดันกระบี่สู่เมืองวัฒนธรรม



เป็นการแสดงความพร้อมของ จ.กระบี่ ในการก้าวสู่เมืองศิลปะแห่งอันดามันชัดเจน จากกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินไทยและกลุ่มศิลปินนานาชาติ ระหว่างวันที่ ๑-๕ ก.พ. ๒๕๕๘ และนำผลงานสด ๆ ร้อน ๆ ที่เหล่าศิลปินทำขึ้นบอกเล่าหลากเรื่องราวของกระบี่ ตลอดจนวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมาโชว์เต็มหอศิลป์อันดามัน จ.กระบี่ หอศิลป์แห่งใหม่ที่สร้างความคึกคักไม่น้อย เพราะมีผลงานเยี่ยม ๆ เรียกคนเข้ามาชมไม่ขาดสาย


ในพิธีเปิดนิทรรศการ Andaman Art Festival Internation Art Workshop & Exhibition 2015 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของกลุ่มศิลปินในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มศิลปินในแต่ละภูมิภาคมากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปและจัดนิทรรศการในปีนี้ จ.กระบี่ตั้งเป้าผลักดันเมืองกระบี่เป็นศูนย์กลางเมืองศิลปะแห่งอันดามัน มีโครงการจัดงานแสดงวาดภาพโดยศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติ จำนวน 65 คน มาสร้างผลงานถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ มอบให้จัดแสดงในหอศิลป์อันดามัน ถือเป็นสมบัติของ จ.กระบี่ เพื่อสนับสนุนสู่เมืองศิลปะ


ดร.กมล ศิลปินสองซีกโลก บอกด้วยว่า จะมีโครงการใหม่จัดสร้างผลงานประติมากรรมขนาดใหญ่ ชื่อ "บทเพลงแห่งอันดามัน" ตนออกแบบและทำงานร่วมกับมูไก ศิลปินชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลเมืองกระบี่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวเขตเมืองกระบี่แห่งใหม่ โดยจะฉลุลายสเตนเลสเป็นรูปหัวนกอินทรีอยู่บนเกลียวคลื่น ผสมผสานการฉลุลายเครื่องดนตรีและโน้ตเพลงการแสดงรองเง็ง รวมถึงสลักหินเป็นลูกนิมิต ขณะเดียวกันจะแกะสลักไม้มะหาดเป็นเสาสูงขนาดใหญ่ จำนวน ๕ ต้น ครอบด้วยหัวนกอินทรีประดับด้านบนหัวเสา สามารถมองทะลุผ่านไปเห็นวิวเขาขนาบน้ำได้ สื่อความหมายเอกลักษณ์ท้องถิ่นเมืองกระบี่ แล้วยังมีงานประติมากรรมแกะสลักหินใหม่อีกชิ้นชื่อ "อุดมสมบูรณ์" สูงถึง ๖ เมตร โดยอาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว แสดงออกถึงความหลากหลายทางธรรมชาติของกระบี่ เตรียมติดตั้งหน้าเมืองเช่นกัน


ด้าน กีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ กล่าวว่า เทศบาลเมืองกระบี่ และชาว จ.กระบี่ มีเป้าหมายร่วมกันผลักดันเมืองกระบี่เป็นเมืองแห่งศิลปะอันดามัน โดยสนับสนุนสร้างงานประติมากรรมเพื่อสร้างให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ และเป็นจุดขายกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในเขตเมืองกระบี่ จะติดตั้งเสร็จเดือน ก.พ.นี้ นอกจากนี้ยังมีการสร้างหอศิลป์อันดามัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดอันดามัน ซึ่งกิจกรรมสร้างงานศิลปะโดยศิลปินครั้งนี้ทำให้เกิดการหลอมรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อยกระดับเมืองกระบี่เป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปะ


"หอศิลป์อันดามันได้รวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปะระดับนานาชาติ ในบริเวณเดียวกันยังมีพิพิธภัณฑ์ลูกปัดให้ผู้คนมาศึกษาความเป็นมา คุณค่าทางศิลปะ และยังมีแผนจะสร้างหมู่บ้านวัฒนธรรมในบริเวณใกล้เคียง เพื่อแสดงวิถีชีวิตชาวเล ชาวจีน ชาวมุสลิม ชาวไทยพุทธ ถือเป็นศูนย์กลางเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน โดยจะเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดนี้ให้อยู่ในโปรแกรมการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาอยู่ในเมืองกระบี่ยาวนานขึ้น ช่วยสร้างรายได้ให้จังหวัดมากขึ้นด้วย" นายกเทศมนตรีหัวใจศิลป์เผย


