Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
29 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (๑)



ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างพระราชอุทยาน เป็นที่ประทับแรมสำราญพระราชอิริยาบถในวันสุดสัปดาห์ จึงโปรดเกล้าฯให้จัดซื้อที่บริเวณด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ระหว่างคลองสามเสนกับคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นที่สวนและทุ่งนา ตามราคาจากราษฎร ด้วยพระราชทรัพย์สำหรับใช้จ่ายการในพระองค์ พระราชทานนามว่า "สวนดุสิต"

โปรดเกล้าฯให้เริ่มลงมือตัดไม้ ปรับพื้นที่เพื่อสร้างสวนดุสิต เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๑ และได้ทำการสืบมาจนกระทั่งถึงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒ จึงได้เสด็จเถลิงพลับพลาเป็นครั้งแรก

การสร้างสวนดุสิต ได้ใช้พื้นที่ของวัดดุสิต หรือวัดดุสิดาราม ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม มีภิกษุอยู่เพียง ๑ รูป เป็นที่สร้างพลับพลา และที่วัดร้างอีกวัดหนึ่งตัดเป็นถนนภายในสวนดุสิตด้วย ประกอบกับมี "วัดเบญจบพิตร" ที่ชำรุดทรุดโทรมอยู่ใกล้เขตพระราชฐานด้านทิศใต้ด้วย จึงมีพระราชดำริที่จะทรงทำ "ผาติกรรม" สถาปนาวัดขึ้นใหม่ โดยมีพระราชประสงค์สำคัญคือ

๑. เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เมื่อทรงใช้ที่วัดสร้างพระราชอุทยาน ก็ทรงทำ "ผาติกรรม" สร้างวัดขึ้นทดแทนตามประเพณี โดยสร้างเพียงวัดเดียว แต่ทำให้เป็นพิเศษ วิจิตรงดงาม สมควรที่จะเป็นวัดอยู่ใกล้เขตพระราชฐาน
๒. เป็นที่แสดงแบบอย่างทางการช่างของสยามประเทศ โดยโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถพร้อมพระระเบียงอย่างวิจิตรงดงามด้วยแบบอย่างศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ
๓. เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณสมัยและปางต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้ประชาชนเห็นเป็นแบบอย่าง ภายในพระระเบียง ซุ้มมุขหลังพระอุโบสถ และซุ้มมุขด้านนอกพระระเบียง
๔. เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาชั้นสูงซึ่งทรงเรียกว่า "คอเลซ" (College) เป็นการเกื้อกูลแก่คณะสงฆ์มหานิกาย
๕. เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งพระองค์ โดยเมื่อสถาปนาขึ้นแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเบญจมบพิตร" ซึ่งหมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ กับได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ว่า เมื่อพระองค์สวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ให้นำพระสรีรางคารไปบรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคารตามพระราชประสงค์

เมื่อเริ่มการสถาปนา โปรดเกล้าฯให้ร้ือถอนสิ่งก่อสร้างในวัดเดิมทั้งหมด ปรับพื้นที่ก่อสร้าง สังฆเสนาสน์สำหรับพระสงฆ์สามเณรอยู่อาศัยได้ ๓๓ รูป เท่ากับปีที่ทรงครองราชสมบัติ โดยทรงมอบหมายให้ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา เมื่อครั้งเป็น เจ้าหมื่นเสมอใจราช) เป็นผู้รับผิดชอบ กับโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอุโบสถชั่วคราว เป็นอาคารไม้หลังคามุงจาก เพื่อทำสังฆกรรมไปพลางก่อน

วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ซึ่งเป็นวันเสด็จเถลิงพลับพลาประทับแรมที่สวนดุสิตครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตร ทรงประเคนประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่วิสุงคามสีมา แก่สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ สมเด็จพระวันรัต อ่านประกาศพระบรมราชูทิศในที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งปรากฏข้อความในประกาศพระบรมราชูทิศตอนหนึ่งว่า

"....ทรงพระราชทานนามวัด วัดเบญจมบพิตร แสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์…."

