happy memories
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
7 พฤศจิกายน 2557
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๖๑





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto











มือแห่งนักปั้นฝัน


ขอเชิญชมนิทรรศการของจิตรกรนักปั้นชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาจารย์ สันติ พิเชฐชัยกุล ศิลปินนักปั้นหนุ่มไทย จิตรประติมากรรมระดับโลก โดยเขาเคยได้รับมาแล้วหลากหลายรางวัล นิทรรศการ "มือแห่งนักปั้นฝัน" จัดแสดง ณ ลาน Central Court ชั้น ๑ (บริเวณหน้าลิฟท์แก้ว) ห้างสรรพสินค้า CentralWorld ในวันที่ ๗-๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ 



คลิกลิงค์ชมคลิปที่อาจารย์สันติชวนไปชมนิทรรศการในรายการ "เช้านี้ที่หมอชิต"

mediastudio.co.th/















































ภาพและข้อมูลจากเวบ
bugaboo.tv
เฟซบุค Sunti Pichetchaiyakul อาจารย์ สันติ พิเชฐชัยกุล
เฟซบุค Sunti Pichetchaiyakul















สานสุข สุนทรีย์ ๗๕ ปี สุนทราภรณ์



ร่วมสืบสาน ตำนานเพลงอมตะยอดฮิตสุดคลาสสิคมากกว่า ๕o เพลงสุนทราภรณ์


คัดเพลงสุดยอดร่วมสมัยให้สัมผัสสุขได้ทั้ง พ่อ แม่ ลูก รื่นอารมณ์ไปกับลูกทุ่งคู่ขวัญยอดนิยม โจนัส – คริสตี้ แนวใหม่ ดูกันว่า ฝรั่ง เล่นลำตัดจะมันส์ ขำกลิ้งขนาดไหน?


นิทรรศการ “ประยูร จรรยาวงศ์ ” ร่วมสืบสานศิลปินล้ำค่า ของแผ่นดิน


บัตรราคา ๕oo และ ๓oo บาท ติดต่อซื้อได้ที่เบอร์ o๒-๕๘๕-๕๗oo , o๒-๙๑o-o๒๕๘-๙ , o๘๕-๑๗๔-๘๘oo , o๘๑-๗๑o-๒๘๓๗ , o๘๑-๔๘๖-๔๑๗๖



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaiticketmajor.com















Happy sketching ของ KK สถาปนิก, กราฟิกดีไซเนอร์และศิลปินชื่อดังจากปีนัง


ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับงาน “สถาปนิก ๕๗” หนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจและมีผู้ไปร่วมฟังจำนวนมาก คือในส่วนของนิทรรศการ Asa Sketch Exhibition & Workshop ที่ในวันสุดท้ายของงาน สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Association of Siamese Architects under the Royal Patronage of His Majesty the King) หรือ อาษา (ASA) และ กลุ่ม Bangkok Sketchers ได้เชิญ Ch'ng Kiah Kiean สถาปนิก, กราฟิกดีไซเนอร์และศิลปินชื่อดังจากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย มาพูดเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของเขาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สนใจ


เพราะไม่เพียง Ch'ng Kiah Kiean หรือ KK จะเป็นหนึ่งในตัวอย่าง ของผู้ที่มีผลงาน Sketch หรือ เส้นสายสถาปนิกในแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนกล่าวได้ว่าเป็น Creative Sketch นั่นคือสร้างสรรค์ให้เป็นมากกว่า การสเก็ตช์เพื่อคำนวณค่าก่อสร้าง ดังที่ ปราโมทย์ กิจจำนงพันธุ์ และ อัสนี ทัศนเรืองรอง ๒ ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่ม Bangkok Sketchers บอกถึงเหตุผลที่ต้องเชื้อเชิญเขามาพูดคุยในครั้งนี้


KK ยังเป็นหนึ่งในสมาชิก Urban Sketchers ที่มีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ,ผู้ร่วมก่อตั้ง Urban Sketchers Penang และเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว เคยจัดงาน Penang Sketch Walk ซึ่งกำลังจะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมของปีนี้ และบ่อยครั้งที่ถูกรับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรโชว์การสเก็ตช์ ให้เหล่า Sketchers จากทั่วโลกได้ชมเป็นแนวทาง


“ KK ไม่ได้มีชื่อเสียงเฉพาะในปีนัง แต่ได้รับเชิญจากกลุ่ม Sketchers จากทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ปีที่ผ่านมาเขาไปสาธิตให้ Sketchers ที่มาจากทั่วโลก ชมที่สเปน และปีหน้าได้รับเชิญไปสาธิตที่บราซิล”










จาก “ภาพส้วมโรงเรียน” ถึง “ภาพสเก็ตช์เมืองปีนัง”



KK วัย ๔o ปี ผู้มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เกิดที่ปีนัง ขณะนี้ทำงานศิลปะ ควบคู่ไปกับการทำอาชีพสถาปนิกอนุรักษ์สถาปัตยกรรมจีนแบบประเพณี และมีบริษัทออกออกกราฟิกเป็นของตัวเองในชื่อ KAKI ที่มาจาก กา-กี่-นั้ง(คนกันเอง) และ คากิ (ขาหมู) บอกเล่าว่าเขาก็เหมือนกับศิลปินหลายคนที่พัฒนาตัวเองมาจากความชอบในการวาดภาพตั้งแต่เด็ก โดยเมื่ออายุ ๗-๘ ขวบ เขาเริ่มหัดวาดภาพตามนวนิยายจีนและการ์ตูนที่พ่อซื้อมาให้ ซึ่งเมื่อพ่อเห็นว่าเขาสนใจจึงให้ไปเรียนวาดภาพ


กระทั่งเข้าเรียนมัธยมในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของปีนัง แม้แต่คนไทยหลายคน ๆ ก็เคยส่งลูกหลานไปเรียนที่นี่ KK จึงเข้าไปเป็นสมาชิก “ชมรมศิลปะ” ทำกิจกรรมมากมาย ไม่เว้นแม้แต่การไปช่วยชมรมอื่นออกแบบปกหนังสือ จนถูกเลือกให้เป็นประธานชมรม ซึ่งเขาได้เปิดใจว่า การมีชมรมศิลปะเกิดขึ้นในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อมองย้อนหลังกลับไป เขาพบว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ฝึกฝนตนเองและมีผลงานที่พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก


ขณะที่ภาพวาดภาพแรก ๆ ที่เขาหัดวาดตอนเรียนมัธยม คือภาพ “ส้วมของโรงเรียน” วาดด้วยเทคนิคสีน้ำ นอกจากจะมองเห็นความงามของสิ่งที่คนอื่นอาจมองข้าม KK ยังเป็นนักฝัน เพราะเมื่อวาดฝันว่าวันหนึ่งอยากจะมีสตูดิโอทำงานศิลปะเป็นของตัวเอง ในลักษณะไหน เมื่อยังมีไม่ได้ เขาก็ได้สร้างกำลังใจให้ตัวเองโดยการวาดออกมาเป็นภาพรอไว้ก่อนล่วงหน้า แต่พอเรียนจบมัธยมเขาก็ต้องพบกับภาวะที่ต้องคิดหนักเพราะไม่รู้ว่าควรจะเลือกเรียนอะไรระหว่างศิลปะที่ชอบมาตลอด และอย่างอื่นเพื่ออนาคตที่มั่งคง


จนในที่สุดเขาตัดสินใจไปเรียนด้านกราฟิกดีไซน์ ที่กัวลาลัมเปอร์ แต่เพราะไม่ชอบชีวิตที่นั่นเท่าไหร่ จึงต้องกลับมาเรียนที่ปีนัง และเมื่อที่บ้านเกิดไม่มีสาขาศิลปะให้เรียน มีเพียงสาขาที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์และชีววิทยา เขาจึงเลือกเรียนชีววิทยา










แต่ระหว่างนั้นก็ได้ปลดปล่อยตัวเองด้วยการวาดภาพ พารามีเซียม ( Paramecium) โปรโตซัวสกุลหนึ่ง อยู่ในอาณาจักรโพรทิสตา มีขนรอบๆ ตัว โดยใช้ขนในการเคลื่อนที่ เรียกว่า ซิเลีย (cilia) ให้ออกมาดูคล้ายภาพศิลปะแนวนามธรรม (Abstract) กระทั่งตอนหลังได้เปลี่ยนมาเรียนด้านการวางผังเมืองและสถาปัตย์ โดยระหว่างเป็นนักศึกษา ได้มีโอกาสมาเมืองไทยครั้งแรก เพราะเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาร่วมเวิร์คชอป ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบัง


เมื่อจบจาก University Sains Malaysia ซึ่งตั้งอยู่ที่ปีนัง ทำงานเป็นสถาปนิกได้เพียงปีเดียว เพื่อนของเขาซึ่งมีบริษัทเป็นของตัวเองและมีความเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมจีน ได้ชวนให้เขามาทำงานด้วยกัน แม้จะต้องปีนป่ายขึ้นไปรังวัดทุกส่วนของอาคาร ต้องปีนหลังคา แต่เขาก็ชอบงานนี้มาก ๆ และเหตุที่ต้องทำงานเสนอลูกค้าอยู่บ่อย ๆ ต้องออกแบบกราฟิกเอง ทำให้เขาพลอยมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ไปด้วย และเป็นที่มาของการตั้งบริษัทออกแบบกราฟิกเป็นของตนเองในที่สุด


