happy memories
Group Blog
 
<<
เมษายน 2558
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
3 เมษายน 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๒oo





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto








"ทูลกระหม่อมของปวงชน"
ศิลปิน สมภพ บุตราช
สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๑oo x ๘o ซม.




ทูลกระหม่อมของปวงชน



นิทรรศการ “ทูลกระหม่อมของปวงชน” นำเสนอผลงานจิตรกรรมและภาพถ่าย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยแนวความคิดเกี่ยวกับการแสดงออกถึงความจงรักภักดี ความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ความชื่นชมในพระอัจฉริยภาพและพระจริยาวัตรอันงดงาม และเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖o พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยได้รับเกียรติจากศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทย ได้แก่ วราวุธ ชูแสงทอง ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง สมภพ บุตราช เกริกบุระ ยมนาค เอกชัย ลวดสูงเนิน นิติกร กรัยวิเชียร สุวัฒน์ วรรณมณี ปรีชา พรหมปราบทุกข์ สุรเดช แก้วท่าไม้ วัชระ กล้าค้าขาย ธนฤทธิ์ ทิพย์วารี ชัยรัตน์ แสงทอง และศรชัย คงวุ่น





"ทูลกระหม่อมของปวงชน"
ศิลปิน วราวุธ ชูแสงทอง
สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๕o x ๔o ซม.






"พระผู้ทรงเป็นที่รักของปวงชน"
ศิลปิน ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง
สีอะครีลิกบนผ้าใบ ขนาด ๙o x ๗o ซม.






"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"
ศิลปิน เกริกบุระ ยมนาค
สีน้ำบนกระดาษ ขนาด ๖o x ๔๕ ซม.






"สายสัมพันธ์ ไทย–จีน"
ศิลปิน เอกชัย ลวดสูงเนิน
สีน้ำมันบนผ้าลินิน ขนาด ๑๒o x ๑๒o ซม.






"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"
ศิลปิน นิติกร กรัยวิเชียร
ภาพพิมพ์ดิจิตอล ๑oo x ๗๕ ซม.






"เจ้าฟ้าสิรินธร"
ศิลปน สุวัฒน์ วรรณมณี
สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๑o๙ x ๙๒ ซม.






"สยามบรมราชกุมารี"
ศิลปิน ปรีชา พรหมปราบทุกข์
สีน้ำบนกระดาษ ขนาด ๒oo x ๑๕o ซม.






"ทูลกระหม่อม"
ศิลปิน สุรเดช แก้วท่าไม้
สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๘o x ๖o ซม.






"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ"
ศิลปิน วัชระ กล้าค้าขาย
สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๑๕o x ๑๒o ซม.






"สมเด็จพระเทพฯ"
ศิลปิน ธณฤษภ์ ทิพย์วารี
สีน้ำมันบนผ้าลินิน ขนาด ๒oo x ๑๕o ซม.






"สมเด็จพระเทพฯ"
ศิลปิน ชัยรัตน์ แสงทอง
สีอะครีลิกบนผ้าใบ ขนาด ๘o x ๖o ซม.






"สมเด็จพระเทพฯ"
ศิลปิน ศรชัย คงวุ่น
สีอะครีลิกบนผ้าใบ ขนาด ๑๒๓ x ๙๖ ซม.




ภาพและข้อมูลจาก
ardelgallery.com














โครงการ “ฝึกอบรมและวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”



“สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์และวิชาหลายแขนง อาทิ ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านดนตรี ด้านภาษาจีน ด้านการทหาร เป็นต้น และด้วยความที่พระองค์ทรงมีความขยัน หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ทำให้พระองค์เปรียบได้ดั่ง..นักปราชญ์”


ก้องภพ เบ็ญจนิรันต์ นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ จ.นนทบุรี หนึ่งในจำนวนผู้เข้าร่วม โครงการ “ฝึกอบรมและวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ระหว่างวันที่ ๓๑ มกราคม - ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ณ ห้องสามศร อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) จัดโดย สำนักพิมพ์ มสธ.


เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รับความรู้ด้านศิลปะการวาดภาพและร่วมแสดงความจงรักภักดีด้วยการวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ภายใต้แนวคิด “๖o พรรษา เทพรัตนราช ปราชญ์ศึกษา” ในโอกาสที่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖o พรรษา วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘


และผลงานภาพเขียนเทคนิคสีชอล์คของ ก้องภพ ถูกตัดสินให้ได้รับ “รางวัลชนะเลิศ (โล่พระราชทาน)ประเภทนักเรียนมัธยม” ขณะที่ผลงานภาพเขียนเทคนิคสีอคริลิคของ ยศพงศ์ โยทองยศ ได้รับ “รางวัลชนะเลิศ (โล่พระราชทาน)ประเภทนักศึกษาและประชาชนทั่วไป” ผู้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นตามแนวคิดที่ว่า


“ความเป็นปราชญ์ของสมเด็จพระเทพฯ นั้นเกิดจากการที่ทรงแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโปรดอ่านหนังสือเป็นที่สุด ทำให้ทรงรอบรู้ และทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ กระผมจึงเกิดความประทับใจ”


และขณะนี้ผลงานของก้องภพและยศพงษ์ ถูกนำมาจัดแสดงให้ชมใน “นิทรรศการภาพวาดพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ระหว่างวันที่ ๑ - ๓o เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ บริเวณชั้น ๒ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ซึ่งนอกจากผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒, รางวัลชมเชย ประเภทละ ๓ รางวัล และผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้จัดแสดง


ตลอดจนผลงานของคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งเป็นวิทยากรผู้ฝึกอบรมการวาดภาพของโครงการฯ ได้แก่ อาจารย์ลาวัลย์ อุปอินทร์,รศ.ดร.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์,อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม,อาจารย์นิเวศ แววสมณะ และอาจารย์สมยล กำแหงฤทธิรงค์ ถูกนำมาร่วมจัดแสดงด้วย


ตัวอย่างเช่นผลงานของ พรหมภพ หุบกระโทก แม้จะไม่ได้รางวัลใดๆ แต่ได้รับคัดเลือกให้จัดแสดง ที่มีแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธรัตนสถาน แต่นำรูปแบบที่เห็นมาถ่ายทอดเรื่องราวพระราชกรณียกิจในการเสด็จเยี่ยมราษฏร,การเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่าง ๆ และขณะที่ทรงบันทึกความรู้ประสบการณ์ลงในสมุดที่ไม่เคยห่างพระองค์เลย


เพื่อสะท้อนถึงความนักปราชญ์ผู้มีความรู้ความสามารถรอบด้าน และเป็นปราชญ์ศึกษาของประชาชนโดยแท้จริง























พระสาทิสลักษณ์และข้อมูลจาก
manager.co.th














นิทรรศการศิลปะเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


นิทรรศการจัดขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ


จัดแสดงวันที่ ๑- ๓o เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘


ณ บริเวณล็อบบี้ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต



พระสาทิสลักษณ์และข้อมูลจาก
FB Art Eye View














"วิศิษฎ์ศิลป์ แผ่นดินสยาม"
พระอัจฉริยภาพด้านศิลปะทุกสาขาของ "สมเด็จพระเทพฯ" ในนิทรรศการขนาดย่อม



Artistic Creations of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn นิทรรศการงานศิลปะในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ถึง ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นเจ้าฟ้าผู้มีพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน แต่ด้วยความรักในงานศิลปะ และมีแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากพระราชบิดา จึงโปรดที่จะใช้เวลาว่างที่หาได้ยากยิ่ง ไปกับการทรงงานศิลปะ จนเกิดเป็นผลงานต่าง ๆ มากมาย พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปะที่หลากหลาย อาทิ วรรณศิลป์ สังคีตศิลป์ และทัศนศิลป์ เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั้งชาวไทยและต่างชาติ