จึงถือได้ว่า วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๔๒ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสถาปนาวัดเบญจมบพิตรขึ้น แล้วได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นลำดับมา

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่อการก่อสร้างสังฆเสนาสน์แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์ในขั้นแรก จึงโปรดให้แห่พระสงฆ์สามเณร ๓๓ รูป ซึ่งโปรดให้คัดเลือกได้แล้ว และให้รวมฝึกอบรมอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ไปอยู่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๔๓ และในคราวนี้เองได้พระราชทานที่วัดเพิ่มเติม และสร้อยนามต่อท้ายชื่อวัดว่า "ดุสิตวนาราม" เรียกรวมกันว่า "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม"

ในส่วนพระอุโบสถถาวร และพระระเบียง โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ต้นราชสกุล จิตรพงศ์) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เป็นสถาปนิกเขียนแบบแปลนแผนผัง และเริ่มการก่อสร้างต่อไปพร้อม ๆ กับการก่อสร้างเสนาสนะอื่น ๆ

พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล บุตรพระยาราชสงคราม ทัด) ช่างก่อสร้างฝีมือดีที่สุดในขณะนั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างมาตามลำดับ จนถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต การก่อสร้างสังฆเสนาสน์อื่น ๆ ยังไม่แล้วเสร็จครบถ้วนตามแผนผัง ที่ทรงวางไว้ การประดับตกแต่งพระอุโบสถบางส่วนและสังฆเสนาสน์บางแห่ง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชประสงค์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงดำเนินการต่อมา โดยโปรดเกล้าฯให้ยกช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ขึ้น และเมื่อหินอ่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีเข้ามาถึงแล้ว ก็โปรดเกล้าฯให้ประดับในส่วนที่ยังค้างอยู่จนเรียบร้อย กับให้ช่างกรมศิลปากรเขียนผนังภายในพระอุโบสถด้วยสีน้ำมัน เป็นลายไทยเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาว ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรและพระระเบียงที่ประดับตกแต่งแล้ว จึงวิจิตรงดงามสมบูรณ์แบบด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณอย่างน่่าอัศจรรย์ยิ่ง ส่วนพระอุโบสถไม้ชั่วคราวหลังเดิม โปรดเกล้าฯให้รื้อไปสร้างเป็นพระอุโบสถวัดวิเวกวายุพัด บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


















































พระพุทธรูปที่พระระเบียง (วิหารคด)

พระระเบียง (วิหารคด) วัดเบญจมบพิตร มีพระพุทธรูปหล่อสำริดทั้งเป็นพระพุทธรูปโบราณ และพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นตามแบบพระพุทธรูปโบราณ ทั้งเป็นการหล่อขยายขึ้น และหล่อลดส่วนลง เพื่อให้ได้ขนาดที่จะประดิษฐานที่พระระเบียงได้ มีจำนวนทั้งสิ้น ๕๒ องค์ ประดิษฐานอยู่ภายในพระระเบียง และพระพุทธรูปศิลาโบราณ ที่ซุ้มมุขด้านนอกพระระเบียงอีก ๔ องค์ รวมทั้งสิ้นเป็น ๕๖ องค์ ใช้เวลาในการรวบรวมและจัดประดิษฐานกว่า ๑๐ ปี ซึ่งปรากฏความเป็นมาตามปาฐกถาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังนี้

“ขณะเมื่อสร้างวัดนี้อยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรูปสำหรับจะประดิษฐานไว้ ณ วัดนี้ ควรจะเลือกหาพระพุทธรูปโบราณซึ่งสร้างขึ้นในประเทศและในสมัยต่างกัน อันเป็นของดีงามมีอยู่เป็นอันมาก รวบรวมมาตั้งแสดงให้มหาชนเห็นแบบอย่างพระพุทธรูปต่าง ๆ โดยทางตำนาน จึงโปรดให้สร้างพระระเบียงขึ้นในวัดนี้ และโปรดให้เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะคิดจัดหาพระพุทธรูปแบบต่าง ๆ มาตั้งในพระระเบียง ตามพระราชดำริ