ในเวลาเดียวกัน KK ยังมีผลงานศิลปะซึ่งเป็นภาพสเก็ตช์เมืองของทั้งในและต่างประเทศจัดแสดงสม่ำเสมอ โดยเริ่มมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกที่กัวลาลัมเปอร์ เมื่อ ๑o ปีที่แล้ว ต่อด้วยครั้งที่ ๒ ที่ไต้หวัน และอีกหลาย ๆ ครั้งทั้งในประเทศตัวเองและต่างประเทศ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา (๒๕๕๖) เขาเพิ่งจัดนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งที่ ๘ ที่ปีนัง










๒ ผลงานรวมเล่มขายดี



นอกจากนี้ KK ยังให้ความสำคัญกับการทำหนังสือรวบรวมผลงานสเก็ตช์ ซึ่งขณะนี้หนังสือชื่อ Sketchers of Pulo Pinang พิมพ์เมื่อปี ๒oo๙ และ Line - line Journey พิมพ์เมื่อปี ๒o๑๑ ถูกขายไปหมดเกลี้ยงและกำลังวางแผนที่จะพิมพ์ใหม่ โดยที่ก่อนหน้านี้เขามีหนังสือ Art of Line (ศิลปะแห่งเส้นสาย) ของสถาปนิกคนหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจ


ตอนไปแสดงงานที่ไต้หวัน เคยมีนิตยสารเกี่ยวกับภาพประกอบมาสัมภาษณ์เขา เกี่ยวกับการเดินทางและผลงานสเก็ตช์ รวมไปถึงนิตยสารท่องเที่ยว ของอินโดนีเซีย และเขาเคยมีผลงานรวบรวมไว้ในหนังสือรวบรวมผลงานสเก็ตช์ของสถาปนิกชื่อดัง แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบอาชีพสถาปนิก แต่เพราะผลงานภาพสเก็ตช์ของเขาสวยมาก จึงถูกเลือก KK บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นเรื่องที่สำคัญอยู่เหมือนกันในการที่จะประชาสัมพันธ์ตัวเอง โดยการทำหนังสือและให้สัมภาษณ์ลงสื่อต่าง ๆ


“ในฐานะที่จะเป็นศิลปินเต็มตัวก็ต้องทำงานพวกนี้ด้วย”










ก่อนจะเป็น Urban Sketchers Penang



ค.ศ. ๒oo๙ (พ.ศ. ๒๕๕๑) การงานแห่งชีวิตของ KK เริ่มขยายขอบเขตมากขึ้น และกล่าวได้ว่าเป็นปีที่มีความหมายสำหรับเขา เพราะทันทีที่เขาใส่คำสองคำคือ Urban และ Sketchers ลงไปค้นหาใน Google เขาก็ได้พบกับโลโก้อันหนึ่งซึ่งเป็นภาพหน้าต่าง แทนความหมาย “การเปิดหน้าต่างออกสู่โลกกว้าง” และในหน้าต่างบานนั้น ยังมีหน้าต่างบานเล็ก ๆ อีกหลายบานเป็นส่วนประกอบ แทนความหมาย “มุมมองที่แตกต่างของแต่ละคนในการมองเมือง”


มันคือ โลโก้ของกลุ่ม Urban Sketchers ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ที่เขาได้พาตัวเองเข้าไปสังกัดในเวลาต่อมา และได้ก่อตั้งกลุ่ม Urban Sketchers Penang ขึ้นที่ปีนัง ภายหลังการก่อตั้ง กลุ่ม Bangkok Sketchers ของประเทศไทย ที่ในวันหนึ่งได้พบและทำความรู้จักกันที่ปีนัง และต่างเป็นสมาชิกกลุ่ม Urban Sketchers ของทั่วโลก เช่นเดียวกัน จึงทำให้ KK มีโอกาสเดินทางมาร่วมกิจกรรมกับ กลุ่ม Bangkok Sketchers ที่กรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดของประเทศไทยหลายครั้ง จึงไม่แปลกอะไรหากจะพบว่า เขามีภาพสเก็ตช์เมือง ซึ่งเป็นภาพสถานที่สำคัญ ๆ ในประเทศไทย หลายภาพ


“Sketchers ทั่วโลกก็จะมีกิจกรรมคล้าย ๆ กันคือพาลูกหลานไปสเก็ตช์ภาพวาดภาพเมืองด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน มีความสุขกับการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยที่ผ่านมา ผมพยายามรวบรวม Sketchers ที่อยู่ในเขตเดียวกัน จนเมื่อสองปีที่แล้วได้จัดงาน Penang Sketch Walk ขึ้นมา มี Sketchers คนไทยนับ ๑o คนไปร่วมงานด้วย และกรกฎาคมที่จะถึงนี้ งานกำลังจะมีขึ้นอีก มีกิจกรรม เชิญ อ.อัสนี ไปเวิร์กชอปด้วย"


และหากใครที่มีคำถามว่าทำไมเขาจึงสนุกกับการเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ คำตอบคงไม่ต่างกับสิ่งที่เขาบอกไว้บนเวบไซต์ของตนเอง (kiahkiean.com)


I love my hometown, I recorded her changing faces through my sketches.










ภาพความรู้สึกที่ผมมีต่อเมือง



KK เป็น Sketchers ที่สนุกกับการทดลองอะไรใหม่ๆ อุปกรณ์ที่เขาใช้ในการสเก็ตช์ ก็มีหลากหลาย ทั้งดินสอ ,มาร์คเกอร์, หมึกจีน สีน้ำ ฯลฯ และกระดาษที่ใช้ก็มีทั้งกระดาษแบบที่ใช้ในการเขียนหมึกจีน และกระดาษผิวกึ่งหยาบ หลากหลายขนาด ซึ่งบางโอกาสถูกนำมาต่อกัน ตามความเหมาะสม อุปกรณ์ถูกใช้ไปตามอารมณ์และความสะดวกในการหยิบใช้ สำหรับเขา การเปลี่ยนอุปกรณ์เหมือนเป็นการได้ทดลองและค้นหา


อย่างไรก็ตามเขาชอบใช้สีดำสเก็ตช์ภาพมากเป็นพิเศษ เพราะให้ความรู้สึกที่แข็งแรง โดยใช้สีดำจากหมึกจีนเป็นหลัก บ้างก็มีการระบายลงไปในภาพสเก็ตช์ด้วยเพื่อให้มีโทนสีเทา ๆ เกิดขึ้น รวมถึงมีการสะบัดสีลงไปเป็นจุด ๆ โดยภาพสเก็ตช์ ภาพแรกๆของ KK คือภาพของหอนาฬิกา ที่ปีนัง นั่นเอง จากการสังเกตผลงานของเขาบางคนบอกว่า KK ไม่ได้สเก็ตช์ภาพจากสิ่งที่เห็น แต่หลังจากที่เห็นสิ่งนั้น เขาได้นำมาจัดองค์ประกอบใหม่


“มีการเว้นบ้าง ลงรายละเอียดบ้างซึ่งทำให้ภาพไม่น่าเบื่อ แต่คนส่วนใหญ่เวลาเราไปนั่งสเก็ตช์ เรามักจะสเก็ตช์ตามที่เราเห็น โดยไม่ได้จัดการสิ่งที่เห็นออกมาเป็นรูปแบบที่สวยงามในแบบเฉพาะตัวของเรา แต่งานของ KK คือ Creative Sketch อยากให้มองถึงจุดนั้น” ปราโมทย์ แสดงความเห็น










เช่นกันเมื่อ อัสนี ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมภาพอาคารของ KK จึงดูบิดเบี้ยว คล้ายจะแตกสลายไม่เหมือนกับของจริงอย่างที่ตาเห็นเลย ทำไมเขาจึงวาดตึกเบี้ยว ๆ แล้วคนถึงบอกว่าสวยได้ KK ไขให้ฟังว่า ก่อนที่เขาหรือใครจะวาดแบบนี้ได้ คน ๆ นั้นต้องเข้าใจในพื้นฐานการวาดภาพเปอร์สเปคทีฟ (Perspective) จริง ๆ ต่อมาจึงจะสามารถบิดหรือตัดทอน หรือรื้อเพื่อสร้างภาพขึ้นมาใหม่ได้


“ผมไม่ได้วาดตัวตึกจริง ๆ แต่ผมวาดความรู้สึกที่ผมมีต่อตึกนั้น ๆ”


KK กล่าว ซึ่งคำตอบสั้น ๆ เพียงเท่านี้ คงชัดเจนพอสำหรับคนที่ตั้งคำถาม ก่อนที่ KK จะร่วมกิจกรรมปิดท้าย คือการดวลสเก็ตช์ภาพ ระหว่างเขา กับ Sketcher ชาวไทย (อดีตน้องฮ่องเต้ ลูกศิษย์ครูสังคม ทองมี) กระทั่งมีเด็กหลายคนเข้าไปร่วมแจมในที่สุด ซึ่งได้สร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับผู้ชมที่มามุงชมอย่างล้นหลาม โดยขณะที่ภาพของฮ่องเต้ ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก "มังกร" ภาพของ KK ก็ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก “คลองบางหลวง” สถานที่ซึ่งเขาได้แวะไปพักผ่อนและสเก็ตช์ภาพก่อนมาร่วมกิจกรรมพูดคุยในครั้งนี้


ก่อนที่หลายคนจะกลับบ้านไปพร้อมกับความรู้สึกที่ไม่ต่างจากสิ่งที่พิธีกรบางคนกล่าวปิดท้ายการพูดคุยกับ KK


“บนเส้นทางศิลปะของ KK ผลงานที่ผ่านมาของเขามันมีชีวิต เพราะมีการทดลอง ทำนู่น ทำนี่ มีการเปลี่ยนแปลง ทดลองใช้ ย้อนกลับไปกลับมา ไม่ใช่พอทำอะไรสำเร็จแล้วก็ทำไปอย่างนั้น ความสนุกจะไม่เกิดขึ้น สังเกตเวลาเขาเล่า มันมีเรื่องที่เขาจดจำได้ และอยากจะบอกเรา ทุกอย่างมันคือชีวิตที่เขาสัมผัส กับมือ ตา และสมองมาตลอด ชีวิตของเขาไม่จำเจเลย”