นอกจากนี้ผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ที่สะท้อนพระราชหฤทัยที่เบิกบานและความช่างสังเกตของพระองค์ ยังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่นำออกจำหน่าย ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงนำรายได้ไปพัฒนาสังคม และความเป็นอยู่ของราษฎรของพระองค์ให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมวิชาชีพให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้


เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖o พรรษา วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ และเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมพระปรีชาสามารถด้านศิลปะ สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จึงได้จัดนิทรรศการ "วิศิษฎ์ศิลป์ แผ่นดินสยาม"


นิทรรศการขนาดย่อมในรูปแบบทันสมัย ที่รวบรวมพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะของสมเด็จพระเทพฯ มาให้ศึกษาและเรียนรู้ได้ในนิทรรศการเดียว พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทั้งชาวไทยและต่างชาติร่วมลงนามถวายพระพรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์


นิทรรศการ "วิศิษฎ์ศิลป์ แผ่นดินสยาม" เปิดให้ชมตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ ๓o เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน


หมายเหตุ : วิศิษฎ์ศิลปิน เป็นคำสมาส ระหว่าง "วิศิษฎ์" กับ "ศิลปิน" อ่านว่า "วิ-สิด-สิน-ละ-ปิน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน "วิศิษฎ์" แปลว่า เลิศ ยอดเยี่ยม เด่น ดียิ่ง และประเสิรฐยิ่ง ดังนั้น "วิศิษฎ์ศิลปิน" แปลตามศัพท์ว่า.."ผู้เป็นเลิศทางศิลปะ ประเสิรฐกว่าศิลปินทั้งปวง"


เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งตรงกับ "วันศิลปินแห่งชาติ" คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ทูลเกล้าถวายพระสมัญญา "วิศิษฎ์ศิลปิน"


ด้วย..สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลายสาขา


หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ขอเชิญท่านชมนิทรรศการ
วิศิษฏศิลป์ แผ่นดินสยาม
Magnificent Arts of Siam
ณ บริเวณโถง ชั้น ๑ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน























































พระสาทิสลักษณ์และข้อมูลจาก
manager.co.th












เพียงวันพบวันนี้ที่สำคัญ
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๔๘




ย้อนชม ๓ หนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ



เซเลบออนไลน์เคยนำเสนอ หนังสือพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาแล้วหลากหลายเล่ม อาทิ พระราชนิพนธ์แปลจากภาษาจีนเรื่อง “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน”, รวมวรรณกรรมจีนร่วมสมัย ๔ เรื่อง "รอยยิ้มและน้ำตาของหัวใจ"และหนังสือ “ดั่งดวงแก้ว ส่องสว่าง ทางสายงาม” รวบรวม ๖o พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเทพฯ แบบอย่างชีวิตที่ เก่ง ดี มีสุข คราวนี้เซเลบออนไลน์ขอหยิบเอาหนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ ที่เคยตีพิมพ์ก่อนหน้านี้มาแนะนำกันบ้าง


รวมพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สามเรื่องสามรสด้วยกัน คือ บทละครเรื่อง “ปลวก” ของกุนเธอร์ ไอช์ นักเขียนชาวเยอรมัน คริสต์ศตวรรษที่ ๒o ความเรียงเรื่อง “แสงโคมของไอ้ร์เค่อ” ของปาจิน นักเขียนชาวจีน คริสต์ศตวรรษที่ ๒o เช่นกัน และเรื่องสั้นขนาดยาว “สาวน้อยเสี่ยวหยูว” ของเหยียนเกอหลิง นักเขียนชาวจีนร่วมสมัย ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้สาระแนวคิดที่ดี ถึงแม้จะมีรูปแบบและวัฒนธรรมต่างกัน เป็นการพินิจความเสื่อมสลายทางจิตวิญญาณของสังคมสมัยใหม่ ที่มนุษย์ใช้วัตถุเป็นเครื่องวัดความสุขในชีวิต ปล่อยตนให้จมอยู่กับความสุขจอมปลอม ไม่รับรู้ความเป็นจริงและปัญหาอื่นใด หรือไม่กล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนและของสังคม ยึดมั่นถือมั่นผิด ๆ จนถึงวาระสุดท้ายที่สายเกินแก้ วรรณกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การรู้ตระหนักในสัจธรรมย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น





ความฝัน
พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน ๒๕๔๘



ทรงแปลบทละครวิทยุของ กุนเทอร์ ไอช์ นักเขียนเรืองนามชาวเยอรมัน ซึ่งเขียนเรื่องความฝันไว้ ๕ เรื่อง ฉากของแต่ละเรื่องเกิดขึ้นในหลายประเทศต่าง ๆ กัน ทั้งในเยอรมนี จีน ออสเตรเลีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ให้ผู้อ่านได้เห็นสภาพสังคมสมัยใหม่ที่แม้จะดูสมบูรณ์พูนสุข แต่ก็มีปัญหาความขัดแย้งและภัยต่าง ๆ ที่แอบแฝงอยู่ เป็นการสะท้อนบรรยากาศหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เศรษฐกิจเริ่มมั่นคง คนเริ่มเชื่อว่าจะมีสันติภาพตลอดไป แต่แล้วก็เกิดปัญหาความขัดแย้ง การต่อต้านอำนาจทางการเมืองจนเข้าสู่ภาวะสงครามเย็น ผู้คนรู้สึกถูกคุกคามอีก แสดงให้เห็นภาพบุคคลในชีวิตประจำวันพร้อมความคิดเกี่ยวกับความโหดร้ายของมนุษย์ที่เป็นศัตรูกันเอง ทำลายล้างประหัตประหารกันเมื่อไรก็ได้ ทำทุกอย่างแม้จะผิดศีลธรรม เพื่อให้ตนเองอยู่รอด แสดงให้เห็นภาพบุคคลในชีวิตประจำวันพร้อมความคิดเกี่ยวกับความโหดร้ายของมนุษย์ที่เป็นศัตรูกันเอง ทำลายล้างประหัตประหารกันเมื่อไรก็ได้ ทำทุกอย่างแม้จะผิดศีลธรรม เพื่อให้ตนเองอยู่รอด ในการพิมพ์ครั้งที่สองนี้ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชนิพนธ์แปลบทประพันธ์ที่ผู้แต่งสรุปข้อคิดตามที่สะท้อนอยู่ในความฝันทั้งห้าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคนเราไว้อย่างน่าฟัง มาพิมพ์เพิ่มเติมไว้ท้ายคำอธิบายความฝันเรื่องที่ห้า ทำให้เรื่องราวครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น





ศิลปะจีน
พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน ๒๕๕o



หนังสือเล่มนี้ถูกเรียบเรียงมาจากการแสดงปาฐกถาเรื่อง ‘ศิลปะจีน’ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื่องในงานวิชาการ “วันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ครั้งที่ ๑๙ เมื่อวันที่ ๓o ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ได้รับพระราชทานพระราชทานพระราชานุญาตมาพิมพ์เผยแพร่พร้อมภาพประกอบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มิได้มีโอกาสฟังปาฐกถาในวันนั้นได้มีโอกาสเรียนรู้และชื่นชมศิลปะจีนที่ทรงคุณค่า


