happy memories
Group Blog
 
<<
มกราคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
30 มกราคม 2558
 
All Blogs
 

เสพงานศิลป์ ๑๘๔





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










วัยขึ้นสะพานพระราม ๗ “อยู่กับตัวเองให้มาก คิดถึงตัวเองให้น้อย”


ชีวิตให้ชีวิตเป็นปริศนา
เวลาให้เวลามาทุกสมัย
ช่วงวัยสังวรช่วยสอนวัย
ให้รู้เห็นเป็นไปในธรรมดา
วัยเยาว์เจ้าเอ๋ยมาเลยล่วง
หนุ่มสาวเป็นห่วงให้ห่วงหา
วันนี้มีแต่แก่ชรา
รำลึกวันผ่านมาให้อาวร



เสียงอ่านบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และกวีรางวัลซีไรต์


คลอไปพร้อมกับเสียงเด็กหญิง ภายในนิทรรศการ “นับเท้า นับทาง” นิทรรศการแสดงผลงานภาพถ่ายของ แก้วเก้า พงษ์ไพบูลย์ ทายาทของเนาวรัตน์ ผู้ต้องการแบ่งปันภาพชีวิตของวัยชราที่เขาเคยได้ไปสัมผัสมา


โดยแรงบันดาลใจที่ทำให้แก้วเก้า ใช้เวลาปีกว่าไปกับการตระเวณถ่ายภาพคนชรา เพราะได้อ่านหนังสือเรื่อง “เวลา” ของ ชาติ กอบจิตติ ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์


จึงทำให้แก้วเก้าสงสัยว่า "คนชรา" โดยเฉพาะในส่วนที่ถูกทอดทิ้ง ให้มีชีวิตอยู่ไปวันๆตามบ้านพักคนชรามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร


และเมื่อได้ไปสัมผัส จึงเกิดเป็นภาพถ่ายที่นอกจากทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความเปลี่ยวเหงาของคนชราเหล่านี้ ยังทำให้รับรู้ว่า ชีวิตในแต่ละวัน ตื่นมาเริ่มต้นและวนเวียนอยู่กับกิจกรรมไม่กี่อย่าง


“เริ่มตอนตีห้า ยี่สิบก้าวไปที่ห้องน้ำ อีกห้าสิบก้าวไปที่โรงอาหาร อีกยี่สิบเก้าไปที่สถานที่พักผ่อน ตอนหกโมงเย็น อีกห้าสิบก้าวกลับไปที่ห้องนอน”


จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการที่ต้องการสื่อว่า คนชราเหล่านี้ช่วยตัวเองได้ไม่มากไปกว่า “นับเท้า นับทาง”










“เนื่องจากว่าเราเองก็ขึ้นสะพานพระราม ๗ แล้ว อายุ ๗o กว่า ฉนั้นเราก็อยู่ในช่วงวัยชราเหมือนกัน นอกจากตะหนักถึงตัวเองแล้ว เราก็ต้องคิดด้วยว่าคนที่ร่วมสังคมกับเรา ร่วมวัยเดียวกับเรา วัยที่ขึ้นสะพานพระราม ๗ เหมือนกันนี่แหล่ะ เราน่าจะตะหนักถึงความสำคัญว่าเราจะยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกันอย่างไร ปกป้องสิทธิที่เราควรจะมีกันอย่างไร”


เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอกถึงเหตุผลอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดนิทรรศการครั้งนี้ และในฐานะเป็นวัยชราเช่นกัน ได้แนะแนวทางการใช้ชีวิตให้มีความสุขในวัยชราว่า


“คนชรา ถ้าแปรความทุกข์ ความเปลี่ยวเหงา ให้กลายเป็นความสุข ความสงบ ความเย็นได้ มันก็จะเป็นความงดงาม ชีวิตก็จะได้ประจักษ์ ในจุดที่ไม่เคยประสบมาก่อน นั่นก็คือความสงบ การได้นิ่งอยู่กับตัวเอง


อยู่กับตัวเองให้มากที่สุด คิดถึงตัวเองให้น้อยที่สุด เป็นความงดงาม เป็นความสุข เป็นความสงบ ซึ่งวัยจะชราทุกคนจะค้นพบได้แน่ๆ ถ้าเราแปรความทุกข์ให้เป็นความรู้สึกแบบนี้ได้”


ชีวิตให้ชีวิตเป็นปริศนา
เวลาให้เวลามาทุกสมัย
ช่วงวัยสังวรช่วยสอนวัย
ให้รู้เห็นเป็นไปในธรรมดา
วัยเยาว์เจ้าเอ๋ยมาเลยล่วง
หนุ่มสาวเป็นห่วงให้ห่วงหา
วันนี้มีแต่แก่ชรา
รำลึกวันผ่านมาให้อาวร
ชีวิต สะอาด วาง สว่าง สงบ
ทวนทบ ธรรมดา อุทาหรณ์
อยู่เย็นเป็นสุขเถิดทุกตอน
อนุสรณ์ อนุสตินี้เตือนเรา



นิทรรศการ นับเท้า นับทาง(Distance by Steps) เปิดแสดงวันนี้ - ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


นอกจากผลงานภาพถ่ายและบทกวี ยังจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินรับเชิญอีกหลายท่าน และในวันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.oo น.ยังมีกิจกรรมสาธิตการเขียนภาพเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สูงวัย โดย ชุมสาย มีสมสืบ ศิลปินวัย ๘๖ ปี ผู้ซึ่งริเริ่มเรียนรู้และหัดวาดภาพเมื่อย่างเข้าวัย ๗o ปี และเป็นคุณแม่ของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ นักเขียนและกวีรางวัลซีไรต์ ที่หลายคนรู้จักกันดี


โดยผู้สนใจร่วมกิจกรรมต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเวิร์คช้อปคนละ ๒oo บาท (มีอุปกรณ์ให้) แต่สำหรับผู้มีอายุ ๖o ปีขึ้นไป (เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมยามว่าง) ค่าลงทะเบียน ๑oo บาท โทรศัพท์ไปลงทะเบียนร่วมกิจกรรมได้ที่ โทร. o๒-๒๘๑-๕๓๖๑ และ o๘๕-๙o๓-๗๓๗๑


อาริษา มุ่งพันกลาง,ปัทมา วาทิน และ ภาวิณี สอบชา ๓ นักเรียนหญิงจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ซึ่งสนใจมาชมนิทรรศการ นอกจากเพราะเป็นส่วนหนึ่งในวิชาศิลปะที่กำลังเรียนอยู่ และชอบภาพถ่ายคนชราภาพหนึ่งที่ได้เห็นผ่านสื่อ


บอกถึงความรู้สึกหลังจากได้เดินชมนิทรรศการว่า ชอบที่ภาพถ่ายทำให้สัมผัสได้ถึงชีวิตที่โดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงาของคนชราในหลายมุมมอง อีกทั้งยังทำให้นึกถึงคุณยายที่บ้าน


