happy memories
Group Blog
 
<<
กันยายน 2559
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
11 กันยายน 2559
 
All Blogs
 

เสพงานศิลป์ ๒๕๔





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










ฉายาลักษณ์สยาม



ฉายาลักษณ์สยาม ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ภาพถ่ายโบราณ พ.ศ. ๒๔o๓ - ๒๔๕๓
วันที่ : ๙ กันยายน - ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
สถานที่: ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๙
จัดโดย ฝ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และบริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด
ผู้สนับสนุนหลัก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ผู้สนับสนุนโครงการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 
พิธีเปิดวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๘.oo น. ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๙

ครั้งแรกในเมืองไทยของนิทรรศการภาพถ่ายโบราณสยามเมื่อแรกมีจนถึงสิ้นรัชกาลที่ ๕ กว่า ๑๕o ภาพ ซึ่งต้นฉบับเก็บอยู่ในต่างประเทศ ภาพถ่ายโดยช่างภาพต่างชาติและคนไทยยุคบุกเบิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นช่างภาพในราชสำนักสยามในเวลาต่อมา ภาพเก่าที่คนไทยไม่เคยเห็นเป็นการเปิดประวัติศาสตร์ในหลายแง่มุมให้กระจ่างไม่ว่าจะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ พระรูปเจ้านาย ภาพขุนนางและราษฎร ภาพสถาปัตยกรรมและทิวทัศน์เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ภาพเหตุการณ์และพระราชพิธีสำคัญวิถีชีวิตคนไทยในกรุงและชนบทและนาฏศิลป์โขนละครลิเกจากภาพโบราณ ได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อในมุมมองร่วมสมัย ด้วยผลงานของศิลปินที่ทำให้เห็นมิติและความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปของเมืองมหาชน เศรษฐกิจและสังคม วิถีชีวิตการสัญจรทางน้ำและบก ศิลปะการแสดง รวมไปถึงเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่สำคัญสร้างวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ที่ต่อยอดการตีความ และเป็นการสืบต่ออายุภาพเหล่านี้
 
ช่างภาพ: บาทหลวงลาร์โนดี, เฟเดอร์ เจเกอร์, ปิแอร์ รอซิเอร์, คาร์ล บิสมาร์ค, ฟรานซิส จิตร, จอห์น ทอมสัน, เฮนรี่ ชูเรน,  กุสตาฟ ริชาร์ด แลมเบิร์ต, แม็กซ์ มาร์ติน, วิลเลียม เคนเนท ลอฟตัส, ฟริทซ์ ชูมานน์, โจคิม แอนโทนิโอ, โรเบิร์ต เลนซ์, เอมิล กรูท และ ไคชิ อิโซนากะ 
 
ศิลปิน: เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช, ขวัญชัย ลิไชยกุล, เล็ก เกียรติศิริขจร, นักรบ มูลมานัส, ไพโรจน์ ธีระประภา, พิเชษฐ์ กลั่นชื่น, พินิตย์ พันธประวัติ, สืบสกุล ศรัณพฤฒิ และ อุกฤษณ์ สงวนให้
 
ภัณฑารักษ์รับเชิญ: หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ และ ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์
ภัณฑารักษ์ร่วม: พิชญา ศุภวานิช



ภาพและข้อมูลจาก
bacc.or.th














ประกวดวาดภาพ แนวคิด "เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ๗o ปี



สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอเชิญนักเรียนและนักศึกษา เข้าร่วมประกวดวาดภาพ “เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ๗o ปี เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” 

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอเชิญชวนนักเรียนและนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมโครงการประกวดวาดภาพ ในแนวคิด “เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ๗o ปี เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ด้วยมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้น้อมนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรและแผ่นดินไทย นำมาถ่ายทอดเรื่องราว ความคิด และจินตนาการ ผ่านศิลปะภาพวาดระบายสี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗o ปี ในปีพ.ศ. ๒๕๕๙ นี้ 

การประกวดวาดภาพแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา ซึ่งผู้เข้าประกวดสามารถสร้างสรรค์ผลงานวาดภาพระบายสีได้โดยไม่จำกัดเทคนิค พร้อมเขียนคำบรรยายประกอบผลงานของตนเอง โดยสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ ๓o กันยายน ๒๕๕๙ และจะประกาศผลภายในเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดกติกาการตัดสินได้ที่ //www.ombudsman.go.th และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประสานงานโครงการประกวดวาดภาพ ในแนวคิด “เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ๗o ปี เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” สำนักสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โทร o๒-๑๔๑-๙๑๖๕ โทรสาร. o๒-๑๔๓-๘๓๖๔







ภาพและข้อมูลจาก
ombudsman.go.th














ศิลปอลังการ ๔



นิทรรศการ ศิลปะอลังการ ๔ เป็นนิทรรศการที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของอาจารย์อุดมลักษณ์ ทรงสุวรรณ ศิลปินอาวุโส ผู้มีความสนใจในงานจิตรกรรม ท่านสำเร็จการศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งเป็นบูรพาจารย์ทางด้านศิลปะของไทย เป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิคการเขียนภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน ซึ่งอาจารย์อุดมลักษณ์ ได้ฝึกปรือทักษะดังกล่าวและสามารถพัฒนาจนมีเอกลักษณ์และแนวทางการแสดงออกเฉพาะตนได้อย่างน่าชื่นชม

อาจารย์อุดมลักษณ์ เป็นศิลปินที่มีความสามารถโดดเด่น โดยเฉพาะในด้านการเขียนภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในศาสตร์และเทคนิคการเขียนภาพแบบ Old Master ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านผลงานภาพเหมือนบุคคล นอกจากนี้อาจารย์ยังเป็นผู้ที่มีความศรัทธาในคำสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการอุทิศตนสร้างสรรค์งานศิลปะและพัฒนาวงการทัศนศิลป์ของชาติให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงศักยภาพทางด้านศิลปะและแสดงตัวตนของศิลปินแล้ว ผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ยังเป็นเสมือนการบูชาครู คือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้มีคุณูปการในการวางรากฐานการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยอีกด้วย

พิธีเปิดนิทรรศการวันเสาร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๘.oo น.
ประธานในพิธีเปิด: นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี

จัดแสดงระหว่างวันที่ ๓ กันยายน - ๓o ตุลาคม ๒๕๕๙
ตั้งแต่เวลา ๙.oo -๑๖.oo น. ทุกวันพุธ - อาทิตย์
(หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ณ ห้องนิทรรศการ ๕ - ๘ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ณ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร



















































ภาพและข้อมูลจาก
กระทู้พันทิป
FB พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ














ฉายาลักษณ์สยาม



เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการภาพถ่ายที่น่าสนใจจนต้องตั้งตารอชมเลยทีเดียว สำหรับนิทรรศการ “ฉายาลักษณ์สยาม” ซึ่งได้มีการจัดงานแถลงข่าวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เตรียมพบกับที่สุดของการแสดงภาพถ่ายครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเผยแพร่ในเมืองไทย โดยจะจัดแสดงภาพถ่ายโบราณตั้งแต่เมื่อแรกมีการถ่ายภาพในเมืองไทย จนสิ้นรัชกาลที่ ๕ รวบรวมผลงานช่างภาพระดับตำนานของโลกยุคแรกเมื่อ ๑๕o ปีก่อนไว้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งภาพขนาดใหญ่ในงานนี้ คือ สำเนาภาพที่อัดขยายจากภาพต้นฉบับทุกภาพ

งานนิทรรศการแบ่งการจัดแสดงภาพออกเป็น ๕ หมวด ได้แก่
๑. หมวดภาพบุคคล หรือ ภาพ portrait
๒. หมวดพระราชพิธีหรือเหตุการณ์สำคัญ
๓. หมวดนาฎศิลป์และการแสดง
๔. หมวดวิถีชีวิตชนชาวสยาม
๕. หมวดสถาปัตยกรรม ทิวทัศน์และวัดวาอาราม

บรรยากาศในงานแถลงข่าวมีการแสดงโชว์สุดพิเศษ จาก Pichet Klunchun Dance Company สะกดสายตาผู้มาร่วมงานได้เป็นอย่างดี และมีหลายผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายเก่ามาร่วมให้ความรู้อีกคับคั่ง

นายไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ ผู้จัดร่วมและหนึ่งในภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ กล่าวว่า
“ภาพถ่ายที่มาจัดแสดงครั้งนี้ แบ่งเป็น ๕ หมวดใหญ่ที่ครอบคลุมเหตุการณ์ในกรุงสยามเมื่อกว่า ๑๕o ปีที่แล้ว เพราะงั้นภาพชุดนี้เป็นภาพที่เก็บในเมืองนอกทั้งหมดเลย ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยเลย แล้วก็เป็นภาพที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ อันนี้จะเป็นครั้งแรกเลย ที่คนไทยควรจะมาชมภาพโบราณยุครัชกาลที่ ๔-๕ ภาพถ่ายเหล่านี้อยู่ในรูปแบบของการถ่ายที่เป็นฟิล์มกระจก แล้วก็ไปอัดลงบนกระดาษ แล้วก็ผนึกลงบนกระดาษแข็ง