สมเด็จพระเทพฯ ทรงระบุไว้ตั้งแต่ตอนต้นของการบรรยายว่า แท้จริงแล้วพระองค์ไม่ได้ตั้งใจจะบรรยายวิชาทางศิลปะ แต่ว่าสิ่งที่บรรยายนั้นอาจจะใกล้เคียงกับวิชาศิลปะนิยม หรือ art appreciation คือ มุ่งหวังให้ผู้ฟังชื่นชมศิลปะที่ทรงคุณค่า ทั้งนี้ หนังสือจึงถูกแบ่งออกเป็น ๑๒ บท ๒ ภาคผนวก ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะจีนโดยแบ่งแยกตามประเภทของศิลปะจีนครบทุกแขนง


เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะสรุปรวบรวมเอาใจความสำคัญและสุดยอดของศิลปะจีน อันเป็นเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาศิลปะแล้ว ผู้ประพันธ์คือ สมเด็จพระเทพฯ ยังทรงถ่ายทอดประสบการณ์ของพระองค์ท่านที่เกี่ยวพันกับศิลปะจีนแทรกเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไว้มากมาย ไม่ว่าจะผ่านการเสด็จเยือนประเทศจีนหลายสิบครั้งในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศจีน ผ่านการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจากประเทศจีน รวมไปถึงผ่านการฝึกฝนศิลปะจีนแขนงต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th









พิธีบวงสรวงถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
สยามมกุฏราชกุมารพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี



“ราชหัตถเลขาทรงสอน”... บางช่วงบางตอนในหนังสือ “จดหมายเหตุรายวัน” พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร


เมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา บ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในสภาวะที่ประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกกำลังแผ่อิทธิพลทางด้านความคิดและวัฒนธรรมมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกำลังขยายดินแดนอาณานิคมเข้ามาประชิดประเทศไทย


ประเทศไทย...ในฐานะที่อยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาคต้องเผชิญกับปัญหากรณีพิพาทของชายแดนรอบประเทศ โดยเฉพาะปัญหากรณีพิพาทกับฝรั่งเศส


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องจัดการปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อรักษาทรัพย์สมบัติของพลเมืองและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศ เพื่อไม่ให้ตกเป็นของชาติตะวันตก แต่ด้วยปัญหากรณีพิพาทที่รุนแรงขึ้นทำให้ทรงพระปริวิตกมากและทรงพระประชวร


ขณะที่ทรงพระประชวรก็กังวลพระทัยเป็นห่วง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ด้วยวันหนึ่งพระราชโอรสพระองค์นี้จะต้องขึ้นสืบสันตติวงศ์แทนพระองค์ จึงมีพระราชหัตถเลขาที่ ๒/๖๑๓๔ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ ถึง ความว่า...


“ด้วยเมื่อวันที่ ๖ เดือนนี้ เวลากลางคืน เป็นเวลาที่เจ้ามีอายุเต็มเสมอเท่ากับพ่อเมื่อได้รับสมมติเป็นเจ้าแผ่นดิน นึกตั้งใจไว้ว่าจะเขียนหนังสืออำนวยพรและสั่งสอนตักเตือนเล็กน้อย ก็เฉพาะถูกเวลาลงไปปากลัดเสีย จึงเป็นแต่บอกด้วยปากโดยย่อ บัดนี้พอที่จะหาเวลาเขียนหนังสือฉบับนี้ได้ จึงได้รีบเขียน ขอเริ่มความว่า


คำซึ่งกล่าวว่า ได้รับสิริราชสมบัติ เป็นคำไพเราะจริงหนอ เพราะสมบัติย่อมเป็นที่ปรารถนาของบุคคลทั่วหน้า และย่อมจะคิดเห็นโดยง่ายๆว่า ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ย่อมจะมีเกียรติยศยิ่งกว่าคนสามัญ


ย่อมจะมีอำนาจอาจจะลงโทษแก่ผู้ซึ่งไม่พึงใจ อาจจะยกย่องเกื้อกูลแก่ผู้ซึ่งพึงใจและเป็นผู้มีสมบัติมาก อาจจะใช้สอยเล่นหัวหรือให้ปันแก่ผู้ที่พึงใจได้ตามประสงค์ ผลแห่งเหตุที่ควรยินดีกล่าวโดยย่อเพียงเท่านี้ ยังมีข้ออื่นอีกหลายประการจะกล่าวไม่รู้สิ้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นความคาดหมายของคนทั้งปวงดังนั้นไม่ เวลาซึ่งกล่าวมาแล้ว อันจะพูดตามคำไทยอย่างเลวๆว่ามีบุญขึ้นนั้น ที่แท้จริงเป็นผู้มีกรรมและมีทุกข์ยิ่งขึ้น ดังตัวพ่อได้เป็นมาเองอันจะเล่าให้ทราบต่อไป...”


“ราชหัตถเลขาทรงสอน”...มีความยาวหลายหน้า ตัดตอนไปที่ช่วงท้ายใจความว่า “....บัดนี้ลูกมีอายุเท่ากับพ่อในเวลาที่ได้มีความทุกขเวทนาแสนสาหัสเช่นนี้จึงได้มีใจระลึกถึงประสงค์จะแนะให้รู้เค้าเงื่อนแห่งความประพฤติอันได้ทดลองมาแล้วในชั่วอายุเดียวกันเท่านั้นแต่จะถือเอาเป็นอย่างเดียวกันเหมือนตีพิมพ์ย่อมไม่ได้อยู่เอง


เพราะบริษัทและบุคคลกับทั้งเหตุการณ์ภูมิพื้นบ้านเมืองผิดเวลากัน ในเวลานี้เป็นการสะดวกดีง่ายกว่าแต่ก่อนมากยิ่งนัก ตัวชายใหญ่เองก็ตั้งอยู่ในที่ผิดกันกับพ่อ ถ้าประพฤติตัวให้ดีจะดีได้เร็วกว่าง่ายกว่าเป็นอันมากในการภายใน แต่การภายนอกย่อมหนักแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงจะเป็นการจำเป็นที่จะทำช้าอย่างเช่นพ่อเคยทำมาไม่ได้ การสมัครสมานภายในต้องเรียบร้อยโดยเร็วไว้รับภายนอกให้ทันแก่เวลา....”


สนใจอ่านฉบับเต็ม ดร.นฎาประไพ สุจริตกุล บรรณาธิการจัดทำหนังสือ “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ” ซึ่งก็คือพระราชนิพนธ์ “จดหมายเหตุรายวัน” เป็นที่ระลึกในพิธีบวงสรวงถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันเสาร์ที่ ๔ เมษายน ที่จะถึงนี้ เวลา ๙.oo น. ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์


ดร.นฎาประไพ ขอเชิญประชาชนผู้รักชาติและพระมหากษัตริย์ ร่วมพิธี ณ อาคารปฏิบัติธรรม “เบญจมราชวรานุสรณ์” แต่งกายด้วยชุดสุภาพสีขาวทั้งชุด


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


“...ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระวิริยอุตสาหะ ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และรัฐศาสตร์ น่าเสียดายที่เสด็จสวรรคตขณะทรงพระเยาว์ (อายุ ๑๗ ปี)...”