“เพราะที่บ้านของหนูก็มีคุณยายอาศัยอยู่ด้วย ปกติคุณยายจะชอบให้ช่วยงาน หรือ พาไปช่วยงานเพื่อนบ้าน จะมีบางเวลาเท่านั้นที่หนูเห็นคุณยายเศร้า แต่ส่วนใหญ่จะสนุกสนาน ร่าเริงมากกว่า”































ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














๑o๕ ปี ชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนาน



เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคมที่ผ่านมา ส่วนบริหารงานดนตรี สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศล "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" อดีตหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และเป็นบุคคลสำคัญของโลก จากการประกาศเชิดชูโดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยจัดขึ้นที่อาคารสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ถนนวิภาวดีรังสิต


พิธีทำบุญ ๑o๕ ปี ชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับเกียรติจากนายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มาเป็นประธานพิธี ร่วมด้วยบุคลากรระดับสูงของกรมประชาสัมพันธ์ ได้แก่ ดร.จรูญ ไชยศร รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์, นางพิชญา เมืองเนาว์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และเหล่าข้าราชการคีตศิลปิน นักดนตรีวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ มาร่วมพิธี


งานนี้ นอกจากอุทิศส่วนกุศลให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน ในวันที่ ๒๑ มกราคม ซึ่งจัดเป็นประเพณีปฏิบัติทุกปีแล้ว กรมประชาสัมพันธ์ยังร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรมครูเพลงที่ล่วงลับ และยังถือโอกาสเป็นงานรวมตัวของบรรดาลูกศิษย์ครูเอื้อ สุนทรสนาน ทั้งนักร้องต้นฉบับ และนักดนตรีก้นกุฏิ โดยมีโฉมฉาย อรุณฉาน ที่ปรึกษา ผอ.สวท. เป็นเสมือนศูนย์กลางประสานงาน


ซึ่งในปีนี้มีนักร้องระดับตำนานมาร่วมพิธี ได้แก่ จันทนา โอบายวาทย์ เจ้าของเพลง “เกาะในฝัน”, วรนุช อารีย์ ฉายาเสียงน้ำมนต์ก้นบาตร เจ้าของเพลง “ไร้รักไร้ผล”, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เจ้าของเพลง “พัทยาลาก่อน”, พรรณี สกุลชาคร เจ้าของเพลง “ฝากลมวอน”, อโศก สุขศิริพรฤทธิ์ เจ้าของเพลง “ฟ้าแดง” ผจงพิศ พุฒิผล เจ้าของเพลง “ตาอินตานา”, ธรรมรัตน์ นวะมะรัตน์ เจ้าของเพลง “รักเพียงใจ” และโฉมฉาย อรุณฉาน เจ้าของเพลง “สมมุติว่าเขารัก”


นอกจากนี้ยังมีบุคคลในวงการเพลงมาร่วมงาน อาทิ ครูพรพิรุณ, วไลลักษณ์ อรุณฉาน, สุปราณี โยธินอุปมัย, ประทุม รองทอง, ดลฤดี เต็มแสวงเลิศ, รุ่งนภา ขจรไชยฤทธิเดช, ภิปราย จิมิสิก รวมถึงนักร้องดาวรุ่งกรมประชาสัมพันธ์ ณัฐดนัย วงศ์วรสันต์, ประเวช ตราชู, สุรีย์พร กร่างสะอาด, มรุธิดา บุญมงคล, นฤมล สมหวัง, ดาริกา นิ่มพิจารณ์ และไพศาล ซันกูล

ครูเอื้อ สุนทรสนาน เกิดวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นทั้งนักร้อง นักประพันธ์เพลงและหัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ และยังริเริ่มก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีผลงานเพลงมากกว่า ๒,ooo เพลง เช่น รำวงลอยกระทง, รำวงเริงสงกรานต์, นางฟ้าจำแลง ฯลฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘


ปี พ.ศ. ๒๕๕o กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ ๑oo ปีชาตกาล เพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก และได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ใน พ.ศ. ๑๕๕๒


ประวัติชีวิตด้านการทำงาน ครูเอื้อในวัยเพียง ๑๒ ขวบ แต่มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อคณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำกองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน ๕ บาท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เงินเดือนเพิ่มเป็น ๒o บาท และ ๒ ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป


ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ และในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้รับเงินเดือนขึ้นเป็น ๔o บาท และ ๕o บาทใน ๒ ปีต่อมา


นอกจากรับราชการในกรมศิลปากรแล้ว ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของ แม่เลื่อน ไวณุนาวิน และได้แต่งทำนองเพลง ยอดตองต้องลมขึ้น นับเป็นเพลงแรกที่แต่งทำนอง (เฉลิม บุณยเกียรติ ใส่คำร้อง) ในปีเดียวกันนั้น ได้ขับร้องเพลง นาฏนารี (คู่กับ นางสาววาสนา ละออ) ซึ่งถือว่าเป็นเพลงแรกที่ได้ขับร้องบันทึกเสียง


จนอายุได้ ๒๖ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ มีโอกาสเล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม "ถ่านไฟเก่า" สร้างโดยบริษัท ไทยฟิล์ม (ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค) และยังได้ร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงร้องของพระเอก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย


จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ "ไทยฟิล์ม" ตามชื่อบริษัทหนัง แต่ต้องสลายตัวเมื่อไทยฟิล์มเลิกกิจการไปหลังจากนั้นเพียงปีเศษ


ต่อมาทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ นายวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีกรมฯ เห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ คุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของเอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำว่า ควรจะยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร อันเป็นที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์"


เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ ๒o พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ (ในสมัยรัชกาลที่ ๘)


เมื่อคราวนำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ สุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมรัตนโกสินทร์ ในฐานะผู้จัดเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะหากนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกันว่าควรใช้ชื่อวงเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นเอื้อตกหลุมรักอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า "สุนทราภรณ์"


พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้เป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก ๒ ปี จนออกจากงานอย่างถาวรในปี พ.ศ. ๒๕๑๖


ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้าเฝ้าฯ ในหลวง ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้ายคือเพลง "พรานทะเล".