การที่ภาพถ่ายพวกนี้ยังคงทนมาอยู่กว่าร้อยปีเนี่ยเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ที่เราได้เห็นภาพเหตุการณ์ทั้งหมดเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ในรูปแบบที่เป็นดิจิตอล คือรูปแบบที่เราแสกนจากภาพต้นฉบับมาแล้ว ถ้าเทียบกับปัจจุบันที่ภาพถ่ายที่ทุกคนถ่ายมาแล้วมันเป็นดิจิตอล มันเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มันไม่มีสิ่งที่บันทึกเลย มันบันทึกอยู่ในฮาร์ดดิสก์ อยู่ในมือถือของเรา ซึ่งถ้ามือถือของเราหาย มันก็หายไปหมดเลย แต่ในอดีตมีสิ่งที่บันทึกคือเป็นฟิล์มซึ่งยังอยู่ เราก็สามารถมาอัด พิมพ์ซ้ำได้ ซึ่งก็อยากให้มองตัวเองว่า ตอนนี้ภาพที่เราถ่ายมันเป็นดิจิตอล แล้วถ้าอีก ๕o ปี หรือ ๑oo ปี มันจะเป็นอะไร เราได้มาดูตัวเองด้วยครับ ก็อยากให้มาดูมุมมองและเทคนิคการถ่ายภาพในยุคโบราณว่าถ่ายภาพยังไง แต่ละภาพที่ได้ไม่ใช่ว่ายกมือถือแล้วถ่ายได้เลย ต้องมีการเตรียม การเซ็ต อะไรหลายๆอย่าง และฟิล์มสมัยก่อนก็ไม่ได้ไวแสง เพราะฉะนั้นมันยากลำบากกว่านี้หลายเท่า ในการที่จะได้ถ่ายแต่ละภาพ”

นิทรรศการภาพถ่าย “ฉายาลักษณ์สยาม” ระลึกอดีต มองปัจจุบัน ภาพถ่ายโบราณ พ.ศ. ๒๔o๓ - ๒๔๕๓ จะจัดขึ้น ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๙ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ ๙ กันยายน – ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ...น่าสนใจขนาดนี้ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง











































ภาพและข้อมูลจาก
hunsa.com
soimilk.com
bangkokbiznews.com














ฉัฐรัช พัสตราภรณ์
ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยาม แลตามแฟชั่นโลก



แม้ว่ารัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จะมีเวลาเพียง ๑๕ ปี ทว่าอาภรณ์ของสตรีในยุคนี้ เปรียบเสมือภาพสะท้อนทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าบริบททางสังคมได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของสตรี เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงรัฐศาสตร์ ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ (ฉัด ถะ รัด) ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยาม แลตามแฟชั่นโลก จึงเป็นนิทรรศการที่เป็นมากกว่าการพินิจแฟชั่นผ่านภาพถ่ายโบราณ

ลุพธ์ อุตมะ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แฟชั่นและพัสตราภรณ์ กล่าวถึงภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ว่าเป็นภาพถ่ายที่อัดขยายจากฟิล์มกระจก ที่เก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นอกเหนือจากมีความงาม คม ชัด แล้ว ยังเป็นภาพที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อนอีกด้วย

“ทางหอจดหมายเหตุฯมีภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๖ จำนวนมากมายที่อัดไว้ เป็นภาพบุคคล สถานที่ กิจกรรมต่าง ๆ เราคัดเลือกจาก ๓oo ภาพ เหลือเพียง ๔๕ ภาพที่บ่งบอกถึงยุคสมัยของแฟชั่นที่แบ่งออกเป็น ๓ ช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน”

ลุพธ์ ศึกษาการแต่งกายของเจ้านายฝ่ายหญิง รวมไปถึงบุคคลชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ ๖ แล้วนำไปเทียบเคียงกับพัฒนาการของแฟชั่นสากลในช่วงเวลาเดียวกัน โดยแบ่งแฟชั่นออกเป็น ๓ ยุค ได้แก่

ช่วงต้นรัชกาล ตรงกับสมัยเอ็ดเวอร์เดียน ( รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ แห่งสหราชอาณาจักร) เป็นช่วงที่ทางตะวันตกเกิดการปฏิวิติทางด้านแฟชั่นจากยุควิกตอเรียตอนปลายที่เน้นเสื้อผ้าที่รัดรูป กระโปรงที่มีโครงแบบกรงนกไว้ที่บั้นท้าย เป็นอันว่ายกเลิก สาว ๆ หันมาสวมเสื้อลูกไม้แขนยาวแบบพองตัว คอเสื้อสูงถึงต้นคอ สวมกระโปรงแนบตัวทรงกระดิ่งแทน

ในนิทรรศการนำเสนอพระฉายาลักษณ์ของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้ตามแบบแฟชั่นสตรียุคเอ็ดเวอร์เดียน พร้อมภูษาทรง ถุงพระบาทยาวถึงพระชานุ สวมฉลองพระบาทแบบตะวันตก ทรงสร้อยพระศอมุกและเพชรหลายเส้นดังแฟชั่นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น

ช่วงกลางรัชกาล ตรงกับช่วงทีนส์ตอนต้น (Early Teens) ช่วงนี้เจ้านายรุ่นเยาว์เริ่มไว้พระเกศายาวและเกล้าเป็นมวย เป็นช่วงที่เปลี่ยนจากการนุ่งโจงไปนุ่งซิ่นแทน โดยมีการออกแบบเสื้อตามแบบตะวันตกเพื่อให้เข้ากับซิ่น เสื้อตัดเย็บด้วยผ้าแพร ผ้าลูกไม้ เสื้อทรงหลวมตัวยาวถึงเข่าเพื่อสวมทับผ้าซิ่นเชิงสีต่าง ๆ

ช่วงปลายรัชกาล ตรงกับช่วงทีนส์ตอนปลาย (Late Teens) เสื้อผ้าสตรีสยามในยุคนี้จะเป็นทรงตรงดิ่ง ไม่รัดรูปเหมือนช่วงกลางรัชสมัย แขนเสื้อเริ่มสั้นขึ้นถึงหัวไหล่ ชายผ้าซิ่นสูงขึ้นระดับน่อง สวมพร้อมถุงน่อง รองเท้า ช่วงนี้ผู้หญิงนิยมสวมหมวก ตัดผมสั้นดัดเป็นลอนข้างหู ผมบ๊อบสั้นเท่าใบหู และเริ่มสวมกระโปรงตามแบบตะวันตก

“ในทัศนะของผม คนสยามเป็นคนฉลาด เวลารับอิทธิพลต่างชาติมาแล้วเราไม่ใช้ทั้งหมด ยังมีกลิ่นไอของความเป็นสยาม เช่น เสื้อทรงยุโรปแต่นำมาสวมใส่กับผ้าซิ่นแบบไทย ตรงนี้เป็นการผสมผสานอย่างลงตัว แสดงเอกลักษณ์ในยุคนั้น ทำไมสตรีสยามถึงไม่แต่งตัวตามฝรั่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่ายุคนั้นอยู่ในช่วงล่าอาณานิคม ถ้าเราใส่ชุดฝรั่งเกินไปเท่ากับเรารับวัฒนธรรมฝรั่งมาหมด ถ้ามองในทางบริบททางรัฐศาสตร์เหมือนเป็นนัยว่า แฟชั่นฉันก็รับแต่ฉันไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของเธอ

ในขณะเดียวกันแฟชั่นเสื้อผ้า ยังสามารถบ่งบอกบริบททางสังคม เศรษฐกิจ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะและพัสตราภรณ์ในยุคนั้นได้อีกด้วย”

ด้วยเหตุนี้นิทรรศการ 'ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยาม แลตามแฟชั่นโลก' จึงมิได้เป็นเพียงนิทรรศการพินิจภาพถ่ายโบราณที่มีความงดงามในมิติเดียว

หมายเหตุ : นิทรรศการ 'ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยาม แลตามแฟชั่นโลก' จัดโดยมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมูลนิธิเพชรรัตน์ – สุวัทนา โดยความร่วมมือของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดแสดงให้วันจันทร์ – ศุกร์ ๑o.oo -๑๗.oo น. ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ วันนี้ – ๑o ตุลาคม ๒๕๕๙



















ภาพและข้อมูลจาก
FB กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์














อาลัย “ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู” ครูผู้ให้แห่งเพาะช่าง
ศิลปินภาพเหมือนเพื่อพระพุทธศาสนา



แวดวงศิลปะอาลัยกับการจากไปของ อาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ศิลปินผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนภาพเหมือนบุคคลอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยและอาจารย์สอนศิลปะแห่งรั้วเพาะช่าง

อ.ปัญญา เกิดที่ จ.สมุทรสาคร ความสนใจในศิลปะเริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งเรียนมัธยมเนื่องจากมีโอกาสเรียนกับ ดำรง เล็กสวาสดิ์ ครูสอนศิลปะแห่งโรงเรียนวัดธรรมจริยาภิรมย์ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งเคยเป็นศิษย์เก่าเพาะช่าง และส่วนหนึ่งมีความประทับใจในความสวยงามของลายดอกกุหลาบที่พิมพ์อยู่บนจานชามที่บ้าน จนทำให้อยากวาดภาพ