ไม่เชื่อก็ลองแวะไปเยี่ยมชมเวบไซต์ของเขาดู คำแรกที่รอทักทายทุกคนเป็นด่านแรกคือคำว่า Happy sketching!















































ภาพและข้อมูลจากเวบ
manager.co.th













ประกวดสารคดีภาพ National Geographic Thailand Photography Contest 2014


หลายคนคงได้ทราบผลและร่วมแสดงความยินดีกันไปแล้ว สำหรับผลงานที่ได้ถูกตัดสินให้ได้รับ “รางวัลชนะเลิศ” โครงการประกวดสารคดีภาพ National Geographic Thailand Photography Contest 2014 ภายใต้หัวข้อ “๑o ภาพเล่าเรื่อง Season 4” จัดโดย นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย


ซึ่ง Born to race ภาพถ่ายจำนวน ๑o ภาพ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวชีวิตของม้าในสนามแข่ง ผลงานของ กิตติพงษ์ แฝงศรีคำ คือชุดภาพถ่ายที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ไปครอง มากกว่าชมภาพที่ชนะใจกรรมการ และเห็นหน้าตาของเจ้าของผลงาน บางคนอาจจะอยากทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น ว่าอะไรที่ทำให้สนใจถ่ายภาพในแนวสารคดี และอะไรเป็นแรงบันดาลใจทำให้สนใจในม้าแข่ง รวมถึงเบื้องหลังกว่าจะได้ภาพถ่ายชุดนี้มา ต้องหาข้อมูลและทำงานอย่างไรบ้าง










คนชอบเล่าเรื่องด้วยภาพ



กิตติพงษ์บอกเล่าว่า เดิมทีเขาไม่ใช่คนที่หลงใหลในการถ่ายภาพ แต่เพราะเป็นคนที่ชอบนำสิ่งทีตัวเองสนใจ และได้ไปเห็น มาเล่าต่อ การถ่ายภาพจึงเป็นหนึ่งทางเลือกในการเล่าเรื่องของเขา นเมืองไทยการถ่ายภาพในแนวสารคดี หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ถ่ายยาก ต้องอาศัยทั้งเงินและเวลาที่มากพอสมควร แต่สำหรับเขาแล้วการถ่ายภาพในแนวนี้ มีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้หลงรัก


“ผมเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกามาก่อน ภาพถ่ายสารคดี หรือ photojournalism เป็นตลาดที่ใหญ่ คนให้ความสนใจเยอะมาก อย่างบ้านเรา คนชอบถ่ายพวกภาพ Landscape ถ่ายงานสวย ๆ แต่สำหรับฝรั่ง โดยเฉพาะในอเมริกา เขาจะชอบเล่าเรื่อง ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งเพราะฝรั่งอยากรู้อยากเห็น อยากเล่าเรื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งผมก็ติดมาจากตรงนั้น และหลงรักกับเรื่องที่ผมได้ไปเห็น


ผมดูหนังสือ National Geographic มาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ปี ๑๙๙๑-๑๙๙๒ ผมจะรู้สึกเสมอว่า ช่างภาพเหล่านี้ได้มีโอกาสไปในที่ๆคนอื่นไม่มีโอกาสได้ไป หรือชาตินี้เราคงไม่ได้ไปแน่ ๆ ถ้าเราไม่ใช่ช่างภาพ มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากรู้ อยากเห็น อยากไป และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ถ่ายภาพในแนวนี้”


กิตติพงษ์ติดตามครอบครัวไปอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่ยังเรียนในระดับไฮสคูล และเรียนจบมาทางด้านคอมพิวเตอร์ เมื่อรู้ตัวว่าชอบถ่ายภาพแนวนี้และอยากจะทุ่มเทเวลาให้ เขาจึงเลือกที่กลับมาเมืองไทย ถ่ายภาพและทำงานหาเลี้ยงชีพไปด้วย


“เรื่องราวในประเทศที่อเมริกา มีช่างภาพเถ่ายจนพรุนแล้ว ดังนั้นช่างภาพแต่ละคนจึงต้องออกมานอกประเทศ เพื่อหาเรื่องใหม่ ๆ ที่จะถ่าย แต่สำหรับผม ถ้าจะไปอินเดีย เขาก็ถ่ายกันจนพรุนแล้ว จะไปเกาหลีเหนือก็ไม่มีตังส์ ไม่มีคอนเนกชั่น ดังนั้นกลับบ้านเราดีกว่า น่าจะมีอะไรให้เราถ่าย ตอนกลับมา เพิ่งจบใหม่ ๆ อายุ ๒o ต้น ๆ ยังไม่มีเงิน ดังนั้นงานอะไรก็ทำก่อน เอารายได้จากตรงนั้นมาใช้จ่ายเพื่อการทำงานถ่ายภาพ เป็นครูสอนด้านคอมพิวเตอร์อยู่พักหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ ก็เลยเปลี่ยนมาทำงานในสตูดิโอ ถ่ายงานคอมเมอร์เชียล แต่สุดท้ายมันก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการอยู่ดี”


ท้ายที่สุดเขาจึงเลือกที่จะลาออกมาเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ และส่งภาพถ่ายประกวดตามเวทีต่างๆทุกปี










ดินแดนปริศนา “สนามม้านางเลิ้ง”



ด้วยความสนใจใคร่รู้ว่า ภายในอาณาเขตของ “ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “สนามม้านางเลิ้ง” มีอะไรที่น่าสนใจซ่อนอยู่ เพราะสำหรับกิตติพงษ์แล้ว สถานที่แห่งนี้ไม่ต่างไปจากดินแดนปริศนา ผ่านไปมาตั้งแต่เล็กจนโต แต่ไม่เคยได้เข้าไปเห็น


Born to race 10 ภาพเล่าเรื่องซึ่งได้รับรางวัล จึงมีจุดเริ่มต้นจากที่นี่


“ชีวิตผมคลุกคลีอยู่กับละแวกนี้ ตอนเด็ก ๆ ก็ชอบที่จะมาหาของกินแถวนางเลิ้ง พอโตขึ้นมามีแฟน แฟนทำงานอยู่ที่ สำนักงาน ก.พ.(สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ซึ่งก็อยู่ไม่ไกล สมัยจีบกันใหม่ ๆ ก็มักจะไปแถวนั้นบ่อย แต่ผมไม่เคยรู้เลยว่าในสนามม้านางเลิ้งมีอะไร ต่างคนก็พูดกันว่า มันดีมั่ง ไม่ดีมั่ง เหมือนเราเดินผ่านบ้านหลังนึงทุกวัน แต่เราไม่เคยรู้ว่า บ้านหลังนั้นมีใครอยู่ข้างใน แล้วตอนอยู่เมืองนอกเราเคยเห็นแต่ม้าในคอกที่มีลักษณะอลังการ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แล้วม้าในสนามแข่งที่เมืองไทยเป็นอย่างไร จึงเป็นจุดที่เริ่มต้นให้อยากเข้าไปและได้เข้าไปถ่ายภาพในที่สุด”










หาข้อมูล สร้างความไว้วางใจ



แต่ก่อนที่จะก้าวย่างเข้าไปในอาณาแห่งนั้น กิตติพงษ์พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ให้มากที่สุด กระทั่งความสนใจของเขาไปหยุดอยู่ที่ ชีวิตของอาชาแต่ละตัวในสนามแข่ง


“หาข้อมูลในโลกออนไลน์ สิ่งแรกที่ผมหาคือ ในเมืองไทยมีใครเคยทำเรื่องนี้เอาไว้บ้าง ซึ่งผมหาได้อยู่สองสื่อ คือ “รายการกบนอกกะลา” กับ “หนังสือสารคดี” เล่มปี ๒๕๓o กว่า ๆ มีสองสื่อนี้เท่านั้น ที่มีการเผยแพร่เรื่องราวอย่างแพร่หลายกว่าสื่ออื่น ๆ ที่ผมหาเจอ แต่เมื่อดูเรื่องราวที่นำเสนอแล้ว มันยังไม่ใช่สิ่งที่ผมสนใจเป็นการส่วนตัว จากนั้นผมก็พยายามหาว่า ในวงการม้าแข่ง มีใครที่ผมจะสามารถเข้าถึง หรือขอความช่วยเหลือได้บ้าง เริ่มหาในเวบก่อน เวบบอร์ดคนรักม้าแข่ง แล้วเดินไปบอกเค้าว่า พี่ผมอยากถ่ายม้าแข่ง ผมสนใจเรื่องนี้ พี่แนะนำใครให้ผมได้บ้าง หรือจะไปที่ไหนได้บ้าง จึงค่อย ๆ ขยับเข้าไปใกล้ คนที่จะช่วยเหลือเราได้มากขึ้นเรื่อย ๆ


ก่อนลงมือทำงานผมจะคิด Storyboard (กรอบแสดงเรื่องราว) ไว้ก่อนคร่าว ๆ จากการทำการบ้าน และจะมีเสริมเข้าไปใหม่ บ้าง ในสิ่งที่เราเพิ่งไปเห็นและรู้ว่ามันมีอย่างนี้ด้วย หาแหล่งข้อมูลไปทีละเฟรม เริ่มจากคอกม้าจะหาได้ที่ไหน คนที่แนะนำเค้าก็จะบอก น้องไปที่นี่ ๆไปหาคนนี้ ๆ เราก็โทรไปคุยกับเค้า ว่าผมสนใจอย่างนี้ๆ วันแรก ๆ ก็เข้าไปคุยก่อน ไม่เอากล้องเข้าไป ไปคุยกับเค้าว่าเราจะทำอะไร พร้อมกับศึกษาชีวิตเค้าว่า วันหนึ่งเค้าทำอะไร ยังไง