ภาพและข้อมูลจาก
thaipost.net
palungjit.org














'ขอให้เหมือนเดิม สุนทราภรณ์' เดอะมิวสิคัล หอมกลิ่นชาวทุ่ง



น่ายินดีอย่างยิ่งที่ “สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ก้าวล่วงมาถึงลำดับที่ ๕ เนื่องในโอกาสชาตกาล ๑o๕ ปี ครูเอื้อ สุนทรสนาน บุคคลสำคัญของโลก ด้านดนตรีไทยสากลจากองค์การยูเนสโก


ละครเพลงครั้งนี้นำเสนอแง่มุมความหลากหลายของวงสุนทราภรณ์ที่มีบทเพลงแสนไพเราะงดงาม ใครที่เคยคิดว่า เพลงสุนทรภรณ์บอกเล่าแต่เรื่องของคนในกรุงนั้น เห็นจะคลาดเคลื่อนไป เพราะคณะละครได้เลือกเพลงที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติท้องทุ่งและวิถีชีวิตคนไทยไว้อย่างมากมายมารวมไว้ในเรื่องนี้


เรื่องราวของละคร เกิดขึ้นที่หมู่บ้านบึงบัว ตัดสลับกับฉากกรุงเทพฯ ที่น่าชื่นชมฝ่ายฉากเหลือเกินว่า ออกแบบและเปลี่ยนฉากได้รวดเร็วแค่กะพริบตา การดำเดินเรื่องก็ชิงรักหักสวาทกันแบบสนุกสนานมีบทเพลงไพเราะแทรกเป็นระยะ ๆ ทั้งเพลงเร็วเพลงช้าอย่างลงตัว และขอบอกว่า การวางจังหวะของบทเพลงที่ลงตัวนี้ ไม่ทำให้ผู้ชมหลับคาเก้าอี้อย่างแน่นอน


๒๓ บทเพลงที่คัดเลือกมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพลงคุ้นหูชาวไทย อาทิ เพลงข้างขึ้นเดือนหงาย ธารน้ำรัก ตาอินกะตานา คู่ทาส บ้านของเรา บัวกลางบึง ฝากหมอน ขอให้เหมือนเดิม กรุงเทพฯ ราตรี น้ำตาลใกล้มด ดอกไม้ใกล้มือ ผู้แพ้รัก สาส์นรัก รักฉันสักครึ่งหัวใจ ฯลฯ


หลายบทเพลงผมเกิดไม่ทัน ทีมงานก็ช่างสรรหามา ทำให้ต้องไปหาฟังและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม โชคดีเหลือเกินที่หน้าโรงละคร มีแผ่นซีดีเอ็มพีสาม ที่ค่ายเพลงบริษัท เมโทรแผ่นเสียง-เทป (๑๙๘๑) จำกัดที่รวบรวมเพลงต้นฉบับและขับร้องใหม่ไว้ตามลำดับการแสดงให้ได้ซื้อหามาฟังด้วย


หลายบทเพลงที่เคยฝั่งแบบผ่านๆ ในเยาว์วัย แต่เมื่อดูละครแล้ว ทำให้กลับมาสัมผัสถึงความงามละเมียดละไมของภาษาที่น่าทึ่ง เช่น บทเพลง “ฝันถึงกันบ้างนะ” ที่มีท่อนหนึ่งที่ว่า “.....ฝันว่าใครให้ใครจูบนิ้ว สัมผัสละมุนหว่างคิ้ว ยังวาบหวิวอายแจ่มจันทร์ ...”ดูละครแล้วต้องหามาฟังทันที และกลายเป็นว่า เพลงนี้ ได้ถูกบรรจุเป็นเพลงรักในดวงใจอีกเพลงหนึ่ง (คำร้อง -ทำนอง ครูธาตรี-ครูเอื้อ ขับร้องต้นฉบับโดย ศิลปินแห่งชาติ รวงทอง ทองลั่นทม) นึกขอบคุณผู้คัดเลือกและนำมารังสรรค์ใหม่ให้คนรุ่นนี้ได้รู้จักบทเพลงดี ๆ อีกเพลงหนึ่ง


อีกยังมีเพลงหลายเพลงที่น่าค้นหา หนึ่งในนั้น คือ “ศึกในอก” กับ ”ยอดดวงใจ” ที่กล่าวไว้ว่า มาจากชีวิตรักของครูเอื้อ เป็นเพลงที่ไพเราะทำให้อยากค้นคว้าถึงแรงบันดาลใจที่ท่านแต่งเพลงนี้ขึ้นมา เหล่าผู้แสดงก็ขับร้องได้ชวนขนลุก และหลายบทเพลงในละคร ฟังแล้วน้ำตาแอบไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว น่าเสียดายที่ด้วยเนื้อที่อันจำกัด จึงไม่สามารถลงรายละเอียดบุคคลได้ครบหมด แต่สรุปได้ว่า นักแสดงนำทั้งสองคนและนักแสดงสมทบ ขับร้องเพลงสุนทรภรณ์ที่ขับร้องยากๆ ได้อย่างน่าชื่นชมจริง ๆ และที่สำคัญคือ เกือบทั้งหมดร้องเพลงด้วยภาษาไทยที่มีคำควบกล้ำชัดเจนเหลือเกิน กอรปกับท่าเต้นในละครที่ช่างคิดออกแบบ ทำให้บทเพลงดูมีชีวิตชีวาเหลือเกิน


มีสิ่งที่น่าสังเกตคือ ตั้งแต่ผมดูละคร (ไม่บ่อยนัก) มาร่วม ๓o ปีตั้งแต่ละครมหาวิทยาลัย เคยคิดสรุปเอาเองว่า ละครเวทีบ้านเรา หากจะเน้นเอาฮาต้องมีนักแสดงเป็นสาวประเภทสองมาเป็นตัวตลกชูโรง ซึ่งก็ได้ผลทุกเรื่องที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้ฉีกสูตรสำเร็จที่ว่าเพราะตัวตลกชูโรงเป็นสาวทอมบ้านนา ที่แสดงโดย ผัดไท-ดีใจ ดีดีดี (นี่ชื่อคนนะครับ) ที่เล่นเป็นทอมได้สุดยอดและฮามาก


“สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” รอบต่อไปคือ เสาร์สุดท้ายของมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มวันที่ ๑, ๗, ๘, ๑๔, ๑๕, ๒๑, ๒๒ รวม ๑o รอบ ไม่ควรพลาดหากคุณเป็นคนรักเสียงเพลง


นอกจากละครจะให้ข้อคิดว่า “บทพิสูจน์ความรัก ที่รักแท้ คือ การให้“ แล้ว ยังพิสูจน์ถึง ความเป็นอัจฉริยะทางดนตรีของครูเอื้อ ที่ให้ความสุขทางดนตรี และยังจะได้รับความเต็มอิ่มจากทีมงานละครเวทีมืออาชีพที่สร้างสรรค์ละครเพลงแบบไทย ๆ ออกมาได้อย่างลงตัวมาก



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ศิลปินแลกเปลี่ยน ไทย - โปแลนด์



หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชิญชมนิทรรศการ " ศิลปินแลกเปลี่ยน ไทย - โปแลนด์ "
ระหว่างวันที่ ๓o มกราคม - ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘
ณ ห้องนิทรรศการชั้น ๑ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินทร์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทร. o๕๓-๒๑๘๒๘o, o๕๓–๙๔๔๘๓๓
และเชิญร่วมงานเปิดนิทรรศการ ในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.oo น.



ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุค Art Eye View














Art Carnival คาราวานความสนุก ส่งความสุขแบบอาร์ตๆ



โกรอัพ มีเดีย กรุ๊ป และกลุ่มไทยอิลัส เตรียมจัดงาน Art Carnival คาราวานสำหรับคนรักศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นงานวาดการ์ตูน ภาพประกอบ งานทำมือ งานเสวนาที่เกี่ยวข้องกับงานการ์ตูน งานศิลปะการแสดงที่ครบเครื่องความสนุก ทั้งตัวโบโซ่ ละครใบ้ คนหน้าขาว หุ่นนิ่ง ดนตรีเปิดหมวก พร้อมด้วย workshop งานแกะยางลบและงานฝีมืออีกมากมาย ที่จะมารวมตัวกันในงาน


และพบกับคาราวานนักวาดสดกว่า ๕o ชีวิต ที่จะมาเปลี่ยนคุณเป็นตัวการ์ตูน ด้วยลายเส้นที่หลากหลายมากที่สุดในประเทศไทย ,สินค้าที่ผลิตจากนักวาดโดยตรง พร้อมด้วยสำนักพิมพ์ ร้านค้า และหน่วยงานที่ทำงานด้านศิลปะมาร่วมออกร้าน


นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบนเวทีที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์นักวาดที่ประสบความสำเร็จ ทั้งด้านโลกออนไลน์ ที่มีแฟนเพจหลายแสน และนักวาดยอดนิยมที่หนังสือติดอันดับขายดี พร้อมทั้งเสวนาที่น่าสนใจ จาก Ookbee Comics ชุมชนการ์ตูนออนไลน์ และเสวนาเคล็ดลับสู่ความสำเร็จของการทำ sticker line จากกลุ่ม Line creator Thailand, การดวลลายเส้นระหว่างนักวาดจากสำนักพิมพ์ Let’s comic กับแฟนนักอ่าน และสาระน่ารู้จากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน


ระหว่างวันที่ ๗-๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑o.oo-๒o.oo น. ณ ชั้น ๓ ฝั่งสถาบันกวดวิชา ซีคอนแสควร์ ศรีนครินทร์


สนับสนุนการจัดงานโดย Ookb











ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














๔ ศิลปินส่องทะเลอันดามัน



ทะเลไทย ขึ้นชื่อติดอันดับโลกไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะมนต์เสน่ห์ทะเลฝั่งอันดามัน ดูได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาสัมผัสเกลียวคลื่นและความงดงามใต้ท้องทะเลในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้ สาวเจ้าถิ่นแดนใต้ "บี" เพ็ญพัฒน์ มรกตวิศิษฎ์ ตัดสินใจทุ่มเม็ดเงินกว่า ๓oo ล้านบาท ลงทุนทำกิจการท่องเที่ยวทางเรือระดับพรีเมี่ยมเพื่อให้บริการในน่านน้ำเค็มฝั่งตะวันตกของด้ามขวาน ซึ่งจัดงานเปิดตัวไปแล้วโดยได้รับเกียรติจาก นิสิต จันทร์สมวงศ์ พ่อเมืองภูเก็ต อุทิศ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต ร่วมแสดงความยินดี


ภายในงานนอกจากการเปิดใจพูดคุยกับนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบการดำดิ่งใต้น้ำแล้ว ยังแบ่งพื้นที่จัดนิทรรศการภาพถ่ายของช่างภาพระดับเทพ ๔ ท่าน ได้แก่ ธีรภาพ โลหิตกุล, เกรียงไกร ไวยกิจ, ชำนิ ทิพย์มณี และ จิระนันท์ พิตรปรีชา ภายใต้หัวข้อ "อันดามัน เมมโมรี่ส์" ซึ่งในมุมมองผ่านเลนส์ของช่างภาพอิสระและผู้ก่อตั้งตาชำนิ จำกัด ชำนิ ทิพย์มณี บอกว่าเพราะอันดามันในฤดูฝนโรแมนติกและเซ็กส์ซี่กว่าฤดูอื่น ๆ จึงเลือกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพขาว-ดำแทนที่จะใช้ภาพสี


"ทะเลมีเรื่องความรัก ความผิดหวัง ความเศร้า คนไปทะเลไปร้องไห้ก็มี ไปสารภาพรัก ไปขอแต่งงานก็มี และเสน่ห์ของอันดามันก็มีเป็นร้อยเป็นพันอย่าง โดยเฉพาะเป็นทะเลที่ไม่มีซีซั่น สามารถเที่ยวได้ตลอด ส่วนตัวผมชอบไปเที่ยวตอนที่ไม่มีคนอยู่ เพราะเป็นหาดของเราจริง ๆ อย่างฤดูฝน ใช้เป็นที่สงบสติอารมณ์ตัวเอง ส่วนเรื่องการถ่ายทอดอันดามันผ่านภาพขาว-ดำ ผมว่ามันไม่ใช่ความแปลก แต่เป็นความตระการตามากกว่า เข้าลึกถึงความรู้สึกดูมีความลึกลับ ถ้าไปในหน้าท่องเที่ยวจะไม่พบความลึกลับของอันดามัน" ช่างภาพผู้ร่ำรวยอารมณ์ขันกล่าว และย้ำอีกว่ามันเซ็กส์ซี่มาก


ขณะเดียวกันในมุมของนักเขียนและช่างภาพสารคดีอิสระ ธีรภาพ โลหิตกุล เลือกสะท้อน "อันดามัน" ผ่าน เรือหัวโทง, ความงดงามแสงทไวไลท์หลังจากแสงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า, รอยเท้าบนพื้นทราย และ สายน้ำใสของคลองสองน้ำสามป่า เพื่อบอกกล่าวถึงความมั่งคั่งทั้งด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเสน่ห์ในดินแดนนี้


"ภาพเรือหัวโทง เป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ ที่เห็นหัวเรืออย่างนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามแต่เป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นอันชาญฉลาดใช้เป็นที่ตั้งสำหรับดูทิศทางที่จะไป ซึ่งก็คือ เข็มทิศ นั่นเอง ขณะเดียวกันฉากหลังเป็นแนวเขตเขาหินปูนเว้าแหว่งเกิดจากการกัดเซาะของฝนจนกร่อน ทำให้เป็นภาพลักษณ์หนึ่งของอันดามันในเขตประเทศไทย ส่วนภาพ "แสงทไวไลท์หรือแสงสนธยา" เป็นแสงที่เกิดขึ้นหลังจากพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ๕-๑o นาที เป็นการผสมสีออกมาที่มนุษย์คาดเดาไม่ได้จริง ๆ เป็นความงดงามตามธรรมชาติ ซึ่งแปลกมากเวลาที่ผมไปอันดามันจะเจอบ่อยมากกว่าที่อื่น ๆ อีกภาพถ่ายจากสะพานทางเดินชมธรรมชาติคลองสองน้ำสามป่าที่ จ.กระบี่ บริเวณน้ำกร่อย เป็นการผสมกันระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม บริเวณตรงนั้นน้ำใสมากจนเหมือนกระจก" ช่างภาพสารคดีอิสระ บอกเล่าเรื่องราว


อีกหนึ่งช่างภาพอิสระ เกรียงไกร ไวยกิจ เลือกบันทึกภาพทะเลฝั่งตะวันตกของไทยด้วยภาพขาว-ดำ แทนที่จะเป็นภาพสีจัดจ้าน ด้วยต้องการจะบอกว่า แท้จริงแล้วอันดามันใช่ว่าจะมีสีสันตลอดเวลา หรืออีกนัยว่า "อันดามันก็มีเวลาเหงา" เช่นเดียวกัน