การเสาะแสวงหาพระพุทธรูปแบบต่าง ๆ มาตั้งในพระระเบียงวัดนี้ มีความบังคับหลายอย่างคือ

จะต้องเป็นพระพุทธรูปที่แล้วด้วยฝีมือช่างอย่างเอกที่น่าชมอย่าง ๑

ต้องต่างกันอย่าง ๑

และต้องมีขนาดไล่เลี่ยกันอย่าง ๑

จึงเป็นอันพ้นวิสัยที่จะหาให้เป็นของสร้างแต่โบราณได้ทั้งหมด วิธีรวบรวมจึงทำเป็น ๒ อย่างคือ สืบเสาะหาพระพุทธรูปของโบราณที่มีอยู่แล้ว ทั้งตามหัวเมืองและที่ในกรุง พบที่ต้องอย่างและได้ขนาดซึ่งจะใช้ได้ก็เชิญมา และหาอย่างว่านี้ตลอดไปจนถึงต่างประเทศด้วย อีกอย่างหนึ่งนั้น ถ้าพบพระพุทธรูปที่ได้อย่าง แต่เป็นพระขนาดเล็กไปกว่าที่ควรจะตั้งในพระระเบียงได้ ก็ให้ช่างปั้นจำลองขยายส่วนใหญ่ออกไปให้ได้ขนาด แล้วหล่อมาตั้งในพระระเบียง การที่หล่อพระจำลองนั้นมีผู้รับทำถวายทั้งนั้น เพราะการสร้างพระพุทธรูป ถือกันว่าเป็นการกุศลสืบอายุพระศาสนา มีผู้ศรัทธาสร้างไม่ขาด แต่มักมีความลำบากอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยเมื่อสร้างแล้วต้องหาที่ไว้พระพุทธรูป เมื่อทราบกันว่าใครสร้างพระพุทธรูปตามแบบอย่างซึ่งต้องพระราชประสงค์ จะพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้รับตั้งไว้ในพระระเบียงวัดเบญจมบพิตร ก็พากันยินดีรับแบบอย่างไปสร้าง แล้วเอามาถวายไว้ในวัดเบญจมบพิตร ด้วยเหตุนี้ พระพุทธรูปที่ตั้งในพระระเบียงวัดเบญจมบพิตร จึงเป็นพระหล่อทั้งนั้น บางองค์เป็นพระโบราณ บางองค์เป็นพระหล่อจำลอง ตามแบบโบราณ ล้วนเลือกสรรว่าเป็นแบบอย่างในสมัยใดสมัยหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งทั้งนั้น การรวบรวมพระพุทธรูปดังกล่าวมา กว่าจะได้ครบจำนวน ๕๐ องค์ (ปัจจุบันมี ๕๒ องค์) ก็หลายปี องค์หลังที่สุดได้ในปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เป็นการสำเร็จสมพระราชประสงค์ ถ้าหากยังมีที่ตั้งได้อีก ป่านนี้ก็เห็นจะยังได้พระพุทธรูปอีกมาก แต่จำเป็นต้องหยุดรับ เพราะหมดที่ตั้งเพียงเท่านั้น”

การจัดหาพระพุทธรูปดังกล่าว นอกจากสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำเนินการเองแล้ว ยังทรงขอให้ผู้อื่นช่วยเหลือสืบเสาะหาด้วย แม้จะทุกข์ยากลำบากอย่างไรก็ตาม เช่น โปรดให้พระครูมงคลวิจิตร (เปี่ยม) วัดจักรวรรดิราชาวาส ซึ่งเป็นพระช่างหล่อพระพุทธรูปฝีมือดี ไปเสาะหาพระพุทธรูปที่เชียงแสน พบพระพุทธรูปต้องตามพระราชประสงค์ที่วิหารธาตุหลวง จึงอัญเชิญมาโดยทางเรือตามลำน้ำโขง มาเข้าแม่น้ำกก ขึ้นบกที่เชียงราย หามข้ามเขามาลงที่พะเยา ถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๔๓ คือ “พระสักยสิงห์” ที่ประดิษฐานเป็นลำดับที่ ๑