เพราะบางทีถ้าเราเอากล้องเข้าไปเลย มันเหมือนเราเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว เค้าอาจจะไม่สะดวกใจกับการที่เราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ขั้นแรก เราจึงต้องทำให้เค้าไว้ใจเราก่อน อย่างเรื่องนี้ผมก็ไปบอกเค้าว่า พี่ผมจะถ่ายเรื่องม้านะ แต่ผมจะไม่ทำเรื่องที่เกี่ยวกับการพนัน เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ผมอยากจะเล่า มันเป็นเรื่องที่เกลื่อนแล้ว ทุกคนรู้ว่าม้าแข่งมีเรื่องของการพนัน แต่ผมอยากจะเล่าว่า ชีวิตม้าตัวหนึ่ง เป็นอย่างไร และผมก็ทำให้เขาไว้ใจผม ว่าผมไม่ได้เอาเรื่องของการพนันมาเกี่ยวข้อง”










๑o ภาพเล่าชีวิต “ม้าแข่ง”



ด้วยความที่อยากได้ภาพถ่ายของชีวิตม้าแข่งในหลายมุมมองของชีวิตมัน ทั้งในยามที่อยู่ในคอก รอแข่ง ลงสนาม ได้รับอุบัติเหตุ และถูกปลดระวาง กิตติพงษ์จึงต้องตระเวณไปหลายสถานที่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด (โคราช ขอนแก่น สุพรรณบุรี ) ไม่ใช่แค่สนามม้านางเลิ้ง เพียงแห่งเดียว


“บ้านเรามีสนามม้าที่ใช้แข่งคือ ขอนแก่น เชียงใหม่ โคราช และกรุงเทพฯ ที่นางเลิ้ง สนามไทย และราชกีฑาสโมสร ตรงโรงพยาบาลตำรวจ เมืองไทยจะมี ๕ สนาม และในจำนวนนี้เค้าจะเวียนกันแข่ง ต่างจังหวัดเขาจะแข่งวันเสาร์ กรุงเทพฯ แข่งวันอาทิตย์ อาทิตย์เว้นอาทิตย์ สนามใหญ่ที่สุดคือ สนามไทย ด้วยความที่เราอยู่กรุงเทพ เราก็ต้องทำข้อมูลก่อน เราจะวิ่งถ่อไปโคราชเลย โดยที่เรายังไม่รู้ว่า มันจะมีเรื่องให้เราถ่าายไม๊ จะเวิร์คไหม ก็ไม่ใช่ ผมเลยไปนางเลิ้งก่อนง่ายดี ในกรุงเทพฯ คอกม้าคอกสุดท้าย เหลืออยู่คอกเดียวที่นางเลิ้ง ดูสภาพแล้ว เร็ว ๆ นี้ ก็คงต้องปิด พอเรารู้ตรงนี้ เราก็ต้องไปที่ ๆ เป็นคอกม้าใหญ่ ๆ ในเมืองไทย คือที่โคราช ที่เป็นฟาร์มม้า”


เมื่อค่อย ๆ ไล่ชมภาพถ่ายทั้ง ๑o ภาพของเขาทีละภาพ กิตติพงษ์ได้บอกเล่าให้เห็นภาพควบคู่ไปด้วยว่า


“ผมเคยชินกับการเห็นคอกม้าเบบฝรั่งที่สวย ๆ ใหญ่ ๆ แต่สิ่งที่ผมไปเห็นของเมืองไทยคือ ใกล้ ๆ คอกม้า จะมีกระท่อมไม้หลังเล็กๆมีไฟอยู่ไม่กี่ดวง มีม้าอยู่ในคอกตรงนี้ มีสุนัขเดินไปมา และอยู่กลางป่าละเมาะเล็ก ๆ จึงทำให้ได้รู้ว่า อ๋อ.. ม้าแข่งบ้านเราอยู่ในคอกอย่างนี้เองเหรอ จากนั้นผมโหนรถไปสนามม้านางเลิ้ง สิ่งที่ผมไม่เคยรู้เลย คือม้าต้องอาบน้ำก่อน ทั้งก่อนและหลังแข่ง เพื่อให้ม้าสบายตัว ก่อนแข่งเป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก ม้าจะมาถึงสนามตั้งแต่ ๑o โมงเช้า รอบสุดท้ายคือประมาณ ๕ โมงเย็น บางตัวรอตั้งแต่ ๑o โมงเช้าถึง ๕ โมงเย็นเพื่อจะแข่ง ผมจึงได้เห็นความน่าเบื่อของชีวิตในคอกม้า และของสตาฟที่เค้านั่งรอ


และผมได้ถ่ายภาพที่ทำให้เห็นถึงพลังของม้า การเปิดตัว วิ่งออกมา รวมไปถึง อุบัติเหตุที่ต้องเกิดขึ้น ต้องไปโรงพยาบาล และสุดท้ายม้าแข่งเหล่านี้ไปไหน มีออฟชั่นอยู่ ๓ อย่าง คือ ตาย เกิดอุบัติเหตุ และปลดเกษียณ ไปเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ หรือไม่ก็ไปเป็นม้าที่ริมทะเล แบบที่เราไปเห็นเป็นม้าให้คนขี่เล่น ชีวิตม้าในช่วงบั้นปลายชีวิต มีอยู่แค่ ๓ อย่างนี้ และภาพอื่น ๆ ก็จะเป็นภาพสวย ๆ ไม่ใช่ต้องการให้เห็นในมุมมองที่สวยงามอะไร แต่เป็นส่วนหนึ่งของภาพทั้งหมดที่ผมแค่อยากจะสื่อว่า ม้ามันมีเรื่องราวของมัน มีที่มาที่ไป”


นอกจากนี้กิตติพงษ์ยังบอกเล่าด้วยความดีใจที่สามารถบันทึกภาพม้าภาพหนึ่งในขณะที่กำลังแข่ง


“ภาพนี้ถ่ายได้มาจากสนามแข่งที่ขอนแก่น โดยการใช้กล้องติดบนหัวจ๊อกกี้ มีคนบอกผมว่า ผมเป็นคนแรกที่มีภาพม้าแข่ง ในขณะที่ม้ากำลังแข่งจริงในสนามแข่ง กว่าจะได้ภาพนี้มา ผมต้องไปคุยกับจ๊อกกี้ คุยกับเจ้าของม้า คุยกับคณะกรรมการ มุมมองในภาพนี้ ผมแค่อยากให้คนดูภาพรู้สึกว่า คุณกำลังขี่ม้าแข่งอยู่ ผมได้ภาพมา เพราะคนที่ไว้ใจให้ผมเข้าไปถ่ายในมุมต่าง ๆ ในหลาย ๆ สถานที่”










ถ้าคุณเข้าใกล้ไม่พอ ภาพถ่ายคุณดีไม่พอ



“ผมไม่ใช่ศิลปิน ผมจึงบอกไม่ได้ว่า ภาพถ่ายของผมในมุมมองศิลปะมันคืออย่างไร”


กิตติพงษ์บอกอย่างหนักแน่น เพื่อจะยืนยันสถานะตัวเองในตอนนี้ว่า เขาเป็นเพียงช่างภาพคนหนึ่ง ที่ต้องการจะเล่าเรื่องที่อยากจะเล่าให้คนอื่นได้รับรู้ผ่านภาพถ่ายของตนเอง


“ ผมไม่ได้มีเป้าหมายว่าอยากให้คนมามอง แล้วบอกว่า เฮ้ย...ภาพคุณสวยนะ ผมอยากให้คนมามอง แล้วรู้สึกว่า อ๋อ... คุณต้องการเล่าเรื่องแบบนี้ใช่ไหม อยากให้เห็นชีวิตของม้าแข่งใช่ไหม ถ้าคุณพูดแบบนี้ สำหรับผมคือโอเคแล้ว ผมทำงานชุดนี้ออกมาได้ดี ถูกต้อง อย่างที่ผมอยากให้มันเป็นแล้ว แต่ถ้าคนมองว่าภาพคุณสวยนะ ผมจะเฉยๆ เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมอยากให้มันเป็น


แต่ถ้าจะถามว่าอะไรคือสไตล์ในการถ่ายภาพของผม ผมต้องขอใช้คำของ โรเบิร์ต คาปา (นักถ่ายภาพชาวฮังการี ที่กล่าวได้ว่าเป็นช่างภาพสงครามคนแรก ที่ทำงานในแนวหน้าของสนามรบ) ซึ่งเป็นฮีโร่ในด้านการถ่ายภาพของผม เขาบอกว่า ถ้าคุณเข้าใกล้ไม่พอ ภาพถ่ายคุณดีไม่พอ คือการที่คุณถ่ายงานอะไรสักอย่าง คุณต้องเข้าไปลึกพอที่จะดึงความเป็นตัวตนของสิ่ง ๆนั้นออกมาให้ได้ อย่างเช่น ถ้าคุณจะเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง คุณแค่ใช้เวลาวันเดียวถ่าย แล้วคุณบอกว่าจบ มันไม่ใช่ คุณอาจจะต้องทำการบ้านมากกว่านั้น ใช้เวลามากกว่านั้น อย่างของผม ผมเข้าไปคอกม้าที่โคราช ผมใช้เวลาเกือบอาทิตย์ เป็นช่วงที่นานที่สุด เพราะโคราชเป็นเมืองม้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผมก็ไปนอนในคอกม้ามั่ง ไปขออาศัยนอนกับเค้าก็มี เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ที่โรงพยาบาล หมอนัดผ่าตัดม้า ๑o โมงเช้า ผมไปถึงตั้งแต่ประมาณ ๖ โมงเช้า ใช้เวลาผ่าตัดประมาณครึ่งชั่วโมง กว่าผมจะกลับก็ราวๆ ๔- ๕ ทุ่ม”