หลังจากเสด็จสู่สวรรคาลัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในการปฏิสังขรณ์พระอารามวัดมหาธาตุ และก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์


และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยนามต่อท้ายวัดมหาธาตุ เป็น “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”


พ.ศ. ๒๕๕๓ในโอกาสครบรอบ ๑oo ปี วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และครบรอบ ๑๑๖ ปีวันสวรรคต สมเด็จพระบรม โอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อุบาสก อุบาสิกา...ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ดำเนินโครงการจัดสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ และพระราชานุสาวรีย์ฯ


วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับโครงการวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานชื่ออาคารปฏิบัติธรรมว่า “เบญจมราชวรานุสรณ์” มีความหมายว่า “เป็นที่ระลึกอันประเสริฐ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ...พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญสัญลักษณ์จักร และตรี...ตราประจำราชวงศ์จักรี ประดิษฐานที่หน้าบันอาคาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างพระรูปหล่อ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เนื้อสำริด ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประดิษฐานหน้าอาคาร


“จดหมายเหตุรายวัน” พระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระบรม โอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในหนังสือที่ระลึกพิธีบวงสรวง เผยแพร่เพื่อให้ประชาชนคนไทย ตลอดจนอนุชนรุ่นหลังได้น้อมนำพระจรรยานุวัตรและพระราชกตัญญุตาธรรมที่ทรงมีต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถในการเจริญรอยตามพระบรมราโชบายแห่งการทำนุบำรุงบ้านเมือง สมกับพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่ปรากฏบนตราประจำพระองค์ว่า “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ”


ดร.นฎาประไพ บอกว่า เราต้องการสื่อให้เห็นถึงความรักชาติ รักแผ่นดินไทย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตราประจำพระองค์เป็นรูปมงกุฎมีช่อชัยพฤกษ์อยู่ข้างบน มีป้ายแพรแดง มีพระนาม...มหาวชิรุณหิศ แล้วก็มีอักษรย่อ “ร” “จ” “บ” “ต” “ว” “ห” “จ” ย่อมาจาก “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ”


“...ให้เด็กรุ่นหลังได้คิด พระมหากษัตริย์ไทยได้ถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ มากมายให้กับลูกหลานคนไทย ให้เกิดความรับผิดชอบต่อวงศ์ตระกูล...ต่อบ้านเมือง”.



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














งานวันนริศ ๒๕๕๘ ไหว้สมเด็จครู ช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม



มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดงานวันนริศ ไหว้สมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม วันที่ ๑-๑o เมษายน ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ประกอบด้วย นิทรรศการพระประวัติและผลงานฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นิทรรศการภาพถ่ายนานาชาติ ครั้งที่ ๑๑ ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ร่วมแสดง ด้วย นอกจากนี้ ยังมีเสวนาวิชาการ เรื่อง "นาฏยดุริยา นริศราวัฒนากร มหาจักรีสิรินธร คุณูปการ"การแสดงละครดึกดำบรรพ์ การออกร้านจำหน่ายหนังสือของที่ระลึก อาหารและขนม



































พระรูป ภาพและข้อมูลจาก
thainews.prd.go.th
FB Naris Day
กระทู้ "เพชรพระมหามงกุฎ - สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ฯ"














PH.D/1/13 DECODE – CONTENT TO PROCESS



PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอเชิญชมนิทรรศการโครงการนำเสนอผลความก้าวหน้า ของนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๗


พิธีเปิดนิทรรศการ วันศุกร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๕.oo น. ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประธานในพิธี


นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต นำเสนอผลงานต่อผู้ทรงคุณวุฒิ ณ PSG Art Gallery


- วันศุกร์ที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๙.oo-๑๖.oo น.
พบกับ พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น, ศิระ สุวรรณศร, เมตตา สุวรรณศร, มณี มีมาก, ดอยธิเบศร์ ดัชนี และอัจจิมา เจริญจิตรตนานนท์


- วันเสาร์ที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๘* เวลา ๙.oo-๑๗.oo น.
พบกับ อรอนงค์ กลิ่นศิริ, พงศ์ศิริ คิดดี, อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี, พิน สาเสาร์, วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร, ประจักษ์ สุปันตี และ ไพโรจน์ พิทยเมธี



ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














Itachi-gokko



Itachi – gokko” เป็นคำที่แสดงถึงการไร้จุดจบ ในที่นี้มาจากเนื้อเพลงท่อนที่ร้องราวกับว่า “itachi-gokko , nezumi-gokko” ซึ่งเป็นการละเล่นของเด็ก โดยเด็กสองคนจะร้องในระหว่างที่ใช้ปลายนิ้วหยิกหลังมือของแต่ละคนสลับกันไปเรื่อย ๆ (คล้ายแมงมุมขยุ้มหลังคาของไทย) โดยมีแรงกระตุ้นเล็ก ๆ ในขณะที่ศิลปินสร้างผลงานเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม มีการเปลี่ยนของสภาพแวดล้อม และประสบการณ์เล็ก ๆ ของศิลปินเป็นแรงบันดาลใจของชิ้นงาน เส้นหนึ่งเส้น สีหนึ่งสี ความสุข และ ความเศร้า การตั้งใจและไม่ตั้งใจ ความจำและการหลงลืม การเดินทางกับชีวิตประจำวันปกติ เสียงดนตรีกับเสียงรบกวน รวมถึงการได้ชมผลงานที่แสดงในหอศิลป์ต่าง ๆ ห้องแสดงภาพ สตูดิโอ หรือการได้พบกับตัวศิลปินนั้นเองก็เป็นแรงกระตุ้นในการสร้างผลงานด้วยเช่นกัน แรงกระตุ้นเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดสายโซ่ในการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และได้พุ่งทะยานไปราวกับลูกพินบอล เหล่าศิลปินที่ได้แสดงผลงานใน Itachi-gokko ล้วนเป็นสายโซ่ข้อหนึ่ง ซึ่งต่างก็มีสไตล์และแนวคิดต่างกัน


“ฮิโรชิ คาตายามะ (Hirochi Katayama)” พยายามวาดความทรงจำที่ถูกลืม ผลงานในช่วงนี้ของเขา ได้แนวคิดมาจากฉากหนึ่งของภาพยนตร์ ก่อนจะวาดภาพเขาจะถ่ายรูปฉากในภาพยนตร์ไว้หลายร้อยภาพ ก่อนจะมาดู และเลือกภาพฉากที่ตัวเองจำไม่ได้ขึ้นมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน โดยเขาจะวาดฉากนั้นซ้ำอยู่หลายครั้ง ดังนั้นรายละเอียดของภาพจึงหายไปเหลือเพียงรูปทรงและสีอย่างคร่าว ๆ เพียงเท่านั้น ผลงานของเขาจึงราวกับว่า ความทรงจำเก่าที่จะสูญเสียรายละเอียด และค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ทุกครั้งที่นึกถึงมัน ซึ่งเป็นภาพของสิ่งที่เปลี่ยนไปนั่นเอง และเป็นซึ่งที่เขาต้องการเห็น


“ชิซูรุ คอนโด (Chizuru Condo)” พยายามเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ที่ได้ชมผลงานของเธอ โดยใช้เทคนิคภาพพิมพ์ไม้แบบดั้งเดิม เช่นเดียวกับที่ใช้ทำภาพอุคิโยเอะ กับ การเพ้นท์ติ้ง ดังนั้นในผลงานของเธอจึงมีทั้งเทคนิคแบบตะวันออก ตะวันตก ของเก่า ของใหม่ ตัวตลก นักการเมือง รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ผสมผสานกัน เมื่อผู้ชมได้ชมผลงานที่ถูกวางเรียงกันโดยปราศจากความหมาย ผู้ชมย่อมรู้สึกสับสน เมื่อผู้ชมเลิกล้มที่จะคิดถึงความหมายของมัน พวกเขาย่อมหัวเราะ ซึ่งนั่นเองเป็นสิ่งที่เธอต้องการ ศิลปินทั้งสองเองก็เป็นสายโซ่ข้อหนึ่งของ “Itachi-gokko”ซึ่งมีสไตล์และแนวคิดต่างกัน


