happy memories
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
17 มีนาคม 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๙๕





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










๕ ศตวรรษ ความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ



เป็นเวลากว่า ๕ ศตวรรษที่ความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ ได้ดำเนินมาอย่างยาวนานบนพื้นฐานของมิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ การค้าการลงทุนระหว่างกัน และมุมมองค่านิยมที่สอดคล้อง กระทรวงการต่างประเทศจึงร่วมกับสถานเอกอัคราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยจัดนิทรรศการฉลองเนื่องในโอกาสก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งความสัมพันธ์นี้ ภายใต้ชื่อ “ฟอร์เวิร์ด อินทู เดอะ ไฟฟ์ เซนทูรี่ ออฟ ไทยแลนด์-ยูเค รีเลชั่น”


ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาททรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการ โดย ดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.กระทรวงการต่างประเทศถวายรายงานเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ จากนั้น มาร์ค แอนดรูว์ เจฟฟรีย์ เคนท์ เอกอัครราชทูต สหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ถวายรายงานเป็นภาษาไทยว่า ไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธกันดี ประชาชนชาวไทยและอังกฤษมีความร่วมมือกันทั้งทางการศึกษา วัฒนธรรมและการสร้างความมั่งคั่งด้านต่าง ๆ ซึ่งสำเร็จได้อย่างงดงามเพราะรากฐานอันมั่นคงในองค์พระประมุขทั้งสองประเทศ ได้ทรงมีพระมหากรุณาสร้างขึ้น


จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร ทอดพระเนตรการแสดงกลองโดยหน่วยกองทัพบกจากสหราชอาณาจักร และการแสดงรำกลองยาวจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการซึ่งแสดงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง ดร.อภิเษก มนเทียรวิเชียรฉาย อาจารย์กองวิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นำเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ ซึ่งหลังจากเสด็จฯ กลับแล้ว ดร.อภิเษกเล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยนิทรรศการอย่างยิ่ง พร้อมทรงมีพระราชดำรัสว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น โดยเฉพาะในส่วนของพระมหากษัตริย์ที่สานกันต่อมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๕ ที่ทรงส่งพระโอรสไปศึกษาต่อที่อังกฤษไล่มาจนปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่ใช่ฝ่ายไทยฝ่ายเดียว พระบรมวงศานุวงศ์ของสหราชอาณาจักรอย่างเจ้าชายแอนดรูว์และพระธิดาก็เสด็จมายังประเทศไทยเสมอ โดยนิทรรศการครั้งนี้จะจัดแสดงจนถึงวันที่ ๑๖ มีนาคมนี้







ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














อัญมณีแห่งถนนราชดำเนิน ๕ ปี 'นิทรรศรัตนโกสินทร์



อาคารบริเวณถนนราชดำเนินกลาง เป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติ ศาสตร์กรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่มีพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ให้ตัดถนนราชดำเนินจากพระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวัง โดยจัดวางรูปแบบตามลักษณะของ "ฌอง เอลิเซ่" แห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส


การก่อสร้างถนนราชดำเนินเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ส่วนอาคารตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๔๘o โดยการเวนคืนที่ดินทั้งสองฝั่งถนนข้างละ ๔o เมตร และออกแบบโดยสถาปนิกหลายท่าน ได้แก่ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล, คุณหมิว อภัยวงศ์ ซึ่งใช้แนวความคิดในการออกแบบจาก "ฌอง เอลิเซ่" ตามพระราชดำริเดิมของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว






งานก่อสร้างอาคารบนถนนราชดำเนินกลาง ใช้เวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘o ถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ มีอาคารจำนวน ๑๕ หลัง ใช้งบประมาณก่อสร้าง ๑o ล้านบาท และขณะเดียวกันได้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ถนนราชดำเนินจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ทางประชาธิปไตย และเป็นถนนที่ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติร่วมกันถักทอรากมรดกทางวัฒนธรรมและสานต่อวิถีการดำรงอยู่มาหลายชั่วอายุคน


อย่างไรก็ตาม อาคารริมถนนราชดำเนินกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้หมดสัญญาเช่า จึงได้ถูกแปรเปลี่ยนและพัฒนาให้เป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลความรู้ โดยเริ่มที่อาคารซึ่งต่อจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ (พื้นที่ศาลาเฉลิมไทยเดิม) ซึ่งที่ตั้งอาคารนั้นเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้าสู่เขตพระราชธานีเมื่อครั้งในอดีต เปรียบได้กับเป็นประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ จึงกำหนดให้มีการจัดสร้างตกแต่งบูรณะอาคารเดิม ให้เป็นอาคาร "นิทรรศน์รัตนโกสินทร์" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ข้อมูล และแหล่งรวบรวมความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่บนถนนราชดำเนินอีกด้วย






โดยได้เริ่มโครงการก่อสร้าง บูรณะอาคาร และตกแต่งนิทรรศการภายใน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ และเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมเพื่อร่วมภาคภูมิใจไปกับศิลปวิทยาการ มรดกของแผ่นดินที่สืบทอดมายาวนานและอารยธรรมของประเทศในยุคที่เรียกว่า รัตนโกสินทร์นี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นต้นไป


เมื่อวันที่ ๕ มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานทรัพย์ สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดพิธีแถลงข่าวและเปิดงาน "กึ่งทศวรรษ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์" เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕ ปี โดยมีกิจกรรมพิเศษเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมระหว่างวันที่ ๖-๘ มีนาคม ๒๕๕๘






อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เปรียบดั่งอัญมณีแห่งมหานคร ที่บอกเล่าเรื่องราวของยุครัตน โกสินทร์ผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัย กำลังจะสร้างปรากฏการณ์ประทับใจ ในช่วงเวลา ๓o นาที โดยจะเป็นช่วงเวลาของประสบการณ์อันน่ารื่นรมย์ที่ผู้สัญจรผ่านไปมาบริเวณหน้าอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ จะได้เพลิดเพลินกับเสียงเพลงอันไพเราะ ดื่มด่ำกับแสงสีของอาคารที่เปลี่ยนไปตามจังหวะของเสียงเพลง โดยอาคารจะเปลี่ยนสีไปตามสีของอัญมณีทั้ง ๙ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของห้องจัดแสดงภายในอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดาหาร เพทาย และไพฑูรย์ และตื่นตาตื่นใจไปกับ Interactive Window Display ที่ผู้สัญจรผ่านไปมาจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับหน้าต่างของอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวการเต้นรำและการแสดงท่าทางโขนผสานบทเพลง






การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมตื่นตาตื่นใจกับการแสดงทางวัฒนธรรมไทย โดยในวันที่ ๘ มีนาคม มีการแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง ตอน "นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เล่าเรื่องขีดขินเมืองสวา" เดิมชม ชิม ช็อป ตลาดโบราณ สัมผัสบรรยากาศแห่งวันวาน เพลิดเพลินกับสีสันตลาดโบราณ ย้อนยุคเสน่ห์แห่งวิถีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ พร้อมอิ่มเอมกับอาหารคาวหวาน ๒o ร้านอร่อย ในเกาะรัตนโกสินทร์ อาทิ บ้านขันโตก, ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยปทุม, ต่อ ไอติม, ไก่ทอดปักษ์ใต้นายดา, วาสนา น้ำโบราณ, ลูกชิ้นปิ้งโบราณ, ผลไม้แปรรูปเสือลูกสี่, ไส้กรอกอีสานครูวรรณา, ข้าวเกรียบว่าวป้าโอ๋ตลาดน้าวัดไทร, กะลาแม ป้าเฮี๊ยะจอมทอง, ข้าวโพดคั่วโบราณ, ทับทิมกรอบนายตรี, น้าพุปลาหมึกย่าง, ข้าวเหนียวเบญจรงค์พุ่มหิรัญ, ขนมเบื้องโบราณแม่บุญชู, ก๋วยเตี๋ยวไข่ต้มราชบุรี, ขนมปลากริม สวนผัก, กุยช่ายราชวัตร, ปลาวาฬขนมพื้นบ้าน, ข้าวเกรียบปากหม้อแม่วรรณ และร้านขายขนมและของโบราณ






กิจกรรมสาธิตงานหัตถศิลป์ไทย ความภูมิใจแห่งวัฒนธรรมกิจกรรมสาธิตงานฝีมือ ศิลปะชั้นสูง จากโรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง และโรงเรียนช่างฝีมือในวังชาย พร้อมงานหัตถศิลป์จากชุมชนกรุงเทพฯ อาทิ งานร้อยมาลัยและการแกะสลักเครื่องสด ต้นฉบับสาวชาววัง สาธิตการทำเครื่องคาวหวานหาทานยาก สาธิตงานช่างสิบหมู่ ศิลป กรรมชั้นสูง และหัตถศิลป์ชุมชน มรดกทางวัฒน ธรรมที่หาชมได้ยาก


ของที่จำหน่ายในงาน เช่น มะขามกวน, สัมปันนี, โสมนัส, ข้าวตอกตั้ง, ทองเอก, จีบนก, ขนมดอกอัญชัน, ช่อม่วง, เกสรลำเจียก, ค้างคาวเผือก, ขนมลูกชุบ, เทียนอบ, พัดโบก, น้ำอบ, น้ำปรุง, วิมานพระอินทร์ และดื่มด่ำกับบรรยากาศยามค่ำคืน เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีรอบพิเศษอีกด้วย.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
travel.mthai.com
nitasrattanakosin.wordpress.com