ยิ่งกว่าดินแดนปริศนา



จากตอนแรกที่เคยมองว่า “สนามม้า” ช่างเป็นดินแดนปริศนาของตนเอง เมื่อได้เข้าไปทำความรู้จักและบันทึกภาพกลับออกมา ใช่ว่า ณ ปัจจุบันกิจติพงษ์จะรู้สึกกระจ่างชัดและเบื่อที่จะทำความรู้จักมันอีก


“ปริศนาหนักกว่าเดิมอีกครับ แรก ๆ ผมตั้งธงไว้ว่า ผมจะทำเรื่องม้าแข่ง พอได้เข้าไป เริ่มมีอย่างอื่นให้สนใจอีกมากมาย เห็นคนเกี่ยวหญ้าม้า ซึ่งเค้าจะต้องมีความรู้ เช่น รู้ว่าหญ้าชนิดไหนกินแล้วม้าเป็นยังไง ม้าท้องอืด ต้องกินหญ้าแบบนี้ดี ม้าท้องเสียกินหญ้าแบบนี้ดี ไหนจะมีคนทำเกือกม้าด้วย ทีแรกเราคิดว่ามันต้องเป็นเกือกม้าเหล็ก แต่ความจริงมันไม่ใช่ ม้าแข่ง เหมือนรถแข่ง ทุกอย่างต้องเบา มันเป็นอลูมิเนียม ไหนจะมีอุปกรณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับม้า ซึ่งในบ้านเรามีอยู่ ๒ บริษัทที่ผลิต หนึ่งแห่งอยู่ที่นางเลิ้ง อีกหนึ่งแห่งอยู่ที่โคราช มีสองที่เท่านั้นสำหรับแหล่งผลิตอุปกรณ์สำหรับม้าทุกตัวในประเทศไทย ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่า มีหลายเรื่องที่ยังน่าสนใจ เช่น เวลาม้าเจ็บ ต้องมีหมอรักษาม้า แล้วหมอมาจากไหนล่ะ ความสนใจมันก็เลยไหลไปเรื่อย


๑o ภาพ ของ Born to race ที่ผมนำเสนอ มันยังเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับเรื่องที่ผมอยากทำต่อไป ผมยังอยากจะทำอีกหลายเรื่อง ทั้งชีวิตคนที่เกี่ยวกับม้า ชีวิตม้าที่นำเข้า ม้าในไทย ฯลฯ มันเหมือนผมตกลงไปในหลุม ๆ นึง แล้วมันเป็นหลุมที่ลึก เป็นอุโมงค์เข้าไปเรื่อย ๆ และไอ้อุโมงค์นี้ทุกก้าวที่ผมก้าวผ่านเข้าไป อีกก้าวหนึ่งถัดไป มันยังมีเรื่องน่าสนใจที่อยากจะเล่าต่อไปอีก”


ไปชมผลงานภาพถ่ายของผู้เข้ารอบNational Geographic Thailand Photography Contest 2014 ทั้ง ๑o ผลงาน ภายใน National Geographic EXHIBITION บริเวณหน้าอาคารชาเลนเจอร์ 3 ประตู ๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในงานบ้านและสวนแฟร์ ๒o๑๔ ระหว่างวันที่ ๑ - ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗



ภาพและข้อมูลจากเวบ
manager.co.th















Workshop "เรื่องเล่าจากป่า" วันที่ ๗-๙ พ.ย. ๒๕๕๗ ณ สกายฮอล์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว มี workshop ช่วงบ่ายทุกวัน




ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุค Thaipaperart















ดรามาไทส์ – Dramathais


เปิดตัวไปแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับนิทรรศการกลุ่มสุดแซ่บของ หนุ่มปาล์ม – ปรียวิศว์ นิลจุลกะ นักร้องขวัญใจชาวร็อก จากวงอินสติงค์ (Instinct) โดยงานนี้หนุ่มเซอร์ควงเพื่อนศิลปินในแวดวงศิลปะอีกสองท่าน จอร์ช– ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล และ ซาโต้ – ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร มาร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนเปลือกของสังคมในหลากหลายแง่มุมมอง กับนิทรรศการชุด “ดรามาไทส์ – Dramathais”





3 ศิลปินจากนิทรรศการชุด ดรามาไทส์



นิทรรศการชุดนี้ หนุ่มปาล์มถึงกับโอดครวญว่ากว่าจะสำเร็จลุล่วงจนออกมาเป็น ๖ ภาพที่กำลังเป็นที่หมายตาของเหล่านักสะสม และผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะอยู่ในขณะนี้ ก็ทำเอาสาหัสอยู่เหมือนกัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีมรสุมเข้ามาในชีวิตพอสมควร


“สำหรับนิทรรศการชุด ดรามาไทส์ เป็นนิทรรศการที่สะท้อนมุมมองของการถูกกำกับการมีตัวตนอยู่ในสังคม รวมถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของผู้คนที่ปิดบังซ่อนเร้นบางสิ่งไว้ โดยจะแบ่งออกเป็น ๓ ซีรีส์ จาก ๓ ศิลปิน ในส่วนของผมจะเป็นเรื่องราวความต้องการของผู้คนภายใต้เครื่องแบบอาชีพหรือยูนิฟอร์มที่คนในสังคมต่างพากันเคารพ ยกย่อง โดยเฉพาะอาชีพนักเรียน ตำรวจ กัปตัน หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ที่มีวาระบางอย่างซ่อนเร้น อยู่ภายใต้เครื่องแบบเหล่านั้น ที่ถูกคนในสังคมกำหนด หรือ กำกับให้ต้องเป็นแบบที่เห็น ทั้งๆ ที่ความจริงจะออกมาตรงกันข้ามก็ตาม งานครั้งนี้ของผมจะเป็นลักษณะแขวะกัดสังคมหน่อย ๆ สิบแปดบวกนิด ๆ (หัวเราะ)





อาร์ต-จาริวัฒน์ อุปการไชยพัฒน์ ผู้กำกับละครจากค่ายเอ็กแซ็กท์
ปาล์ม-ปรียวิศว์ นิลจุลกะ / ซาโต้- ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร / จอร์ช-ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล
จงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ ผู้อำนวยการแอดเลอร์ ศุภโชค แกลอรี่



ซึ่งเรื่องราวที่ผมหยิบมาสื่อสารล้วนมาจากสิ่งที่เราได้พบเจอในช่วงจังหวะเวลาที่คนกลางคืนอย่างอาชีพนักร้องมักจะมีโอกาสได้พบเจออยู่บ่อย ๆ รวมถึงข่าวสารที่ถูกตีแผ่ในสื่อทุกวัน และการคลุกคลีอยู่กับเพื่อนในแต่ละอาชีพ จึงเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพลักษณ์ภายใต้เครื่องแบบนั้น ๆ เช่นการมีความสัมพันธ์ระหว่าง แพทย์กับพยาบาล กัปตันกับแอร์โอสเตส ตำรวจกับส่วย พระสงฆ์กับความเป็นหญิง ซึ่งผมมองว่าบางความสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่บางความสัมพันธ์ก็สะท้อนให้เห็นถึงสังคมที่กำลังป่วย โดยเล่าผ่านตัวละครที่มีลักษณะคล้ายการ์ตูนญี่ปุ่น ใส่แว่นใหญ่ ๆ ปิดหน้าปิดตา เลือกใช้สีสวย ๆ สีสันจัดจ้าน เพื่อให้ภาพดูเป็นมายา





ปาล์ม อินสติงค์ กับผลงานศิลปะ



ตลอดระยะเวลากว่าสองเดือนที่ทำงานนิทรรศการชุดนี้ เป็นช่วงที่มีเรื่องด่วนเข้ามาในชีวิตและต้องจัดการเยอะมาก ทั้งเรื่องแต่งเพลง งานคอนเสิร์ต บวกกับเป็นช่วงที่คุณพ่อเริ่มทรุดและเสียชีวิตลงพอดี การวาดภาพก็เหมือนการหลบมาอยู่กับตัวเองในช่วงระยะเวลาหนึ่งของวันซึ่งเป็นช่วงที่เราสามารถลืมความเศร้า ความทุกข์ ความกังวล ไปชั่วขณะ


แล้วหันมาสนใจกับการวาดภาพเพียงอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะใช้เวลาตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีห้าของทุกวัน แต่ถ้าวันไหนมีงานคอนเสิร์ตก็จะหยุดเขียนรูปไปเลย เรียกว่ากว่าจะได้ภาพทั้งหมดสำหรับนิทรรศการชุดนี้มาครบ ก็สาหัสสากรรจ์อยู่เหมือนกัน แต่มาพร้อมกับการฝึกตัวเองให้มีความเป็นมืออาชีพในการทำงานศิลปะมากขึ้น สำหรับใครที่ชื่นชอบในงานศิลปะ และกำลังหลงอยู่กับอะไรบางอย่างในสังคม อยากให้มาชมนิทรรศการชุดนี้กัน จะทำให้คุณหัวเราะทั้งน้ำตาได้เลยทีเดียว”





ปาล์ม – ปรียวิศว์ นิลจุลกะ



แม้นิทรรศการ “ดรามาไทส์ – Dramathais” จะเปิดตัวไปได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่สำหรับกระแสการตอบหน้าจากเหล่านักสะสมรุ่นใหม่ และเซเลบริตี้ที่สนใจงานศิลปะ ซึ่งตบเท้ากันมาชมผลงานกันอย่างคับคั่ง ทำให้ภาพศิลปะชุดนี้มียอดการจับจองไปแล้วเกินกว่าครึ่ง สำหรับใครที่ชื่นชอบ หนุ่มปาล์ม - ปรียวิศว์ นิลจุลกะ จากผลงานการร้องเพลงบนเวที มาทำความรู้จักอีกหนึ่งบทบาทในฐานะศิลปินวาดภาพกันได้ในนิทรรศการชุด “ดรามาไทส์ – Dramathais” จัดแสดงให้ได้ชม ฟรี!! ตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคมถึงวันที่ ๓o พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ แอดเลอร์ ศุภโชค แกลอรี่ สุขุมวิท ๓๙.