แอนนา คาร์ซามินสกา ศิลปินสาวชาวโปแลนด์ เปิดใจกับประสบการณ์เวิร์กช็อปครั้งแรกที่เมืองกระบี่ว่า กระบี่มีวิถีวัฒนธรรมแตกต่างจากโปแลนด์ แล้วยังมีทะเลงดงาม มันมหัศจรรย์ที่ได้มากับเพื่อนศิลปินอีก ๕ คน มีความสุขมาก ซึมซับสิ่งเหล่านี้มาเป็นความบันดาลใจสร้างงานภาพวาดมอบให้หอศิลป์อันดามัน แล้วก็เห็นความพยายามของเทศบาลและศิลปินไทย ตั้งแต่ศิลปินแห่งชาติ จนกระทั่งศิลปินภูมิภาค จะขับเคลื่อนกระบี่เป็นเมืองศิลปะ มั่นใจว่าต้องประสบความสำเร็จ คาดหวังว่าที่นี่จะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะระดับนานาชาติ


ด้าน คิน ซอ และ ศิลปินอิสระจากเมียนมาร์ กล่าวว่า ไทยและเมียนมาร์มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน เราต่างศรัทธาในพุทธศาสนา ในเขตเมืองกระบี่ก็มีวัดมากมาย จึงสร้างงานศิลปะแสดงออกถึงความสะอาดภายในจิตใจภายใต้การขัดเกลาของศาสนา ก็เพนต์เป็นภาพใบหน้าพระพุทธเจ้าผสมผสานตัว "อ." อักษรภาษาไทย ชวนมาชมงานศิลปะและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันได้


"ที่พม่าก็มีหอศิลป์ ผู้เข้าชมส่วนมากเป็นศิลปิน แต่หอศิลป์อันดามันเห็นได้ชัดว่ามีคนทั่วไปสนใจชมผลงานศิลปะ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ช่วงที่ศิลปินเวิร์กช็อปที่นี่ก็มีนักเรียนนักศึกษามาดูการทำงาน ได้ซึมซับงานศิลปะ ศึกษามุมมองหลากหลายของศิลปินนานาชาติ" คิน ซอ และ ศิลปินจากย่างกุ้ง และเป็นทั้งเจ้าของเคซีแอล อาร์ต สตูดิโอแอนด์แกลเลอรี่ บอกเล่า แถมยกนิ้วให้เทศบาลเมืองกระบี่ที่ดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็ง


ร่วมชมงานแสดงศิลปะ Andaman Art Festival 2015 จัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๕-๒๘ ก.พ. ณ หอศิลป์อันดามัน ตั้งอยู่บริเวณถนนมหาราช ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่.











ภาพและข้อมูลจาก
thaipost.net
yourkrabi.com














Rockumentary 2005-2014



แบงค์ ชัยชาญ เลิศนิมมานนรดี ช่างภาพที่ผลิตผลงานมาอย่างต่อเนื่อง งานของเขาส่วนใหญ่คืองานภาพถ่ายวงดนตรีต่าง ๆ ทั้งภาพพอร์เทรต รวมไปถึงภาพจากงานโชว์ของหลากหลายศิลปินระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่เราได้ดูแล้ว ต้องบอกว่างานของแบงค์ ไม่ธรรมดา เขาดึงเอาภาพ เสียงดนตรี และจิตวิญญาณของศิลปินให้ฉาบเคลือบอยู่บนแผ่นฟิล์มอย่างหมดจด


จากปี ๒oo๕-๒o๑๔ ระยะเวลาเกือบ ๑o ปีในวงการช่างภาพ การตามติดศิลปินไปบันทึกภาพความทรงจำ เบื้องหลังของการทำงานได้ถูกบันทึกเสมือนสารคดีหนึ่งเรื่อง กลายเป็น Rockumentary นิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกของเขา จะรวบรวมเอาภาพความทรงจำในแต่ละช่วงเวลาของวงการดนตรีไทย ให้เราได้ชมกันแบบเต็ม ๆ นิทรรศการจัดขึ้นที่ Rooftop Gallery ระหว่างวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ – ๒๒ กุมภาพันธ์ 2558



รู้จักแบงค์ หรือ FOTOFOOLS ROCKTOGRAPHER จากบทสัมภาษณ์นี้ seedmcot.com















ภาพและข้อมูลจาก
seedmcot.com














ถนนคนเดิน 'สีลม' ช็อป ชิม ชิล



ทุกเย็นย่ำค่ำวันอาทิตย์ ย่านธุรกิจการเงินสำคัญของไทย ถนนสีลมถูกปรับเป็น “ถนนคนเดิน” แห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ด้วยการปิดถนนให้พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนทั่วไป รวมถึงสินค้าจากชุมชนมีพื้นที่ในการนำเสนอสินค้าต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศและชาวเมืองที่ต้องการพักผ่อนยามเย็นวันหยุด ไม่เคยมีการปิดถนน กทม.มาก่อน แต่เพียงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา สีลม ถนนคนเดิน ได้รับความนิยมวัดจากยอดขายสินค้าก็มีรายได้ดีเป็นที่พอใจของผู้นำสินค้ามาโชว์ขายในงาน