Exhibition : Itachi-gokko
Artist : Hiroshi Katayama,Chizuru kondo
Date: April 3, 2015
Venue : Artery Post-Modern Gallery
Tel : 02-635-3133, 085-917-8891
E-mail : arterynews@hotmail.com



















ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














กิจกรรมที่พิพิธภัณฑ์เด็ก



พบกับตัวการ์ตูนต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ เพลิดเพลินกับเกมและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบสำหรับเด็กตั้งแต่ ๕ - ๑๒ ขวบ อาทิ


- การสอนทำแอนิเมชั่นอย่างง่าย ๆ ด้วย Stop Motion
- กิจกรรมวาดรูปกับพี่สกาลและชาวแก๊งค์
- กิจกรรมวาดรูป “ตัวฉัน กับอาจารย์ชลิต”
- กิจกรรม “สร้างหมวกตามคาแร็กเตอร์สุดฮิต”
- และกิจกรรมให้ร่วมสนุกอีกมากมาย


ในวันเสาร์ที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑o.oo - ๑๕.oo น. ณ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร (จตุจักร) ฟรีทุกกิจกรรม... แต่บางกิจกรรมจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้โทร o๘๖-๕๖๗-๑๖๗๗ และ o๘๑-๘๔๘-๑๔๘๔


กิจกรรมจัดโดยได้รับความร่วมมือจากสำนักศิลปวัฒนธรรม ร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, กรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัด ๔ อีเวนต์สำคัญ เป็นกิจกรรมโหมโรงก่อนจะมีงาน Bangkok Entertainment Week ระหว่าง ๒๗ เมษายน - ๓ พฤษภาคมนี้


เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ สามารถต่อยอดขยายผลให้เกิดความสนใจเรียนรู้ทางด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งการ์ตูน, เกม, แอนิเมชั่น, คอมพิวเตอร์กราฟิกส์, การสร้างสรรค์แคแรกเตอร์ใหม่ ๆ ให้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เช่น ไลน์สติ๊กเกอร์ ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางการค้าเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สอดรับกับแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของภาครัฐอย่างยั่งยืน


อีกทั้งปัจจุบันมีการเรียนการสอนในแขนงนี้มากขึ้น และมีผลงานของไทยรวมทั้งคนไทยที่สร้างชื่อเสียงด้วยผลงานคุณภาพเป็นที่ยอมรับและชื่นชมในต่างประเทศมากมาย ซึ่งพวกเขาส่วนหนึ่งจะมาร่วมงาน Bangkok Entertainment Week ที่กำลังจะมีขึ้นด้วย



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














ถนนสายวัฒนธรรมกระบี่



นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินการโครงการถนนสายวัฒนธรรมตามนโยบาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อันเป็นการใช้วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ โดยสร้างความมั่นคง ทางมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา สร้างสรรค์สินค้าบริการทางวัฒนธรรม และการบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่






กิจกรรมถนนสายวัฒนธรรมซึ่งจัดบริเวณถนนกำแพงประวัติศาสตร์ (ถนนวัฒนธรรม ลานเด็กยิ้มตลาดนัดชุมชน คนกระบี่) ในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้เกิดความคุ้นเคย ผูกพันกับสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น สนใจใฝ่รู้ในเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะชาติพันธุ์วิทยา ความเป็นมาของมรดกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ในส่วนของถนนสายวัฒนธรรม จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชนที่นำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรม สินค้าทางวัฒนธรรม ตลอดจนกิจกรรมสาธิตภูมิปัญญาต่าง ๆ






ด้านนางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการถนนสายวัฒนธรรม เป็นโครงการที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้รับมอบหมายให้ร่วมกับจังหวัดกระบี่ เทศบาลเมืองกระบี่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกระบี่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดกระบี่ สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกระบี่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกระบี่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ ตลอดจนชุมชน และภาคเอกชนในจังหวัดกระบี่ ร่วมกันจัดกิจกรรมการสาธิตผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (C- POT) และการแสดงศิลปะ วัฒนธรรมของดีบ้านฉัน กิจกรรมลานเด็กยิ้ม เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้มีการแสดงออกทางด้านดนตรี ศิลปะ และจัดให้มีห้องสมุดเคลื่อนที่กิจกรรมตลาดนัดชุมชน จัดให้มีการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่หรือเส้นทางทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม







มีการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้เด็ก เยาวชนและประชาชน ได้มีโอกาสแสดงออกทางศิลปะและวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ หรือเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้และท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง อีกทั้งเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชน เกิดความภาคภูมิใจเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริม การอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนและของชาติ ส่งเสริมให้มีพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนได้มีโอกาสในการแสดงออกผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรม ตลอดจนส่งเสริมการนำสินค้าทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน พร้อมสนับสนุนให้มีการใช้มรดกทางวัฒนธรรมในการสร้าง การมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมต่อไป






สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๘ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กำหนดพัฒนาพื้นที่ถนนสายวัฒนธรรม ใน ๑๑ จังหวัด ของประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้แนวทางการจัดกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถี ชีวิตวัฒนธรรมของท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาถนนสายวัฒนธรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการนำทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนตนเอง โดยได้ดำเนินการเปิดถนสายวัฒนธรรมแล้ว จำนวน ๕ จังหวัด ได้แก่ ๑. เส้นทาง ตลาดนครชุม ต.นครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ๒. เส้นทาง ตลาดร้อยปีเมืองย่า ถ.มุขมนตรี ต.ในเมือง อ.เมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓. เส้นทาง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ๔. เส้นทาง เซราะกราว วอล์คกิ้งสตรีท บริเวณถนนพิทักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และ ๕. เส้นทาง หน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา ส่วนเส้นทาง กำแพงประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ นับเป็นจังหวัดที่ ๖






สำหรับอีก ๕ จังหวัด ได้แก่ เส้นทาง ข่วงเมืองน่าน อ.เมือง จังหวัดน่าน เส้นทาง ตลาดต้าน้ำบ้านต้นตาล (วัฒนธรรมไทยวน) อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เส้นทาง ถนนอัฎฐารส หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารจังหวัดลำพูน เส้นทาง ตลาดร้อยสิบเก้าปี เจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เส้นทาง ข่วงเมืองน่าน อ.เมือง จ. น่าน เส้นทาง ตรอกโรงยา อ.เมือง จังหวัดอุทัยธานี ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกำหนดเปิดถนนสายวัฒนธรรมในลำดับต่อไป



ภาพและข้อมูลจาก
culture.go.th














อาจารย์สอนศิลปะชื่อ “อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา”



“สนุกทุกครั้งที่ได้กลับมาสอนนักเรียนครับ” .....อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา หรือ อาจารย์ต้า ของเด็ก ๆ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เอ่ยปากบอก ในวันที่ถูกเชิญให้มาเป็นหนึ่งในวิทยากรโครงการด้านศิลปะของโรงเรียนที่เขาเคยเรียนมาตั้งแต่ระดับประถม และมัธยม รวมถึงเมื่อครั้งเรียนในระดับปริญญาตรี ช่วงเวลาที่เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะ นักร้องนำ และมือกีตาร์ วง Paradox เขาก็เคยเลือกมาเป็นอาจารย์ฝึกสอนที่นี่ และเมื่อจบการศึกษา ยังทำงานเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่นี่นานถึง ๗ ปี ควบคู่ไปกับการเล่นดนตรี ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากอาชีพอาจารย์ไปในที่สุด