"จดหมายจากโรม" อาลัย...ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุด
"น้าแพ็ท" แห่ง "ลลนา" สุภาพบุรุษตำนานวาดเส้น



บางคนเล่าถึงเขาว่า “เป็นหนึ่งในศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ท่านเห็นแล้วกล่าวว่า เห็นลูกศิษย์เก่งอย่างนี้ ฉันก็ตายตาหลับ”


หลายคนเล่าถึงเขาว่า “เป็นเพื่อน เป็นรุ่นพี่ที่มีความสุภาพมาก ๆ และเป็นแรงบันดาลใจระดับตำนาน ในฐานะผู้ที่มีความสามารถสูงในงานศิลปะเทคนิควาดเส้น”










ศิษย์เก่าช่างศิลป์ รุ่น ๖ เพื่อนร่วมรุ่น "ชวน หลีกภัย"



เขาเป็นคน ๆ เดียวกับ...นักศึกษาคนแรกในสถิติของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ต้องรีไทร์หลังใช้โควต้าการเรียนซ้ำชั้นในปีสุดท้ายครบไป ๓ ปี จึงทำให้ไม่ได้รับปริญญาบัตรเหมือนเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรือแม้แต่เมื่อได้มีโอกาสเข้าเรียนที่ Accademia di belle arti di Roma ประเทศอิตาลี ก็ยังเรียนไม่จบอีกเช่นกัน ทั้งที่ความสามารถของเขามีสูงถึงขนาดที่เมื่อผ่านการทดสอบฝีมือเพื่อเข้าเรียนที่นี่ ก็ได้รับการเลื่อนชั้นให้เริ่มเรียนชั้นปีที่ ๓ ไปเลย แถมโปรเฟสเซอร์ยังหยอกล้อทำนองชื่นชมเขาว่า ควรจะมาสอนมากกว่ามาเรียน


เขาเป็นคน ๆ เดียวกับ...นักศึกษาโรงเรียนศิลปศึกษา รุ่นที่ ๖ (รุ่นเดียวกับ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และนิพนธ์ ขำวิไล ) และ นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ ๑๖


ผู้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดประติมากรรม ของ คริสเตียน เซ็นเตอร์ แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2505 จากผลงานชื่อ “ฝน” ซึ่งเป็นงานปั้นรูปผู้หญิงสองคนกำลังยืนหลับตาพริ้ม หน้าหงายขึ้นบนท้องฟ้า ยกมือแบบเหมือนกำลังสัมผัสกับสายฝนและมีเสื้อผ้าแนบตัวด้วยเพราะเปียกปอน


ผู้เคยได้รับรางวัล ชนะเลิศการประกวดงานจิตรกรรมของนักศึกษาศิลปะนานาชาติ ที่ มิลาน ประเทศอิตาลี จากผลงานภาพเขียนสีน้ำมัน ซึ่งเป็นรูปผู้หญิงเปลือยนั่งหันหลัง ด้วยเจตนาไม่ต้องการใช้ทรวดทรงของสตรีแสดงออกในเรื่องทางเพศ ลักษณะไม่เชิงเหมือนจริงหรือสมัยใหม่ที่เสแสร้ง แต่มีการไล่น้ำหนักด้วยชั้นเชิงของคนที่มีพื้นฐานของดรออิ้งชั้นยอด ทำให้ภาพนั้นเกิดมีหลายมิติในบรรยากาศที่เวิ้งว้างและหดหู่ สร้างอารมณ์ความลึกซึ้งแอบแฝงผ่านรูปฟอร์มของสตรีผู้เป็นแบบอย่างมีนัยยะ


รางวัลแรกที่ได้มานั้นเขาไม่ได้ตั้งใจส่งประกวด แต่เพื่อนเป็นคนแอบลงชื่อสมัครให้เขา


ขณะที่อีกรางวัลในต่างแดนเขาคือนักศึกษาศิลปะไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้










"น้าแพ็ท" แห่ง "ลลนา" ความรักครั้งสุดท้าย "สุวรรณี สุคนธา"



เขาคือ... ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุด บรรณาธิการฝ่ายศิลป์และผู้ร่วมก่อตั้งฯ นิตยสารชื่อดังในสมัยก่อนอย่าง “ลลนา”

เขาคือ … คู่ชีวิต และความรักครั้งสุดท้ายของ สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดัง ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง และบรรณาธิการของนิตยสารฯ

เขาคือ... “น้าแพ็ท” ชื่อเล่นที่ทุกคนเรียกติดปากจนแทบจะลืมชื่อเล่นเดิมของเขา มีที่มาจาก Pat Boon ชื่อของนักร้องดนตรีผู้ที่เขาชอบนำเพลงชื่อ Bernadine ของนักร้องนักดนตรีคนนี้มาร้องคนให้เพื่อนๆฟัง


วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา !?


ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เขาไม่เคยจัดแสดงผลงานศิลปะมาก่อน และไม่เคยมีความคิดที่จะจัดแสดง แต่เมื่อคนที่รักและนับถือในตัวเขาทราบว่าเขาล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย และอยากให้เขามีกำลังใจ เมื่อหายป่วยจะได้กลับมาทำงานศิลปะ แต่ในที่สุดเขาในวัย ๗๖ ปี ก็ได้จากทุกคนไปในช่วงย่ำรุ่งของวันเดียวกันกับวันที่เป็นวันเปิดนิทรรศการ จึงทำให้ช่วงเย็นของวันนั้น กลายเป็นวันที่ทุกคนต่างมาร่วมแสดงความยินดีและอาลัยกับการจากไปของเขาไปพร้อม ๆ กัน










จดหมายจากโรม



ในนิทรรศการ “จดหมายจากโรม” (วันที่ ๓ - ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘) ณ HOF ART Residency ใกล้สถานีรถไฟฟ้าพระโขนง นิทรรศการศิลปะที่อาจกล่าวได้ว่ามีผู้มาร่วมงานมากที่สุดงานหนึ่ง ซึ่งชื่อนิทรรศการมีที่มาจาก ชื่องานเขียนของ สุวรรณี สุคนธา ที่เขียนส่งให้กับนิตยสารที่เมืองไทย ในระหว่างที่เขาและสุวรรณี อยู่ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปในหลาย ๆ เมืองของประเทศอิตาลี ก่อนที่จะอำลาโรมแล้วกลับมาเมืองไทย และร่วมกันก่อตั้งนิตยสารลลนา


ขณะที่ผลงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ นอกจากจะประกอบไปด้วย ผลงานภาพลายเส้นของเขาที่หอบหิ้วมาจากโรม เมื่อครั้งยังศึกษาที่ Academia di belle Art di Rome ประเทศอิตาลี โดยเฉพาะภาพลายเส้นนู้ด ยังมีผลงานต้นฉบับภาพประกอบที่เขาเขียนให้กับลลนา ซึ่งผลงานบางส่วนหยิบยืมมาจากบรรดาศิลปินที่เคยได้ผลงานไป เนื่องจากมเคยมอบให้กันไปฟรี ๆ ด้วยความรักใคร่,บางส่วนหยิบยืมมาจาก ชมพัชร์ มิฟสุด คู่ชีวิตคนสุดท้ายของเขา ซึ่งผลงานในส่วนนี้เคยติดแสดงในร้านอาหาร “เรือธง” ที่ทั้งคู่สร้างทำมาด้วยกัน


และบางส่วนศิลปินที่ชื่นชมและเก็บรักษาผลงานของเขาไว้ คืนกลับมาให้เพื่อจัดแสดง ประมูล และจำหน่าย ไปพร้อม ๆ กับของที่ระลึกอื่น ๆ ซึ่งทำขึ้นเพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ อาทิ เสื้อยืด “ลลนา” ออกแบบโดย ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี และเมนาท นันทขว้าง ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์แห่งแบรนด์ SODA (โซดา)ผู้เป็นทายาทของสุวรรณี รวมถึงโปสเตอร์ สูจิบัตร และอื่น ๆ อีกมากมายจากสมาคมศิษย์เก่า คณะจิตรกรรมฯ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะถูกนำเข้า กองทุน “ศิริสวัสดิ์” เพื่อนำไปส่งเสริมนักศึกษาศิลปะที่มีความสามารถในด้านการวาดเส้นแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์


ดังนั้นในวันแรกที่ “จดหมายจากโรม” ถูกเปิดอ่าน นอกจากกุหลาบหลายดอกจะถูกนำมาวางหน้าภาพถ่ายและประวัติของเจ้าของจดหมายด้วยความอาลัย ผลงานศิลปะจำนวนไม่น้อยจึงถูกแปะสติกเกอร์เพื่อจับจองไปในเวลาอันรวดเร็ว ร่วมหลายชั่วโมง ผู้คนจำนวนมากยังรวมตัวกันอยู่เพื่อพูดคุยถึงคน ๆ เดียว อาหารส่งกลิ่นหอมไปทั่ว เสียงดนตรีดังต่อเนื่อง


