กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
ธันวาคม 2566
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
30 ธันวาคม 2566
space
space
space

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา



235 ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไป ธรรมกายเจริญเอง

     แม้พระวรกาย หรือที่บาลีเรียกว่า  รูปกายของพระพุทธเจ้าจะจากไปแล้ว  แต่นามกายของพระองค์ในส่วนที่เรียกว่า ธรรมกาย ก็ยังคงอยู่

     พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีใจความว่า  ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นเห็นเรา  แต่ผู้ใดใจมากด้วยกิเลส ไม่เห็นธรรม แม้จะเกาะชายสังฆาฎิติดตามเราไป  ตลอดเวลา  ผู้นั้น กับเราก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลกัน (สํ.ข.17/216 ขุ.สุ.25/272)

     เพราะฉะนั้น  ถ้าเราจะเห็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง  เราก็ต้องเข้าถึงธรรม

     พูดมาถึงตอนนี้   ก็เลยมีกาย ๒ อย่าง   ดังที่บอกว่ารูปกายของพระพุทธเจ้าจากไปแล้ว แต่ธรรมกายหาจากไปไม่

     เราเห็นรูปกายของพระองค์ด้วยตาเนื้อ  แต่เราจะสามารถเห็นพระองค์ที่แท้จริง คือพระธรรมกาย ด้วยดวงตาปัญญา

     รูปกายของพระองค์นั้น   เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง  แตกสลายไปเป็นธรรมดา  เพราะเป็นรูปธรรม แต่ธรรมกายนั้นคงอยู่   ถึงแม้รูปกายของพระองค์จะแตกสลายแล้ว   ธรรมกายก็ยังหาแตกสลายไปด้วยไม่

     ชาวพุทธ   เมื่อได้เรียนรู้พุทธประวัติ  รำลึกถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับพระองค์แล้ว  เราก็เห็นความเป็นไปเกี่ยวกับพระรูปกายที่มาจบสิ้น  ณ สถานที่ปรินิพพาน  แล้วมาถูกพระเพลิงเผาผลาญที่มกุฏพันธนเจดีย์   คือ ที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระนี้

     รูปกายของพระองค์กลายเป็นเถ้าเป็นอัฐิไปแล้ว   แต่ธรรมกายยังคงอยู่   พระองค์ได้สอนเราไว้แล้วว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"

     หมายความว่า   ถึงแม้ใครจะเกาะชายสังฆาฏิติดพระองค์ไป  ก็เห็นแค่รูปกาย เราจะต้องมองเห็นธรรม   จึงจะเห็นธรรมกายของพระองค์

     แต่คำว่า รูปกาย และ ธรรมกาย นั้น จะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน

     คำว่า กาย แปลว่า กอง คือ ที่ชุมนุม หรือที่ประชุม หมายความว่า เป็นที่มารวมกันของสิ่งต่างๆ เช่น รถกาย คือกองรถ พลกาย คือกองพล หรือกองทหาร เป็นต้น

     เพราะฉะนั้น  รูปธรรมทั้งหลาย  มีธาตุต่างๆ อย่างที่เรียกกันว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมกันเข้า ก็รวมเป็นกาย เรียกว่า รูปกาย

     รูปกาย คือ  กองแห่งรูป หรือที่ประชุมแห่งรูปธรรม มี ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น มารวมกันอยู่

     ส่วนนามกาย ก็คือ กองแห่งธรรม หรือ ชุมนุมแห่งธรรม หรือประชุมแห่งธรรม หรือที่มารวมกันของธรรมทั้งหลาย

     พระพุทธเจ้านั้น  ด้วยรูปกาย คือ พระวรกายของพระองค์ปรากฏอยู่ คนทั้งหลายก็เข้าไปเฝ้า ได้เข้าไปพบเห็น ได้ดู ได้ฟัง

     ส่วนธรรมกายของพระองค์ ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ค้นพบธรรมแล้ว พระองค์ก็กลายเป็นที่ประชุมแห่งธรรม หรือที่ชุมนุมของธรรม เป็นที่ที่ธรรมทั้งหลายมากมายมารวมกันอยู่

     เมื่อพระองค์แสดงธรรมที่ตรัสรู้นั้นออกไป พระองค์ก็กลายเป็นแหล่ง ที่เปล่ง ที่หลั่งไหล ที่เผยแพร่ออกไปแห่งธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้าก็จึงเป็นธรรมกาย ดังที่พระองค์ตรัสว่า