เอ-สุรพันธ์ ชาวปากน้ำ และกลุ่มเพื่อน ปาล์ม ปรียวิศว์มาร่วมเป็นกำลังใจ





จอร์ช-ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล /ศุภโชค อังคสุวรรณศิริ (ผู้บริหารแอดเลอร์ ศุภโชค แกลอรี่)
โสภาวดี บุณยรักษ์ (ผู้บริหารแอดเลอร์ ศุภโชค แกลอรี่) / ปาล์ม-ปรียวิศว์ นิลจุลกะ / ซาโต้- ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร






จีน กษิดิศ สำเนียง





จอร์ช-ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล /โจเอล โคเฮน (หุ่นส่วนแอดเลอร์ ศุภโชค แกลอรี่)
ซาโต้- ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร / ปาล์ม-ปรียวิศว์ นิลจุลกะ




ภาพและข้อมูลจากเวบ
thairath.co.th















เชียงรายสาย 'ศิลป์'


ความละเมียดละไมของ "ศิลปะ" กล่อมเกลาให้เรามีจิตใจที่ละเอียด อ่อนโยน และ "ศิลปะ" ก็เป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้ทุกคนมี "จินตนาการ" ในจำนวนจังหวัดทั้งหมดของประเทศไทย เชียงราย ถือเป็นจังหวัดที่มีศิลปินผู้ผลิตผลงานศิลปะมากที่สุดก็ว่าได้ อาจเพราะสภาพภูมิประเทศที่โอบรอบไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน สภาพอากาศที่หนาวเย็นจับใจ วิถีชีวิตของผู้คนเรียบง่าย ไม่เร่งรีบ นั่นส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการผลิตผลงาน "ศิลปะ" ของศิลปิน


แม้จะเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี แต่หลายปีมานี้นักท่องเที่ยวก็เลือกที่จะเดินทางมาจังหวัดเชียงรายเพื่อชื่นชมผลงานศิลปะโดยเฉพาะ ถึงขนาดที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย จัดโครงการเปิดบ้านศิลปินเชียงราย ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมกันอย่างสบายเพียงแค่ถือแผนที่บ้านศิลปินไว้แผ่นเดียว


บอกตามจริง ฉันยังไม่เคยเดินทางไปตามลายแทงบ้านศิลปินที่ว่าเลยสักครั้ง อาจจะมีแวะไปชมผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังท่านโน้นท่านนี้บ้างตามวาระโอกาส แต่คราวนี้จังหวะดี เพราะ ททท.เชียงราย เปิดโครงการสอนศิลป์กับศิลปินเชียงราย ฉันจึงโบกมือลาเมืองใหญ่บินตรงสู่จังหวัดที่อยู่เหนือสุดแดนสยามทันที






ร้อนพอสมควรเมื่อฉันมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชียงราย ตอนแรกที่เห็นหมอกสีขาวๆ ลอยมาแต่ไกลยังนึกว่าเป็นหมอกหนาวหลงฤดู แต่พอได้ลงมายืนอยู่บนภาคพื้น ยืนสูดกลิ่นไหม้อยู่สักพักก็ตระหนักได้ว่า สิ่งที่คิดกับความเป็นจริงมันคนละเรื่องกันเลย


เพื่อเป็นการหลบแดดยามสาย ฉันแวะไปเติมความสุนทรีย์ให้กับลมหายใจแรกที่เชียงรายก่อน ณ ขัวศิลปะ ศูนย์จัดแสดงนิทรรศการงานศิลป์ ที่เป็นดั่ง "สะพานเชื่อมศิลปะสู่สังคม"


อาคารชั้นเดียวรูปทรงสี่เหลี่ยมแปลกตาหลังนั้นตั้งเด่นท้าแดดลมอยู่ข้าง ๆ วัดขัวแคร่ บนถนนพหลโยธินซึ่งห่างจากสนามบินเชียงรายออกไปไม่ไกล ภายในมีห้องจัดแสดงผลงานศิลปะถาวรและหมุนเวียนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดศิลปะ โรงเรียนสอนศิลปะ ร้านจำหน่ายงานช่างฝีมือและของที่ระลึก รวมถึงร้านอาหาร "ครัวศิลปิน" และร้านกาแฟด้วย


ฉันพบกับ พจวรรณ พันธ์จินดา หรือ ปอย ผู้จัดการแกลเลอรี่แห่งขัวศิลปะ เธอเล่าให้ฟังว่า ขัวศิลปะแห่งนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มศิลปินเชียงรายที่รวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางด้านศิลปะ จนในที่สุดก็ได้ก่อตั้งเป็นสมาคมศิลปินเชียงราย มีกองทุนศิลปินเชียงราย แล้วลงทุนซื้ออาคารหลังนี้เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมกิจกรรมของสมาชิกศิลปินที่มีหลากหลายแขนง รวมกันกว่า ๑oo คน


ในวันที่เราเดินทางไปถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการขัวศิลปะ ครั้งที่ ๒ ซึ่งมีผลงานเด่น ๆ ของศิลปินเชียงรายให้ชมมากกว่า ๑oo ชิ้น ฉันสะดุดตากับภาพ "สวาทพิษ" เทคนิคสีฝุ่นและทองคำเปลวบนผ้าใบ ผลงานของ กฤษฎางค์ อินทะสอน ที่ติดอยู่ทางด้านซ้ายมือบริเวณประตูทางเข้า ในภาพแสดงให้เห็นถึงพิษภัยของความรักที่เกิดจากเหตุผลหลากปัจจัย ซึ่งบทสรุปจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ใครจะตีความ


เดินเข้าไปในห้องจัดแสดงงาน มีผลงานศิลปะหลายชิ้นที่โดนใจ รวมถึงผลงานที่สร้างจินตนาการให้กับผู้ชมได้แบบไม่รู้จบ ซึ่งกว่าจะเดินชมจนครบก็เล่นเอาหมดเวลาไปกว่าชั่วโมง


ตามโครงการสอนศิลป์กับศิลปินเชียงรายในระยะแรกนี้มีหอศิลปินที่พร้อมเข้าร่วมโครงการอยู่ ๕ แห่ง คือ เสงี่ยม ยารังษี อาร์ตสตูดิโอ ของอาจารย์เสงี่ยม ยารังษี ศิลปินแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ชื่อดังของเมืองไทย, หอศิลป์ฮอมแฮงฮัก ที่เกิดจากความรักของธีรยุทธ-อรพิน สืบทิม, หอศิลป์ไตยวน ของอาจารย์ฉลอง พินิจสุวรรณ กับเทคนิคการวาดภาพสุดอลังการด้วยปลายปากกา, หอศิลป์บ้านนายพรหมมา โดดเด่นด้วยภาพวาดในจินตนาการเกี่ยวกับไตรภูมิ ฝีมืออาจารย์พรหมมา อินยาศรี และนาราตะ บูติค สตูดิโอ ห้องทำงานแนวอาร์ตของ จิตนารถ พิชัยยา ศิลปินรุ่นใหม่ไซส์มินิ ซึ่งโครงการนี้เปิดโอกาสให้เยาวชนหรือผู้สนใจที่จะเรียนศิลปะเข้าไปฝึกอบรมกับศิลปินที่กล่าวมาได้ แต่ควรติดต่อล่วงหน้า


ลองเปิดแผนที่การเดินทางที่ ททท.สำนักงานเชียงราย จัดให้ แล้วเราก็ออกเดินทางไปเยี่ยมชมหอศิลป์ที่กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเมืองเชียงรายทันที






อย่าให้บอกเส้นทางเลย เพราะมันค่อนข้างซับซ้อน ถ้าไม่มีแผนที่ในมือก็อาจจะมีหลงกันบ้าง ฉันหมายถึงเส้นทางที่จะไป หอศิลป์ฮอมแฮงฮัก ของ ธีรยุทธ และ อรพิน สืบทิม คู่รักรุ่นคลาสสิคที่ผลิตผลงานศิลปะต่างแนว แต่จัดวางร่วมกันแล้วดูสวยงาม กลมกลืน


ผลงานของธีรยุทธเป็น realistic ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว โดยจะใช้เทคนิคสีน้ำที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ คือปกติกฎของสีน้ำต้องบาง ต้องใส และต้องเขียนทับได้ไม่เกิน ๒-๓ ชั้น แต่ธีรยุทธสร้างผลงานที่แตกต่าง และอาจจะมีลักไก่บ้างเพื่อให้ภาพที่ออกมาสมบูรณ์ เช่น การขูดทิ้ง เป็นต้น


"ผมทำงานประมาณ ๕ โมงก็เลิกแล้ว คือจะทำตลอดเวลาก็ไม่ใช่ เราต้องทำอย่างอื่นด้วย ผมว่าวาดรูปอย่างเดียวมันเลี่ยนนะ ผมก็ทำอย่างอื่น ทำกับข้าว กวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างชาม ดูแลบ้าน น้ำ ไฟ ผมจัดการเองหมด คือถ้าวาดรูปอย่างเดียวเบื่อตายเลย"