"ทั้งสี่ภาพเป็นจังหวะที่ผมไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นค่อนข้างนาน ทำให้เห็นทุกช่วงฤดู อย่างฤดูฝนบรรยากาศของทะเลอันดามันอีกแบบหนึ่งไม่ใช่อันดามันซึ่งมีสีสันจัดจ้านในฤดูร้อน หรือไฮซีซั่นอย่างที่หลายคุ้นเคย เพราะฉะนั้นอันดามันในฤดูฝนของผมมีความเหงา ซึม ๆ เศร้า ๆ มันจึงเกิดอารมณ์ให้ถ่ายทอดถึงความนิ่งของทะเล ถึงแม้บางรูปจะมีความร่าเริงอยู่ แต่แบล็กกราวด์ของน้ำทะเลที่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกมาคือความโดดเดี่ยว มีทั้งความสุข ความเหงา รวมอยู่ในนั้นด้วย" ช่างภาพขี้เหงาถ่ายทอดอารมณ์ผ่านมุมกล้อง


มาที่นักเขียนและช่างภาพอิสระมือรางวัลกวีซีไรต์ "จี๊ด" จิระนันท์ พิตรปรีชา อธิบายเพียงสั้น ๆ ว่าเพราะเกิดและโตที่จังหวัดตรัง จึงเห็นทะเลอันดามันตั้งแต่เด็ก ๆ จึงเลือกสะท้อนทะเลสีครามสดใสในมุมของ "เด็กกับทะเล"


"เหตุที่เน้นเรื่องราวของเด็กในพื้นที่เล่นน้ำว่าเป็นภาพเห็นกันจนชินตาสำหรับคนในพื้นที่ แต่มันสวยเหลือเกินในสายตาคนอื่น และ ที่เลือกใช้ภาพทั้ง ๔ นี้ เพื่อจะฝากถึงนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนว่า หากต้องการให้ความงดงามคงอยู่อย่างยั่งยืน ต้องมีการดูแลรักษา สิ่งของที่นำเข้าไปจะต้องได้รับการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นขยะหรือน้ำเสีย แต่สิ่งที่ให้ความสวยงามธรรมชาติเหล่านี้หายไปแล้วไม่กลับคืนมาอีก คืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นห่วงกันอยู่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือน้ำลึก สำหรับคนที่เห็นด้วยก็อยากจะบอกว่าอย่ามาเสียดายเมื่อสายไป ทีตอนนี้ไม่ว่าอะไร" กวีสาวเจ้าถิ่น ย้ำ



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














แจ๊สเดอล้านนา
ขุนอิน



อาณาจักรล้านนาพวกเราชาวไทยจะทราบกันดีว่าเป็นอาณาจักรที่มีอายุเก่าแก่มามากกว่า ๗oo ปี หลายท่านอาจจะคิดว่าอาณาจักรล้านนาของเรานี้ในสมัยก่อนนั้นก็คือจังหวัดทางภาคเหนือของเราทั้ง ๘ จังหวัดที่ประกอบไปด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แม่ฮ่องสอน และก็ แพร่ น่าน แต่เพียงเท่านี้ ซึ่งโดยความจริงแล้วอาณาจักรล้านนา นั้นจะขึ้นไปถึงดินแดนสิบสองปันนา เมืองเชียงรุ่ง มณฑลยูนนาน ส่วนทางทิศตะวันตกนั้นก็จะไปติดแม่น้ำสาละวินที่เมืองเชียงตุง สรุปได้ว่าอาณาจักรล้านนานั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย จีน พม่า ของยุคปัจจุบันนี้ แต่อย่างไรก็ตามอาณาจักรล้านนาที่ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ในสมัยพญามังราย ได้สถาปนา "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ขึ้นเป็นราชธานี ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ซึ่งราชธานี ในสมัยพญามังรายที่ว่านี้ ก็คือจังหวัดเชียงใหม่ของเราในยุคปัจจุบันนี้นั่นเองแหละครับ


แหม เกริ่นมาซะยืดยาวราวกับว่าจะให้ท่านผู้อ่านนั้นได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยเราซะอย่างงั้น แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีนะครับเพราะเรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะทราบเรื่องอาณาจักรล้านนากันดีอยู่แล้วนั้น จะนึกได้ว่า การรวมเลือดเนื้อเป็นชาติเชื้อไทย ของเรานั้นมันมีความต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน และดินแดนนพบุรีศรีเชียงใหม่ที่ว่านี้ ในวันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม นี้ กำลังจะเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลดนตรีแจ๊สครั้งสำคัญที่มีชื่อว่า "Jazz de Lanna" คิด ๆ ไปแล้วมันต้องบอกว่า ฟินเวอร์ละเมอในอารมณ์รสกลมกล่อมเสียด้วยสิครับ


ก็คือดนตรีแนวแจ๊ส ที่ทั่วโลกนิยมเล่นกันมานานเกือบร้อยปี ถูกนำมาจัดแสดงบนดินแดนที่มีความเป็นมามากกว่า ๗oo ปี และด้วยนักดนตรีแจ๊สที่มีฝีมือระดับประเทศและระดับโลกที่มาเล่นบนเวทีเดียวกันถึง ๕ วง และถ้าท่านลองหลับตา แล้วมโนถึงอากาศที่กำลังหนาวเย็นบวกกับเสียงดนตรีแจ๊สบนแผ่นดินเดิมของ "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ของพญามังรายแล้วนั้น จะบอกว่าฟินเวอร์หรือฟินสุด ๆ ก็ไม่ผิดแล้วล่ะครับ


เอาล่ะ ผมว่ายิ่งเขียนมันก็ยิ่งมโนโม้ไปกันใหญ่ เอาเป็นว่าในวันที่ ๓๑ มกราคม นี้ จะมีงานเทศกาลดนตรีแจ๊สที่จะจัดขึ้น ณ บริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ และใช้ชื่องานนี้ว่า "แจ๊สเดอล้านนา" มาให้พวกเราได้ชมฝีมือนักดนตรีและวงดนตรีแจ๊สระดับโลก กันแบบฟรีๆ ถึง ๕ วง ซึ่งทั้ง ๕ วงที่ว่านี้ก็จะมีวงจากต่างประเทศ ๓ วง และจาก สยามประเทศอีก ๒ วงด้วยกันครับ


ลองมาดูวงจากต่างประเทศกันก่อนนะครับเริ่มจาก Howard Mccrary ท่านนี้คือนักดนตรีแจ๊สชาวอเมริกันแต่เป็นเชื้อสายแอฟริกัน ที่เคยได้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่อวอร์ด เมื่อปี ๑๙๘๖ ซึ่งท่านนี้เป็นนักร้องและเป็นนักเปียโนแจ๊ส ที่ผ่านเวทีระดับโลกมามากมายแถมยังได้ร่วมรับเชิญจากศิลปินดังอย่าง Jose Carreras นักร้องชื่อดังชาวสเปนและอีกหลาย ๆ ศิลปินและที่สำคัญ Howard Mccrary ยังเป็นดารานักแสดงอีกด้วยครับ