นับได้ว่าพระพุทธรูปที่พระระเบียง (วิหารคด) เป็นมรดกของชาติ เป็นพิพิธภัณฑ์แสดง “พุทธศิลป์” ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี สมตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์สถาปนาวัดอย่างยิ่ง






สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนสถานที่อื่น ๆ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง เรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี

ในการออกแบบประดับหินอ่อน มีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียน จากกรมโยธาธิการ ร่วมดำเนินการด้วยคือ วิศวกร อัลเลกริ (Carlo Allegri) ประสานงานสั่งซื้อหินอ่อน, สถาปนิก ตะมาโย (Mario Tamagno) เป็นผู้ช่วยเขียนแบบบางส่วน

หินอ่อนทั้งหมดได้มีการสั่งซื้อและเรียกประกวดราคาไปหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจากห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเยนัว กับหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด มีเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อมากมายเป็นหลักฐาน มิใช่เป็นหินอ่อนที่เหลือจากสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมตามที่นักเขียนหลาย ๆ คนเข้าใจและเขียนเผยแพร่อยู่ในหนังสือต่าง ๆ แต่อย่างใด ในช่วงแรกมีมิสเตอร์ มูโซ่ (Mr. L. Mosso) ซึ่งเป็นช่างจากบริษัทขายหินอ่อน เป็นนายช่างประดับหินอ่อน มีช่างคนไทยเป็นลูกมือ
































ขอบคุณบีจี คุณญามี่

บล็อกหน้ายังอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร

เราเพิ่งเคยมาครั้งแรกเลยถ่ายรูปมาเยอะหน่อยค่ะ

ประวัติความเป็นมา.... อยากให้อ่านเพิ่มเติมที่....

//www.watbencha.com






 

Create Date : 29 มิถุนายน 2553
20 comments
Last Update : 29 มิถุนายน 2553 15:53:14 น.
Counter : 3490 Pageviews.

 

ภาพแรกเมื่อก่อนเป็นปกหนังสือเรียนเล่มหนึ่งค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 29 มิถุนายน 2553 15:43:59 น.  

 

เมื่อก่อนกลับบ้านจะผ่านวัดเบญฯบ่อยค่ะแต่ไม่เคยเข้าไปด้านในสักที..
มาบล๊อคพี่บ่อยๆก็ดีนะได้ไปเที่ยววัดทุกวันตรงกันข้ามกับชีวิตจริงไม่ค่อยได้เข้าวัด

ภาพเล็กหรอค่ะ..เราไม่ค่อยถนัดเรื่องแต่งภาพอัพบล๊อคเลยค่ะพี่กำลังศึกษาอยู่ค่ะ
ไว้อัพบล๊อคคราวหน้าจะให้มันใหญ่กว่านี้นะค่ะ

 

โดย: หมูหยอง_w 29 มิถุนายน 2553 16:35:51 น.  

 

เครียดๆๆแบบนี้ ได้ไปวัด ไหว้พระ ก้อดีนะคะ วัดสวยมากๆๆเลย

 

โดย: kwan_3023 29 มิถุนายน 2553 16:40:50 น.  

 

แหม..ไอ้คำว่า "ติดเน็ต" นี่ ถ้าผวนๆซักหน่อย มันก็ 555 ใช้ได้เหมือนกันนะ

 

โดย: ปลายแป้นพิมพ์ 29 มิถุนายน 2553 17:04:29 น.  