อาจจะกลับกันเล็กน้อยกับ อรพิน ที่ทำงานนอกบ้านเป็นหลัก คือการเป็นอาจารย์สอนการปั้นให้นักศึกษาที่วิทยาลัยอาชีวะศึกษาเชียงรายทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ โดยเธอจะมีเวลานั่งอยู่หน้าเฟรมเฉพาะช่วงเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น


ฉันนั่งรับลมเย็น ๆ พร้อมกับชมภาพ "สระเกล้าดำหัว" ซึ่งเป็นภาพเด่นตั้งอยู่กลางบ้าน ก่อนจะไล่สายตาไปเรื่อย ๆ เพื่อชมผลงานให้ครบ และจบลงที่สุนัข ๒ ตัวที่อยู่หลังบ้าน


"ฮอมปอยกับกล้วยใต้ค่ะ" อรพิน บอกเบา ๆ เมื่อเห็นว่าเราให้ความสนใจกับพวกมันเป็นพิเศษ


"กล้วยใต้นั่นศิลปินเสงี่ยมให้มาค่ะ ที่บ้านเขาจะมีแวนโก๊ะกับคริสติน คอยต้อนรับแขกด้วย"


ฟังแค่นั้นพวกเราก็อยากเดินทางไปเจอกับเจ้าสุนัขของศิลปินที่ว่าทันที แน่นอนว่า จุดหมายที่เราไปคือ เสงี่ยม ยารังษี อาร์ตสตูดิโอ


"อาจารย์เสงี่ยมไม่อยู่ครับ พาครอบครัวไปเที่ยวที่กระบี่ แต่เชิญชมภาพได้ตามสบายนะครับ" คุณพ่อของอาจารย์เสงี่ยมเปิดบ้านต้อนรับเราอย่างใจดี และทันทีที่เห็นผลงานของท่าน ฉันก็คิดถึงภาพแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ที่อยู่ในจินตนาการอย่าง โคลด โมเน่ต์ ศิลปินชื่อก้องโลก


"ท้องฟ้า" ดูจะเป็นภาพเด่นของ อาจารย์เสงี่ยม ยารังษี ถึงขนาดที่หม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร เทวกุล ลงชื่อเป็นลูกค้าขาประจำทุกปี แต่สำหรับฉัน ชอบภาพทิวทัศน์ในบรรยากาศที่แตกต่างมากกว่า โดยเฉพาะภาพที่มีต้นไม้ ดอกไม้ เพราะมันทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวาและชุ่มชื่นใจดี


คล้าย ๆ กับผลงานของ จิตนารถ พิชัยยา หรือไผ่เนิร์ด แห่ง นาราตะ บูติค สตูดิโอ ที่ผลงานทุกชิ้นของเธอสร้างจากแรงบันดาลใจและให้ความรู้สึกสนุกสดใส งานของเธอส่วนใหญ่เน้นการออกแบบ ไม่ว่าจะออกแบบเสื้อผ้า ออกแบบเครื่องประดับ ของแต่งบ้าน ของที่ระลึก รวมถึงการเพนท์ผ้าด้วย


คุ้น ๆ กับลวดลายที่อยู่บนเส้นใยผ้า เลยมานั่งระลึกว่าเคยเจอที่ไหน ซึ่งพอนั่งเล่น ๆ จนเย็นใจก็นึกขึ้นได้ว่าเพิ่งเห็นตุ้มหู กระเป๋าผ้า โปสการ์ด ฯลฯ วางจำหน่ายอยู่ในขัวศิลปะนั่นเอง






เรามาถึง หอศิลป์บ้านนายพรหมมา เกือบเย็นย่ำ แต่อาจารย์พรหมมา อินยาศรี ก็ยังใจดีเปิดบ้านต่ออีกนิดเพื่อให้เราเข้าชม


ภาพของอาจารย์พรหมมาเป็นภาพแนวจิตรกรรมไทยที่เขียนสีอคริลิคบนผ้าใบ บอกไปแบบนี้หลายคนอาจคิดว่า ธรรมดา ที่ไหนก็มี แต่รายละเอียดของเนื้อหาในภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์ท่านนี้ไม่เหมือนใคร คือภาพของอาจารย์จะเน้นเรื่องราวในไตรภูมิ โดยเอาพุทธศิลป์มาเป็นโจทย์ในการผลิตผลงาน แล้วจินตนาการเป็นภาพที่วิจิตรงดงามออกมา


"มันเป็นเรื่องไตรภูมิ เรื่องสวรรค์จั๊น ๑ ถึง ๖ แต่ละจั๊นมีอะหยังพ่อง...คนทุกคนบ่เคยหัน แต่เฮาจินตนาการให้เปิ้ลหันแล้วว่า สวรรค์ในความฮู้สึกของเฮาเป็นแบบนี้ อย่างภาพปลาบิน คือปลาปกติจะอยู่แต่ในน้ำ แต่ถ้าเปรียบเทียบพุทธธรรม คือมันหลุดพ้นจากน้ำ เหมือนคนหลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากวัตถุต่าง ๆ บ่ต้องการอะหยัง ต้องการแค่วัตถุทางใจ มันก็เหมือนปลา มันได้หลุดพ้นจากสิ่งที่อยู่เดิม ๆ หลุดพ้นจากทุกสิ่ง" อาจารย์พรหมมา บอกถึงแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะเป็นภาษาพื้นเมือง ซึ่งฟังเข้าใจง่าย และสนุกด้วย


และเพราะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศิลป์ ซึ่งชาวพุทธเชื่อกันว่าเป็นของสูง ศิลปินจึงเลือก "สีทอง" เข้ามาใช้ในการผลิตผลงาน


"ใช้สีอคริลิคสีทองเป็นหลัก เพราะสีทองเป็นสีมงคล มีค่า แสดงถึงศักยภาพของภาพ ของคนซื้อ มันเป็นไปตามคตินิยมที่ว่าทองเป็นของสูงค่า อย่างเราเล่นทอง แสดงถึงศักยภาพของทรัพย์สมบัติ ซึ่งผลงานบางชุดเฮาก็ติดทองคำแผ่น งานก็จะยากกว่า ใช้เวลา หลัง ๆ ทองคำราคาสูง แผ่นละ ๕-๖ บาท ติดได้น้อยเดียว ตอนหลังเราก็ใช้เทคนิคให้ดูสุกปลั่งแทน เป็นทองอคริลิค"


มองภาพเขียนของอาจารย์พรหมมาแล้วทำให้นึกภาพเขียนศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเขียนภาพมากมายไม่ต่างกัน


ฉันหมายถึง ภาพวาดจากการจรดปลายปากกาเป็นจุดๆ ต่อเนื่องกันของ อาจารย์ฉลอง พินิจสุวรรณ ที่จัดแสดงอยู่ใน หอศิลป์ไตยวน หากใครเห็นภาพอาจารย์ไกล ๆ จะนึกว่าเป็นภาพแรเงาง่าย ๆ แต่เมื่อลองเข้าไปพินิจดูลายเส้นแล้ว กลับไม่เห็น "เส้น" ที่ว่าเลยแม้สักนิด


"ผมวาดรูปโดยใช้ปากกาจุด ๆ มาเป็นเวลา ๒o กว่าปีแล้ว คือมันเกิดจากการลองผิดลองถูก เพราะว่างานชิ้นแรกผมจะเขียนลายปูนปั้นซุ้มประตู ทีนี้ของจริงมันเป็นทรายที่มีพื้นผิวหยาบ ๆ ผมก็คิดว่า เอ๊ะ...เราจะทำยังไงให้ภาพที่เราวาดดูละเอียดเหมือนของจริง ผมก็เลยลองจุด ๆ ดู พอออกมามันเหมือนทรายมาก ก็เลยยึดเทคนิคการสร้างงานแบบนี้มาเรื่อย ๆ"


ภาพของอาจารย์จะผลิตออกมาเป็นชุด ๆ อย่างเช่น ชุดสิ่งแวดล้อม ชุดชาวนา ชุดตะเกียง และล่าสุดศิลปินจุดกระดาษกำลังผลิตผลงานชุดแกรนด์แคนยอนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกในสหรัฐอเมริกานั่นเอง


"ทุกภาพของผมจะมีสีทองเข้ามา คือเป็นจุดเน้น เราเลือกปิดเฉพาะจุดเด่น อธิบายความหมายความสำคัญของภาพ อย่างไส้ตะเกียงมันสำคัญยังไง ถ้าตะเกียงไม่มีไส้จะเกิดแสงสว่างได้มั้ย หรืออย่างเมล็ดข้าว ผมปิดทองที่เม็ดข้าวเพื่อให้รู้ว่าข้าวมีคุณค่าดุจทองคำ แล้วทุกวันนี้ทำไมคนมองไม่เห็นล่ะ ผมก็พยายามเน้นให้เน้นคุณค่าของชาวนา ของเมล็ดข้าว เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ นี่แหละอยากให้เขาตระหนักว่าสิ่งนี้มีคุณค่าต่อทุกชีวิต"


ก่อนจากลา อาจารย์ฉลองบอกกับฉันว่า "ถ้ามันมีวิธีที่จะทำให้คนเห็นคุณค่าของชาวนา หรือคุณค่าของสิ่งใด ๆ เราต้องทำ นี่คือหน้าที่ของเรา และสิ่งที่ผมทำ ผมก็ทำตามหน้าที่ คือหน้าที่ของการเป็นศิลปิน"