ขาดก็แต่เสียงเพลงจาก แพ็ท (บูน) ของพวกเขา










สุภาพบุรุษ ตำนานวาดเส้นของคณะจิตรกรรมฯ



“ผมกับแพ็ทเรียนห้องเดียวกัน ก็ได้รู้จักถึงความเป็นคนดี เป็นคนน่ารัก เป็นคนที่รักเพื่อน เป็นคนมีความสามารถ แม่นทั้งเขียนและปั้น ๓ ชั่วโมงเขียนดรออิ้ง ๓ ชั่วโมงปั้น และแม่นกว่าคนอื่น วันนี้เราก็ไม่ได้ตั้งตัวว่าจะจัดเพื่อระลึกถึงเขาในวันที่เขาจากไป แต่จัดเพื่อให้เขามีกำลังใจหายป่วย และลุกขึ้นมาทำงานต่อ แต่สุดท้าย เรื่องของสัจธรรม ความจริง เกิด แก่ เจ็บตาย ก็เวียนมาพบกับเพื่อนของเรา” ชวน หลีกภัย


“นอกจากความรัก ความเมตตา ไม่ถือตัวกับรุ่นน้องแล้วน้าแพ็ทยังเป็นผู้ที่มีฝีมือฉกาจในการวาดเส้นหรืองานดรออิ้งชนิดหาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง กระนั้นน้าแพ็ทก็ดำรงตนด้วยความถ่อมตัว ไม่เคยโอ้อวดว่าเป็นคนเก่ง ด้วยความคิดเช่นนี้เอง ชีวิตที่ผ่านมาของน้าแพ็ทจึงไม่เคยจัดแสดงผลงานขอตัวเองเลยสักครั้ง ยกเว้นแต่ผลงานภาพประกอบหนังสือลลนา อันเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้น้าแพ็ทอย่างมาก


กระนั้นเพชรก็คือเพชร ความสามารถของน้าแพ็ทเป็นสิ่งที่น้าจ๋อง - จัตวา กลิ่นสุนทร รุ่นพี่ที่เคารพของเราอีกคนหนึ่งเห็นว่าน่าเสียดายอยากจะให้คนรุ่นใหม่ซึ่งยังไม่เคยเห็นผลงานได้เห็น จึงนำเรื่องนี้มาปรึกษากัน สรุปความว่าต้องมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของน้าแพ็ทขึ้นสักครั้ง ผลงานของน้าแพ็ทส่วนใหญ่มีผู้ครอบครองแล้วและกระจัดกระจายในหลาย ๆ พื้นที่ ต้องใช้วิธีการไปขอหยิบขอยืมจากผู้ครอบครองเหล่านั้นมาแสดง ตลอดจนนำภาพประกอบฝีมือน้าแพ็ทจากหนังสือลลนา มาขยายให้สวยงามและนำมาจัดแสดง” มนัส คงรอด นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ


“ก่อนไปโรมพี่แพ็ทได้แค่อนุปริญญา เรียนอยู่ ๙ ปี ที่คณะฯ จนตันโควต้าแล้ว คือ ถ้าเขาเรียนจริงๆ เขาจบ แต่เขาไม่อยากเรียน มันหมดแล้วสำหรับเขา


เขาได้คะแนนเต็มร้อยทุกอย่างนะ อาจารย์ศิลป์ ให้เขาเต็มร้อยทุกอย่าง


เราเข้าใจแกนะ คนไม่อยากทำแล้ว เรื่องฝีมือไม่ต้องถาม มหาศาลนะ พี่แพ็ท เรื่องดรออิ้ง เขาไม่เคยยกเกรยองเลย หายาก ขณะที่ผมไม่ได้เก่งอะไรนักหนา เวลาผมติดอะไร เฮ้ย...พี่แพ็ทอะไร อธิบายให้ผมฟังหน่อย เขาก็จะ มึงทำแบบนี้นะไอ้ออด มึงต้องอย่างนี้นะ ทำตรงนี้ให้ได้แล้วมึงจบเลย มึงไม่ต้องคิดอะไรมาก เขาจะเป็นมนุษย์ที่อธิบายและสอน ผมว่าเขาเก่งมาก และคุยแต่เรื่องสนุก” สุจินตน์ ตรีณรงค์


“ผมเป็นรุ่นน้อง เรียนไม่ทันหรอก แต่คลุกคลีกับแก เพราะผมและเพื่อนอีก ๓ คน เป็นนักเรียนทุนของอาจารย์สุวรรณี และผมเป็นเพื่อนของกบ (เมนาท นันทขว้าง)


ตอนนั้นน้าแพทกับอาจารย์สุวรรณีก็อยู่ด้วยกันแล้ว อาจารย์สุวรรณีเคยกระเตงพวกเราไปโน่นไปนี่บ่อย ๆ โดยส่วนตัว เรื่องงานดรออิ้งนู้ด จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังไม่เชื่อว่าจะมีใครทำได้ดีเท่าแก เวลาเรียนผมเปิดรูปแกดูบ่อย ๆ เพราะอยากรู้ว่าทำไมเราเขียนไม่ได้ซักที ไปเเห็นงานที่บ้าน แกม้วน ๆ ไว้ แล้วพวกเราก็ไปรื้อดู งานดรออิ้งเขียนทีเดียวหยุด โดยเฉพาะดรออิ้งนู้ดแล้ว ไม่เคยเจอใครที่จะทำได้อร่อยเท่านี้” ชาญชัย พินทุเสน


“น้าแพ็ท เป็นรุ่นพี่ที่สุภาพและเป็นแรงบันดาลใจ เป็นตำนานของคณะจิตรกรรมฯ ในเรื่องการวาดเส้น ทุกคนจะพูดถึงเสมอว่าน้าแพ็ทเก่ง และสมัยเรียนผมก็เดินผ่านร้านมิ่งหลี ซึ่งน้าแพ็ทกับอาจารย์สุวรรณีจะนั่งอยู่ รวมทั้งพวกที่ทำหนังสือลลนา เราใฝ่ฝันกันว่าอยากเป็นอย่างรุ่นพี่พวกนี้ที่เขาเก่ง แต่งตัวสะอาดสะอ้าน ดูดี และน้าแพ็ทก็เป็นคนสุภาพมาก ใช้คำแทนตัวเองว่าเรา เราอย่างโน้นเราอย่างนี้ ซึ่งเป็นคนอื่นก็จะเรียกมึง กดรุ่นน้องแบบเอ็นดูบ้าง หมั่นไส้บ้างก็ตาม แต่น้าแพ็ท แกจะไม่เคยพูดหยาบ แกจะพูดเพราะ ชอบเล่าเรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน เล่าเรื่องอาจารย์ศิลป์บ้าง เล่าเรื่องเก่า ๆ บ้าง


และผมฝันอยากทำงานกับน้าแพ็ท กับหนังสือลลนา จนจบออกมาก็ได้ทำจริง ๆ แต่เป็นรุ่นหลัง รุ่นที่อาจารย์สุวรรณีไม่อยู่แล้ว สมัยเป็นนักเรียน มันมีการแสดงภาพเขียนทะเล เราเชิญน้าแพทมาเป็นประธาน น้าแพทซื้องานไปสองชิ้น หนึ่งในนั้นมีงานของผมด้วย มันก็เลยเป็นความดีใจมาก ๆ บังเอิญมากที่ฮี่โร่ของเรามาซื้องานเรา ทำให้เรามีไฟที่จะเขียนรูป งานของน้าแพ็ท แสดงถึงความมีพื้นฐานของความสามารถในการวาดเส้นสูงมาก ผมอยากจะเชิญชวนให้มาดู ความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทุกคนรักมาก บางคนไม่เคยออกงานก็ยังมางานนี้ เพราะเป็นการให้เกียรติศิลปินในวันสุดท้ายของชีวิตเขา และเป็นวันแรกของการแสดงผลงานศิลปะของเขา”ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี










ขายผลงาน หาทุนช่วยเด็กศิลปะยากจน เก่งวาดเส้น



นอกจากนี้ผลงานที่นำแสดง ยังมีภาพวาดเส้นซึ่งเป็นงานภาพประกอบในนิตยสารลลนา ผลงานของศิริสวัสดิ์ ที่ศักดิ์วุฒิเก็บรักษาไว้หลายปีมาจัดแสดงด้วย


“หลังจากที่ผมได้ทำงานเขียนภาพประกอบให้กับลลนา ต่อมามันมีการโละงานที่ค้างออกมาทิ้งไว้ ซึ่งมีทั้งงานของผม ของจิตสิงห์(สมบุญ) มีของน้าแพ็ท และมีของหลายคนกองรวมกัน ต้องขอบคุณรุ่นน้องคนหนึ่งที่บอกว่ามีงานพวกพี่ทิ้งอยู่นะ หนูไม่กล้าทิ้ง พี่มาเอาดีกว่า ซึ่งในจำนวนนั้น เป็นงานน้าแพ็ทประมาณ ๖o ชิ้น ผมก็เลยเก็บไว้ส่วนหนึ่ง บอกเขาว่า น้า..ผมเก็บไว้ส่วนหนึ่งนะ แกก็บอก เออ...เก็บไว้เถอะ และคืนแกไปส่วนหนึ่ง ประมาณ ๓o-๔o ชิ้น แต่ผมคิดผิดครับ เพราะพอเอาไปคืนแก คนก็มาขอไปหมด ซึ่งรูปเหล่านั้นก็หายหมดจนทุกวันนี้ ไม่มีสักรูปเลย คือคนไทย อะไรที่มันได้ง่าย ๆ เขาก็จะทิ้ง ขอไปอย่างนั้น คือไม่ได้มีความชื่นชม