“ระหว่างที่สอนวงก็ค่อยๆดังขึ้นเรื่อย ๆ ตอนแรกอาชีพครู หรือ อาจารย์เป็นงานหลัก แต่ตอนหลังวงมีงานให้ไปเล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มเบียดเวลา ต้องมีการแลกชั่วโมงกับอาจารย์ท่านอื่นบ่อย ๆ เพราะต้องไปต่างจังหวัด กระทั่งมีอยู่วันหนึ่งอาจจะอัดเสียงดึกหรืออะไรไม่รู้ ลุกขึ้นมา จากที่นอน คุณแม่ (อัจฉรา กฤดากร ณ อยุธยา อดีตอาจารย์สาธิต จุฬาฯ) เขาเห็นว่าเรามีเลือดออกมาจากจมูก ก็เลยตกใจ และบอกให้เลือกเราเล่นดนตรีอย่างเดียวไปก่อนดีกว่า เพราะไม่งั้นมันจะหนักเกินไป ตอนนั้นขณะที่เล่นดนตรีช่วงกลางคืน พอถึงช่วงเช้าก็ต้องไปสอน เรียกได้ว่าทำงานเกือบ ๒๔ ชั่วโมง แทบไม่ได้พัก คุณแม่ก็เลยอยากให้เลือกไปทำอะไรซักอย่างหนึ่ง ผมก็เลยลาออกจากอาชีพอาจารย์ไปเล่นดนตรีก่อน แต่ก็ตั้งใจไว้ว่า เดี๋ยวในอนาคตค่อยกลับมาสอนใหม่ก็ได้”










ศิษย์เก่า “ครุศิลป์ จุฬาฯ”



เจ้าตัวบอกว่าประทับใจอาชีพอาจารย์ตั้งแต่ช่วงที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ที่คณะครุศาสตร์ ศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่คนทั่วไปเรียกติดปากว่า “ครุศิลป์ จุฬาฯ”


“ผมออกอัลบั้มตั้งแต่ตอนอยู่ ปี ๒ ครับ แต่ตั้งแต่ปี ๑ ก็เสนอฟอร์มวง เสนออัลบั้มแล้ว จนปี ๒ ออกอัลบั้ม แล้วปี ๔ ก็มาฝึกสอน ตอนนั้นยังเป็นวงอินดี้ คนยังไม่ค่อยรู้จัก ก็ยังมีเวลา ได้มาฝึกสอนด้านศิลปะ ก็เลยติดใจ การเป็นอาจารย์ พอเรียนจบก็เลยอยากจะเป็นอาจารย์ และ เป็นอาจารย์คนแรกของรุ่นเลยด้วยซ้ำ เป็นคนที่ตั้งใจจะมาสอนหนังสือโดยตรงเลย เพื่อนก็มองว่า ผิดแนวมากเลย นึกว่าเราจะไปทางสายเป็นศิลปิน แต่เรามุ่งมาที่อาจารย์เพราะชอบ และเลือกสอนระดับประถม เพราะว่าถ้าสอนเด็กมัธยม มันจะดูใกล้กันเกินไป เหมือนรุ่นพี่ รุ่นน้อง ก็เลยสอนประถมดีกว่า”


และบอกถึงเหตุผลเริ่มต้นที่ทำให้เลือกเรียนทางด้านศิลปศึกษา แทนที่จะเลือกทางด้าน Fine Art


“ดูจากวิชาที่เรียนครับ มันจะมีวิชาเรียนที่ค่อนข้างกว้าง และที่เราชอบและน่าสนใจที่ ครุศิลป์ จุฬาฯ จะไม่เน้นไปทางด้านศิลปะโดยตรง แต่เน้นเรื่องสอนหนังสือ สอนศิลปะโดยรวม ๆ เรียนจบมาเพื่อเป็นครูสอนศิลปะ ฉะนั้นวิชาที่เลือกเรียนมันจะมีหลากหลายมาก เพราะเวลาเราจะสอนหนังสือสิ่งที่เรารู้มันต้องครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นวิชาภาพพิมพ์ วาดภาพสีน้ำมัน วาดภาพสีน้ำ การปั้น ถ่ายภาพและวิชาเสริมอื่น ๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อย รู้สึกชอบ ก็เลยเลือกเรียน ตอนแรกก็ไม่ค่อยอยากเป็นอาจารย์ แต่พอได้มาฝึกสอน รู้สึกประทับใจอาชีพอาจารย์ ก็เลยตั้งใจว่าจะมาสอนหนังสือ”










ตาต้า สตูดิโอ



ปัจจุบัน วง Paradox มีอายุครบ ๒o ปีแล้ว และกำลังจะมีอัลบั้มใหม่คลอดออกมาภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปีย่างเข้าสู่ปีที่ ๒๑ ของการก่อตั้งวง ดังนั้นงานหลักของเขา ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการทำอัลบั้ม และเดินสายเล่นคอนเสิร์ต ยังไม่ได้มีเวลากลับไปเป็นอาจารย์ต้าเต็มเวลา ดังเช่นเมื่อหลายปีก่อน นอกจากนี้เขายังมีงานรับทำเพลงโฆษณาและเพลงประกอบทุกอย่าง ที่รับทำส่วนตัว ภายใต้ชื่อ “ตาต้า สตูดิโอ”


ซึ่งใครที่เป็นแฟนผลงานของ “ต้า Paradox” โดยตรง สามารถเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางหน้าเพจ Tatastudio


“เป็นงานของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ งานที่ทำเดี่ยวฮะ มีขายของที่ระลึกด้วยเล็กน้อย และผลงานต่าง ๆ เช่น ผลงานเพลงโฆษณา เพลงประกอบอะไรต่าง ๆ พอร์ทงานจะอยู่ในเพจนี้”


ขณะที่เวลาว่างส่วนหนึ่งใช้ไปกับการวาดภาพและประดิษฐ์สิ่งของจากเศษวัสดุ


“ผมชอบวาดภาพสีน้ำครับ ว่าง ๆ จะถือกระดานสีน้ำอันเล็กๆเท่ากระดาษ A4 หรือใหญ่ขึ้นมาหน่อยไปวาดภาพ และงานพวกนี้จะถูกนำไปประมูลอยู่บ่อย ๆ ครับ ดังนั้นเวลาวาดเสร็จผมก็จะใส่กรอบไว้เรียบร้อยเลย พอมีกิจกรรมการประมูลเพื่อการกุศลต่าง ๆ ที่ทางผู้จัดเขาเชิญมา ก็จะส่งไป โดยคนส่วนใหญ่ที่ประมูลไปเป็นแฟนเพลงของ Paradox ดังนั้นนอกจากคนอื่นได้ใช้ประโยชน์ เราก็มีโอกาสได้ฝึกฝีมือไปด้วย และอีกงานหนึ่งที่ผมชอบทำคือ งานประดิษฐ์หุ่นกระป๋องจากเศษวัสดุ เวลาเจอเศษขยะที่ใช้ได้ ผมจะเก็บไว้ แล้วก็เอามาติดกาวยาง สร้างเป็นหุ่นขึ้นมา คล้าย ๆ Transformers แต่ประดิษฐ์จากเศษวัสดุที่ใช้แล้ว เช่นเดียวกันว่า เป็นงานที่ทำไว้สำหรับนำไปประมูล ช่วยการกุศล”