นั่นเป็นข้อคิดปิดท้ายที่ทำให้ฉันรู้สึกสบายใจที่สุดเมื่อได้มาเยือนเมืองศิลปิน - เชียงราย






การเดินทาง



กรุงเทพฯ ไปเชียงรายได้หลายวิธี แนะนำสะดวกสุดคือการเดินทางโดยเครื่องบิน เชียงรายมีหลายสายการบินให้บริการ บริษัท การบินไทย มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงรายทุกวัน นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินไป-กลับระหว่างเชียงใหม่และเชียงรายทุกวัน สอบถาม โทร. ๑๕๖๖ หรือ thaiairways.com สายการบินไทย แอร์ เอเชีย บริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ -เชียงราย สอบถาม โทร. o๒-๕๑๕-๙๙๙๙ หรือ airasia.com สายการบิน นกแอร์ บริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-เชียงราย สอบถาม โทร. ๑๓๑๘ หรือ nokair.com และ สายการบิน SGA เส้นทางระหว่าง เชียงใหม่-เชียงราย สอบถาม โทร. o๒-๖๖๔-๖o๙๙


แต่ถ้าอยากขับรถไปเอง แนะนำให้ใช้ทางหลวงสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข ๑) ขึ้นเหนือไปจนถึง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี จากนั้นวิ่งเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑ ผ่านตากฟ้า-วังทอง-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-แพร่-ร้องกวาง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑o๓ ไป อ.งาว แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑ ผ่านพะเยาไปเชียงราย รวมระยะทางประมาณ ๗๘๕ กิโลเมตร ส่วนรถโดยสารมีรถของ บ.ข.ส. และบริษัทเอกชน ให้บริการทุกวัน และแบ่งเป็นหลายเส้นทาง โดยจะมีรถออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร ๒ สอบถาม โทร. o๒๙๓๖-๒๘๕๒-๖๖


ผู้สนใจเรียนศิลปะกับศิลปิน ติดต่อหอศิลป์ไตยวน โทร. o-๕๓๗๑-๒๑๓๗, o๘-๙๖๓๑-๙๔๓๘, นาราตะ บูติค สตูดิโอ โทร. o๘-o๔๔๔ -๔๕๗๖, หอศิลป์ฮอมแฮงฮัก โทร. o๘-๑๗๘๔-๕๕๙๒, o๘-๖๑๘๕-๒๒๗๑, เสงี่ยม ยารังษี อาร์ตสตูดิโอ โทร. o๘-๑๙๕o-oo๖๘, o๘-๙๙๕๓- ๔๖๖๘, หอศิลป์บ้านนายพรหมมา โทร. o๘-๙๕๖๓-๓๓๒๕ และ ขัวศิลปะ โทร. o-๕๓๑๖-๖๖๒๓ เพิ่มเติมที่ ททท.สำนักงานเชียงราย โทร. o-๕๓๗๑-๗๔๓๓, o-๕๓๗๔-๔๖๗๔-๕ หรือ เฟซบุคททท.เชียงราย







ภาพและข้อมูลจาก
คอลัมน์​ "รอยเท้านักเดินทาง" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ๒๙ มี.ค. ๒๕๕๗
bangkokbiznews.com















Shakespeare's Work ใน Walker Art Gallery


นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนอังกฤษคงไม่มีใครไม่เห็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Shakespeare ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Stratford upon Avon บ้านเกิดของเขา เช็คสเปียร์เป็นนักประพันธ์บทละครภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษ และของโลกผู้นี้มีผลงานละครระดับโลกมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรมีโอแอนด์จูเลียต ที่เป็นละครโศกนาฏกรรมอมตะที่ได้ถูกนำมาเล่นละครเวทีและสร้างเป็นภาพยนตร์หลายสิบครั้งแล้วในประวัติศาสตร์โลก





David Garrick as RichardIII



นอกจากบทประพันธ์เรื่องนี้แล้ว เขายังมีบทประพันธ์อีกหลายเรื่องที่ถูกนำมาเขียนเป็นงานจิตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินชาวอังกฤษที่ให้ความนับถือเช็คสเปียร์และชื่นชมผลงานเป็นการส่วนตัว เช่น William Hogarth จิตรกร ช่างพิมพ์ นักวิพากษ์สังคม และนักเขียนการ์ตูนชาวอังกฤษ เขาวาด David Garrick as RichardIII นักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ จากบทละครที่เขาแสดงเป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ ๓ ของเช็คสเปียร์เพื่อนของศิลปินนี้กำลังอยู่ในท่าตื่นกลัวสุดขีดก่อนออกรบที่ Bosworth เนื่องจากพระองค์กำลังถูกหลอกหลอนจากผีร้ายที่พระองค์สังหารมาทั้งหมด ศิลปินวาดให้เรือนร่างของ Garrick บิดเบี้ยวเป็นรูปตัว S เหมือนอย่างสัตว์เลื้อยคลาน เนื่องจากเขาเห็นว่าท่าทางของร่างกายนี้เป็นท่วงท่าที่สวยงามที่สุดสำหรับ Theatrical Portrait และได้สร้างทฤษฏีในการวาดภาพแนวนี้ไว้ใน The Analysis of Beauty ที่เขาตีพิมพ์ออกมาในปี ๑๗๕๓ ศิลปินเขียนภาพนี้ให้ดูเหมือนจริงราวกับหยุดเวลาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่มนุษยชาติ เพราะเขาเชื่อว่าอังกฤษเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และประวัติศาสตร์ของอังกฤษควรเป็นบทเรียนสำหรับมนุษย์ในการสอนจริยธรรมให้กับชาวโลก





Rosalind in the Forest



Arthur Hughes จิตรกรและนักวาดภาพประกอบแนว Pre-Raphael เขียนภาพองค์ ๒ ฉากที่ ๔ The Forest of Arden จากบทประพันธ์เรื่อง As you Like It โดยแบ่งภาพเป็น ๓ ส่วน ภาพด้านซ้ายสุดเป็นภาพของ Touchstone กำลังเกี้ยวพาราสี Audrey ภาพกลางเป็นภาพของ Orlando พระเอกของเรื่องที่ถูกพี่ชาย Oliver กลั่นแกล้งต่าง ๆ นา ๆ หลังจากบิดา Sir Rowland de Bois เสียชีวิตกำลังปลอบ Adam ลูกน้องชราของตัวเอง ในขณะที่ชาว Amiens กำลังร้องรำทำเพลงให้กับ Duke และประเทศของพวกเขา ส่วนภาพขวาสุดเป็นภาพ Rosalind บุตรีของท่าน Duke ที่ปลอมตัวเป็นชายชื่อว่า Ganymede ตามที่ Orlando สลักไว้ที่ต้นไม้ Hughes เป็นศิลปินที่ชื่นชอบการเขียนภาพแนวคู่รักโดยใช้สีที่เร่าร้อนและทิวทัศน์รอบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นเฟิร์น ไม้เลื้อยหรือใบไม้เป็นตัวชักนำให้เกิดอารมณ์​ร่วม แม้ภาพนี้จะอยู่ในองค์เดียวกันในบทละคร แต่เขากลับใช้ฤดูที่แตกต่างเป็นตัวนำเสนอเพื่อขับเน้นให้เห็นถึงสถานการณ์และอารมณ์ที่ต่างกัน


ohn Everett Millais จิตรกรและนักวาดภาพประกอบผู้ก่อตั้งศิลปะแนว Pre-Raphael ชาวอังกฤษวาด Rosalind in the Forest ซึ่งเป็นตอนเดียวกันกับผลงานของ Arthur Hughes ใน Walker Art Gallery ภาพ Rosalind ที่ปลอมตัวเป็นชายนี้ศิลปินวาดให้เธอดูหงอยเหงาท่ามกลางแมกไม้ที่สดชื่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเรื่องราวตอนนี้ในบทประพันธ์ของ Shakespeare มิได้มีความรู้สึกเป็นสุขอย่างแท้จริง เนื่องจากเธอต้องปลอมตัวเป็นชายและยังต้องแสดงละครต่าง ๆ นา ๆ ให้เป็นที่อึดอัดใจของตัวเอง





The Little Foot Page



Eleanor Fortescue-Brickdale จิตรกรหญิงชาวอังกฤษวาด The Little Foot Page ภาพหญิงสาวในชุดผู้ชายที่กำลังลังเลที่จะตัดผมตัวเองเพื่อตามไปผจญภัยกับชายคนรัก ความกระสับกระส่ายของหญิงสาวที่จะทำตามความต้องการของคนรักนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปในนวนิยายหรือบทละครและเป็นเรื่องราวที่ศิลปินแนว Pre-Raphael นิยมนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน ความแตกต่างระหว่างกริชที่หญิงสาวนำมาประดับไว้ข้างกายกับหน้าตาและทรงผมที่ยังคงบ่งบอกถึงความเป็นหญิงอย่างไม่ต้องสงสัยเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ความสนใจของจิตรกรและนักประพันธ์หญิงในเรื่องเพศและบทบาททางเพศในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ผู้ชมที่เพลิน ๆ กับเรื่องราวจาก Shakespeare อาจหลงคิดว่าภาพนี้เป็น Rosalind จากบทประพันธ์เรื่อง As You Like It เช่นเดียวกันได้ ผู้ชมจะเห็นว่ารายละเอียดที่ศิลปินแต่งแต้มไว้ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ใบหญ้า ผ้าแพรที่หล่นบนพื้นแสดงถึงอัจฉริยภาพของศิลปินได้อย่างเด่นชัดไม่แพ้จิตรกรชายเลยทีเดียว



ภาพและข้อมูลจากเวบ
naewna.com
artmagick.com
artrenewal.org
wikipedia.org




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 07 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2557 21:45:38 น. 0 comments
Counter : 4214 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.