แต่งานของน้าแพ็ทในส่วนที่ผมเก็บไว้ประมาณ ๒๕ ปี เวลาย้ายบ้านงานก็ย้ายตามไปด้วย เก็บอย่างดี ห่อไว้ เพิ่งมาเปิดเมื่อ จะแสดงงานครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นงานภาพประกอบที่น้าแพ็ทวาดให้คอลัมน์ฮิวเมอร์ริสม์ ตั้งแต่ยุคที่งานมีลักษณะเป็นการ์ตูน ไล่มาเกือบเหมือนจริง ซึ่งมันบอกถึงที่มาของภาพประกอบชุดนี้ หรือการทำอาร์ตเวิร์คสมัยก่อน ซึ่งยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ผมชอบนะ ผมว่าสวย และงานชุดนี้ ผมเอามามอบให้แสดง และขาย เพื่อนำเอาเงินทุกบาททุกสตางค์เข้ามูลนิธิน้าแพ็ท จะได้ทำประโยชน์ให้กับเด็กรุ่นหลังได้


เพื่อให้ทุนเด็กศิลปะที่วาดเส้นเก่ง แต่ยากจน เพราะว่าเด็กสมัยใหม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่แล้ว มันเป็นเรื่องของไอเดีย เป็นเรื่องสมัยใหม่มากกว่า ขณะที่หนึ่งภาพคืนให้คุณกบไป เพราะเป็นภาพที่น้าแพ็ทวาดคุณแม่ของคุณกบ คือคุณสุวรรณี อีกสองภาพผมเก็บเอาไว้เอง หนึ่งภาพเป็นภาพผู้หญิงสมัยก่อนที่สวยงามโดยไม่มีอะไรต้องเติมแต่ง และแสดงให้เห็นถึงฝีมือในการวาดเส้นของน้าแพ็ท และอีกหนึ่งภาพเป็นภาพที่น้าแพ็ทกับคุณสุวรรณีกำลังยืนดูงานศิลปะที่โรม”


ซึ่งเป็นภาพเดียวกันกับภาพที่ถูกนำมาทำเป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์นิทรรศการ "จดหมายจากโรม" ในครั้งนี้



















































ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














พิพิธิภัณฑ์ลูกปัดอันดามันสีสันอารยธรรมล้ำค่า



กระบี่ เมืองวัฒนธรรมที่ใคร ๆ ต่างปักหมุดครั้งหนึ่งต้องได้ไป อาจเพราะเสน่ห์ในวิถีเก่าและใหม่ผสมผสานรวมเป็นภาพที่งดงาม โดดเด่น และไม่เคยหยุดการเติบโต ถ้าไม่ไปเที่ยวธรรมชาติทางทะเล ในเมืองจะได้พบกับหลากสิ่งถูกอกถูกใจ ที่กระตุ้นให้อยากเรียนรู้


ตอนนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่น่าเยือน น่าเที่ยวชม มากมายด้วยศิลปะที่จะทำให้หลงรักกระบี่ได้หมดใจ ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน ตั้งอยู่บริเวณถนนมหาราช ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่ ก่อตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของเทศบาลเมืองกระบี่ มุ่งเน้นเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จ.กระบี่ พังงา สตูล ภูเก็ต ตรัง และระนอง เชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยกัน อาคารแต่ละหลังมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น แสดงผลงานศิลปะแขนงต่าง ๆ สอนศิลปะ ร้านขายสินค้า ฯลฯ


พิพิธภัณฑ์ลูกปัดอันดามัน หนึ่งในสถานที่น่าแวะภายในศูนย์แห่งนี้ เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ที่มีประวัติความเป็นมาของลูกปัดในประเทศไทย ได้ศึกษาถึงคุณค่าทางศิลปะผ่านสื่อที่หลากหลาย เช่น วีดิทัศน์ จอทัชสกรีน ได้ความทันสมัยนิด ๆ พร้อมเนื้อหาอัดแน่นเป็นประโยชน์ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่เปิดจินตนาการสุดบรรเจิดที่สามารถเพลินกับห้องลูกปัดในวันวานและอนาคตน่าหลงใหล


นับเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ น่าชมที่ก่อร่างจากประวัติศาสตร์ลูกปัดล้ำค่า สะท้อนภาพกระบี่ความเป็นเมืองท่า เป็นโรงงานผลิตลูกปัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก พร้อมเป็นศูนย์การค้าเมื่อสองพันปีที่แล้ว ถ่ายทอดผ่านกาลเวลาจนถึงยุคปัจจุบัน เมื่อเข้าสู่ด้านในพิพิธภัณฑ์ ผู้ชมจะสะดุดตากับแสง สี และสื่อมัลติมีเดียอันทันสมัย ช่วยสร้างบรรยากาศให้นิทรรศการลูกปัดสมบูรณ์แบบ






เพียงแรกก้าวก็สะดุดตากับห้องนิทรรศการประวัติความเป็นมาของลูกปัด ที่มีอุโมงค์ประดับลูกปัดสีทองขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้ชมเข้าไปชมวีดิทัศน์ บอกเล่าเรื่องราวของลูกปัดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทางเดินนำเข้าสู่ห้องถัดไป ประวัติลูกปัดในประเทศไทย แสดงแผนที่จุดค้นพบลูกปัดในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย รวมทั้งเครื่องมือในการผลิต ตลอดจนลูกปัดที่โดดเด่นในภาคใต้ เช่น ลูกปัดหน้าคน ลูกปัดลายแถบ ลูกปัดแก้วโมเดล ขณะที่ห้องแฟชั่นลูกปัด แสดงลูกปัดจำลองขนาดใหญ่ของแต่ละชาติ ซึ่งมีสีสันสวยสดงดงาม


ส่วนห้องลูกปัดล้ำค่า ตระการตากับลูกโลกใบใหญ่ ล่องลอยอยู่กลางห้อง สามารถมองได้รอบ ๓๖o องศา ใช้เทคโนโลยีสุดไฮเทคผสมผสาน แสง สี ให้เห็นภาพลูกปัดอย่างชัดเจน ประกอบกับนิทรรศการขั้นตอนการทำลูกปัด พร้อมภาพประกอบ ตั้งแต่ดัดเปิดหินด้วยเลื่อยเหล็ก ขัดแต่งด้วยยางล้อแผ่นเหล็ก กะตำแหน่งเพื่อเจาะ ขัดด้วยวงล้อแผ่นเหล็ก ขัดเคลือบด้วยวงล้อเครื่องขัดเงา


นอก จากนี้ยังมีโชว์ผลงานร้อยลูกปัดที่นำมาทำเป็นเครื่องประดับสวยๆ ทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล และแหวน พร้อมทั้งโซนให้ความรู้ในการนำลูกปัดมาใช้เป็นวัสดุองค์ประกอบของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายด้วย และไม่เพียงเท่านั้น ภายในห้องจัดแสดงยังมีเกมน่าสนุก ชวนผู้ชมยืนในตำแหน่งที่กำหนด ตรงหน้าจอโปรเจ็กเตอร์ ภาพเคลื่อนไหวของตัวเองจะไปปรากฏอยู่บนจอภาพขนาดใหญ่แบบน่ารัก ๆ






ถัดมาเป็นห้องลูกปัดและความเชื่อลูกปัด แสดงมุมมองเกี่ยวกับความเชื่อ และศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อลูกปัดแต่ละประเภท สามารถเล่นเกมพยากรณ์ดวงชะตาตามราศีผ่านลูกปัดแก้ววิเศษได้ เข้าสู่โซนสุดท้าย ห้องลูกปัดในอนาคต ลักษณะเป็นห้องวงกลม นำลูกปัดอันล้ำค่าที่ร้อยเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ จัดแสดงไว้ในตู้กระจกใส สาดแสงไฟใส่ชิ้นงานงดงามเหล่านี้ ส่องประกายระยิบระยับจับหัวใจ


ถ้าอยากให้ครบครันการชมศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน ต้องแวะชมงานที่หอศิลป์อันดามัน สถานที่สร้างสรรค์และแสดงผลงานทางศิลปะและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดกระบี่ และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ขณะนี้มีผลงานของศิลปินนานาชาติ ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินอันดามันที่มาสรรค์สร้างงานศิลปะด้วยทักษะและฝีมือขั้นสูงที่เมืองกระบี่กว่า ๗o ภาพ จากงานแสดง Andanman Art Festival 2015 จัดแสดงให้ชมพอดิบพอดี มาเพียงที่เดียวให้ครบทุกอารมณ์ศิลป์.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
dailynews.co.th













การประชุมกวีแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒
ประภัสสร เสวิกุล



ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปอยู่ที่ฮานอย เพื่อเข้าร่วมการประชุมกวีแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 จัดโดยสมาคมนักเขียนเวียดนาม พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและรัฐบาลเวียดนาม ร่วกับองค์กรส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ ของเวียดนาม ดังนั้น งานนี้จึงมีความยิ่งใหญ่และมโหฬารตระการตา ตั้งแต่ที่พัก อาหารการกิน การแสดง