น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายจรูญ มีธนาถาวร รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า การจัดกิจกรรม "สีลมถนนคนเดิน" มีทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๕.oo-๒๒.oo น. ตั้งแต่แยกนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงถนนพระราม ๔ มุ่งเน้นเป็นถนนคนเดินมิติใหม่ภายใต้แนวคิด "สีลมถนนคนเดิน...ถนนแห่งความสุข" เติมความสุขในวันหยุดแบบสบาย ๆ สุขที่สีลม สุขที่ได้ชิม สุขที่ได้ชม และสุขที่ได้ช็อป


นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมถนนคนเดิน ตามนโยบาย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเปิดพื้นที่ถนนสีลมให้ผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบทางเท้า รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยมีสถานที่จำหน่ายสินค้าโดยจะมีการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จระดับเชลล์ชวนชิมจากโรงแรมดัง การจำหน่ายสินค้าบางกอกแบรนด์ พร้อมเปิดเวทีย่อยให้เด็กเยาวชนแสดงความสามารถ เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาในทุกระดับชั้นและประชาชนทั่วไปได้นำเสนอผลงานงานฝีมือ งานศิลปะทั้งในรูปแบบการจำหน่ายและการแสดง


ถนนคนเดินสีลมนั้น ที่ได้รับความนิยมมากเป็นจุดเด่นที่สำคัญคือเรื่องอาหาร ที่โรงแรมระดับชั้นนำ ๕ ดาวบนถนนสีลม ได้นำเชฟชื่อดังและอาหารชื่อดังของโรงแรม ออกนำปรุงและจำหน่ายได้ในราคาไม่แพงมาก เป็นที่ชื่นชอบของนักชิมและผู้ที่เดินทางสัญจรอยู่มาก รายได้ดี เป็นที่น่าพอใจ เหมาะสำหรับโอกาศของผู้ที่ทดลองชิมอาหารระดับโรงแรม 5 ดาวของไทย ที่เทียบเท่าอาหารนานาชาติ ปกติจะมีราคาค่อนข้างสูง


ในยามที่อากาศเย็นๆ ช่วงนี้เหมาะสำหรับการเดินบนถนนคนเดินอย่างยิ่ง นานมาแล้วที่ชาวกรุงเทพมหานคร ต้องเดินทางไปเดินพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศเดินบนถนนคนเดินในแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่าง ๆ และได้รับความนิยมมาก เป็นไฮไลท์การท่องเที่ยวในหลายจังหวัด บัดนี้ กทม. โดย มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่จะเปิดถนนคนเดินในเขตกรุงเทพมหานคร และตัดสินใจปิดถนนสีลม จัดเป็นถนนคนเดินสำหรับชาวเมืองและนักท่องเที่ยว มีระยะเวลาช่วงแรกเป็นเวลา ๖ เดือน


อีกจุดหนึ่งของถนนสีลมนี้ นอกจากสินค้าทั่วไปแล้วยังเป็นจุดที่จะได้พบ “บางกอกแบรนด์” สินค้าที่ผลิตในกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาตรฐานสินค้าของ กทม. ถือเป็นสินค้าหลักที่จะเชิดหน้าชูตาชาวกรุงเทพมหานครต่อไป ไม่ช็อป ไม่กิน ก็มาออกกำลังกาย เดินพักผ่อนได้บนถนนสีลม ที่หาโอกาสได้ยาก


“บางกอกแบรนด์” เป็นสินค้าชุมชนที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพแล้วให้สามารถแข่งขันและได้รับตราสัญลักษณ์รับรอง ที่ได้รับการคัดเลือกตั้งแต่วัตถุดิบไม่มีมลพิษ มลภาวะในระหว่างกระบวนการผลิต มีคุณภาพที่เชื่อถือได้ ในช่วงที่ผ่านมา มีสินค้าที่ผ่านมาตรฐานและกฎเกณฑ์ได้ ๑๗o รายการเท่านั้น


สินค้าจากบางกอกแบรนด์นี้จะนำมาวางตลาดที่ถนนคนเดินที่สีลม และจะนำไปแสดงในตลาดน้ำ กทม. ที่เตรียมการจัดขึ้นในลำคลองต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เป็นการย้อนยุคครั้งหนึ่ง กรุงเทพมหานครก็คือ เวนิสตะวันออก มีคลองใช้สัญจรมากมาย


เชิญชมสินค้า “บางกอกแบรนด์” ได้ทั้งที่ถนนคนเดินสีลมและตลาดน้ำ กทม. ตามจุดต่าง ๆ ที่กำลังเตรียมการในขณะนี้



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net





บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2558 22:11:11 น. 0 comments
Counter : 2312 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.