ทำให้ในเวลาต่อมาตัดสินใจศึกษาต่อทางด้านศิลปะ ที่โรงเรียนเพาะช่าง และ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร กระทั่งสอบบรรจุเป็นอาจารย์ที่รั้วเพาะช่าง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕

ตลอดชีวิตของการเป็นศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะที่รั้วเพาะตั้งแต่เริ่มบรรจุกระทั่งเกษียณอายุราชการ เป็นเวลาเกือบ ๔o ปี ชื่อของ อ.ปัญญาจะเป็นที่กล่าวถึงในแง่ของการเป็นครูผู้ทุ่มเทและมีความเมตตากับลูกศิษย์ โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกศิษย์ที่มีฐานะยากจน เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนศิลปะและทำงานศิลปะต่อไปได้ อ.ปัญญามักจะเจียดรายได้ส่วนหนึ่งของตัวเองมาช่วยเหลือ อีกทั้งความเป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยน ใช้ชีวิตสมถะเรียบง่าย ทำให้เป็นที่เคารพรักของนักศึกษาทั่วไป แม้จะไม่เรียนศิลปะกับ อ.ปัญญา โดยตรง

นอกจากนี้ในแง่ของการเป็นศิลปิน อ.ปัญญายังมีชื่อเสียงในด้านการวาดภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิคสีชอล์ก โดยเบื้องต้นได้แรงบันดาลใจและศึกษาจากผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีต อาทิ จำรัส เกียรติก้อง,เฉลิม นาคีรักษ์ ฯลฯ

ตัวอย่างผลงานชิ้นสำคัญของ อ.ปัญญา อาทิ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ในหนังสือวชิราวุธานุสรณ์สาร,ภาพเหมือนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งขณะนี้ภาพชิ้นนี้ติดประดับไว้ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, ภาพเหมือนเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ,พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระสังฆราช ๑๙ พระองค์ ณ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร,รวมถึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากทางวัดให้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ รัชกาลที่ ๙ ราชวรมหาวิหาร และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช,พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก บนหนังสือที่ระลึกพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เล่มสีเหลือง ซึ่งแจกโดยกรุงเทพมหานคร ฯลฯ

และหากใครที่มีโอกาสเข้าไปในห้องโถงอาคารอำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง ก็จะเห็นภาพเขียนสีชอล์กผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ และผู้บริหารของโรงเรียนเพาะช่างทุกพระองค์และทุกคนนับแต่ที่โรงเรียนเพาะช่างก่อตั้งเมื่อปี ๒๔๕๖ ซึ่งภาพเขียนหลายภาพเขียนโดยของ อ.ปัญญา รวมถึงพระบรมสาทิสลักษณ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ พระผู้สถาปนาโรงเรียนเพาะช่างขึ้นตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ผลจากการอุทิศตนรับใช้สังคมทั้งทางด้านศิลปะและพระพุทธศาสนา ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ มูลนิธิ ม.ล.ปิ่น มาลากุล มอบรางวัล "ศาสตรเมธี" สาขาศิลปกรรมศาสตร์ด้านจิตรกรรมศาสตร์ ให้แก่ อ.ปัญญา และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ยังได้รับ “รางวัลต้นธารศิลป์” จากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์

“ภาพเหมือนที่ผมชอบเขียนที่สุดคือภาพพระสงฆ์เพราะเขียนได้ง่ายและท่านนำจิตใจเราไปสู่ความดี กิเลสลดลง" ความรู้สึกส่วนหนึ่งของ อ.ปัญญา ที่มีต่อผลงานภาพเหมือนบุคคลของตนเอง

หมายเหตุ : อ.ปัญญา มีโรคประจำตัวที่เป็นมานานหลายปีคือ โรคเบาหวาน ในช่วงเช้าของวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ มีผู้พบเห็น อ.ปัญญามีอาการช็อคหมดสติภายในรั้วเพาะช่าง กระทั่งเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายหลังจากที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ อ.ปัญญา หรือ "ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู" จัดให้มีขึ้นในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๗.oo น. และสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศล ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม - ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๘.๓o น. ณ ศาลา ๑o วัดโสมนัสราชวรวิหาร จากนั้นจะมีพิธีบรรจุศพ ๑oo วัน





















ภาพวาดโดย : ดินหิน รักพงษ์อโศก



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ เทิดพระเกียรติในหลวง–ราชินี



อีก​หนึ่ง​กิจกรรม​เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗o ปี ๙ มิ.ย. ๒๕๕๙ และ​สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ ส.ค. ๒๕๕๙ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เตรียมจัดนิทรรศการ "จากขุนเขา สู่ศิลปาชีพ" ผ่านการจัดแสดงศิลปะบนผืนผ้าของชาวไทยภูเขา ๖ เผ่า การเผยแพร่ภาพยนตร์สารคดี ชุด "จากขุนเขา สู่..ศิลปาชีพ"โดย ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยนันทพง​ศ์ สินสวัสดิ์ ผู้ออกแบบศิลปกรรมในนิทรรศการฯ, สมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป และ ชนินทร์ ชมะโชติ ประธานบริษัท ดอคคิวเมเนีย จำกัด ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว ณ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต






ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กล่าวว่า ชาวเขามีงานฝีมืองดงามในแต่ละชนเผ่า ปีนี้เป็นปีมหามงคลจึงถือเป็นโอกาสอันดีในการจัดนิทรรศการชาวไทยภูเขาครั้งใหญ่ ซึ่งไม่เคยจัดมาก่อน ต้องมีหลายคนมาช่วยที่อยากทำถวายทั้งสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทุกที่ ที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อน เพื่อไปทรงคลายทุกข์ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคใดของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนดอยที่อยู่และไปลำบาก ขณะเดียวประเทศไทยยังต้องพึ่งพาน้ำจากฝน ทั้งสองพระองค์จึงปลูกฝังให้เรารักษาป่าที่เป็นต้นน้ำลำธารเอาไว้ จึงทรงสอนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บนภูเขาได้ช่วยกันอนุรักษ์อีกทั้งยังทรงหาอาชีพพระราชทานเพื่อมิให้มีการทำไร่เลื่อนลอย บุกรุกทำลายป่าและเปลี่ยนการปลูกฝิ่นมาปลูกพืชเมืองหนาวและรักษาแหล่งน้ำไว้






ใน​ฐานะผู้ออกแบบศิลปกรรมในนิทรรศการฯ นันทพงศ์ สินสวัสดิ์กล่าวถึงความเป็นมาว่า ได้รับโจทย์จากท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ให้เอาผ้ามาจัดแสดงโดยแสดงความสวยงามให้น้อยกว่าความงดงาม ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำลวดลายผ้าให้เล่าเรื่องออกมาได้ ความงามและความสวยงามต่างกันอย่างไร ผ้าที่สวยน้อยที่สุดก็มีความงดงามที่สุดในโลก ในผ้าผืนหนึ่งแม้จะด้อยสุดแต่ก็มีอะไรลึกๆ อยู่ในผ้า ที่ชุบชีวิตชาวเขาให้หนทางการดำเนินชีวิตแบบใหม่หลุดพ้นจากการทำไร่เลื่อนลอยปลูกฝิ่น นี่คือความงามที่อยู่ใต้ผืนผ้าที่เราต้องมองทะลุมันออกไป และเราต้องถ่ายทอดความงามที่อยู่ใต้ผ้าที่ผ่านการเย็บ ปัก ตรึง ถ่ายทอดออกมาให้ทุกคนเห็น ศิลปะที่นำมาถ่ายทอดนี้ได้แรงบันดาลใจจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นอัครศิลปิน จึงหยิบยกเอาความเป็นศิลปะมาถ่ายทอด ศิลปะของพื้นถิ่นแสดงสัญลักษณ์และแสดงถึงรายละเอียดวิถีชนเผ่าด้วยแรงบันดาลใจจิตรกรรมฝาผนังล้านนา ทำเป็นงานปักผสมงานผ้า






นอกจากนี้ นันทพงศ์ยังกล่าวถึงนิทรรศการ"จากขุนเขา สู่...ศิลปาชีพ"ว่านำเสอแนวคิด จากศิลปาชีพบนขุนเขาสู่ศิลปกรรมร่วมสมัย โดยนำศิลปะบนผืนผ้าที่แสดงถึงวิถีของชาวเขา ๖ เผ่า ได้แก่ ม้ง, กระเหรี่ยง, เย้า(เมี่ยน), ลีซอ, มูเซอ(ลาหู่) และ อีก้อ(อาข่า)มาออกแบบจัดแสดงในลักษณะศิลปกรรมสื่อสผม สะท้อนภาพโครงการตามพระราชดำรินับร้อยโครงการที่พระราชทานแก่ชาวไทยภูเขามาอย่างต่อเนื่องเกือบครึ่งศตวรรษ