ท่านต่อไป Balawan Trio ท่านนี้เป็นนักแต่งเพลงและเป็นมือกีตาร์ที่ได้รับฉายาว่า "กีตาร์นิ้วเทพ" ชาวอินโดนีเซีย เล่นกีตาร์มาตั้งแต่ ๘ ขวบจวบจนไปจบการศึกษาด้านดนตรีแจ๊สที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งประสบการณ์ในการเล่นคอนเสิร์ตนั้นคงไม่ต้องบรรยายเพราะอย่างน้อยที่สุดก็เคยได้ร่วมเล่นคอนเสิร์ตกับศิลปินอย่าง Scorpions และ The Beatles มาแล้วครับ


ส่วนท่านสุดท้ายนั้นมีนามว่า Mama Funger ท่านนี้ผมไม่มีข้อมูลรู้เพียงแต่ว่าท่านนี้นั้นเป็นนักร้องและนักกีตาร์ที่ล่าสุดได้เปิดคอนเสิร์ตที่กรุงปักกิ่ง มาไม่นานนี้เท่าไหร่ครับ และงานนี้พวกเราคงจะได้เห็นลีลาร้องและดีดกีตาร์ของท่านนี้แบบเกาะติดด้านหน้าเวทีอย่างแน่นอนครับ


ส่วนอีก ๒ วงของชาวสยามในงานนี้ ก็มีวงของคุณโก้ มิสเตอร์แซกแมน ที่เพิ่งจะผันวงมาเป็นวงดนตรีแนวร่วมสมัยและมีส่วนคล้ายคลึงกับวงผม แถมชื่อวงก็ยังแทบจะแยกกันไม่ออกอีกต่างหากและก็เป็นครั้งแรกที่เราทั้ง ๒ วงจะได้ร่วมแสดงในงานเดียวกันและเวทีเดียวกัน แต่ท่านผู้ชมนั่นแหละครับที่จะได้รับชมและฟังของดีกันอย่างเต็ม ๆ เพราะผมก็คิดว่า Jazz of Siam ของผมกับ Sound of Siam ของคุณโก้ นี่แหละครับ คือวงดนตรีแนวคอนเทมโพรารีแจ๊ส ในระดับแนวหน้าที่มีมาตรฐานสูงสุด ในเมืองไทยแล้วล่ะครับ


แล้วอย่าลืมพบกันที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่นะครับ ในงานนี้ "วงขุนอินแจ๊สออฟสยาม"ของผมจะนำเพลงล่องแม่ปิง มาฝากท่านผู้ชมในวันนั้นให้ได้ฟังกันเป็นครั้งแรก ท่านลองมโน ตามไปด้วยนะครับ ทำนองเพลงล่องแม่ปิง เดินทำนองโดยระนาดขุนอินกับทรัมเป็ต เคล้าไปด้วยจังหวะสวิงแจ๊สโดยมี เปียโน กลองแจ๊ส และเบสเป็นกลุ่มให้จังหวะแล้วก็ผลัดกันโซโล่ โอ่วว.. พระเจ้าแจ๊ส แบบนี้มันคือ "แจ๊สยุคบีบ๊อพ" ชัด ๆ นะครับท่าน...



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกการกุศล โรงแรมโฟร์ซีซันส์



คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิคการกุศลประจำปี โดย ม.ล.อัศนี ปราโมช เพื่อมอบรายได้ให้กับสภากาชาดไทย ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ รีสอร์ท เชียงใหม่ ในวันเสาร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
กลับมาอีกครั้งของคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิคการกุศล โดย ม.ล.อัศนี ปราโมช จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ รีสอร์ท เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา ๑๗.๓o น. คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิคการกุศลนี้ เป็นงานประจำปีของโรงแรมฯ และเป็นงานคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิคที่มีรูปแบบอันมีเอกลักษณ์แต่เพียงงานเดียวของเชียงใหม่


บัตรราคา ๙๕o บาทต่อท่าน รวมเครื่องดื่มต้อนรับ และราคา ๒,๕oo บาทต่อท่าน รวมเครื่องดื่มต้อนรับและอาหารค่ำ รายได้จากการจัดงานมอบให้กับสภากาชาดไทย สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และสำรองที่นั่ง โทรฯ o๕๓-๒๙๘-๑๘๑ หรือ อีเมล fb.chiangmai@fourseasons.com



ภาพและข้อมูลจาก
hedlomnews.com














"อานูป แมทธิว โทมัส" ศิลปินอินเดีย รางวัล Han Nefkens Foundation-
BACC Award for Contemporary Art ครั้งที่ ๒



อานูป แมทธิว โทมัส (Anup Mathew Thomas) ศิลปินชาวอินเดีย ได้รับการประกาศให้ได้รับรางวัล Han Nefkens Foundation-BACC Award for Contemporary Art ครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นรางวัลด้านศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติ ที่ริเริ่มโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิฮานเนฟเก้นส์ (Han Nefkens Foundation) ประเทศสเปน


โดยมูลนิธิฮานเนฟเก้นส์เป็นองศ์กรที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินรุ่นใหม่ ด้วยการให้ความสนับสนุนด้านการเงินและการช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านการร่วมมือกับสถาบันและองค์กรด้านศิลปะทั่วโลก


ขณะที่ รางวัล Han Nefkens Foundation-BACC Award for Contemporary Art ซึ่งมูลนิธิฯ ร่วมกับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีกำหนดประกาศรางวัลเป็นประจำทุก ๒ ปี โดยมอบให้กับศิลปินรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เกิน ๔o ปี ไม่จำกัดสัญชาติ สร้างผลงานอยู่ในทวีปเอเชีย มีอาชีพเป็นศิลปินเต็มตัว แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างระดับสากล


โดยศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินรางวัล ๑๕,ooo ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นเงินรางวัล ๓,ooo ดอลลาร์สหรัฐ และ ๑๒,ooo ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ สร้างสรรค์ผลงานในระยะเวลา ๒ เดือนที่อยู่ที่กรุงเทพฯ และแสดงผลงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นเวลา ๑ เดือน


อานูป แมทธิว โทมัส เป็นศิลปินภาพถ่ายผลงานของเขามักจะพูดถึงเรื่องราวในชุมชนท้องถิ่น ผลงานของเขาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจะเป็นชุดภาพถ่ายที่สะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นเมืองของรัฐเกรละ บ้านเกิดของเขา


ภาพถ่ายของโทมัสจะพาผู้ชมเข้าไปรับรู้เรื่องราวที่อาจจะถูกกลืนหายไปกับ กาลเวลา ผ่านรูปแบบการถ่ายทอดที่ก่ำกึ่งระหว่างสารคดีและงานศิลปะ โดยโทมัสใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ ผสมผสานระหว่างความรู้สึกส่วนตัวเข้ากับการถ่ายทอดข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ผลที่ได้คือผลงานภาพถ่ายพอร์ตเทรตบุคคลที่ผ่านการจัดวางอย่างรอบคอบ แนวทางการถ่ายภาพของเขาแสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการจับภาพและความรู้สึกในชั่วขณะนั้นของศิลปะการถ่ายภาพและความน่าทึ่งของภาพ ถ่ายในฐานะสื่อศิลปะที่สามารถการถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างไร้ขีดจำกัดและกระตุ้นให้เกิดความคิดและ ความรู้สึกต่าง ๆ ได้มากมาย