สถานที่จัดการประชุมต่างๆ จนถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม และส่วนใหญ่แล้วจะเน้นในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวเวียดนาม ซึ่งยังคงอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี งานนี้มีประเทศที่เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด ๔๓ ประเทศ จำนวน ๑๕o กว่าคน ไม่รวมถึงนักเขียนและกวีของเวียดนามอีกไม่ต่ำกว่า ๑oo คน ประเทศที่เข้าร่วมมี อาทิ อียิปต์ มองโกเลีย สหรัฐ ออสเตรเลีย จีน โอมาน ญี่ปุ่น ปากีสถาน อินเดีย โคลัมเบีย ฯลฯ สำหรับประเทศไทย ประกอบด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เจน สงสมพันธุ์ ไพวรินทร์ ขาวงาม


เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ พินิจ นิลรัตน์ เอก อัคคี ชุติมา เสวิกุล และผม ไฮไลท์ของงานอยู่ที่การเยี่ยมคำนับประธานาธิบดีเวียดนาม ที่ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทางการเวียดนามให้ความสำคัญและยกย่องกวี-นักเขียน ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเวียดนามเป็นชาติที่ชื่นชมบทกวี และบิดาของชาติ คือโฮจิมินห์ก็เป็นกวี รวมทั้งกวีและนักเขียนก็มีบทบาทในการสร้างผลงานเพื่อต่อสู้ และเพื่อกอบกู้เอกราชตั้งแต่สมัยปลดปล่อยประเทศจากจีน ฝรั่งเศส และสหรัฐ


สิ่งที่ประทับใจผมเป็นอย่างมาก คือ “พิพิธภัณฑ์นักเขียน” ซึ่งรวบรวมการอ่าน-เขียน-เรียนรู้ ของเวียดนามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหุ่นจำลองการเรียน-การสอน ในสมัยก่อน และการจำลองห้องทำงานพร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้ของนักเขียนต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทั้งนักเขียนและนักรบในสงครามเวียดนาม ซึ่งหลายคนยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็มีอายุค่อนข้างมากแล้ว


เวียดนามได้ใช้พลังของกวีและนักเขียนในการสร้างความสัมพันธ์กับประชาคมโลกมาเป็นเวลานานแล้วซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศในด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม ในสมัยสงครามเวียดนามนั้น แม้รัฐบาลฝรั่งเศส และสหรัฐ จะตั้งตนเป็นศัตรูกับเวียดนามเหนือแต่พลังวรรณกรรมก็ทำให้ประชาชนในประเทศทั้งสอง ให้ความเห็นอกเห็นใจแก่เวียดนาม และผลักดันให้ฝรั่งเศสและสหรัฐต้องถอนตัวจากเวียดนามในที่สุด


เวียดนามตระหนักดีว่าไม่สามารถจะแข่งขันอิทธิพลกับประเทศที่เข้มแข็งกว่าอย่างสหรัฐ จีน หรือญี่ปุ่น ได้ แต่เวียดนามก็ใช้ความอ่อนโยนของวรรณกรรมในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศเล็ก ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศโลกที่สามในอดีต ซึ่งมีอดีตที่คล้ายคลึงกับเวียดนาม ซึ่งในการไปเวียดนามครั้งนี้ มีนักเขียน-นักข่าวเวียดนาม


หลายคน พูดกับผมในลักษณะที่คล้ายกันว่า ประเทศไทยกับเวียดนามเป็นเพื่อนบ้านกันมีผลประโยชน์ร่วมกัน เหมือนมีแม่คนเดียวกัน และต้องอยู่ร่วมกันตลอดไป ต่างกับประเทศใหญ่ที่มุ่งหมายประโยชน์จากเราฝ่ายเดียว ซึ่งอาจเป็นทัศนคติใหม่ที่แสดงถึงความตื่นตัวและวิตกกังวลต่อสถานการณ์ปัจจุบันของภูมิภาคนี้


ผมไม่ทราบว่าคนไทยได้ตระหนักและตื่นตัวกับเรื่องนี้เช่นคนเวียดนามหรือไม่ แต่ถ้ายังไม่คิด ไม่รับรู้ ก็ควรจะต้องหันมาสนใจกันบ้างแล้วละครับ


ท้ายคอลัมน์วันนี้ ขอจบด้วยบทกวีของคุณชุติมา เสวิกุล ที่มอบให้สมาคมนักเขียนเวียดนาม ในการประชุมครั้งนี้ครับ


“หมอกเมฆห่มฟ้า บทกวีห่มใจ”
เปิดม่านมองฟ้าเห็นแต่หมอกเมฆต่ำลงมา
ขุ่นเหนือขุนเขา ตึกรามก็ดูราวถูกไอขาวห่มคลุม
ยามเดินดุ่มละอองกระเซ็นเป็นสาย ต้องปลายจมูกและผม
ดูเหมือนฟ้าช่างหม่นตรม แต่ใจคนกลับไม่เป็น
ร้อยห้าสิบกว่าชีวิตล้วนเบิกบาน
ฟังเรื่องเล่าขานประวัติกวีดัง
เวียดนามที่เคยเกือบจะภินท์พัง
ล้วนเป็นความหลังไม่ใช่ปัจจุบัน
เหล่ากวีทั่วหล้ามารวมกันในวันนี้
การต้อนรับแสนดี ยิ่งใหญ่และอบอุ่น
สี่สิบสามประเทศจึงขอบคุณ
ได้รับแต่ไออุ่น ไม่หม่นมัวแม้หมอกคลุม



ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














เปิดบ้าน 'ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ' ผู้สืบทอดผ้ายกดอกลำพูน



เปิดบ้านผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมหลังแรก แน่นอนว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ย่อมคัดเลือกสถานที่อันเป็นที่สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่เพียงแค่ได้ยินชื่อของเจ้าของบ้านก็มั่นใจ และมีแรงดึงดูดให้ออกเดินทางไปเยือนหาถึงที่มาแห่งแรงบันดาลใจ

และ ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองลำพูนผู้น่ารักที่ใครๆ ต่างรู้จักดี เป็นเจ้าของบ้านที่ สวธ. จัดพิธีเปิดอย่างเรียบง่าย แต่งดงามตามแบบล้านนา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม, ณรงค์ อ่อนสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน, มานัส ทารัตน์ใจ รองอธิบดี สวธ., อัจฉราพร พงษ์ฉวี ผู้อำนวยการกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม และลูกศิษย์ที่รักอาจารย์ปรีชาเกียรติอีกมากมายร่วมแสดงความยินดี


เข้าไปในบ้านเลขที่ ๑๒๓ หมู่ที่ ๒ ถนนลำพูนดอยติ ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน สถานที่คือบ้านกว้างที่น่าเยือน เปี่ยมด้วยวัฒนธรรมการทอผ้าไหมยกดอกของลำพูนที่มีอยู่ทุกอณู และไม่เพียงเท่านั้น อาจารย์ปรีชาเกียรติ เจ้าของบ้านผู้คลุกคลีวงการผ้ามานาน ยังจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมเป็นสมบัติของ จ.ลำพูน และเป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมยกดอกจังหวัดลำพูน เพ็ญศิริไหมไทย มีกิจกรรมสร้างความสนใจเรื่องสิ่งทอ เช่น สาธิตทอผ้า สอนการทอผ้า ร้านขายผ้าไหม ซึ่งมีเสื้อผ้าหลากแบบจากผ้าที่ลวดลายงดงาม รวมถึงของกระจุกกระจิกอย่างตุ๊กตา พวงกุญแจ ให้ชมให้ช็อปกันอย่างละลานตา






อาจารย์ปรีชาเกียรติได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปะ (การช่างศิลปะและการช่างฝีมือ) เมื่อปี ๒๕๓๔ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ๒ ปีต่อมารับโล่เกียรติคุณผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น กรมศิลปากร ทำงานอนุรักษ์ผ้าควบคู่การส่งเสริมอาชีพทอผ้าไม่หยุด จนกระทั่งปี ๒๕๕๔ อบจ.ลำพูนยกย่องเป็นศิลปินคนท้องถิ่น เมืองลำพูน สาขาครูภูมิปัญญาท้องถิ่น


มานัส ทารัตน์ใจ รองอธิบดี สวธ. กล่าวว่า ในปี ๒๕๕๘ สวธ.ดำเนินโครงการเปิดบ้านผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เป็นการขยายผลจากการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งสมควรจะได้รับการอนุรักษ์และป้องกันการสูญหาย ทั้งนี้ ได้คัดเลือกเปิดบ้านของปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ปี ๒๕๓๔ ผู้สืบทอดผ้ายกดอกของลำพูน ที่นี่คือแหล่งเรียนรู้เรื่องศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านครบวงจร ตั้งแต่การทำเส้นไหม การย้อมสี รวมถึงการทอผ้าไหมลวดลายโบราณ ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมนอกจากสะสมผ้าทั้งเก่าใหม่ มีการนำชุดฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดแสดงให้ชม ซึ่งศิลปินมีโอกาสถวายงานรับใช้พระราชินี จัดทำผ้าลวดลายโบราณเป็นฉลองพระองค์






ด้านอาจารย์ปรีชาเกียรติกล่าวว่า การเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นความตั้งใจให้คนรุ่นใหม่เห็นผลงานฝีมือของคนลำพูน เป็นแบบอย่างการทอผ้ายกดอก และสนใจพัฒนาทำเป็นอาชีพ ขณะที่ชาวต่างชาติได้เห็นฝีมือศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านที่ละเอียดประณีต ไม่อยากให้ศิลปะดี ๆ มีเอกลักษณ์สูญหาย การสืบทอดจึงสำคัญ มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ จดจำสิ่งที่พระองค์รับสั่งว่า ขอให้ช่วยอนุรักษ์มรดกไทยและสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน ทั้งคนพื้นราบและชาวไทยภูเขา ตราบที่มีชีวิต ศิลปะการทอผ้าจะยังอยู่และมีผู้สานต่อ


"ผมมีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับมูลนิธิศิลปาชีพฯ รวมทั้งอุทิศตนเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ความรู้และฝึกอาชีพการทอผ้ากับชุมชนอำเภอต่าง ๆ อย่าง อ.ลี้ อ.ทุ่งหัวช้าง อดีตชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า รัฐมาติดต่อให้ช่วยฝึกอาชีพทอผ้าไหมยกดอก ทั้งสอนทอ แนะวิธีดัดแปลงอุปกรณ์ และวัสดุที่มีในท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องมีกี่ทอผ้า มีฟันหวีอย่างเดียวทำได้ จนทุกวันนี้มีช่างฝีมือกว่า ๖oo คน เป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของไทย ปัจจุบันยังไปเผยแพร่ความรู้ด้านสิ่งทอให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย" อาจารย์ปรีชาเกียรติเผย หลังงานเปิดบ้านอาจารย์เตรียมขับรถขึ้นอมก๋อยไปสอนทอผ้าส่งเสริมอาชีพอีกครั้ง






พูดถึงเสน่ห์ผ้าไหมยกดอกลำพูน อาจารย์ปรีชาเกียรติบอกว่า เป็นผ้าไหมที่ทอยกลวดลายให้สูงกว่าผืนผ้า เลือกยกบางเส้น ข่มบางเส้น เกิดลวดลาย ใช้ตะกอลอย และใช้เส้นไหมตีเกลียว เป็นทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง มีเส้นไหมเพิ่มพิเศษในการทอยกให้เกิดลาย เป็นวิธีที่ประณีต ดูผ้าทอลำพูนจะเห็นนิสัยใจคอช่างทอ


"ถ้าคนทอพิถีพิถัน ลวดลายจะสม่ำเสมอ ถ้าลายแน่นไป ใหญ่ไป จะเป็นคนใจร้อน ในผ้า ๑ หลา มีจิตวิญญาณไหม ๖o,ooo ตัว และทุกขั้นตอนใส่ใจงาน คือมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น แม้จะใช้กี่เดียวกัน ลวดลายเดียวกัน มันไม่ใช่งานจากเครื่องจักร อยากให้คนลำพูนแต่งกายด้วยผ้าไทย ปัจจุบันประยุกต์รูปแบบ ลวดลาย ให้ตรงกับตลาดคนรุ่นใหม่ สวมใส่ได้ ไม่เฉพาะงานสังคมชั้นสูง" ศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมชวนแต่งผ้าไทยอีกด้วย


มาแอ่วลำพูน เมืองวัฒนธรรมทั้งที ณรงค์ อ่อนสอาด ผู้ว่าฯ ลำพูน กล่าวว่า การเปิดบ้านผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมจะถ่ายทอดความรู้และสร้างคนรุ่นใหม่สานงานช่างฝีมือ สอดรับยุทธศาสตร์จังหวัดในปี ๕๘ ส่งเสริมอุตสาหกรรมทอผ้าผ่านงบประมาณกลุ่มจังหวัด โดยให้พาณิชย์จังหวัดสนับสนุนกระบวนการและขั้นตอนผลิตตามสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อการันตีว่าผู้บริโภคได้สินค้าที่มีมาตรฐาน มีลักษณะพิเศษ ถือเป็นสินค้าที่มีทรัพย์สินทางภูมิปัญญา ช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้า เป็นยุทธศาสตร์นำผ้าไหมยกดอกลำพูนไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ และเป็นสิ่งที่อาจารย์ปรีชาเกียรติฝันไว้และมั่นใจว่าทำได้.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
dailynews.co.th
culture.go.th














“สิ่งที่เราทำ เพื่อให้นายค้นหาตัวนายเอง” สมบูรณ์ หอมเทียนทอง



ความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาถึงปีที่ ๕o๔ ระหว่าง ประเทศไทย และ โปรตุเกส เมื่อต้องถูกตีความโดยศิลปินร่วมสมัยจะออกมาเป็นผลงานศิลปะที่มีลักษณะเช่นไร


คำตอบส่วนหนึ่งคงอยู่ใน Fervently Yours (504 Years of Luso - Thai Friendship สายสัมพันธ์มิตรภาพ ๕o๔ ปี ไทย - โปรตุเกส) นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง










ตีความ ๒ วัฒนธรรม เป็นศิลปะระดับสากล



ที่มาของการเป็นศิลปินไทยที่ได้รับโอกาสให้ตีความ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ สมบูรณ์เล่าว่าเริ่มต้นมาจากเมื่อครั้งที่เขาจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะย้อนหลังของตนเอง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในบรรดาผู้สนใจ ในจำนวนนั้นมี เอกอัครราชฑูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ผู้ที่มีความรักในงานศิลปะ เดินทางไปชมนิทรรศการด้วย


นอกจากจะมีความประทับใจในผลงาน รวมถึงได้เดินทางไปเยี่ยมชมสตูดิโอทำงานศิลปะของสมบูรณ์ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และซื้อผลงานศิลปะชุด “ช้างกับม้า” ไปติดตั้งที่สถานฑูต ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สมบูรณ์ยังได้รับเชิญให้เดินทางไปโปรตุเกส เพื่อหาแรงบันดาลใจมาทำงานศิลปะสักชุดที่สื่อถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศ หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ที่โปรตุเกสเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และใช้เวลาอีกราว ๑ ปี กับการตีความและสร้างสรรค์ผลงาน ล่าสุดผลงานศิลปะชุดนี้ได้ถูกนำมาจัดแสดงให้ชม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน


“พอได้รับโจทย์นี้ สำหรับเรา มันน่าสนใจ เพราะว่าเราจะตีความวัฒนธรรมของ ๒ ประเทศให้ออกมาเป็นงานศิลปะได้อย่างไร และต้องเป็นงานศิลปะที่ก้าวพ้นไปจากประเทศไทยและโปรตุเกสได้อย่างไร ก้าวพ้นเพื่อไปเป็นงานศิลปะในระดับสากลที่คนทั่วไปทุกชาติทุกภาษาเขารับได้อย่างไร อันนี้คือโจทย์ที่ผมได้รับ กระทั่งได้เดินทางไปที่โปรตุเกส แล้วกลับมา ใช้เวลาหนึ่งปีเพื่อจะตีความออกมา”


ก่อนจะตีความออกมา... รากเหง้าทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาในอดีต ที่เป็นความภาคภูมิใจของทั้งสองประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของคนทำงานศิลปะในอดีต คือสิ่งที่สมบูรณ์ให้ความสนใจและพยายามซึมซับ


“ผมไปซึมซับและทำความรู้จักกับเพื่อนในอดีตที่ทำงานในสายงานเดียวกับเรา ผู้สร้างทำสิ่งดี ๆไว้ให้กับทั้งสองประเทศ และเราได้นำเขาออกมาสนทนากัน ให้เป็นภาษาปัจจุบัน”


ซึ่ง “ภาษาปัจจุบัน” ในความหมายของสมบูรณ์คือ ผลงานศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบเฉพาะตัวของเขาเอง ผู้ชมจะพบว่าผลงานแต่ละชิ้นที่จัดแสดงในนิทรรศการ จะมีภาพ ที่เป็นตัวแทนสื่อถึงความเป็นไทยและโปรตุเกส เคียงคู่กันไปตลอดทั้งนิทรรศการ และในผลงานทุกชิ้น เราจะพบสัญลักษณ์ อาทิ เส้นตรง สี่เหลี่ยม วงกลม ฯลฯ ที่เคยพบในงานศิลปะประเภทนามธรรมของสมบูรณ์ มาผสมอยู่ด้วย ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ สมบูรณ์ใช้แทนค่าความรู้สึกที่ตนมีต่อภาพ ซึ่งเป็นรูปธรรมในผลงานแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพศาสดาของทั้งสองประเทศ ภาพของสถานที่ต่าง ๆของทั้งสองประเทศ โดยภาพของสถานที่และสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎในนิทรรศการเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ สมบูรณ์ผ่านไปพบและซึมซับ ตลอดช่วงเวลา ๖ สัปดาห์ในโปรตุเกส และตลอดทั้งชีวิตในประเทศไทย


“เวลาที่ผมผ่านไปพบและซึมซับสิ่งต่างๆเหล่านี้ ผมไม่ใช่ตัวแทนของนักท่องเที่ยว และ ไม่ใชตัวแทนของคนไทย หรือโปรตุเกส แต่เราเป็นตัวแทนของมนุษย์คนหนึ่งที่ไปพบสิ่งต่าง ๆ แล้วเไม่ได้มองสิ่งนั้นผ่านไป แต่เราหยุดสิ่งนั้นเพื่อมาแบ่งปันให้กับคนที่สนใจศิลปะได้ดูร่วมกัน ฉะนั้น นิทรรศการนี้มันก็เลยกลายเป็นเรื่องเล่าของสิ่งเราผ่านไปเห็น โดยที่เราจะไม่อธิบายให้คนรับรู้ แต่ให้เขาค้นหาด้วยตัวเขาเอง”