ศิษย์ "อ.สมโภชน์ ทองแดง" ชอบสีน้ำแนวโรแมนติกของ “ศศิ วีระเศรษฐกุล”



เขามีศิลปินสีน้ำที่ชื่นชอบอยู่สองคน.. คนแรกเป็นอาจารย์ของเขาตอนเรียนมหาวิทยาลัยและอีกคนเป็นนักเขียน,ศิลปินและนักวาดภาพประกอบ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย


“ศิลปินสีน้ำที่ผมชอบคนแรกเป็นอาจารย์ของผมเอง คือ อาจารย์สมโภชน์ ทองแดง เมื่อก่อนผมก็กลัวกับการวาดสีน้ำ พอมาเรียนกับ อ.สมโภชน์ ที่ครุศิลป์ จุฬาฯ ฟังที่อาจารย์สอน ก็รู้สึกว่าการวาดสีน้ำสนุกจังเลย แถมตอนที่เรียนยังได้คะแนนดีด้วย ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้วาดภาพสีน้ำ แล้วสำหรับผม อ.สมโภชน์เป็นศิลปินวาดภาพสีน้ำที่เก่งมาก


และอีกคนที่ผมชอบงานคือ คุณศศิ วีระเศรษฐกุล (เจ้าของเพจ ‘การเดินทางของพระจันทร์’ ) เป็นศิลปินยุคใหม่ในดวงใจ เพราะเขาวาดสีน้ำได้โรแมนติกมาก และเมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งได้ร่วมงานกับเขา ผมแต่งหนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อว่า “อยากมีเธออยู่ตรงนี้” และขอให้คุณศศิ ช่วยวาดภาพประกอบ”





ผลงานของ ศศิ วีระเศรษฐกุล วาดให้หนังสือ "อยากมีเธออยู่ตรงนี้" ของ ต้า Paradox






กลับถิ่นเก่า.. เป็นอาจารย์สอนศิลปะและอนาคตผู้คุมทีมฟุตบอล “สาธิตจุฬา”



ล่าสุดการได้กลับมาเป็นวิทยากรให้โครงการ Art Learning ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ทำให้เขารู้สึกดีมาก ๆ กับการได้กลับมาทำหน้าที่หน้าอาจารย์ และอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่คุ้นเคย หลังจากที่ห่างหายไปหลายปี


“ถึงแม้ว่าช่วงนี้จะงานเยอะมาก แต่ก็รู้สึกว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะมาช่วยโรงเรียนสอน ช่วยทำกิจกรรม สนุกทุกครั้งที่ได้มาสอนนักเรียนครับ ก็ยังบอกอาจารย์ที่นี่ว่า ถ้ามีโอกาสพร้อมจะรับใช้สาธิตจุฬา นอกจากสอนหนังสือ ก็เห็นอาจารย์ทาบทามไว้ว่า อยากให้ช่วยดูทีมฟุตบอล คือกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับสาธิตจุฬา ผมพร้อมจะกลับมาทำ เพราะว่ากลับมาแล้วมันได้ความสนุก มีความทรงจำที่ดีเสมอ แล้วตอนหลายปีก่อนนู้นที่ลาออกไป ตอนเลือดออกจมูกแล้วคุณแม่ให้เลือกเล่นดนตรีก่อน เราไม่อยากจะออกด้วย รู้สึกว่า ถ้าได้กลับมาอยู่ในบรรยากาศเดิม อยู่ในสังคมเดิม ๆ มันมีความสุข”


ยิ่งการกลับมาครั้งนี้ได้กลับสอนศิลปะโดยตรง ขณะที่หลายปีก่อนหลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า เขาเป็นอาจารย์สอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ (กพอ.) และคอมพิวเตอร์


“ตอนแรกสอน การงานพื้นฐานอาชีพ หรือ กพอ. แล้วก็ย้ายมาสอนคอมพิวเตอร์ ซึ่งสอนนานสุด ประมาณ ๕ ปี ช่วงนั้นเป็นอาจารย์หนุ่มไฟแรง เค้าก็มอบหมายให้เปิดแผนกคอมพิวเตอร์ มาช่วยวางแผนการสอน แต่สอนศิลปะเพิ่งมาสอนครั้งนี้ เพราะหลายปีก่อนที่เคยเป็นอาจารย์ประจำ ที่โรงเรียนมีอาจารย์สอนศิลปะอยู่แล้ว และค่อนข้างเก่ง ครั้งนี้ได้มาสอนศิลปะโดยตรง สอนเด็ก ป.๒ ผมเน้นสอนเรื่องจินตนาการและการสร้างแรงบันดาลใจ ส่วนสอนวาดภาพจะมีน้องๆทีมงานของโครงการช่วยกันอยู่แล้ว


แต่ไอเดียผมคือเน้นเรื่องจินตนาการและศิลปะกับเด็ก ๆ เช่น เปิดนิทานให้เด็ก ๆ ได้วาดภาพ หรือวาดภาพสัตว์ประหลาดในจินตนาการของฉัน ทุกอย่างเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เน้นเรื่องจินตนาการ แล้วก็เน้นเรื่องความสนุกกับการได้คิดและวาด ถ่ายทอดออกมา หลังจากนั้นเขาก็ไปต่อยอดเอง แต่ไม่ได้เน้นว่า วาดวงกลมยังไงให้สวย หรือวิธีการลงสีน้ำ อันนั้นเป็นเรื่องที่ทีมช่วยกัน”










สร้างความประทับใจแรก



แต่ไม่ว่าจะสอนวิชาอะไร แนวทางการสอนของเขาแทบไม่แตกต่างกัน เพราะเน้นเรื่องการสร้างความประทับใจแรกให้กับลูกศิษย์


“สร้างความประทับใจแรก และแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์สมัยก่อน ผมใช้คำว่าเกลียดคอมพิวเตอร์ได้เลย เกลียดมาก เพราะว่ามันอยู่ในยุคของการทำคอมพิวเตอร์จอเขียว แล้ว floppy disk ใบใหญ่เท่ากระดาษ A4 แล้วเวลาจะสั่งให้วาดภาพที่ละนิด ต้องพิมพ์โปรแกรมประมาณสองบรรทัด เพื่อให้ตัวเต่าเล็ก ๆ มันวาดเส้นแค่ประมาณ ๑ เซนติเมตร แล้วมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก พอผมรียนแบบนั้นก็กลัว ไม่ชอบคอมพิวเตอร์ไปเลย เกือบทั้งชีวิต ตอนหลัง เริ่มเรียนรู้อะไรมากขึ้น คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องสนุก พอมีเครื่องแมค เครื่องอะไรที่มันทำง่ายขึ้น ก็เลยมีความรู้สึกว่า ถ้าเกิด เราทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องน่าสนุก เขาก็จะไปต่อยอดเอง


ทุกวิชาและการสอนทั้งหมดทั้งมวลเลย ไม่ว่าจะสอนลูกศิษย์หรือสอนรุ่นน้อง ผมจะใช้ ความประทับใจแรก เป็นแนวคิดสำหรับการสอน สมมุติว่าสอนคอมพิวเตอร์ ผมก็จะพยายามให้เด็กได้เล่นเกมส์ หรือว่าเข้าเวบไซต์ที่เขาสนุก หรือว่าเขาอาจจะยังทำอะไรไม่เป็นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่อย่างน้อยเค้าจะรู้สึกว่า เมื่อนึกถึงคอมพิวเตอร์มันมีความสุข ถ้าเกิดเขาเล่นอะไรที่มันสนุก เดี๋ยวเขาจะไปต่อยอดเอง ไปค้นหาความรู้ของเขาเอง แต่ถ้าเกิดเขาเริ่มด้วยความไม่สนุก เขาจะเบื่อ แล้วเขาก็ไม่อยากจะไปพัฒนาตัวเอง หรือถ้าเราสอนศิลปะ เราก็ทำยังไงก็ได้เพื่อให้เด็กรู้สึกว่า วิชานี้มันสนุกจังเลย เหมือนเป็นขนมหวานหลอกล่อหน่อย เพื่อให้เขามีแรงบันดาลใจในการไปพัฒนาตัวเองต่อไป หลังจากนั้นเขาจะไปพัฒนาของเขาเองได้ อยู่ที่เราปลูกฝัง”