 

แวะมาเยือนวัดเบญอีกครั้งหลังจากเกือบ 10 ปีแล้ว
ที่ไม่ได้ไปเยือนน่ะค่ะ

วันเบญไปเยือนครั้งสุดท้าย ก่อนแต่งงาน จำได้ว่า
พาคนข้างๆ ไปไหว้พระ เที่ยว เดินเล่น .. แล้วได้เจอกับ
เด็กเล็กๆ ที่นั่นที่เดินตามเราแจเลยค่ะ กว่าจะแยกจากกันได้
ก็เล่นเอาเราเสียดาย เพราะว่าเด็กคนนั้นน่ารักดี
เห็นว่าอยู่กับแม่แถวนั้นแล้วเธอเดินมาวัดบ่อยๆ น่ะค่ะ
พอดีเราขอถ่ายรูปด้วยก็เลยตามตลอดเลย ป่านนี้จะเป็นยังไง
บ้างแล้วหนอ ตอนนั้น 8 ขวบ ตอนนี้ 18 ปี พูดแล้ว
ก็มานั่งคิดถึงเลยค่ะ แม้ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นใครก็ไม่รู้
แต่พูดแล้วก็ยังจำได้เลยค่ะ

 

โดย: JewNid 29 มิถุนายน 2553 17:26:01 น.  

 

เราเม้นท์บล็อกวัดเบญเสร็จ เราก็แวะกลับเข้ามารีเฟรชบล็อกตัวเอง
อีกรอบ ... เอ๊า เจอกันค่ะ เม้นท์สวนทางกันพอดี ต่างกันแค่ +1 นาที
เท่านั้นเอง เป็นอะไรก็ไม่รู้ แค่นี้ก็เล่นทำเอาเราหัวเราะกับตัวเอง
ไปหลายกระจุกแล้วค่ะ ...

แบบนี้เหมือนอารมณ์ "ใจตรงกัน" ได้เหมือนกันนะค่ะนี่

 

โดย: JewNid 29 มิถุนายน 2553 17:30:16 น.  

 

สวัสดีค่ะ..

วัดเบญจฯนี่แวะไปทำบุญบ่อยค่ะ..

เดือนหน้าก็มีงานบวชชาวเขาวันที่18ก.ค.ค่ะ

ชาวเหนือในกรุงเทพฯมักจะไปทำบุญที่วัดนี้ค่ะ


Engraçadas





ไม่เอาคืนนี้เค้าจะเชียร์ญี่ปุ่น..

presentงานเสร็จแล้ว สรภ.ชอบใจ

ปีหน้าค่อยแวะมาเยี่ยมใหม่ค่ะ..ฮิๆ

 

โดย: คนผ่านทางมาเจอ 29 มิถุนายน 2553 18:08:28 น.  

 


เข้าวัดเบญฯ ทีไร อิ่มเอบใจเสมอค่ะ

 

โดย: อุ้มสี 29 มิถุนายน 2553 19:54:05 น.  

 

มาเที่ยววัดเบญฯ ด้วยคนค่ะ ^^

 

โดย: sierra whiskey charlie 29 มิถุนายน 2553 20:06:03 น.  

 

สงสัย ต้องไปเดินไหว้พระบางแล้ว

 

โดย: ชายเอ ทุ่งรังสิต 29 มิถุนายน 2553 20:29:33 น.  

 

สวัสดีตอนค่ำค่ะพี่หนู... ตามมาเที่ยววัดเกี่ยวบุญด้วยคนค่ะ...
ตอนแรกที่คิดอยู่ก็หมายถึงเมฆล่ะค่ะที่เป็นคนวิ่งเล่น เพราะคิดตอนที่เห็นรูปเมฆ แต่พิมเป็นหมอกเฉยเลย
Photobucket

 

โดย: namfaseefoon 29 มิถุนายน 2553 21:30:40 น.  

 

ไม่อดได้ไงคะ อืดได้ขนาดนี้.. เฮ้อ..

ไม่เคยเข้าไปเยือนในอาณาเขตวัดเบญฯ เลยค่ะ ..

มีแต่เลียบ ๆ เคียง ๆ แถวข้างวัด..

 

โดย: poongie 29 มิถุนายน 2553 21:35:11 น.  

 

มาแล้วค่ะพี่หนู วันนี้ทำงานเพลียไปข้างหนึ่งเลยค่ะ ทำงานได้สุด สุด จริง ๆ และที่สำคัญเก็บงานเรียบร้อยแล้วค่ะ สุขใจ ไม่มีงานตกค้างแล้วด้วย....แต่มารู้สึกว่าใจสั่นค่ะ เป็นเพราะทำหลายอย่างขัดใจตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่อยากทำอย่างนั้นเลย...