สิ่งที่เราทำ เพื่อให้นายเข้าไปค้นหาตัวนายเอง



ในส่วนของภาพที่เป็นรูปธรรมในผลงานแต่ชิ้น ถ้าผู้ชมไปเดินเข้าไปสังเกตุใกล้ๆชิ้นงาน อาจจะเข้าใจว่าเป็นภาพถ่าย แต่ในความจริงแล้ว มันคือภาพวาดเทคนิค Charcoal on Paper


“ถ้าคนที่เขาสนใจงานจริงๆ เขาจะเข้ามาดูใกล้ๆและเห็นรายละเอียด สิ่งนี้คือความไม่ธรรมดาของงานที่ผมอยากให้เขาเห็น เพราะถ้าเป็นรูปถ่าย มันไม่น่าสนใจเท่าไหร่หรอก แต่ที่มันน่าสนใจคือ เราใช้ความสามารถของมนุษย์ สร้างมันอีกที ถ้าเขาละเอียดเขาจะเห็นอะไร ได้รับสุนทรียศาสตร์แบบเต็ม ๆ เลย และมีสมาธิ มีเวลาที่จะเข้าไปสังเกตุตัวเขาเองด้วย แต่ถ้าเขาไม่ละเอียด เขาก็จะไม่เห็นอะไร นี่คือแนวคิดของผมเลย เวลาที่คนมาดูงาน อย่าถามอะไรไปมากกว่านี้


แม้แต่บางคนที่มาดูงานแล้วถามผมว่าอาจารย์ครับ เส้นอันนี้ หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสอันนี้คืออะไร เป็นสิ่งที่ผมไม่ชอบเลย และผมจะไม่ตอบ เพราะสิ่งที่เราทำ เราทำเพื่อให้นายเข้าไปค้นหาตัวนายเอง ถึงนายจะมาฟังเรา นายก็จะไม่มีวันเข้าใจ เพราะนายไม่เข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว แต่คนที่เขาผ่านเรื่องราวศิลปะมาเยอะ คนที่ดูงานรู้เรื่อง อย่างนักสะสมงานชาวฝรั่งเศส คุณเชื่อไม๊ เขาดูงานแล้วเข่าอ่อนเลยนะ เพราะเขาได้เห็นสิ่งที่เขารอคอย สิ่งที่เขารู้สึกว่ามันเป็นงานที่ดีมาก ไม่แคยเห็น ไม่สียเวลา เพราะการตีความแบบนี้ไม่เคยมีใครเคยตีความหรอก ตัวอย่างเช่น ผมตีความภาพศาสดา ด้วยสองเส้น คุณรู้ไม๊มันคืออะไร มันคือสมาธิ ความเงียบ ความว่าง ความสงบ จะสังเกตว่างานทุกชิ้นมีแต่ความสงบ”


ด้วยเหตุนี้นอกจากสมบูรณ์จะเห็นว่าผลงานในนิทรรศการครั้งนี้จะเป็นประตูให้ผู้ชมแต่ละคนเข้าไปค้นหาตัวเอง ส่วนหนึ่งพวกเขาน่าจะค้นพบความสงบในตัวเองด้วย


“มนุษย์เนี่ยนะ จะบอกให้ แต่ละคนที่เกิดมา เวลาเราไปที่ไหน เรามีตัวเราไปด้วย เรามีจิตวิญญาณของเรา เราจะพบความสงบ ไม่ใช่ประเทศนั้นเขาให้ความสงบเรา แต่ความสงบอยู่ที่ตัวเราเอง ตัวเราไม่สงบ เราถึงไม่มีความสงบ ถ้าตัวเราสงบ มีสมาธิ ไปที่ไหน ที่ ๆ มันวุ่นวาย มีรถวิ่งเยอะแยะ เราก็เห็นความสงบ เห็นความงาม อันนี้คือสิ่งที่มนุษย์ที่มาดูงานผม เขาจะได้เห็นตัวเขาเอง ไปหาตัวเขาเอง เขาได้อะไรก็แล้วแต่ตัวเขาเอง เพราะว่า ผมไม่ได้ตั้งความหวังอะไร มนุษย์แต่ละคนก็มีพื้นฐาน เขามาดูงานแล้วเขาจะไปต่อยอดได้หรือไม่ได้ มันเป็นเรื่องของเขา”


กรณีที่ตัวศิลปินเอง นับจากเคยไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ต่อสู้สร้างอนาคตบนเส้นทางศิลปะ ที่เยอรมัน นานเกือบ ๓o ปี กระทั่งเดินทางกลับมาเมืองไทย และไปสร้างครอบครัว สร้างสตูดิโออยู่ที่เชียงคาน ถามเขาว่ากรณีนี้ไม่เรียกว่าหนีเมืองใหญ่ไปหาความสงบหรือไร สมบูรณ์ตอบว่า


“คุณรู้ไม๊ว่า เวลาที่เราทำงานศิลปะ มันต้องทุ่มเทพลังงานให้กับตัวงาน และงานต้องการสมาธิ ฉนั้น ผมไปในที่ๆมันมีสมาธิให้กับตัวงาน แล้วเมื่องานมันมีสิ่งนี้ คนดูจึงได้รับมัน อันนี้คือเหตุผล(หัวเราะ)”










อนุสาวรีย์ของอดีต



เมื่อหมดช่วงเวลาจัดแสดงในประเทศไทย ผลงานศิลปะชุดนี้ของสมบูรณ์ จะสัญจรไปจัดแสดงต่อ ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ประสบการณ์ที่สมบูรณ์บอกว่าได้รับจากการทำงานชุดนี้ ในฐานะคนทำงานศิลปะคือ


“ผมได้ทำงานกับของโบราณแล้วตีความออก จนเป็นงานโมเดิร์นอาร์ต นี่คือปัญญาที่ผมได้จากการทำงานชุดนี้ มันท่วมท้นมากแล้ว ดูงานชิ้นนึงแล้วบอกภรรยาว่า คุ้มมากเลยที่ฉันไปโปรตุเกสกลับมาแล้วฉันทำงานนี้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ ฉันคงไม่ได้คิดแบบนี้ แสดงว่าตลอดระยะเวลาที่เราอยู่ที่นั่น เราควบคุมสมาธิของเราเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง และนี่คือผลที่มันออกมา


นิทรรศการชุดนี้ ส่วนหนึ่งมันเป็นการเล่าตั้งแต่การเริ่มเดินทาง สิ่งเหล่านี้เป็นบทประพันธ์ส่วนตัวของผมทั้งสิ้น นักวิชาการโปรตุเกสบอกว่า เขาดีใจที่ไม่ได้เห็นแค่การเปรียบเทียบของสองประเทศ เพราะผมก้าวพ้นจากที่นี่ไป ผมไม่ได้ทำเรื่องเปรียบเทียบ แต่ผมทำเรื่องที่เป็นการเล่าเรื่อง ฉนั้นคนดูให้ลองไปค้นหาตัวเองจากงานชุดนี้ดู”


อะไรคือสิ่งที่สมบูรณ์มองว่าไทยและโปรตุเกส มีเหมือนและแตกต่างกัน


“ผู้คนเขามีจิตใจดี เป็นผู้ดีด้วย และมีความเป็นมิตรมาก คือสิ่งที่ผมเห็น ประการที่สองเขามีรากฐานทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งมากในอดีต ดูจากศาสนสถานต่าง ๆ และการแผ่ไพศาลของภาษาของเขาที่มีผู้รู้ ๒oo กว่าล้านคน ทั้งที่ในประเทศเขามีคนอยู่ประมาณหกล้านคนเอง อันนี้คือสิ่งที่น่าเคารพในบรรพบุรุษของเขา


ประเทศไทยก็เหมือนกัน สิ่งที่บรรพบุรุษมีอยู่ก็เป็นสิ่งที่น่าเคารพ แต่ในปัจจุบัน สองประเทศนี้ เดี๋ยวนี้ มันไม่มีอะไร ที่มีอยู่ มันกลายเป็นอนุสาวรีย์ของอดีต เมืองไทยไม่มีอะไร อย่างภาพพระที่ผมวาด มันคืออนุสาวรีของอดีต ความอ่อนโยน ความนุ่มนวล ความสูงส่งทางด้านสุนทรียศ่าสตร์ ความมีสมาธิอะไร ขาดหายไปเยอะทั้งสองประเทศ นี่คือสิ่งที่เห็น


แต่ผมก็เชื่อนะว่า คนทุกรุ่นมีตัวแทน แต่มันจำนวนน้อย เขาจึงควรได้เห็นสิ่งที่มันดี เพื่อที่จะมีกำลังใจ ฉนั้นผมก็เป็นเหมือนตัวแทนของคนปัจจุบันที่มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นอดีต แต่เราไม่ได้ลอกเลียนเขา เราเป็นคนรุ่นต่อมาที่ให้ความเคารพเขามากแล้วก็จะทำหน้าที่ของตัวเราเอง คนทำงานศิลปะในยุคของเรา งานเของผมไม่ได้ตามฝรั่งอะไรทั้งสิ้น เราเป็นคนเอเชีย และจริง ๆแล้ว ไอ้ความเป็นสากล มันมีอยู่ในทุกมุมโลกอยู่แล้ว ถ้ามันมีปัญญาที่ชัดเจน มันจะรู้เรื่องกัน แต่มันจะไม่รู้เรื่อง ถ้าปัญญานั้นยังแสดงไม่ออก มันก็เลยไม่รู้เรื่อง ดังนั้นสิ่งที่ผมหวัง ผมหวังว่าคนดูจะเข้าไปดูตัวเขาเองให้รู้เรื่อง หรือไม่รู้เรื่องเขาก็ต้องไปหาหนทางเอาเองนะ