       "ดูกรวาเสฏฐะ  และภารัทวาช   เธอทั้งหลาย  มีชาติ-ชื่อ-โคตร-ตระกูล ต่างๆกัน ออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริก ... เป็นสมณศากยบุตรเสมอกัน ผู้ใดมีศรัทธาที่ปลูกฝังลงแล้วในตถาคต...ก็สามารถกล่าวได้ว่า  เราเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดจากธรรม เป็นธรรมนิรมิต  (ผู้ที่ธรรมสร้าง)  เป็นธรรมทายาท  (ทายาทแห่งธรรม)  ข้อนั้น เพราะเหตุไร ?  ก็เพราะว่า  คำว่า ธรรมกาย ก็ดี พรหมกาย ก็ดี ธรรมภูต ก็ดี พรหมภูต ก็ดี นี้เป็นชื่อของตถาคต"   (ที.ปา.11/55)

     พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ผู้ใดแม้จะเกาะมุมผ้าสังฆาฏิของพระองค์ติดตามพระองค์ไปตลอดเวลา แต่จิตใจถูกกิเลสครอบงำ ก็ไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์ ส่วนผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นพระองค์

     เมื่อพระอรรถกถาจารย์จะอธิบายพุทธพจน์นี้ ก็ต้องใช้คำว่า รูปกาย กับ ธรรมกาย มาเทียบกัน คือ

 > เมื่อตามเสด็จเฝ้าดูองค์พระพุทธเจ้า ก็หมายถึงตามดูรูปกายของพระองค์ ด้วยตาเนื้อธรรมดา

 > เมื่อมองเห็นคือเข้าใจธรรมที่พระองค์ตรัสสอน ก็เท่ากับเห็นธรรมกายของพระองค์ ด้วยตาปัญญา

     การมองเห็นธรรมกายด้วยตาปัญญา ก็มีความหมายทำนองเดียวกับคำว่าได้ดวงตาเห็นธรรม หรือธรรมจักษุนั้นเอง

     "ธรรมจักษุ"   หรือดวงตาเห็นธรรมนั้น  ก็คือการเห็นอริยสัจ ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงบรรลุโสดาปัตติมรรค แต่กว้างออกไปหมายถึงมรรคทั้ง ๓ ระดับใดระดับหนึ่ง ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค ไปจนถึงอนาคามิมรรค   แต่บางแห่งหมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ ได้ทั้งหมด คือตั้งแต่โสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตผล   ( ม.อ.4/250/ สํ.อ.3/43 วินย.ฎีกา.4/76)

     การเห็นธรรมกายในกรณีอย่างนี้   ก็คือการบรรลุโลกุตรธรรม ๙ ขั้นใดขั้นหนึ่ง หมายความว่า เห็นธรรมกาย คือโลกุตรธรรม ๙  (สํ.อ.2/343)  ด้วยตาปัญญา  ที่เห็นอริยสัจนั่นเอง  (อุ.อ.333  วินย.ฎีกา. 4/246)

     ธรรมกาย  ไม่ใช่ศัพท์จำเพาะที่มีความหมายเจาะจง แต่เป็นคำสำหรับใช้อธิบายความหมายพิเศษในบางกรณี ดังที่ตัวศัพท์เองก็มีความหมายกว้างว่า กองธรรม หรือชุมนุมธรรม อาจจะเป็นโสดาปัตติมรรคก็ได้ หรือขั้นหนึ่งขั้นใดในโลกุตรธรรม ๙ ก็ได้ ตลอดจนถึงนิพพาน

     บางแห่งใช้ในความหมายกว้างมาก   ตรงตามศัพท์ที่แปลว่า “กองธรรม” เช่น หมายถึงธรรมขันธ์ (แปลว่า กองธรรมเหมือนกัน) คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ เป็นต้น  (เถร.อ.1/167)

     แต่รวมแล้วก็คือว่า ธรรมกาย เป็นคำศัพท์ที่ใช้บ้างเพียงน้อยแห่ง  (ในพระไตรปิฎก มีใช่เพียง ๔ แห่งเท่านั้น)   เพราะจะใช้ต่อเมื่อต้องการความหมายเชิงเปรียบเทียบบางอย่าง โดยเฉพาะในกรณีที่เทียบคู่ กับ รูปกาย