"นิทรรศการฯ แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๕ ชั้น คือ ชั้นที่ ๑ นำเสนอพระวิริยอุตสาหะของทั้งสองพระองค์ที่ทรงเปลี่ยนวิถีการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวไทยภูเขาซึ่งช่วยให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ผ่านรูปเชิงสัญลักษณ์เพื่อบอกเล่าถึงชีวิตชาวไทยภูเขาในอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ส่วนชั้นที่ ๒ และ ๓ แสดงถึงน้ำพระราชฤทัยของทั้งสองพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวไทยภูเขาในรูปของโครงการตามพระราชดำริ และโครงการศิลปาชีพในพื้นที่ชาวเขา ๖ เผ่า ผ่านศิลปกรรมสื่อสผมผ้าชาวเขาที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาของแต่ละชาติพันธุ์รวมทั้งมีการสาธิตศิลปะการทอผ้าอันงดงามของชาวไทยซึ่งหาชมได้ยาก ชั้นที่ ๔ แสดงพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ยังคงช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ชาวไทยภูเขาจากรุ่นสู่รุ่น โดยยังคงอัตลักษณ์ของทุกชาติพันธุ์ไว้ได้ตราบจนปัจจุบัน และ ชั้นที่ ๕ จัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ศิลปะผ้าชาวไทยภูเขา โดยผู้เข้าร่วมนิทรรศการสามารถเข้าร่วมฝึกฝนและสร้างสรรค์ผลงานจากผ้าชาวไทยภูเขาได้ด้วยตัวเอง หรือทดลองแต่งกายชุดชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ แล้วถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ขณะเดียวกันยังมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพจากชาวเขาจำนวนมากอีกด้วย" นันทพงศ์ กล่าว






ในส่วนของการจัดทำวิดีทัศน์เฉลิมพระเกียรติชุด "จากขุนเขา สู่...ศิลปาชีพ"ชนินทร์ ชมะโชติกล่าวถึงการผลิตสารคดีว่า มีจำนวน ๕๒ ตอน ความยาวตอนละ ๕ นาที โดยแต่ละตอนจะสอดแทรกถึงแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการช่วยเหลือชาวไทยภูเขา ด้วยการให้ความรู้ ให้อาชีพ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนมาสู่ศิลปาชีพชาวเขา พระอัจฉริยะภาพที่ทรงเห็นความงามของผ้าชาวเขา ทรงกระตุ้นให้ชาวเขาเห็นคุณค่าและภูมิใจในศิลปะประจำเผ่าของตน พระอัจฉริยภาพในการนำผ้าชาวเขามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งแนวพระราชดำริที่จะคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่าและธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มออกอากาศในวันที่ ๑ ส.ค. - ๑๑ ต.ค. ทางสถานีข่าวโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น ๒๔ เวลา ๒o.๕๕-๒๑.oo น. หลังข่าวพระราชสำนักทุกวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี และวันศุกร์เวลา ๒๑.oo-๒๑.๑๕ น., สถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น ๒ ออกอากาศเวลา ๒o.๓o น. วันจันทร์ถึงพฤหัสบดี และวันศุกร์เวลา ๒๑.oo-๒๑.๑๕ น. และสถานีโทรทัศน์ทรู 4 ยู ออกอากาศเวลา ๗.๕๕ น. ก่อนเคารพธงชาติทุกวัน.



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














"มัดหมี่" สายสัมพันธ์แห่งเอเชีย



ศิลปวัฒนธรรมผ้ามัดหมี่ เป็นภูมิปัญญาโบราณของไทยที่มีเส้นทางยาวนานมาหลายยุคสมัย เต็มไปด้วยเรื่องราวที่แฝงด้วยประวัติศาสตร์ ผู้ที่หลงใหลต่างไขว่คว้าหาผ้ามัดหมี่มาไว้ครอบครอง และในโอกาสอันดีงาม เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา และเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงงานเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมผ้าไหมมัดหมี่ บรรดาผู้มีผ้ามัดหมี่ไว้ในครอบครองจึงเปิดกรุผ้าของตนเองให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมผ้าโบราณที่มีความงดงามเหลือล้น

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของผ้ามัดหมี่ ผ้าทอที่เป็นทั้งมรดกทางวัฒนธรรมและงานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนถึงอิทธิพลการส่งผ่านจากรากเหง้าวัฒนธรรมของผ้าชนิดนี้ ตั้งแต่อินเดีย เปอร์เซีย หรือจีน มีเส้นทางการไหลผ่านที่ผสมผสานประเพณีวัฒนธรรม ศาสนาและวิถีชีวิต ต่างเชื่อมโยงเข้าหาผ้าชนิดนี้ผ่านกาลเวลา จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง เป็นหนึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ จึงจัดงานนิทรรศการรวบรวมผ้ามัดหมี่ในยุคต่าง ๆ และเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าชม

เผ่าทอง ทองเจือ นักสะสมผ้าโบราณ กล่าวว่า การนำเสนอผ้าที่เก็บสะสมผ่านนิทรรศการในครั้งนี้ ก็เพราะอยากให้ผ้าเหล่านี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ถ้าเรามัวแต่เก็บไว้เฉย ๆ วันหนึ่งผ้าเหล่านี้ก็ตายอยู่

ในหีบ ส่วนตัวแต่ก่อนเก็บผ้าเพราะความชอบ แต่ในวันนี้ผ้าที่เก็บไว้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า จึงอยากที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมที่แฝงไว้ในผ้าให้ผู้ที่สนใจได้ชม นิทรรศการได้รวบรวมผ้าจากทั่วทุกมุมโลกมาแสดง ผู้ชมจะได้มาเห็นความแตกต่างของผ้าแต่ละผืน ทั้งที่เป็นผ้ามัดหมี่เหมือนกัน แต่ละชาติก็จะมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปอย่างสวยงาม

อาจารย์เผ่าทองยกตัวอย่างอีกว่า อย่างผ้ามัดหมี่ของประเทศมาเลเซียมีความน่าสนใจ เป็นผ้าที่นิยมใช้ในหมู่ชนชั้นสูงเชื้อสายมลายู ทอด้วยไหมหรือฝ้ายแกมไหม โทนสีส้ม เชิงผ้าทั้งสองข้างเป็นสีแดงมีลักษณะเป็นลายกรวยเชิง ถือเป็นผ้าของชนชั้นสูงจึงใช้เฉพาะงานพิธีสำคัญ กรรมวิธีการทอแบบมัดหมี่เส้นพุ่งซึ่งเป็นเทคนิคมัดหมี่ยุคต้นของชาวมาเลเซียที่ได้รับวัฒนธรรมโครงสร้างรูปแบบจากเมืองคุชราต ประเทศอินเดีย ผ่านอิทธิพลการทอมัดหมี่แบบกัมพูชา สตรีชาวมุสลิมจะใช้ผ้าลีมาเป็นผ้าสไบพาดไหล่หรือคล้องคอ คลุมไหล่หรือคลุมศีรษะ สุภาพบุรุษใช้เป็นผ้านุ่งปิดทับกางเกง ส่วนชาวมลายูที่มีฐานะดีจะใช้คลุมศพ เพื่อเป็นเกียรติยศครั้งสุดท้ายของผู้ตาย เมื่อนำศพไปสุสานก่อนเผาจะต้องนำผ้าออกแล้วโยนผ้าข้ามศพไปมา ๓ รอบ ผ้าที่ใช้คลุมศพอาจนำไปทำความสะอาดเก็บรักษาไว้เพื่อใช้ต่อไป หรือจะบริจาคไว้ที่สุสาน

ด้านบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักสะสมผ้ามัดหมี่โบราณ กล่าวว่า โดยปกตินั้นเป็นคนที่คลุกคลีกับการทอผ้าอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ทำให้เราหลงใหลและเห็นคุณค่าของการทอผ้า ซึ่งจากการที่พื้นเพเป็นคนอุบลราชธานีนั้น ทำให้ได้เห็นผ้าทอที่หลากหลาย โดยเฉพาะผ้าทออุบล ซึ่งในนิทรรศการก็จะมีการนำผ้าทออุบลมาจัดแสดงด้วย นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังเต็มไปด้วยเรื่องราว ถ้าพินิจถึงรายละเอียดจะพบว่าผ้าทออุบลมีลวดลายที่มีความละเอียด

"ผ้าทออุบลจะต้องดูใกล้ ๆ ซึ่งความงามแบบนี้นั้นเรียกว่า งามพิศ ตัวผ้านั้นก็จะมีทั้งหัวผ้า ตัวผ้า และตีนผ้า ลายที่หัวผ้าแบบนี้จะเรียกว่า หัวดอกผักแว่น ตีนผ้า จะเรียกว่ากระจับย้อย ที่สมัยก่อนนั้นถ้าไม่สกปรกจริง ๆ ก็จะไม่ซัก แต่ถ้าซักก็จะใช้น้ำมะพร้าวในการซัก แล้วนำไปตากในที่ร่ม ที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งก็คือ ผ้ามัดหมี่ของชนเผ่าทางเหนือของเวียดนาม ที่ไม่มีการทอแล้ว" บุญชัยกล่าว

ด้านศักดิ์ชัย กาย บรรณาธิการบริหารนิตย สาร Lips นักสะสมผ้าโบราณอีกคน กล่าวว่า การเริ่มต้มเก็บสะสมผ้าโบราณนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากได้ไปเห็นตลาดผ้าที่กัมพูชา ซึ่งสวยงามมาก แต่มีราคาถูกแค่หลักร้อยเท่านั้น จึงคิดซื้อไว้เพื่อมาอวดเพื่อน เป็นความคิดก่อนที่จะหลงใหลในความงามเต็ม ๆ ของผ้าโบราณ