ดร.เจตนา นาควัชระ เคยพูดกับผมว่า คนไทยมาดูงานผมแล้วจะดูรู้เรื่องเหรอ คือถ้าเราไม่คาดหวังอะไรเลย เราก็หมดกำลังใจ เราคิดว่ามันน่าจะมีคนที่รู้เรื่องบ้าง (หัวเราะ)”










ไม่ได้แสวงผลประโยชน์ ผมแสวงปัญญา



แต่หากถามว่าคนทำงานศิลปะเช่นเขารู้สึกสั่นคลอนแค่ไหน กับกรณีที่คนมาดูงานศิลปะแล้วอาจวิพากวิจารณ์ไปต่างๆนานา ทั้งชอบไม่ชอบ เข้าใจไม่เข้าใจ ยิ่งในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยแล้ว ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีมากขึ้น


“ฟังให้ดีนะ อาร์ตติสต์ที่เข้าเส้นทางหลักของตนเองแล้ว ไม่มีคำว่าสั่นคลอน เหมือนคนที่ศรัทธาในพุทธศาสนา เค้าจะตามรอยพระพุทธเจ้าไป ไปสู่ภาวะสูงสุด และมันจะสั่นคลอนไม่ได้เลย เพราะผมทำงานศิลปะ ผมไม่ได้แสวงผลประโยชน์ ผมแสวงปัญญา และปัญญาของผม มันได้ก่อตัว เหมือนต้นไม้เล็ก ๆ กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ รากมันแผ่ไกลมากเลย มันสั่นคลอนไม่ได้


ไอ้คนถาม..มันสั่นคลอนตัวมันเอง เพราะว่ารากมันยังไม่มี ที่ตอบเช่นนี้ มันไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ทุกอย่างได้รับการตรวจสอบและไตร่ตรองแล้ว สิ่งที่เราทำ เราหวังว่า คนดูงานจะได้เข้าไปไตร่ตรองตัวเค้าเอง เพื่อเจอความลุ่มลึกและความละเอียด ในตัวของเค้าเอง เพราะคนส่วนใหญ่สมาธิสั้น ความอดทนมีน้อย ไม่ตามเรื่องอะไรทั้งสิ้น คนทำงานศิลปะอย่างผม ผมตามเรื่องของผมตลอดเวลา”


ด.ช.สมบูรณ์ “เพราะมีวันนั้น จึงมีวันนี้” และเร็ว ๆ นี้ นายสมบูรณ์กำลังมีแผนที่จะออกไปตามหาเรื่องราวของ ด.ช.สมบูรณ์ อีกครั้ง


“ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมอยู่ที่วงเวียนใหญ่ แม่ไม่มีสตางค์ และผมไม่ได้ขอสตางค์แม่เป็นพิเศษ ผมเดินจากวงเวียนใหญ่ ไปที่บางกอกน้อย ไปที่โรงเรียนทวีธาภิเษก เมื่อไม่กี่ปีนี้ผมลองเดินเล่น จากวงเวียนใหญ่ไปสี่แยกบ้านแขก ก็ว่าไกลแล้ว แล้วที่หลืออีกตั้งไกล กว่าจะถึงบางกอกน้อย ผมจึงมีความตั้งใจว่า วันหนึ่งผมจะไปเดินตามเส้นทางของ ด.ช.สมบูรณ์ ไปให้ถึงโรงเรียนทวีธาภิเษก เช้าไปเย็นกลับ เพื่อไปเก็บความทรงจำ ว่า ด.ช.สมบูรณ์ต้องเดินไกลแค่ไหน เมื่อครั้งที่ต้องเก็บเงิน สลึงนึงสองครั้ง เพื่อให้ได้เงินห้าสิบสตางค์ต่อวัน และเก็บอยู่เป็นเดือน ๆ เพื่อเอาเงินมาซื้อพู่กันเขียนรูป”


ทำไมต้องทำแบบนั้น? เขาตอบสั้นๆว่า


“เป็นเพราะมีวันนั้น จึงมีวันนี้”


และสิ่งที่มีในวันนั้นในความหมายของเขาคือ “ความมุ่งมั่น”



























ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














เสน่ห์ธรรมชาติ เสน่ห์ปทุมมา เสน่หาเวียงพิงค์ ๒๕๕๘



เจ สุรเสน ต้องการถ่ายทอดความงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวล้านนา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และปลูกฝังอนุรักษ์ความเป็นชาวล้านนาให้คงอยู่ โดยนำเอาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมมาประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิตธรรมชาติในยุคปัจจุบันให้ดูมีชีวิตสมจริงเพื่อเป็นการกระตุ้นความรู้สึกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เกิดจิตสำนึกในวัฒนธรร ขนบธรรมเนียมประเพณี และใฝ่หาในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อไปตามการเจริญเติบโตของโลกปัจจุบัน


เจ สุระเสน เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕o๒ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม ต่อมาได้รับราชการเป็นช่างศิลป์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมาใช้ชีวิตในการเป็นศิลปินอิสระจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยใจรักและหลงใหลในเสน่ห์ศิลปะล้านนา จึงได้มาใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่โดยทำงานศิลปะถ่ายทอดความงามทางธรรมชาติและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวล้านนาผ่านปลายพู่กันจีน, เกรียง ลงบนผืนผ้าใบทั้งสีน้ำมัน, อะคลีลิค พัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันใช้เทคนิคเกรียง สีอะคลีลิคบนผ้าใบ จนเป็นที่ยอมรับและชื่นชมในผลงานอย่างกว้างขวาง


นิทรรศการ : “เสน่ห์ธรรมชาติ เสน่ห์ปทุมมา เสน่หาเวียงพิงค์ ๒๕๕๘″(The Nature Lanna the Charm of The North…The Northern Sensation)
ศิลปิน : เจ สุรเสน
วันที่ : ๑๔ กุมภาพันธ์ – ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : ห้องนิทรรศการชั้น ๑ ห้อง ๑ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายละเอียดเพิ่มเติม : o๒-๒๑๘-๓๗o๙ / o๘๕-๙๔๕-๗๗๔๖
ติดต่อศิลปิน : 081-454-4056



ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














ของเล่น ของรัก



นิทรรศการศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาสุนทรียะ : ผลงานสะสมศิลปะและของเล่น “ของรัก” ผลงานสะสมศิลปะและของเล่น “ของรัก” เป็นผลงานของสะสม ของ ผู้บริหารและคณาจารย์สถาบันอุดมศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตลอดจนนักสะสมอิสระ สะสมโมเดลรถเฟอรารี่ แฟนพันธุ์แท้ซูเปอร์ฮีโร่มาเวล เพื่อบอกเล่าถึงความทรงจำ ความประทับใจของการสะสมผลงานศิลปะ ของที่ระลึก ของเล่น และยังให้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของสิ่งของเหล่านี้ เพื่อเติมแต่งแรงบันดาลใจและสร้างสุนทรียภาพในสังคม


หอศิลป์ g23 ขอเชิญชมนิทรรศการผลงานสะสมศิลปะและของเล่น “ของรัก” จาก ๑๖ นักสะสม ขอเชิญท่านที่สนใจร่วมเปิดนิทรรศการวันศุกร์ที่ ๒o มีนาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๕.๓o น. ณ หอศิลป์ g23 ศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้น ๒ อาคาร นวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มศว ประสานมิตร สุขุมวิท ๒๓


นักสะสม ๑๖ ท่าน

๑. ผศ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๒. รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
๓. ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๔. ผศ.อมรพงษ์ สุธรรมรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มศว
๕. ผศ.ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีศิลปกรรมศาสตร์ มศว
๖. ผศ.ดร. กิตติกรณ์ นพอุดมพันธ์
๗. อ.ถนอม ชาภักดี
๘. อ.เด่นพงษ์ วงศาโรจน์
๙. อ.สุชาติ ทองสิมา
๑o. รศ.ดร.วรลัญจน์ บุญยสุรัตน์ คณบดีวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๑๑. ผศ.กันต์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๑๒. ผศ.ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ
๑๓. ธีรภัทร โดมดอกฟ้า (โดมมาเวล แฟนพันธุ์แท้)
๑๔. สัญชัย ธรรมศาสตร์สิทธิ์ (เอก เฟอรารี่)
๑๕. ศ.สุรพล วิรุฬห์รักษ์
๑๖. อ.ประสาทพร กออวยชัย


นิทรรศการศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาสุนทรียะ : ผลงานสะสมศิลปะและของเล่น “ของรัก”
ศิลปิน : ของรัก จาก ๑๖ นักสะสม
วันที่ : ๒o มี.ค.-๓๑ พ.ค. ๑๖
สถานที่ : หอศิลป์ g23 ศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้น ๒ อาคาร นวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี
มศว ประสานมิตร สุขุมวิท ๒๓ (วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา ๑๑.oo-๑๘.oo น.)
สอบถามรายละเอียดได้ที่ : o๒-๒๖๑-๒o๙๖
facebook : Art Gallery g23



























ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 17 มีนาคม 2558
Last Update : 17 มีนาคม 2558 23:54:01 น. 0 comments
Counter : 2006 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.