การแสดงงานแบบนิทรรศการกลุ่มที่ผ่านมาของโทมัส อาทิ Kochi Muziris Biennale เมืองโกชิ ประเทศอินเดีย (๒๕๕๕),The Matter Within, Yerba Buena Center for the Arts ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐ อเมริกา (๒๕๕๔),Generation in Transition, Zacheta National Gallery of Art วอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ (๒๕๕๔), The Self and the Other, La Virrein a Centre de la Imatge บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน (๒๕๕๒ - ๕๓) และ Lapdogs of the Bourgeoisie, Arnolfini บริสตอล ประเทศอังกฤษ (๒๕๕๒)


ส่วนการจัดแสดงเดี่ยวผลงานของโทมัสที่ผ่านมา ได้แก่ นิทรรศการที่ Gasworks Gallery ลอนดอน ประเทศอังกฤษ (๒๕๕o), The Contemporary Image Collective ไคโร ประเทศอียิปต์ (๒๕๕๓) และนิทรรศการ Lothringer13 มิวนิค ประเทศเยอรมัน (๒๕๕๖)


นอกจากนี้เขายังเคยได้รับรางวัล The Abraaj Group Art Prize ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ อีกด้วย


ปัจจุบัน อานูป แมทธิว โทมัส ใช้ชีวิตและทำงานที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย







ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














กล้องถ่ายภาพ เครื่องมือของลัทธิล่าอาณานิคม ?



“กล้องถ่ายภาพ เครื่องมือของลัทธิล่าอาณานิคม” หนึ่งในหัวข้อเสวนา วาระก่อตั้งภาควิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งส่วนหนึ่งคือการเรียนการสอนด้าน วิชาถ่ายภาพ (โดยที่มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอแนวความคิดผ่านภาพถ่ายศิลปะ มากกว่าเทคนิคการถ่ายาภพ)


ถือเป็นการตั้งหัวข้อเสวนาที่ดึงให้คนสนใจไปฟังจำนวนไม่น้อย ณ หอประชุม ม.ศิลปากร วังท่าพระ รวมทั้งในเวทีเสวนา ซึ่งมี สืบสกุล ศรัณพฤฒิ อาจารย์สอนวิชาถ่ายภาพ เป็นวิทยากร ได้มีการตั้งคำถามและยกตัวอย่างกรณีที่ช่างภาพฝรั่งหลายๆคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศตะวันออกในยุคก่อน


รวมถึง จอห์น ทอมสัน ผู้ที่ภาพถ่ายของเขากำลังจัดแสดงให้ชม ณ พิพิธภัณฑสถาน หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า ว่าช่างภาพเหล่านี้มีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงหรือไม่ และทำไมภาพถึงพยายามถ่ายให้ได้รายละเอียด มากกว่าจัดถ่ายให้งาม และอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่าจุดประสงค์แท้จริงนั้น เกิดขึ้นนับตั้งแต่คิดจะผลิตกล้องถ่ายภาพขึ้น


อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดวิทยากรสรุปว่า ทั้งชื่อหัวข้อเสวนาและข้อมูลต่าง ๆ เป็นแค่การตั้งข้อสงสัยของวิทยากรเอง


“มันเป็นความสงสัยปนกับว่ารู้สึก นับตั้งแต่เรื่องการสร้างกล้องถ่ายภาพแล้ว และคิดเทคนิคการถ่ายภาพแล้ว ไม่ใช่เฉพาะว่าการเข้ามาของช่างภาพ


กล้องถ่ายภาพเป็นสิ่งที่อยู่มานานแล้ว แต่ไม่มีการบันทึกภาพได้ แล้วพอมีการปฏิวัติอุตสหกรรม คิดสารเคมี มีความรู้ทางด้านเคมี มันก็มีความต้องการอย่างยิ่งยวดที่จะต้องทำให้ เป็นการมิกระหว่างความรู้ทางด้านฟิสิกส์กับทางด้านเคมี คือการสร้างกล้อง เพื่อให้เกิดผลบางอย่างขึ้นมา


มันเหมือนในยุคปัจจุบัน ประเทศหลายประเทศพยายามที่จะโอเพ่นข่าวสารข้อมูลให้กว้างที่สุด ส่วนบางประเทศพยายามปิดให้มากที่สุด


การเปิดหรือการปิดมันมีผล การเกิดกล้องถ่ายภาพมีผลต่อการปฏิวัติในโลกสองถึงสามครั้ง เพราะว่าการผลิตกล้องให้คนได้ใช้มากเท่าไหร่ หรือถ่ายภาพได้มากเท่าไหร่ มันพลิกโลกได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น เพราะปัจจุบันเรารู้อยู่แล้ว เรามีกล้องกันทุกคน สุดท้ายมันก็กลายเป็นดาบสองคม เพราะเราไม่สามารถที่จะปกปิดกันได้อีกแล้ว


ภาพถ่ายมันเป็นตัวต่อรองอะไรบางอย่างได้ เป็นอาวุธสำคัญของคนในยุคปัจจุบัน ส่วนในอดีตนั้น ถ้าสืบลึกเข้าไป บางทีอาจจะต้องสืบประวัติช่างภาพ ซึ่งคนไม่เคยสืบ..... สรุปก็คือ ผมสงสัยครับ”


แต่ไม่ว่าคำตอบของวิทยากรจะเป็นเช่นกัน แต่การตั้งหัวข้อเสวนาขึ้นมาครั้งนี้ ก็ทำให้การชมภาพถ่ายโบราณของหลายคน ขยายความอยากรู้อยากเห็นมากไปกว่า สมัยก่อนประเทศเรา ประเทศนั้น ประเทศนี้ มีชีวิตความเป็นอยู่แบบนี้เองหรือ















ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














Once upon a time



เยาวชนกลุ่มศิลปินดาวเด่นบัวหลวง รุ่นที่ ๕ และรุ่นที่ ๖ ขอเชิญชมนิทรรศการ “Once upon a time” ซึ่งเป็นการรวมตัวของนิสิต นักศึกษา จำนวน ๔๖ คน ที่เคยเข้าร่วมโครงการดาวเด่นบัวหลวง ๑o๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และ พ.ศ. ๒๕๕๖ นิทรรศการ “Once upon a time” เป็นนิทรรศการศิลปะ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีงามของเยาวชนกลุ่มศิลปินดาวเด่นบัวหลวงรุ่นที่ ๕ และรุ่นที่ ๖ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่งานศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่ที่มีรูปแบบ วิธีการ และเนื้อหางานศิลปะที่หลากหลาย จากแนวคิดและเทคนิคที่ศิลปินมีความถนัดเฉพาะตน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและให้ความสุนทรีย์แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจในงานศิลปะ


ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “Once upon a time” เพื่อสนับสนุนให้ศิลปินรุ่นใหม่มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ เพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชนต่อไป นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ – ๓o มีนาคม ๒๕๕๘ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันพุธ) เวลา ๑o.oo น.- ๑๙.oo น.