"ตอนที่ได้จับผ้าเหล่านี้อยู่ในมือในราคาที่ถูกขนาดนั้น เราไม่ทราบว่าจะได้กลับไปเจออีกเมื่อใด เพราะผ้าแต่ละผืนต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ความหลงใหลนี้ก็ทำให้เราซื้อผ้าทอจำนวนมากมาย จนมารู้ตัวอีกทีก็มีหลายหมื่นผืนแล้ว จนรู้สึกว่าจะต้องโฟกัสการเลือกซื้อให้เป็นระบบมากขึ้น จึงมาจบที่ผ้ามัดหมี่ เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วเราก็ไม่ได้คิดแล้วว่าจะต้องเก็บผ้าที่แพงที่สุด หายากที่สุด แต่ผ้าทุกผืนที่เราเก็บมันมีความผูกพัน จนไม่ได้มองเรื่องมูลค่า หากแต่มองกันที่เรื่องคุณค่าของผ้าผืนนั้น ๆ มากกว่า" ศักดิ์ชัยกล่าว

ผู้ที่สนใจเข้าชมนิทรรศการ "มัดหมี่" สายสัมพันธ์แห่งเอเชีย นิทรรศการเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้จนถึง ๒๕ กันยายน ๒๕๕๙ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
FB นิทรรศการ














อาลัย “ผศ.อนิก สมบูรณ์” ศิลปินอาวุโสเจ้าของประติมากรรม
“ต้นไม้แห่งชีวิต” กลางสวนลุมพินี



ใครที่มีโอกาสใช้ สวนลุมพินี เป็นสถานที่ออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจน่าจะพอผ่านตาอยู่บ้างกับผลงานประติมากรรมหลาย ๆ ชิ้นที่ติดตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยแห่งนี้

หนึ่งในจำนวนนั้น คือผลงานประติมากรรมหล่อด้วยสำริด (Bronze) ชื่อ Tree of Life หรือ ต้นไม้แห่งชีวิต

สิ่งที่ต้องการถ่ายทอดผ่านประติมากรรมรูปชายและหญิงยืนหันหลังพิงกันชิ้นนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนิก สมบูรณ์ ศิลปินอาวุโสผู้สร้างสรรค์ผลงาน เคยให้แนวคิดและความหมายไว้ว่า

“หมายถึงความรักที่มีให้กันและกันระหว่างสามี ภรรยา เป็นความรักที่ละเอียดอ่อน ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ การทะนุถนอม จำเป็นต้องอยู่ในใจทั้งสองฝ่ายอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ที่ต้องคอยดูแล รดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย เพื่อให้ต้นไม้มีความแข็งแรงและเจริญเติบโต”

ผศ.อนิก เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มศึกษาศิลปะที่ โรงเรียนเพาะช่าง และในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม และประติมากรรม (ปัจจุบัน คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์) มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนเตรียมศิลปศึกษา จากนั้นจึงมาเป็นอาจารย์สอนที่ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เคยได้รับมอบหมายจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้สอนวิชากายวิภาคคน กายวิภาคสัตว์ วิชาวาดเส้น และวิชาประติมากรรม หลังจากที่ศาสตราจารย์ศิลป์ถึงแก่กรรรม ผศ.อนิก เป็นผู้รับผิดชอบการสอนวิชากายวิภาคและวิชาวาดเส้นมาโดยตลอด และเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดวิชาวาดเส้น และรองคณบดีฝ่ายบริหาร

หลังจากที่ทุ่มเทเวลาให้กับการสอนศิลปะมาตลอด ๓๕ ปี ผศ.อนิก ขณะมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ ๘ ได้เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และในปีเดียวกันนั้นได้รับการยกย่องเป็น นักศึกษาเก่าดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๖ ประเภทผู้ส่งเสริมการศึกษาวิชาการ

ในช่วงเวลาที่ประติมากรรม “ต้นไม้แห่งชีวิต” กลางสวนลุมฯ ยังคงตั้งตระหง่านให้ผู้คนได้หยุดมองและครุ่นคิดกับความหมาย อีกทั้งความเป็นครูที่ลูกศิษย์หลายคนประทับใจยังคงไม่เลือนหาสยไปจากความทรงจำ ดังคำกล่าวของลูกศิษย์บางรายที่ว่า “ครูผู้มีเมตตาและเป็นตำนานของครูที่ใช้ชอล์กวาดเส้นกายวิภาคสดบนกระดานดำที่ติดตาตรึงใจตราบนานเท่านาน”

แต่แล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายนที่ผ่านมา มีข่าวคราวความเศร้าบอกผ่านมาทางลูกศิษย์ว่า ผศ.อนิก ได้จากครอบครัว บุคคลอันเป็นที่รัก และลูกศิษย์ลูกหาทุกคนไปแล้ว และขณะนี้กำลังมีพิธีสวดศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดทินกรนิมิต (วัดบางด้วน) ถ.ประชาราษฎร์ ๒o ต. สวนใหญ่ อ.เมือง จ. นนทบุรี จากนั้นจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันจันทร์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๗.oo น.



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














๘๑ ผลงานศิลป์ สะท้อนตำนานชีวิตและสังคม
“ประเทือง เอมเจริญ” ศิลปินแห่งชาติ วัย ๘๑ ปี


คาราวะ พี่ประเทือง

โอบโลกด้วยหัวใจอาบไฟศิลป์
ออกโบยบินจินตนาเติมฟ้าม่าน
ฝีแปรงปาดวาดเส้นเป็นจักรวาล
วักสายธารร้อยพันสีสาดชีวิต

เปิดดวงตาอ่อนโยนลุกโชนกล้า
เปล่งดาราวับวาวคราวมืดสนิท
แล้วสบตาท้าแรงแสงอาทิตย์
นฤมิตจิตวิญญาณงานประเทือง

เป็นประทีปที่ประเทืองเรืองศักดิ์ศิลป์
ทาบแผ่นดินทอผืนฟ้ามานานเนื่อง
ประทับพื้นผืนผ้าในกลางใจเมือง
ประกายเรืองศิลปกรรมธรรมปัญญา

จะโดดเดี่ยวฤาโดดเด่นเป็นไฉน
อยู่ที่ใจเจตน์จำนงมั่นคงกว่า
พ้นพายุที่พัดผ่านกาลเวลา
พบเปลวไฟในดวงยิ่งกล้าโชน

จิระนันท์ พิตรปรีชา
๑ กันยายน ๒๕๕๙



สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาชีวิตและผลงานของประเทือง เอมเจริญ ที่ผ่านมาทางเลือกหนึ่งอาจมุ่งไปที่ หอศิลป์เอมเจริญ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันมี สีน้ำ - ศรีศิลป์ เอมเจริญ ทายาทของประเทืองทำหน้าที่ดูแลและให้การต้อนรับผู้ไปเยือน

แต่สิ่งที่นิทรรศการแสดงผลงานครั้งสำคัญครั้งนี้ของประเทืองให้กับผู้ชมมีความแตกต่างจากไปจากการชมผลงานที่ติดแสดงภายในหอศิลป์เอมเจริญ เพราะนอกจากจะมีการหยิบยืมผลงานชิ้นสำคัญของประเทืองที่อยู่ในครอบครองของนักสะสมศิลปะมาร่วมจัดแสดงด้วย

ไพศาล ธีรพงษ์วิษณุพร กล่าวว่าสิ่งที่เป็นหัวใจหรือแก่นของนิทรรศการนี้คือต้องการให้ผู้ชมได้เห็นถึงวิวัฒนาการในการทำงานศิลปะของประเทืองว่ามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง มีการเติบโตอย่างไร

“ต้องการให้เห็นว่างานในแต่ละยุคแต่ละช่วงของพี่เทืองมีอะไรที่มันเปลี่ยนไป ที่มันแตกต่างจากก่อนหน้านี้บ้าง ก็คือต้องการไล่เรียงให้เห็นจากยุคที่ ๑ ที่เป็นยุคของการเริ่มต้นค้นหาแสวงหา เพราะฉนั้นงานในยุคที่ ๑ จึงเป็นงานที่ค่อนข้างหลากหลาย ได้อิทธิพลมาจากงานศิลปะ ยุค post-impressionism, impressionism และ expressionism ผลงานยังสะเปะสะปะอยู่ ยังไม่ชัดเจน

แต่พอยุคที่ ๒ เป็นยุคที่พี่เทืองค้นพบแล้ว หลังจากที่น้าชายแนะนำให้ไปศึกษาจากธรรมชาติ ก็เลยไปนั่งเพ่งพินิจความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของธรรมชาติ ที่คนอื่นมองว่าบ้าที่สุดก็คือการไปนั่งจ้องพระอาทิตย์ที่เริ่มขึ้นจนพระอาทิตย์ตก จนตาเกือบเสีย แต่ว่าการทำแบบนั้นทำให้พี่เทืองเห็นสีสันที่มันแตกต่างจากที่คนอื่นเห็น อย่างที่แกได้ระบายออกมาเป็นภาพในยุคที่ ๒ ซึ่งมีลักษณะเป็นดวงเป็นวง มีแฉกสีพุ่งออกมา มีรัศมี รวมถึงไปมองดูสายน้ำไหลตามแม่น้ำ ลำคลอง ดูต้นไม้ใบหญ้าไหวล้อลม ดูทุกอย่างที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ดูจนซึมซับและเก็บความรู้สึกสิ่งเหล่านั้นมาสร้างเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะตัว

พอยุคที่ ๓ เนื้อหาจะแตกต่างจากงานยุคอื่น ๆ ไม่ใช่งานที่เกี่ยวกับธรรมะและธรรมชาติ แบบที่ออกไปดูต้นข้าว ใบหญ้า เขียนภูเขา เขียนหยดน้ำ เขียนใบบัว เขียนต้นไม้ เขียนดวงอาทิตย์ เขียนก้อนเมฆ เขียนสภาพทะเลตอนกลางวันกลางคืน แต่เป็นยุคที่บอกเล่าประเด็นทางสังคมและการเมืองเป็นหลัก เนื่องจากสังคมไทยในตอนนั้นกำลังสุกงอมทางด้านการเมือง คนหนุ่มสาวเกิดการตื่นตัวหันมาสนใจประเด็นนี้มาก สภาพแวดล้อมก็นำพาศิลปินไป และพี่เทืองเป็นคนที่สนใจเรื่องสังคมและการเมืองอยู่แล้ว ช่วงเวลาที่สุกงอมที่สุด คือหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ พี่เทืองก็เลยเอาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ส่วนตัว การรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับแต่ละคนที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ จนย่อยออกมาเป็นงานศิลปะชิ้นที่ชื่อ “ ธรรมะ อธรรม” หลังจากที่ทำงานชิ้นนี้สำเร็จเป็นชิ้นแรกโดยใช้เวลาอยู่ปีกว่า ๆ จากนั้นก็มีงานชิ้นอื่น ๆ ในยุคเดียวกันติดตามมาอีกหลายชิ้น

พอยุคสี่ ๔ ยุคที่ทักษะในการวาด หรือการสร้างสรรค์ผลงานมีความสุกงอมและลงตัว ผลงานมีความสมบูรณ์มากกว่ายุคที่ผ่านมา ๆ ทั้งในแง่องค์ประกอบทางศิลปะและเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ แตกต่างจากยุคที่ ๕ ตรงที่เป็นยุคที่งานยังมีรายละเอียด ยังประณีตบรรจงกับชิ้นงานมีการใช้พู่กันเล็ก ๆ ไปแต้มไประบายไปเขี่ย พอมาถึงยุคที่ ๕ เป็นยุคที่งานไม่เน้นรายละเอียด สร้างสรรค์ลงบนผ้าใบซึ่งมีขนาดใหญ่ อาศัยจังหวะการกวัดแกว่ง สร้างงานแบบฉับไว ใช้พู่กันเบอร์ใหญ่ ๆ เนื่องจากศิลปินสนุกจากการทำงานมากขึ้น รู้สึกทนไม่ได้กับการที่ต้องมานั่งเขียนด้วยพู่กันเล็ก ๆ แบบแต่ก่อน เพราะมีสิ่งที่อยากแสดงออกมากขึ้น

ยุคที่ ๕ จะเห็นว่ารายละเอียดแบบยุคที่ ๔ จะหายไป (เพราะศิลปินมีอายุมากขึ้น และสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง?) ไม่ฮะ ผมมองว่าพี่เทืองกลับไปทดลองใหม่อีกครั้ง มีการใช้สโตรกแบบแปลก ๆ มีจังหวะแปลก ๆ ใช้พู่กันใหญ่ๆเขียนภาพ โดยไม่สนใจว่างานจะสวยจะลงตัวหรือจะสมบูรณ์ไหม แต่ว่าเป็นการเขียนรูปที่ให้ความสำคัญกับสมอง อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้น บางทีก็ใช้นิ้ว หรือปลายพู่กันเขี่ยลากสี เอานิ้วขูดมัน เป็นยุคที่มีการถ่ายเทอารมณ์ เพื่อระบายสิ่งที่อยู่ข้างในของตัวเองออกไป เพื่อจะทำงานให้ได้มากที่สุด การจะไม่นั่งจดจ่อทำงานแบบยุคที่ ๔ รู้สึกว่ามันไม่เท่าทันกับสิ่งที่อยากระบายออกมา

โดยสภาพของงานอาจจะไม่สมบูรณ์เท่ายุคที่ ๔ แต่แสดงให้เห็นว่าศิลปินมีความกล้าที่จะก้าวข้ามเพื่อไปหากการทดลองใหม่ ไม่สนใจความสำเร็จที่เคยมี งานศิลปะต้องไปข้างหน้า ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่”

เมื่อผู้ชมค่อย ๆ ไล่ชมผลงานตั้งแต่ยุคที่ ๑ จนถึงยุคที่ ๕ สิ่งที่ผู้ชมหลายคนรู้สึกได้ไม่ต่างกันคือสีสันในผลงานที่ค่อย ๆ มีความเปลี่ยนแปลงไป จากที่ค่อนข้างมีความหม่นเศร้าค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปสู่สีสันที่สดใสมากขึ้น

ถนอม ชาภักดี สะท้อนว่าสีสันในผลงานที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ด้านหนึ่งสะท้อนถึงชีวิตของศิลปินเช่นประเทืองได้เป็นอย่างดี ที่เติบโตมาจากชีวิตที่ติดลบในหลายด้าน ไม่ได้เรียนจบศิลปะมาจากรั้วสถาบันใด ต้องต่อสู้เพื่อให้มีที่ยืนในแวดวงศิลปะ กระทั่งวันหนึ่งผลงานได้รับการยอมรับ สามารถขายผลงานได้ มีพื้นที่ของตัวเอง มีชื่อเสียง และได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ

ขณะที่ สีน้ำ - ศรีศิลป์ เอมเจริญ ทายาทของประเทืองกล่าวในวันเปิดนิทรรศการเมื่อช่วงเย็นของวันที่ ๑ กันยายนที่ผ่านมาว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดนิทรรศการแสดงผลงานของพ่อในครั้งนี้ เนื่องจากทางหอศิลป์ กทม.ได้ติดต่อไปทาบทามไปโดยให้เหตุผลว่าชีวิตและผลงานของประเทือง เอมเจริญ จะเป็นตัวอย่างให้กับคนทั่วไปได้เป็นอย่างดีในแง่ศิลปินที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของประเทศไทยที่มีชีวิตเริ่มต้นมาจากศูนย์

ไม่เพียงเท่านั้นชีวิตศิลปินของประเทืองยังเป็นเสาหลักให้กับคนทำงานศิลปะ อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะคนทำงานศิลปะที่ไม่ผ่านการเรียนศิลปะมาจากสถาบันการศึกษาด้านศิลปะ และภายหลังคนกลุ่มนี้ได้รวมตัวก่อตั้งกลุ่มธรรม (Dhama Group)เพื่อแสวงหาโอกาสที่จะนำแสนอผลงานศิลปะสู่สาธารณชนร่วมกัน

ชัยวัฒน์ วรรณานนท์ ลูกศิษย์รุ่นแรกๆของประเทืองและสมาชิกกลุ่มธรรม ปัจจุบันทำงานเขียนภาพปริศนาธรรมที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ บอกเล่าที่มาของการตั้งกลุ่มธรรมในวันที่เดินทางมาร่วมงานเปิดนิทรรศการของประเทือง หรือพี่เทืองของเขาในครั้งนี้ว่า

“เมื่ออาจารย์ประเทือง ทำงานศิลปะจนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแล้ว ก็เริ่มมีนักศึกษาจากศิลปากรบ้าง จากเพาะช่างบ้าง และเด็ก ๆ ที่ไม่ได้เรียนศิลปะจากสถาบันใด มาหาเรื่อย ๆ ( ที่บ้านใน ซ.วัฒนา ย่านวงเวียนใหญ่ ใกล้กันกับบ้านศิลปิน จ่าง แซ่ตั้ง) ไปศึกษา ไปเรียนรู้จากท่าน และสมัยเข้าไปใหม่ ๆ พวกเรายังไม่ได้เรียกอาจารย์ด้วย พวกเราเรียกพี่เทือง ๆ เหมือนกับว่าอายุมากกว่าเลยเรียกพี่ พอผมบวชก็เลยคิดว่าควรจะเรียกพี่เทืองว่าอาจารย์ ต่อมาคนอื่นก็เลยเรียกตามว่า อาจารย์ประเทือง