อาจารย์ต้าและต้า Paradox ในร่างเดียวกัน แลกเปลี่ยนว่าไม่เพียงแต่ลูกศิษย์ตัวน้อยของเขาจะมีช่วงเวลาที่จำกัดในการเรียนรู้ แฟนเพลงของเขาในเวลาที่ฟังเพลง ก็ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการเรียนรู้จากการสอน โดยเฉพาะการสอนศิลปะจึงมีประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้กับการทำงานอื่น ๆ ของเขาด้วย


“มีสองข้อเลย ที่ได้ใช้ประโยชน์ ข้อแรกคือการฝึกอธิบายการสื่อสาร เช่น เราเป็นอาจารย์ เราต้องฝึกการสื่อสารกับนักเรียน ซึ่งนักเรียนอาจจะมีสมาธิที่แบบประมาณจำกัด เด็ก ๆ ผมว่าน่าจะอยู่ซัก ๕ นาที ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนเทคนิคการสอนใหม่ และมันก็เอามาใช้ในการสื่อสารของเรา ตอนที่เล่นคอนเสิร์ตได้ เช่น เราจะรู้จังหวะว่า คนส่วนใหญ่สมาธิอยู่ประมาณกี่นาที แฟนเพลงก็คล้าย ๆ กัน เขาจะมีสมาธิอยู่ประมาณนั้น เราจึงต้องเลือกใช้เทคนิคที่ไม่น่าเบื่อ


ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราได้รับความคิดสร้างสรรค์ การสอนหนังสือ หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ มันเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา แล้วความคิดสร้างสรรค์นี้เราเอามาใช้ในการผลิตงานอื่นได้ เช่น งานเพลง เวลามีความคิดแปลก ๆ อะไรที่มันผิดแผก คนไม่ค่อยทำ เราก็จะได้ฝึกสมองตรงนั้น เอามาผสมกับการทำเพลงของเราได้ เช่น ไอเดียในการพูดถึงเรื่องต่าง ๆ เราเอามาใช้กับเพลงที่เราแต่งได้”





อาจารย์ต้า ภาคหุ่นยนต์ วาดโดยลูกศิษย์ตัวน้อย "น้องกาโม่" ด.ช.นัทพล โกมลารชุน


หนึ่งในศิษย์เก่าต้นแบบ



ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกอะไรที่ อ.สมใจ จงรักวิทย์ อาจารย์สอนศิลปะ ประธานโครงการ Art Learning ผู้เคยเป็นอาจารย์ของเขา นับตั้งแต่ที่นักร้องหนุ่มยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ เคยบอกเล่าว่า โครงการในปีการศึกษาต่อไป เขาก็ยังจะถูกเชิญมาเป็นวิทยากรของโครงการ และเป็นหนึ่งในจำนวนศิษย์เก่าที่โดดเด่น ที่ทางโรงเรียนต้องการสนับสนุนให้เป็นต้นแบบของรุ่นน้อง


“ตัวต้าเองเรียนศิลปะมา และปัจจุบันก็ยังวาดรูปค่ะ งานศิลปะอยู่ในตัวเขาอยู่แล้ว และเขาทำงานเพลงเหมือนทำงานศิลปะ เขาไม่ถึงกับเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปศึกษา แต่ตัวเขาเองมีศิลปะอยู่ในตัวเอง การเชิญเขามา สวนหนึ่งเราต้องการให้เค้าได้เป็นต้นแบบของนักเรียน และตอนเด็ก ๆ เขาได้รางวัลทางศิลปะเป็นประจำ ทั้งจากกระทรวงและนานาชาติ เราอยากให้เห็นว่าตัวตนของต้าเป็นศิลปะ เขาทำดนตรี แต่พื้นฐานเขามีศิลปะ แล้วตอนเขามาสอนศิลปะเขาทำได้อย่างดีนะคะ เขาคิดหัวข้อที่เด็ก ๆ ชอบ น่าสนใจ มีการเพิ่มเติมเรื่องของเพลงเข้ามา เด็กๆก็ผ่อนคลาย”



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














Monkey Show



“รัตนะ ขุนแก้ว” ศิลปินหนุ่ม รุ่นใหม่ จบการศึกษา จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และ ภาพพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร น่าจับตามองนับแต่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม จากสำนักงาน ศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมรัตนะ ขุนแก้ว ถ่ายทอดผลงานจิตรกรรม ชุด “ละครลิง” โดยมุ่งหมายแสดงสะท้อนความจริง ดำเนินเรื่องเชิงเปรียบเทียบแสดงทรรศนะคติ ส่วนตัวที่มีต่อสังคมส่วนรวม เนื้อหาเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนดูเรียบง่าย กล่าวคือเปรียบการใช้ชีวิตของคนเรานั้นมักมี ๒ ด้านเสมอ คือ ด้านที่แสดงออกภายนอกและด้านภายใต้จิตสำนึกภายในมีความอยากทะเยอทะยานซ่อนอยู่โดยมีบริบทสังคมเป็นตัวกลาง กำหนดบทบาทให้แต่ละคนดำเนิน


ถึงแม้งานของศิลปินจะดูค่อนไปทางคติที่ครุ่นคิดและงานย้อนยุค แต่ศิลปินได้สอดแทรกความเป็นนิยมสมัยใหม่อย่างลงตัวทำให้น่าสนใจอย่างเช่น ได้นำบางฉากบางตอนบางละครไทยยอดฮิตไม่ว่าจะเป็นดอกส้มสีทอง หรือแม้กระทั่งแรงเงา รวมไปถึงวรรณคดีไทย ขุนช้าง ขุนแผน จึงนับได้ว่าละครลิงเป็นงานจิตกรรมที่ผสมผสานความเป็นไทยเติมแต่งอารมณ์ขบขันชวนให้อมยิ้มทันกับยุคสมัยได้อย่างลงตัว


นัมเบอร์วันแกลลอรี ยินดีนดีนำเสนอนิทรรศการ ”ละครลิง ” โดย “รัตนะ ขุนแก้ว” ขอเชิญทุกท่าน พบปะพุดคุยกับศิลปิน รับสูจิบัตร และร่วมพิธีเปิดนิทรรศการในวัน พฤหัสบดีที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.oo น. ณ นัมเบอร์วันแกลอรี่ อาคาร เดอะสีลมแกลเลอเรีย ชั้น ๔ กรุงเทพฯ


นิทรรศการ : ละครลิง
ศิลปิน : รัตนะ ขุนแก้ว
วันที่ : ๙ เมษายน – ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : นัมเบอร์วันแกลอรี่ อาคาร เดอะสีลมแกลเลอเรีย ชั้น ๔ กรุงเทพฯ
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : o๘๓-๔๔๕-๘๓๓๓, o๒-๖๓o-๒๕๒๓















ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 03 เมษายน 2558
Last Update : 3 เมษายน 2558 23:10:54 น. 0 comments
Counter : 3311 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.