Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 
31 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 

สอนหนูรู้เวลา

สอนหนูรู้เวลา

ในยุคแห่งความรีบเร่งอย่างปัจจุบัน ผู้คนต่างดำเนินชีวิตแข่งขันกับเวลา
คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน คงอยากสอนให้ลูกวัยซนเรียนรู้เรื่องเวลาอันแสนมีค่าไปด้วย
พอดีเลยค่ะที่ อ.วันทนีย์ รัตนบุรี (ครูจิน) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอนุบาลบ้านวังทอง ก็มีคำแนะนำเรื่องนี้


เรียนรู้เวลา ผ่านกิจวัตร

เราสามารถสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องเวลาได้ โดยเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวัน ทั้งเช้า สาย บ่าย เย็น
ซึ่งถ้าทำทุกวันลูกก็จะค่อยๆ เข้าใจค่ะ และการสอนลูกวัย 2-3 ขวบ ให้เรียนรู้เรื่องต่างๆ นั้น
ควรทำให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านสัมผัสทั้งห้าคือ ตาดู หูฟัง จมูกได้กลิ่น ชิมรส ได้จับได้สัมผัสให้มากที่สุด
เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เช่น

* เข้านอน - ตื่นนอน
สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเห็นความแตกต่าง ก็คือกลางวันกับกลางคืน
โดยอาจยกตัวอย่างง่ายๆ จากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น “ตอนกลางวันสว่างเพราะมีพระอาทิตย์
พอพระอาทิตย์ตกก็มืดไปหมด เรียกว่ากลางคืนพระจันทร์ก็จะขึ้นมาแทนพระอาทิตย์” หรือ

“เมื่อถึงตอนกลางคืนลูกก็จะเข้านอน คนอื่นๆ ก็นอนเหมือนกัน
พอเข็มสั้นชี้เลข 8 ตรงนี้แม่จะเล่านิทานให้หนูฟัง พอชี้เลข 9 แม่เล่านิทานจบหนูต้องเข้านอนนะคะ” เป็นต้น

ส่วนนิทานที่คุณแม่เล่า ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเวลาในการทำกิจวัตรประจำวัน กลางวัน กลางคืน
จะเป็นเรื่องที่แต่งเองก็ได้ค่ะ เพื่อให้ลูกได้ทบทวนและเปรียบเทียบกับตัวเองไปด้วยว่า
ในหนึ่งวันที่ผ่านมาเขาทำอะไรไปบ้าง เหมือนหรือต่างจากตัวละครในนิทานอย่างไรบ้าง

ตอนเช้าพอลูกตื่นก็อาจจะบอกลูกว่า “พอหนูได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกแบบนี้คือ 7 โมงเช้า เข็มสั้นจะชี้เลข 7
ตรงนี้นะหนูตื่นนอน ทุกคนในบ้านก็จะตื่นนอนเหมือนกัน”
พร้อมกับบอกกิจวัตรที่คนอื่นๆ ต้องทำ เช่น พี่ของหนูไปโรงเรียน คุณพ่อไปทำงาน พี่เลี้ยงกวาดถูบ้าน เป็นต้น


* รับประทานอาหาร
พอถึงเวลาอาหารเช้า อาจจะให้ลูกดูนาฬิกาพร้อมกับบอกเขาว่า
“ตอนนี้ 8 โมงดูนาฬิกาสิคะ เข็มสั้นจะชี้ที่เลข 8 เป็นเวลาอาหารเช้านะคะ”
หรือ “ตอนนี้เที่ยงแล้วทั้งเข็มสั้นเข็มยาวอยู่ที่เลข 12 เราไปกินข้าวกลางวันกันนะคะ”
หรือ “ตอน 6 โมงเย็นหลังจากคุณพ่อกลับจากทำงานแล้วเราจะกินข้าวเย็นกัน” เป็นต้น