นิทรรศการ : “Once upon a time”
ศิลปิน : เยาวชนกลุ่มศิลปินดาวเด่นบัวหลวง รุ่นที่ ๕ และรุ่นที่ ๖
วันที่ : ๓ กุมภาพันธ์ – ๓o มีนาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เบอร์โทร : o๒-๒๘๑-๕๓๖o-๑































ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














แข่งขันประกวดภาพถ่ายระดับนานาชาติ อากาศในสภาวะวิกฤติ



มูลนิธิสมาคมฝรั่งเศสจัดการแข่งขันประกวดภาพถ่ายนานาชาติติดต่อกันเป็นครั้งที่ ๕ โดยหัวข้อสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้คือ “อากาศในสภาวะวิกฤต”


การแข่งขันครั้งนี้เปิดโอกาสให้กับนักถ่ายภาพมือสมัครเล่นผู้ที่มีสัญชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ผู้เข้าสมัครแข่งขันต้องนำเสนอภาพถ่าย ๒ ภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศคุณในมุมมองของผู้เข้าแข่งขัน เกี่ยวกับสภาวะอากาศและการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่เกิดขึ้นจริง หรือที่สังเกตเห็นถึงผลกระทบ ที่เกิดจากสภาวะวิกฤตของอากาศในชีวิตของผู้คน และรวมถึงการแก้ไขปัญหาในระดับสาธารณะหรือระดับบุคคล ซึ่งในประเทศคุณร่วมกันทำหรือร่วมกันพิจารณา เพื่อต่อสู้กับผลกระทบด้านลบของการเปลี่ยนแปลงนี้


ในรอบแรกจะตัดสินที่ประเทศไทย คนไทยที่ชนะการประกวดจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยภาพถ่ายของผู้ที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่รอบ ๒o คนสุดท้ายจากทั่วโลกจะได้รับการนำไปจัดแสดงร่วมกัน ณ กรุงปารีส ทั้งนี้ในกลุ่มผู้เข้ารอบสุดท้าย จะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ สำหรับผู้ชนะเลิศจะได้รับเชิญให้เดินทางไปกรุงปารีสเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ และจะมีการนำผลงานภาพถ่ายของผู้ชนะไปจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการส่วนตัวที่แกลเลอรีในกรุงปารีสอีกด้วย


การสมัครเข้าร่วมแข่งขัน

ผู้เข้าแข่งขันต้องทำการลงทะเบียนจากประกาศในเวบไซด์ของสมาคม (ที่หน้า กิจกรรมสมาคม) และส่งภาพถ่ายจำนวน ๒ ภาพ โดยบันทึกเป็นไฟล์ TIFF หรือ JPEC ที่ความละเอียด 300 dpi หรือ ความละเอียด ๓๕๔๗*๔๗๒๔ พิกเซล มาที่ concours@afthailande.org โดยใช้หัวข้อ การประกวดภาพถ่าย “อากาศในสภาวะวิกฤต” ภายในเวลาเที่ยงคืน ของวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


การประกาศผล : วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘


การเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้หมายรวมถึงการยอบรับที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบทั้งหมดของการประกวดที่ปรากฏในเว็บไซด์ //www.afthailande.org
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร : o๒-๖๗o-๔๒๔o



ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














นิทรรศการแรกของ G1



ศูนย์การค้าเกษร เปิดพื้นที่เพื่องานศิลปะ ภายใต้ชื่อ G1 CONTEMPORARY curated by H GALLERY นั่นคือได้มอบหน้าที่ให้ H GALLERY คัดสรรผลงานมาจัดแสดงให้ชม และหวังให้พื้นที่นี้เป็นอีกจุดเชื่อมโยงระหว่างศิลปิน ผลงานศิลปะ และนักสะสม


โดยนิทรรศการศิลปะนิทรรศการแรกที่กำลังจะมีขึ้น ประเดิมด้วยการจัดแสดงนิทรรศการภาพเขียน DISQUIET รอยต่อแห่งยุคสมัยทางวัฒนธรรม ผลงานของ ศิลปินชาวอังกฤษ วิลล์ โคลส (Will Klose)


เป็นภาพเขียนเชิงมโนทัศน์ที่ซับซ้อนด้วยปริศนาเรื่องราวของภาพลวงตาของคนบริเวณชานเมืองกรุงลอนดอน และความหมายของการดำเนินชีวิต


นิทรรศการจะเปิดแสดง ระหว่างวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ – ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑o.oo - ๒o.oo น. ณ G1 CONTEMPORARY curated by H GALLERY ชั้น G ศูนย์การค้าเกษร (โดยไม่เสียค่าเข้าชม) โทร. o๘๕-o๒๑-๕๕o๘



ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุค Art Eye View













ฝีเกรียงศิลปินอีสานในแดนล้านนา



ถ่ายทอดความงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวล้านนา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และปลูกฝังอนุรักษ์ความเป็นชาวล้านนาให้คงอยู่ โดยนำเอาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมมาประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิตธรรมชาติในยุคปัจจุบันให้ดูมีชีวิตสมจริงเพื่อเป็นการกระตุ้นความรู้สึกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เกิดจิตสำนึกในวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และใฝ่หาในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อไปตามการเจริญเติบโตของโลกปัจจุบัน


เสน่ห์ธรรมชาติ เสน่ห์ปทุมมา เสน่หาเวียงพิงค์ ๒๕๕๘
(The Nature Lanna the Charm of The North…The Northern Sensation)


ภาพเขียนสีอะคลีลิคบนผ้าใบ โดย เจ สุรเสน
ระหว่างวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ – ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
ณ ห้องนิทรรศการชั้น ๑ ห้อง ๑ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เจ สุระเสน เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕o๒ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม ต่อมาได้รับราชการเป็นช่างศิลป์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมาใช้ชีวิตในการเป็นศิลปินอิสระจนถึงปัจจุบัน


แต่ด้วยใจรักและหลงใหลในเสน่ห์ศิลปะล้านนา จึงได้มาใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่โดยทำงานศิลปะถ่ายทอดความงามทางธรรมชาติและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวล้านนาผ่านปลายพู่กันจีน, เกรียง ลงบนผืนผ้าใบทั้งสีน้ำมัน, อะคลีลิค พัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันเลือกใช้เเกรียงเขียนภาพสีอะคลีลิคบนผ้าใบ















ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุค Art Eye View


















ภาพและข้อมูลจากนสพ.โพสต์ทูเดย์ ๒๘ ม.ค. ๒๕๕๘













ภาพและข้อมูลจากนสพ.กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ ๒๕ ม.ค. ๒๕๕๘



บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





 

Create Date : 30 มกราคม 2558
0 comments
Last Update : 30 มกราคม 2558 21:27:31 น.
Counter : 2980 Pageviews.


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.