วัดเบญฯ ต้องเอาลิงค์ไปให้น้อง ๆ ที่รู้จักดีกว่าเพราะเห็นบอกเมื่อวานนี้เองว่าอยากไปเที่ยววัดเบญฯ...


อยากดูบอลโปรตุเกสอ่ะพี่หนู แต่กำลังจะหลับล่ะ ท้ายสุดคือฝืนร่างกายไม่ได้ค่ะ ไปหลับดีกว่า

 

โดย: aenew 29 มิถุนายน 2553 22:08:21 น.  

 

สวัสดีครับ

ตั้งแต่เริ่มใช้เงินเป็น ก็จะเริ่มคุ้นหน้าคุ้นตากับวัดเบญจมบพิตรเป็นอย่างดี เพราะวัดนี้ปรากฎรูปอยู่ด้านหลังธนบัตรราคาสิบบาทรุ่นเก่าที่เคยใช้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ครับ

ผมว่าเป็นวัดที่ออกแบบได้สวยงามมากๆ เลยล่ะครับ ไม่แปลกใจเลยที่ได้ปรากฎรูปภาพบนธนบัตรไทยครับ

 

โดย: NET-MANIA 29 มิถุนายน 2553 23:14:51 น.  

 

แวะมาเซย์กู๊ดไนท์ค่ะ

 

โดย: คมไผ่ 30 มิถุนายน 2553 0:37:31 น.  

 

มาทักทายยามเช้าค่ะ..

วัดนี้ได้ยินชื่อบ่อยมากค่ะ แต่ก็ยังไม่เคยไปซักทีเลยค่ะ 55

 

โดย: อาราเล่ กะ กั๊ตจัง 30 มิถุนายน 2553 7:19:49 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับพี่








 

โดย: กะว่าก๋า 30 มิถุนายน 2553 7:58:22 น.  

 

โกโธ สตฺถมลํ โลเก
ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก

โกรธได้..แต่อย่านาน เพื่อชีวิตที่มีความสุข ตลอดไป..นะคะ



ไม่ได้ไปวัดเบญจฯ มานานมากกกกกแล้ว..ค่ะ
เห็นแล้ว ชักคิดถึง...

 

โดย: พรหมญาณี 30 มิถุนายน 2553 12:34:22 น.  

 

... วัดอีกแระ.. หุหุ

แวะมาชวนพี่หนูออกจากวัดไปเที่ยววังน้ำเขียวจ้า...


ว่างๆ ตามไปนะคะ...จุ๊ปๆ

 

โดย: Nongpurch 30 มิถุนายน 2553 12:51:26 น.  

 

เจอคนที่ชอบเข้าวัดเหมือนผมแล้ว...แนวเดียวกัน....ถ้ามีวัดดีๆ..สวยๆ..ช่วยแนะนำหน่อยนะครับ...

 

โดย: ja9pai 2 กรกฎาคม 2553 22:06:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สายหมอกและก้อนเมฆ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 166 คน [?]




เป็นคุณแม่ของ 1 ลูกสาว และ 1 ลูกชายค่ะ

เป็นแม่บ้านฟูลทาม อาชีพ ขสมก.
(แปลว่า...ขอสามีกิน อ่านเจอที่ไหนไม่รู้ ชอบค่ะ เลยยืมมาใช้หน่อย)

เมื่อไหร่ที่พอจะจัดสรรเวลาได้...
จะไปเที่ยวด้วยกันทั้งครอบครัวเสมอค่ะ...

โลกนี้แสนกว้างใหญ่ มีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมากมาย พบเจออะไรดี ๆ ที่พอจะมีประโยชน์กับคนอื่นบ้าง ไม่มากก็น้อย เลยเอามาแบ่งปันกัน

ลิขสิทธิ์...เป็นของบุคคลที่อยู่ในภาพ
ขอบคุณค่ะ

Friends' blogs
[Add สายหมอกและก้อนเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.