ยุคนั้นการที่ใครสักคนจะได้แสดงงานศิลปะเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่เกาะกลุ่ม และที่เกาะกลุ่มได้ก็เป็นนักศึกษาที่จบจากสถาบันศิลปะเท่านั้น อย่างเพาะช่าง หรือศิลปากร คนที่ไม่ได้จบศิลปะมาจะแสดงงานเป็นเรื่องยาก อาจารย์ประเทืองและพวกเราซึ่งส่วนมากไม่ได้เรียนศิลปะจากสถาบันใด ก็เลยหาทางคิดว่าเราจะรวมตัวกันอย่างไรในการที่จะเอาผลงานของเรานำเสนอสู่ชาวบ้าน พอจะแสดงงานครั้งแรกที่คลองเตยก็เลยตั้งกลุ่มธรรมขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ช่วงนั้นผมบวชเป็นพระ มาประชุมกัน มีคนเสนอชื่อเยอะ แต่ผมเสนอชื่อกลุ่มธรรม (Dhama Group) เพราะว่าเราเป็นศิษย์ท่านพุทธทาส และ Dhama ของเรามันหมายถึงธรรมชาติด้วย เป็นสิ่งดีงามด้วย และศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ คือความดี และความงาม ที่ประชุมเลยตกลงเอาชื่อนี้”

วันนี้ (๒ ก.ย. ๕๙)เป็นวันแรกที่นิทรรศการ ประเทือง เอมเจริญ “ร้อยริ้วสรรพสีสัน” ตำนานชีวิตและสังคม เปิดให้ผู้ชมทั่วไปได้เข้าชมอย่างเป็นทางการเป็นวันแรก และจากนี้ไปนิทรรศการจะจัดแสดงให้ชมยาวนานเกือบ ๓ เดือน ไปจนถึงวันที่ ๒o พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ณ ชั้น ๘ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

















จิระนันท์ พิตรปรีชา อ่านบทกวี เป้ สีน้ำ และโย่ง ไวโอลิน บรรเลงดนตรี





ไพศาล ธีรพงษ์วิษณุพร และ ถนอม ชาภักดี





สีน้ำ – ศรีศิลป์ เอมเจริญ ทายาทของประเทือง































ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














มนต์เสน่ห์พิพิธภัณฑ์ไทย



กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญร่วมกิจกรรม มหกรรมพิพิธภัณฑ์ Thailand Museum Expo 2016 "มนต์เสน่ห์พิพิธภัณฑ์ไทย" เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ในระหว่างวันที่ ๑๖-๒๑ กันยายน ๒๕๕๙ ตั้งแต่เวลา ๙.oo - ๑๘.oo น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ชมนิทรรศการพิเศษ "ของดีมีมาอวด" รวบรวมของชิ้นเยี่ยม ของแปลก ของหายากจากพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศทั้งของรัฐและเอกชน จำนวนกว่า ๑oo ชิ้น (ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๓o กันยายน ๒๕๕๙ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

การออกร้านของพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
การเสวนาทางวิชาการ
โชว์ของล้ำค่า พระเครื่อง พระบูชา เครื่องลายครามฯ
สอบถามรายละเอียดได้ที่ TAT Contact Center 1672



ภาพและข้อมูลจาก
thailandexhibition.com














“บุหลันดั้นเมฆ” ขนมชาววัง งามคล้ายพระจันทร์ฉาย



บริการเดอะวิสดอม ธนาคารกสิกรไทย จัดกิจกรรม THE WISDOM Lifestyle: เลาะรั้ววังเก่า เล่าเรื่องขนมไทย ณ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม ย้อนรอยความละเมียดละไมใน แต่ละขั้นตอนของการทำขนมไทยโบราณตำรับชาววัง “บุหลันดั้นเมฆ” ซึ่งสืบทอดวิธีการทำมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นขนมเลื่องชื่อที่หาทานได้ยากมาก และควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยได้รับเกียรติจาก ม.ล.ดรุณี จักรพันธุ์ นักจัดการงานในพระองค์ ชำนาญการ สังกัดกองวัง สำนักพระราชวัง และปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาอาหารและขนม โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) มาเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์

ม.ล.ดรุณี เล่าว่า ขนมชาววังต้องใช้ความพิถีพิถันทุกขั้นตอนการทำ ประดิดประดอยอยู่หลายขั้นตอน คนสมัยก่อนนิยมส่งลูกหลานที่เป็นผู้หญิงเข้าไปในวัง เพื่อถวายตัวรับใช้เจ้านายในวังตามตำหนัก เพื่อฝึกฝนงานฝีมือด้านต่าง ๆ เช่น งานเย็บปักถักร้อย จัดดอกไม้ ทำอาหาร






“บุหลันดั้นเมฆ” เป็นขนมชาววังคิดประดิษฐ์ขึ้นให้มีสีสันอุปมาอุปไมยโดยได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” หรืออีกชื่อคือ “บุหลันลอยฟ้า” เพลงพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มีความเป็นมาว่า หลังจากทรงซอสายฟ้าฟาดอยู่จนดึกก็เข้าบรรทม ทรงพระสุบินว่าเสด็จไปสถานที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง พระจันทร์เต็มดวงค่อย ๆ ลอยเลื่อนเข้ามาใกล้ ส่องแสงกระจ่างไปทั่ว พร้อมมีเสียงทิพยดุริยางค์กังวาน พระองค์เสด็จทอดพระเนตรและทรงตั้งพระทัยสดับเสียง ดนตรีอันไพเราะเพลิดเพลินพระราชหฤทัยเป็นเวลานาน จากนั้นดวงจันทร์ก็ค่อย ๆ ลอยเลื่อนเคลื่อนห่างออกไปในท้องฟ้าพร้อมสำเนียงเสียงดนตรีก็ค่อย ๆ เบาจางห่างหายไป พลันเสด็จตื่นบรรทมแม้เสด็จตื่นรู้พระองค์กระจ่างแจ้งแจ่มพระทัยแล้ว สำเนียงดนตรีในพระสุบินยังแว่วกังวานพระโสตอยู่ จึงโปรดให้ตามมหาดเล็กเจ้าพนักงานการดนตรี เข้ามาต่อเพลงไว้ในยามราตรีนั้นเอง พระราชทานนามเพลงว่า “บุหลันลอยเลื่อน”

คำว่าบุหลันหมายถึงดวงจันทร์ ลักษณะของตัวขนมจะใช้น้ำดอกอัญชันสีฟ้าครามแทนสีของเมฆในเวลากลางคืน และวางไข่แดงตรงกลางแทนดวงจันทร์ ขนมนี้จึงทำเลียนแบบเสมือนความงดงามของดวงจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืน






ขนมบุหลันดั้นเมฆมีลักษณะคล้ายขนมน้ำดอกไม้ ส่วนผสมแบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ส่วนผสมของแป้ง ประกอบไปด้วย แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำดอกอัญชัน น้ำตาลทราย และส่วนผสมของหน้าขนม ได้แก่ ไข่แดงของไข่ไก่ และน้ำตาล ซึ่งสามารถใช้ทองหยอดวางแทนไข่แดงและน้ำตาลได้ จะเรียกว่า “บุหลันดั้นหมอก” โดยยังคงมีรสชาติเหมือนเดิม เนื่องจากทองหยอดนั้นทำมาจากไข่แดงและน้ำตาลเช่นกัน






วิธีทำเริ่มจากการนึ่งถ้วยตะไลในน้ำเดือดประมาณ ๑o นาทีจนถ้วยร้อนจัด ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำดอกอัญชัน และน้ำตาลทราย จากนั้นหยอดลงบนถ้วยตะไล เมื่อนำไปนึ่ง ขนมจะเป็นรอยบุ๋มตรงกลาง รอจนแป้งจับตัวกับขอบถ้วยเล็กน้อย จึงหยอดไข่ไก่ลงไปตรงกลาง นึ่งต่อให้สุกเป็นเนื้อเดียวกัน หรือในกรณีที่ใช้ทองหยอดแทนไข่ไก่ นึ่งต่อจนทองหยอดดันตัวขึ้นมาเหนือแป้ง นำมาพักไว้จนเย็น แล้วจึงแซะออกจากถ้วยตะไล นำมาจัดเรียงให้สวยงาม

ทุกรายละเอียดล้วนสะท้อนความละเมียดละไมในวิถีทั้งชีวิตและวัฒนธรรมด้านอาหารการกินของผู้คนในอดีต รวมทั้งเกร็ดความรู้ที่บอกเล่าถึงความคิดสร้างสรรค์และความใส่ใจในทุกขั้นตอน ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าซึ่งสืบทอดมาแต่ครั้งโบราณที่ยังหอมหวนให้กับผู้คนในยุคนี้



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














นิทรรศการ ระบบอุปถัมภ์



นิทรรศการ ระบบอุปถัมภ์ (Patronage system) โดย ลีลา พรหมวงศ์ ได้นำเสนอจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ ที่เป็นจิตรกรรมไทยร่วมสมัย รูปแบบศิลปะ แฟนตาซี (Fantasy Art) ว่าด้วยเรื่องราวของความไม่เท่าเทียมในสังคม โยงใยไปถึงพฤติกรรมของคนรวยกับคนจน สะท้อนให้เห็นภาพของคนรวยที่มีพฤติกรรมการวางอำนาจ กลุ่มคนประเภทหนึ่งที่มีเงินมีอำนาจนำพาไปสู่การข่มเหง รังแก เอารัดเอาเปรียบต่อผู้ที่มีฐานะด้อยกว่าคนที่ไม่มีเงินไร้ซึ่งอำนาจใด ต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมไร้ทางสู้ ผลงานชุดนี้สร้างขึ้นในปี ๒๕๕๘ จำนวน ๔ ชิ้น และปี ๒๕๕๙ จำนวน ๔ ชิ้น ระบบอุปถัมภ์ (Patronage system) ที่เรื่องราวถูกนำไปอ้างอิงผ่านภาพลักษณ์ ของวงจรห่วงโซ่อาหารจากบนสุด ถึงจุดที่ต่ำสุดในธรรมชาติของสัตว์ที่เป็นสัตว์ผู้ล่า และเหยื่อผู้ถูกล่า ธรรมชาติของสัตว์ได้นำมาเปรียบเปรยกับมนุษย์กับมนุษย์ถึงประเด็นปัญหาหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ภายในสังคมมนุษย์