     อนึ่ง ธรรมกาย ในพระไตรปิฎก ที่ว่ามีใช่เพียง ๔ ครั้งนั้น

 > ใช้ในพุทธพจน์ที่ตรัสว่าเป็นพระนามหนึ่งของพระองค์ เป็นความร้อยแก้วครั้งเดียว (ที่ยกมากล่าวแล้วข้างต้น)

 > นอกนั้นใช้ในคำประพันธ์ร้อยกรอง คือ เป็นคาถาพรรณนาคุณความดี (อยู่ในคัมภีร์อปทานทั้งหมด) ดังนี้

   - แห่งหนึ่ง กล่าวถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีจิตเป็นอิสระ มีธรรมกายมากมาย (คือมีสภาวะแห่งธรรมอเนกประการ เป็นดังเรือนร่าง  (ขุ.อป.32/2 อป.อ.1/245)

   - อีกแห่งหนึ่ง เป็นคำพรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ เช่นว่า ทรงเป็นแหล่งแห่งรัตนะ และทรงแสดงธรรมกาย ฯลฯ   (ขุ.อป.32/134)

   - อีกแห่งหนึ่ง เป็นคำดำรัสของพระนางมหาปชาบดีโคตมีที่จะพูดถึงต่อไป


     ธรรมกาย  (ตามความหมายเดิม) คือ  กองธรรม หรือชุมนุมแห่งธรรมนี้  ย่อมเกิดแก่บุคคลทุกคนที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์จนกระทั่งตนเองเป็นที่ชุมนุมแห่งธรรมต่างๆ

     หมายความว่า  ธรรมทั้งหลาย คือ มรรค ผล นิพพาน มาประชุมหรือชุมนุมกันในผู้ใด ด้วยดวงตาปัญญาที่มองเห็นอริยสัจ  ก็เกิดเป็นธรรมกายขึ้นในผู้นั้น  เหมือนอย่างที่พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี  ตรัสแก่พระพุทธเจ้า  เมื่อทูลลาจะปรินิพพาน ว่า
  
       “พระรูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้เลี้ยงดู ให้เจริญเติบโตมา ส่วนธรรมกายของหม่อมฉันนี้ พระองค์ได้ช่วยให้เจริญเติบโตขึ้นแล้ว”  (ข. อป.33/157)

     เป็นอันว่า ธรรมกายนั้นเข้าถึงได้ด้วยปัญญาที่มองเห็นธรรมแล้วก็ถึงตัวธรรม ธรรมที่รู้ที่บรรลุแล้วก็เหมือนดังมาประชุมกันอยู่ ก็เป็นธรรมกายขึ้นมา ก็เท่านั้นเอง

     แต่ว่าเท่านั้นเองนี่แหละ  ยากนักหนา  แม้กระนั้นก็ไม่ยากเกินไปสำหรับผู้มีศรัทธา และตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

     ถ้าเราประพฤติปฏิบัติจนเกิดปัญญาเห็นธรรมขึ้นมา  เราก็เข้าถึงธรรมกาย  เราปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไป  ธรรมต่างๆ เกิดมีเพิ่มขึ้นๆ  ธรรมกายก็เจริญเติบใหญ่ขึ้นในเรา

     เมื่อเราเห็นความจริงแห่งธรรมทั้งหลาย  ล่วงทะลุผ่านประดารูปธรรมที่เป็นรูปกาย ก็คือ “เห็นธรรมกาย”  พูดสั้นๆว่า  “เห็นธรรม”

     เพราะฉะนั้น  จึงกล่าวว่า  เมื่อเราเห็นธรรม ก็คือ เห็นองค์แท้ของพระพุทธเจ้า ตามคำตรัสที่ว่า  “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น เห็นเรา”   

     เราก็ระลึกได้ว่า   พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้แล้วว่า  ธรรมนั้นไม่สูญสลายไปด้วยกับรูปกายของพระองค์

     เมื่อเราน้อมเอาธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอน  เรียกว่า  “หลั่งไหลออกจากธรรมกาย”  ของพระองค์นี้มาประพฤติปฏิบัติ ให้ก่อขึ้น ให้มาชุมนุมขึ้น เป็นธรรมกายที่งอกงามเติบใหญ่ขึ้นในตัวเราสืบต่อไป



(จาริกบุญ จารึกธรรม หน้า 273)

https://www.facebook.com/reel/914165513226605

 


Create Date : 30 ธันวาคม 2566
Last Update : 22 มกราคม 2567 14:15:40 น. 0 comments
Counter : 183 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space