และเราควรกำหนดเวลากินอาหารให้แน่นอนค่ะ เช่น บอกลูกว่า “แม่ให้เวลาหนูกินจนเข็มยาวชี้เลขนี้นะคะ”
และถ้าลูกไม่ยอมกินพอถึงเวลาให้เก็บจริงๆ ค่ะ ฝึกแบบนี้ในที่สุดเขาก็จะได้เรียนรู้เรื่องเวลาไปพร้อมๆ กับรู้ว่า
ถ้าไม่กิน คุณแม่จะเก็บและเขาจะค่อยๆ ปรับตัวเองได้ในที่สุดค่ะ


* การเล่น
การเล่นเป็นสิ่งที่ลูกสนใจอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นคุณแม่น่าจะสอดแทรกการเรียนรู้ เรื่องเวลาไปด้วยในขณะที่เล่นกันค่ะ เช่น
แข่งกันเรียงของเล่นหรือเก็บของเล่นให้เสร็จในเวลาที่กำหนด โดยอาจใช้นาฬิกาปลุกมาใช้ในการจับเวลา
เพื่อให้ลูกได้เห็นเข็มนาฬิกาที่เปลี่ยนไป และได้ยินเสียงเมื่อถึงเวลาที่กำหนด เป็นต้น

ในการเล่นเราก็ควรกำหนดเวลาให้แน่นอนเช่นกันค่ะ
โดยอาจจะบอกลูกให้ดูนาฬิกาตอนเริ่มเล่น เช่น “ตอนนี้ 9 โมงนะคะ เข็มสั้นชี้ตรงนี้
แต่พอเข็มสั้นเลื่อนมาชี้เลข 10 ตรงนี้ หนูต้องเก็บของเล่นแล้วไปกินนมนะคะ” เป็นต้น

และเมื่อถึงเวลาเราก็ต้องให้ลูกเก็บค่ะอย่างที่ตกลงกันไว้ วิธีนี้แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ก็ทำได้แต่ต้องฝึกทุกวัน
นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องเวลาแล้ว ยังเป็นการฝึกเรื่องวินัยให้กับลูกด้วยค่ะ



เพลงและนิทาน ช่วยหนูรู้ได้
นิทานกับเพลงจะช่วยให้ลูกเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นค่ะ ยิ่งเดี๋ยวนี้นิทานมีหลากหลายรูปแบบ
ลองเลือกนิทานที่ใช้สอนเรื่องของเวลามาเล่าให้ลูกฟังบ้างสิคะ ระหว่างเล่าคุณแม่ก็หมุนเข็มนาฬิกาตามไปด้วย
และถามกลับให้ลูกตอบ หรือคุณพ่อคุณแม่จะแต่งนิทานขึ้นมาเองก็ได้ค่ะ
ช่วยกันแต่งเรื่องแล้วเล่นเป็นตัวละครในนิทาน ว่าใครตื่นขึ้นมาแล้วทำอะไรเวลาไหนบ้าง เป็นต้น
นอกจากลูกจะได้เรียนรู้เรื่องเวลาแล้ว ระหว่างพ่อแม่ลูกยังได้ทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย

หรือหาเพลงสำหรับเด็ก ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตประจำวันมาเปิดให้ลูกฟังก็ได้ค่ะ
เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ไปด้วยจากการฟัง หรือจะช่วยกันแต่งเพลงร้องกันเองภายในครอบครัวก็ได้ค่ะ



หนูได้รู้มากกว่าเรื่องเวลา
การสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องเวลา ยังสามารถปลูกฝังเรื่องอื่นๆ ควบคู่กันไปได้อีกด้วยค่ะ เช่น

* เรื่องวินัย
การสอนเรื่องวินัยไม่ต้องรอให้ลูกโตก่อนหรอกค่ะ เพราะการสอนเรื่องเวลาด้วยวิธีที่กล่าวมาข้างต้น
ก็สามารถทำให้ลูกได้ซึมซับเรื่องวินัยในตนเองไปโดยปริยาย จากชีวิตประจำวันของเขา
แต่ต้องทำเป็นประจำและสม่ำเสมอนะคะ

* การเคารพเวลา
การให้ลูกทำอะไรตรงเวลา หรืออยู่ในเวลาที่เรากำหนด เป็นการสอนให้ลูกเคารพเวลาและกติกาไปในตัว
เรื่องของการเคารพเวลาไม่ได้เกิดจากการสอนให้จำ แต่เกิดจากการที่ได้ปฏิบัติจริงอย่างสม่ำเสมอค่ะ