ลีลา พรหมวงศ์ นอกเหนือจากงานศิลป์แล้ว ยังมีความสามารถพิเศษรอบด้านทั้งทางดนตรี กีฬา และ ภาษาอังกฤษ ส่วนผลงานจิตรกรรมของ ศิลปิน ระบบอุปถัมภ์ (Patronage system) ชุดนี้มีเนื้อหาความคิดองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่น ในปลายฝีแปรงรูปแบบการเขียนที่พิถีพิถันการเก็บลายละเอียดของรูปทรงต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพที่ต้องการสื่อออกมาได้อย่างชัดเจน อีกทั้งสีสันที่ใช้ภายในงานทำให้เกิดความรู้สึก ที่ปะทะ สะดุดตาต่อผู้ชม

การสร้างศิลปะ แฟนตาซีชุดนี้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของศิลปินเป็นอย่างมาก ลีลา พรหมวงศ์ ถูกการันตรีโดย การได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนิทรรศการศิลปะนิพนธ์ยอดเยี่ยมครั้งที่ ๘ ณ หอศิลป์สิริกิติ์, ร่วมแสดงผลงานจิตรกรรมเอเชียพลัสครั้งที่ ๖ และโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย

เปิดให้เข้าชมที่ Number 1 Gallery ๑๙ ซ.สีลม ๒๑ ถ.สีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ ๑o๕oo พิธีเปิด วันเสาร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๘.oo น. เป็นต้นไป เข้าชมตั้งแต่วันที่ ๓ กันยายน -๒๔ กันยายน ๒๕๕๙

รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับนิทรรศการกรุณาติดต่อ
คุณกรกต ศรีดี โทร : (o๘๓) ๔๔๕-๘๓๓๓,(o๒) ๖๓o-๒๕๒๓















ภาพและข้อมูลจาก
portfolios.net














นิทรรศการ "บูชา"



สมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี มีความยินดีเสนอนิทรรศการศิลปะเซรามิกส์ จากศิลปิน ๑๗ ท่าน โดยมีคุณ วิภู ศรีวิลาศเป็น ภัณฑารักษ์ ภายใต้ชื่อ นิทรรศการศิลปะเซรามิกส์ “บูชา” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม - ๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ สมบัติพูนแกลเลอรี

นิทรรศการ "บูชา" ได้ความคิดจากลักษณะเด่นเฉพาะตัว ของสมบัติเพิ่มพูน แกลลอรี คือเป็นเเกลลอรีที่รวบรวมผลงานของศิลปินชั้นบรมครู แม้หลายท่านได้ล่วงลับไปแล้ว เเต่ผลงานของท่านยังคงเป็นเเรงบันดาลใจ และเป็นแบบอย่างให้ศิลปินรุ่นหลังได้ศึกษา ก่อกำเนิดสายใยอันมองไม่เห็น ที่เชื่อมโยงศิลปินรุ่นเก่าเเละรุ่นใหม่ไว้ด้วยกัน ภัณฑารักษ์จึงได้นำความคิดเรื่องสายใยที่เชื่อมโยงคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งมาจัดเป็นนิทรรศการด้วยความเคารพเเละความศรัทธาที่ศิลปินไทยมีต่อ พระพิฆเนศ บรมครูทางศิลปะ จึงได้อันเชิญท่านมาเป็นสัญลักษณ์ของสายใยที่เชื่อมโยงศิลปินหลากหลายรุ่นนี้

เเละได้เชิญศิลปินทั้งรุ่นใหญ่ กลาง เเละเล็ก รวม ๑๗ ท่าน ให้มาสร้างผลงานใหม่ ภายใต้หัวข้อเดียวกัน พระพิฆเนศ โดยมีข้อกำหนดคือใช้เซรามิกส์เป็นวัตถุดิบ นิทรรศการ “บูชา” นำเสนอมุมมองเเละรูปลักษณ์ร่วมสมัย ให้กับ พระพิฆเนศ ผ่านประสบการณ์ส่วนตัว, การตึความเเละ ความศรัทธา ของศิลปินเเต่ละท่าน ประวัติภัณฑารักษ์ คุณ วิภู ศรีวิลาศ เป็นศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงด้านประติมากรรมเซรามิกส์ ผลงานของคุณวิภู ถูกสะสมโดยหอศิลป์ต่างชาติหลายแห่ง รวมทั้ง Clayarch Gimhae Museum, Korea; Craft Council, London; Shepparton Art Museum, Victoria และ National Gallery of Australia

นอกจากสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเเล้ว คุณวิภู ยังเป็นภัณฑารักษ์อิสระ มีผลงานจัดนิทรรศการศิลปะ ทั้งในไทยเเละต่างประเทศหลายครั้ง เช่น OBJECT:SPOON, USA 2013; Give Me A Spoon, Bangkok 2014 และ Return to Beauty, Brisbane 2016 คุณ วิภู สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาจิตรกรรมและออกแบบ (เซรามิกส์ )จากมหาวิทยาลัยแทสมาเนีย ปัจจุบันอาศัยและทำงานอยู่ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๙ คุณวิภู ศรีวิลาศ ได้ก่อตั้ง Clay LAB ที่ประเทศออสเตรเลีย โดยมีจุดประสงค์ให้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยน ศิลปะ และ วัฒนธรรม ของศิลปินนานาชาติ ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : สมบัติเพิ่มพูนแกเลอรี, เลขที่ ๑๒ สุขุมวิท ซอย ๑ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ๑o๑๑o โทร: o๒-๒๕๔-๖o๔o-๖ E: info@sombatpermpoongallery.com เวลาทำการ: ทุกวัน ตั้งแต่ ๙.oo น. - ๒o.oo น.



ภาพและข้อมูลจาก
portfolios.net














Workshop ดอกไม้กระดาษเดือนกันยายน



เรียนกับกูรูดอกไม้กระดาษมือพระกาฬ ครูปอนด์ ครูโอ๋ จบคอร์สสุดท้ายไปเปิดร้านกันหลายคนแล้ว สามารถปรึกษาโจทย์ง่าย-ยาก หรืองานสเกลใหญ่ต้องการแบคอัพบอกคุณครูได้ สมัครได้ทางกล่องข้อความแฟนเพจ และ Lind id : paperart
เรียนที่บ้านบางขุนนนท์ ๒๔

Basic 1 เวลา ๑o.oo-๑๗.oo น./ ๕,ooo บาทต่อท่าน (จบคอร์สใน ๑ วัน)
แพทเทิร์น ๔-๘-๑๒ กลีบ ให้เป็นดอกไม้ได้หลายชนิด และการจัดช่อ3มิติ
- เสาร์ ๑o, ๑๗, ๒๔ กันยายน ๒๕๕๙
Basic 2 เวลา ๑o.oo-๑๗.oo น./ ๕,ooo บาทต่อท่าน (จบคอร์สใน ๑ วัน)
แพทเทิร์น ๑-๕ กลีบ ให้เป็นกุหลาบและดอกไม้ได้หลายชนิด และทำ Backdrop ขนาดจำลอง
- อาทิตย์ ๑๑, ๑๘, ๒๕ กันยายน ๒๕๕๙
Basic 3 เวลา ๑o.oo-๑๗.oo น./ ๕,ooo บาทต่อท่าน (จบคอร์สใน ๑ วัน)
การทำสี และจัดช่อ ๓ มิติโดยไม่ต้องใช้โครงสร้างรองรับ
- ท่านที่ผ่าน Basic 2 แล้วสามารถนัดวันเรียนได้ทุกวัน
Advance เวลา ๑o.oo-๑๗.oo น./ ๑๕,ooo บาทต่อท่าน (จบคอร์สใน ๒ วัน)
การทำBackdrop ดอกไม้กระดาษสไตล์ ThaiPaperArt
การประยุกต์ใช้งานจริง การประกอบ ติดตั้ง และเรียนรู้รูปแบบองค์ประกอบของ Backdrop
- ท่านที่ผ่าน Basic 3 แล้ว สามารถนัดวันเรียนได้ทุกวัน
* มีวัสดุ-อุปกรณ์สำหรับการทำ workshop พร้อมใช้
** ลงทีละคอร์สได้ แต่ต้องผ่านตามลำดับคอร์สก่อน (รับไม่เกิน ๔ ท่านต่อคอร์ส)



ภาพและข้อมูลจาก
FB Thaipaperart




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





 

Create Date : 11 กันยายน 2559
0 comments
Last Update : 2 ตุลาคม 2559 12:18:55 น.
Counter : 7974 Pageviews.


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.