* การรอคอย
เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ลูกจะได้เรียนรู้จากการสอนเรื่องเวลาค่ะ เช่น
ถ้าจะบอกลูกว่าเวลาเราไปซื้อของเราต้องเข้าแถวนะลูก เขาจะไม่ไม่เข้าใจ
ให้พาเขาไปซื้อจริงๆ เลย ลูกจะเห็นและได้รู้จริงๆ ว่าทำไมต้องรอ


หรืออาจจะทำสมุดเพื่อติดสติ๊กเกอร์ หรือให้ดาวเมื่อเขาทำตามที่ตกลงไว้ เช่น
ถ้าลูกเก็บของเล่นเองทุกวันหลังจากเล่นเสร็จ จะได้ดาว 1 ดวง ถ้าลูกทำครบหนึ่งสัปดาห์จะได้ดาวดวงใหญ่
แต่ถ้าทำไม่ครบก็ไม่ได้ต้องรอให้ครบก่อน โดยเราอาจจะใช้คำว่า บ้านนี้มีเด็กน่ารัก บ้านนี้มีเด็กกินผัก เป็นต้น
เพื่อเป็นการปลูกฝังและแก้ปัญหาโดยไม่ซ้ำกันค่ะ

ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่จะมีเวลาน้อย เพราะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน
แต่เชื่อค่ะว่าหากเราสามารถจัดสรรเวลาที่เหลือให้มีคุณค่า โดยสอนลูกให้เรียนรู้เรื่องเวลาด้วยวิธีง่ายๆ
แต่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอเหล่านี้ จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กของคุณเข้าใจเรื่องเวลาได้ไม่ยากค่ะ



สนุกเรียนรู้เวลา

คุณฯ ทราบมั้ยค่ะว่า จริงๆ แล้วเราสามารถส่งเสริมทักษะ เรื่องการเข้าใจเวลาให้ลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด
ด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ เหล่านี้พร้อมคำชี้ชวนให้ลูกสังเกตจากคุณพ่อคุณแม่คะ

* ทารกแรกเกิด
ลูกแรกเกิดจะชอบสีที่สว่างๆ และสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของสี การเคลื่อนไหว
นาฬิกาที่นำมาติดไว้ในห้องนอนของลูก จึงควรมีหน้าปัดสีสดใสสะดุดตา มีเสียงติ๊กต่อกที่ไม่หนวกหูจนเกินไป

* อายุ 1 ขวบขึ้นไป
ลูกจะเริ่มชอบสำรวจและอยากรู้ว่าสิ่งต่างๆ ทำงานอย่างไร
เพราะฉะนั้นควรหานาฬิกาเด็กเล่นที่มีเข็มปรับได้ และมีเสียงมาให้ลูกเล่นค่ะ

* อายุ 2 ขวบขึ้นไป
ควรหาหนังสือที่เกี่ยวกับนาฬิกา หรือต่อจิกซอว์ที่เป็นรูปหน้าปัดนาฬิกามาเล่นกับลูก

* อายุ 4 ขวบขึ้นไป
ถ้าในห้องนอนของลูกยังไม่มีนาฬิกา ควรหาไปติดไว้สักเรือนหนึ่ง ควรสอนและหัดให้ลูกใช้มันด้วยนะคะ

* อายุ 5 ขวบขึ้นไป
ลูกจะรู้สึกสนุกสนานกับการใส่นาฬิกาข้อมือ ที่สามารถมองเห็นตัวเลขชัดเจนบนหน้าปัดโล่งๆ ค่ะ


ข้อมูลโดย : นิตยสารรักลูก ปีที่ 23 ฉบับที่ 272 กันยายน 2548 (update 19 มกราคม 2006)
ที่มา : //www.elib-online.com


สารบัญแม่และเด็ก




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2553
0 comments
Last Update : 31 พฤษภาคม 2553 21:34:54 น.
Counter : 1211 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.